20 ต.ค. 2566 | 10:16 น.
- จักรวรรดิออตโตมันตั้งหมุดหมายว่าจะบุกยึดนครคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ไม่เพียงเพราะคำนึงถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น หากแต่ยังมีนัยทางศาสนารวมอยู่ด้วย
- สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงควบม้าขาวเข้ายึดครองนครคอนสแตนติโนเปิล ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 หรือหลังขึ้นครองราชย์เพียง 2 ปี พระองค์ได้รับพระราชสมัญญาว่า ‘ฟาติห์’ (Fatih) ซึ่งแปลว่า ‘ผู้พิชิต’ (Conqueror)
- สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังคอนสแตนติโนเปิล และสั่งให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘อิสลามบูล’ (Islambul) เพื่อให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของอิสลามอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม พระองค์มิได้ทรงจำกัดให้เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้นที่สามารถพำนักอาศัยที่มหานครแห่งนี้ได้
‘อิสตันบูล’ (Istanbul) เคยเป็นมหานครที่สำคัญเปรียบได้ดั่งหัวใจของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ทั้งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) จักรวรรดิโรมันตะวันตก (Eastern Roman Empire) และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)
จวบจนวันนี้ หลักฐานความรุ่งโรจน์และความยิ่งใหญ่อลังการจากยุคต่าง ๆ ยังคงปรากฏในอิสตันบูล เช่น อุโมงค์ส่งน้ำใต้ดิน (Basilica Cistern) ที่ทอดเรียงตัวอยู่ใต้เมือง, พิพิธภัณฑ์อายาโซเฟีย (Hagia Sophia) ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์เก่าแก่ที่เคยถูกเปลี่ยนให้เป็นสุเหร่า, มัสยิดสุลต่านอาห์เหม็ด (Sultan Ahmet Mosque) หรือมัสยิดสีฟ้า (Blue Mosque) ที่สุดยิ่งใหญ่และงดงามตระการตา และพระราชวังโทปคาปึ (Topkapi Palace) ซึ่งเคยเป็นที่ประทับหลักของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
ความน่าหมายปองของ ‘คอนสแตนติโนเปิล’
ในยุคแรกเริ่ม มหานครแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ไบแซนทิอุม’ (Byzantium) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘คอนสแตนติโนเปิล’ (Constantinople), ‘สตัมบูล’ (Stamboul) และอิสตันบูลในปัจจุบัน
แต่ถึงจะเปลี่ยนมาแล้วหลายชื่อ สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นคุณลักษณะเด่นไม่เคยเปลี่ยนแปลงของมหานครแห่งนี้คือ การเป็นเมืองสำคัญเพียงเมืองเดียวในโลกที่มีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งทวีป ด้านทิศตะวันตกตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ส่วนด้านทิศตะวันออกอยู่ในทวีปเอเชีย คั่นกลางด้วยช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus) พื้นที่เดินเรือระหว่างประเทศที่แคบที่สุดในโลก
ด้วยทำเลที่เป็นชัยภูมิมีท่าเรือธรรมชาติที่ดีที่สุดระหว่างยุโรปและเอเชีย จึงทำให้มหานครแห่งนี้มีสถานะเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของโลก
ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์นี้เองที่เป็นเหตุให้นครอิสตันบูล เป็นที่หมายปองของผู้นำทุกยุคทุกสมัย โดยต้องเผชิญกับเหตุการณ์มากมายราวกับถูกสาป
จักรวรรดิออตโตมันตั้งหมุดหมายว่าจะบุกยึดนครคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ตั้งแต่ยุคของ ‘สุลต่านออสมันที่ 1’ (Osman I) องค์ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิออตโตมันแล้ว พระประสงค์ของพระองค์และสุลต่านออตโตมันองค์ต่อ ๆ มา ไม่เพียงคำนึงถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น หากแต่มีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สืบเนื่องมาจาก ‘ท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.)’ ศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลาม เคยกล่าวเอาไว้ว่า “แท้จริงนครกุสฏอนฏีนียะฮฺ (นครคอนสแตนติโนเปิล) จะถูกพิชิตโดยพวกเจ้า และแท้จริงผู้นำที่ดีที่สุด คือผู้นำที่สามารถพิชิตมัน และแท้จริงกองทัพที่ดีที่สุดคือกองทัพของผู้นำนั้น”
นี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้นำรัฐอิสลามหมายมั่นปั้นมือที่จะยึดครองนครคอนสแตนติโนเปิลให้ได้ โดยก่อนหน้านั้นกองทัพอิสลามได้ปิดล้อมมหานครแห่งนี้รวม 11 ครั้ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดทำสำเร็จ นครคอนสแตนติโนเปิลยังคงรอดพ้นจากการปิดล้อมและโจมตีมาได้ด้วยความแข็งแกร่งของกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นในยุคสมัยจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 2 (Theodosius II)
สุลต่านออสมันที่ 1 ยึดเมืองบูร์ซา
ถึงแม้สุลต่านออสมันที่ 1 จะไม่สามารถพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิลได้ในรัชสมัยของพระองค์ แต่ใน ค.ศ. 1317 พระองค์ทรงสามารถยกทัพปิดล้อม ‘เมืองบูร์ซา’ (Bursa) ซึ่งอยู่ห่างจากนครคอนสแตนติโนเปิลไปทางใต้ประมาณ 150 กิโลเมตร และถือเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้กับนครคอนสแตนติโนเปิลมากที่สุดเมืองหนึ่ง
การปิดล้อมเมืองบูร์ซายืดเยื้อและกินเวลานานเกือบ 10 ปี สุลต่านออสมันที่ 1 ก็ยังไม่สามารถยึดเมืองได้ กระทั่ง ค.ศ. 1326 ชาวเมืองบูร์ซาที่ไม่เหลือเสบียงและหมิ่นเหม่ที่จะอดตายจึงยอมจำนน สุลต่านออสมันที่ 1 ทราบข่าวดีนี้ได้เพียงไม่นาน พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลง
‘ออร์ฮาน กาซี’ (Orhan Gazi) ผู้ที่ขึ้นสืบทอดบัลลังก์ต่อจากสุลต่านออสมันที่ 1 ทรงสถาปนาเมืองบูร์ซาเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1335 นับเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการแห่งแรกของจักรวรรดิออตโตมัน
เมืองบูร์ซาถือเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่จักรวรรดิออตโตมันพิชิตสำเร็จ และได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นชาวเติร์กที่เดิมเคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อนมาก่อน เพราะเมื่อพวกเขาต้องมาลงหลักปักฐานที่เมืองแห่งนี้ พวกเขาก็ต้องลงมือพัฒนาระบบปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร เพื่อเป็นรากฐานสู่การเป็นรัฐอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิออตโตมันอย่างแท้จริง ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์หลายคน
ความพยายามที่หยุดชะงัก
การพยายามยกทัพบุกนครคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิออตโตมันปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในยุคของ ‘สุลต่านบาเยซิดที่ 1’ (Bayezid I) หรือที่มีพระราชสมัญญาว่า ‘องค์อัสนี’ (จากการตัดสินพระทัยและพิชิตคู่ต่อสู้ได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด) พระองค์ทรงพยายามปิดล้อมนครคอนสแตนติโนเปิลถึง 2 ครั้ง ใน ค.ศ. 1930 และ ค.ศ. 1931 แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะต้องถอนทัพไปลุยกับกองทัพตีมูริดภายใต้การนำของเทเมอร์เลนแห่งมองโกลที่บุกมาประชิดดินแดนเสียก่อน นับเป็นโชคดีของนครคอนสแตนติโนเปิลในเวลานั้น
ระหว่างการต่อสู้กับกองทัพตีมูริด องค์อัสนีเกิดพลาดท่าถูกจับเป็นเชลย ทำให้ในเวลาต่อมา พระโอรส 3 พระองค์ได้ออกมาเปิดศึกแย่งชิงราชบัลลังก์กันอย่างโกลาหล เกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 11 ปี กระทั่งจักรวรรดิออตโตมันตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายแทบล่มสลาย ไม่ต้องพูดถึงการขยายอาณาเขตและบุกยึดนครคอนสแตนติโนเปิลที่ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ผู้พิชิต
ในที่สุด ‘สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 1’ (Mehmed I) พระโอรสองค์ที่ 4 ของสุลต่านบาเยซิดก็สามารถล้มพระเชษฐาทั้งหมดได้ และขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านออตโตมันองค์ที่ 5 ของจักรวรรดิออตโตมัน ใน ค.ศ. 1413
พระองค์ทรงใช้เวลา 8 ปีระหว่างครองราชย์ในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งให้จักรวรรดิออตโตมันอีกครั้ง ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1421 จากนั้น ‘สุลต่านมูรัดที่ 2’ (Murad II) พระโอรส จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ
สุลต่านมูรัดที่ 2 มีพระปณิธานจะยึดนครคอนสแตนติโนเปิลให้ได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พระองค์ตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ให้ ‘สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2’ (Mehmed II) พระโอรสวัย 11 พรรษา ขึ้นครองราชย์แทนในปี ค.ศ. 1444
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ประสูติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1432 ที่เมืองเอดีร์เน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมันในเวลานั้น โดยก่อนที่พระองค์จะขึ้นเป็นสุลต่านองค์ที่ 7 ของจักรวรรดิออตโตมัน พระราชบิดาทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้ว่าราชการเมืองอมัสยาเพื่อให้เรียนรู้เรื่องการปกครองและกฎหมายบ้านเมือง
ช่วงเวลานี้เองที่พระองค์ได้เรียนรู้กับอาจารย์เก่ง ๆ หลายคน หนึ่งในนั้นคือ ‘อัคชัมเซดดิน’ ปราชญ์ด้านศาสนาที่ทำให้พระองค์เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด และทำให้การพิชิตคอนสแตนติโนเปิลกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระองค์
ในช่วง 2 ปีที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์ต้องนำทัพไปทำสงครามกับกองทัพครูเสดที่รุกล้ำเข้ามาในดินแดนของออตโตมัน และทำให้สนธิสัญญาสงบศึกระหว่างออตโตมันกับฮังการีกลายเป็นโมฆะทันที ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากกองทัพของตัวเอง แม้จะทรงได้รับชัยชนะจากการสู้รบก็ตาม
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ส่งพระราชสาส์นถึงพระราชบิดาให้กลับมาครองราชบัลลังก์เพื่อลดแรงเสียดทาน ทว่าสุลต่านมูรัดที่ 2 ปฏิเสธกลับมา เพราะกำลังมีความสุขกับชีวิตที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการสู้รบและปกครองบ้านเมือง สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จึงส่งพระราชสาส์นไปถึงพระราชบิดาอีกฉบับ มีใจความเด็ดขาดว่า “หากพระองค์คือสุลต่าน ขอทรงโปรดมานำทัพของพระองค์ แต่หากข้าคือสุลต่าน ก็ขอพระองค์มานำทัพของข้า”
สุลต่านมูรัดที่ 2 จึงต้องรีบกลับมานำทัพออตโตมัน ในการทำสงครามกับยุโรป และปกครองจักรวรรดิออตโตมันต่อไปจนสิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุ 59 พรรษา
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ในวัย 19 พรรษา กลับมาครองราชย์อีกครั้ง สิ่งแรกที่พระองค์ดำเนินการคือสั่งประหารพระอนุชาทุกพระองค์เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงพระราชบัลลังก์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังยุคสุลต่านบาเยซิด
พระองค์ยังทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นครองราชย์ จำเป็นต้องสังหารพี่น้องทั้งหมดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เมื่อการเมืองภายในสงบสุข สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ก็ทรงเดินหน้าแผนการยึดนครคอนสแตนติโนเปิลตามที่ตั้งพระทัยไว้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงศึกษาการทำสงครามกับจักรวรรดิไบแซนไทน์มาอย่างดี เริ่มจากการสร้างป้อมปราการ 2 แห่งตรงข้ามกัน บริเวณจุดที่แคบที่สุดของช่องแคบบอสฟอรัส ทำให้กองทัพออตโตมันสามารถสกัดกองทัพที่ฝั่งยุโรปส่งเข้ามาช่วยคอนสแตนติโนเปิลได้ แล้วก็จัดการเก็บค่าผ่านจากเรือที่แล่นผ่านช่องแคบเพื่อนำมาเป็นทุนในการบุกยึดคอนสแตนติโนเปิล หากเรือลำไหนไม่ยอมจ่ายก็จะถูกยิงถล่มจากปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในป้อมปราการทั้ง 2 แห่ง
ไม้ตายของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 คือปืนใหญ่ที่สามารถยิงลูกปืนน้ำหนักมากถึง 450 กิโลกรัม ออกแบบโดยพ่อค้าชาวฮังการี ที่ความจริงแล้วได้นำไปเสนอขายให้กับจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ก่อน แต่ฝั่งนั้นไม่มีเงินมากพอ จึงนำมาขายให้กับสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แทน
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จัดทัพบุกปิดล้อมคอนสแตนติโนเปิลเต็มกำลังทั้งทางบกและทางน้ำ เวลาผ่านไป 1 เดือน กองทัพคอนสแตนติโนเปิลยังคงรักษาเมืองเอาไว้ได้ สุลต่านเมห์เหม็ดจึงส่งราชทูตไปยื่นข้อเสนอกับจักรพรรดิคอนสแตนตินว่า พระองค์จะยุติการปิดล้อม หากจักรพรรดิคอนสแตนตินยอมยกคอนสแตนติโนเปิลให้พระองค์ และพาประชาชนอพยพไปพร้อมทรัพย์สิน และพระองค์ก็จะยอมรับจักรพรรดิคอนสแตนตินในฐานะผู้ว่าการเมืองเพโลพอนนิส (Peloponnesus) แน่นอนว่าจักรพรรดิคอนสแตนตินไม่เอาด้วย
เมื่อการปิดล้อมเริ่มยืดเยื้อและเสียกำลังพลไปจำนวนมาก สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จึงตัดสินพระทัยโจมตีครั้งสุดท้ายอย่างเต็มกำลัง กำแพงเมืองที่ยิ่งใหญ่ของคอนสแตนติโนเปิลต้านทานการโจมตีได้ช่วงเวลาหนึ่ง แม้ทหารจะซ่อมแซมจุดที่ถูกโจมตีได้อย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาก็มีกำลังน้อยเกินจะต้านทานกองทัพออตโตมันได้ เพราะสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 มีกองทัพที่ใหญ่โตกว่ามาก ประกอบด้วยทหาร 2 แสนนาย ขณะที่ทหารคุมกำแพงคอนสแตนติโนเปิลมีเพียง 9 พันนาย
ในที่สุดกองทัพออตโตมันก็สามารถทะลุฝ่าแนวกำแพงไปได้ กำแพงใหญ่ถูกปืนใหญ่โจมตีจนแตก ทหารป้องกันกำแพงหนีกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ขณะที่จักรพรรดิคอนสแตนตินถูกสังหารระหว่างการต่อสู้
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงควบม้าขาวเข้ายึดครองนครคอนสแตนติโนเปิล ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 หรือหลังขึ้นครองราชย์เพียง 2 ปี พระองค์ได้รับพระราชสมัญญาว่า ‘ฟาติห์’ (Fatih) ซึ่งแปลว่า ‘ผู้พิชิต’ (Conqueror)
ชัยชนะที่พระองค์มีเหนือจักรวรรดิไบแซนไทน์ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของราชวงศ์ออตโตมันและศาสนาอิสลาม ที่สามารถยึดเมืองอันเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์มาครอบครองได้ ทั้งยังทำให้ทั้งโลกประจักษ์แก่สายตาว่า ชาวยุโรปไม่ได้เหนือไปกว่าชนชาติอื่นเลย และชาวยุโรปเองก็แพ้เป็นเหมือนกัน ที่สำคัญยังทำให้เกิดกระแสหวาดกลัวอิสลามในยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก
เปิดเสรีให้ มุสลิม - คริสต์ - ยิว อยู่ร่วมกัน
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังคอนสแตนติโนเปิล และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘อิสลามบูล’ (Islambul) เพื่อให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของอิสลาม อย่างไรก็ตาม พระองค์มิได้ทรงจำกัดให้เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้นที่สามารถพำนักอาศัยที่มหานครแห่งนี้ได้
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่สร้างความหวาดหวั่นและห่างเหินกับชาวคริสเตียน เพราะท้ายที่สุดแล้วจักรวรรดิแห่งนี้ยังมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียน
พระองค์ยังทรงเปิดโอกาสให้พสกนิกรต่างชาตินับถือศาสนาต่าง ๆ ได้เสรี ไม่ว่าจะคริสต์หรือยิว ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้ชาวกรีกกลับเข้ามาคอนสแตนติโนเปิลได้ แม้ชาวมุสลิมบางส่วนจะไม่เห็นด้วย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชาวยิวและชาวอาร์เมเนีย ซึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับในไบแซนไทน์ เข้ามาพักอาศัยในมหานครแห่งนี้ได้ ทำให้พระองค์ได้รับความเคารพจากพสกนิกรต่างชาติต่างศาสนาเป็นอย่างมาก
ควบคู่กันนี้ พระองค์ยังมีรับสั่งให้ซ่อมแซมโบสถ์คริสต์ สร้างศาสนสถานแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมสำหรับชาวยิวและชาวอาร์เมเนีย จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างศาสนสถานของชาวมุสลิม อีกทั้งยังคืนบ้านเรือนให้พ่อค้าประชาชนที่เคยอาศัยในเขตเศรษฐกิจของเมือง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ทั้งหมดนี้ทำให้คอนสแตนติโนเปิลฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กระทั่งประชากรในคอนสแตนติโนเปิลเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนคน ใน ค.ศ. 1580 จากที่เหลือประมาณ 5 หมื่นคนในยุคของจักรพรรดิคอนสแตนติน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ นครคอนสแตนติโนเปิลก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน
ทุกวันนี้ ชาวตุรกีแสดงความยกย่องสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ซึ่งเป็นวีรบุรุษคนสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยการตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ ตามพระนามของพระองค์
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล,/The OTTOMAN EMPIRE มหาจักรวรรดิผู้พิชิต,/กรุงเทพฯ:/ยิปซี กรุ๊ป,2562,/หน้า 14-18, หน้า 22, หน้า 94-102
นอร์แมน สโตน,/ประวัติศาสตร์ตุรกี,/แปลโดย ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล,/กรุงเทพฯ:/ยิปซี กรุ๊ป,2562,หน้า 64-66,หน้า 70-73