เฮนรี โกลเกา: นักออกแบบผู้แก้ปัญหาน้ำและไฟในชิลี ด้วยนวัตกรรมโซลาร์เซลล์

เฮนรี โกลเกา: นักออกแบบผู้แก้ปัญหาน้ำและไฟในชิลี ด้วยนวัตกรรมโซลาร์เซลล์
ท่ามกลางแสงแดดแรงกล้าและท้องทะเลไกลสุดลูกหูลูกตาของชายหาดชิลี ผู้คนร่วม 11,000 หลังคาเรือนที่เบียดเสียดในคัมปาเมนโต (Campamento) กลับไม่มีแม้แต่น้ำสะอาดสำหรับดื่ม หรือไฟฟ้าสำหรับดำรงชีวิต   ชิลีแล้งน้ำ คัมปาเมนโตคือชื่อแทนชุมชนแออัดในชิลี ที่มีคำจำกัดความตามกระทรวงการเคหะและการวางผังเมืองชิลี (The Chilean Ministry of Housing and Urban Planning หรือ MINVU) ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานที่มักพบในเขตเมือง ผู้คนมากกว่าแปดครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันบนที่ดินไร้โฉนด ขาดซึ่งอย่างน้อยหนึ่งในสามบริการพื้นฐานจากรัฐคือ น้ำ ไฟ และระบบบำบัดน้ำเสีย โดยแต่ละหลังคาเรือนอยู่ติดกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างแออัด โดยทั่วไปผู้คนที่อาศัยในคัมปาเมนโตคือครอบครัวที่ต้องการอาศัยในเมืองด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการหางาน ร่วมกับปัญหาทางการเมืองและราคาบ้านพร้อมที่ดินที่สูงเกินเอื้อม ทำให้หลายครัวเรือนเลือกที่จะขนย้ายซึ่งวัสดุเหลือทิ้งมาประกอบสร้างเป็นบ้านชั่วคราวสำหรับอิงอาศัย แต่แม้จะใช้คำว่า ‘ชั่วคราว’ หากความเป็นจริงก็คือพวกเขาไม่มีที่ที่ดีกว่าให้ย้ายไปอีกแล้ว จากการสำรวจของ TECHO องค์กรเอกชนในชิลี ระบุว่า 75.8 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนในคัมปาเมนโตไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มได้ 91.5 เปอร์เซ็นต์ไม่มีท่อระบายน้ำเสีย และอีก 47.6 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมาย (ส่วนที่เหลือไม่มีไฟฟ้าใช้) มากไปกว่านั้น 27.8 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งก่อสร้างในคัมปาเมนโตยังสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งที่อันตรายร้ายแรงมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงสามสิบเท่า “ทีแรกผู้คนในคัมปาเมนโตไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มได้ ต่อมาพวกเขาจัดหาแท็งก์น้ำสำหรับซื้อน้ำสะอาดจากข้างนอก แต่ค่าน้ำก็แพงกว่าราคาปกติถึงเกือบเท่าตัว” เป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนในชุมชนแออัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนไม่มากนัก ที่จะจัดสรรน้ำดื่มให้เพียงพอกับจำนวนคน ปัญหา ‘แล้งน้ำ’ แม้จะมีภูมิประเทศติดทะเลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เพียงแต่ในคัมปาเมนโต หากรวมไปถึงทั้งภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ผู้คนมากมายป่วยและล้มตายเพราะขาดซึ่งน้ำดื่ม รวมไปถึงไร้ซึ่งความสะดวกในการใช้ชีวิตยามค่ำ เพราะในบ้านของพวกเขาไม่มีระบบให้แสงสว่างใดๆ   ทรัพยากรคือแดดและทะเล “ทรัพยากรเพียงสองอย่างที่ชิลีมีอย่างไม่จำกัดคือแสงแดดและน้ำทะเล” ถ้อยคำดังกล่าวคือสิ่งที่เข้ามาในหัว เฮนรี โกลเกา (Henry Glogau) นักออกแบบหนุ่มชาวนิวซีแลนด์ ทันทีที่สองเท้าของเขาสัมผัสหาดทรายแห่งคัมปาเมนโต ประเทศชิลี ด้วยระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มที่ชายหนุ่มพักอาศัยร่วมกับชาวบ้านในละแวกนั้น เขาเริ่มต้นพัฒนาแนวคิดของตนจนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง     โคมไฟสีขาวทรงคล้ายกรวยขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นและประดับเข้ากับเพดานในบ้านหลังเล็ก ยามค่ำในคัมปาเมนโตถักทอด้วยความเงียบและมืดสนิท แสงไฟจากโคมไฟทรงกรวยดังกล่าวคือสิ่งเดียวที่ทอแสงนวลตาอยู่ในห้องหับที่ชาวชิลีร่วมสิบชีวิตพักอาศัย เริ่มจากหนึ่งหลังคาเรือนเป็นสอง สาม และสี่ ในไม่ช้าทั่วทั้งชุมชนแออัดก็สว่างไปด้วยแสงไฟที่แม้ไม่ได้เจิดจ้าเท่ากับพระอาทิตย์หรือหลอดไฟแอลอีดี แต่ก็สว่างมากพอสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าว พบปะ นั่งเล่น หรือถกเถียงถ้อยประชุม Solar Desalination Skylight คือชื่อของโคมไฟที่ว่า มันเป็นผลงานชิ้นล่าสุดของโกลเกาภายใต้การประกวด Lexus Design Award 2021 ที่จัดขึ้นเพื่อชักชวนให้เหล่านักออกแบบใช้ศักยภาพของตนในการสรรสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลก โดยการมอบรางวัลจะพิจารณาจากผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นต่อผู้คนและสังคม ภายใต้คอนเซปต์ For a Better Tomorrow   For a Better Tomorrow นอกจากปัญหาไร้แสงไฟที่ถูกแก้ได้ด้วยเจ้า Solar Desalination Skylight เฮนรี โกลเกา ยังมีความตั้งใจที่จะแบ่งเบาปัญหาการจัดหาน้ำที่ยากลำบาก โคมไฟ Skylight ข้างต้นทำให้ชาวชิลีหลายครัวเรือนเบาใจลงได้บ้าง เนื่องจากว่านอกจากจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นไฟในยามค่ำตามฉบับโซลาร์เซลล์แล้ว เจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ว่ายังสามารถกลั่นและกรองน้ำสะอาดจากน้ำทะเล ลดความเค็มของมันจาก 36,000 PPM ให้เหลือเพียง 20 PPM ผ่านมาตรฐานเป็น ‘น้ำที่สามารถดื่มได้’ เพียงเอาแก้วไปรองรับน้ำที่กลั่นจนสำเร็จ ด้วยแสงสว่างและน้ำสะอาดอย่างนี้นี่เองที่ทำให้โคมไฟสารพัดประโยชน์ของโกลเกาได้รับรางวัลในกิจกรรมที่เขาประกวด พร้อมด้วยน้ำดื่มและไฟที่สว่างขึ้นในคัมปาเมนโต Solar Desalination Skylight ได้กลายเป็นความหวังของใครหลายคนในการกำจัดปัญหาขาดไร้ซึ่งบริการขั้นพื้นฐานให้หมดไปในภาพที่ใหญ่ขึ้น—จากโลกทั้งใบ คาดเดาว่าโคมไฟของเฮนรีจะถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับการจัดหาน้ำและไฟในชุมชนอื่น ๆ ของโลก ภายใต้แนวคิดของเฮนรีที่ว่า “บ้านชั่วคราวแบบ ‘คัมปาเมนโต’ คือปัญหาระดับโลกและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในวันที่รัฐวุ่นวายอยู่กับความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเป็นส่วนตัว และแนวโน้มที่จะขาดแคลนทรัพยากรมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เราก็ต้องจินตนาการถึงภาพความเป็นอยู่ของเราด้วยวิธีที่ยั่งยืนและเป็นอิสระ เพื่อความอยู่รอดของเราเอง”   ที่มา:
  • interestingengineering.com/clean-no-cost-skylight-makes-drinkable-seawater
  • daylightandarchitecture.com/repositories/all-projects/projects-2020/solar-desalination-skylight/
  • in-formality.com/wiki/index.php?title=Campamento_(Chile)
  • inceptivemind.com/henry-glogau-solar-desalination-skylight-drinking-water/17753/
  • inceptivemind.com/henry-glogau-solar-desalination-skylight-drinking-water/17753/
  • youtube.com/watch?v=O7--n9oqOOk&t=97s