ทำไม ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ รอดรับโทษข้อหา ‘อาชญากรสงคราม’ จากเหตุว่า ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’?

ทำไม ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ รอดรับโทษข้อหา ‘อาชญากรสงคราม’ จากเหตุว่า ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’?

‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่นำไทยเข้าร่วมฝ่ายอักษะ รอดรับโทษข้อหา ‘อาชญากรสงคราม’ หลังจากฝ่ายอักษะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เรื่องนี้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับเหตุผลว่า ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ อย่างไรบ้าง

  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลนำไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นฝ่ายที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ากระบวนการพิจารณคดีข้อหา อาชญากรสงคราม แต่ท้ายที่สุด จอมพล ป. และพวก พ้นข้อกล่าวหา

ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ ‘ปาฏิหาริย์’ ทางกฎหมายของประเทศไทย มักจะเล่นตลกอยู่เสมอ ด้วยช่องโหว่ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้จำเลยรอดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวงได้อย่างง่ายดายท่ามกลางความตื่นตัวของสังคมที่ไม่อาจยอมรับการไร้ความรับความผิดดังกล่าวของผู้กระทำผิด นี่ทำให้ระบบกฎหมายเมืองไทยยังคงมีความสับสนงุนงงอยู่ไม่ใช่น้อย และจะมาพร้อมกับคำตัดสินที่สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนในสังคมอย่างเป็นปกติ

อย่างไรก็ดี สภาวะอันงุนงงในทางนิติศาสตร์ ที่มักสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับสังคม ไม่ได้ปรากฏแต่เพียงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 2480 (พุทธศักราช)

ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ ‘อาชญากรสงคราม’ พ.ศ.2488 เพื่อกำหนดบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดในการเข้าร่วมมือกับญี่ปุ่น หรือฝ่ายอักษะ ซึ่งจำเลยหมายเลข 1 ก็คือ นายแปลก พิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในช่วงสงคราม เจ้าของวาทกรรม ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลญี่ปุ่นในการใช้ไทยเป็นฐานทัพ และเสบียงของฝ่ายอักษะในการรุกรานประเทศรอบข้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย

แต่ผลสุดท้ายด้วยมติของศาลฎีกากลับตัดสินว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญทำให้ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจำเลยคนอื่น ๆ จึงรอดพ้นจากบ่วงกรรมด้วยบารมีของ ‘ข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ’ เวลานั้น

ช่วงทศวรรษที่ 2480 นับเป็นห้วงเวลาความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกอย่างรุนแรง เมื่อไฟสงครามได้ปะทุลุกโชนอุบัติเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้เล่นด้วยกันสองฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ

ขณะฝ่ายตรงข้ามที่เรียกว่าฝ่ายอักษะประกอบไปด้วย นาซีเยอรมัน ราชอาณาจักรอิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น สองฝ่ายได้เข้าปะทะกันเป็นสงครามที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 6 ปี (พ.ศ.2482-2488) ซึ่งนับเป็นบาดแผลสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

ในห้วงเวลาอันแสนโกลาหลนั้น สยามประเทศไทยเราก็เพิ่งผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ ‘24 มิถุนายน 2475’ โดยคณะราษฎร ซึ่งต่อมาหนึ่งในผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารอย่าง ‘จอมพลแปลก(ป.) พิบูลสงคราม’ จึงได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 – 2487 และอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2491-2500 รวมทั้งสองช่วงรวมเป็นเวลา 15 ปีกว่า นับเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ในครั้งแรกของการมีอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญกับปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แผ่ขยายเข้ามาในย่านเอเชีย – แปซิฟิก ที่มีชื่อเฉพาะว่า ‘สงครามมหาเอเชียบูรพา’

ไทยในเวลานั้นมีบทบาทสำคัญ คือการเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่น โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นย่างกรายขึ้นฝั่งไทยในหลายพื้นที่ ทำให้ฝ่ายไทยไม่อาจขัดขืนแต่อย่างใด จึงมีการลงนามร่วมมือกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคมของปีเดียวกัน แต่ดูเหมือนความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะดูแนบแน่นมากขึ้น เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 พร้อมกับดื่มน้ำสาบานจะร่วมวงไพบูลย์ต่อกัน ภายในพระอุโบสถของวัดพระแก้ว นี่คือการร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายอักษะอย่างมิอาจปฏิเสธได้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะนั้น

ตลอดช่วงโมงยามของการสงครามทั้งในยุโรป และเอเชียฝ่ายอักษะดูเหมือนกับกำลังรุกคืบเข้าสู่หนทางแห่งชัยชนะ ทว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2488 กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตก็สามารถยึดกรุงเบอร์ลินไว้ได้จากนาซีเยอรมัน และเหตุการณ์สำคัญต่อมา คือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์ และแน่นอนว่า ‘วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา’ ย่อมต้องแตกสลายลงในทันที

สิ่งสำคัญหลังการยุติลงของสงคราม คือการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษฐานเป็น ‘อาชญากรสงคราม’ ได้เริ่มต้นอย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และรัฐบาลชั่วคราวแห่งฝรั่งเศส ได้ลงนามกันในข้อตกลงกรุงลอนดอนลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้ตั้งศาลทหารกรณีพิเศษขึ้น เพื่อไต่ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงครามครั้งนี้

โดยแบ่งให้ชาวยุโรปต้องไปขึ้นศาลทหารที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ขณะที่ในปีถัดมาก็ตั้งศาลทหารระหว่างประเทศตะวันออกไกล ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สำหรับพิจารณาคดีในฝั่งเอเชีย และยังตั้งสาขาแยกออกมาในประเทศสิงคโปร์ เพื่อตัดสินผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการกำหนดโทษทัณฑ์ด้วยการประหารชีวิต และจำคุก เพื่อชดใช้กรรมที่ได้กระทำลง

แต่เป็นที่ทราบกันว่า สถานภาพของประเทศไทย ที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรอันแนบแน่น น่าจะทำให้ไทยเรากลายเป็นประเทศที่พ่ายแพ้สงครามไปด้วย แต่ด้วยการเดิน ‘เกมสองหน้า’ ของไทยในนามของ ‘ขบวนเสรีไทย’ ที่ยืนเคียงข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ไทยรอดพ้นจากความเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงคราม

และที่สำคัญ ภายหลังการยุติลงของความโกลาหล รัฐบาลไทยที่นำโดย ‘หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช’ ได้เจรจากับสหรัฐอเมริกา เพื่อขอพิจารณาคดี ‘อาชญากรสงคราม’ เสียเอง โดยไม่ต้องส่งเหล่าผู้กระทำความผิดไปตัดสินความที่สิงคโปร์

เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากประเทศไทย หรือสยามในอดีต เคยสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 กล่าวคือ ‘หากฝรั่งทำผิดในบ้านเมืองเราก็ขึ้นศาลของฝรั่งไม่ต้องขึ้นศาลสยาม’ นี่คือการสูญเสียสิทธิสภาพทางการศาล พร้อมกับการสูญสิ้นศักดิ์ศรีของประเทศด้วย

จนกระทั่งต่อมา ภายหลังรัฐบาลคณะราษฎรก็สามารถปลดแอกสภาวะกึ่งอาณานิคมนี้ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2481 ดังนั้น หากประเทศไทยยินยอมอาชญากรสงครามเหล่านี้ไปขึ้นศาลที่สิงคโปร์ คงนับเป็นความรู้สึก ‘อัปยศอดสู’ แก่ประเทศไทย

รัฐบาลจึงตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีข้อท้วงติงถึงระบบการทำงานของศาลไทยที่มีสามชั้นศาลประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา อาจทำให้มีการพิจารณาคดีที่ช้า แต่ไทยก็รบเร้าจนมหาอำนาจขณะนั้นยินยอม จึงทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการพิจารณาคดีดังกล่าวภายในราชอาณาจักร

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีถ้อยแถลงหลักการและเหตุผลความว่า

“...โดยที่อาชญากรรมสงครามเป็นภัยร้ายแรงต่อความสงบของโลก สมควรที่จัดให้บุคคลที่ประกอบได้สนองกรรมชั่วที่ตนได้กระทำตามโทษนุโทษ เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสงบของโลก อันเป็นยอดปรารถนาของประชาชนของประชาชาติไทย...”

พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดโทษเอาไว้ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี ให้ริบทรัพย์สินทั้งหมด และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษ รวมถึงมีบทบังคับทางแพ่งว่า นิติกรรมใดที่มีลักษณะเป็นการจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สิน ให้ถือเป็น ‘โมฆะ’

ประเด็นปัญหาสำคัญตามมาคือ การไต่ส่วนคดีดังกล่าวต้องชำระคดีกันในศาลใด เพราะแบบอย่างในต่างประเทศ คือการตั้งศาลทหารพิเศษขึ้นทำการไต่สวน คณะรัฐมนตรีจึงได้เสนอให้อำนาจต่อศาลฎีกาทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามครั้งนี้ แม้จะมีการเสนอให้ตั้งศาลพิเศษในการตัดสิน แต่ก็อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 59 (ฉบับ 10 ธันวาคม 2475) ศาลฎีกาจึงมีหน้าที่พิจารณาคดีครั้งดังกล่าว

ทำให้ต่อมา ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดี ซึ่งหมายเลขหนึ่งย่อมไม่พ้นจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะอดีตผู้นำรัฐบาลที่นำพาประเทศเข้าสู่มหาสงคราม

โดยสรุปความฟ้องได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการนิยม มีจิตใตฝักใฝ่ต่อการทำสงครามเช่นเดียวกับกลุ่มอักษะ เป็นผู้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง กระทำการร่วมมือกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร อันขัดต่อความประสงค์ของไทยทั้งปวง จึงถือเป็น ‘อาชญากรสงคราม’ ซึ่งเป็นภัยต่อความสงบสุขของโลก

โดยฝ่ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพวกรวมอีกเป็น 13 คน ได้โต้แย้งข้อกล่าวหาเหล่านั้นด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่ที่ว่า นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ไม่ได้ลงนามประกาศสงคราม จึงถือเป็น ‘โมฆสงคราม’ หรือกระทั่งการกระทำตนทำนั้นลงไปนั้นเพราะด้วยความจำนนต่อญี่ปุ่นกลัวจะรบกับไทยก็ตาม นับเป็นเหตุผลที่ยังคงมีข้อถกเถียงจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด จุดชี้ขาดสำคัญของคดีอาชญากรรมสงครามก็มาถึง เมื่อศาลฎีกาพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ จำเลยในคดีนี้ทั้งหมด 13 คนในที่สุด

เหตุผลสำคัญมิใช่ว่าจำเลยทั้ง 13 คน มิได้กระทำความผิด แต่ด้วยพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 จึงทำให้กลายเป็น ‘โมฆะ’

ศาลฎีกาอธิบายความว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยทั้ง 13 คน ได้กระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดโทษว่า ‘ผิดกฎหมาย’ เพราะพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เพิ่งมีผลบังคับใช้ภายหลังการกระทำเหล่านั้น

กล่าวคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพวก กระทำการที่คาดว่าน่าจะเป็นความผิดระหว่างปี พ.ศ.2482-2487 แต่ผลของพระราชบัญญัติใช้ได้จริงในปี พ.ศ.2488 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเรื่อง ‘Nulla Poena Sine Lege’ หรือ ‘ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ’ อันถือเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยหากรัฐต้องการลงโทษผู้อยู่ใต้ปกครอง ต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนว่า การกระทำคือความผิด เพื่อให้บุคคุลได้รับรู้และระวังตัว

ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มาตรา 14 ระบุว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ”

อันแปลความได้ว่า เป็นการรับรองถึงเสรีภาพของบุคคล โดยศาลชี้ว่า หลักคือบุคคลมีเสรีภาพในการกระทำ การกระทำใดก็ตามที่ไม่ขัดกฎหมาย ก็ถูกกฎหมายทั้งนั้น หากออกกฎหมายย้อนหลัง นับเป็นการผิดหลักสิทธิมนุษยชน นี่จึงทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลพรรครอดพ้นจากคดีอาชญากรสงครามในที่สุด

การตีความกฎหมายดังกล่าวถูกมองว่าเสมือนมี ‘ธง’ นำทางอยู่แล้ว ซึ่งย่อมสร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้คนเป็นอย่างยิ่ง โดยสิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายสหรัฐอเมริกาพอสมควร

แต่ที่ไม่พอใจถึงขั้นสุดน่าจะเป็นเหล่าผู้แทนราษฎรของไทย ที่ภายหลังได้มีการคัดค้านข้อพิพากษานั้น แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะจะเป็นการขัดกันซึ่งอำนาจสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)

แม้ต่อมาจะมีการตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ผลสุดท้าย จำเลยทั้งหมดก็ยังคงไม่ต้องรับผิดสิ่งใดในอดีต

นี่คงเป็นภาพสะท้อนของความ ‘อิหลักอิเหลื่อ’ ทางกฎหมายในบ้านเราเมื่อครั้งอดีต ถึงอย่างไร หากแต่เพียงหวังว่าบทเรียนเหล่าจะได้ถูกพัฒนาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติราษฎรไทยต่อไปในอนาคตข้างหน้า

 

เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง

อ้างอิง:

หนังสือ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิทักษ์หลักนิติธรรม

หนังสือ ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

คดี ‘โมฆ (อาชญากร) สงคราม’ อันเป็นต้นกำเนิด ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ตอนที่ 1 โดย กล้า สมุทวณิช

https://pridi.or.th/th/content/2022/08/1202

คดี ‘โมฆ (อาชญากร) สงคราม’ อันเป็นต้นกำเนิด ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ตอนจบ โดย กล้า สมุทวณิช

https://pridi.or.th/th/content/2022/09/1230