Happy Together เมื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คือการอยู่ร่วมกับความทรงจำ

Happy Together เมื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คือการอยู่ร่วมกับความทรงจำ
1.Happy Together…Again (กระทำความหว่องกันอีกครั้ง) ในฐานะที่ผมมักแสดงตัวอย่างออกนอกหน้าว่าเป็นแฟนคลับของผู้กำกับหว่องการ์ไว คำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับจากมิตรสหายอยู่เสมอก็คือหนังเรื่องไหนของหว่องการ์ไวที่ผมชื่นชอบที่สุด สำหรับผมแล้ว In the Mood For Love (2000) คือหนังที่มีคุณภาพดีเยี่ยมที่สุด ส่วน Chungking Express (1994) คือหนังของเขาที่มีเสน่ห์ที่สุดและถือเป็นรักแรกพบของผม แต่สำหรับหนังที่ผมชื่นชอบที่สุดนั้น คำตอบสุดท้ายต้องขอยกให้กับ Happy Together (1997) เหตุผลก็คือ มันเป็นหนังที่ทำออกมาได้ลงตัว, มีสไตล์ที่สวยงามฉูดฉาดซึ่งไปด้วยกันได้ดีกับเนื้อหา (ถือเป็นการลบคำครหาที่ว่าสไตล์ในหนังของเขามักโดดเด่นเหนือกว่าเนื้อหา), องค์ประกอบที่สุดยอดในทุกด้าน (การกำกับ, การแสดง, การถ่ายภาพ, ดนตรีประกอบ เป็นต้น), การถ่ายทอดความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง, อารมณ์ความรู้สึกของหนังที่เจ็บปวดร้าวรานซึ่งติดอยู่ในหัวของผู้ชมไปอีกนาน ด้วยองค์ประกอบที่โดดเด่นดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจะสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองได้ (ถือเป็นรางวัลใหญ่ในระดับนานาชาติครั้งแรกของเขาและทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังขึ้นแบบก้าวกระโดด) สร้างสถิติเป็นผู้กำกับฮ่องกงคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ และถึงตอนนี้มันก็ยังคงเป็นหนังคลาสสิคที่ได้รับการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อหนังและสื่อต่าง ๆ (ภาพถ่าย โฆษณา) ในยุคหลัง ๆ อย่างมาก เช่น หนังออสการ์อย่าง Moonlight ที่ผู้กำกับให้สัมภาษณ์อย่างไม่ปิดบังว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ ข่าวดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหรืออยากดูหนังเรื่องนี้ก็คือ Happy Together เวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ 4K ทั้งภาพและเสียงกำลังเข้าฉายในโรงหนังตอนนี้ ทำให้ถือเป็นโอกาสอันดีในการรับชมหนังเรื่องนี้แบบได้อรรถรสเต็มที่ รวมถึงผู้เขียนด้วยที่กำลังจะได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงครั้งแรก หลังจากดูจากแผ่น VCD และ DVD มาตลอด 2.Don’t Cry for Me, Argentina สำหรับเนื้อหาของหนังคร่าว ๆ นั้น เป็นการเล่าเรื่องราวของไหลเยี่ยฟา (เหลียงเฉาเหว่ย) และโหเป่าหวัง (เลสลี่ จาง – ถือเป็นการร่วมงานกันครั้งสุดท้ายระหว่างเขากับหว่องการ์ไว โดยเขาได้ฆ่าตัวตายในปี 2003) สองหนุ่มคู่รักที่เดินทางมาเที่ยวที่อาร์เจนติน่าโดยหวังว่าจะได้ไปเยือนน้ำตกยักษ์ ‘อีกวาซู’ ด้วยกัน ซึ่งพวกเขาหวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะช่วยเยียวความสัมพันธ์ที่มีปัญหาของพวกเขาได้ แต่ระหว่างเดินทางพวกเขากลับมีปากเสียงจนต้องแยกทางกัน ไหลเยี่ยฟาหางานพิเศษในร้านอาหารจีนที่เมืองบัวโนสไอเรสเพื่อหาเงินเดินทางไปต่อ ส่วนโหเป่าหวังกลับออกไปกับผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นวัฏจักรซ้ำเดิมนั่นคือ ทำร้ายกัน (ทั้งร่างกายและจิตใจ) – บอกเลิก – แยกกันอยู่ – ง้อขอคืนดี - กลับมาอยู่ด้วยกันใหม่ ต่อมาไหลเยี่ยฟาได้พบกับเพื่อนร่วมงานอย่างจาง (จางเจิ้น) เด็กหนุ่มไต้หวันที่ร้านอาหารจีนและก่อเกิดเป็นมิตรภาพครั้งใหม่ ทำให้ไหลเยี่ยฟากล้าเดินหน้าต่อโดยทิ้งความสัมพันธ์เดิมที่ทั้งสุขและเศร้าออกไป ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเตรียมการสร้าง (ซึ่งสามารถสร้างเป็นหนังสารคดีเบื้องหลังแบบมัน ๆ ได้หนึ่งเรื่อง) โดยมีการเตรียมในช่วงก่อนที่อังกฤษจะคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนในปี 97 ไม่นาน แต่กลับกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้แทนที่จะพูดถึงฮ่องกงหรือมีฉากหลังเป็นฮ่องกงแบบหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขา หนังเรื่องนี้กลับมีฉากหลังอยู่ที่อาร์เจนติน่าทั้งเรื่อง (โดยมีฉากในฮ่องกงกับไต้หวันปรากฏแบบสั้นมาก ๆ) “ตอนนั้นนักข่าวแทบทุกคนถามผมว่า จะทำหนังเกี่ยวกับการคืนเกาะฮ่องกงไหม ทำให้ผมเบื่อและคิดอยากทำหนังในที่ที่อยู่ไกลจากฮ่องกงที่สุด ซึ่งก็ลงเอยที่อาร์เจนติน่าด้วยเหตุผลหลายอย่าง ต่อมาผมก็ระลึกขึ้นมาได้ภายหลังว่าประเทศนี้มันอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งของโลกกับฮ่องกงพอดี มันจึงเป็นที่ไกลที่สุดจริง ๆ” หว่องการ์ไวกล่าว เหตุผลสำคัญที่เขาเลือกอาร์เจนติน่าเนื่องจากมันเป็นบ้านของนักเขียนโปรดของเขาอย่างมานูเอล ปุช ซึ่งวรรณกรรมของปุชให้แรงบันดาลใจต่อวิธีการเล่าเรื่องในหนังของเขามาตลอด “ในบรรดานิยายทั้งหมดของเขา Heartbreak Tango (มีแปลไทยในชื่อ ‘ริมฝีปากนาง’ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) คือเรื่องโปรดของผม ซึ่งผมชอบชื่อเรื่องจนนำมาใช้เป็นชื่อชั่วคราวของหนังด้วย และคุณจะทำหนังที่มีชื่อเรื่องว่าแทงโก้ได้อย่างไรถ้าคุณไม่ไปอาร์เจนติน่า” หว่องการ์ไวกล่าว การเต้นแทงโก้ ซึ่งต้องอาศัยความสอดคล้องระหว่างผู้เต้นทั้งสองอย่างมาก ในหนังก็สื่อถึงความพยายามรักษาความสอดคล้องในความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งคู่ ซึ่งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไร ความฮือฮาของในช่วงการเตรียมงานสร้างของหนังยังมาจากการที่มันเป็นหนังเกย์ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงที่โด่งดังเป็นอันดับต้น ๆ ในยุคนั้นอย่างเลสลี่ จางกับเหลียงเฉาเหว่ย เป็นความกล้าในยุคนั้นซึ่งหนัง LGBT ยังไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไร หว่องการ์ไวต้องการรีบสร้างหนังเรื่องนี้เพราะไม่แน่ใจว่าหลังการคืนเกาะฮ่องกงสู่จีนแล้ว ทางการจะยังอนุญาตให้ทำหนังเกย์ได้อยู่ไหม เพราะจีนมีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด “ผมไปคุยกับเลสลี่ จางซึ่งอยากทำหนังเกย์มานานแล้วและเห็นถึงความเป็นวาระเร่งด่วนเช่นเดียวกับผม นักแสดงอีกคนที่ผมทาบทามก็คือเหลียงเฉาเหว่ย ซึ่งเขาถามผมว่าหนังจะมีฉากเลิฟซีนหรือฉากโป๊ไหม ผมตอบว่าหนังไม่จำเป็นต้องมี แต่ตอนถ่ายทำจริงผมก็ทำให้เขาช็อคด้วยการถ่ายฉากเลิฟซีนเป็นฉากแรกโดยที่ไม่ได้บอกเขาล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ดูว่าเขาจะสามารถเล่นหนังเรื่องนี้ต่อได้ไหม” หว่องการ์ไวกล่าว (ซึ่งฉากเลิฟซีนดังกล่าวก็ปรากฏในช่วงต้นเรื่อง – ด้วยเหตุผลว่าหว่องการ์ไวต้องการเริ่มต้นหนังในจุดที่ตัวละครใกล้ชิดกันที่สุด แล้วจากนั้นพวกเขาก็ค่อย ๆ ห่างกันไป) “ผมบอกให้เหลียงเฉาเหว่ยถอดกางเกงบ๊อกเซอร์แต่เขาไม่ยอมโดยบอกว่านั่นคือสุดเพดานของเขาแล้ว เราถ่ายทำกันทั้งหมด 2 – 3 เทคจึงแล้วเสร็จ จากนั้นเขาก็นั่งนิ่งหน้าซีด เลสลี่จางได้เดินมาบอกเขาว่า ‘ตอนนี้คุณคงรู้ถึงความรู้สึกของผมที่ต้องรับบทเป็นชายที่มีอะไรกับผู้หญิงแล้วต้องทำเหมือนว่ามีความสุขแล้วสินะ’ มันเหมือนเป็นคำพูดที่ทำให้เขาตาสว่าง อีก 2- 3 ปีต่อมาเขาได้บอกผมว่าหนึ่งในความเสียใจที่สุดของเขาคือการที่ไม่มีความกล้ามากพอที่จะถอดบ๊อกเซอร์ในวันนั้น และผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นสาเหตุที่เขาตัดสินใจเล่นหนัง Lust, Caution (หนังเรท NC -17 ของผู้กำกับอังลี)” หว่องการ์ไวกล่าว เอาเข้าจริง ๆ หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เน้นไปที่ความเป็น LGBT มากสักเท่าไรแต่เน้นไปที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์มากกว่า ทั้งเรื่อง toxic relationship และความพยายามเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ นอกจากนั้นหนังยังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมความเป็นมนุษย์อย่างความเจ็บปวด ความเปราะบาง ความแปลกแยกจากสังคม ความพยายามเยียวยาตัวเอง เป็นต้น อีกหนึ่งในตำนานของเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ก็คือ ลักษณะการทำงานของหว่องการ์ไวที่ใช้วิธีถ่ายทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีแผนการล่วงหน้าและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ซึ่งในช่วงเริ่มต้นถ่ายทำนั้น เขามีแค่ไอเดียคร่าว ๆ โดยที่ยังไม่มีบทหนังหรือแม้แต่ outline คร่าว ๆ ด้วยซ้ำ เขาใช้หลักการถ่ายทำแบบ Road movie โดยเช็คแผนที่ว่าควรจะเดินทางไปที่ไหนแล้วจึงเขียนบทและถ่ายทำในที่นั้น ๆ ซึ่งเป็นการเขียนบทวันต่อวัน วิธีการถ่ายทำที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ดังกล่าวสร้างความปวดหัวให้กับทีมงานไม่น้อย และทำให้กำหนดเวลาถ่ายทำเดิมที่วางแผนไว้ 6 สัปดาห์กลับเพิ่มเป็น 4 เดือน “ที่จริงหนังเรื่องก่อน ๆ ของผมก็ใช้วิธีการ Road movie แบบนี้แต่ด้วยสเกลที่เล็กกว่า เราแค่ข้ามจากถนนเส้นหนึ่งไปอีกเส้นหนึ่งในฮ่องกงซึ่งไม่ยุ่งยากหรือรู้สึกกดดันเท่า แต่เรื่องนี้คุณมีทีมงาน 50 ชีวิตที่ติดอยู่ในต่างประเทศ และคนอื่นทำอะไรไม่ได้นอกจากรอคุณ ทุกคนต่างสงสัยว่าพวกเขามาทำอะไรที่นี่ พรุ่งนี้พวกเขาจะได้ถ่ายหนังไหม” หว่องการ์ไวกล่าว “ผมรู้จักฮ่องกงทุกท้องถนน แต่ผมไม่รู้จักกับบัวโนสไอเรสเลย มันใหญ่กว่าฮ่องกงมากและบรรจุพลังงานที่ต่างกัน มันดูอ้างว้างและห่างไกลจากทุกสิ่ง ผมใช้วิธีเดินไปในเมืองทุกวัน ไปที่ร้านค้าและตรอกซอกซอยต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจเมืองนี้ได้ดีขึ้น” สุดท้ายเขาก็เลือกจบการเดินทางที่เมือง Ushuaia ซึ่งอยู่ปลายสุดของทวีปและอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้ที่สุดด้วยเหตุผลว่าเขาชอบไอเดียในการจบหนังลงที่เมืองซึ่งได้ชื่อว่า The End of the World 3.A Story About Reunion แม้เหตุการณ์ในหนังจะเกิดขึ้นในประเทศที่ห่างไกล แต่เอาเข้าจริงหนังกลับมีนัยยะทางเมืองที่เกี่ยวกับฮ่องกงซึ่งสังเกตเห็นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเรื่องการคืนเกาะและการกลับมารวมกันใหม่ ทั้งจากคำโปรยของหนังที่ว่า A Story About Reunion รวมถึงเนื้อหาของหนังที่พูดถึงความพยายามเริ่มต้นกันใหม่ โดยจะเห็นได้ว่าโหเป่าหวังพูดอยู่เสมอว่า เรากลับมาเริ่มต้นใหม่กันไหม ส่วนไหลเยี่ยฟาก็พยายามกลับไปคืนดีกับครอบครัว รวมถึงน้ำตกอีกวาซูที่ปรากฏในหนังก็สื่อถึงประเด็นนี้เช่นกัน “น้ำตกในภาษาจีนสื่อถึงการรวมตัวกันอีกครั้ง เปรียบดังสายน้ำจากทุกสายได้ไหลมารวมกันในจุดเดียว ด้วยเหตุนี้เวลามีคนถามว่าคิดอย่างไรกับการคืนเกาะ ผมจะตอบว่าหนังเรื่องนี้คือคำตอบของผม แต่ถึงอย่างไร ชื่อหนังอย่าง Happy Together ก็เหมือนเป็นคำถามมากกว่าคำตอบ ที่แน่ ๆ คือฮ่องกงยุคก่อนปี 1997 มันได้ผ่านไปแล้วและจะไม่มีวันย้อนกลับคืน ด้วยเหตุนี้เราถึงไม่ได้เห็นไหลเยี่ยฟากลับไปฮ่องกงและไม่รู้ว่าเขาจะเดินทางไปที่ไหนต่อ” หว่องการ์ไวกล่าว แม้หนังจะมีชื่อว่า Happy Together แต่ถือเป็นความย้อนแย้งเมื่อมองว่าแทบไม่มีตัวละครไหนที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขเลย “คำว่า Happy Together อาจไม่ได้หมายถึงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน แต่มันรวมถึงผู้คนกับความทรงจำของเขา ซึ่งถ้าเขาสามารถอยู่ร่วมกับความทรงจำหรือความหลังที่เจ็บปวดได้ มันก็ไม่ยากที่เขาจะก้าวข้ามผ่านมันเพื่อไปพบกับผู้คนหรือความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ได้อีกครั้ง” ประเด็นเรื่องการยึดติดหรือหมกมุ่นกับอดีตจนไม่ยอมก้าวไปข้างหน้านั้นเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังเกือบทุกเรื่องของเขานับตั้งแต่ Days of Being Wild ไปจนถึง The Grandmaster ซึ่งสุดท้ายแล้วเหล่าตัวละครก็มีวิธีจัดการเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดใจแล้วก้าวไปข้างหน้า หรือว่าเลือกจมปลักอยู่ที่เดิม แต่การได้กลับมาดูหนังเรื่องนี้ในปี 2020 หรือ 23 ปีหลังหนังเรื่องนี้ฉายครั้งแรก จะพบว่าการพูดเรื่อง ‘การพยายามอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข’ นั้นดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากับบริบทในยุคปัจจุบันอีกต่อไป เห็นได้จากสถานการณ์ในฮ่องกงตอนนี้ซึ่งจีนได้ล้มคำสัญญาเรื่อง ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ลงไปและได้พยายามใช้อำนาจครอบงำฮ่องกงอย่างรุนแรงจนนำมาสู่การต่อต้านของประชาชน และนั่นทำให้ชื่อหนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นความย้อนแย้งที่น่าขันมากขึ้นกว่าเดิม ที่มา อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “Wong Kar – Wai: As 30 Years Go By” ของผู้เขียนเอง ในนิตยสาร Bioscope ฉบับกระทำความหว่อง (มิถุนายน – กรกฎาคม 2018) โดยนำข้อมูลมาจาก - หนังสือ The Cinema of Wong Kar – Wai โดยหว่องการ์ไวและจอห์น พาวเวอร์ส (Rizzoli International Publications Inc, 2016), หนังสือเดียวดายอย่างโรแมนติค (สำนักพิมพ์ Bioscope, 2004) บทสัมภาษณ์หว่องการ์ไวนำมาจาก theguardian.comindependent.co.ukdeadlinehollywood.comindiewire.comslantmagazine.com เรื่อง: บดินทร์ เทพรัตน์