ชอน มิยาชิโระ: ผู้ก่อตั้ง 88rising บริษัทที่นำมิลลิ ขึ้นโคเชลลา และทำความฝันของคนเอเชียให้เป็นจริงผ่านโลกดนตรี

ชอน มิยาชิโระ: ผู้ก่อตั้ง 88rising บริษัทที่นำมิลลิ ขึ้นโคเชลลา และทำความฝันของคนเอเชียให้เป็นจริงผ่านโลกดนตรี
ณ เวลานี้แทบจะเรียกได้ว่าในแวดวงผู้สนใจเสียงดนตรีที่โลดแล่นอยู่ในวัฒนธรรมป็อป แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักค่ายเพลงชื่อเป็นมงคลอย่าง ‘88rising’ บริษัทแมสมีเดียครบวงจรที่อ้างอิงชื่อมาจากความเชื่อของชาวจีน - เลข ‘88’ นั้นถ้าเขียนเป็นตัวจีนจะมีความหมายว่า ‘ความสุขสองเท่า’ หรือ ‘ทวีสุข’ นั่นเอง โดยในช่วงเวลาหลายปีหลังมานี้ ค่ายเพลงและบริษัทสื่อดังกล่าวที่เน้นผลักดันความสามารถของชาวเอเชียให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาพลเมืองโลก ก็ได้มีโปรเจกต์ออกมาหลากหลาย และศิลปินที่ร่วมงานกับพวกเขาแต่ละชื่อก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา หนึ่งในผลงานสุดว้าวของพวกเขาคือการทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาร์เวล เรื่อง ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ ขณะที่เร็ว ๆ นี้ พวกเขาก็เพิ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดการแสดงบนเวทีหลักของเทศกาล Coachella ประจำปี 2022 และพาศิลปินเอเชียมากมายขึ้นสร้างสีสันให้เทศกาลดนตรีระดับโลก - การร่วมงานกับ 88rising นี่เองที่ทำให้ ‘มิลลิ - ดนุภา คณาธีรกุล’ กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงที่เวที Coachella สร้างความฮือฮาและปลื้มใจให้แฟน ๆ ชาวไทยไประลอกใหญ่ เช่นเดียวกับแฟน ๆ ทั่วโลกที่เป็นแฟนคลับของวงเกิร์ลครัชตัวแม่อย่าง ‘2NE1’ เป็นปลื้มกันถ้วนหน้า เนื่องจากการโคจรมาทำการแสดงร่วมกันอีกครั้งในรอบ 7 ปีของสาว ๆ ทั้ง 4 คน อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไป ณ เวลานี้แทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก ‘88rising’ แต่หากเราย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2015 ก่อนหน้าที่เลข 88 จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนเอเชียในเวทีโลก ก็อาจจะเรียกได้ว่า การมีขึ้นและเติบโตของค่ายเพลงและบริษัทสื่อโดยคนเอเชีย เพื่อคนเอเชียเจ้านี้ เกิดขึ้นมาจากความฝันที่กลายเป็นจริงของ ‘ชอน มิยาชิโระ’ (Sean Miyashiro) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 88rising (อีกคนคือ เจสัน หม่า (Jaeson Ma)) ควบตำแหน่งผู้บริหารค่าย   ชอน มิยาชิโระ มิยาชิโระเติบโตในย่านบลอสซัมฮิลล์ เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ใต้การเลี้ยงดูของครอบครัวที่มีพ่อเป็นวิศวกรเครื่องกลชาวญี่ปุ่น ส่วนแม่เป็นคนเกาหลี เนื่องจากพ่อของเขาเคยทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงประจำโรงเรียน และแม่ของเขาชื่นชอบเพลงแจ๊ซ มิยาชิโระจึงโตมาโดยรายล้อมด้วยดนตรี  “พ่อมักพาผมไปร้านแผ่นเสียง เขาสะสมมันอย่างบ้าคลั่ง เขาฟังเพลงหลากหลายและลึก ดังนั้นผมเลยได้ฟังทุกอย่างตั้งแต่ Miles Davis, Sade หรือ the Beach Boys พ่อเป็นคนสำคัญที่ทำให้ผมได้ก้าวเดินบนถนนสายดนตรี” ในบ้านของเขามีดนตรีให้ฟังไม่จำกัด ขณะที่นอกบ้านระหว่างการละเล่นฮอกกี้ ฟุตบอล หรือเบสบอล เด็กชายก็ได้พบกับเพื่อน ๆ จากหลากวัฒนธรรมและซึมซับความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่เด็ก มิยาชิโระเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติซิลิคอน วัลเลย์ ที่ประกอบไปด้วยนักเรียน Asian-­American จำนวนมาก และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง นักเรียนส่วนมากที่เรียนที่นี่มักมีเป้าหมายเป็นการต่อมหาวิทยาลัยหลังเรียนจบ แต่มิยาชิโระไม่ได้สนใจเป้าหมายดังกล่าวมากนัก เขามักจะใช้เวลาไปกับเพื่อน ๆ ‘แก๊งสเตอร์’ ชาวเอเชียที่มักจะสุมหัวกันตามลานจอดรถหรือร้านชานมไข่มุกเสียมากกว่า แม้มิยาชิโระจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยซานโฮเซสเตท แต่เขากลับไม่ได้เข้าเรียนบ่อยเท่าที่ควร จนกระทั่งเขาค้นพบชมรมหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เหล่านักศึกษามารวมตัวกันเพื่อจัดคอนเสิร์ต มิยาชิโระก็ตัดสินใจเลิกเข้าคลาสเรียนอย่างถาวรและผันตัวมาเป็นนักจัดปาร์ตี้ และคลุกคลีอยู่กับซีนดนตรีในย่านเบย์แอเรีย รวมไปถึงทำสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘เครือข่ายทางสังคมสำหรับฮิปสเตอร์’ และท้ายที่สุด เขาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเปิดตัวของ ‘Thump’ เว็บไซต์ว่าด้วยเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ในสังกัด ‘Vice   ความฝันของมิยาชิโระ “ราวกับเสียงเรียกร้องจากภายใน ผมมักจะคิดว่า ให้ตาย! ผมอยากให้มีพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ชาวเอเชีย หรือแม้แต่เพื่อน ๆ ของผมได้ปล่อยของอย่างสม่ำเสมอ น่าเสียดายที่มันไม่มีที่แบบนั้น” มิยาชิโระภาคภูมิใจกับความเป็นเอเชียของเขา และเล็งเห็นถึงความสามารถของชาวเอเชียรอบตัว เขาเฝ้าคิดว่าจะดีสักแค่ไหนที่คนเอเชียจะสามารถมีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ ให้เติบโตได้ แม้จะแวดล้อมด้วยสังคมตะวันตก และยิ่งไปกว่านั้น เขาอยากให้คนตะวันตกหันมาตาดูหูฟังกับสิ่งที่คนเอเชียต้องการสื่ออีกด้วย ตอนที่มิยาชิโระกำลังจะลาออกจาก Vice เขาได้เกลี้ยกล่อมให้เพื่อนในที่ทำงานซึ่งเป็นชาวเอเชียด้วยกันคนหนึ่งมาร่วมทีมกับเขาด้วย ‘เจสัน อานโย’ (Jason Año) เพื่อนเชื้อสายฟิลิปปินส์ - อเมริกัน ที่ถูกชักชวนในคราวนั้นเล่าว่า “เราเป็นครีเอทีฟชาวเอเชียเพียงแค่สองคนใน Vice วันหนึ่ง เขา (มิยาชิโระ) เกิดความคิดบ้า ๆ ขึ้นมาว่าเขาอยากทำ Vice สำหรับชาวเอเชีย เขาหมกมุ่นอยู่แต่กับความคิดนี้และขอให้ผมเข้าร่วม โดยอ้างว่าผมเป็นคนเอเชียคนเดียวที่เขารู้จักในที่ทำงาน” เพราะการทำงานที่ Vice นั้นมั่นคงมากกว่าจะต้องมาแบกรับความเสี่ยงของการเปิดบริษัทสตาร์ตอัป อานโยปฏิเสธคำชวนของมิยาชิโระอยู่นาน “เขาพูดเหมือนกับตัวเองจะขึ้นครองอาณาจักรสื่อของคนเอเชีย เขาหลงใหลกับความคิดนั้นจนผมคิดว่า ‘เอาละ ได้เวลาปลุกหมอนี่ตื่นจากฝัน’” หนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้มิยาชิโระเริ่มลงมือทำตามความฝัน คือ ‘จูดี้’ (Judy) ภรรยาของเขาซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยา “เธอเป็นลูกครึ่งไต้หวัน - อเมริกัน เราเติบโตมาในย่านเดียวกัน เรารู้ว่าคนเอเชียมีพรสวรรค์และเรื่องราวมากมายให้เล่า แต่ไม่มีที่ไหนเลยที่จะทำให้เธอสามารถแบ่งปันประสบการณ์นั้นได้”   แปลงความหลงใหลให้เป็นความสำเร็จ มิยาชิโระวางมือจาก Thump และออกจาก Vice ในปี 2015 เพื่อมองหาความท้าทายครั้งใหม่ พอดิบพอดีกับที่ ‘โจนาธาน ปาร์ค’ (Jonathan Park) ศิลปินที่เขารับหน้าที่ผู้จัดการอยู่ในขณะนั้นเปิดคลิปการแสดงเพลง ‘It G Ma’ ของ ‘Keith Ape’ แร็ปเปอร์ชาวเกาหลีใต้ให้มิยาชิโระดู เพลงแร็ปที่ห้าวและมีสไตล์ดังกล่าวทำให้มิยาชิโระต่อสายตรงถึง Keith Ape หว่านล้อมให้เขาเดินทางจากเกาหลีใต้มาร่วมโชว์เคสที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัสในทันที ไม่นาน มิยาชิโระก็กลายเป็นผู้จัดการของ Keith Ape ด้วย และด้วยเงินจำนวนไม่ถึงหนึ่งหมื่นดอลลาร์ เขาก็ชักชวน  Waka Flocka, A$AP Ferg และ Father มาบันทึกเสียงเพลง ‘It G Ma’ เวอร์ชันรีมิกซ์ พร้อมด้วย โจนาธาน ปาร์ค และ Keith Ape ได้ในที่สุด หลังจากผลงานชิ้นนั้นกลายเป็นไวรัล มิยาชิโระก็แย้มพรายความฝันของเขากับเพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร ขณะกินข้าวมื้อค่ำในลอสแอนเจลิสว่าเขาต้องการสร้างบางอย่างขึ้นมา - บางอย่างที่เขาใฝ่ฝันถึงมาตลอดชีวิต บางอย่างที่ผลักดันให้เขาออกจาก ‘Thump’ และยังคงก้าวไปข้างหน้า เพื่อนหนึ่งคนบนโต๊ะอาหารเป็นสะพานให้เขาได้พบกับ ‘แอลเลน เดบีวอส’ (Allen DeBevoise) แห่ง Third Wave Partners และเขาก็ได้ผู้สนับสนุนหลักรายแรก สู่ก้าวแรกของ ‘88rising’ บริษัทสื่อสาธารณะที่มิยาชิโระฝันถึง และเขาเองก็เชื่อว่าเป็นย่างก้าวที่ชาวเอเชียหลาย ๆ คนอยากเห็นเช่นเดียวกัน ศิลปินชาวเอเชียจากหลากประเทศเริ่มเข้าร่วมกับเขา 88rising เปิดประตูต้อนรับแร็ปเปอร์ชาวอินโดนีเซียอย่าง Rich Brian และ Warren Hue, กลุ่มศิลปินฮิปฮอปชาวจีนอย่าง Higher Brothers, ศิลปินลูกครึ่งญี่ปุ่น - ออสเตรเลีย อย่าง Joji, นักร้องหญิงชาวอินโดนีเซียอย่าง NIKI, นักร้องชาวญี่ปุ่นอย่าง Rina Sawayama และอีกมากมาย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันค่ายเพลง - บริษัทที่ก่อตั้งจากความตั้งใจที่แน่วแน่ของชอน มิยาชิโระ พุ่งทะยานไปข้างหน้า พาให้ชื่อ ‘88rising’ ที่อาจไม่มีใครรู้จักในช่วงปีแรก ๆ ของการก่อตั้ง กลายเป็นชื่อที่คนส่วนมากคุ้นหู ทั้งการันตีความสามารถและความสร้างสรรค์ได้ในปัจจุบัน รวมทั้งรู้ว่าพวกเขาจะไม่หยุดฝันเพียงเท่านี้ เพราะบนโลกกว้างที่เต็มไปด้วยความหลากหลายใบนี้ ยังมีศิลปินชาวเอเชียอีกมากที่รอการค้นพบ   ที่มา: https://riffmagazine.com/features/how-san-joses-sean-miyashiro-built-88rising/ https://www.newyorker.com/magazine/2018/03/26/how-88rising-is-making-a-place-for-asians-in-hip-hop https://www.coolaccidents.com/news/who-are-the-88rising-artists https://thestereovision.com/content/88rising-is-connecting-asian-and-western-culture