The Hollies - He Ain’t Heavy, He’s My Brother: บ้านเด็กกำพร้า ความหวัง ซากหักพัง และการแบกน้องขึ้นบ่า

The Hollies - He Ain’t Heavy, He’s My Brother: บ้านเด็กกำพร้า ความหวัง ซากหักพัง และการแบกน้องขึ้นบ่า
/ The road is long With many a winding turn That leads us to who knows where Who knows where But I’m strong Strong enough to carry him He ain’t heavy, he’s my brother /   ถนนแห่งชีวิตนั้นคดเคี้ยวและทอดยาว บนดาวเคราะห์สีฟ้าที่อ้าแขนรับสิ่งมีชีวิตดวงนี้ มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก จากเล็กจ้อยค่อยเติบใหญ่ และดำรงอยู่จวบเฒ่าชรา หรือจนกว่าวินาทีสุดท้ายที่ความตายเปิดประตูต้อนรับ การดำรงชีวิตฉบับมนุษย์นั้นไม่ง่าย เมื่อเราสร้างกฎเกณฑ์มากมายขึ้นมาเพื่อหาความหมายให้กับช่วงเวลาแสนสั้นของตนเอง บางคนปรารถนาปลายทางที่เปี่ยมสุขโลกจึงมีศาสนา บางคนปรารถนาความยิ่งใหญ่เหนือผู้ใดโลกจึงมีสงคราม บางคนปรารถนาเพียงก้าวไปเบื้องหน้า ทว่าสองขาของเขายังเยาว์วัย และในบางครั้ง อ่อนแอเกินจะก้าวด้วยตนเอง ระหว่างเส้นทางที่อาจบรรยายให้เห็นภาพได้ว่า ‘The road is long, with many a winding turn’ นั้น บุคคลผู้สองเท้าไม่พร้อมก้าวอาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หากไม่มีใครสักคนแบกเขาขึ้นบ่า โอบรับน้ำหนักของเขาเอาไว้ด้วยเต็มใจ และบอกกับคนที่ถามไถ่ว่า “He ain’t heavy, he’s my brother”   เสียงหีบเพลงปากจากฟากฝั่งอังกฤษ ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาตินั้นยาวนานพอให้บรรพบุรุษของเราสร้างสรรค์ดนตรี เมื่อถึงยุคหนึ่ง สิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘บทเพลง’ ก็เฟื่องฟู คำร้องประสานท่วงทำนองกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นชิน และหลายครั้งที่ความจรรโลงใจเหล่านั้นบรรจุถ้อยคำที่ยากลืมเลือน ‘He Ain’t Heavy, He’s My Brother’ คือบทเพลงที่ประกอบไปด้วยวลีเดียวกับชื่อ ที่เป็นหนึ่งในถ้อยคำอันสะท้อนธรรมชาติอีกประการของมนุษย์ได้อย่างจับใจ แม้ไม่ใช่ศิลปินแรกที่บันทึกเสียงเพลงนี้ (ผู้บันทึกเสียงแรกคือ ‘เคลลี กอร์ดอน’ (Kelly Gordon)) หาก ‘The Hollies’ วงดนตรีจากฟากฝั่งอังกฤษก็กลายเป็นกลุ่มศิลปินที่พาให้ประโยคดังกล่าวพัดหวนไปทั่วโลก พร้อมกับเสียงหีบเพลงปากต้นเพลง เสียงร้องเปี่ยมอารมณ์ ความไพเราะของการเรียบเรียงดนตรี และฝีมือบรรเลงเปียโนของ ‘เอลตัน จอห์น’ (Elton John) ที่ปรากฏในเพลง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเขายังใช้ชื่อเสียงเรียงนามตามใบเกิดอย่าง ‘เรจ’ นั้นยังถูกจดจำไม่รู้ลืม หากเมื่อย้อนกลับไปถึงต้นทาง ถ้อยคำท่อนจำของเพลงนี้ สมาชิกในวง ‘The Hollies’ ไม่ใช่ผู้รังสรรค์มันขึ้นมาด้วยตนเอง เพราะโทนดนตรีบัลลาดลึกซึ้งและเนื้อเพลงที่เล่าถึงการแบกน้องชายขึ้นหลัง ก้าวผ่านผืนดินและแรงลมไปด้วยกันนั้นเป็นฝีมือของ ‘บ็อบบี สก็อตต์’ (Bobby Scott) ที่ร่วมสร้างสรรค์กับ ‘บ็อบ รัสเซลล์’ (Bob Russell) โดยมีที่มาจากประโยคอันเป็นคำขวัญประจำบ้านเด็กกำพร้า ‘Boys Town’ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโอมาฮา, สหรัฐอเมริกา   เด็กกำพร้าที่แบกน้องชายขึ้นบ่า หากยึดตามเรื่องราวที่ระบุในเว็บไซต์ของ Boys Town บ้านที่รับโอบอุ้มเด็กชาย (และภายหลังมีเด็กหญิงร่วมด้วย) แห่งนี้เล่าขานถึงครั้งหนึ่งในปี 1918 เมื่อเด็กชายที่ถูกแม่ทิ้งจนกำพร้า ชื่อว่า ‘โฮวาร์ด ลูมิส’ (Howard Loomis) ได้ถูกรับเลี้ยงในบ้านของเด็กถูกทิ้งที่เพิ่งก่อตั้งในปีที่ผ่านมา (1917) โดยนักบวชคริสต์คาทอลิก ‘เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ ฟลานาแกน’ (Edward Joseph Flanagan) เจ้าหนูโฮวาร์ดป่วยด้วยโรคโปลิโอจนต้องสวมเหล็กดามขา พบความลำบากแม้แต่ในยามก้าวเดิน การขึ้นและลงบันไดเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สองขาลีบเล็กไม่อำนวยให้เขาทำได้ ทว่าภายในบ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้เหล่าเด็กชาย ท่ามกลางเสียงครื้นเครงประสาวัยซน ยังมีเด็กผู้ชายที่แก่อายุ ตัวโต และแข็งแรงกว่าเขา เด็ก ๆ เหล่านั้นผลัดกันอุ้มเขาขึ้นบ่า และก้าวขาขึ้นบันไดโดยมีน้องชายต่างสายเลือดอยู่บนหลัง วันหนึ่ง คุณพ่อฟลานาแกนที่เฝ้าดูแลเด็ก ๆ อยู่เสมอ เอ่ยถาม ‘รูเบน เกรนเจอร์’ (Reuben Granger) เด็กโตที่แบกน้องขึ้นหลังในเที่ยวนี้ว่า รู้สึกหนักบ้างไหม และรูเบนตอบว่า “ไม่หนักหรอกครับคุณพ่อ ก็เขาเป็นน้องชายผมนี่” นั่นคือเรื่องราวในบ้านเด็กกำพร้าที่สะท้อนความประทับใจแค่ภายในบ้านหลังเล็กอยู่นานปี กระทั่งปี 1943 ที่บาทหลวงฟลานาแกนพลิกหน้ากระดาษอ่านนิตยสารและพบภาพเด็กชายผู้แบกเด็กอีกคนไว้บนบ่า คำบรรยายใต้ภาพระบุว่า ‘He ain’t heavy, mister… he’s my brother.’ ถ้อยคำและภาพดังกล่าวทำให้เขาหวนระลึกถึงคำตอบของเด็กชายที่เคยเติบโตใต้ความดูแลของเขา และพบว่าคำกล่าวนั้นเอง คือหัวใจหลักของ ‘Boys Town’ บ้านเด็กกำพร้าที่เขาสร้าง ด้วยขั้นตอนขออนุญาตเล็กน้อย ‘Boys Town’ ได้โอบรับเอาข้อความนั้นมาเป็นคติประจำบ้าน เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่นและถูกช่วยเหลือ เมื่อมนุษย์เราต่างต้องเผชิญช่วงเวลาที่รู้สึกว่าสองขาหนักอึ้งจนเดินต่อไปไม่ไหว การจะผ่านคืนวันเหล่านั้นไปได้ มีแต่ต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อและน้ำใจจากผู้คนรอบตัว เรื่องราวเหล่านี้บันดาลใจให้ ‘บ็อบ รัสเซลล์’ ขีดเขียนร่ายเรียงเนื้อเพลงออกมาเป็นคำ ระหว่างช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะขณะที่เขียนเพลงนี้ ซึ่งจะกลายเป็นเพลงฮิตเพลงสุดท้ายจากปลายปากกาเขา รัสเซลล์กำลังอยู่ใกล้ปากทางของความตาย และโรคร้ายอย่างมะเร็งก็คร่าชีวิตเขาไปในไม่กี่เดือนให้หลัง นับจากวันที่ ‘He Ain’t Heavy, He’s My Brother’ ถูกบันทึกเสียงและเผยแพร่ให้ผู้คนได้ฟัง   อีกด้านของหน้ากระดาษ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าทั้งหลาย แม้เรื่องราวข้างต้นจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัสเซลล์ขยับปลายปากกา ส่วนสก็อตต์ค้นหาทำนองดนตรี หากที่มาของถ้อยคำทำนองเดียวกันนี้ไม่ได้มีเพียงหนึ่ง กลับกัน มีเรื่องราวเล่าถึงต้นตอของวลีเปี่ยมรักนี้ว่ามัน (น่าจะ) ปรากฏขึ้นบนโลกครั้งแรกในหน้ากระดาษหนังสือ ตีพิมพ์ปี 1884 ชื่อว่า ‘The Parables of Jesus’ เขียนโดย ‘เจมส์ เวลส์’ (James Wells) ที่เล่าถึงสองพี่น้องชาวสก็อต เด็กผู้หญิงตัวกระจ้อยคนหนึ่ง และน้องชายตัวใหญ่วัยทารกของเธอ ภาพเด็กหญิงประคองน้องชายไว้แนบหลัง ทั้ง ๆ ที่เธอและเขาตัวเกือบเท่ากัน ทำให้ผู้ผ่านไปพบเอ่ยถามถึงความเหนื่อยและหนักบนหลังและไหล่ แน่นอนว่าเธอตอบกลับไปด้วยถ้อยคำที่เราเดาได้ “หนักเสียเมื่อไร เขาเป็นน้องชายของฉันนี่” เรื่องเล่าจับใจของสองพี่น้องถูกพูดถึงอีกครั้งในปี 1918 เป็นข้อเขียนที่ตีพิมพ์โดย Ralph Waldo Trine ในหัวข้อ ‘The Higher Powers of Mind and Spirit’ ขณะที่ไม่กี่ปีถัดมา นิตยสาร Kiwanis ก็ประกอบด้วยคอลัมน์ประจำเดือนกันยายน 1924 ของบรรณาธิการอย่าง ‘โร ฟัลเกอร์สัน’ (Roe Fulkerson) มีเนื้อความเล่าถึงเด็กชายที่ร่างกายอ่อนแอ แบกทารกไว้บนบ่า และโซซัดโซเซไปในสวนสาธารณะ กระทั่งเขาผ่านไปพบ ฟัลเกอร์สันบอกเด็กคนนั้นว่า “ดูเป็นภาระที่หนักหนาสำหรับเด็กตัวแค่นี้” เด็กน้อยหันมาด้วยรอยยิ้ม และตอบว่า “ทำไมล่ะครับ เขาไม่หนักเสียหน่อย ก็เขาเป็นน้อยชายผมนี่”   แด่ความหวังและซากหักพังแห่งความเป็นมนุษย์ มิใช่เพียงแวดวงตัวอักษรที่ถ้อยคำนี้โลดแล่น หากในโลกของภาพยนตร์ ถ้อยคำ ‘He ain’t heavy, he’s my brother.’ ก็ถูกประดับบนม้วนฟิล์มไม่ต่าง ปี 1938 เรื่องราวของคุณพ่อฟลานาแกนและบ้านเด็กกำพร้าได้ถูกถ่ายทอดในหนังเรื่อง ‘Boys Town’ และอีก 3 ปีถัดมา ภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง ‘Men Of Boys Town’ (1941) ก็ปรากฏประโยคจำนั้นอยู่ภายใน เรื่องราวที่ผู้เขียนบอกเล่าอาจดูคล้ายว่าล้วนเกิดในซีกโลกตะวันตก (และในหลายแง่มุมก็มีเค้ายึดโยงกับคริสต์ศาสนา) แต่ไกลออกไปจากดินแดนที่ข้าวถูกแปรรูปเป็นขนมปัง ฟากฝั่งเอเชียก็ปรากฏเรื่องราวในทำนองเดียวกัน ทว่าคราวนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเล่าขานในนามผลกระทบจากสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ ปี 1945 นับเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่ทั้งโลกร่วมจารึก ท่ามกลางภูมิประเทศเกาะกลางทะเลของประเทศญี่ปุ่น ปลายทางที่โหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นที่นั่น ด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณู หรือระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ‘ลิตเติลบอย’ คร่าชีวิตผู้คนมากมายในเมืองฮิโรชิมะ ขณะที่ ‘แฟตแมน’ ทำลายล้างเมืองนางาซากิจนราบ ระเบิดนิวเคลียร์เพียงสองลูกที่ถูกนำมาใช้จริงบนโลกระหว่างสงครามได้ร่วมปลิดชีวิตผู้คนไปราว 340,000 ราย โดยนับทั้งผู้ที่เสียชีวิตทันที และเสียชีวิตจากกัมมันตรังสีในภายหลัง หนึ่งในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ถูกบันทึกจากเหตุการณ์นั้นด้วยฝีมือของช่างภาพสงครามชาวอเมริกัน นาม ‘โจ โอ’ดอนเนลล์’ (Joe O’Donnell) ที่เดินทางมายังเมืองนางาซากิ เพื่อบันทึกภาพควันหลงและผลกระทบจากสงคราม ท่ามกลางเหล่าคนเศร้าและคนตายที่เขามองเห็นผ่านเลนส์ ยังมีเรื่องราวของเด็กชายวัยสิบขวบที่แบกน้องชายวัยทารกไว้บนหลัง ดวงตาของน้องชายปิดสนิทคล้ายกำลังนอนหลับ ทว่าเขาก็รู้ดีว่าเป็นการใสซื่อจนเกินไปที่จะเข้าใจเช่นนั้น น้องของเด็กคนนั้นตายแล้ว และเขากำลังเดินเท้าเปล่าและหยุดรออย่างอดทนเพื่อพาครอบครัวคนสุดท้ายที่เขายังสัมผัสร่างได้ไปยังเพลิงเผาศพ จากปากคำของผู้สังเกตการณ์อย่าง โจ โอ’ดอนเนลล์ เล่าว่าเด็กชายผู้พี่ยืนนิ่งอยู่ราวสิบนาที เม้มริมฝีปากแน่นจนหยดเลือดสีแดงเริ่มลามไหลเมื่อน้องชายถูกเผากลายเป็นเถ้า เขายืนมองเชื่องช้า และหันหลังเดินจากไปอย่างเงียบงัน อย่างไรก็ตาม มีคำบอกเล่าเรื่องราวระหว่างรอส่งน้องสู่เตาเผา เด็กชายได้เอ่ยตอบความปรารถนาดีของผู้ที่อาสาจะแบกน้องชายแทนเขาด้วยถ้อยคำที่ถูกแปลเป็นอังกฤษว่า ‘He ain’t heavy, he’s my brother.’ และแม้ผู้เขียนไม่อาจค้นหาที่มาอย่างเป็นทางการได้ว่าประโยคดังกล่าวถูกบอกเล่าจากปากห้อเลือดของเด็กชายผู้พี่จริง หรือเป็นพาดหัว ไม่ก็คำบรรยายของสำนักข่าวบางสำนัก หลังจากภาพถ่ายเก่าเก็บนั้นถูกเผยแพร่ครั้งแรกห่างจากวันที่ถ่ายหลายสิบปี ทว่ากลับปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้อยคำที่ถูกอ้างถึงนั้นแทรกตัวลงกลางใจ และฉายภาพความโหดร้ายของสงครามได้ไม่ต่างจากที่มันถ่ายทอดถึงความหวัง อีกทั้งการช่วยเหลือกันระหว่างมนุษย์ ด้วยเรื่องราวมากมายที่ถูกเล่า บทเพลงนี้จึงเรียกได้ว่าบรรจุทั้งสุขและเศร้า ทั้งความหวังและผุพังของชีวิตถูกถ่ายทอดลงในห้วงดนตรีเมื่อปี 1969 และถูกขัดเกลาด้วยเวลามากว่า 50 ปีจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับประโยคที่ถูกใช้เป็นชื่อเพลงที่คงอยู่มานานกว่า และอาจจะคงอยู่ไปจนนิรันดร์ ตราบใดที่มนุษย์เรายังต้องการใครสักคนที่พร้อมจะเอ่ยถ้อยคำสั้น ๆ นั้นแก่เรา “You aren’t heavy, you’re my family (or friend).”   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.songfacts.com/facts/the-hollies/he-aint-heavy-hes-my-brother http://theylaughedatnoah.blogspot.com/2021/06/he-aint-heavy.html?m=1 https://postcardhistory.net/2020/04/poster-series-xii-boys-town-nebraska/ https://m.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1278220145614100&id=355967011172756 https://www.boystown.org/blog/Pages/story-behind-aint-heavy.aspx https://www.songmeaningsandfacts.com/the-hollies-he-aint-heavy-hes-my-brother/ https://medium.com/@izana/the-hidden-story-what-is-not-in-the-picture-6fe14005302a https://www.wisdomoftheoldies.com/2015/12/shedding-new-light-on-he-aint-heavy.html?m=1 https://rarehistoricalphotos.com/japanese-boy-standing-attention-brought-dead-younger-brother-cremation-pyre-1945/