ฮิเดโยะ โนงูจิ (หมอที่ดังที่สุดของญี่ปุ่น) เผชิญข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมการแพทย์ในสหรัฐฯ

ฮิเดโยะ โนงูจิ (หมอที่ดังที่สุดของญี่ปุ่น) เผชิญข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมการแพทย์ในสหรัฐฯ
"ฮิเดโยะ โนงูจิ (1876-1928) อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดังที่สุดของญี่ปุ่น ใบหน้าของเขาปรากฏอยู่บนธนบัตร 1,000 เยน เรื่องราวชีวิตของเขาคือตำนานถูกเล่าขานดั่งนิทานพื้นบ้าน เขาเกิดท่ามกลางความยากแค้นในชนบท เขาตกสู่กองไฟตั้งแต่ยังเป็นทารกทำให้แขนซ้ายต้องพิการชั่วชีวิต ใครที่เห็นเขาในตอนนั้นก็คงเห็นว่าเขาไร้ซึ่งอนาคต ชาวนาต้องใช้มือดี ๆ ทั้งสองมือ แล้วลูกไพร่จะเป็นอะไรได้นอกจากทำนา?"  ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน (Michael Hoffman) จาก The Japan Times สื่อญี่ปุ่นฉบับภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดเกริ่นนำชีวิตของ ฮิเดโยะ โนงูจิ (Hideyo Noguchi) หมอที่ผันตัวไปเป็นนักวิจัยแบคทีเรีย ผู้สร้างชื่อเสียงระดับโลกจากการค้นพบ Treponema pallidum แบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิสเป็นคนแรก   ชีวิตของโนงูจิคือตัวอย่างของนักต่อสู้ จากเด็กบ้านนอกยากจนแขนพิการ สู้ร่ำเรียนจนดีเด่น ได้ครูบาอาจารย์ช่วยอุปถัมภ์ เรียนจบแพทย์ได้ในวัยเพียง 20 ปี และยังได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะนักแบคทีเรียวิทยา ได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และได้รับการยกย่องในบ้านเกิด มีการ์ตูนเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง และได้รับรางวัลเกียรติคุณต่าง ๆ มากมายในฐานะผู้สร้างคุณูปการทางการแพทย์ และชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่เรื่องเล่าของโนงูจิในฐานะนักวิจัยมักจะเน้นย้ำไปที่ความสำเร็จ และการทุ่มเทจนตัวตายเนื่องจากติดเชื้อที่ตัวเองต้องการเอาชนะเสียเอง จนทำให้เกร็ดชีวิตส่วนหนึ่งของโนงูจิถูกละเลยไป เช่นเรื่องราวเกี่ยวกับ “กรณีลูติน” (luetin incident) ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการใช้เด็กกำพร้าที่มิได้เจ็บป่วยมาเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองสารสกัดจากเชื้อซิฟิลิส จนทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องสิทธิเด็ก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์  จากข้อมูลของ ซูซาน ไอริช เลเดอเรอ (Susan Eyrich Lederer) จากคณะประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ University of Wisconsin (Hideyo Noguchi's Luetin Experiment and the Antivivisectionists) ณ เวลาที่เกิดเหตุ (ราวปี 1912) โนงูจิทำงานให้กับสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ และใช้ชีวิตในฐานะนักวิจัยในสหรัฐฯ มาเป็นเวลาร่วม 10 ปี จนมีชื่อเสียงเลื่องลือในวงการ ในฐานะผู้ค้นพบ Treponema pallidum รวมถึงจุลชีพอื่น ๆ อันเป็นต้นตอของโรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งโรคพิษสุนัขบ้า โรคริดสีดวงตา หรือโปลิโอ (ซึ่งเป็นที่รับรู้ภายหลังว่าเป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาด)  หลังโนงูจิรู้เรื่องการตรวจเชื้อวัณโรคด้วยการฉีดทูเบอร์คูลีน (tuberculin - โปรตีนผ่านการฆ่าเชื้อที่สกัดจากแบคทีเรีย tubercle bacillus สาเหตุของวัณโรค) ในปี 1907 เขาก็เลยคิดที่จะนำเทคนิคเดียวกันมาใช้ในการตรวจเชื้อซิฟิลิส โดยเรียก สารสกัดจากเชื้อซิฟิลิสของเขาว่า “ลูติน” (luetin - มาจาก lues ซึ่งเป็นภาษาทางการแพทย์ที่ใช้เรียกซิฟิลิส)  โนงูจิทดลองกับสัตว์จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า ลูตินไม่สามารถทำให้สัตว์ติดซิฟิลิสได้เขาจึงข้ามไปทดลองในมนุษย์ เขาขอความร่วมมือไปยังเครือข่ายแพทย์ โรงพยาบาล และสถานสงเคราะห์หลายแห่ง จนได้ผู้ร่วมการทดลอง 400 คน เป็นผู้ป่วยซิฟิลิส 254 คน อีก 146 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างควบคุม รวมถึงเยาวชนปกติอายุระหว่าง 2 ถึง 18 ปี จำนวน 46 คน  ผลการทดลองพบว่า ในผู้ป่วยระยะที่สองที่ได้รับการบำบัดด้วยสารปรอท เมื่อถูกฉีดลูตินจะเกิดผดเป็นวงกว้าง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแดงแล้วค่อย ๆ จางหายไป และในผู้ป่วยระยะที่สามจะมีปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรงกับลูติน โดยผู้ป่วยจะแตกผื่นอย่างรวดเร็วก่อนแห้งเป็นสะเก็ด เขาจึงเชื่อว่า ลูตินจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อหรือไม่ และมีผลข้างเคียงที่น้อยมาก (บ้างมีไข้ บางรายมีอาการไม่อยากอาหาร บ้างก็มีอาการท้องเสีย) เมื่อวงการแพทย์ได้ทราบข่าวความสำเร็จในการทดสอบของโนงูจิก็เป็นที่ตื่นเต้นอย่างมาก มีการยื่นเรื่องขอลูตินจากสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์เข้ามาอย่างล้นหลาม นำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเร่งผลิตเพื่อหากำไร แต่รายงานการวิจัยของโนงูจิก็ไปเข้าตากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Anti-Vivisection Society หรือสมาคมต่อต้านการผ่าตัดสิ่งมีชีวิตเพื่อการทดลอง ซึ่งแต่เดิมมุ่งคุ้มครองสัตว์เป็นหลัก แต่เมื่อเห็นว่า เด็ก ๆ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ต้องอาศัยอยู่ตามสถานสงเคราะห์ และโรงพยาบาลบ้า (ตามภาษาสมัยนั้น) ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทดลองด้วย จึงออกมาต่อต้าน เดิมทีสมาคมฯ ก็ต่อต้านสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์อยู่แล้ว เนื่องจากทางสถาบันใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง หนึ่งในแทกติกของพวกเขาก็คือการรณรงค์ให้คนเข้าไปค้นหาสัตว์เลี้ยงที่สูญหายในสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ การทดลองของโนงูจิ ซึ่งมีชื่อสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ไปเกี่ยวข้อง จึงตกเป็นเป้าโจมตีไปด้วย แต่เบื้องต้นข้อวิจารณ์ไม่ได้ตกมาที่โนงูจิโดยตรง เนื่องจากกลุ่มต่อต้านการทดลองนั้นมีรากฐานมาจากอุดมคติทางศาสนา และเห็นว่าโนงูจิเป็นเพียงคนนอกที่ลุ่มหลงไปกับอุดมคติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นตอของความเสื่อมทางศีลธรรมในโลกตะวันตกเท่านั้น ผู้ที่ถูกวิจารณ์จึงเป็นเหล่าแพทย์ที่ช่วยจัดหากลุ่มตัวอย่างเพื่อให้โนงูจิทำการทดลอง Life นิตยสารรายสัปดาห์ยอดนิยมฉบับหนึ่ง ซึ่งมีจุดยืนเคียงข้างกลุ่มต่อต้านการผ่าตัดเพื่อการทดลอง ได้วิจารณ์การให้ “ความอนุเคราะห์” แก่โนงูจิของบรรดาแพทย์อเมริกันเหล่านี้ว่า  "ความอนุเคราะห์ โดยทั่วไปแล้วไม่ใช่สิ่งที่ควรวิตก แต่คำนี้ได้ความหมายใหม่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของร็อกกีเฟลเลอร์ได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองกับคนไข้ 146 คนของโรงพยาบาลด้วย 'ความอนุเคราะห์' ของแพทย์ที่ดูแล...ถ้านักวิจัยได้พูดกับคนไข้เหล่านี้ว่า 'ผมขออนุญาตฉีดส่วนผสมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคร้ายไม่มากก็น้อยเข้าไปในร่างกายของคุณจะได้มั้ย?' คนบ้าเหล่านี้ก็คงจะปฏิเสธ ส่วนหมอที่มีอารยะสูงกว่ากลับอนุญาตให้ทำการทดลองด้วยเต็มใจ -ไม่ใช่กับตัวเอง- แต่กับมนุษย์ 146 คนในความดูแลของตนเอง"  ฝ่ายสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์รีบออกมาปกป้องโนงูจิ ยืนยันว่า ลูตินมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดซิฟิลิสแน่นอน ทั้งแพทย์ที่ทำการทดลองก็ได้ลองฉีดลูตินกับตัวเองก่อน ก่อนนำไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง โนงูจิเองก็ยังฉีด (โนงูจิเองมีประวัติเคยเป็นซิฟิลิสเช่นกัน) นอกจากนี้ การทดลองยังมีประโยชน์กับกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากคนเหล่านี้ที่ไม่มีประวัติเป็นซิฟิลิส จริง ๆ อาจจะเป็นแล้วแต่ไม่รู้ เมื่อได้ร่วมการทดลอง จึงได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรก และความสำเร็จของมันยังเห็นได้จากการที่โรงพยาบาลหลายแห่งนำกระบวนการนี้ไปใช้ในการตรวจเชื้อในภายหลัง อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม 1912 จอห์น วี. ลินด์เซย์ ประธานสมาคมป้องกันความทารุณต่อเด็กแห่งนิวยอร์ก (New York Society for the Prevention of Cruelty to Children) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการนิวยอร์ก กล่าวหาโนงูจิในข้อหาทำร้ายร่างกาย จากกรณีนำมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นซิฟิลิสฉีดด้วยลูติน โดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งในกรณีของเด็กกำพร้าก็ควรต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ แต่สำนักงานอัยการปฏิเสธที่จะดำเนินคดีทางอาญากับโนงูจิ  เมื่อทางสำนักงานอัยการไม่คิดจะดำเนินคดีกับโนงูจิแล้ว ทางสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ก็ไม่คิดจะฟ้องกลับด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการต่อสู้กันทางกฎหมายว่า หมอมีอำนาจแค่ไหนในการลงมือรักษาผู้ป่วย เนื่องจากความผิดพลาดนำไปสู่การฟ้องร้องมากมาย และในปี 1914 ก็มีคำพิพากษาฎีกาคดีหนึ่งออกมา (Schloendorff v. Society of New York Hospital) ยืนยันถึงสิทธิของผู้ป่วยว่าจะเลือกรับการรักษาแบบใด ซึ่งหากทางร็อกกีเฟลเลอร์นำคดีไปถึงศาล ก็มีโอกาสที่ฝ่ายต่อต้านการทดลองจะอ้างสิทธิของผู้ป่วยขึ้นมาต่อสู้ได้  และในทางข้อเท็จจริง ในการทำการทดลองกับเด็กกำพร้าจากสถานสงเคราะห์ Randall's Island Asylum ก็ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้พิทักษ์ตามกฎหมายคือ New York City Board of Charities จริง ๆ การคิดจะเล่นงานกลุ่มต่อต้านการทดลองด้วยข้อหาหมิ่นประมาท จึงอาจเข้าตัวเสียเอง สุดท้ายทั้งฝ่ายสถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ของโนงูจิ และกลุ่มต่อต้านการทดลองในสัตว์และมนุษย์ก็ค่อย ๆ รามือไปเอง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตรวจซิฟิลิสด้วยลูตินนั้น เมื่อแพทย์นำไปปฏิบัติใช้จริงกลับขาดความแม่นยำ (และนำไปสู่ปัญหาความน่าเชื่อถือในงานวิจัยของโนงูจิ) ทำให้มันขายไม่ออก  ฝ่ายกลุ่มต่อต้าน เบื้องต้นก็ประโคมข่าวใหญ่โตจนเกินจริง สร้างความกังวลให้กับบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ถ้าพาลูกเข้าโรงพยาบาลรัฐแล้วจะถูกจับไปทดสอบหรือไม่ และยังมีการปล่อยข่าวว่า มีเด็กหลายสิบคนในนิวยอร์กไปรักษาตัวด้วยโรคต่าง ๆ ในโรงพยาบาลกลับมาดันติดซิฟิลิส ซึ่งเมื่อมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกลับไม่พบตามอ้าง ยิ่งทำให้กลุ่มต่อต้านขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเวลานั้นโลกกำลังเข้าสู่ “มหาสงคราม” (สงครามโลกครั้งที่ 1) จึงทำให้ความสนใจในประเด็นนี้ค่อย ๆ จางหายไป แน่นอนว่า การทดลองทางการแพทย์ถึงอย่างไรก็จำเป็นต้องมีการทดลองกับมนุษย์เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาจริง ๆ ก็ไม่ได้อยู่ที่การทดลอง หากอยู่ที่ความชอบธรรมและขั้นตอน นักวิจัยต้องตอบคำถามก่อนว่า การทดลองที่เอามนุษย์ไปเสี่ยงภัยนั้นคุ้มค่าหรือไม่ จะเป็นประโยชน์แค่ไหนกับสังคม หากว่าการทดลองนั้นคุ้มค่าแน่แล้ว นักวิจัยก็ต้องพิจารณาถึงสิทธิต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วมการวิจัยด้วย ซึ่งในอดีตนักวิจัยเลือกจะใช้วิธีการลัดขั้นตอนมองหาผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่มีปากมีเสียงที่จะคัดค้านอะไร มาทำการทดลอง ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน (รวมถึงในภาวะสงคราม)  และกรณีของโนงูจิก็ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการหาประโยชน์จากผู้ด้อยโอกาสจากวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้ว่ากรณีของเขาอาจจะไม่มีผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการทดลอง แต่เขาและทีมงานก็ไม่อาจตอบคำถามได้ว่า ถ้าพวกเขามั่นใจว่ามันปลอดภัยจริง ทำไมจึงต้องใช้ทางลัด?     ไม่ว่าอย่างไร โนงูจิถือเป็นนักวิจัยที่โดนเด่นระดับโลก แม้ว่าภายหลังงานหลายชิ้นของเขาจะถูกตีตกไปด้วยหลักฐานใหม่ ๆ หรือบ้างก็เป็นการค้นพบที่นักวิจัยงานอื่นไม่อาจทำตามได้อย่างที่เขาอ้าง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวตนของเขาเองหรือมาจากอาการเจ็บป่วยก็เป็นได้     "งานของโนงูจิมีความผิดพลาดและขาดความแม่นยำมากขึ้น การค้นพบหลายอย่างของเขาไม่อาจทำซ้ำได้จริง รวมถึงข้ออ้างที่ว่าเขาสามารถเพาะแบคทีเรียสไปโรคีตสาเหตุของโรคซิฟิลิส เขายังถูกกล่าวหาว่าทำการทดลองที่ขัดต่อจริยธรรมกับมนุษย์ เช่นกรณีการฉีดลูติน ส่วนสกัดจากซิฟิลิสเข้าใต้ผิวหนังของเด็กปกติ โนงูจิเองเคยติดซิฟิลิสและอาจมีอาการถึงขั้นติดเชื้อในระบบประสาท (neurosyphilis) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่อธิบายถึงพฤติกรรมชอบเก็บความลับ และความหวาดวิตก เขาขาดความระมัดระวังถึงขั้นขาดความยั้งคิดในการทำงานในห้องปฏิบัติการ ทำให้เขาและเพื่อนร่วมงานเสี่ยงกับการติดโรคร้าย"  เซียง ยง ตัน (Siang Yong Tan) ศาสตราจารย์คณะแพทย์ และ จิล ฟุรุบายาชิ (Jill Furubayashi) ผู้เขียนร่วม จากมหาวิทยาลัยฮาวายกล่าว (Hideyo Noguchi: Distinguished bacteriologist)