14 ก.พ. 2567 | 08:58 น.
- ‘ศิราณี’ ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น ผู้หญิง แต่ความจริงคือชายใจดี หน้าตายิ้มแย้ม เข้าใจโลก ‘ถนอม อัครเศรณี’
- เจ้าของสารพัดนามปากกา ตั้งแต่นวนิยาย กวี ไปจนถึง บทวิจารณ์การเมือง
- เส้นทางก่อนที่ ถนอม อัครเศรณี จะก้าวสู่วงการหนังสือพิมพ์ ความมานะ และใคร่อยากเป็นนักเขียน ของเด็กอายุ 16 ปี
เพียงแค่เอ่ยว่า ‘ศิราณี’ ทุกคนก็น่าจะรู้ทันทีว่า หมายถึงที่พึ่งพาอาศัยของคนที่กำลังมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ตกอยู่ในห้วงเหวปัญหาของความรัก หรือปัญหาความสัมพันธ์อันซ้ำซ้อน
แต่ใครกันล่ะ ที่ปลุกปั้นคำคำนี้ขึ้นมา จนทำให้คำว่า ‘ศิราณี’ กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ให้คำปรึกษา คนที่ช่วยไขปัญหานานาประการ จนถึงยุคปัจจุบัน
ก่อนเกิด ‘ศิราณี’
ถ้ามีศิราณี ก็ต้องมีชายใจดีคนนี้ ซึ่งในแวดวงนักหนังสือพิมพ์เมื่อ 50 ปีก่อน คงคุ้นหน้ากันอย่างดีกับชื่อ ‘ถนอม อัครเศรณี’ หรือ ‘พี่หนอม’ ของใครหลายคน
การร้อยเรียงถ้อยคำตอบปัญหาในนามปากกาว่า ‘ศิราณี’ ของถนอม ไม่ใช่แค่ตราตรึงและทรงคุณค่า แต่สำนวนภาษาอันสละสลวยของเขา และการสอดแทรกหลักคิด กับคุณธรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คน ได้สร้างศรัทธาให้ถนอมกลายเป็น ‘ครู’ หรือ ‘นักปราชญ์’ ที่ใคร ๆ ในวงการให้ความเคารพ
แต่ตลอด 50 กว่าปีบนเส้นทาง ‘นักหนังสือพิมพ์’ และ ‘นักเขียน’ ถนอมไม่ได้เริ่มต้นคอลัมน์และนามปากกาด้วย ‘ศิราณี’ แต่แรก แต่ยังมีนามของปลายปากกาอื่นอีกมาก ที่คนในยุคนั้นอาจจะรู้จักและเคยอ่านผ่านตาอยู่บ้าง
ผลงานอื่น ๆ ด้านประพันธ์ของถนอม อย่างเช่น ‘รัตติกาล’, ‘ราชภูมิ อัครพันธุ์’ ซึ่งเป็นงานเขียนนวนิยาย ส่วนร้อยกรอง ซึ่งถนอมก็เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาตั้งแต่เด็ก เขาได้ใช้นามปากกาว่า ‘อัครรักษ์’, ‘ถนอมศักดิ์ อิศรมนตรี’, ‘ภิรมย์รตี’
นอกจากนักเขียน นักกวี ยังมีอีกหนึ่งอรรถรสด้านการเล่าผ่านถนอม นั่นก็คือ การเป็น ‘นักวิจารณ์’ โดยเฉพาะแฟนกีฬาในสมัยนั้น ที่ต้องเคยอ่านบทวิจารณ์ของถนอมมาบ้าง ซึ่งนามปากกาที่เขาใช้มีนามว่า ‘แย็ก เดินเซ’ และ ‘กรุ๊ปเดียวเกลี้ยง’
แม้แต่บทวิจารณ์การเมือง ถนอมก็ยังใช้สำบัดสำนวนในการวิจารณ์ถึงเหตุการณ์ หรือตัวละครที่กำลังพูดถึง ผ่านนามปากกาที่ชื่อว่า ‘นายกล้าหาญ’ ซึ่งเป็นการนำวาทะของบรรดานักการเมืองมาล้อเลียน ทำนองสะท้อนกลับถึงภูมิปัญญาของนักการเมืองว่ามีภูมิสูงต่ำอย่างไร โดยจะแฝงตัวตนความเป็นคนอารมณ์ขันเข้าไปด้วยผ่านทุกตัวอักษร
อย่างการตั้งชื่อคอลัมน์การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยว่า “ชมเราก็แท้งกิ้ว ผิวะฉิวก็ซอรี่” และใช้สัญลักษณ์เป็นฆ้อนตีทั่ง จนทำให้ผลงานของเขาเป็นหนึ่งในคอลัมน์ยอดฮิตของคนยุคนั้นที่ต้องติดตามอ่าน
เอกลักษณ์และลีลาของถนอม ทำให้หลายคนอยากรู้จัก และชื่นชอบในผลงานของเขามากขึ้น ความที่ถนอมสนใจในโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตั้งแต่เด็ก เขายังใฝ่รู้ใฝ่ค้นหา ฝึกฝนจนได้ลองเขียนกลอนเพื่อลงในหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ที่เรียนระดับชั้นมัธยม
ถนอมเคยได้บันทึกเรื่องราวการเป็นเลือดนักเขียนของตัวเองยามเป็นเด็กว่า
“ข้าพเจ้ามักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับห้องสมุดของโรงเรียน และมักจะตรวจดูตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่าพอจะเขียนคอลัมน์ใดส่งไปลงพิมพ์ได้บ้าง”
ซึ่งหนังสือพิมพ์แรกที่สนใจและติดต่อกลับหาถนอม ก็คือ ‘เพลินจิต’ โดยเสนอให้ถนอมรับหน้าที่เป็นผู้ตอบปัญหาในหน้าหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นเขาได้เขียนบทกลอนลงในหนังสือพิมพ์ ‘ดารากร’ และ ‘สยามราษฎร์’ ในปี 2476 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นเขายังคงเป็น ‘ครูสอนพละ’ ประจำที่โรงเรียนมัธยมดำเนินศึกษา ข้างโรงเรียนนายร้อยทหารบก ถนนราชดำเนิน
หลังจากที่ถนอมเป็นนักเขียนอิสระได้ไม่นาน ‘สนิท เจริญรัฐ’ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ เป็นคนชักชวนให้ถนอมเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์เต็มตัว ทั้งยังเป็นช่วงที่ถนอมตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูด้วย โดยครั้งนั้นถนอมได้เข้าทำงานในหน้าที่ ‘บรรณารักษ์ของหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิ’
ตลอดการเปลี่ยนงาน การทำงานในแขนงต่าง ๆ ของถนอม ยังคงอยู่ในแวดวงของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ คงมีเพียงแต่ผลงานด้านการแสดงเรื่อง ‘พันท้ายนรสิงห์’ ที่เขาได้เล่นเป็น ‘พระเจ้าเสือ’ อาจจะดูบทบาทเขาเปลี่ยนไปบ้าง แต่อย่างน้อย ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถนอมและเพื่อนได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์มาด้วยกัน
จนกระทั่ง จุดเริ่มต้นของ ‘ศิราณี’ ได้เกิดขึ้นช่วงประมาณ ปี 2502 หรือ 65 ปีก่อน…
ยุคของ ‘ศิราณี’
ต้องย้อนไปช่วงที่จะเป็นคอลัมน์ของศิราณี ถนอมได้จัดตั้งคณะวิทยุขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ‘คณะเริงนิมิต’ โดยออกอากาศทั่วประเทศไทยประมาณ 45 - 50 สถานี โดยจะมีรายการต่าง ๆ ที่มาเพิ่มความบันเทิงและคติธรรมให้แก่ผู้ฟังวิทยุ อย่างเช่น ศิลปินใต้ฟ้าไทย, อเมริกาภูมิทัศน์ แต่จะมีการนำเอาปัญหาชีวิตมาเป็นละครสอนใจให้ผู้ชมทางโทรทัศน์ได้ติดตาม ซึ่งใช้ชื่อรายการว่า ‘ปัญหาชีวิตจากศิราณี’
และนั่นน่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่เราได้ยินได้เห็นคำว่า ‘ศิราณี’ จากถนอม อย่างเป็นทางการ ในปี 2502 ชายที่ชื่อว่า ‘วิมล พลกุล’ ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘เสียงอ่างทอง’ ได้ทาบทามให้ถนอม เข้ามาช่วยคอลัมน์สตรี โดยใช้นามปากกาว่า ‘ดาเรศ กุลนิตย์’ ด้วยสโลแกนว่า “สวย - เพียบพูนด้วยเสน่ห์ - ฉลาดและแสนดี”
จนเปลี่ยนไปเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็ยังชูความเป็น ‘คอลัมน์สตรี’ ให้เป็นสื่อของวงการสตรี โดยจะมีการตอบปัญหาต่าง ๆ ของผู้หญิง โดยใช้ชื่อนามปากกาคือ ‘ศิราณี’ ซึ่งมีถนอมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด และเขาได้ใช้นามปากกานี้ไปจนถึงปี 2528 คอลัมน์นี้กลายเป็นตัวช่วยให้กับผู้หญิงมากมาย โดยเฉพาะปัญหาของผู้หญิงที่มีครอบครัว และเรื่องความสัมพันธ์ภายในบ้าน ซึ่งวิธีการของถนอมจะใช้ความนุ่มนวลเข้าสู้ในการอธิบาย การชี้ทางสว่างให้เห็นในอีกหลาย ๆ มุม ไปจนถึงเป็นเพื่อนคอยรับฟังอย่างมีเหตุและผลที่สุด
คอลัมน์ ‘ศิราณี’ จึงเป็นเหมือนยาวิเศษที่ชุบชีวิตให้ผู้หญิงทุกวัย เป็นคอลัมน์ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ทั้งยังยกย่องให้เป็นคอลัมน์ที่มีประโยชน์ และให้ความบันเทิงในคราเดียว
สำหรับผู้เขียนไม่รู้สึกแปลกใจที่ ‘สมบูรณ์ วรพงษ์’ เลขาธิการ มูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จะเรียกถนอมว่า ‘ผู้อยู่หลังกองกระดาษ’ เพราะปัญหา 108 จากผู้ที่มีปัญหาเรื่องความรักมันเยอะจริง ๆ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน
แม้ตอนนี้ ‘ศิราณี’ ได้จากเราไปแล้ว หลังจากถนอมได้เริ่มป่วยหนักตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2537 และก็ต้องพ่ายแพ้ต่อสังขารที่ยื้อยุดฉุดลากต่อไปไม่ไหว เหลือเพียงความทรงจำซึ่งมีมากมายให้จดและจำ ดั่งคำสอนที่เคยกล่าวไว้เมื่อคราที่ยังทำงาน
ครู ก็คือครู นักปราชญ์ ก็ยังคงเป็นนักปราชญ์ ไม่แปรเปลี่ยน ดั่งเช่นที่ถนอม ได้เอ่ยวาจานี้กับ ‘เฉลิมชัย ทรงสุข’ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เอาไว้ว่า “เหลิมเอ๋ย ปราชญ์คือผู้รู้ ผู้ฉลาด ผู้ถ่อมตน ผู้ไม่ปรารถนาคำยกย่องสรรเสริญ หากคำสรรเสริญนั้นจะมาเอง ก็ต่อเมื่อชีวิตหาไม่แล้ว”
จากกันเพียงร่างกาย แต่ใจยังคงถวิลหากันและกันชั่วนิรันดร...
ข้อมูลและภาพจาก : หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายถนอม อัครเศรณี ณ วัดธาตุทอง วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537