Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส"

Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส"
ซีรีส์ “Hormones วัยว้าวุ่น” ที่ออกอากาศในช่วงปี พ.ศ.2556-2558 เป็นอีกหนึ่งซีรีส์วัยรุ่นที่ตั้งคำถามกับสังคมในสายตาเยาวชนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในซีซัน 3 อันเป็นซีซันสุดท้ายของซีรีส์ชุดนี้ที่ลงรายละเอียดในมิติของมนุษย์และสังคมการเมืองอย่างมีนัย ทั้งในประเด็น LBGT ความหลากหลายทางเพศหรือเรื่องของ HIV ก็ถูกพูดถึงในซีซันนี้เช่นกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่ “ฮอร์โมน” ซีซั่น 3 หยิบยกมาพูดคุยได้น่าสนใจมากก็คือ ประเด็น “การเมือง” ในโรงเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่านำมาคิดต่อในแง่ที่ว่า การเมืองในโรงเรียนนั้น อาจจะเป็นภาพย่อของการเมืองในขอบเขตสังคมที่ใหญ่ขึ้น ในประเด็นของการปะทะกันระหว่างความคิดแบบประชาธิปไตยในอุดมคติ และค่านิยมเชิงศีลธรรมของชุมชน โดยเฉพาะในซีรีส์ฮอร์โมน ตอนที่ 6 (EP.6) “Cortisol ฮอร์โมนแห่งความคิด” พูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนผ่านการเตรียมงานกีฬาสี และนโยบายอื่นของสภานักเรียนโรงเรียนนาดาวบางกอกตามท้องเรื่อง โดยตัวละครที่สำคัญสำหรับตอนนี้ก็คือ บอส(สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร) และ นนท์(ธิติ มหาโยธารักษ์) ทั้งสองคนอยู่ในทีมสภานักเรียนทีมเดียวกันก็จริง แต่มีแนวทางในการทำงานที่แตกต่างกัน Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส" บอส เป็นคนที่ยึดถือหลักการและเหตุผลเป็นหลัก แต่การแสดงออกของบอสสำหรับบุคคลภายนอกดูแข็งกระด้างและทื่อไปจนดูไร้เสน่ห์ แต่นนท์กลับกลายเป็นคนมีเสน่ห์ ป๊อปปูล่าร์ และดูรักเพื่อนฝูงจนสามารถยืดหยุ่นในหลักการได้ ในฮอร์โมน ตอนที่ 1 (EP.1) คือการเริ่มต้นมัดปมความขัดแย้งในวิธีคิดของทั้งสองคนผ่านการหาเสียงในการแข่งขันคัดเลือกสภานักเรียน พรรคของบอส – นนท์ ชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นการชนะท่ามกลางอาการคาใจของบอส เพราะนนท์ได้นำเสนอนโยบายปฏิวัติการทำการบ้านซึ่งนโยบายนี้โดนใจนักเรียนจำนวนมากจนทำให้ผู้คนเทใจให้พรรค บอสจึงพยายามจะผลักดันนโยบายการปรับจำนวนของการบ้านให้เหมาะกับนักเรียนซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจารย์มักจะออกตัวว่าได้วางแผนเรื่องการเรียนการสอนไว้แล้ว มองในภาพกว้าง ภาพของบอส จึงเป็นภาพของการนำเสนอ นักการเมืองที่พยายามทำงานสาธารณะตามนโยบายที่กลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนตนได้ประโยชน์ตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ด้วยความที่วิธีการนำเสนอของเขาดูแข็งกระด้างไปสักหน่อย กลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อเป้าหมาย(ชนะการเลือกตั้ง) จึงเป็นหน้าที่ของนนท์ ที่มีบุคลิกจูงใจผู้คนมากกว่าขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อสร้างความป๊อปปูล่าร์ผ่านคุณสมบัติพิเศษ(Charisma) และนโยบายที่เอาใจฐานเสียง จนหลายคนอาจจะนึกถึง “นโยบายประชานิยม” ซึ่งในส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้มองคำนี้ในแง่เลวร้าย หากมันนำไปสู่การกระจายทรัพยากรสู่คนทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียมและทำให้พลังการผลิตของประเทศของประเทศมีประสิทธิผล เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่อง ความดี-ความชั่ว หรือ สีขาว – สีดำ แต่มันเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ สังคม กลุ่มไหนที่มีพลังเสียงมากกว่ากัน ย่อมเป็นการง่ายที่นโยบายของตนจะมีเสียงดังมากกว่า (แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันไม่ใช่การผลักผลประโยชน์ทุกอย่างไปทางฝั่งเสียงข้างมากไปเสียหมด ควรรับฟังเสียงส่วนน้อยด้วย) แต่ประเด็นที่ซีรีส์พาไปไกลก็คือ การนำเอาวิธีคิดแบบประชาธิปไตยมาตั้งคำถามกับ ค่านิยมเชิงศีลธรรมของชุมชนที่จะสร้างคติอะไรบางอย่างเพื่อให้เห็นว่า ในบางพื้นที่ความเท่าเทียมแบบแนวคิดประชาธิปไตยอาจจะต้องเข้ามาตั้งคำถาม เรียกร้องให้ปรับตัว ไปจนถึงหักล้างค่านิยมเดิมของสังคม เพราะคุณค่าทางศีลธรรมของชุมชนแบบเดิมกำลังกดทับความเท่าเทียมนั้นอยู่ อย่างในกรณีของ ฮอร์โมน ตอนที่ 6 คติของความเท่าเทียมกันทางสังคมนักเรียน ถูกนำเสนอความแตกต่างกันระหว่างการจัดสรรงบประมาณในการทำงานกีฬาสีที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยงบสวัสดิการของคนที่ทำหน้าที่เชียร์บนแสตนด์เชียร์ (ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่) กลับมีสัดส่วนที่น้อยกว่างบที่ให้กับฝั่งเชียร์ลีดเดอร์ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย) จนต้องช่วยกันออกเงินส่วนตัวเพื่อสมทบทุนงบของกลุ่มเชียร์ Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส" ที่น่าสนใจคือ ทุกคนกลับเพิกเฉยกับความไม่เท่าเทียมกันตรงนี้ เพราะคนที่ฝั่งแสตนด์เชียร์มี “คติ” ร่วมกันในสังคมอย่างหนึ่งก็คือ เชียร์ลีดเดอร์เป็นงานที่เสียสละ เป็นหน้าเป็นตาของคณะสี เลยทำให้คนส่วนหนึ่งเต็มใจที่งบประมาณจะไปลงที่เสื้อผ้าของลีดเดอร์มากกว่าการซื้อน้ำซื้อขนม ยาดม ยาหม่องมาเติมพลังให้กลุ่มคนที่เชียร์บนแสตนด์เชียร์ ในตอนแรก ที่มีเสียงร้องเรียนมาว่า งบเชียร์ไม่เพียงพอ บอสมองเห็นว่า หากงบสนับสนุนงานฝ่ายวิชาการที่ตนถืออยู่จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำงานในกลุ่มเชียร์บนสแตนด์ (ตามคาแรกเตอร์ของนักการเมืองน้ำดีตามแบบฉบับประชาธิปไตยในอุดมคติ) เขาก็พร้อมที่จะโยกงบประมาณส่วนนั้นไปให้ แต่ปรากฏว่างบดังกล่าวถูกนำไปสนับสนุนทางฝั่งลีดเดอร์ มันจึงทำให้เขารู้สึกเดือดเพราะเป็นการนำงบประมาณไปใช้ผิดไปจากหลักการและความตั้งใจของเขา บอสจึงทะเลาะกับประธานสีและทีมเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งบอสบอกว่า “ปลอม เปลือก” ผ่านบทสนทนาที่แหลมคมมาก ๆ
“นี่แกเอาเงินมาไว้กับคนกลุ่มเดียว(ลีดเดอร์) ไหนบอกว่าจะให้ส่วนรวม ปล่อยให้พวกน้อง ๆ ร้องเพลงแหกปากไม่มีน้ำกินอย่างนี้เหรอวะ...” – บอส “ลีดเดอร์ก็ทำเพื่อสีเพื่อส่วนรวมทั้งนั้น เขาก็มีสิทธิได้เงินเหมือนกัน...” - ประธานสีแย้ง
Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส"
“เพื่อส่วนรวมยังไงวะ เงินก็เอาไปตัดชุดแพง ๆ สอนท่าเต้น นี่ใช้สมองคิดหรือเปล่า ว่านี่ทำเพื่อส่วนตัว ไม่ใช่ส่วนรวม พวกแกยังยอมให้พวกนี้ (ลีดเดอร์) เอาเปรียบแกอยู่เหรอ มันเอาเงินพวกแกไปนะโว้ย เงินที่ควรจะเอาไปซื้อขนม ซื้อน้ำให้พวกแกกินระหว่างซ้อม มันปล่อยให้พวกแกนั่งเป็นตัวประกอบ แล้วมันก็ได้หน้า ไม่รู้สึกอะไรกันเลยเหรือวะ” – บอส “เสียงของพวกแก(ทีมเชียร์บนแสตนด์) มีความหมายนะเว้ย ไม่พอใจก็ลุกขึ้นออกมา” – บอสหันไปที่สแตนด์เชียร์
การเปิดประเด็นของบอส เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า วิถีแบบประชาธิปไตยนั้น ต้องเคารพเสียงทุกเสียงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมปะทะกับค่านิยมของชุมชน(โรงเรียน) ในวาทกรรมที่ว่า ลีดเดอร์คือหน้าตาของกองเชียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ตัวละครอย่างบอสกระทำ คือการกระตุกให้ผู้คนในสังคมคิดถึงความเท่าเทียมของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องถูกกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มีมาก่อนหน้า (ในที่นี้คือ วาทกรรม ลีดเดอร์คือหน้าตาของกองเชียร์) แย้งกลับมาโดยเปิดการ์ดที่ว่า การกระทำแบบบอสจะสร้างความแตกแยกให้กับสังคม Hormones วัยว้าวุ่น: ปลอม เปลือก และมุมมองในประชาธิปไตยในแบบ ของ "บอส" การปะทะกันระหว่างวิธีคิดเพื่อความเท่าเทียมของสังคมนั้น เป็นเรื่องที่คัดง้างกับวิถีสังคมก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นสังคมในสเกลชุมชนแบบโรงเรียน หรือสังคมใหญ่แบบรัฐชาติ ซึ่ง “Hormones วัยว้าวุ่น ซีซั่น 3 EP.6” ได้เขย่าประเด็นเหล่านี้ให้เราได้ชมอย่างน่าคิด ประเด็นทุกอย่างของบอสถูกโยนลงไปสู่สาธารณะแล้ว ที่เหลือมันอยู่ที่ความคิดเห็นคนของบนสแตนด์เชียร์ ว่าความเห็นมวลรวมของพวกเขานั้นเป็นแบบไหนกันแน่? คำตอบอาจจะซ่อนอยู่ในบทสรุปของซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นได้