เฮนเรียตตา แล็กส์: เจ้าของเซลล์มะเร็งกู้โลกที่ถูกนักวิทยาศาสตร์เอาไปโดยที่เธอไม่รู้ตัว

เฮนเรียตตา แล็กส์: เจ้าของเซลล์มะเร็งกู้โลกที่ถูกนักวิทยาศาสตร์เอาไปโดยที่เธอไม่รู้ตัว
เป็นเวลากว่า 70 ปีที่โรคมะเร็งปากมดลูกพรากชีวิตของหญิงสาวผู้มีนามว่า ‘เฮนเรียตตา แล็กส์’ ไป แต่เซลล์มะเร็งส่วนหนึ่งที่ทีมแพทย์แอบเก็บออกมาจากร่างกายของเธอกลับเติบโตอยู่ในห้องทดลองทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน การเก็บชิ้นเนื้อโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพมานับตั้งแต่ปี 1951 เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้นำเซลล์อมตะของเฮนเรียตตามาสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่กระเป๋าตังค์ของตนเอง ทั้งที่ในเวลานั้นเฮนเรียตตายังมีชีวิตอยู่ และกำลังต่อสู้กับมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย เหตุเกิดจากมะเร็งปากมดลูก วันที่ 29 มกราคม 1951 หญิงสาวชาวแอฟริกัน-อเมริกันวัย 31 ปีคนหนึ่งได้ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยชาวแอฟริกัน-อเมริกันในยุคนั้น เฮนเรียตตา แล็กส์ มีอาการปวดท้องที่ผิดปกติ และมีเลือดออกในช่องท้อง เธอทุกข์ทรมานกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ก่อนจะทุกข์ใจยิ่งกว่าเมื่อทราบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยก่อนหน้านั้นเธอบอกกับญาติว่า เธอคลำเจอก้อนอะไรบางอย่างในท้อง ทุกคนจึงคิดว่าเฮนเรียตตาตั้งครรภ์ แต่หลังจากคลอดลูกชายนามว่า ‘โจเซฟ’ แล้ว เธอก็มีอาการตกเลือดอย่างรุนแรง แพทย์จึงตรวจหาซิฟิลิสให้ แต่ปรากฏว่าผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) จึงส่งเธอไปยังโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ และตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ระหว่างการเข้ารับการรักษาและฉายรังสี แพทย์ได้เก็บชิ้นเนื้อจากปากมดลูกของเฮนเรียตตาไปโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากเธอ กระทั่ง 9 เดือนต่อมาเฮนเรียตตาก็เสียชีวิตลงโดยที่ไม่รู้เลยว่า ส่วนหนึ่งของร่างกายเธอจะถูกส่งต่อไปยังห้องทดลองต่าง ๆ รอบโลกในอนาคต ทีมแพทย์ได้มอบชิ้นเนื้อที่เก็บมาไปให้กับนักวิทยาศาสตร์สายชีววิทยาของเซลล์นามว่า ‘จอร์จ กาย’ (George Gey) ซึ่งเขาก็ได้ศึกษามันอย่างละเอียดจนค้นพบประโยชน์จากเซลล์มะเร็งนี้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งตัวที่รวดเร็วและสามารถคงคุณสมบัติเดิมได้ทุกประการ เซลล์มะเร็งกู้โลก จอร์จ กาย ได้ตั้งชื่อเซลล์มะเร็งที่ถูกเพาะเลี้ยงเอาไว้ในห้องทดลองว่า ‘ฮีลา’ (Hela) ตามชื่อเจ้าของชิ้นเนื้ออย่างเฮนเรียตตา ซึ่งเซลล์นี้มีส่วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำการทดลองได้สำเร็จมากขึ้น เนื่องจากการเพาะกลุ่มเซลล์แบบเดิมไม่สามารถผลิตเซลล์ออกมาในจำนวนมากโดยมีลักษณะเซลล์ที่เหมือนเดิมได้ ขณะที่เซลล์ฮีลาจะมีลักษณะเซลล์ที่หน้าตาเหมือนเดิมไม่ว่าจะแบ่งตัวออกมามากเพียงใดก็ตาม การสำเนาตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของเซลล์ฮีลาทำให้มันได้ชื่อว่า ‘เซลล์อมตะ’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเพราะเหตุใดเซลล์มะเร็งประหลาดนี้จึงแบ่งตัวอยู่ได้เรื่อย ๆ ถึงขนาดเข้าไปปนเปื้อนในจานเพาะอื่น ๆ ในห้องทดลองเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจอร์จ กายค้นพบความพิเศษนี้ เขาก็ได้นำเซลล์ฮีลาส่งออกไปยังห้องทดลองทั่วโลก และนำพาเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่กระเป๋าของเหล่านักวิทยาศาสตร์เอง ราวปี 1950 โรคโปลิโอระบาดอย่างหนักทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามค้นหาวัคซีนเพื่อรักษา กระทั่งปี 1955 ‘โจนัส ซอล์ก’ (Jonas Salk) นักไวรัสวิทยาและนักวิจัยทางการแพทย์ชาวอเมริกันได้สร้างวัคซีนโปลิโอขึ้นมาได้สำเร็จ นั่นก็เพราะคุณสมบัติของเซลล์ฮีลาที่สามารถแตกตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีคุณสมบัติเหมือนเดิม เขาจึงสามารถทดลองวัคซีนได้อย่างไม่จำกัด นอกจากนี้เซลล์ฮีลายังมีส่วนช่วยในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตวัคซีน เช่น วัคซีนมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงวัคซีนโควิด-19 ทั้งเซลล์ฮีลายังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถนับโครโมโซมได้อย่างแม่นยำว่ามีทั้งหมด 23 คู่ จากที่เดิมเข้าใจว่ามี 24 คู่ จนถึงปัจจุบัน เซลล์ฮีลายังถูกใช้ในการศึกษาโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคลูคีเมีย โรคเอดส์ หรือโรคอีโบลา รวมไปถึงคิดค้นยารักษาโรคอื่น ๆ ทำให้เกิดการจดสิทธิบัตรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์กว่า 17,000 ครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นครอบครัวของเฮนเรียตตากลับไม่ทราบเรื่องนี้เลยนับตั้งแต่ปี 1951 ที่เฮนเรียตตาเสียชีวิต จนผ่านไปถึงปี 1970 ภายหลังโรคโปลิโอระบาด ความจริงทุกอย่างจึงถูกเปิดเผย 19 ปีผ่านไป ครอบครัวจึงรู้ความจริง นอกจากครอบครัวจะไม่ได้ยินยอมและไม่ทราบเรื่องแล้ว พวกเขาที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันยังไม่ได้ค่าตอบแทน หรือส่วนแบ่งจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่กอบโกยผลประโยชน์จากเซลล์ของเฮนเรียตตาด้วย เรื่องนี้กลายเป็นความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์รวมไปถึงแพทย์ เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับให้ต้องขออนุญาตผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้นำไปสู่การถกเถียง และการออกมาตรการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยในเวลาต่อมา หลังจากนั้นในปี 1996 ‘Morehouse School of Medicine’ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ก็ได้จัดงาน ‘HeLa Women’s Health Conference’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเกียรติแก่เฮนเรียตตา แล็กซ์ นอกจากนี้ นายกฯ ของเมืองแอตแลนตายังได้ประกาศให้วันที่ 11 ตุลาคม เป็นวัน ‘เฮนเรียตตา แล็กส์’ เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่เธอได้ทำไว้ (โดยที่ไม่รู้ตัว) แต่ก่อนหน้าที่เธอจะเสียชีวิต เฮนเรียตตาเป็นเพียงคุณแม่ลูก 5 ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในรัฐแมรีแลนด์อย่างสงบสุขเท่านั้น เฮนเรียตตาเกิดที่รัฐเวอร์จิเนียในปี 1920 ก่อนจะแต่งงานกับสามีที่เป็นญาติของตัวเองนามว่า ‘เดวิด เดย์ แล็กส์’ ในปี 1941 พวกเขาย้ายไปยังรัฐแมรีแลนด์จนกระทั่งเฮนเรียตตาคลอดลูกชายคนสุดท้ายคือโจเซฟ แล็กส์ ในปี 1950 และอีกปีต่อมาเฮนเรียตตาก็เสียชีวิตลง เหลือไว้เพียงเซลล์มะเร็งกู้โลกนามว่าฮีลา ที่จะอยู่ในห้องทดลองเพื่อช่วยพัฒนาวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์ต่อไปตลอดกาล ขอบคุณเฮนเรียตตา แล็กซ์ สำหรับเซลล์มะเร็งที่ช่วยชีวิตคนทั่วโลกไว้มากมาย เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง https://www.biography.com/scientist/henrietta-lacks https://www.youtube.com/watch?v=whdzNp4Niqk https://www.nature.com/articles/d41586-020-02494-z https://www.npr.org/2010/02/02/123232331/henrietta-lacks-a-donors-immortal-legacy  ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=1l_LvZvdoWU