เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี"

เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี"
***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในมหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) “เขาคือชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี...ท่านมิอาจพบเจอบุรุษเช่นนี้ได้อีก”- ฮิลลอส กล่าวถึง เฮราคลีส ผู้เป็นบิดา (จากบทละครเรื่อง Trachiniae ของ โซโฟคลีส)  เฮราคลีส (Herakles, ชื่อกรีก) หรือ เฮอร์คิวลิส (Hercules, ชื่อโรมัน) คือบุรุษผู้ยืนอยู่บนความขัดแย้งของขั้วตรงข้ามในหลายแง่มุม คือเป็นครึ่งคนครึ่งเทพ (demigod) เป็นฝาแฝดคนละพ่อ เป็นผู้มากกำลังแต่ไม่นิยมใช้ความคิด เป็นวีรบุรุษแต่ต้องตกไปเป็นทาสครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นผู้เปี่ยมเกียรติยศที่ในแง่หนึ่งก็ถูกชื่นชมและกล่าวขวัญเป็นตำนาน เป็นผู้สร้าง ผู้ช่วยเหลือ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้ที่พลั้งมือฆ่าคนได้ง่ายดาย รวมไปถึงฆ่าลูกฆ่าเมียของตน เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" ในวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) เฮราคลีสเป็นตัวละครที่มักถูกวาดว่าเป็นคนกึ่งเทพผู้กำยำและแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกตีความออกมามีให้บุคลิกและนิสัยแบบต่าง ๆ กันออกไปตามผู้เขียนเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ตัวละคร Hercules (1997) ของดิสนีย์ (ซึ่งนำเอาตำนานดั้งเดิมมา “ยำ” ใหม่) ที่มีลักษณะเป็น “ฮีโร่” ตามตำรา คือเติบโตมาในฐานะลูกชาวบ้าน ใช้ชีวิตปกติ ต่อมาถูกขับไล่ จึงออกตามหาชาติกำเนิดตัวเอง พบครู ต่อมาได้สู้กับสัตว์ประหลาดและกระทำวีรกรรม ได้ตกหลุมรัก มีการตายและคืนชีพ (คือการลงไปโลกใต้บาดาล หรือที่เรียกว่า Katabasis) ก่อนจะได้รับการต้อนรับโดยสวรรค์ในท้ายที่สุด  เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" เรียกได้ว่า แทบจะเดินชีวิตตามเส้นเรื่องแบบทฤษฎี “Hero’s Journey” ของ โจเซฟ แคมป์เบล ส่วนบุคลิกแบบที่ตรงกันข้ามกับความเป็นฮีโร่ ก็มีเช่น ในเรื่อง Fate/Stay Night ที่ตัวตนของ Servant คลาส Berserker คือ เฮราคลีส ผู้มีลักษณะเป็นชายร่างใหญ่ดั่งสัตว์ประหลาด มากพละกำลัง ดูดุดันและบ้าคลั่ง (ตามชื่อ Berserker ที่หมายความถึงผู้เกรี้ยวโกรธบ้าคลั่ง) นอกจากนี้เขาก็ยังถูกนำเสนอแบบหลายหลากมากมายในภาพยนตร์ นิยาย วิดีโอเกม ละคร โอเปร่า ฯลฯ ซึ่งการตีความอันหลากหลายนี้ก็เป็นผลมาจากดังที่เกริ่นไปข้างต้นถึงสองขั้วขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในเรื่องเล่าของเฮราคลีสซึ่งปรากฏในงานเขียนจากสมัยโบราณ อาทิ งานเขียนของ อะพอลโลโดรัส (Apollodorus) หรือบทกวีละครของ ยูริพิดีส (Euripides) และ โซโฟคลีส (Sophocles) เป็นต้น กำเนิดเฮราคลีส เฮราคลีส เป็นเด็กที่เกิดจากเทพซุส (Zeus) ปลอมตัวมาเป็น แอมฟิทรีออน (Amphitryon) สามีของ แอลค์มีนี (Alcmene) แล้วสมสู่กับนาง จากนั้นเมื่อผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงในวันเดียวกัน แอมฟีทรีออนตัวจริงก็กลับมาบ้านแล้วสมสู่กับนางอีก นางจึงตั้งท้องเด็กแฝดสองคนที่มีพ่อคนละคนกัน เมื่อลูกคลอดออกมา คนหนึ่งคือ อิฟิคลีส (Iphicles) อีกคนคือ เฮราคลีส (เรื่องของสายตระกูลแห่งแอมฟีทรีออนและแอลค์มีนี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่องราวเทพปกรณัมตอนที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แห่งธีบส์-Thebes)  ด้วยนิสัยของเทพรีเฮรา (Hera) พระมเหสีเอกของซุส นางจะตามล้างผลาญเมียและลูกนอกสมรสของซุส ซึ่งเฮราคลีสก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เฮราได้ขัดขวางเฮราคลีสตั้งแต่ตอนจะเกิดทว่าไม่สำเร็จ ภายหลังจากเกิดมาแล้ว เทพีอะธีนา (Athena) เป็นผู้นำทารกเฮราคลีสไปฝากให้เฮราเลี้ยงดู ซึ่งเฮราผู้ไม่รู้ตัวจริงของทารกก็ได้เลี้ยงดูทารกด้วยความเอ็นดู ว่ากันว่า เขาดูดนมของเฮราแรงมากจนนางเจ็บแล้วผลักทารกน้อยออกไป น้ำนมของเฮราจึงกระเซ็นทั่วสวรรค์กลายเป็นทางช้างเผือก (Milky Way หรือ ทางน้ำนม) ซึ่งน้ำนมเทพีนี้เองที่ทำให้ทารกน้อยได้พลังวิเศษ ซึ่งต่อมาเขาถูกนำตัวกลับไปส่งคืนยังพ่อแม่ที่แท้จริง และได้รับชื่อว่า อัลไคดีส (Alcides) ส่วนชื่อเฮราคลีส ที่หมายความถึงความรุ่งโรจน์แห่งเฮรานั้น ถูกตั้งขึ้นภายหลังเพื่อเอาใจเทพีขี้โมโหนางนี้ ฆาตกรและการฆาตกรรมคนรัก การตีความเฮราคลีสในมุมผู้บ้าคลั่งแบบตัวละคร Berserker นั้นมิได้เกินจริงไปแต่อย่างใด เพราะในตัวตำนานเอง เฮราคลีสก็บ้าคลั่งจนฆ่าใครต่อใครไปหลายครั้ง อย่างเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น เขาได้เรียนวิชาพิณ (lyre) จาก ไลนัส (Linus) ผู้เป็นพี่น้องกับออร์ฟีอัส (Orpheus) มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เฮราคลีสเล่นสิ่งที่เรียนไม่ได้เสียที ไลนัสก็เลยฟาดเขาด้วยไม้เท้า เด็กหนุ่มจึงโมโหฆ่าครูของเขาตาย เรื่องราวหลังจากนั้นก็นำพาให้เขาได้แต่งงานกับ เมการา (Megara) ธิดาของกษัตริย์ครีออน (Creon) แห่งธีบส์ เป็นเหตุการณ์ช่วงนี้เอง ที่เทพีเฮรากลับมารังแกโดยสาปให้เฮราคลีสเป็นบ้าเสียสติจนฆ่านางเมการาและลูก ๆ หลังจากนั้นเขาไปขอความช่วยเหลือจากเทพพยากรณ์แห่งเดลฟี (ผู้ซึ่งอันที่จริงเป็นคนของเฮรา) เขาจึงถูกส่งไปทำงานเป็นทาสให้กษัตริย์ยูริสธีอัส (Eurystheus) ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจ 12 ประการ (Twelve Labours) ของเฮราคลีสอันโด่งดัง (ในบทละคร Herakles ของ ยูริพีดีส เฮราคลีสถูกสาปให้เป็นบ้าหลังจากเหตุการณ์ภารกิจฯ)  หลังจากเหตุการณ์ภารกิจ 12 ประการ (เป็นที่มาของคำภาษาอังกฤษ Herculean task หมายถึงภารกิจอันยากยิ่ง) เฮราคลีสก็ถูกเฮรารังแกอีก เขาไปต้องหลุมรักเจ้าหญิงไอโอลี (Iole) ซึ่งเป็นธิดาของกษัติย์ยูรีทัสแห่งโออิคาเลีย (Eurytus of Oechalia) พระองค์สัญญาจะมอบธิดาให้กับผู้ที่ชนะบรรดาบุตรของตนในการแข่งยิงธนู ซึ่งเขาก็ลงแข่งแล้วชนะ ทว่ากษัตริย์ตรัสแล้วคืนคำ เขาจึงสังหารกษัตริย์และบรรดาราชบุตร เว้นไว้เพียงแต่ อิฟิทัส (Iphitus) ที่ต่อมากลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเขา (อิฟิทัส มักถูกตีความว่าเป็นชายคนรักของเฮราคลีส) ซึ่งก็เป็นเทพีเฮราอีกครั้งที่สาปให้เฮราคลีสบ้าคลั่งจนสังหารอิฟิทัส ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้นำเฮราคลีสไปสู่การไถ่บาปอีกครั้งโดยการไปเป็นทาสให้กับราชินีออมฟาลีแห่งลิเดีย (Omphale of Lydia) ซึ่งเรื่องราวระหว่างเฮราคลีสกับออมฟาลีนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปะ บทกวี วรรณกรรม และละครมากมายในสมัยต่อมา เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" เป็นเหตุการณ์ช่วงที่เกี่ยวกับไอโอลีและออมฟาลีนี้เองที่ถูกนำไปเล่าต่อในบทละคร Trachiniae ของ โซโฟคลีส ให้เฮราคลีสถูกภรรยาคนปัจจุบันของตน คือ เดียนีรา (Deianeira) ทำให้เกือบตายโดยไม่ตั้งใจ ด้วยว่าเดียนีรากลัวเฮราคลีสจะตกหลุมรักเจ้าหญิงไอโอลีจนลืมตน จึงได้นำเลือดของเซนทอร์ที่ชื่อ เนสซัส (Nessus) ที่ถูกเฮราคลีสสังหารเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ (ก่อนตาย เนสซัสบอกเดียนีราว่าเลือดของตนจะสามารถใช้เป็นยาเสน่ห์มัดใจเฮราคลีสได้) มาย้อมเสื้อคลุมส่งไปเป็นของขวัญให้เฮราคลีสโดยหวังผลของยาเสน่ห์ แต่หารู้ไม่ว่าเนสซัสโกหก เลือดของเนสซัสแท้จริงแล้วมีพิษ ซึ่งทำให้เฮราคลีสเมื่อสวมเสื้อคลุมแล้วโดนพิษจนบาดเจ็บสาหัสปางตาย และนี่คือเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความตายของเขาในที่สุด การฆ่าเมการาโดยที่โดนสาป และการโดนเดียนีราฆ่าโดยที่เธอโดนหลอก ทำให้เฮราคลีสกลายเป็นวีรบุรุษผู้ประสบชะตากรรมแสนเศร้าที่ทั้งฆ่าภรรยาและถูกภรรยาฆ่าโดยมิได้ตั้งใจ วีรบุรุษหัวร้อน ภาพของเฮราคลีสในฐานะวีรบุรุษผู้ช่วยเหลือคนที่ตกที่นั่งลำบากก็ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในเรื่องเล่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปราบสัตว์ประหลาดจำนวนมาก ช่วยก่อร่างสร้างเมือง หรือการช่วยเหลือหญิงสาวอย่าง อัลเคสทิส (Alcestis) และ อันโดรมีดา (Andromeda) รวมไปถึงปลดปล่อยไททันผู้ขโมยไฟให้มนุษย์อย่างโพรมีธีอัส (Prometheus) ผู้ถูกพันธนาการบนผาหิน รวมไปถึงการช่วยเทพเจ้าและวีรชนในการสู้รบ แต่ความ “หัวร้อน” และการใช้กำลัง-ไม่เน้นเหตุผล ของเขาก็เป็นบุคลิกอันชัดเจนดังที่ปรากฏในการสังหารครูดนตรีของตนในช่วงวัยรุ่น และการพลั้งมือฆ่าคนด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่ปรากฏในหลายเรื่องเล่า เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" เอดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) ได้เขียนถึง เฮอร์คิวลีส ไว้ในหนังสือ Mythology ว่า “การใช้สติปัญญาดูจะไม่ค่อยปรากฏอยู่ในสิ่งที่เขาทำ หรือบางทีสติปัญญาก็หายไปเลย มีครั้งหนึ่งเขารู้สึกร้อนจัดจึงเล็งธนูขู่พระอาทิตย์ หรือมีครั้งหนึ่งขณะล่องทะเล เรือของเขาเกิดโคลงเคลง เขาจึงขู่คลื่นทะเลว่าจะทำร้ายทะเลหากไม่ยอมสงบ สติปัญญาของเขาหาได้หนักแน่น ทว่าอารมณ์นั้นรุนแรง ถูกเร้าจนสติหลุดเกินควบคุมไปบ่อยครั้ง ดังเช่นตอนที่เขาทิ้งเรืออาร์โก (Argo) ลืมมิตรสหายและภารกิจตามหาขนแกะทองคำไปสิ้นด้วยความวิปโยคโศกศัลย์ที่สูญเสีย ไฮลัส (Hylas) เด็กรับใช้ของเขาไป” (ไฮลัส มักถูกตีความเป็นคนรักชายของเฮราคลีสคล้ายกันกับอิฟิทัส)  แฮมิลตัน ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่า “การคิดของเขาจำกัดอยู่เพียงการคิดหาวิธีสังหารสัตว์ร้ายที่ทำท่าจะฆ่าเขา ทว่าเขาก็มีความยิ่งใหญ่อันแท้จริงอยู่ในตัวเช่นกัน ไม่เพียงเพราะเขามีความกล้าหาญอันใหญ่โตที่มาจากพละกำลังอันมหาศาลของเขาเท่านั้น แต่เป็นเพราะเขามักมีความเสียใจสำนึกผิดและต้องการที่จะกระทำการใดก็ได้เพื่อไถ่บาป นี่เองที่เป็นความยิ่งใหญ่แห่งวิญญาณของเขา ถ้าเพียงเขามีความยิ่งใหญ่แห่งสติปัญญาอยู่บ้าง-อย่างน้อยก็แบบที่มากพอจะนำพาให้เขาเดินบนเส้นทางแห่งเหตุผล-เขาจะเป็นฮีโร่ที่สมบูรณ์แบบได้เลยทีเดียว” เฮราคลีสผู้ทรงธรรม ภาพของเฮราคลีสในฐานะวีรบุรุษผู้ยึดมั่นในคุณธรรมความถูกต้องและผู้กระทำคุณงามความดีแก่มนุษยชาติ คือภาพแบบที่กวีกรีก พินดาร์ (Pindar) นำเสนอไว้ในบทกวีต่าง ๆ (เฮราคลีสในฐานะผู้ก่อตั้งการแข่งขันโอลิมปิกก็มาจากเรื่องเล่าของพินดาร์)  ผู้เขียนบทความ “สันนิษฐาน” เอาว่าตัวละคร เฮราคลีส ใน มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉบับของพินดาร์ เนื่องด้วยเขาถูกตีความให้เป็น “ผู้ยึดมั่นในคุณธรรม” ที่ออกจะมีความซื่อตรงและมีอุดมการณ์ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันออกมาแล้วในสร้างให้เฮราคลีสมีภาพเป็นฮีโร่ผู้ใสซื่อ คือรูปร่างบึกบึน ดูมีพลัง มีอุดมการณ์ ถูกเลือกเป็นตัวแทนฝั่งเทพมาต่อสู้กับฝ่ายมนุษย์ แต่ตั้งใจว่าเมื่อชนะแล้วจะขอให้ฝ่ายเทพปลดปล่อยมนุษย์ (ซึ่งเป็นความคิดที่ดูจะเข้าเค้าความเป็น “ทูต” เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์ด้วยความที่ตัวเองเป็นมรรตัยชน (ผู้ที่ต้องตาย) ที่ถูกยกขึ้นไปเป็นเทพเจ้า)  เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" ในการต่อสู้ครั้งนี้ เขารู้สึกถึงความไม่สบายใจเมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับตัวแทนฝ่ายมนุษย์ผู้ถูกขนานนามว่า “ชั่วร้ายที่สุด” ได้แก่ แจ็คเดอะริปเปอร์ (Jack the Ripper) ผู้ซึ่งถูกจัดวางมาให้มีลักษณะเป็นขั้วตรงข้ามกับเฮราคลีส ซึ่งน่าจะเป็นคู่แรกในศึกครั้งนี้ที่สองตัวละครในศึก ถูกวางลักษณะให้มีความตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ รูปร่างเป็นมนุษย์ (ไม่ได้กล้ามใหญ่ บึกบึน) มีรูปลักษณ์แบบผู้ดีอังกฤษ (ตรงข้ามกับลักษณะแบบนักรบโบราณ) เป็นคนชั่วร้าย (ตรงข้ามกับคุณธรรม) เจ้าเล่ห์เพทุบาย (ตรงข้ามกับความเถรตรง) ต่อสู้ด้วยอาวุธระยะไกล (ตรงข้ามกับอาวุธระยะประชิดของเฮราคลีส) ส่วนท่าไม้ตายต่าง ๆ นั้น เฮราคลีสได้ใช้ท่าที่ดูมีพลังอัศจรรย์ ซึ่งมีเค้าโครงมาจากภารกิจ 12 ประการ (ตรงข้ามกับแจ็คฯ ที่ใช้วัตถุธรรมดาสามัญ)  เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" การจัดวางขั้วตรงข้ามแบบนี้ หากมองผาดแรก ก็คงเห็นทางออกของศึกอยู่อย่างน้อย 2 ทาง หนึ่งคืออุมการณ์/จุดยืน/บุคลิกพื้นฐาน ของฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายส่งอิทธิพลแก่กันละกันจนเปลี่ยนไป (เช่น ฝ่ายชั่วกลับมาดี หรือ ฝ่ายดีกระทำความชั่ว) ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือ จุดยืนอันแข็งแกร่งที่เข้าห้ำหั่นกันจนรู้ผลการต่อสู้ ซึ่งผู้อ่านก็น่าจะได้ลุ้นถึงความเป็นไปได้ของทั้งสองทาง เรื่องเล่าถึงจุดกำเนิดของเฮราคลีสในฉบับมังงะนี้ ได้เล่าเรื่องถึงเด็กชายมนุษย์อัลไคดีสที่ได้พลังจากน้ำอมฤต (Ambrosia) และพยายามปกป้องมนุษย์จากการทำลายของเทพแห่งสงครามอย่างแอรีส (Ares) (การต่อสู้ระหว่างเฮราคลีสกับแอรีสน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวี The Shield of Herakles ของ Hesiod) จนได้รับการยอมรับให้กลายเป็นสมาชิกของเหล่าเทพ แต่กระนั้นก็ยังคงรักมนุษย์มาก ๆ (เขาพูดว่า “ยอมลดตัวไปเป็นเทพ”) ด้วยว่าชาติกำเนิดของเขาเป็นมนุษย์และต้องการจะปกป้องมนุษย์ตั้งแต่แรก และการรับข้อเสนอไปเป็นเทพของเขานั้น เขาได้ต่อรองกับเทพซุสไว้ว่า เทพจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์อีก (ซึ่งเป็นเหตุให้เทพกรีกไม่ลงมามีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อีกยาวนาน)  การยอมรับสถานะเทพ (หรือในอีกแง่หนึ่งคือการละทิ้งความเป็นมนุษย์) เปรียบได้กับการเสียสละตัวเองเพื่อปกป้องมนุษยชาติ เป็นรักแบบที่พระเจ้าของคริสเตียนรักมนุษย์ ซึ่งเทียบเท่ากับความรักแบบของแม่ หรือ motherly love (ดู พระคัมภีร์ “พระองค์ทรงพิทักษ์เขาดั่งแก้วพระเนตรของพระองค์ เหมือนนกอินทรีตะกุยรังของมันและบินร่อนอยู่เหนือลูกอ่อน กางปีกออกรองรับ ประคับประคองพาลูกบินไป”, เฉลยธรรมบัญญัติ 32:11 และ “โอ เยรูซาเล็ม เยรูซาเล็ม...บ่อยครั้งที่เราปรารถนาจะรวบรวมลูก ๆ ของเจ้าไว้ เหมือนแม่ไก่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน”, มัทธิว 23:37) ซึ่งความรักที่เฮราคลีสแสดงออก ก็ทำให้แจ็คฯ รำลึกถึงมารดาของตน เฮราคลีส (เฮอร์คิวลิส): วีรบุรุษหัวร้อนแห่งตำนานกรีก ผู้ถูกยกย่องว่าคือ "ชายผู้สูงส่งที่สุดบนปฐพี" ในฉากสุดท้ายของศึกนี้ แม้อัดแน่นด้วยความเจ็บปวดและอ่อนแรง เฮราคลีสโอบกอดแจ็คฯ ด้วยสีหน้าท่าทางอันอ่อนโยน อันอาจตีความได้ว่าดูเหมือนแม่ที่โอบกอดลูกของตัวไม่ว่าจะเลวร้ายอย่างไร พร้อมกับพูดว่า “ข้าน่ะ ไม่ว่าเมื่อไหร่ ก็จะยังคงรักมนุษย์เสมอ”  ความรักมนุษย์อันมั่นคงชองเฮราคลีสใน มหาศึกคนชนเทพ จึงเป็นการตอกย้ำขั้วขัดแย้งที่ย้อนแย้งในตัวเองเข้าไปอีก ว่ากลายเป็นกองเชียร์มนุษย์ทั้งในเรื่องและนอกเรื่องต่างก็มีเผลอไผลไปรังเกียจแจ็คฯ แล้วลุ้นไปกับเฮราคลีส ทั้ง ๆ ที่โดยฐานะแล้วอยู่คนละฝั่งกับมนุษย์ และชัยชนะที่มาจากพลังความรักมนุษย์ของเขาอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของมนุษยชาติ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม งานเขียนจากสมัยโบราณ Apollodorus, The Library of Greek Mythology Apollonius Rhodius, Argonautica Ovid, Metamorphoses Pindar, Complete Odes ฉบับเล่าใหม่โดยค้นคว้าอย่างเป็นวิชาการ Thomas Bullfinch, Bulfinch’s Mythology Edith Hamilton, Mythology Robert Graves, The Greek Myths บทละครกรีก เรื่อง Herakles, Children of Herakles, Alcestis ของ Euripides เรื่อง Trachiniae, Philoctetes ของ Sophocles เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์ ภาพ: มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) และแอนิเมชัน Hercules (1997) https://www.youtube.com/watch?v=uaEpUwu7O-k&t=118s