หง ซิ่วเฉวียน (อ้างเป็น) น้องพระเยซู ใช้คริสต์ผสมขงจื้อ ต้านราชวงศ์ชิง

หง ซิ่วเฉวียน (อ้างเป็น) น้องพระเยซู ใช้คริสต์ผสมขงจื้อ ต้านราชวงศ์ชิง
“ผมมองว่าเขาบ้า...สร้างตัวเองให้มีฐานะเทียบเท่า พระเยซู คริสต์ ผู้ซึ่งรวมเป็นหนึ่งกับพระบิดา ตัวเขาเองและลูกในฐานะพระผู้เป็นเจ้าเหนือคนทั้งปวง!” อิสซาชาร์ ยาค็อกซ์ โรเบิร์ตส์ (Issachar Jacox Roberts) หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 19 กล่าวถึง หง ซิ่วเฉวียน ศิษย์ชาวจีนและผู้นำกบฏที่เอาศาสนาคริสต์มาตีความใหม่ และใช้สร้าง “อาณาจักรสวรรค์แห่งสันติภาพอันยิ่งใหญ่” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏไท่ผิง” หลังได้ไปใช้ชีวิตในหนานจิง เมืองหลวงของอาณาจักรสวรรค์เป็นเวลา 15 เดือน  จากข้อมูลของ Britannica หง ซิ่วเฉวียน (Hong Xiuquan) เป็นชาวกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี 1814 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี) หงเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวชาวฮากกาที่ค่อนข้างยากจน แต่เป็นคนที่ฉลาดเฉลียว จึงเป็นความหวังของหมู่บ้าน (ไม่ใช่แค่ครอบครัวตัวเอง) ที่จะสอบเข้ารับราชการได้สำเร็จและนำพาความเจริญมาให้กับท้องถิ่น ชาวบ้านจึงร่วมกันระดมทุน (crowdfunding) ส่งหงให้เล่าเรียน หงสอบครั้งแรกในปี 1827 แต่ก็สอบไม่ติดตำแหน่งอะไรเลย เขาพยายามสอบอยู่หลายครั้ง แต่ละครั้งเขาต้องเดินทางไปสอบที่กวางเจา เมืองเอกของมณฑล ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่มีชาวต่างชาติอยู่มากมาย ทำให้เขามีโอกาสได้เจอกับหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก และคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ แต่ก็ไม่ได้เกิดศรัทธาในศาสนาคริสต์ในทันที  เมื่อหงสอบตกอยู่หลายครั้ง ถึงครั้งที่ 3 ก็ทำให้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่ถึงขีดสุดจนล้มป่วยและประสาทหลอน เห็นภาพนิมิตว่าได้พบกับชายชราที่สง่างามมีหนวดเคราสีทองที่บ่นว่า โลกกำลังถูกเหยียบย่ำโดยปีศาจอันชั่วร้าย ว่าแล้วก็มอบป้ายและดาบอาญาสิทธิ์ให้กับหงเพื่อใช้ในการปราบปรามความชั่วร้ายทั้งหลายบนโลก โดยมีชายวัยกลางคนอีกคนหนึ่งที่ช่วยแนะนำการกำราบปีศาจให้อีกด้วย หลังพักรักษาตัวจากอาการซึมเศร้าอยู่หลายวัน หงก็ฟื้นตัวและกลับไปทำหน้าที่หลักของเขา นั่นก็คือการเป็นอาจารย์ประจำหมู่บ้าน พร้อมกับเตรียมตัวสอบในรอบถัดไป ปี 1843 หงเดินทางไปสอบอีกครั้ง และต้องผิดหวังเช่นเดิม หลังจากนั้นไม่นาน ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็ไปสังเกตเห็นหนังสืออธิบายหลักพื้นฐานของศาสนาคริสต์เล่มหนึ่งอยู่บนชั้นหนังสือของหง หงเองได้รับหนังสือเล่มนี้มาหลายปีตั้งแต่เดินทางไปสอบที่กวางเจาในปี 1837 แต่เขาก็ได้แต่เพียงเปิดอ่านผ่าน ๆ เท่านั้น  เมื่อลูกพี่ลูกน้องของเขาหยิบมันขึ้นมา ก็ทำให้หงหันมาสนใจและศึกษาดูอีกรอบ และนั่นก็ทำให้เขา “ระลึก” ขึ้นได้ว่า ระหว่างที่เขาล้มป่วยลงนั่นเอง เขาได้เดินทางขึ้นสวรรค์ และชายชราที่เขาพบนั้นก็คือ “พระผู้เป็นเจ้า” ส่วนชายวัยกลางคนนั้นก็คือ “พระเยซู” ส่วนเขาที่ได้รับป้ายและดาบอาญาสิทธิ์สืบมาก็คือ โอรสลำดับที่ 2 (Second Son) ของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง การอ้างตัวของหงถูกหยามหมิ่นว่า “บ้า” แต่ปฐมกษัตริย์และผู้สืบอำนาจก็ล้วนอ้างว่าตนได้รับอาญาสิทธิ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่เสมอ (ผู้มีบุญญาธิการ หรือนารายณ์อวตารเป็นต้น)  อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจความหมายในสิ่งที่เขาพยายามสื่อผิดไป เหมือนเช่น โรเบิร์ตส์ หมอสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ที่หงไปเรียนด้วยในปี 1847 ที่กวางเจาเป็นเวลาสองเดือน และตัดสินว่าหง “บ้า” ที่เอาตัวเองไปเทียบกับ พระเยซู และพระเจ้า ซึ่งในทางคริสต์ที่เชื่อหลัก “ตรีเอกภาพ” หรือความเป็นหนึ่งเดียวของ “พระบิดา พระบุตร และพระจิต” การพูดเช่นนั้นก็เท่ากับบอกว่า ตัวเองมีสถานะเช่นเดียวกับ “พระผู้เป็นเจ้า” ไปด้วย แต่หงมิได้คิดเช่นนั้น เขามิได้ตีตัวเสมอพระผู้เป็นเจ้า (ตามความคิดของหง) เป็นชาวคริสต์กระแสหลักนั่นเองที่ตีความผิดไปว่าพระเยซูคือพระผู้เป็นเจ้า ที่ถูกต้องคือ พระเยซูเป็น “มนุษย์” เช่นเดียวกับเขา แต่เป็นมนุษย์ที่เกิดจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง และเขาก็เป็นพี่น้องแท้ ๆ กับพระเยซู พร้อมยืนยันว่า พระผู้เป็นเจ้าที่เที่ยงแท้มีเพียงหนึ่งเดียวมิได้มีการแบ่งภาคใด ๆ หงจึงมิได้ตีตนเสมอพระผู้เป็นเจ้า หากแต่ดึงพระเยซูลงมาให้กลายเป็น “มนุษย์” แต่ก็ยังเป็นมนุษย์ที่พิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไป (เช่นเดียวกับตัวเขา) ดังคำอธิบายของ คาร์ล เอส. คิลคอร์ส (Karl S. Kilcourse) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาในประเทศจีน จาก Manchester Metropolitan University ซึ่งกล่าวว่า  "ไท่ผิงเชื่อว่า พระเจ้าหนึ่งเดียวของพวกเขา พระบิดาแห่งสรวงสวรรค์ ซั่งตี้ (Shangdi) มีโอรสอยู่สององค์คือ พระเยซู คริสต์ และ หง ซิ่วเฉวียน ในจดหมายเหตุสวรรค์ไท่ผิง (Taiping tianri: 1848) แสดงออกโดยนัยว่า หงคือโอรสองค์ที่สองของพระผู้เป็นเจ้า โดยเรียกเขาว่า "โอรสสวรรค์ผู้ได้รับแต่งตั้งโดยแท้จริง" และเป็น "น้องชายที่แท้จริง" ของพระเยซู ยังมีตำราเล่มอื่น (ของไท่ผิง) ที่กล่าวถึงตัวตนของหงในฐานะโอรสแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เด่นชัดกว่า เช่น การกล่าวถึงลำดับโอรสของพระผู้เป็นเจ้าในรวมบทเพลงของไท่ผิงว่าด้วยการไถ่บาปให้กับโลก ซึ่งอธิบายว่า 'พระเชษฐาแห่งสวรรค์ คือโอรสองค์โตของพระบิดาแห่งสวรรค์ของพวกเรา และกษัตริย์แห่งสวรรค์ของพวกเรา (หง ซิ่วเฉวียน) ก็คือโอรสองค์ที่สองของพระบิดาแห่งสวรรค์'  “งานเผยแพร่ของไท่ผิงตอกย้ำลำดับที่เหนือกว่าของพระเยซูในฐานะโอรสองค์โตของพระผู้เป็นเจ้า ไม่เพียงแต่การใช้คำเรียกตำแหน่งของพระองค์ว่า พระเชษฐาแห่งสวรรค์ และ องค์รัชทายาท เท่านั้น แต่ยังใช้คำเรียกแบบสามัญและใกล้ชิดอย่างคำว่า ‘พี่ใหญ่’ สถานะที่แน่ชัดของหงในฐานะโอรสองค์ที่สองของพระผู้เป็นเจ้า ยังได้รับการเน้นย้ำโดย ฮวง ไจซิง (Huang Zaixing) อาลักษณ์แห่งราชสำนักไท่ผิง ที่ใช้คำว่า cizi (ลูกชายคนรอง) เพื่อใช้บรรยายความสัมพันธ์ทางสายเลือดของหงกับพระบิดาแห่งสวรรค์ ชื่อเรียกอันหลากหลายเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พระเยซูและหง กับพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความแตกต่างในสาระสำคัญจากมนุษย์ทั่วไป เมื่อคำนึงถึงที่มาของจิตวิญญาณของทั้งคู่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุตรทางจิตวิญญาณของพระบิดาแห่งสวรรค์ พระเยซูและหงคือบุตรแท้ ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพระบิดาแห่งสวรรค์อย่างที่มนุษย์ทั่วไปไม่มีโอกาส” (Son of God, Brother of Jesus: Interpreting the Theological Claims of the Chinese Revolutionary Hong Xiuquan)  และในคำประกาศเมื่อปี 1851 หงประกาศว่า “นอกจากพระบิดาแห่งสวรรค์ (ผู้เป็น)เจ้าเหนือเจ้าทั้งปวง และพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดอันยิ่งใหญ่แล้ว ไม่มีใครที่จะช่วงชิงฐานะ ‘สูงสุด’ (Supreme - Shang) หรือ ฐานะ ‘พระผู้เป็นเจ้า’ (God - di) ได้ จากพระองค์ได้” ด้วยเหตุนี้ หงจึงสั่งให้บรรดาผู้ติดตามเรียกเขาว่า “เจ้า” (Lord - Zhu) และไม่ใช้คำว่าเจ้า “สูงสุด” เพื่อมิให้กระทบเกียรติของพระบิดาแห่งสวรรค์ ทั้งยังสั่งมิให้ใช้คำว่า ซั่งตี้ หรือ พระเจ้าสูงสุดกับพระเยซูด้วย และให้ใช้คำว่า เจ้า เช่นเดียวกับเขา “แม้แต่เยซูผู้ไถ่บาป โอรสองค์โตของซั่งตี้ผู้ยิ่งใหญ่ ก็ต้องเรียกว่า เจ้า ในสวรรค์เบื้องบนและโลกเบื้องล่าง ในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย จะมีใครเล่าที่ยิ่งใหญ่กว่าเยซู ถึงอย่างนั้น เยซูก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น พระผู้เป็นเจ้า (Di) ใครกันจะกล้าถือตำแหน่ง พระผู้เป็นเจ้า?” หงกล่าว ข้อถกเถียงเรื่องสถานะของพระเยซูในสังคมคริสเตียนมีมาตั้งแต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ และสืบต่อมาหลายร้อยปี ก่อนที่แนวคิดที่ว่าพระองค์เป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้าจะกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ยอมรับ (ในช่วงแรกมีทั้งการบีบบังคับและกดขี่ให้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย) การตีความของหงจึงถูกมองว่านอกรีต ทั้งการเอาตัวเองไปเทียบเคียงกับพระเยซูว่าเป็นโอรสของพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงการถอดสถานะพระผู้เป็นเจ้าของพระเยซูออกให้เหลือแต่ความเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะมีสถานะเหนือกว่ามนุษย์อื่น ๆ ก็ตาม  การตีความของหง ทำให้ผู้ศึกษาเรื่องของเขาในตะวันตกวิจารณ์ว่า เขาไม่เข้าใจหลักการของคริสต์ศาสนาในพระคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาใหม่เลยเนื่องจากเป็นความคิดที่แปลกแยกจากวัฒนธรรมจีน กลับเน้นแต่เรื่องราวของพระเจ้าที่โกรธกริ้วอยู่ตลอดเวลาในพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นปมที่ช่วยสร้างคติที่ว่า มนุษย์ต้องเคารพและยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า อย่างไรก็ดี หงอาจจะเข้าใจพันธสัญญาใหม่เป็นอย่างดีก็ได้ เพียงแต่สิ่งที่เขาต้องการทำก็คือ พยายามแปลงคริสต์ศาสนาให้เข้ากับสังคมจีน และรื้อฟื้นธรรมเนียมและหลักศีลธรรมดั้งเดิมของชาวจีน นั่นก็คือ การบูชาซั่งตี้และหลักศีลธรรมของขงจื้อ ซึ่งหากเขาอ้างว่าตัวเอง หรือพระเยซู เป็น “พระเจ้า” ด้วย ก็จะทำให้น้ำหนักของข้ออ้างในการปราบปรามอธรรมของเขาลดน้อยลงไป  ทั้งนี้ ตามคำอธิบายของคิลคอร์ส คติการบูชาซั่งตี้ องค์จักรพรรดิบนสวรรค์ของชาวจีนนั้นมีมาแต่เดิมหลายพันปี จนกระทั่งการเข้ามาของศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า การบูชาซั่งตี้ก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง ผู้คนหันไปบูชารูปเคารพของพระพุทธเจ้า เทพยดา และรูปเคารพต่าง ๆ แทน อีกทั้งศีลธรรมของประชาชนก็เสื่อมทรามลงเพราะประชาชนละทิ้งธรรมเนียมเดิมที่ดีมาแต่ก่อน (ซึ่งก็เป็นความเชื่อที่ว่าอดีตย่อมดีกว่าปัจจุบัน)  หง ในฐานะผู้ถืออาญาสิทธิ์จากสวรรค์จึงต้องลงมาปราบปรามความชั่วร้ายเหล่านี้ พร้อมกับคตินอกรีตให้สิ้นไป แต่หากเขาอ้างตัวเองว่าเป็น “พระเจ้า” เช่นกัน ก็จะไม่ต่างอะไรกับบรรดาเจ้าลัทธิอื่น ๆ และจักรพรรดิจีนที่ตีตนเสมอพระผู้เป็นเจ้า และทำให้ชาวบ้านหันเหไปจากการบูชาซั่งตี้ พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว ขณะเดียวกัน คิลคอร์สกล่าวว่า การจัดลำดับชั้นสูงต่ำของสวรรค์อย่างเด่นชัด คือ พระบิดา (ซั่งตี้) พระเชษฐา (พระเยซู) และกษัตริย์ (หง) ตามคติของไท่ผิงก็แปลกแยกไปจากความเชื่อของชาวคริสต์ ที่พระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูมีศักดิ์ที่ซ้อนทับกันอยู่ ทำให้หมอสอนศาสนาร่วมสมัยกับหงเข้าใจไปว่า เขาตีตนเสมอพระเยซูและพระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด)  หากแต่การกำหนดลำดับชั้นเช่นนั้นเป็นไปตามคติของขงจื้อในหลักความสัมพันธ์ 5 ประการ คือ 1. ขุนนางต้องภักดีต่อกษัตริย์ 2. บุตรต้องรับใช้บิดา 3. น้องต้องเคารพพี่ 4. ภรรยาต้องปฏิบัติตามคำสั่งสามี และ 5. มิตรสหายต้องจริงใจต่อกัน ซึ่งเป็นการจัดระเบียบสังคมอย่างเป็นลำดับชั้น (ยกเว้นความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย) โดยแบ่งแยกตามวัยวุฒิและเพศ หากเขาเอาตัวเองไปเทียบชั้นกับ พระผู้เป็นเจ้า หรือ พระบิดา หรือ พระเยซู หรือ พระเชษฐา ย่อมขัดต่อหลักขงจื้อในข้อดังกล่าว (เช่นเดียวกัน การสอนของชาวคริสต์กระแสหลักว่า พระเยซู ซึ่งเป็นพระบุตร มีสถานะเสมอกับ พระบิดา ก็ย่อมขัดต่อหลักขงจื้อ)  การตีความคริสต์ศาสนาของหง จึงเป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้นความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดองค์เดียวของจีนที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่พระเจ้าองค์ใหม่ที่นำเข้ามาจากตะวันตก พร้อมไปกับการประณามศาสนาพุทธและเต๋าที่บิดเบือนความเชื่อในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและสวรรค์ ทำให้ศีลธรรมของชาวบ้านเสื่อมทรามลง  หงประกาศกวาดล้างธรรมเนียมอันเสื่อมทรามของชาวจีน ทั้งการสูบฝิ่น เล่นการพนัน และการค้าประเวณี และให้สัญญากับประชาชนถึงแผ่นดินอันเป็นธรรมและสันติสุขอันเที่ยงแท้ ตรงข้ามกับทุกข์เข็ญที่ต้องเผชิญทุกวันภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง เขาประสบความสำเร็จกับการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมในเบื้องต้น มีประชาชนติดตามเขามากมายและสร้างอาณาจักรใหม่ในชื่อ อาณาจักรสวรรค์แห่งสันติภาพอันยิ่งใหญ่ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยกำลังทัพที่มากนับล้านนาย  แต่ความสำเร็จของหงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสามารถของเขาเพียงคนเดียว หากเกิดขึ้นได้เพราะผู้ติดตามอีกมากมาย ซึ่งภายหลังก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน หงเองก็ใช้ชีวิตไม่ต่างหรือซ้ำร้ายหรูหรายิ่งกว่าจักรพรรดิองค์ก่อน ๆ ที่เขาประณามและไม่เอาใจใส่กิจการบ้านเมือง เมื่อรู้สึกว่าอำนาจสูงสุดของตนถูกท้าทาย ขุนนางรายแล้วรายเล่าก็ถูกกำจัด ทำให้อาณาจักรสวรรค์อ่อนแอลงเป็นลำดับ แต่เขาก็มิได้ยี่หระ เพราะเชื่อว่า พระบิดาแห่งสวรรค์จะต้องยืนอยู่ข้างเขา แม้แต่ในวันที่ข้าศึกล้อมรอบ ซึ่งเป็นการหลงผิด  สุดท้ายเมื่อต้องตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังและป่วยไข้ หงก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายในวันที่ 1 มิถุนายน 1864 ลูกชายของเขาขึ้นบัลลังก์สืบอำนาจต่อ แต่ราวเดือนเศษ เมืองหลวงของอาณาจักรสวรรค์ก็แตก และอีกราวสองปี กลุ่มกำลังที่เคลื่อนไหวในนามไท่ผิงก็ถูกกองทัพของราชวงศ์ชิงปราบปรามลงได้อย่างราบคาบ (แต่ความสำเร็จในเบื้องต้นของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักปฏิวัติรุ่นต่อมาอย่าง ซุน ยัตเซ็น หรือ เหมา เจ๋อตง)