เฮนรี ฟอร์ด ผู้กระพือความเกลียดชังชนชาติยิว

เฮนรี ฟอร์ด ผู้กระพือความเกลียดชังชนชาติยิว

เฮนรี ฟอร์ด ผู้กระพือความเกลียดชังชนชาติยิว

เฮนรี ฟอร์ด (1863-1947) คือนักอุตสาหกรรมอัจฉริยะผู้ปฏิวัติการผลิตด้วยระบบสายพาน ทำให้อุตสาหกรรมโรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก ภายในสิบเก้าปีนับแต่เขาปล่อยรถรุ่น Model T ออกมา เขาก็สามารถขายมันได้กว่า 15 ล้านคัน ทำให้รถกลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกของคนทั่วไปไม่ใช่แต่คนรวยเท่านั้น ฟอร์ดยังเป็นผู้ที่สร้างมาตรฐานการจ้างงานที่สูงกว่านายจ้างอื่นๆ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันให้สูงขึ้นมาก การแพร่หลายของรถยนต์ยังทำให้ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้อยู่อย่างตัดขาดจากโลกภายนอก เกิดการขยายตัวของเขตเมืองออกไปเมื่อการเดินทางเป็นสิ่งที่สะดวกสบายมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมของเขาจึงไม่แปลกที่ชาวอเมริกันบางส่วนจะยกให้เขาเป็นฮีโร แต่ฟอร์ดก็มีด้านมืด ความผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาก็คือการซื้อสื่อฉบับหนึ่งเพื่อใช้ประณามชาวยิว จนแม้แต่ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ยังชื่นชม "ฝากไปบอกคุณฟอร์ดด้วยว่า ผมคือผู้ที่ชื่นชมเขาเป็นอย่างยิ่ง" อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี กล่าว (The Washington Post "ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการเปลี่ยนทฤษฎีของเขาให้ได้ผลเชิงปฏิบัติในเยอรมนี...สำหรับผม เฮนรี ฟอร์ด คือผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจ" ความชื่นชมของฮิตเลอร์ต่อฟอร์ดเริ่มต้นมาจากการที่ฟอร์ดไปซื้อ The Dearborn Independent หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเล็กๆ ในปี 1918 คาบเกี่ยวกับช่วงสิ้นสุดของมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 1) และใช้มันในการประณามบุคคลที่ถูกเรียกว่า "ยิวข้ามชาติ" (International Jew) ผู้ไม่มีสำนึกรักในแผ่นดิน แต่ยึดมั่นในความเป็นหนึ่งเดียวในเชื้อชาติ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดสงครามโลกเพื่อแสวงหากำไรจากเงินกู้ ทั้งเป็นต้นตอความฉิบหายของเยอรมนี   หลังจบซีรีส์ยิวข้ามชาติแล้ว หนังสือพิมพ์ของฟอร์ดก็จับเอา Protocols of the Elders of Zion มาแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์เผยแพร่ต่อในปี 1921 แม้ว่าก่อนหน้านั้น เอกสารที่อ้างว่าเป็นบันทึกการประชุมของผู้นำชาวยิวจากชาติต่างๆ ที่ร่วมกันวางแผนครองโลก จับคนชาติอื่นลงเป็นทาส และทำลายคริสตศาสนา ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นเอกสารปลอมที่ทำขึ้นโดยหน่วยตำรวจลับของระบอบซาร์รัสเซียเพื่อใส่ร้ายชาวยิว   การเผยแพร่เอกสารดังกล่าวผ่านสื่อของฟอร์ด ทำให้มันกลับมาเป็นที่สนใจและได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่านที่มิได้ตรวจสอบที่มา ก่อนถูกนำไปแปลเผยแพร่ต่อเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาเยอรมันจนฮิตเลอร์ยังเอ่ยปากชม เนื้อหาในส่วนนี้ยังทำให้หนังสือพิมพ์ที่แทบไม่เคยมีใครรู้จัก กลายเป็นหนังสือพิมพ์กระแสหลักที่มียอดขายสูงถึงสัปดาห์ละ 900,000 ฉบับ หนังสือพิมพ์ของฟอร์ดเผยแพร่บทความกล่าวร้ายชาวยิวต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี ก่อนถูก อารอน ซาปิโร (Aaron Sapiro) ทนายความและผู้จัดการสหกรณ์ฟาร์มในแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท เวลาเดียวกันนั้นบรรดาชาวยิวยังออกมาเรียกร้องให้แบนการซื้อสินค้าของฟอร์ดด้วย คดีได้ดำเนินไปถึงชั้นศาล แต่ฟอร์ดไม่ได้ขึ้นให้การต่อศาลโดยอ้างว่าประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนศาลสั่งขาดนัดพิจารณา เมื่อเห็นท่าไม่ดีแถมยอดขายรถยนต์ก็ตกลง ฟอร์ดจึงตัดสินใจขอยอมความยอมขอโทษและถอนคำพูดที่ว่าร้ายชาวยิว และตัดสินใจเลิกทำหนังสือพิมพ์ The Dearborn Independent พร้อมอ้างว่าจริงๆ แล้วเขาไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ของตัวเองเลย ทั้งบทความต่างๆ ที่ว่าร้ายใส่ความชาวยิวเป็นผลมาจากการทำงานของลูกน้องเขาต่างหากที่เอาชื่อของเขาไปใช้โดยพลการ (แม้คนใกล้ตัวบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่ฟอร์ดจะยอมให้ลูกน้องทำอะไรแบบนั้นได้เป็นปีๆ)   นีล บัลด์วิน (Neil Baldwin) ผู้เขียนหนังสือ Henry Ford and the Jews: The Mass Production of Hate เสนอว่าความเกลียดชังชาวยิวของฟอร์ดก่อตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านแบบเรียนที่มีอคติต่อชาวยิวอย่างเช่นการอ้างอิงข้อมูลจากนิยายของเชกสเปียร์เรื่อง "เวนิชวานิช" (ซึ่งนักวิจารณ์บางส่วนมองว่ามีส่วนสร้างภาพจำที่ไม่ดีของชาวยิว) ทำให้เด็กที่เติบโตมาเกิดอคติ แม้จะไม่เคยสัมผัสกับชาวยิวจริงๆ เลยก็ตาม และเมื่อฟอร์ดกลายเป็นนักธุกิจและต้องเผชิญหน้ากับการถูกแย่งชิงอำนาจบริหารในบริษัท ก็ทำให้เขาเกิดความไม่ไว้วางใจนักการเงินและธนาคาร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิว) กลัวว่าคนกลุ่มนี้วางแผนที่จะยึดอำนาจบริษัทไปจากคนที่ใช้น้ำพักน้ำแรงสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา บัลด์วินยังได้อ้างคำพูดของ มาร์กาเร็ต ฟอร์ด รัดดิแมน (Margaret Ford Ruddiman) น้องสาวของเขาที่บอกว่า "เฮนรีเห็นพวกปล่อยเงินกู้เป็นยิวไปหมดทั้งโลกนั่นแหละ ไม่ว่าพวกเขาจะถือศาสนาอะไรก็ตาม" (The New York Times) ความผิดพลาดที่ฟอร์ดก่อขึ้นคราวนี้ทำให้ชื่อเสียงของเขาหม่นหมองลงไปมาก การเป็นที่ชื่นชมของนาซียิ่งทำให้ชาวยิวร่วมสมัยเลิกมองสินค้าของเขา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงได้ไม่นานฟอร์ดก็ลาโลกไป หลานๆ ของเขาที่รับสืบทอดบริษัทต่อมาต้องพยายามแก้ภาพลักษณ์ด้วยการจัดแคมเปญสนับสนุนชุมชนชาวยิวในสหรัฐฯ ไปจนถึงรัฐอิสราเอลที่ตั้งขึ้นหมาดๆ บนดินแดนปาเลสไตน์ และการเป็นนายทุนให้กับภาพยนตร์อย่าง "Schindler's List" ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ว่าด้วยนักธุรกิจเยอรมันที่ช่วยเหลือชีวิตของชาวยิวนับพันในโปแลนด์จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย