พ่อค้า-สื่อ-รัฐบาล อังกฤษ กับเหตุผลที่ใช้ในการสนับสนุนการลักลอบค้าฝิ่นในจีน

พ่อค้า-สื่อ-รัฐบาล อังกฤษ กับเหตุผลที่ใช้ในการสนับสนุนการลักลอบค้าฝิ่นในจีน
"ขอถามหน่อยเถิดจิตสำนึกของพระองค์มีอยู่ที่ไหนกัน? ข้าพเจ้าได้ยินว่า การสูบฝิ่นเป็นข้อห้ามที่เคร่งครัดในประเทศของพระองค์ นั่นก็เพราะอันตรายของฝิ่นมันเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ในเมื่อมันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอันตรายต่อประเทศของพระองค์เอง เช่นนั้นแล้วพระองค์ก็ไม่ควรส่งต่อให้มันไปทำร้ายประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน!" (Letter of Advice to Queen Victoria) ข้อความข้างต้นมาจากตอนหนึ่งของจดหมายจากข้าหลวงหลิน เจ๋อสวี (Lin Zexu) ขุนนางคนสำคัญของราชสำนักชิง ที่มีไปถึงควีนวิกตอเรียเมื่อปี 1839 หลังเขาได้ยึดและทำลายฝิ่นกว่าสองหมื่นหีบของพ่อค้าอังกฤษ ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่สงครามฝิ่น แต่จดหมายฉบับดังกล่าวหาได้ไปถึงผู้รับไม่ เนื่องจากทางอังกฤษอ้างว่า หลินมิได้มีศักดิ์ทางการทูตพอที่จะส่งสาส์นถึงควีนได้  (และแม้ภายหลังจดหมายของเขาได้รับการลงพระปรมาภิไธยแห่งจักรพรรดิชิงแล้วและถูกส่งมาอีกครั้งในปีต่อมาเมื่อสงครามได้ระเบิดขึ้น มันก็ยังถูกสกัดไว้โดยกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษอยู่ดี โดยอ้างเหตุทางเทคนิคว่าผู้ถือสาส์นถูกข่มขู่ - เนื่องจากกัปตันวอร์เนอร์ที่รับเรื่องมาจากข้าหลวงหลินติดเงื่อนไขประกันตัวที่เขาได้ลงนามไว้กับทางการจีนว่าเขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการค้าฝิ่นอีก หาไม่แล้วจะต้องโทษประหาร) ฝิ่นเป็นทั้งยา และสารเสพติด ที่มนุษย์รู้จักใช้งานมาเป็นเวลานับพันปี และประเทศจีนก็รู้จักสารเสพติดชนิดนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 6 เป็นอย่างน้อย ผ่านพ่อค้าชาวเติร์กและอาหรับที่นำเข้ามาผ่านเส้นทางสายไหม แต่จำนวนที่ถูกนำเข้ามาก็ไม่มากไม่มาย จนกระทั่งการ "สูบ" ซึ่งเป็นวิธีการเสพแบบชนพื้นเมืองอเมริกันได้แพร่กระจายมาถึงจีนในช่วงศตวรรษที่ 17 การเสพฝิ่นด้วยการสูบจึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจนเริ่มกลายเป็นปัญหาสังคม  จักรพรรดิยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง (1722-1735) จึงมีพระบัญชาห้ามสูบและห้ามจำหน่ายฝิ่น แต่การแพร่กระจายของฝิ่นก็มิได้ลดน้อยลง จักรพรรดิเจียชิ่ง (1796-1820) พระราชนัดดาของจักรพรรดิยงเจิ้งก็ได้มีพระบัญชาห้ามการนำเข้าและการปลูกฝิ่นออกมาอีก แต่การค้าฝิ่นในแผ่นดินจีนก็ยังคงเฟื่องฟู เนื่องจากผู้ค้ารายใหญ่คือ พ่อค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวอังกฤษ ที่ไม่เห็นกฎหมายจีนอยู่ในสายตา   หากพิจารณาจากบริบทก่อนหน้านั้น ทอม เดอ คาสเตลลา (Tom de Castella) ผู้เขียนเรื่อง 100 Years of the War on Drugs ใน BBC News Magazine ชี้ว่าในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นั้นมุมของของคนอังกฤษต่อยาเสพติดเช่นฝิ่นต่างไปจากปัจจุบันมาก เพราะ ณ ขณะนั้นฝิ่นยังเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ๆ ตามร้านขายยาทั่วไป "ถ้าคุณไปตามท่าเรือหลัก ๆ ของบริเตนในยุคศตวรรษที่ 18 หรือ 19 คุณจะเห็นฝิ่นถูกส่งเข้ามาพร้อมกับสินค้าทั่วไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 1785 The Times (สื่อใหญ่ของอังกฤษสมัยนั้น) จัดให้ ฝิ่นจาก Smyrna (ปัจจุบันคือ Izmir เมืองในตุรกี) อยู่ตรงกลางระหว่าง น้ำมันจาก Leghorn (Livorno เมืองในอิตาลี) และถั่วจาก Dantzic (Gdansk เมืองในโปแลนด์)  ในรายการสินค้าที่ถูกนำขึ้นที่ท่าเรือกรุงลอนดอน"  ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่เกิดสงครามฝิ่นยกแรก ณ เวลานั้น อังกฤษยังไม่ได้ประกาศให้ฝิ่นเป็นสินค้าต้องห้ามอย่างที่ข้าหลวงหลินเข้าใจ หากเป็นเวลาเกือบสามทศวรรษต่อมาที่อังกฤษออกกฎหมาย Pharmacy Act, 1868 ซึ่งบังคับให้ผู้ซื้อจะต้องบอกชื่อและที่อยู่กับทางเภสัชกร อันเป็นการจำกัดการเข้าถึงฝิ่นของประชาชนลงในทางทฤษฎี  แต่จากการค้นคว้าของ คริสติน ซู (Christine Su) ในหัวข้อเรื่อง Justifiers of the British Opium Trade: Arguments by Parliament, Traders, and the Times Leading Up to the Opium War พบว่าชาวอังกฤษรู้จักถึงพิษภัยของสารเสพติดชนิดนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วแต่ก็ไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมด และมีน้อยคนนักที่เห็นว่า ข้อปัญหาเชิงศีลธรรมมีน้ำหนักพอที่จะทำให้สังคมและรัฐเลิกสนับสนุนพ่อค้าอังกฤษให้นำสารเสพติดชนิดนี้ไปมอมเมาชาวจีนจนกลายเป็นชนวนสำคัญในการทำสงครามฝิ่น  ในสายตาของพ่อค้าชาวอังกฤษส่วนใหญ่ พวกเขาไม่สนใจเรื่องของการเมือง วัฒนธรรม หรือศีลธรรม ข้ออ้างสำคัญของพวกเขาในการค้าฝิ่นในจีนก็คือหลักการค้าเสรี ดังที่ วิลเลียม จาร์ดีน (William Jardine) หนึ่งในหุ้นส่วนบริษัทผู้นำเข้าฝิ่นรายใหญ่ในจีนได้กล่าวกับหมอสอนศาสนาที่โดยสารมากับเรือสินค้าของเขาว่า  "เราไม่ลังเลที่จะบอกแก่ท่านอย่างเปิดเผยว่า สินค้าหลักที่เราพึ่งพิงก็คือฝิ่น...หลายคนเห็นว่ามันเป็นการขนส่งสินค้าที่ผิดศีลธรรม แต่การขนสินค้าเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเลี่ยงมิได้ เพื่อให้เรือสินค้าลำใด ๆ ก็ตามมีรายได้พอสมควรมาชดเชยรายจ่ายมากมาย ซึ่งเราก็เชื่อว่าท่านก็คงไม่โต้เถียง" และในใบปลิวที่ลงชื่อพ่อค้าอังกฤษรายหนึ่ง [ซึ่ง คริสติน ซูเชื่อว่าน่าจะเป็นลายมือของ จาร์ดีน หรือไม่ก็ เจมส์ แมธีสัน (James Matheson) หุ้นส่วนของเขา] ยังบอกด้วยว่า พ่อค้าไม่มีหน้าที่ต้องมารับผิดชอบทางศีลธรรมใด ๆ เพราะชาวจีนกระหายในสินค้าชนิดนี้มาก การติดยาของคนจีนเป็นความผิดของคนจีนเอง หรืออย่างน้อยคนกลางที่หาประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมก็ยังผิดศีลธรรมน้อยกว่า พ่อค้าอังกฤษยังโยนความรับผิดทางการเมืองไปให้กับทางรัฐบาลอังกฤษเอง โดยทางคณะกรรมการสมาคมลอนดอนแห่งอินเดียตะวันออกและจีนได้ส่งบันทึกความจำฉบับหนึ่งไปถึงลอร์ดพาล์เมอร์สตัน (Lord Palmerston) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษขณะนั้น โดยระบุว่า คณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษต่างรู้ดีว่า สินค้าหลักของพวกเขาคืออะไร และปลายทางของสินค้าอยู่ที่ไหน และรู้ดีว่าฝิ่นสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจอินเดียอาณานิคมของอังกฤษมากเพียงใด  ที่สำคัญฝิ่นถือเป็นสินค้าสำคัญที่ช่วยลดการขาดดุลการค้ากับจีน เนื่องจากอังกฤษก็เสพติดสินค้าฟุ่มเฟือยจากจีนทั้งเครื่องเคลือบ ผ้าไหม และใบชา (การใช้ชีวิตอย่างหรูหราของผู้ดีอังกฤษย่อมสำคัญกว่าคุณภาพชีวิตของชาวจีน) ในส่วนของสื่ออย่าง Times ซึ่งถือเป็นสื่อที่มียอดจัดจำหน่ายสูงสุดในอังกฤษ ณ เวลานั้น พวกเขาได้เริ่มรายงานเหตุการณ์ปิดท่าเรือที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมก็ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมแล้ว (ไล่เลี่ยกับเวลาที่ฝ่ายการเมืองบนเกาะอังกฤษได้รับรายงาน) โดยได้รายงานข่าวถึงพัฒนาการของสถานการณ์บางส่วน และได้นำเอาข้อมูลจาก Chinese Repository หนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าต่างชาติในกวางตุ้งมาตีพิมพ์ซ้ำโดยพยายามให้เห็นเหตุผลของทั้งสองฝ่าย  คือทั้งฝ่ายพ่อค้าอังกฤษที่ยื่นฎีกาต่อควีนเพื่อขอให้รัฐบาลของพระองค์ช่วยชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลจีน โดยชี้ว่ารายได้จากการค้าฝิ่นของพวกเขาก็ส่งไปถึงรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันก็ลงประกาศของข้าหลวงหลินที่ชี้ว่า ใบชาของจีนสร้างประโยชน์มากมายต่อชาวอังกฤษ แต่ฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษกำลังทำลายชีวิตคนจีน การกระทำของพ่อค้าอังกฤษจึงมีแต่จะสร้างความแค้นเคืองให้ปวงมนุษย์ พร้อมข่มขู่ที่จะเอาชีวิต "คนเถื่อน" รายใดก็ตามที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้าม ในขณะเดียวกัน Times ก็รายงานสถานการณ์ต่อไปโดยให้ความสำคัญกับเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชาวอังกฤษเป็นสำคัญ เนื่องจากกระแสสังคมมิได้ให้ความสนใจกับปัญหาศีลธรรมในการค้าฝิ่นและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมจีนเท่าใดนัก พร้อมย้ำถึงความเข้าใจผิดของข้าหลวงหลินที่ไม่ได้รู้เลยว่าฝิ่นไม่ได้ผิดกฎหมายในอังกฤษและยังเป็นยาสามัญที่ซื้อขายทั่วไป และยังเห็นว่ามันไม่ได้มีโทษมากไปกว่าเหล้าจิน หรือยาสูบ ในขณะที่การปิดท่าเรือ และขับไล่ชาวอังกฤษด้วยการใช้กำลังของจีน ถือเป็นการหยามเกียรติยศและทำให้ข้าแผ่นดินในควีนวิกตอเรียต้องเสียหน้าในต่างแดน และยิ่งผู้อ่านได้รับรู้ว่า "ผู้หญิง และเด็ก" ชาวอังกฤษ (ซึ่งในยุควิกตอเรียมองว่าเป็นผู้ใสสะอาด บริสุทธิ์ไร้เดียงสา) ต้องตกเป็นเหยื่อการหยามหมิ่นและเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากชาวจีนที่ป่าเถื่อนก็ทำให้พวกเขาเกิดความแค้นเคืองหนักยิ่งขึ้นและต้องการให้รัฐบาลจัดการตอบโต้การกระทำของฝ่ายจีน   ส่วนในรัฐสภาอังกฤษมีการถกเถียงเรื่องนี้กันหลายยก (ตั้งแต่ครั้งหลังของปี 1839 ถึง ต้นปี 1840) ก่อนตัดสินใจส่งกำลังเข้ารุกรานจีน และฝ่ายเสียงข้างมากต่างเทเข้าข้างการค้าฝิ่นโดยอ้างเรื่องการค้าเสรีเป็นสำคัญ เช่น เซอร์ เจมส์ เกรแฮม (Sir James Graham) อ้างว่า การห้ามไม่ให้พ่อค้าอังกฤษค้าฝิ่นแต่ฝ่ายเดียวย่อมไม่เป็นธรรม เพราะเปิดโอกาสให้พ่อค้าชาติอื่นเช่น อเมริกันมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเปล่า ๆ แทนที่รายได้ดังกล่าวจะเข้าสู่แผ่นดิน ลอร์ด เมลเบิร์น (วิลเลียม แลมบ์) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็เห็นด้วย โดยได้ให้ความเห็นว่า "อย่างไรเสีย ฝิ่นก็มีผลร้ายน้อยกว่าเหล้าจินเสียอีก แถมคนจีนดื้อดึงอยากสูบเสียเอง...ถ้าพวกเขาลดความต้องการลงไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะลดแหล่งวัตถุดิบเพียงแห่งเดียวจากต้นตอที่มีอยู่อีกมาก"  จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ฝ่ายสนับสนุนการค้าฝิ่นมิได้สนใจว่า กฎหมายจีนจะว่าไว้อย่างไร แม้ขณะนั้นจีนจะยังไม่เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับชาติตะวันตกเลยก็ตาม ชาวอังกฤษส่วนใหญ่กลับไม่เห็นว่าพวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีน  และแม้ โทมัส แมคอเลย์ (Thomas Macaulay) รัฐมนตรีกระทรวงสงคราม จะให้ความเห็นว่า จีนมีสิทธิที่จะห้ามการจำหน่ายฝิ่นได้ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็บอกว่าจีนก็ไม่มีสิทธิที่จะควบคุมตัวประชาชนชาวอังกฤษผู้บริสุทธิ์ และหยามเหยียดผู้แทนอธิปไตยของอังกฤษ อังกฤษจึงต้องทำสงครามเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะอยู่ภายใต้ร่มธงชัยที่ปักอยู่เหนือพวกเขา เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่าพวกเขาเกิดในประเทศที่ไม่เคยรู้จักคำว่าแพ้ ไม่เคยยอมให้ศัตรูหยามหมิ่น หรือตกอยู่ใต้อำนาจของศัตรูมาก่อน นั่นคือเสียงกระแสหลักของสังคมอังกฤษต่อความเห็นเรื่องการค้าฝิ่น ก่อนที่จะมีการทำสงครามกับจีน โดยสะท้อนผ่านตัวพ่อค้าอังกฤษเอง สื่อที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในยุคนั้น และนักการเมืองในสภา  แต่เสียงต่อต้านการค้าฝิ่นและการทำสงครามกับจีนก็มีอยู่ และที่โดดเด่นที่สุดก็คือ วิลเลียม แกลดส์ตัน (William Gladstone) นักการเมืองหนุ่มวัย 30 ปี ที่ภายหลังกลายเป็นผู้นำพรรคเสรีนิยม และได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 4 สมัย  แกลดส์ตันรู้จักพิษภัยของฝิ่นเป็นอย่างดี เพราะน้องสาวของเขาติดยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของฝิ่นอย่างรุนแรง ซึ่งเขาพยายามช่วยรักษาอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1840 เขาจึงได้กล่าวโจมตีและประณามการตัดสินใจสนับสนุนการค้าฝิ่นและการทำสงครามกับจีนอย่างรุนแรง อย่างเช่น "...ท่านผู้ทรงเกียรติฝ่ายตรงข้าม (ธรรมเนียมรัฐสภาอังกฤษเวลาพูดถึงผู้แทนด้วยกันจะไม่เรียกชื่อโดยตรง) ยังถามด้วยว่า 'เราควรต้องมาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างมาตรการป้องกันบนชายฝั่งของจีน เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาการลักลอบขนฝิ่นเข้าประเทศจีนเองด้วยหรือ?' "คำถามนี้ตอบได้ด้วยการถามกลับไปว่า 'ท่านผู้ทรงเกียรติฝ่ายตรงข้ามไม่รู้เลยหรือว่า ฝิ่นที่ถูกลักลอบขนเข้าจีนนั้นมาจากท่าเรือของบริเตนทั้งสิ้น มันมาจากเบงกอล และผ่านบอมเบย์!' เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนั้น ซึ่งขัดกับที่ท่านผู้ทรงเกียรติได้กล่าว สิ่งที่เราต้องทำก็แค่เลิกแล่นเรือขนฝิ่นก็เท่านั้น…” "...พวกเขาได้ยื่นคำเตือนให้คุณเลิกค้าสินค้าผิดกฎหมาย เมื่อพวกเขาพบว่าพวกเขายังไม่ยอมเลิก พวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะขับคุณออกจากแผ่นดินของเขา เพราะความดื้อด้านไม่ยอมละจากการจำหน่ายสินค้าที่ชั่วช้าและฉาวโฉ่…” "...ผมไม่เก่งพอที่จะบอกได้ว่า สงครามนี้จะยาวนานแค่ไหน และการดำเนินการจะยืดเยื้อไปเพียงใด แต่สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือ มันเป็นสงครามอันมีที่มาที่ไร้ซึ่งความเป็นธรรม เป็นสงครามที่ยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งคาดหมายได้ว่ามันจะสร้างความมัวหมองให้กับประเทศนี้อย่างถาวร…” และเพื่อตอบโต้ สมาชิกสภาคนอื่น ๆ ที่กล่าวอย่างภาคภูมิใจถึงการที่ธงชาติอังกฤษได้ถูกชักขึ้นเหนือแผ่นดินกวางตุ้งของจีน แกลดส์ตันได้กล่าวว่า  "เราต่างรู้ดีว่า เมื่อชาวบริติชได้เห็นธงชาติปลิวไสวบนสมรภูมิมันจะช่วยสร้างแรงฮึกเหิมในจิตใจของพวกเขาได้เพียงใด แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้การเพียงได้เห็นธงชาติ จิตวิญญาณของชาวอังกฤษก็ลุกโชนขึ้น? นั่นเป็นเพราะมันผูกอยู่กับความเป็นธรรม การต่อต้านการกดขี่ โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของชาติ และการประกอบธุรกิจอย่างมีเกียรติ แต่ตอนนี้ภายใต้การนำทางของท่านลอร์ดผู้สูงส่ง ธงผืนนี้ได้ถูกปักขึ้นเพื่อปกป้องการลักลอบขนถ่ายของเถื่อนอันน่าขายขี้หน้าไปเสียแล้ว"