เฮเลน เรดดี : I Am Woman เพลงของผู้หญิงที่ยืนเด่นอย่างท้าทาย

เฮเลน เรดดี : I Am Woman เพลงของผู้หญิงที่ยืนเด่นอย่างท้าทาย
แม้โลกจะสร้างเพศชายและเพศหญิงเพื่อคงความสมดุลของธรรมชาติให้คงอยู่ แต่แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมนั้นมีมาอย่างยาวนานในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และคนที่เข้าใจข้อนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ เฮเลน เรดดี(Helen Reddy) นักร้องสาวผู้สร้างประวัติศาสตร์ตลอดยุค 70s นั่นเอง เฮเลน เรดดี หิ้วหอบความฝันจากบ้านเกิดเมลเบิร์นประเทศออสเตรเลีย มายังมหานครนิวยอร์กพร้อมลูกสาววัยสามขวบ ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ครอบครัวของเธอได้กรุยทางมาตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือการเป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่ ก้าวแรกที่เธอเหยียบย่างเข้าไปหาก็คือค่ายเพลงนั่นเอง แต่เธอดันเกิดมาในยุค 60s ที่ศิลปินที่ครองชาร์ตส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ชาย ส่วนหญิงสาวที่ออกอัลบั้มนั้นมีน้อยถึงน้อยมาก ด้วยใบหน้าที่ไม่ได้ดึงดูดเท่าไร ซ้ำร้ายลูกที่ตามติดเธอนั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในการเป็นศิลปิน และมันยิ่งตอกย้ำความจริงอันแสนขมขื่นนี้ เมื่อเธอเลือกที่จะอยู่นิวยอร์กต่อโดยทำงานเป็นนักร้องในบาร์เล็ก ๆ ที่ชื่อ Three Rivers Inn ที่มีคนดูเธอเพียง 12 คน มันเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและชอกช้ำ ซ้ำร้ายเธอยังได้ค่าตัวน้อยกว่านักดนตรีในวงเนื่องจากเธอลักลอบมาทำงานอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย ก่อนที่ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและความสิ้นหวังที่จะเป็นศิลปินจะทำให้เธออยากกลับบ้านเกิด ฟ้าก็ประทานให้เธอได้รู้จักกับชายหนุ่มที่ชื่อ เจฟฟ์ วาล์ด ในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง ทั้งสองต่างสปาร์กจอยกันอย่างรุนแรง และทั้ง 2 ก็ตัดสินใจแต่งงานกันหลังจากทำความรู้จักกันเพียง 3 วัน โดยเจฟฟ์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปั้นเธอให้ดังให้ได้ แต่ 1 ปีผ่านไป กลับไม่มีวี่แววที่เธอจะได้เป็นศิลปิน จนสุดท้ายทั้งสามรวมลูกน้อยก็ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากนิวยอร์กมายังชิคาโก โดยสามารถเข็นซิงเกิลแรกในชีวิตกับเพลง One Way Ticket กับตราแผ่นเสียงฟอนตานา น่าเสียดายที่ก้าวแรกของเธอนั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จเลยสักนิดเดียว เมื่อสถานะการเงินเริ่มร่อยหรอ เจฟฟ์และเฮเลนจึงต้องย้ายบ้านอีกครั้งไปอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส โดยเจฟฟ์ขอไปทำหน้าที่ดูแลวงร็อคที่เริ่มมาแรงตามสมัยนิยมอย่าง Deep Purple และให้เฮเลนทิ้งความฝันที่จะเป็นนักร้องไปซะเพื่อเป็นแม่บ้านอย่างเต็มตัว แต่เฮเลนก็ไม่ตอบตกลงตามข้อเสนอนั้น เธอบีบบังคับให้สามีของเธอผลักดันเธอให้เหมือนที่เขาผลักดันวง Deep Purple จนเจฟฟ์ต้องโทรฯ ไปตื๊อผู้บริหารค่าย Capitol Records ทุกวัน วันละหลายครั้งเป็นเวลา 5 เดือน จนผู้บริหารรำคาญและยอมให้เจฟฟ์และเฮเลนอัดเพลง I Don't Know How to Love Him ซึ่งตอนแรกนั้นค่ายหมายมั่นปั้นมือให้ ลินดา รอนสตัดต์ เป็นคนร้อง แต่ศิลปินสาวปฏิเสธบอกว่ามันเป็นเพลงที่แย่ ส้มจึงมาหล่นที่ตัวเฮเลน ซึ่งเธอทำหน้าที่นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งที่ตอนแรกเพลงนี้เป็นเพลงแค่เพลงเดียวที่ทางค่ายกะว่าถ้าทำแล้วไม่ดังก็เลิก แต่มันกลับเป็นการเปิดตัวอย่างงดงามเมื่อเพลงเพลงนี้อยู่อันดับ Billboards 100 สูงสุดถึงอันดับที่ 13 ทำให้เฮเลนเริ่มมีแต้มต่อที่จะสานฝันต่อไปในฐานะศิลปินหญิง จนสุดท้ายค่ายก็ยอมใจอ่อนผลิตอัลบั้มชุดแรกในชื่อ I Don't Know How to Love Him ในปี 1971 แม้จะเปิดตัวเป็นอัลบั้มแรก แต่เธอก็ไม่ภูมิใจนักเมื่อมันถูกผลิตโดยผู้ชายที่โยนเพลงเก่า ๆ มาให้เธอร้องคัฟเวอร์มากกว่า อัลบั้มชุดที่ 2 Helen Reddy ก็ตามต่อความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ไม่วายเป็นอัลบั้มที่นำเพลงเก่ามาคัฟเวอร์เหมือนอัลบั้มแรก เฮเลนพบว่าเธอถูกกดทับหลายด้านเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ไม่ใช่แค่เธอ แต่ผู้หญิงในยุคนั้นต่างก็รู้สึกไม่ต่างกันกับเฮเลน ในช่วงเวลาที่เฮเลนเป็นศิลปิน เหล่าหญิงสาวจำนวนมากก็เริ่มเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม โดยเริ่มต้นการประท้วงที่เมืองนิวยอร์ก เฮเลนเองก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า เธอคือศิลปิน ไม่ใช่เครื่องจักรที่ร้องเพลงได้ วิธีเดียวที่จะช่วยปลกแอกเธอจากการเป็นเพียงหุ่นกระบอกที่ถูกเชิดโดยค่ายเพลงคือเธอต้องเขียนเพลงเอง และในค่ำคืนหนึ่ง เธอก็นึกถึงวลีหนึ่ง “I Am Strong I Am Invisible” และมันก็เป็นจุดเริ่มของเพลงที่เปลี่ยนสถานะของเธอไปตลอดกาล นั่นคือเพลง I Am Woman นั่นเอง “ตั้งแต่ฉันเป็นนักร้อง เพลงหลายเพลงที่ฉันได้คัฟเวอร์มา น่าแปลกใจที่ฉันไม่พบเพลงที่พูดถึงความเป็นผู้หญิงเลย ในโลกความเป็นจริง ฉันพบเจอผู้หญิงที่เข้มแข็งมากมายในครอบครัวของฉันที่ผ่านช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, บาดแผลจากสงครามโลก และสามีขี้เมา แต่ในโลกของเสียงเพลงกลับไม่มีอะไรที่สะท้อนถึงสิ่งนั้น มันผลักดันให้ฉันเขียนเพลงนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักแต่งเพลง แต่มันก็ต้องทำ” เฮเลนเล่าถึงช่วงเวลาของการแต่งเพลง I Am Woman ของเธอ “ฉันถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด ทั้งบนเวทีและหลังเวที ผู้ชายส่วนใหญ่คัดค้านผู้หญิงตลอด ได้แต่มองว่าพวกเราวัน ๆ เอาแต่แต่งตัวสวย หรือไม่ก็ถอดเสื้อผ้ารอแต่ผู้ชายรวย ๆ ฉันรู้สึกว่ามันช่างเป็นการดูถูกดูแคลนผู้หญิงได้อย่างน่าละอายใจมาก ๆ” และฟ้าก็ประทานเนื้อร้องท่อนหนึ่งในวันที่เธอนอนอยู่บนเตียง มันมหัศจรรย์มากจนเธอแทบนอนไม่หลับ เธอเขียนเพลงนี้เสร็จภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อให้นักดนตรีเพื่อนซี้ของเธอสานต่อบทเพลงนี้ แต่เมื่อเพลงนี้สำเร็จ เหล่าผู้บริหารต่างพากันส่ายหัวและไม่ยอมรับเพลงเพลงนี้ “มันดูรุนแรงและเย่อหยิ่งจนเกินไป” “ไม่ใช่เพลงเรียกร้องความเท่าเทียม แต่มันเป็นเพลงตะคอกใส่ผู้ชายทั้งโลก” ท้ายสุดผู้บริหารก็ส่งเพลงนี้ไปเป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง Stand Up and Be Counted มากกว่าจะตัดเป็นซิงเกิล แต่เพลงนี้กลับค่อย ๆ สร้างกระแสปากต่อปากให้เหล่าหญิงสาวต่างกระวนกระวายขอเพลงตามคลื่นวิทยุ บวกกับการกระตุ้นของสามีเธอ ให้ทุก ๆ โชว์เฮเลนต้องเปิดด้วยเพลงนี้ จนทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว สุดท้ายผู้บริหารก็ตัดสินใจเลือกเพลง I Am Woman เป็นเพลงเปิดอัลบั้มชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อเดียวกัน และเพลงนี้เองที่ทำให้เฮเลนได้สัมผัสรสชาติของการเป็นที่ 1 ในชาร์ตบิลบอร์ดได้สำเร็จ “ฉันไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เพลง I Am Woman มันเปลี่ยนสถานะของฉันโดยสิ้นเชิง มากกว่าชื่อเสียง เงินทอง รวมไปถึงการมีรายการเป็นของตัวเอง (The Helen Reddy Show) สิ่งที่ฉันได้รับมันคือความรู้สึกตื้นตันที่ทุกคนสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นใจจากเพลงของฉัน” สิ่งที่เฮเลนพูดไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย ในงานกาลางานหนึ่งของสมาคมเพื่อสิทธิสตรีแห่งชาติ มีช่วงหนึ่งที่เพลงนี้ดังขึ้น เหล่าสาว ๆ ในงานต่างพร้อมกันลุกขึ้นเต้นและร้องเพลงนี้ลั่นงาน ไม่ใช่เพียงหญิงสาวเท่านั้นที่ยึดเพลงนี้เป็นเพลงชาติของพวกเธอ แต่ชายหนุ่มหลายคนก็ยึดเพลงนี้เป็นเพลงปลุกใจพวกเขาเช่นกัน “พี่เขยฉันเป็นหมอ เขาจะเลือกเพลง I Am Woman เปิดเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจก่อนผ่าตัดทุกครั้ง” เพลง I Am Woman ได้ฉายแสงสาดส่องความสำเร็จให้กับเฮเลน ด้วยปรากฏการณ์มากมายที่ช่วยชุบชีวิตของเธอที่กำลังพังทลาย ให้กลายเป็นดีวาผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกของเสียงดนตรี แม้ชื่อเสียงเงินทองจะช่วยให้เธอหลุดพ้นจากวังวนของนักร้องในบาร์เหงา ๆ แต่เพลงนี้ก็นำมาซึ่งคำสาปเช่นกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอถูกเชิญให้ไปร้องเพลงในงานประกวด Miss World ปี 1981 แน่นอนว่าเวทีประกวดขาอ่อนมักจะคิดอีกแบบกับเหล่าเฟมินิสต์ เธอจึงถูกก่นด่าว่าใช้ความเจ็บปวดของการเป็นผู้หญิงหากิน และความร่ำรวยของเธอเกิดจากน้ำตาและการเรียกร้องแสวงหาความเท่าเทียมของผู้หญิงทั้งโลก หรือการที่เธอขึ้นไปรับรางวัล Grammy ในปี 1973 เธอกล่าวบนเวทีด้วยการขอบคุณพระเจ้า จนมีคนส่งจดหมายด่าทอเธอกว่า 7,000 ฉบับ ว่า “เธอจะขอบคุณพระเจ้าที่เป็นตัวแทนของเพศชายทำไม” แน่นอนว่ามันทำให้เธอเสียศูนย์ นอกจากนั้น บทเพลงยืนหนึ่งในความแกร่งกล้ายังเป็นคำสาปให้เธอไม่พบบทเพลงที่ประสบความสำเร็จเท่าเพลงนั้นอีกเลยตลอดชีวิต นอกจากกราฟผลงานเพลงของเธอจะค่อย ๆ ดิ่งไปตามกาลเวลา ชีวิตคู่ของเธอก็ถูกแทรกแซงโดยเจฟฟ์ที่มีปัญหาจนทำให้การเงินของเธอและครอบครัวต้องฝืดเคืองอีกครั้ง เธอคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เธอต้องหยุด แสงสีและชื่อเสียงเป็นเพียงภาพมายาที่ผ่านมาและผ่านไป เธอหยุดการร้องเพลงและออกอัลบั้ม ทิ้งทวนอัลบั้มสุดท้าย Imagination แต่ผู้คนสนใจเรื่องราวการหย่าร้างของเธอกับเจฟฟ์มากกว่าผลงานเพลงของเธอ มันจึงเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายในช่วงเวลารุ่งโรจน์ของเธอก่อนจะเก็บตัวเงียบไม่ออกสื่อในช่วงปี 1983 เรื่องราวของเธอถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเธอขึ้นไปร้องเพลง I Am Woman ในงานชุมนุม Mobilise for Women’s Lives ปี 1989 ที่อนุสรณ์สถานลินคอร์น ท่ามกลางสักขีพยานที่รับชมกว่า 150,000 คน เพื่อบ่งบอกว่าบทเพลงของเธอนั้นทรงพลังและอมตะขนาดไหน ก่อนเธอจะหวนคืนสู่วงการอีกครั้งและวางไมค์จากวงการเพื่อค้นคว้าอย่างจริงจังในการศึกษาและบำบัดจิต ทิ้งชื่อในฐานะนักร้องไปตลอดกาลในปี 2002 และใช้ชีวิตบั้นปลายยังบ้านเกิดออสเตรเลีย ก่อนเรื่องราวของเธอจะโลดแล่นอีกครั้งเมื่อผู้สร้างหนังได้นำชีวิตของเธอมาเล่าขานอีกครั้งในหนัง I Am Woman โดยได้ Tilda Cobham-Hervey นักแสดงสาวชาวออสเตรเลียมารับบทนี้ได้อย่างแนบเนียนและทรงพลัง เสมือนการต่อลมหายใจแห่งตำนานที่เงียบงันให้กลับคืนมาอีกครั้ง “ฉันดีใจที่ในหนังสือประวัติศาสตร์สมัยใหม่ บทเพลงของฉันได้กลายเป็นวรรคทองเพื่อสื่อสารถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของหญิงสาว ฉันจึงไม่แคร์เลยว่าบทเพลงของฉันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ฉันแคร์ว่าบทเพลงนี้จะมีความหมายกับใครมากกว่า” เฮเลนจากไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน ในวัย 78 ปี ด้วยสภาวะสมองเสื่อมที่รุมเร้าเธอมานาน แม้ตัวเธอจะจากไป แต่เสียงคำรามที่เปล่งถึงหัวจิตหัวใจของหญิงสาวจะยังคงก้องดังตราบนานเท่านาน I am woman, hear me roar In numbers too big to ignore And I know too much to go back an' pretend 'cause I've heard it all before And I've been down there on the floor No one's ever gonna keep me down again อ้างอิง https://www.cbsnews.com/news/singer-helen-reddy-emerges-from-retirement/ https://www.theguardian.com/music/2020/aug/25/i-am-woman-how-helen-reddys-music-roared-through-the-womens-movement