เฮอร์เบิร์ต แซฟเฟอร์ ไม่ได้เรียนอุตุนิยมวิทยาแต่มาแบ่งความรุนแรงพายุเป็น 5 ระดับ

เฮอร์เบิร์ต แซฟเฟอร์ ไม่ได้เรียนอุตุนิยมวิทยาแต่มาแบ่งความรุนแรงพายุเป็น 5 ระดับ
อุตุนิยมวิทยา เป็นศาสตร์ที่มีปัจจัยแปรผันจำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่อุณหภูมิ ความกดอากาศ ไอน้ำ สภาพภูมิประเทศ ไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ การวัดค่าความรุนแรงของลมพายุนอกจากจะมีความยากลำบาก แล้วแต่ละพื้นที่ในโลกยังมีมาตรวัดที่แตกต่างกัน แต่มาตรวัดความรุนแรงของพายุหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ มาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน ที่มีจุดเริ่มต้นจาก เฮอร์เบิร์ต แซฟเฟอร์ (Herbert Saffir) ชายผู้ไม่ได้เรียนมาทางด้านอุตุนิยมวิทยามาก่อน เฮอร์เบิร์ต แซฟเฟอร์ เป็นชายจากบรุกลิน ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 1917 เขาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุไฟไหม้เรือสำราญ SS Morro Castle ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 137 ชีวิตในปี 1934 หลังจากนั้นเขาได้เข้าเรียนด้านวิศวกรรมโยธา ในสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย หรือ จอร์เจียเทค ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐฯ จนจบการศึกษาเมื่อปี 1940 ขณะที่เขาทำงานเป็นผู้ช่วยวิศวกรเขตที่เมือง เดด เคาน์ตี ในไมอามี แซฟเฟอร์ ได้พยายามศึกษาเรื่องข้อบังคับอาคาร (building code) มาตรฐานการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ที่อยู่อาศัยของผู้คนมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเมืองที่เขาอยู่นั้นปัจจัยที่มีผลมากอย่างหนึ่งคือ พายุเฮอริเคน ต่อมาในปี 1969 ระหว่างที่ทำงานกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อศึกษาเรื่องวิธีการป้องกันความเสียหายจากพายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนต้นทุนต่ำนั้น เขาสังเกตว่ายังไม่มีมาตรวัดที่ใช้อธิบายผลกระทบจากพายุเฮอริเคนที่ช่วยให้เห็นภาพง่าย ๆ เหมือนกับการวัดค่าแผ่นดินไหวด้วยมาตราริกเตอร์ ที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป “ผมทำงานกับองค์การสหประชาชาติ พวกเขาอยากศึกษาสภาพบ้านเรือนที่สร้างแบบต้นทุนต่ำทั่วโลก ว่าสามารถเผชิญกับความรุนแรงของพายุได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และฟลอริดาเอง ซึ่งเรียกพายุแตกต่างกัน ผมได้ตั้งหลักสี่ข้อของการสร้างบ้าน และยังได้พยายามแบ่งความรุนแรงของพายุอีกด้วย” แซฟเฟอร์ ได้พัฒนามาตราวัดเพื่อจัดประเภทของความรุนแรงของพายุเฮอริเคน โดยแบ่งความรุนแรงของพายุเฮอริเคนออกเป็น 5 ระดับ อ้างอิงจากความเร็วลมที่ส่งผลเสียหายต่อโครงสร้างต่าง ๆ ในปี 1971 โรเบิร์ต ซิมป์สัน นักอุตุนิยมวิทยา ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่ ศูนย์พายุเฮอริเคนแห่งชาติ ของสหรัฐฯ ได้มาเห็นเข้า เลยเพิ่มตัวแปรต่าง ๆ เข้าไป อย่างเช่น คลื่นพายุซัดฝั่ง ความกดอากาศที่ศูนย์กลาง เพื่อให้มาตรานี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จนเป็นที่มาของ มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson hurricane scale : SSHS) ที่เริ่มใช้งานในวงกว้างในปี 1973 ปี 2009 ศูนย์พายุเฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ปรับปรุงมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน ใหม่ โดยให้เหลือแค่ค่าที่เกี่ยวกับลมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น มาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir–Simpson hurricane wind scale : SSHWS) ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดระดับลมพายุที่มีระดับความเร็วมากกว่าดีเพรสชั่นและพายุโซนร้อน ที่ค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยแยกเป็นระดับความรุนแรงตามความเร็วลมได้ 5 ระดับ คือ
  • ระดับ 1 ความเร็วลม ระหว่าง 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระดับ 2 ความเร็วลม ระหว่าง 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระดับ 3 ความเร็วลม ระหว่าง 178-209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระดับ 4 ความเร็วลม ระหว่าง 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระดับ 5 ความเร็วลม ตั้งแต่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป
นอกจากมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน ยังมีมาตราวัดลมพายุอีกหลายอย่าง ทั้ง มาตรวัดฟูจิตะ หรือ ที่คุ้นเคยว่าพายุระดับ F0 จนถึง F5 ซึ่งมาตรวัดนี้คิดค้นโดย ทัตสึยะ ฟูจิตะ (Tetsuya Fujita) ร่วมกับ อัลเลน เพียร์สัน (Allen Pearson) หัวหน้าศูนย์ทำนายพายุแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Storm Prediction Center : SPC) ซึ่งใช้วัดความรุนแรงของพายุทอร์นาโด ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มาตราความรุนแรงพายุหมุนเขตร้อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ที่ใช้วัดพายุหมุนเขตร้อนใดที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดียเหนือ ซึ่งวัดตั้งแต่ พายุไซโคลน กำลังแรง 88–117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปจนถึง พายุซูเปอร์ไซโคลน ที่มีความเร็วลมเฉลี่ย 3 นาที มากกว่า 222 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาตราที่วัดโดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ที่เรียกลมพายุที่มีความเร็วลมต่อเนื่อง 10 นาที มากกว่า 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมงว่า พายุไต้ฝุ่น ถึงแม้ทั่วโลกจะมีมาตราวัดค่าที่แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงมีชื่อเรียกพายุที่ไม่เหมือนกัน แต่ความตั้งใจของทุกคนที่มีส่วนในความพยายามคิดมาตรวัดค่านั้นตรงกันคือ เพื่อวัดความรุนแรงของพายุที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางรับมือป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของผู้คนในแนวที่พายุร้ายแรงนั้นพัดผ่าน นอกจากการส่งกำลังใจไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยแล้ว การศึกษาข้อเท็จจริง รู้ที่มา และแยกแยะความแตกต่างของแต่ละหน่วยมาตราวัดความรุนแรง อย่างเช่น ระดับ 5 ในมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน หมายถึง ความเร็วลมตั้งแต่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป แต่ต่างจาก ระดับ EF5 มาตราวัดฟูจิตะฉบับปรับปรุง ที่รุนแรงระดับความเร็วลมสูงสุด มากกว่า 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะสื่อสารข้อมูลนั้นต่อไปยังวงกว้าง จะช่วยลดความตื่นตระหนกที่อาจเกิดขึ้นในสังคมได้อีกทางหนึ่ง ที่มา : https://novalynx.com https://ngthai.com https://www3.nhk.or.jp http://www.bom.gov.au