แฮร์รี ฮูดินี vs เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ : เพื่อนสนิท แตกคอเพราะเรื่องผีและภรรยา

แฮร์รี ฮูดินี vs เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ : เพื่อนสนิท แตกคอเพราะเรื่องผีและภรรยา
แฮร์รี ฮูดินี (Harry Houdini) คือ นักมายากลและนักสลัดพันธนาการชาวอเมริกันเชื้อสายโรมาเนีย ส่วน เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) คือ นักเขียนชาวสก็อตเจ้าของผลงาน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ยอดนักสืบ  ทั้งคู่เป็นมิตรสหายที่สนิทสนมกัน ฮูดินีเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ฉันมิตรของทั้งคู่เอาไว้ในหนังสือ "A Magician Among The Spirits" ของเขาว่า "มิตรภาพของเซอร์อาร์เธอร์กับผมเริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมไปแสดงที่ไบรตันฮิปโปโดรม เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ (การแสดงคราวนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1909 ทั้งนี้จากรายงานของสื่อท้องถิ่นในไบรตัน - Brighton Museums) นับแต่นั้นเราติดต่อและอภิปรายกันเรื่องต่าง ๆ เรื่อยมาผ่านทางจดหมาย" ความสนิทสนมของทั้งคู่เห็นได้จากจดหมายของ โคนัน ดอยล์ ลงวันที่ 8 มีนาคม 1923 ส่งไปถึงฮูดินี มีความว่า   "ถึงฮูดินีที่รัก:- "ให้ตายเถอะ ช่วยระวังเรื่องการแสดงเสี่ยงตายของเธอหน่อยนะ เธอทำมามากแล้ว ที่พูดก็เพราะฉันเพิ่งเห็นข่าวความตายของ 'มนุษย์แมลง' มา (Human Fly - นักกายกรรมไต่ตึกด้วยมือเปล่า คนที่ โคนัน ดอยล์ อ้างถึงชื่อว่า แฮร์รี เอฟ. ยัง [Harry F. Young] ซึ่งตกจากชั้น 10 ของอาคาร Hotel Martinqiue ในนิวยอร์ก) มันคุ้มกันเหรอ? "ด้วยความจริงใจ "(ลงชื่อ) เอ. โคนัน ดอยล์"   และความสนใจร่วมประการหนึ่งที่ทำให้สองผู้ยิ่งใหญ่ (ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงจากความสำเร็จในวิชาชีพของทั้งคู่) ที่ใช้ชีวิตคนละประเทศและอยู่กันคนละวงการ ต้องติดต่อ (และโต้เถียง) กันเรื่อยมาก็คือเรื่องของ "วิญญาณ" โคนัน ดอยล์ (1859-1930) นั้นแม้จะเล่าเรียนมาทางสายวิทย์จนจบหมอจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ทั้งยังเป็นผู้สร้างตัวละครอย่าง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ยอดนักสืบผู้มีตรรกะความคิดเป็นเลิศสามารถไขปริศนาต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ท่านเซอร์รายนี้กลับเชื่อในเรื่องวิญญาณอย่างหัวปักหัวปำ ฝ่ายฮูดินี (1874-1926) อัจฉริยะรุ่นน้องก็มีความเก่งกาจรอบด้าน รอบรู้ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (เขาเองเป็นนักประดิษฐ์แต่ไม่ชอบขึ้นทะเบียน เพราะนั่นต้องเปิดเผยความลับเบื้องหลังของการประดิษฐ์นั้นด้วย) ไม่ได้เก่งแต่การหนีตาย เขายังเป็นนักมายากล ผู้สร้างภาพมายา เขาจึง "รู้ไต๋" บรรดาผู้ที่อ้างว่ามีพลังพิเศษโดยใช้ทักษะคล้าย ๆ กัน แต่ใช้เพื่อหลอกลวงผู้อื่นเป็นอย่างดี (ขณะที่นักมายากลสร้างภาพลวงตาเพื่อความบันเทิงของผู้ชมเป็นหลัก) ความไม่ลงรอยในเรื่องวิญญาณนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่ต้องปะทะคารมกันอยู่บ่อยครั้ง โคนัน ดอยล์ สนใจเรื่องราวของวิญญาณและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1880s (The Guardian) แต่สิ่งที่ทำให้เขาหันมาแอ็กทีฟออกตัวเป็นหัวหอกผลักดันความเชื่อในเรื่องนี้มากขึ้นก็คือ "มหาสงคราม" (สงครามโลกครั้งที่ 1) ที่เขามีโอกาสได้เห็นกับตา และต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไปมากมาย ทั้งพี่น้องแท้ ๆ น้องเขย หลานชาย รวมถึงลูกชาย "คิงส์ลีย์" ที่มาเสียไปเพราะไข้หวัดใหญ่ระหว่างพักรักษาตัวเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากสงคราม (ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว แต่การสื่อสารทางไกลยังเป็นเรื่องลำบาก ประกอบกับภาวะสงครามก็เป็นสิ่งกระตุ้นความกระหายที่จะสื่อสารของคนและผลักคนให้เข้าหาความเชื่อเรื่องคนทรงที่ตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี) ขณะที่ฮูดินีเองก็มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการสูญเสียคนใกล้ชิด โดยเฉพาะ “แม่” และอยากจะเชื่อในเรื่องการเข้าทรงของลัทธิจิตวิญญาณซึ่งแพร่หลายอยู่ในสมัยนั้น ด้วยหวังว่า เขาจะมีโอกาสได้สื่อสารกับแม่ที่อยู่ในโลกหลังความตายได้อีกครั้ง แต่สิ่งที่เขาเห็นจากบรรดาคนที่อ้างตัวว่าเป็น “สื่อกลาง” ที่สามารถพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในโลกหลังความตายได้ล้วนแล้วแต่เป็นพวกปรสิตที่หลอกกินคนที่รู้ไม่ทัน ฮูดินีเล่าว่า เขาพยายามเตือนเรื่องนี้กับโคนัน ดอยล์ อยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็ไม่ทำให้โคนัน ดอยล์ คลายความศรัทธาในเรื่องคนทรงนี้ได้ บางครั้งยังคอยหาข้อแก้ตัวให้กับคนทรงปลอมที่ใช้กลโกงหลอกลวงคนอื่นโดยยืนยันว่า การสื่อสารกับคนตายทำได้จริง และคนทรงที่ถูกจับได้ว่าใช้กลโกงนั้นบางคนก็เป็นของจริง แต่บางทีก็ล้ำเส้นใช้กลโกงเสริมเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ “คุณหญิงดอยล์” (จีน เลกกี [Jean Leckie]) ภรรยาคนหลังของ โคนัน ดอยล์ ก็ยังเป็นคนหนึ่งที่อ้างว่าตนมีสัมผัสพิเศษสื่อถึงวิญญาณได้ ทำให้ท่านเซอร์วนเวียนอยู่กับความเชื่อเรื่องนี้  แล้ววันหนึ่งขณะที่ โคนัน ดอยล์ และคุณหญิงดอยล์เดินทางมาเยือนสหรัฐฯ โคนัน ดอยล์ จึงได้เชิญฮูดินีมาพบที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ในแอตแลนติกซิตี้ ระหว่างนั้นเอง คุณหญิงดอยล์ก็ชวนให้ฮูดินีร่วมพิธีทรง โดยอ้างว่า เธอสัมผัสได้ถึงดวงวิญญาณของแม่ของฮูดินี!   "ลึก ๆ ผมอยากจะเชื่อ ถึงขนาดต้องการที่จะเชื่อด้วยซ้ำ มันรู้สึกแปลก ผมรอคอยด้วยใจที่เต้นตึกตัก หวังว่าจะได้พบกับแม่ที่แสนรักของผมอีกสักครั้ง ถ้าจะมีลูกชายคนไหนที่บูชาแม่ ยกย่องเป็นแบบอย่าง ปรารถนาให้ท่านมีความสุขสบาย ลูกคนนั้นก็คือผม แม่คือชีวิตของผม ความสุขของท่านคือความสบายใจของผม ด้วยเหตุนี้ไม่มีอื่น ผมต้องการตั้งสมาธิอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น สำหรับผมมันคือสิ่งที่จะช่วยลบความเจ็บปวดทั้งหลายในใจ ผมอยากจะคุยกับแม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะวันนั้น 17 มิถุนายน 1922 เป็นวันคล้ายวันเกิดของแม่ ผมพร้อมที่จะเข้ารีตลัทธิจิตวิญญาณถ้าหากมีหลักฐานหนักแน่นพอที่จะหักล้างข้อสงสัยทั้งหลายที่ซ้อนทับอยู่ในสมองของผมในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา" ฮูดินีเล่าถึงความรู้สึกก่อนร่วมพิธีทรงของคุณหญิงดอยล์ พิธีเกิดขึ้นโดยมี ฮูดินี โคนัน ดอยล์ และคุณหญิงดอยล์ เป็นองค์ประชุมเพียง 3 คน ส่วน “คุณนายฮูดินี” (เบียทริซ [Beatrice] ชื่อเดิม Wilhelmina Rahner) ถูกกันไว้ไม่ให้ร่วมพิธี โดย โคนัน ดอยล์ อ้างว่า มันดีกว่าที่จะไม่มี “พลังอื่น” เข้ามาวุ่นวาย  จากคำบอกเล่าของฮูดินี เมื่อพิธีเริ่มขึ้น คุณหญิงดอยล์ก็มีอาการสั่นเทิ้ม เสียงสั่น เอามือทุบโต๊ะ และขอให้วิญญาณช่วยมอบข้อความสื่อสารผ่านเธอ ฝ่ายเซอร์อาเธอร์ก็พยายามทำให้เธอสงบและควบคุมตัวเองให้ได้ แต่เธอกลับมีอาการสั่นแรงขึ้น ก่อนจะทำสัญลักษณ์ไม้กางเขนบนหัวกระดาษ แล้วเริ่มเขียนข้อความที่เธอได้รับผ่านวิญญาณหน้าแล้วหน้าเล่า โคนัน ดอยล์ ตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับพิธีกรรมนี้เนื่องจากเป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่าง คนทรง (ภรรยาตัวเอง) กับแม่ของฮูดินี (ขณะที่คนทรงหลายรายมักจะมีวิญญาณเจ้าประจำที่หยั่งรู้เรื่องที่คนทั่วไปไม่รู้) แต่เมื่อฮูดินีได้เห็นข้อความที่อ้างว่ามาจากแม่ของเขาเอง เขากลับเชื่อไม่ลง เพราะหากเป็นตัวตนของแม่ของเขาจริง ๆ ด้วยความที่เธอเป็นชาวโรมาเนียอพยพ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เธอจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเลิศเช่นนั้น "ในกรณีการทรงเพื่อผมในคราวนี้ เซอร์อาเธอร์เชื่อด้วยใจลิงโลดว่านี่เป็นการสื่อสารโดยตรง แต่ยิ่งเป็นเช่นนั้นผมยิ่งลังเลที่จะเชื่อ เพราะแม้ว่า แม่ผู้เป็นดั่งนักบุญของผมจะได้ใช้ชีวิตในอเมริกาเกือบห้าสิบปี แต่เธอไม่อาจพูด อ่าน หรือเขียนภาษาอังกฤษได้เลย แต่ที่ผู้เชื่อในลัทธิจิตวิญญาณอ้างว่า เมื่อร่างทรงถูกสิงโดยวิญญาณที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน ร่างทรงก็จะสามารถเขียน พูด หรือร้องเพลงเป็นภาษาของผู้ตายได้ทันที"  ฮูดินีกล่าว โดยอ้างถึงทฤษฎีที่ผู้เชื่อเรื่องร่างทรงยอมรับกันทั่วไปว่า คนทรงควรจะสื่อสารด้วยภาษาของคนตายได้ทันทีที่ถูกสิง ในขณะที่พิธีทรงคราวนี้ แม่ที่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เลยกลับเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ โคนัน ดอยล์ ได้แก้ต่างเอาไว้ว่า "อย่างไรก็ดี เซอร์อาเธอร์บอกผมว่า วิญญาณยิ่งตายไปนาน การศึกษาจะยิ่งสูงขึ้น แม่ผู้ได้รับอำนวยพรของผมจึงสามารถเป็นเลิศในภาษาอังกฤษได้บนสวรรค์" สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ข้ออ้างของโคนัน ดอยล์ ยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าป่า แต่ยิ่งไปกว่านั้น ฮูดินีอ้างว่า เขากับภรรยาสามารถสื่อสารกันได้ด้วยรหัสลับที่คนอื่นดูไม่ออก ระหว่างที่เขากำลังไปร่วมพิธีทรงที่มีเพียงเขา โคนัน ดอยล์ และคุณหญิงดอยล์ ขณะที่ภรรยาของเขาถูกกันออกไปนั้น ภรรยาของเขาได้ส่งสัญญาณให้รู้แล้วว่า คืนก่อนหน้า เธอกับคุณหญิงดอยล์นั่งเมาธ์กันมากมายโดยเฉพาะเรื่องของแม่ของฮูดินี เรื่องราวความผูกพันของเขากับแม่ เรื่องส่วนตัวที่คนอื่นไม่รู้ อย่างเช่น เรื่องที่ฮูดินีใส่แต่เสื้อผ้าที่แม่ซื้อให้ เวลาเขาไปเยี่ยมแม่และอยู่กับแม่เป็นเดือน ๆ หลังจากเดินทางไปแสดงต่างประเทศเป็นเวลานาน หรือสิ่งที่เขาทำบ่อย ๆ อย่างการไปซบหน้าอกแม่เพื่อฟังเสียงหัวใจของแม่  เหตุการณ์คราวนั้น ทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมาระหว่าง ฮูดินี และโคนัน ดอยล์ ทั้งในหน้าสื่อ และในจดหมายส่วนตัว (แต่สุดท้ายฮูดินีก็เอามาใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือของเขาเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะอีกที) จนความสัมพันธ์ของทั้งคู่สั่นคลอน เนื่องจากฮูดินีไปตั้งข้อสงสัยในความซื่อสัตย์ของภรรยาของโคนัน ดอยล์ เสียได้ และฮูดินีก็ไม่ยอมหยุดประณามร่างทรงที่โคนัน ดอยล์ เชื่อถือ ก็ทำให้สายสัมพันธ์ของทั้งสองเสื่อมทราม หลังจากหนังสือเรื่อง “A Magician Among the Spirits” ของฮูดินีเผยแพร่ออกไปได้เพียงสองปี ฮูดินีก็เสียชีวิต (1926) ฝ่ายคุณนายฮูดินีจึงหันไปพึ่งร่างทรงที่สามีเคยประณามด้วยหวังว่า จะได้ถามไถ่ความเป็นไปของสามีในอีกโลกหนึ่ง ก่อนยอมรับว่า ความพยายามของเธอไม่เป็นผลสำเร็จก่อนหน้าที่เธอจะเสียชีวิตลงในปี 1943 (Britannica ส่วน โคนัน ดอยล์ เสียชีวิตตามหลังอดีตสหายรุ่นน้องในอีกสี่ปีต่อมา (1930) ท่ามกลางความยินดี (แทนที่จะเสียใจ) ของเหล่ามิตรสหายในแวดวงลัทธิจิตวิญญาณด้วยเชื่อว่า ดวงวิญญาณของเขาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ได้เดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ และอีกหนึ่งสัปดาห์หลังความตายของเขา ภรรยาและเหล่ามิตรสหายหลายพันที่เชื่อในเรื่องวิญญาณก็ได้จัดพิธีทรงที่ Royal Albert Hall ในกรุงลอนดอน เพื่อสื่อสารกับ โคนัน ดอยล์ ผู้ล่วงลับ