ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น: ชุดไปรเวทกับการตั้งคำถาม "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม"

ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น: ชุดไปรเวทกับการตั้งคำถาม "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม"
ณ โรงเรียน นาดาวบางกอก ในวันแรกที่เปิดเทอม ครูนิพนธ์เดินเข้ามาตรวจผมนักเรียนด้วยท่าทีที่เกรี้ยวกราด "อยู่ ม.ปลาย กันมาปีนึงแล้ว น่าจะไม่ต้องเตือนกันอีกนะ ว่าทรงผมที่ถูกกฎระเบียบมันเป็นอย่างไร จำไว้นะ ระเบียบวินัย เขามีไว้ให้พวกเธอปฏิบัติตาม เขาทำตามกันมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเธอก็ต้องทำตามได้เหมือนกัน"..."เหรอวะ" วิน-ชัยชนะ นักเรียนคนหนึ่งที่อยู่ในห้องพูดสวนขึ้นมาจนครูนิพนธ์เข้ามาคุยด้วย "สิ่งที่ครูพูดมันขัดหูเธอมากหรือไง" วินสวนกลับ "ที่ครูบอกว่าสิบปีที่แล้วเขาตัดผมกัน เราก็เลยตัดด้วย มันสมเหตุสมผลตรงไหน" "จะสิบปีก่อนหรือปีไหน ถ้ามีกฎระเบียบว่า นักเรียนทุกคนของโรงเรียนนี้ต้องตัดผม พวกเธอก็ต้องตัดผม" "แล้วเราต้องตัดผมไปทำไม" "เธอถามกวนประสาทครูเหรอ... มันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติตามกันมา" "แล้วคนที่เขียนธรรมเนียมนี้ เขาบอกไว้ไหมครับว่า ทำไมต้องตัดผมด้วย" ครูนิพนธ์นิ่งอึ้ง ก่อนที่จะพูดขึ้นมาว่า "เธอไม่มีสิทธิ์จะมาพูดจาแบบนี้กับครู...ผมไม่สนนะว่าใครจะเอาเหตุผลอะไรมาอ้าง แต่ระเบียบ ต้องเป็นระเบียบ เข้าใจไหม!" "ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น" ออกอากาศซีซันแรกเมื่อปี 2556 ในช่วงเวลานั้น ซีรีส์เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นแนวทางการเล่าเรื่องที่ใหม่มากสำหรับสังคมไทยที่ยังนิยมละครโทรทัศน์ในแนวทางเดิม ๆ แต่ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่นนั้นพูดถึงชีวิตของวัยรุ่นแบบตรงไปตรงมา (ในสมัยนั้นถือว่า "แรง") มีทั้งตั้งคำถามกับกฎระเบียบในโรงเรียน แล้วค่อย ๆ ขยับไปพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ในสังคมไทย อย่างเช่น ประเด็น LGBTQ+ ความรุนแรงในโรงเรียน ยาเสพติด HIV ไปจนถึงการตั้งคำถามกับความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนในซีซันต่อมา กระแสตอนนั้นแรงขนาดไหน? แรงระดับมีกรณีดรามา จนมีผู้ชมบางส่วนท้วงติงไปทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ว่าละครซีรีส์เรื่องนี้มีความเหมาะสมที่จะออกอากาศหรือไม่?  นั่นก็ผ่านไป 7 ปีแล้ว หากมองในบริบทสังคมปัจจุบันที่เด็กรุ่นใหม่เรียกร้องสิทธิไปไกลมาก จากการตั้งคำถามถึงกฎระเบียบของโรงเรียนไปจนถึงการเรียกร้องถึงการเปลี่ยนเปลี่ยนสังคม ให้เป็นสังคมที่พวกเขาอยากเห็นผ่านแนวคิด #ถ้าการเมืองดี ก็นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ขยับ "บาร์" สูงขึ้นจากเดิมมากแล้วเมื่อเทียบกับวันที่ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่นออกอากาศซีซันแรก อย่างไรก็ดี การย้อนกลับไปมองซีรีส์เรื่องนี้ด้วยสายตาของปี 2563 ก็มองเห็นวิธีคิดหลายอย่างในประเด็นการตั้งคำถามว่า "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม" ได้น่าสนใจอยู่ "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม" คือโพสต์ที่วินตั้งคำถามขึ้นมาหลังจากที่เขาถูกเรียกเข้าห้องปกครอง เพราะว่าแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียน ในตอนแรกของซีรีส์ ตอน “เทสโทสเตอโรน” "กูไม่ได้ท้าทาย กูแค่ตั้งคำถาม" เมื่อเขาถูกเพื่อนถามว่า ทำไปเพื่ออะไร วินเป็นตัวแทนคาแรกเตอร์ของนักเรียนที่พยายามตั้งคำถามกับกฎระเบียบต่าง ๆ ในโรงเรียน ตั้งแต่การตัดผมไปจนถึงการแต่งชุดนักเรียนภายใต้ฉากหลังของความอนุรักษนิยมของโรงเรียนที่ในซีรีส์เปิดมาฉากแรก ๆ เราจะเห็นกฎระเบียบของโรงเรียนผ่านนักเรียนที่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ แต่งกายเรียบร้อย มีการสวดมนต์ คุณครูให้โอวาทตามขนบโรงเรียนไทย (แต่ก็แทรกด้วยเรื่องนักเรียนมาสาย นักเรียนสูบบุหรี่ นักเรียนชาย-หญิงเข้าห้องน้ำชายด้วยกัน เพื่อให้เห็นภาพนักเรียนอีกกลุ่ม) สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้วินตั้งคำถามกับกฎระเบียบของโรงเรียนและเมื่อถามอาจารย์ คำตอบที่ได้ก็คือ กฎแบบนี้มีมานานแล้ว "นี่เป็นระเบียบที่กำหนดไว้มาเป็นสิบปีแล้วนะ" ซึ่งเมื่อถามลึก ๆ ไปอีกไม่มีใครตอบได้ว่า กฎที่เคยมีมามันดีหรือเหมาะสมอย่างไร ในโรงเรียนจึงมีภาวะที่เรียกว่า "อำนาจนิยม" ที่เกิดขึ้น มันอาจจะเป็นอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นแบบแรง ๆ ตรง ๆ ไม่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกันเพราะมันคือกฎ อย่างวิธีการคุมกฎแบบครูนิพนธ์ จะเรียกว่า "อำนาจนิยมแบบแข็ง" ก็คงพอได้ แต่ที่น่าสนใจและเนียนตามากก็คือ "อำนาจนิยมแบบอ่อน" ที่มาในรูปแบบของคำตอบที่เหมาะสมให้เด็กนักเรียน ซึ่งมันเป็นคำตอบของชุดความคิดและตรรกะในแบบอนุรักษนิยมที่ดูเหมือนจะมีคำตอบที่เหมาะสมให้กับคำถามที่ว่า "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม" แต่เมื่อมองไปในเบื้องลึกของคำตอบนั้น อาจจะรู้สึกถึงความไม่ make sense "อำนาจนิยมแบบอ่อน" ถูกนำเสนอผ่านคาแรกเตอร์ของครูอ้อ ครูอ้อเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ (ดูเหมือนจะ) ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาแต่สุดท้ายเธอก็ลากลูกศิษย์ให้ไปสมยอมกับระบบทุกครั้งผ่านชุดความคิดของเธอ ในตอนที่ "อำนาจนิยมแบบแข็ง" ของครูนิพนธ์และอาจารย์อีกหลายคนไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถาม "เราใส่ชุดนักเรียนกันไปทำไม" นอกจากบอกว่ามันเป็นกฎที่มีมานานแล้ว ต้องทำตาม ทำให้วันต่อมา นักเรียนจำนวนมากทำตามอย่างวิน คือใส่ชุดไปรเวทมาเข้าแถวที่โรงเรียนจนเกิดเหตุการณ์ถกเถียงกับอาจารย์ การถกเถียงนี้จบลง ด้วยคำอธิบายของครูอ้อที่ว่า "เพราะมันไม่ใช่คำตอบที่เธอถูกใจหรือเปล่า พวกเธอลองคิดตามครูนะ ถ้ามีโจรวิ่งราวเอากระเป๋าพวกเธอไป แว้บแรกที่เข้ามาในหัว พวกเธอจะคิดพึ่งใคร?" "ตำรวจค่ะ" "แล้วเราจะรู้ได้ไง ว่าคนพวกนั้น คนไหนเป็นตำรวจ คนที่ใส่เครื่องแบบใช่ไหม ทุกอาชีพมีหน้าที่ของมัน การใส่เครื่องแบบทำให้ครูรู้ว่า อาชีพนั้นควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร หน้าที่ของตำรวจก็คือ ดูแลความทุกข์สุขของประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าใครเดือดร้อน สิ่งแรกที่เราต้องทำคืออะไร วิ่งหาตำรวจคนที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แล้วเครื่องแบบนั้นก็จะเตือนตำรวจเอง ให้รู้ตัวว่า เมื่อมีโจรวิ่งผ่านก็คงไม่ยืนเฉย ๆ ใช่ไหม...แล้วพวกเธอใส่ชุดนักเรียน เพื่อให้เตือนพวกเธอว่า เธอยังเรียนอยู่ หน้าที่ของเธอคืออะไร คือการเรียน การใส่ชุดนักเรียนก็จะเตือนให้เธอเรียนให้ดีที่สุดเมื่อยังใส่เครื่องแบบอยู่ แล้วถ้าเธอไม่มีเรียน เธอไม่ต้องใส่เครื่องแบบก็ได้หนิ" ประโยคที่ครูอ้อพูด แม้ว่าหลายคนอาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วหน้าที่นักเรียนมันเกี่ยวพันอะไรกับชุดนักเรียน? แล้วการเทียบกับคนทำงานในเครื่องแบบอย่างตำรวจมันสมเหตุสมผลหรือไม่? แต่ด้วยท่าทีและคำอธิบายที่เหมือนจะดูมีเหตุผลของครูอ้อ ทำให้การจลาจลย่อม ๆ ในโรงเรียนนาดาวบางกอกวันนั้นสงบลง แม้ว่าวันต่อมา กฎระเบียบของโรงเรียนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทุกคนกลับมาแต่งชุดนักเรียนเหมือนเดิม แต่สำหรับวินเอง เขาถือว่าตัวเองบรรลุเป้าหมายที่ทำอยู่แล้ว ที่สามารถตั้งคำถามกับกฎของโรงเรียนได้ "คนอย่างเธอใช้ชีวิตตามผู้ใหญ่โดยไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีคำถามก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบก็ใช้ชีวิตตามที่คนอื่นบอกว่าดี ไม่มานึกถึงว่ามันดีจริงหรือเปล่า" เขาบอกกับเพื่อนนักเรียนที่ยังสวมชุดนักเรียนอยู่ วินเคยพูดในตอนที่มีเด็กนักเรียนจำนวนมากแต่งชุดไปรเวทตามเขา "ผมคิดว่าเกิดเรื่องแบบนี้ได้ เพราะทุกคนคิดคล้าย ๆ กัน" ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน อำนาจนิยมในโรงเรียน-สิ่งที่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ได้เมื่อครั้งอดีต มันกลับถูกตั้งคำถามในวันนี้ด้วยเสียงที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายคนเริ่มคิดกับเรื่องนี้คล้าย ๆ กัน