ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

ฮิโรมิ (Hiromi) เป็นชื่อเรียกในวงการเพลงของ ฮิโรมิ อูเอฮารา (Hiromi Uehara) เจ้าของตำนานดนตรีร่วมสมัยที่คนญี่ปุ่นภูมิใจนักหนา อย่างไรก็ดี ตอนที่ ฮิโรมิ ออกอัลบั้มแรก Another Mind (2003) กับสังกัด เทลาร์ค (Telarc) ตามติดด้วยอัลบั้ม Brain (2004) นั้น ผมมีโอกาสได้ฟังผ่าน ๆ อย่างไม่มีท่าทีไยดีนัก ในใจยังนึกว่าเพลง Kung-Fu World Champion ที่เธอบรรเลงในอัลบั้ม Brain มันก็แค่งานฟิวชั่นไร้แก่นสารชิ้นหนึ่ง ทว่า ทริปไปญี่ปุ่นในปีเดียวกัน (ค.ศ. 2004) ทำให้ผมอดตกใจไม่ได้ว่า เกณฑ์การประเมินคุณค่าของผมน่าจะมีปัญหาเสียแล้ว เมื่อ ฮิโตชิ นาเมกาตะ (Hitoshi Namekata) ผู้บริหารในตำแหน่ง ไวซ์-เพรสซิเดนท์ ของ โตชิบา-อีเอ็มไอ บอกผมในค่ำคืนหนึ่งที่เรานั่งร่ำสุรา Single Malt 12 ปี ของ Suntory ด้วยกันว่า "รู้จัก ฮิโรมิ มั้ย เธอเป็นนักเปียโนที่ชาวญี่ปุ่นในยุคสหัสวรรษใหม่ภูมิใจมาก" ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน เมื่อบุคคลระดับสูงของค่ายเพลงแห่งนี้แสดงความชื่นชมศิลปินจากอีกค่ายเพลงหนึ่งให้ฟังเช่นนี้ แถมยังยกย่องในระดับเดียวกันกับ โตชิโกะ อะคิโยชิ (Toshiko Akiyoshi), ซาดาโอะ วาตานาเบ (Sadao Watanabe), มาโคโตะ โอโซเนะ (Makoto Ozone) ซึ่งเป็นสายเลือดซามูไรที่ผาดโผนอยู่ในยุทธจักรดนตรีสากล เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมนั่งลงฟังแผ่น 2 ชุดแรกของ ฮิโรมิ อย่างจริงจัง แล้วค้นพบว่า เบื้องหน้าของสีสันอันฉูดฉาดร้อนแรง หรือการจัดวางผ่านสไตลิสต์ที่ดูหวือหวา ราวกับศิลปินเพลงแนว ‘เจ-ป๊อป’ นั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ฮิโรมิ มีแก่นกลางของงานสร้างสรรค์บรรจุอย่างเพียบพร้อม

ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2006 ผมมีโอกาสกลับไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนจากบุคลากรในแวดวงค่ายเพลง มาพูดคุยกับบุคลากรในแวดวงการศึกษาดนตรีกันบ้าง เริ่มต้นที่นครโตเกียว เจ้าหน้าที่ของสถาบันดนตรี ยามาฮ่า บอกผมว่า ท่ามกลางนักดนตรีที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนทั่วโลก ฮิโรมิ เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินยามาฮ่า (Yamaha Artist) ในทริปเดียวกัน เมื่อเดินทางต่อไปยังเมืองฮามามัทสึ (Hamamatsu) จังหวัดชิสุโอกะ (Shizuoka) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ฮิโรมิ แทบจะกล่าวได้ว่า น้ำเสียงของทุกคนที่นั่นต่างแสดงความเห็นว่า เธอเป็นอัจฉริยะรุ่นเยาว์ที่น่าชื่นชมโดยแท้  ปีเดียวกันนั้น ฮิโรมิ ออกอัลบั้มชุดที่ 3 Spiral (2005) ซึ่งเป็นการบรรเลงในแบบ เปียโน ทริโอ (เปียโน-เบส-กลอง) ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชนคนดนตรีแจ๊สในต่างแดน อัลบั้มนี้เผยให้เห็นโลกดนตรีอันกว้างไกล และมีความสุกงอมและลงตัวกว่า 2 อัลบั้มก่อนหน้านั้นอย่างเด่นชัด  โดย ฮิโรมิ บรรเลงอะคูสติกเปียโน แต่ในตอนท้ายยังหยิบเอาธีมเปรี้ยวเท่ของ “กัง-ฟู” มาบรรเลงใหม่ ผ่านคีย์บอร์ดในแทร็ค Return of Kung-Fu World Champion โดยใช้ภาพลักษณ์อันยิ่งยงของ บรูซ ลี และ เฉินหลง มาเป็นแรงบันดาลใจ ขณะที่ปฏิสัมพันธ์ของนักดนตรีทั้ง 3 คนเป็นไปอย่างแนบแน่นและเป็นเอกภาพสูง ทั้งตัวฮิโรมิกับเพื่อนอีก 2 คน คือ โทนี เกรย์ (Tony Grey) มือเบส และ มาร์ติน วาลิโฮรา (Martin Valihora) มือกลอง ต่างรู้จักกันที่นิวยอร์ก ก่อนจะโคจรมาเล่นดนตรีด้วยกัน ช่วงปลายปี ค.ศ. 2006 ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ อาหมัด จามาล (Ahmad Jamal) ตำนานแจ๊สคนหนึ่งที่เดินทางมาแสดงในงาน Jazz Royale Festival เมื่อถามถึงนักดนตรีรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของวงการ อาหมัด ตอบอย่างไม่ลังเล เขาคิดว่า ฮิโรมิ เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ชัด ๆ ว่า เธอมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง “ผมเจอฮิโรมิที่บอสตัน ผมไม่อยากจะเชื่อว่านิ้วมือเล็ก ๆ ของ ฮิโรมิ จะเล่นดนตรีได้เหนือความคาดหมาย ผมจึงแนะนำให้เธอได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับเทลาร์ค”

ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

ถึงตอนนี้ คุณอาจจะนึกสงสัยขึ้นมาโดยพลันว่า สหรัฐฯ มีนักเปียโนฝีมือระดับพระกาฬตั้งมากมาย แล้วเหตุใด อาหมัด จึงตัดสินใจสนับสนุน ฮิโรมิ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ คำถามนี้ ย้อนกลับไปให้ ฮิโรมิ ตอบ เมื่อคราวเธอเดินทางมาเยือนไทยครั้งแรก ในงานเทศกาลดนตรีแจ๊สอีกงานหนึ่งในเดือนเดียวกัน (Bangkok Jazz Festival)  “เหตุผลที่เขาสนับสนุนฉันหรือ ?” เธอย้อนถาม “ไม่รู้สิ เขารักเอ็นดูฉันกระมัง...” ฮิโรมิ ขยายความว่า สมัยเธอได้ทุนเต็มจำนวน 4 ปี ไปเรียนต่อที่ เบิร์กลี คอลเลจ ออฟ มิวสิค ในเมืองบอสตัน และมีโอกาสได้เรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีนั้น มีอยู่คราวหนึ่ง ธอต้องเล่นเปียโนเพื่อส่งงานอาจารย์ ริชาร์ด เอแวนส์ (Richard Evans) ปรากฏว่าเขาชื่นชอบมาก และเล่นเทปนั้นให้ อาหมัด จามาล ฟังระหว่างที่พวกเขาคุยกันทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นไม่นาน อาหมัด เป็นฝ่ายโทรศัพท์มาหาเธอ ขอพบปะพูดคุย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพต่างวัยต่างเชื้อชาติ โดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ “อาหมัด คือคุณพ่อชาวอเมริกันของฉันนั่นเอง” เธอบอก เมื่อเปรียบเทียบกับนักดนตรีรุ่นพี่ที่เติบโตมาในสภาพสังคมคล้ายคลึงกัน และได้รับการฝึกฝนด้านดนตรีคลาสสิกเป็นพื้นฐาน เช่น มิดอริ (Midori) ความแตกต่างอย่างสำคัญของ ฮิโรมิ กับนักไวโอลินคลาสสิกชื่อก้อง คือช่องทางเฉพาะตัวในการข้ามผ่านพรมแดนทางดนตรี ซึ่งไม่มีใครชี้แนะและสอนสั่งกันได้ จากการเดินทางไปบนสายธารของตัวโน้ตที่กำหนดมาแล้ว ด้วยเทคนิคอันแพรวพราวและแม่นยำ ไปสู่จินตนาการ (Imagination) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เหนือไปกว่านั้น คือความตระหนักรู้ขึ้นมาเองจากภายใน (Intuition) อันเป็นต้นธารของสิ่งที่เรียกว่า คีตปฏิภาณ (Improvisation) ในดนตรีแจ๊ส ฮิโรมิ เรียนเปียโนเมื่ออายุ 6 ขวบ เธอได้พบกับ นอริโกะ ฮิคิดะ (Noriko Hikida) ครูดนตรีพิเศษสุดที่ปลุกเชื้อไฟสร้างสรรค์ให้โชติช่วงตั้งแต่วัยเยาว์ อย่างที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ ครูสอนดนตรีท่านนี้มีกุศโลบายอันแยบยลในการให้เธอหลุดพ้นจากเรื่องของเทคนิคที่นักเรียนดนตรีส่วนมากมักยึดติด ด้วยการเลือกใช้สีแทนค่าความหมายต่าง ๆ เช่น เล่นสีแดง ในกรณีเพลงเร็ว เคลื่อนไหว เต็มด้วยไฟปรารถนา หรือ เล่นสีฟ้า ในกรณีเพลงช้า ในห้วงอารมณ์หม่นเศร้า เป็นต้น นี่คือการเปิดโลกจินตนาการด้วยสีสัน ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึก แล้วส่งความหมายเหล่านี้ไปยังปลายนิ้วที่พรมลงคีย์เปียโน นี่คือวิธีการที่ทำให้เธออ่อนไหวกับสภาพแวดล้อม ลื่นไหลไปมาอย่างมีพลวัต ครั้งหนึ่งในคอนเสิร์ตของเธอ เมื่อเสียงริงโทนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังขึ้นรบกวนการแสดง แทนที่จะสูญเสียสมาธิ ฮิโรมิกลับถือโอกาสตะครุบโน้ตเหล่านั้นของเสียงโทรศัพท์เอาไว้ แล้วแปรเปลี่ยนให้เป็นสีสันผ่านเสียงเปียโนของเธอ ทุกวันนี้ แนวทางของ ฮิโรมิ ยังกำหนดด้วยสีสันที่รายล้อมรอบตัวเธอ “ฉันไม่ใช้สี (ในการแต่งเพลง) มากนัก” เธอบอก “แต่ฉันมองเห็นสีเมื่อฉันบรรเลงเพลงเสมอ”

ฮิโรมิ อูเอฮารา เจ้าตำนานดนตรีร่วมสมัยที่อิมโพรไวซ์ ด้วย ‘สี’ มิใช่ ‘ตัวโน้ต’

นอกจากจะมีครูดี เธอยังได้โอกาสดี ๆ หลายครั้ง ฮิโรมิเคยไปเยือนเชคโกสโลวาเกีย เพื่อบรรเลงร่วมกับวง เชค ฟิลฮาร์มอนิก ตอนอายุ 14 ขวบ จากนั้นเมื่อแวะไปทำธุระที่โตเกียวตอนอายุ 17 ปี เธอแวะไปดูเวิร์คช็อปของ ชิค คอเรีย (Chick Corea) และมีโอกาสได้ทดลองเล่นอิมโพรไวเซชั่นกับนักเปียโนชื่อดังในเวลานั้น ซึ่งกลายมาเป็นคำเชื้อเชิญให้ไปแสดงร่วมคอนเสิร์ตในค่ำวันถัดมา  มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า เมื่อ ฮิโรมิ พูดถึงกรณีนี้ เธอไม่เคยอวดตัวว่าเธอเก่งกาจ หรือมีความสามารถทางเปียโนแต่อย่างใด แน่นอน เธอไม่เคยอวดอ้างว่าตัวเองเป็น “ศิลปิน” เลยด้วยซ้ำ “ฉันนั่งอยู่แถวหน้าพอดี ชิค เรียกฉันให้เล่นอะไรบางอย่าง ฉันก็เล่นอะไรบางอย่าง เขาถามว่า อิมโพรไวซ์ได้มั้ย ฉันตอบว่าได้ ฉันกับเขาก็เลยเล่นอิมโพรไวซ์ด้วยกัน จากนั้นเขาก็ถามว่า วันต่อมาฉันว่างมั้ย เขามีคอนเสิร์ต และชวนให้ไปเล่นด้วย” ตอนอายุ 20 ปี ฮิโรมิ เดินทางจากบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น ไปเรียนต่อที่สถาบันดนตรี เบิร์กลี ในเมืองบอสตัน ที่นั่นเธอเห็นคนเก่งมากมาย นักดนตรีแต่ละคนมุ่งเอาดีในแนวทางเฉพาะตัว ทั้ง แจ๊ส คลาสสิก และดนตรีร็อค แต่สำหรับเธอแล้ว เธอมีมุมมองต่อดนตรีแตกต่างออกไปจากคนอื่น ๆ เธอชื่นชอบดนตรีทุกแนว ดังนั้น วิธีการเล่นจึงควรจะไปเหนือเส้นแบ่งเขตแดนทางดนตรีดังกล่าว “ฉันรักบาค ฉันรักออสการ์ ปีเตอร์สัน ฉันรักฟรานซ์ ลิสต์ ฉันรักอาหมัด จามาล” เธอบอก “ฉันยังคงรักผู้คนอย่าง สไล แอนด์ เดอะ แฟมิลี สโตน, ดรีม เธียเตอร์ และ คิง คริมสัน และฉันได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากนักกีฬา อย่าง คาร์ล ลูว์อิส และ ไมเคิล จอร์แดน โดยพื้นฐานฉันได้รับแรงบันดาลใจจากใครก็ตามที่มีพละกำลังมากมาย พวกเขาพุ่งตรงถึงหัวใจฉันเลย” เป็นการยากที่จะสรุปว่า ฮิโรมิ เป็นนักเปียโนแจ๊ส เพราะเสียงเพลงของเธอมีองค์ประกอบของดนตรีแขนงอื่น ๆ เข้ามาหลากหลาย ชนิดที่ไม่แตกต่างจากสีสันบนจานสีของจิตรกร เพียงแต่เธอจะผสมสีอย่างไร แล้วร่างขึ้นมาด้วยรูปทรงแบบใด เท่านั้นเอง เหนืออื่นใดนั้น เราสรุปได้ว่าเธอให้คุณค่าแก่การ “ด้นสด” หรือ “อิมโพรไวเซชั่น” เป็นสำคัญ อัลบั้ม Time Control (2007) เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานธาตุเคมีอื่น ๆ เพื่อให้เกิดซาวนด์ที่เปลี่ยนไป ในอัลบั้มนี้ ฮิโรมิ เป็นทั้งสารตั้งต้นและตัวทำละลาย โดยมีมือกีตาร์ระดับครู เดวิด ฟูซ์ซินสกี (David Fiuczynski) เป็นแขกรับเชิญ เขาบรรเลงกีตาร์ทั้งที่มีเฟร็ทและไร้เฟร็ท (Fretless guitar) ได้อย่างยอดเยี่ยม จนบางคราวไม่แตกต่างจากซาวนด์ของไวโอลินแต่อย่างใด บางที อาจเป็นคำพูดที่เกินเลยไปบ้าง ถ้าจะบอกว่านี่คืออัลบั้มที่สะท้อนถึงความก้าวหน้ามากที่สุดชุดหนึ่งของวงการดนตรีระดับสากล ตั้งแต่เริ่มต้นสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา แต่อย่างน้อยที่สุด นี่คืองานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังสร้างสรรค์อันเหนือชั้นยิ่ง พวกเขาบรรเลงด้วยจิตวิญญาณใหม่ สด สนุกสนาน และมีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งร่องรอยมรดกดนตรีของคนรุ่นก่อน (ลองฟัง Real Check vs. Body Clock = Jet Lag ดูสักหน่อยเป็นไร) ปี 2009 ฮิโรมิ อัดแผ่นคู่ Duet กับชิค คอเรีย จากนั้น เธอเล่นในอัลบั้มของ สแตนลีย์ คลาร์ก ที่มีนักดนตรีรุ่นครู อย่าง ชิค และ เลนนี ไวท์ เป็นสมาชิกวง ตามด้วยอัลบั้ม Place To Be ในปี 2010 ต่อเนื่องด้วย Voice ผลงานในรูปแบบทริโอ ที่เธอทำงานร่วมกับ แอนโธนี แจ็คสัน (เบส) และ ไซมอน ฟิลิปส์ (กลอง) จากนั้น ในปี 2011 อัลบั้ม The Stanley Clarke Band ที่มี ฮิโรมิ ร่วมบรรเลงอยู่ด้วย ก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Contemporary Jazz Album ฮิโรมิ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัลบั้ม Move (2012) , Alive (2014) และ Spark (2016) ตามลำดับ จากผลงานดนตรีที่เพียงได้ฟังเผิน ๆ แล้วไม่พบความโดดเด่นใด ๆ ในเวลาต่อมา โชคชะตาทำให้ผมค้นพบว่า ฮิโรมิ ไม่เพียงเป็นอัจฉริยะรุ่นเยาว์ (Child Prodigyt) เท่านั้น แต่เธอก้าวมาเป็นศิลปินของวันนี้ ที่มีความมุ่งมั่นในงานสร้างสรรค์ ชนิดที่อุปสรรคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความอิ่มตัวของแนวเพลง หรือดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี ก็ไม่อาจปิดกั้นเธอได้