22 พ.ค. 2566 | 15:17 น.
- ในปี 2024 ญี่ปุ่นจะมีการประกาศใช้ธนบัตรแบบใหม่ทั้ง 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน
- ธนบัตร 5,000 เยนแบบใหม่ จะเป็นภาพของ ‘ซึดะ อุเมโกะ’ นักการศึกษาหญิงที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่น
เพราะตามหลักคิดของคนญี่ปุ่นเชื่อว่า ‘ปัจจุบันคือผลลัพธ์ของอดีต’ ดังนั้น จึงนำภาพเฉพาะบุคคลสำคัญที่สร้าง ‘คุณูปการ’ แก่ประเทศชาติเท่านั้นมาประทับบนธนบัตร เพื่อเป็นเกียรติยกย่องและสืบสานคุณงามความดีแก่คนรุ่นหลังให้ได้รับรู้ถึงมรดกตกทอดที่พวกท่านเหล่านั้นได้ทำไว้ในอดีต
และในปี 2024 นี้ ธนบัตร 5,000 เยนแบบใหม่ของญี่ปุ่นกำลังจะมีรูปสุภาพสตรีคนหนึ่งปรากฏอยู่บนแบงก์ โดยสุภาพสตรีคนนั้นมีนามว่า ‘ซึดะ อุเมโกะ’ (Tsuda Umeko)
ตระกูลปัญญาชน
ซึดะ อุเมโกะ เกิดเมื่อปี 1864 ที่โตเกียว ในจุดเปลี่ยนผ่านของญี่ปุ่นจากยุคเอโดะเข้าสู่ยุคสมัยฟื้นฟูเมจิ (1868 - 1889)
ต้องไม่ลืมว่า เรือรบของนายพลแมทธิว เพอร์รี่ (Matthew Perry) จากสหรัฐอเมริกามาเยือนอ่าวโยโกฮาม่าและแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้นกว่าไปแล้วเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นยุคนั้นจึงกำลังเร่งพัฒนาประเทศ
พ่อของเธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรยุคบุกเบิกของญี่ปุ่น และยังเป็นผู้ปลุกปั้นกระแสให้ญี่ปุ่นพัฒนาก้าวหน้าสู่ความเป็นตะวันตก (Westernization) กล่าวคือ เธอเกิดในตระกูลปัญญาชน เป็นชนชั้นนำที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น
ชีวิตวัยรุ่นที่ดินแดนเสรีภาพ
ผู้เป็นพ่อยังได้รับการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและมีมุมมองความคิดหลายอย่างแบบตะวันตก ไม่แปลกที่เขาจะปลูกฝังและส่งต่อชุดความคิดมายังลูกสาวอย่างซึดะ และไม่แปลกที่จะผลักดันติดต่อหาทางให้ลูกสาวเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ‘ภารกิจอิวาคุระ’ (Iwakura Mission) ในปี 1871 ซึ่งเป็นเหมือน ‘ภารกิจแรก’ ของชนชาติญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมตะวันตก
บัดนี้ ซึดะน้อยในวัย 6 ขวบ เป็นสมาชิกที่ ‘อายุน้อยที่สุด’ ในภารกิจ เป็นเพียงผู้หญิง 1 ใน 5 ของทั้งทริป (หนึ่งในสมาชิกของ Iwakura Mission ยังมี ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ ชายผู้อยู่บนแบงก์ 10,000 เยนของญี่ปุ่นด้วย ที่เวลานั้นมีอายุ 25 ปี)
เรือไปเทียบฝั่งที่เมืองซานฟรานซิสโกในปี 1871 ก่อนที่เธอจะย้ายไปปักหลักอาศัยและศึกษาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่นจนถึงอายุ 18 อาจกล่าวได้ว่าเธอคือ ‘เด็กนอกหญิง’ คนแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
เธอไปอาศัยอยู่กับครอบครัวคณะทูตชาวอเมริกัน เผอิญว่าครอบครัวนี้ไม่มีลูก พวกเขาจึงเปิดรับและปฏิบัติต่อซึดะ อุเมโกะ เสมือนเป็นลูกสาวแท้ ๆ คนหนึ่ง ซึ่งเธอได้รับความรักความอบอุ่น พร้อม ๆ กับการศึกษาในแบบวัฒนธรรมตะวันตกเต็มที่ และแน่นอนว่าเธอเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษไม่แพ้เจ้าของภาษาเลยทีเดียว
เส้นทางการใช้ชีวิตที่อเมริกานี้เอง เธอยังได้พบกับมิตรภาพเพื่อน ๆ ที่จะได้กลับมามีบทบาทสำคัญในทศวรรษให้หลัง หนึ่งในนั้นคือ ‘อลิซ เบคอน’ (Alice Bacon) ผู้ที่จะเป็นนักการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคสมัยเมจิ
คัลเจอร์ช็อกที่แผ่นดินเกิด
เมื่อกลับมายังบ้านเกิด เธอพบเจอกับคัลเจอร์ช็อกหลายอย่างที่ถาโถมเข้าใส่ อันดับแรก เธอแทบจะหางานหรือสถาบันการศึกษาที่เธอจะสามารถถ่ายทอดความชำนาญด้านภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แทบทุกแห่งยังคงใช้ภาษาญี่ปุ่นล้วน แต่การจะพัฒนาตามชาติตะวันตกให้ทัน…ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็น
นอกจากนี้ เธอยังเจอกับโลกความจริงอันโหดร้ายที่ว่า สถานะความเป็นผู้หญิงที่ยังถูกกดขี่ต่ำต้อยในสังคมญี่ปุ่น ลดทอนโอกาสและศักยภาพของผู้หญิงที่ควรจะทำประโยชน์ได้มากกว่านี้
สุดท้าย เธอได้รับการว่าจ้างจาก ‘อิโต ฮิโรบูมิ’ (Ito Hirobumi) บุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่นให้เป็นติวเตอร์ครูสอนหนังสือให้กับลูก ๆ ของเขา แต่จุดเริ่มต้นนี้เองทำให้เธอได้มีโอกาสไปพร่ำสอนหนังสือให้กับลูกหลานตระกูลชนชั้นนำในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม เธอพบว่าญี่ปุ่นยังขาดโอกาสด้านการศึกษาอยู่มาก รูปแบบการสอนและเนื้อหายังมีข้อบกพร่องอยู่เพียบที่ไร้มาตรฐาน ซ้ำร้ายเป็นพิเศษคือสุภาพสตรี ผู้หญิงญี่ปุ่นยุคนั้นยังคงถูกกีดกันการเข้าถึงองค์ความรู้สำคัญหลายอย่าง หรือถูกสอนกิริยามารยาทเพื่อแค่ไปเป็นภรรยาดูแลบ้านและปรนนิบัติสามี
กลับไปดินแดนเสรีภาพ
คัลเลอร์ช็อกเหล่านี้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้เธอไม่น้อย ซึดะ อุเมโกะ ตัดสินใจกลับไปศึกษาต่อเฉพาะทางที่อเมริกาในปี 1889 สาขาชีววิทยาและการศึกษา (Biology & Education) ในวิทยาลัยสตรี Bryn Mawr College ที่รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania)
ที่แห่งนี้เอง เธอได้สัมผัสรากฐานระบบการศึกษาที่เป็นระบบ ต่อยอดองค์ความรู้ได้ก้าวไกล และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้โดยเฉพาะสุภาพสตรี มากไปกว่านั้น เธอยังตั้งกลุ่มเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยกันเองที่ต้องการมาเรียนต่อเมืองนอกที่ฟิลาเดลเฟีย
ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหญิง
ปี 1892 ซึดะกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง แต่เป็นการกลับมาด้วยความฝันที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นคือการก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยหญิง’
แต่ด้วยสถานะความเป็นหญิงที่ถูกกีดกัน เธอพบกับความยากในการหาเงินทุนและอุปสรรคมากมายในการก่อตั้ง นอกจากนั้นเธอยังท้อแท้กับการหานักเรียนหญิงมาลงเรียน ด้วยทัศนคติสังคมและความถูกบงการจากพ่อแม่ในครอบครัว เช่น ลูกสาวไม่สามารถฝืนคำสั่งผู้เป็นพ่อได้เมื่อพ่อออกคำสั่งตัดสินใจ ซึดะ อุเมโกะต้องอาศัยคอนเนกชั่นจากเครือข่ายคริสต์สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหานักศึกษาหญิงมาลงเรียนซึ่งได้มาจำนวน 10 คน
และเมื่อมีนักเรียนย่อมต้องมีครู โจทย์ยากต่อไปคือความยากลำบากในการเฟ้นหาครูหญิงที่มีความรู้และศักยภาพในการสอน สุดท้ายเธอขอให้เพื่อนสมัยเรียนอย่างอลิซ เบคอน ซึ่งตอนนั้นเป็นนักการศึกษาแล้วมาช่วยสอนในตอนแรก
แต่เธอก็ฝ่าฟันจนเริ่มนับหนึ่งได้สำเร็จ ในปี 1900 เธอก่อตั้งมหาวิทยาลัยหญิงที่มีชื่อญี่ปุ่นว่า ‘Joshi Eigaku Juku’ ซึ่งในเวลาต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Tsuda University’ มาจนถึงทุกวันนี้ โดยโฟกัสเนื้อหาการสอนด้วยภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ
จากประสบการณ์การเรียนการสอนมาหลายปี ทำให้มหาวิทยาลัยนี้มีชื่อเสียงอย่างมากเรื่องคุณภาพการสอนที่ทัดเทียมตะวันตก และเป็นระบบที่ออกแบบคิดเผื่อการไปเรียนต่อเมืองนอกที่ประเทศตะวันตก นักศึกษาหญิงที่จบมาหลายคนสามารถต่อยอดไปต่างประเทศได้หรือมีอาชีพหน้าที่การงานเป็นเลิศ กลายสถานะเสมือนเป็นแหล่งบ่มเพาะหัวกะทิของผู้หญิงหัวก้าวหน้าในยุคนั้นเลยทีเดียว
สังคมญี่ปุ่นสมัยนั้น ผู้คนกว่า 90% แต่งงานมีลูกกัน แต่ซึดะ อุเมโกะ เลือกที่จะครองตัวเป็นโสด เพราะเธอต้องการทุ่มเทชีวิตให้กับการวางรากฐานระบบการศึกษา เธอยังมีโอกาสได้พูดสุนทรพจน์และเผยแพร่ชุดความคิดใหม่ ๆ แก่สาธารณชน ทำให้เธอมีภาพลักษณ์บวกและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงที่ฉลาด มีไหวพริบ หัวก้าวหน้า
ที่สำคัญ…กล้าหาญในการลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทวนกระแสหลักแบบดั้งเดิม สร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดให้กับคนในสังคม เธอได้จุดประกายความฝัน ปูทางด้วยการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกแล้ว ก่อนที่คนรุ่นหลังจะต่อยอดไปได้อย่างยั่งยืน
เปลี่ยนจากข้างในที่ความคิด
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เป็นเพียงผลลัพธ์ปลายทาง การที่คนเราจะคิดริเริ่ม สร้างนวัตกรรม มองเห็นโอกาส ทลายกำแพงความเป็นไปไม่ได้ หรือตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับหลายเรื่องในชีวิต…ต้องมี ‘องค์ความรู้’ เป็นพื้นฐาน
แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่ของฟรีที่จะเสกออกมาจากอากาศ หากแต่ต้องมีการผลักดับขับเคลื่อนให้มันเกิดขึ้นจริงในวงกว้าง และความรู้เหล่านี้ต้องได้รับการปลูกฝังบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
ซึดะ อุเมโกะ ได้ปูทางให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเกิดการตื่นรู้ทางปัญญา ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านทางสังคมในเวลาต่อมา ไม่แปลกที่ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศว่าธนบัตร 5,000 เยนที่พิมพ์ชุดใหม่และจะเริ่มใช้งานในปี 2024 จะยกย่องขอนำรูปของเธอมาประทับบนธนบัตรนี้!
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง