ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง
“มีความสุขก็กินไปเถอะ” 
ประโยคนี้ผุดขึ้นมาขณะที่อ่านหนังสือ ‘ฮุกกะ : ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก’ เขียนโดย ไมก์ วิกิง ชาวเดนมาร์กผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute) ประเทศกลุ่มนอร์ดิกมักติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก รวมทั้งประเทศเดนมาร์กที่มีความสุขอันดับสองของโลกรองจากฟินแลนด์ (จากรายงานความสุขโลกปี 2020) หากสิ่งที่ทำให้ชาวเดนมาร์กแตกต่างไปจากประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ คือปรัชญาที่เรียกว่า ‘ฮุกกะ’ (Hygge)  ‘ฮุกกะ’ มาจากภาษานอร์เวย์ หมายถึง ‘ความอยู่ดีมีสุข’ ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษคำที่ใกล้เคียงที่สุดคงเป็น Cosiness (ความผ่อนคลายสบายใจ) แต่คำนี้ก็ไม่อาจอธิบายความ ‘ฮุกกะ’ ของชาวเดนมาร์กได้ครอบคลุมนัก เพราะองค์ประกอบสำคัญมีทั้งแสงละมุนจากเทียนไข ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ บรรยากาศแบบธรรมชาติ ไปจนถึงสิ่งที่เราอยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังในบทความนี้คือเรื่อง ‘อาหารที่กินแล้วสบายใจ’  เพราะขณะที่รายงานความสุขโลกโดยสหประชาชาติระบุว่า สุขภาพส่งผลต่อความสุขของผู้คน ทว่าชาวเดนมาร์กกลับสนับสนุนให้กินเค้ก ขนมหวาน และอาหารที่ทำให้คุณรู้สึกผิด  อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น...ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกันในเรื่องราวต่อไปนี้   อาหารแบบไหนที่ทำให้คุณฮุกกะ “คุณซื้อความสุขไม่ได้ แต่ซื้อเค้กได้ สองอย่างนี้แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน อย่างน้อยสมองของเราก็อาจจะคิดแบบนั้น” ไมก์อธิบายว่าเมื่อเราทำอะไรบางอย่างที่สมควรได้รางวัล ร่างกายจะหลั่งโดพามีนออกมา ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นสุข แล้วสมองจะจดจำเหตุการณ์นั้นไว้ จึงไม่แปลกหากเราจะโหยหารสชาติที่คุ้นเคย “เมื่อแรกเกิด สิ่งแรกที่ทำให้เราได้ลิ้มรสคือ นมแม่รสหวาน ความชอบอาหารหวานส่งผลดีต่อความอยู่รอดของเรา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกสุขใจยามกินเค้กและของหวานอื่น ๆ แถมยังรู้สึกว่าหยุดกินยากด้วย” ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

Photo by Honey Fangs on Unsplash

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ชาวเดนมาร์กบริโภคขนมเฉลี่ยคนละ 8.2 กิโลกรัมต่อปี กลายเป็นชนชาติที่กินขนมหวานมากกว่าใครในโลก เป็นรองเพียงชาวฟินแลนด์เท่านั้น (ข้อมูลจากรายงานของ Sugar Confectionery Europe) นอกจากขนมหวานแล้ว อาหารสโลว์ฟู้ด (slow food) ทำเองอย่างสตูที่เคี่ยวนาน ๆ ขนมอบแสนพิถีพิถัน กระทั่งการหมักเหล้ามะนาว (limoncello) ที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ก็นับว่าฮุกกะเช่นกัน เพราะการกินแบบฮุกกะ คือการกินอาหารที่สบายใจ เชื่อมโยงถึงความทรงจำและประสบการณ์ที่ดี ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

Photo by Amber Maxwell Boydell on Unsplash

ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

Photo by Marta Filipczyk on Unsplash

“ฮุกกะเน้นให้เราใจดีกับตัวเอง ให้รางวัลกับตัวเอง ให้โอกาสตัวเองและคนอื่นได้ผ่อนคลายจากการใช้ชีวิตที่ต้องดูแลใส่ใจสุขภาพตลอดเวลา ขนมหวานเป็นสิ่งที่ฮุกกะ เค้กก็ฮุกกะ กาแฟหรือช็อกโกแลตร้อนก็ฮุกกะเช่นกัน แครอตหั่นแท่งไม่ค่อยฮุกกะ บางอย่างที่กินแล้วรู้สึกผิดถือเป็นองค์ประกอบที่ทำให้พิธีกรรมฮุกกะสมบูรณ์ แต่ไม่ควรเป็นของที่หรรษาหรือหรูหราเกินไป” อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า เค้กกับของหวานจะกระทบต่อ ‘สุขภาพ’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสุขหรือไม่ ? ไมก์ตอบข้อสงสัยนี้ว่า ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่มักสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะประเทศนี้ถูกออกแบบมาให้การใช้จักรยานสะดวกสบายมากกว่า การปั่นจักรยานเป็นประจำในชีวิตประจำวันของชาวเดนมาร์ก จึงเปรียบเสมือนการออกกำลังกาย (แบบไม่ได้ตั้งใจ) เพื่อบาลานซ์กับอาหารของพวกเขานั่นเอง   กินอะไร อาจไม่สำคัญเท่ากินกับใคร ‘ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ’ นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของฮุกกะ ดังนั้น นอกจากเมนูแล้ว คนร่วมโต๊ะอาหารก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะร่างกายจะปลดปล่อยฮอร์โมนออกซิโตซินออกมาเมื่อรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม อบอุ่นหรือเติมเต็ม ซึ่งฮอร์โมนนี้ช่วยลดความเครียด ความเจ็บปวด รวมทั้งสร้างความสุขให้กับเราได้อีกด้วย ชาวเดนมาร์กกว่า 78% จึงใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งมักเป็นบรรยากาศแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เน้นการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมกัน เช่น การทำอาหารช่วยกัน มากกว่าการปล่อยให้เจ้าภาพในบ้านทำอาหารตามลำพัง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากระบบการทำงานของเดนมาร์กไม่เอื้อต่อเวลาว่างและสมดุลระหว่างงานกับชีวิต  ไมก์เล่าว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าถึงเวลาสี่โมงเย็นแล้วชาวเดนมาร์กบางคนลุกไปรับลูก หรือออฟฟิศเงียบเป็นป่าช้าทันทีที่นาฬิกาบอกเวลาห้าโมงเย็น โดยข้อมูลดัชนีชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life Index) ของโออีซีดีระบุว่า ชาวเดนมาร์กมีเวลาว่างมากกว่าประเทศสมาชิกโออีซีดีอื่น ๆ ซึ่งเอื้อต่อการสานสัมพันธ์คุณภาพกับครอบครัว เพื่อน หรือคนที่เรารู้สึกสนิทใจ ช่วยสร้างความรู้สึกว่า ‘เรามีคนที่สามารถไว้ใจและพึ่งพาได้ในยามลำบาก’ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้นับเป็นพื้นฐานสำคัญของความสุขตามรายงานความสุขโลก ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

Photo by Element5 Digital on Unsplash

จงดื่มด่ำกับปัจจุบัน และความไม่สมบูรณ์แบบ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ชาวเดนมาร์กเน้นอาหารที่ทำเองเป็นหลัก เพราะสิ่งสำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบของแต่ละจาน คือ ‘การดื่มด่ำ’ ตั้งแต่กระบวนการทำจนถึงขั้นตอนการลิ้มรสอาหาร อีกนัยหนึ่งคือ ฮุกกะให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์’ มากกว่าวัตถุ ยิ่งใช้เวลาในการเคี่ยว หมัก หรือต้มนานเท่าไร ยิ่งทำให้รู้สึกฮุกกะมากขึ้นเท่านั้น  นอกจากนี้ฮุกกะยังเน้นความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ มากกว่าความหรูหราฟุ้งเฟ้อคล้ายกับวะบิ-ซะบิ (wabi-sabi) ของญี่ปุ่นที่มองเห็นความงดงามของความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องเมนูอาหาร แต่ยังรวมถึง ‘บรรยากาศการกิน’ ของชาวเดนมาร์ก ไม่ว่าจะเป็นแสง อุณหภูมิต่ำภายในห้อง โดยเฉพาะแสงจากเปลวเทียน หรือแสงธรรมชาติช่วง magic hour (หลังพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตก)  ฮุกกะ (Hygge) - ปรัชญาที่สอนให้มีความสุขกับการกินและไม่รู้สึกผิดกับเวลาว่าง

Photo by Michael Lee on Unsplash

ส่วนโต๊ะอาหารและของตกแต่ง มักทำจากไม้หรือวัสดุธรรมชาติ ยิ่งของเหล่านั้นมีคุณค่าทางใจหรือเชื่อมโยงกับความทรงจำดี ๆ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศความฮุกกะมากขึ้นไปอีก เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ดื่มด่ำความซาบซึ้งใจ (gratitude) ผ่านการนึกขอบคุณสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งธรรมดาสามัญรอบตัว  อย่างไรก็ตาม ‘ความธรรมดาสามัญ’ ที่ว่าอยู่บนพื้นฐานของ ‘รัฐสวัสดิการ’ ในเดนมาร์ก ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษาที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย สวัสดิการคนว่างงานและสวัสดิการเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ที่ลดความทุกข์และความกังวลใจของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการ romanticize ความแร้นแค้น ความยากจน ให้เป็นความสุข) นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญของฮุกกะที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘ความไม่ฮุกกะ’ เช่น การหลบฝนมาจิบโกโก้ร้อน การซุกตัวในผ้าห่มยามอากาศหนาว หรือการทิ้งตัวลงนอนในวันที่เหนื่อยล้า  ฮุกกะจึงเปรียบเสมือนปรัชญาที่ชวนให้เราโอบรับธรรมชาติและความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ดื่มด่ำกับความสุขตรงหน้าอย่าง ‘พอดี’ เช่นเดียวกับการกินที่ไม่ต้องฝืนใจ แต่ก็ต้องบานลานซ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่กินอิ่มเกินไปจนเป็นทุกข์ เช่นเดียวกับประโยคข้างต้นที่บอกว่า “ถ้ามีความสุขก็กินไปเถอะ”   ที่มา หนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป (เขียนโดย Meik Wiking แปลโดย ลลิตา ผลผลา) หนังสือ ฮุกกะ : ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป (เขียนโดย Meik Wiking แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ)   Photo by Kim Daniels on Unsplash