เฮอร์มานน์ เฮสเส: นักเขียนผู้เคยถูกเพื่อนร่วมชาติขนานนามว่า ‘ไอ้สารเลว’

เฮอร์มานน์ เฮสเส: นักเขียนผู้เคยถูกเพื่อนร่วมชาติขนานนามว่า ‘ไอ้สารเลว’
/ แต่คุณจะได้เห็นละ ซินแคลร์ ว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้น บางทีมันอาจจะเป็นสงครามใหญ่ มหาสงคราม โลกใหม่กำลังเริ่ม และโลกใหม่ที่ว่านี้จะเป็นสิ่งน่าสยดสยองที่สุดสำหรับพวกที่ยึดอยู่กับโลกเก่า แล้วคุณล่ะจะทำอย่างไร - เดเมียน, เอมิล ซินแคลร์, 1919 / สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติแล้วในวันที่ผลงาน ‘เดเมียน’ ได้รับการตีพิมพ์ในโลกตะวันตก ในวันนั้นผู้คนที่เหนื่อยล้าจากเสียงระเบิดและปืนที่ดังอยู่อย่างมิรู้พัก และเริ่มสงบลงในคราหลัง เพิ่งได้หายใจหายคอโดยไม่ต้องใช้ชีวิตผูกติดกับการรบ บ้างก็เพิ่งได้ฟื้นชีวิตของตนขึ้นมาใหม่ พวกเขายังไม่รู้ว่าถ้อยคำในช่วงท้ายของหนังสือเล่มดังกล่าวจะบรรจุไว้ซึ่งการพยากรณ์สิ่งที่จะมาถึง หากเมื่อปี 1939 ชาวตะวันตกทั้งผองก็ได้ประจักษ์แก่สายตาถึงโฉมหน้าของ ‘สงครามโลกครั้งที่สอง’ หรือ ‘โลกใหม่ที่น่าสยดสยอง’ ตามที่ ‘เดเมียน’ เพื่อนของ ‘ซินแคลร์’ ได้กล่าว แม้นามปากกาของนักเขียนผู้ทำนายถึงสิ่งเลวร้ายที่กำลังคืบคลานเข้าครอบงำโลกในขณะนั้นจะถูกระบุด้วยนาม ‘เอมิล ซินแคลร์’ แต่หลังจากการตีพิมพ์เล่ม ‘เดเมียน’ ถึงเก้าครั้ง ในครั้งที่สิบ ชื่อของผู้เขียนที่แท้จริงจึงได้ปรากฏบนปกหนังสือ ชื่อ ‘เฮอร์มานน์ เฮสเส’ ถูกวางในที่ที่ควรอยู่ และ ‘เดเมียน’ ก็ได้ถูกนับรวมเข้าเป็นหนึ่งในหนังสือหลากเล่มของนักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1946 ผู้สันทัดในการบอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางสำรวจโลกในจิตใจ ดังจะเห็นได้จากผลงานมากมายของเขา อาทิ ‘สิทธารถะ’ ‘สเตปเปนวูล์ฟ’ ‘นาร์ซิสซัส กับโกลด์มุนด์’ และ ‘เกมลูกแก้ว’   เด็กชายผู้(ไม่)กล่าวสรรเสริญพระเจ้า ชีวิตของเฮสเสในช่วงต้นนั้นมีส่วนคล้ายกับ ‘ซินแคลร์’ ตัวเอกจากผลงานที่เขาเขียนอยู่ไม่น้อย ปี 1877 เด็กชายเฮอร์มานน์ คาร์ล เฮสเส (Hermann Karl Hesse) ถือกำเนิดขึ้นในเมืองคัล์ฟ ประเทศเยอรมนี ท่ามกลางความเคร่งศาสนาของครอบครัว เฮสเสถูกคาดหวังจากพ่อว่าเขาจะต้องเป็นนักสอนศาสนาตามรอยเท้าของผู้เป็นพ่อ ด้วยความตั้งใจอย่างนั้นเองที่ทำให้ครอบครัวของเฮสเสส่งบุตรชายในวัยแรกรุ่นให้เข้าเรียนที่โรงเรียนนักสอนศาสนา ในรั้วโรงเรียนประจำที่คร่ำเคร่งไปด้วยบทสวดและการเอ่ยนามพระเจ้านั่นเองที่ทำให้เฮสเสทนไม่ได้ - เขาหนีออกจากโรงเรียนพร้อมด้วยความฝันครั้งใหญ่ที่อัดแน่นอยู่ในใจ ตั้งแต่อายุ 12 เป็นต้นมาที่เฮสเสตัดสินใจว่าเขาจะเป็นกวี หรือไม่ก็ไม่เป็นอะไรเลย (A poet or nothing at all) เส้นทางสายกวีของเฮสเสกินเวลายาวนานเฉกเดียวกับการเดินทางกลับบ้านของโอดิซุสในวรรณกรรรมโอดิสซีย์ (Odyssey) ท่ามกลางความสับสนแห่งวัยหนุ่มและความเศร้าที่เกาะกุมตัวตนของเขาเอาไว้ เด็กหนุ่มเริ่มดื่มเหล้าอย่างหนัก เข้าเรียนและเร้นหนีออกจากโรงเรียนหลายแห่ง ในวัย 15 ปี เขาเคยแม้กระทั่งพยายามที่จะจบชีวิตตัวเอง โชคดีสำหรับแฟนงานเขียนของเขาทั่วโลกที่เขาพรากลมหายใจของตนไม่สำเร็จ เฮสเสที่ซังกะตายต่อชีวิตจึงได้เริ่มต้นใหม่ด้วยการเข้าทำงานในโรงงาน ตามมาด้วยงานช่างก่อสร้างหอนาฬิกาและพนักงานร้านหนังสือ งานเขียนของเขาในช่วงเวลาแรก ๆ ได้รับการตีพิมพ์บ้างประปราย หากชื่อและฝีมือของนักเขียนผู้นี้ไม่เคยได้รับการยอมรับจากผู้ใดแม้กระทั่งแม่ของตน จนกระทั่งปี 1904 ที่เขาตีพิมพ์ ‘ปีเตอร์ คาเมนซินด์’ เป็นนวนิยายเรื่องแรก   เฮสเสซึมเศร้า มากกว่าแค่ตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ‘ปีเตอร์ คาเมนซินด์’ คือก้าวแรกของเฮสเสสู่แวดวงวรรณกรรม เฮสเสกลายเป็นกวีอย่างที่เขาอยาก พ่วงด้วยการแต่งงานครั้งแรกกับช่างภาพสาว มาเรีย เบอร์นูลลี (Maria Bernoulli) และมีลูกชายร่วมกับเธอสามคน เฮสเสเริ่มต้นเขียนงานชิ้นแล้วชิ้นเล่าบนโต๊ะหนังสือที่บ้านหลังงามริมทะเลสาบคอนสแตนซ์ ตอนใต้ของเยอรมนี ก่อนที่ปี 1911 เฮสเสจะเก็บกระเป๋าออกจากบ้านและเดินทางไกลไปยังอินโดนีเซียและศรีลังกา - สถานที่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ ‘สิทธารถะ’ ในเวลาถัดมา ‘บทเรียน’ (1906) ‘เกอร์ทรูด’ (1910) และ ‘รอสฮัลด์’ (1914) คือผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น คงไม่มีคนมีคู่คนใดคิดหนีออกจากบ้านของตนเองหากชีวิตคู่ของพวกเขาราบรื่น ในช่วงนั้นชีวิตของเฮสเสเผชิญกับปัญหาหลายประการ - พ่อของเขาเสียชีวิต ลูกชายของเขาป่วยหนัก อีกทั้งความรักกับภรรยาก็ไม่ได้หวานชื่นอย่างที่เคย มาเรียภรรยาของเขาเริ่มมีอาการของโรคจิตเภท ส่วนเฮสเสเองก็เริ่มฉายแววโรคซึมเศร้า ส่วนด้านอาชีพนักเขียนของเขา ท่ามกลางบรรยากาศการสนับสนุนสงครามของชาวยุโรปในขณะนั้น เฮสเสคือหนึ่งในไม่กี่คนในประเทศบ้านเกิดของตนที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม การเขียนบทความ ‘O Friends, Not These Sounds’ เพื่อสนับสนุนสันติภาพและต่อต้านลัทธิชาตินิยมในประเทศเยอรมนีทำให้ชีวิตของเฮสเสตกอยู่ในความลำบากอย่างยิ่ง นักอ่านชาวเยอรมันจำนวนมากเลิกอ่านผลงานของเขา สื่อมวลชนหลายหัวเขียนโจมตีเฮสเส ตู้จดหมายหน้าบ้านของเขาเต็มไปด้วยกระดาษบรรจุข้อความแสดงความเกลียดชัง ในช่วงเวลาเหล่านั้น เพื่อนร่วมชาติหลายคนถึงกับกล่าวเรียกแทนชื่อเขาว่า ‘ไอ้สารเลว’   ตัวอักษรจากนักแสวงหา เพื่อบำบัดอาการซึมเศร้าของเขา เฮสเสถูกส่งตัวไปยัง เจ.บี.แลง (J.B. Lang) ลูกศิษย์ของคาร์ล ยุง (Carl Jung: บิดาจิตวิเคราะห์) การรักษาความเศร้าควบคู่ไปกับการศึกษาภายในจิตใจของตนได้กลายมาเป็นจุดแข็งในงานเขียนของเฮสเส นับตั้งแต่ ‘เดเมียน’ ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลานั้น (และเผยแพร่ด้วยนามปากกาอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากชาวเยอรมันที่ยังเกลียดชังเขาอยู่) ตามมาด้วยผลงานอื่น ๆ อีกมากมายที่ล้วนเกี่ยวพันกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แทบทุกเล่มไป   / บางครั้งเราก็มัวแสวงหามากเกินไป จนกระทั่งมิได้มีเวลาสำหรับการพานพบ - สิทธารถะ /   ปี 1919 หลังจากผลการรักษาด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เฮสเสกลับบ้านของเขาและตัดสินใจหย่ากับมาเรีย เขาและเธอแยกทางกันและส่งลูกทั้งสามเข้าโรงเรียนประจำ ส่วนเฮสเสก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังงามในทีชีโน (Ticino) และเริ่มเขียนงานชิ้นถัดมาของเขา และวาดภาพเป็นงานอดิเรก ‘สิทธารถะ’ (1922) คือหนังสือเล่มดังที่ประพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เล่าถึงเรื่องราวของสองพราหมณ์หนุ่ม ‘สิทธารถะ’ และ ‘โควินทะ’ ที่ออกเดินทางไปทั่วอินเดียเพื่อแสวงหาการหลุดพ้น ซึ่งแม้งานเขียนชิ้นนี้จะเล่าภาพของอินเดียและถ่ายทอดทั้งวัฒนธรรมและศาสนาของที่นั่น หากเนื้อในกลับบรรจุไว้ด้วยแนวคิดที่ก้ำกึ่งระหว่างตะวันออกและตะวันตก - แนวคิดทางศาสนาที่ลื่นไหลและเป็นอิสระอันเป็นความเชื่อที่แท้จริงของเฮสเส - ผู้ปฏิเสธคริสต์ศาสนาหลากนิกายที่ครอบครัวพยายามยัดเยียดให้เขาเป็น ปี 1923 ปีเดียวกับที่สถานะสมรสของเขาและมาเรียถูกฉีกทิ้งอย่างเป็นทางการ เฮสเสสละสัญชาติเยอรมันและกลายเป็นประชาชนชาวสวิส ปีถัดมาเฮสเสแต่งงานใหม่กับ รูธ เวงเงอร์ (Ruth Wenger) นักร้องชาวสวิส เพียงเพื่อจะหย่าร้างกันในอีกไม่กี่ปีให้หลัง ปี 1927 เฮสเสตีพิมพ์ผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของเขา ‘สเตปเปนวูลฟ์’ นวนิยายเชิงทดลองที่เล่าเรื่องราวแห่งวิกฤตทางจิตวิญญาณของ ‘แฮร์รี ฮอลเลอร์’ อันเป็นที่ฮือฮาทั้งแง่บวกและลบแก่นักอ่านและนักวิจารณ์ไม่ใช่เล่น ก่อนที่ผลงานชิ้นเอกอีกเล่มจะตามมาในอีกสามปีให้หลัง การแต่งงานครั้งที่สามของเฮสเสกับ นีนอน ดอลบิน (Ninon Dolbin) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวยิวทำให้ผลงานเรื่อง ‘นาร์ซิสซัส กับโกลด์มุนด์’ (1930) นวนิยายที่ถูกประพันธ์ขึ้นในยามที่เฮสเสมีความรักนั้นเต็มไปด้วยมิตรภาพระหว่างทางแห่งการสำรวจชีวิตและจิตใจมากกว่าที่เคย   สู่ปลายทางนับจากโนเบล แม้ผลงาน ‘เดเมียน’ ที่ตีพิมพ์ในนามปากกาอื่นของเฮสเสจะกลายเป็นหนังสือที่คุ้นตาและคุ้นมือชาวเยอรมันเช่นเดียวกับหนังสือเล่มก่อน ๆ ของเขา หากคำกล่าวหา ‘ไอ้สารเลว’ และ ‘เหยื่อทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของพวกยิว’ ที่พุ่งเป้ามายังนักเขียนผู้เปลี่ยนสัญชาติตัวเองเป็นชาวสวิสผู้นี้ก็ยังคงหนาหูอยู่ไม่สร่าง ภายใต้คืนและวันที่เยอรมนีถูกปกครองโดย ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำประเทศที่เกลียดยิวเข้าไส้ การที่เฮสเสย้ายประเทศพำนัก เปลี่ยนสัญชาติ และแต่งงานกับภรรยาคนที่สามที่เป็นชาวยิวผู้สูญเสียครอบครัวไปในค่ายกักกัน ก็ทำให้งานเขียนของเขาห่างหายจากการวางขายบนแผงหนังสือในประเทศเยอรมนีไป และท้ายที่สุดมันก็แทบจะถูกแบนอย่างสิ้นเชิง ความเกลียดชังที่พรรคนาซีมีต่อเฮสเสไม่ได้ส่งผลต่องานเขียนของเขา (อย่างน้อยก็ไม่ได้ส่งผลมากนัก) ปี 1946 เฮสเสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และใช้เวลาในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตไปกับการวาดภาพ แต่งบทกวี และเขียนเรื่องสั้นจวบจนวันสุดท้ายของชีวิตเขา เฮสเสจากโลกใบนี้ไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1962 ด้วยวัย 85 ปี ในทศวรรษเดียวกับที่งานของเขาเริ่มกะเทาะเปลือกไข่และออกไปสู่โลกกว้างมากกว่าผืนแผ่นดินยุโรป ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในอเมริกา แต่ละเล่มและเรื่องทยอยถูกแปลหลากภาษาและเผยแพร่ไปทั่วโลกในฐานะวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ทั้งในแง่การบันทึกประวัติศาสตร์ และในแง่งานเขียนเชิงจิตวิเคราะห์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งนามธรรมได้เป็นรูปธรรมอย่างสละสลวยด้วยอารมณ์และภาษามาจนถึงปัจจุบัน   ที่มา: https://www.dw.com/en/hermann-hesse-misunderstood-but-loved/a-16152933 https://www.dw.com/en/hesse-recognized-magic-power-of-words/a-15848265 https://www.jewishpress.com/sections/features/features-on-jewish-world/hermann-hesse-the-nazis-and-anti-semitism/2019/08/14/ https://www.thoughtco.com/biography-of-hermann-hesse-4775337