ไฮเปเชีย ปัญญาชนหญิงที่ถูก "ผู้ศรัทธา" ล่าแม่มดเป็นคนแรก 

ไฮเปเชีย ปัญญาชนหญิงที่ถูก "ผู้ศรัทธา" ล่าแม่มดเป็นคนแรก 
ก่อนหน้าปี 330 ก่อนคริสตกาลไม่นาน อเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถพิชิตตอนเหนือของอียิปต์ได้สำเร็จ และได้แต่งตั้งให้ ทอเลมี ที่ 1 โซเทอร์ (Ptolemy I Soter) หนึ่งในแม่ทัพของตนขึ้นปกครอง พร้อมกับตั้งเมืองขึ้นที่ปากแม่น้ำไนล์และให้ชื่อแก่เมืองนั้นว่า "อเล็กซานเดรีย" ทอเลมี (ซึ่งภายหลังได้ขึ้นเป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์) ได้สร้างวิหารแห่งเทพีมิวส์ (เทพีผู้อุปถัมป์ศิลปินและนักประพันธ์) อันโด่งดังแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย หรือที่รู้จักกันในนามว่า "มิวเซียมแห่งอเล็กซานเดรีย" (Alexandrian Museum) ขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าในยุคโบราณ ทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปวิทยาการของโลกมายาวนาน (ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียก็เป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียม) แม้จะตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมัน ก่อนที่ศาสนาคริสต์จะก้าวขึ้นมาเป็นศาสนาหลักของจักรวรรดิในกาลต่อมา ไฮเปเชีย (Hypatia) เป็นบุตรีแห่ง ทีออน (Theon) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์คนสุดท้ายของมิวเซียมแห่งอเล็กซานเดรียแห่งนี้ ซึ่งเสื่อมถอยเรื่อยมานับแต่ยุคคลีโอพัตราที่แย่งอำนาจกับน้องชายจนมิวเซียมโดนลูกหลงไปด้วย เมื่อตกอยู่ใต้อำนาจของโรมัน ห้องสมุดของสถาบันก็ถูกทำลายโดยชาวคริสต์เป็นระยะ  เธอเกิดในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งและไม่เอื้ออำนวยต่อการใฝ่หาคำตอบของโลกในเชิงวิทยาศาสตร์ (เธอน่าจะเกิดราวปี ค.ศ. 355 บ้างก็ว่า ค.ศ. 370) ก่อนที่ภูมิปัญญาอันล้ำค่าของกรีกโบราณจะสูญหายไปจากโลกตะวันตกในระยะเวลาไล่เลี่ยกับความตายของเธอ (แต่ก็ยังพอหลงเหลืออยู่ในฝั่งโรมันตะวันออกและโลกอาหรับ)  ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 4 ชาวคริสต์ที่เคยถูกกดขี่โดยผู้ปกครองโรมันมาหลายร้อยปี กลายมาเป็นศาสนิกที่ได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิโรมัน ส่วนผู้นับถือเทพเจ้าอื่นนอกเหนือจากพระเจ้าองค์เดียวตามความเชื่อของชาวคริสต์ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เมื่อไม่ได้รับการอุดหนุนจากทางการ และความแตกแยกทางศาสนาในยุคนั้นก็มักจะนำไปสู่การปะทะด้วยความรุนแรง ไฮเปเชียซึ่งน่าจะเป็นลูกสาวคนเดียวของทีออน ปัญญาชนที่มีอิทธิพลสูงสุดของเมือง ได้กลายเป็นศิษย์เอกที่เก่งที่สุดของเขา และว่ากันว่า ภายหลังเธอน่าจะมีความสามารถเหนือกว่าพ่อของเธอเอง แม้ว่าเอกสารหลักฐานผลงานของเธอจะไม่เหลือหลักฐานมาถึงปัจจุบัน แต่บุคคลร่วมสมัยก็ได้กล่าวถึงงานของเธอทั้งในด้านทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ เรขาคณิต และดาราศาสตร์ ชื่อเสียงของเธอทำให้ผู้คนทั่วจักรวรรดิเดินทางมาศึกษากับเธอถึงอเล็กซานเดรีย ไม่ว่าจะเป็น ชาวคริสต์ ชาวยิว หรือ เพแกน (มักหมายถึงผู้นับถือเทพเจ้าอื่นที่มีอยู่มากมายนอกเหนือจากพระเจ้าองค์เดียวตามอย่างชาวคริสต์หรือชาวยิว) นับได้ว่า ไฮเปเชีย คือนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนหน้า มารี คูรี (Marie Curie) นักฟิสิกส์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล (ปี 1903 ร่วมกับสามีในสาขาฟิสิกส์ และอีกครั้งในปี 1911 ในสาขาเคมี)  ในส่วนลัทธิความเชื่อ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าไฮเปเชียบูชาเทพเจ้า หรือพระเจ้าองค์ไหนเป็นพิเศษหรือไม่? แต่รู้กันว่าเธอเป็นผู้เชื่อในลัทธิเพลโตนิยมใหม่ (neoplatonism-เป็นสำนักปรัชญากรีกกลุ่มสุดท้ายที่ก่อตัวในช่วงศตวรรษที่ 3 โดยนักปรัชญาที่ชื่อโพลตินุส [Plotinus]) ซึ่งถูกชาวคริสต์มองว่าเป็นเพแกน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้นับถือเทพเจ้าอื่น ๆ  ในช่วงชีวิตของเธอ เกิดการปะทะทางความเชื่อขึ้นหลายครั้ง เมื่อชาวคริสต์หัวรุนแรงพากันทำลายวิหารและรูปเคารพเทพเจ้าของเพแกน ซึ่งตามความเชื่อของชาวคริสต์พิธีกรรมดังกล่าวถือเป็นความชั่วอย่างหนึ่ง การใช้ความรุนแรงของพวกเขาจึงนับว่า “ชอบธรรม” ขณะที่ฝ่ายเพแกนก็ไม่ได้งอมืองอเท้าให้ชาวคริสต์เล่นงาน ทำให้การปะทะของทั้งสองกลุ่มความเชื่อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  ไฮเปเชียเองก็มิได้เป็นแต่เพียงนักวิชาการ หรือนักปรัชญาผู้ใฝ่หาเหตุผลเท่านั้น เธอยังเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองในอเล็กซานเดรียอีกด้วย เห็นได้จากข้อความที่ เฮซิชิอุส ชาวยิว (Hesychius the Jew) ลูกศิษย์คนหนึ่งของเธอได้กล่าวถึงเธอเอาไว้ว่า  "ใต้ผ้าคลุมแห่งนักปรัชญาเดินฝ่าเมฆหมอกกลางเมือง เธออธิบายงานเขียนของเพลโต อริสโตเติล หรือนักปรัชญาต่อสาธารณะให้กับใครก็ตามที่พร้อมจะรับฟัง...เหล่านักปกครองล้วนต้องปรึกษาเธอก่อนในการบริหารกิจการต่าง ๆ ของเมือง" (UCSC) ไฮเปเชียจึงเป็นคนดังประจำเมืองที่ชาวคริสต์มองว่าเป็นแบบอย่างของผู้มีค่านิยมและอุดมคติที่ต่างกับตน ทำให้เธอตกเป็นเป้าของความเกลียดชังของกลุ่มหัวรุนแรงที่มีอำนาจรัฐหนุนหลัง แม้ว่าเธอเองจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งต่อชาวคริสต์โดยตรงก็ตาม ความตึงเครียดทางศาสนาเข้มข้นขึ้น เมื่อ บาทหลวงซิริล (Cyril) ได้ขึ้นเป็นสังฆราชแห่งอเล็กซานเดรีย (ภายหลังยังได้รับการยกฐานะเป็นนักบุญ) เมื่อเขาใช้อำนาจในฐานะผู้นำชาวคริสต์ในการประหัตประหารชาวยิว จนชาวยิวนับหมื่นต้องลี้ภัยไปต่างเมือง ก่อนที่จะหันมาเล่นงานกลุ่มผู้ถือลัทธิเพลโตนิยมใหม่ โดยบีบบังคับให้ละทิ้งความเชื่อนั้นแล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์ แม้ว่า โอเรสทีส (Orestes) ผู้ปกครองโรมันแห่งอียิปต์ที่นับถือคริสต์ และเป็นศิษย์คนหนึ่งของไฮเปเชียจะไม่เห็นด้วยก็ตาม การที่ไฮเปเชียผู้มีสถานะโดดเด่นที่สุดในกลุ่มผู้ถือลัทธิเพลโตนิยมใหม่ปฏิเสธที่จะหันมานับถือศาสนาคริสต์ และยังเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสูง ทำให้ชาวคริสต์หัวรุนแรงยอมรับไม่ได้ ดังที่ โสคราตีส สโคลาสติคุส (Socrates Scholasticus) นักประวัติศาสตร์ชาวคริสต์ในศตวรรษที่ 5 ได้บรรยายเหตุการณ์อันนำไปสู่ความตายของเธอในปี 415 เอาไว้ว่า  "คนทั้งปวงล้วนเคารพและชื่นชมในหัวใจที่หนักแน่นต่อความสมถะของเธอ นั่นทำให้เธอตกเป็นที่ริษยาและเกลียดชัง และด้วยเหตุที่เธอมักได้พบปะและคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่งกับโอเรสทีส (ผู้ปกครองโรมันแห่งอเล็กซานเดรีย) ประชาชนจึงกล่าวหาเธอว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้บิชอป (ซิริล) กับโอเรสทีสไม่อาจเป็นมิตรต่อกัน กล่าวโดยย่อ คนโง่เง่าไร้สติที่เป็นผู้นำในคราวนี้มีชื่อว่า ปีเตอร์ ผู้อ่านคัมภีร์แห่งโบสถ์นั้น (reader-เป็นตำแหน่งที่จำเป็นในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้หนังสือ) ได้เห็นหญิงผู้นี้ (ไฮเปเชีย) เดินทางมาจากที่หนหนึ่งหนใด จึงได้พากันฉุดเธอลงจากรถม้า พวกเขานำตัวเธอไปยังโบสถ์ที่ชื่อว่า ซีซาเรียม (Caesarium) พวกเขาถอดเสื้อผ้าของเธอออกจนเปลือยเปล่า แล้วจึงถลกหนัง ฉีกเนื้อเธอเป็นชิ้น ๆ ด้วยเปลือกหอยที่คมกริบ จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเธอหมดลง พวกเขาเฉือนร่างเธอออกเป็นท่อน ๆ แล้วนำชิ้นส่วนเหล่านั้นไปยังสถานที่ที่เรียกว่า ซินารอน (Cinaron) แล้วเผามันที่นั่น"    ไฮเปเชียกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงจากแรงศรัทธาอันมืดบอด หลังการตายของเธออเล็กซานเดรียก็ยิ่งตกต่ำลง เมื่อปัญญาชนที่ศึกษาภูมิปัญญากรีกโบราณพากันลี้ภัยไปยังดินแดนอื่น บิชอปซิริลเองถูกตั้งคำถามว่า เขามีส่วนโดยตรงต่อการฆาตกรรมอันโหดร้ายดังกล่าวด้วยหรือไม่? ด้านโอเรสทีสได้รายงานเรื่องนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปและพยายามสอบสวนคดี แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากหาพยานไม่ได้ สุดท้ายเขาเองก็ต้องลาออกและลี้ภัยไปเช่นกัน    *หมายเหตุ ชื่อบทความที่ใช้คำว่า “คนแรก” ในที่นี้ เพื่อขยายความคำว่า “ปัญญาชนหญิง” ซึ่งในโลกโบราณปรากฏค่อนข้างน้อย มิได้หมายความว่า เธอคือ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มดคนแรกในประวัติศาสตร์” แต่อย่างใด