เต๋ – โอ้เอ๋ว: “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ความรักที่ไม่มีอะไรมากีดกันได้

เต๋ – โอ้เอ๋ว: “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ความรักที่ไม่มีอะไรมากีดกันได้
(คำเดือน - บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์)  “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ซีรีส์ LGBTQ+ เรื่องแรกของนาดาว บางกอก  กำกับโดย “บอส” นฤเบศ กูโน ผู้กำกับมือดีจาก “พี่น้องลูกขนไก่” และ “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กผู้ชาย 2 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็ก แต่มีเหตุทำให้แตกหักกัน ไม่ได้เจอกันอีก จนกระทั่งได้กลับมาเจอกันอีกในช่วงเทอมสุดท้ายก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย การกลับมาเจอกันในคราวนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้บรรยากาศสุดโรแมนติกของภูเก็ต อย่างไรก็ตาม นาดาวบางกอก ไม่เคยโปรโมตซีรีส์เรื่องนี้ว่าเป็น “ซีรีส์วาย” แต่ใช้ว่าเป็นซีรีส์ Romantic Comic of Age ซึ่งมีความใกล้เคียงกับซีรีส์ LGBTQ+ มากกว่าซีรีส์วาย เพราะทั้งจากการศึกษาหาความหมายของซีรีส์วาย ประกอบกับ การให้ความหมายของผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ สรุปได้ว่า ซีรีส์วาย เป็นซีรีส์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมที่ส่วนมากเป็นผู้หญิง ด้วยการใส่ฉากแสดงความรักของตัวละคร (ฉากชวนจิ้น ชวนให้ฟิน) ตามแบบฉบับของละครรักโรแมนติก และมักมีความเหนือจริง ไม่ตรงกับลักษณะการดำเนินชีวิตของกลุ่มเกย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ซีรีส์ LGBTQ+ จะเป็นซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ+ ที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง “ซีรีส์ LGBTQ+ มันค่อนข้างเล่าเจาะลึกเพศสภาพของคนที่เป็นเพศที่สาม มันอาจจะเห็นภาพความเป็นชีวิตจริงมากขึ้น ถ้าเทียบกับแปลรักฉันด้วยใจเธอ หลายคนบอกว่าเรื่องนี้ดูจะเป็น LGBTQ+ มากกว่า” - นฤเบศ กูโน แต่ไม่ได้หมายความว่าซีรีส์เรื่องนี้จะเหมาะสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น ทุกเพศทุกวัยสามารถรับชมได้ ซึ่งถือว่าซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ นักแสดงนำอย่าง “บิวกิ้น” พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ “พีพี” กฤษฏ์ อำนวยเดชกร เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ #แปลรัก ในแต่ละตอนสามารถขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ทั้งในประเทศไทยและเทรนด์โลก เพลง “กีดกัน” หนึ่งในเพลงประกอบซีรีส์ก็โด่งดังติดชาร์ตทั่วประเทศ โดยเนื้อเพลงนี้พูดถึงความรักที่ถูกกีดกันจากอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นแผ่นฟ้า ภูผา เวลา เขาพร้อมจะฝ่าฝันไป แต่โชคชะตามากีดกันเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เต๋ – โอ้เอ๋ว: “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ความรักที่ไม่มีอะไรมากีดกันได้ การเป็นซีรีส์ Coming of Age คงจะสมบูรณ์ไปไม่ได้หากตัวละครขาดการเรียนรู้ รู้จักตัวเอง และก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่  ในแปลรักฉันด้วยใจเธอ มีการพูดถึงกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเจอทุกคน ประกอบไปด้วยความสับสนในอัตลักษณ์ ความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น การยอมรับตนเอง และการเปิดเผยตนเอง  แต่ละบุคคลนั้นจะใช้เวลาในการพัฒนาอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนใช้เวลาไม่นาน บางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิต ขณะที่บางคนอาจจะไม่สามารถเดินทางไปถึงขั้นตอนการเปิดตัว ด้วยปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจที่จะเปิดตัว เช่น สภาพแวดล้อม บุคคลใกล้ชิด ความเชื่อทางศาสนา หรือ บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ได้ถูกเล่าผ่านทั้งเต๋ โอ้เอ๋ว และบาส โดยที่ทั้ง 3 ตัวละคร มีแง่มุมการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป โอ้เอ๋วเป็นตัวแทนของเกย์ที่เลือกเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์เฉพาะกับคนที่สนิทและไว้ใจเท่านั้น คน ๆ นั้นคือ เต๋ ซึ่งแน่นอนเมื่อเวลาที่โอ้เอ๋วอยู่กับเต๋ เขาสามารถแสดงตัวตนออกมาได้มากว่าอยู่กับคนอื่น  แม้ว่าโอ้เอ๋วจะยอมรับตนเองว่าเป็นเกย์ แต่ยังมีบางช่วงที่เขาไม่พอใจในตนเอง รู้สึกว่า ถ้าตนเองเป็นผู้หญิง เต๋คงจะหันมาชอบเขา  เห็นได้จากที่เขานำยกทรงมาสวมใส่ เพราะยกทรง และหน้าอกเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง แม้ว่าปกติแล้วกลุ่มเกย์ที่ออกสาว หรือมีความเป็นหญิงสูง จะนำผ้า หรือ เครื่องแสดงความเป็นหญิงของแม่ เช่น รองเท้าส้นสูง เครื่องสำอาง หรือ ชุดชั้นในมาทดลองใช้  หากตนเองรู้สึกดี จะนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาควบรวมเข้ากับอัตลักษณ์ของตน แต่โอ้เอ๋วไม่ได้อยากเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็น “ผู้หญิง” เขาเป็นเพียงเกย์ที่มีความพึงพอใจกับเพศชาย ดังนั้นโอ้เอ๋วจึงร้องไห้เจียนตาย เขารู้ดีว่าเต๋คงไม่สามารถรักเขาและครองคู่กันได้ เพราะเขาไม่ใช่ผู้หญิงนั่นเอง เขาต้องการให้เต๋รักเขาในแบบที่เขาเป็น นอกจากนี้การที่โอ้เอ๋วโพสต์รูปตนเองสวมยกทรงในอินสตาแกรม แต่เพียงไม่นานก็ลบ แสดงให้เห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดตัวต่อสาธารณชนว่าตนเองเป็นอะไรอีกด้วย ส่วนบาสเป็นตัวแทนของเกย์ที่เปิดเผยตนเอง ซึ่งคนมักจะเข้าใจว่าเกย์ที่เปิดเผยตนเองจะต้องเป็นเกย์สาว แต่จริง ๆ แล้วเกย์ที่เปิดเผยนั้นมีหลากหลายบุคลิก ลักษณะ แม้บาสจะมีบุคลิกนิ่ง เงียบ สุขุม ไม่ค่อยพูด แต่มีความชัดเจนต่อความรู้สึกของตนเอง กล้าบอกชอบโอ้เอ๋วกลางคลาสเรียน ต่อหน้าเพื่อน ๆ และ เหล่าซือ ยิ่งไปกว่านั้นตอนที่เป็นแฟนกับโอ้เอ๋วแล้ว บาสกล้าที่จะเดินจับมือกับโอ้วเอ๋วในพื้นที่สาธารณะ จนโอ้เอ๋วตกใจและถามบาส เพราะการที่ผู้ชายสองคนเดินจับมือกันในพื้นที่สาธารณะย่อมถูกสายตาของคนในสังคมจับจ้อง และอาจถูกลงโทษจากการละเมิดบรรทัดฐานของสังคมที่เชื่อว่าโลกนี้มีเพียงแค่ 2 เพศ   “ไม่อายหรอ” โอ้เอ๋วถาม  “ทำไมต้องอายอะ” บาสตอบพร้อมกับยิ้ม อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ ในกลุ่มสามารถยอมรับในความสัมพันธ์ของบาสและโอ้เอ๋วได้ โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงในสังคมในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่สามารถยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น ส่งผลให้บาสและโอ้เอ๋วสามารถจับมือ และจีบกันได้แม้แต่อยู่ต่อหน้ากลุ่มเพื่อน แต่สุดท้ายแล้วโอ้เอ๋วและบาสได้ยุติความสัมพันธ์ในฐานะคนรัก เพราะบาสรู้อยู่เต็มอกว่าคนที่โอ้เอ๋วรัก คือเต๋ ไม่ใช่เขา ขณะที่เต๋เป็นตัวแทนของกลุ่มเกย์ที่พึ่งค้นพบตนเอง จึงเป็นตัวละครที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แต่เดิมเต๋เป็นเด็กผู้ชายที่ถูกปลูกฝังมาในความเชื่อที่ว่า “ผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง” ทั้งจากบรรดทัดฐานทางสังคมที่ตีกรอบเอาไว้ และความคาดหวังของแม่ที่ต้องการให้ลูกชายมีแฟนและมีลูกสืบสกุลตามคติของคนจีน ซึ่งเต๋ได้ยึดมั่นในคติเพศนั้นมาตลอด เขาตามจีบเพื่อนผู้หญิงชื่อตาลอยู่ และเหมือนตาลเองก็จะมีใจให้เขา จนกระทั้งเต๋และโอ้เอ๋วได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ความเชื่อที่มีมาเริ่มสั่นคลอน เต๋เริ่มหวงโอ้เอ๋ว ไม่อยากให้โอ้เอ๋วให้ความสนใจคนอื่นมากกว่าตน โดยที่เขาไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงมีอาการแบบนี้ ดังเช่นในเนื้อเพลง “แปลไม่ออก” หนึ่งในเป็นเพลงประกอบซีรีส์เรื่องนี้   “ไม่เคยรู้ ไม่เคยถาม ไม่แน่ใจ คืออะไร  แต่ที่รู้ คือไม่อยาก จะต้องเสียเธอไป” ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เต๋สับสนในตัวเอง ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกของตนเองที่มีต่อโอ้เอ๋วคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ซีรีส์ยังไม่ได้ฟันธงลงไปว่าความรู้สึกของเต๋ที่มีต่อโอ้เอ๋วนั้นคือความรัก แต่เลือกให้ตัวละครได้ใช้เวลาในการสำรวจความรู้สึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป สิ่งหนึ่งที่นำมาช่วยให้เต๋ได้สำรวจความรู้สึกตัวเอง คือ มะพร้าว ก่อนหน้านี้เต๋ไม่ชอบมะพร้าวเอาเสียเลย แค่ได้กลิ่นก็บ่นเหม็น แต่ตอนนี้เต๋กลายเป็นคนที่ชอบมะพร้าวไปเสียแล้ว เพราะมันคือกลิ่นเดียวกับโอ้เอ๋ว นี่จึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางเพศ (sexual symbolism) รูปแบบหนึ่ง ด้วยการให้เต๋เอาเนื้อมะพร้าวและกระดาษคำตอบของโอ้เอ๋วที่เขียนด้วยปากกากลิ่นมะพร้าวมาสูดดมอย่างหื่นกระหาย ประหนึ่งอยากจะกินกลืนโอ้เอ๋วหมดทั้งตัว  แสดงอาการคลั่งรักออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาแสดงให้เห็นกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ สีเสื้อผ้าของเต๋และโอ้เอ๋ว แรกเริ่มเต๋จะแต่เสื้อในโทนสีฟ้าและน้ำเงิน ขณะที่โอ้เอ๋วจะใส่เสื้อโทนสีแดง แต่เมื่อเข้าสู่อีพีหลัง ๆ เต๋เริ่มใส่เสื้อผ้าโทนแดงหรือม่วง ขณะที่โอ้เอ๋วมีการใส่เสื้อสีฟ้า นั่นแสดงให้เห็นว่าทั้งสองคนยอมรับอีกฝ่ายเข้ามาในชีวิตจนขาดกันไม่ได้ ดอกชบาเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องนี้ เนื่องจากชบาเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย) อีกทั้งยังมีเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงบรรยากาศความเป็นภูเก็ตและภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงความเป็นจีนได้อีกด้วย โดยดอกชบาสีแดงสื่อความหมายแทนโอ้เอ๋ว เพราะมีฉากที่โอ้เอ๋วและเต๋นำดอกชบามาทัดหูเล่นกัน ส่วนดอกชบาสีม่วงแทนตัวตาล มาจากที่เต๋แอบเห็นเสื้อในสีม่วงลายดอกชบาของตาล ซึ่งการเลือกชบาของเต๋ที่ปรากฏในเรื่องหลายครั้ง เช่น ใส่เสื้อสีฟ้าลายดอกชบาสีแดง หรือ เลือกระบายสีแดงในดอกชบาแทนที่จะเป็นสีม่วง ทำให้รู้ว่าเขาได้เลือกโอ้เอ๋วแล้ว แม้ว่าทั้งเต๋และโอ้เอ๋วจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทั้งคู่เลยเถิดก้าวผ่านเส้นของคำว่าเพื่อนไปแล้ว แต่เต๋ยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านบรรทัดฐานของสังคมไปได้ เขาไม่ต้องการให้ใครมองว่าเขาแตกต่างจากคนอื่น เป็น “ตัวประหลาด” ยิ่งได้เห็นเพื่อนในกลุ่มมีแฟนเป็นผู้หญิงแล้ว เขายิ่งไม่กล้าข้ามกับดักทางเพศนี้ไปได้ เต๋จึงต้องปฏิเสธ เมื่อโอ้เอ๋วถามถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่   “กูว่า เดี๋ยววันนึง กูก็เลิกรู้สึกกับมึงอยู่ดี” เต๋ปฏิเสธ  “งั้นมึงก็เลิกตั้งแต่วันนี้เลย มึงไม่ต้องเป็นเพื่อนกับกูอีก” โอ้เอ๋วกล่าวและเดินจากไป เมื่อถึงวันปิดคลาสเรียนพิเศษ บาสได้สารภาพรักกับโอ้เอ๋ว และทั้งคู่ตกลงเป็นแฟนกัน ทำให้เต๋เสียใจมาก เขารู้แล้วว่าตนเองนั้นชอบโอ้เอ๋วมากขนาดไหน เต๋มีอาการเซื่องซึมเหมือนคนอกหัก จนพี่ชายต้องเข้ามาถามไถ่ด้วยความเป็นห่วง เต๋สารภาพกับพี่ชายว่าตนชอบโอ้เอ๋ว แต่เต๋ไม่สามารถทำตามใจตนเองได้ เพราะโอ้เอ๋วเป็นผู้ชาย พี่ชายจึงปลอบน้องว่า ไม่เห็นเป็นไร ต่อให้มีคนไม่โอเคกับการที่เต๋จะชอบผู้ชาย แต่เขาโอเคและยอมรับในสิ่งที่เต๋เป็นได้ และนี่เป็นการปลดล็อค สร้างความมั่นใจในการยอมรับตนเองของเต๋ ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดเผยตนเองกับพี่ชายของเต๋ด้วย ถือว่าเต๋ได้สำเร็จขั้นตอนกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เต๋ – โอ้เอ๋ว: “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ความรักที่ไม่มีอะไรมากีดกันได้ “ถ้าน้องกูจะชอบผู้ชาย กูโอเค...  ...มึงจะชอบใครก็ได้ ไม่แปลกเลยเว้ย มึงชอบใครก็ได้มาตั้งนานแล้ว” ซีนนี้เป็นหนึ่งในซีนการเผยตัวที่ดีที่สุดของซีรีส์ไทย เนื่องจากโดยปรกติแล้ว หากจะมีการเปิดตัวกับครอบครัวว่าเป็น LGBTQ+ มักจะให้ตัวละครเปิดตัวกับแม่ เพราะเนื้อเรื่องปูมาให้ตัวละครเหล่านั้นสนิทและไว้ใจแม่มากที่สุด อีกทั้งแม่ยังสัญลักษณ์ของความอบอุ่น และความวางใจ และแม่มักสามารถยอมรับในตัวตนของลูกได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัว ดังนั้นการให้เต๋เปิดตัวกับพี่ชายจึงเป็นการทลายกำแพงขนบเดิม ๆ ที่คิดว่าผู้ชายจะไม่สามารถยอมรับการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ นอกจากนี้การปลอบประโลมของพี่ชายเต๋สามารถสัมผัสได้ เข้าถึงได้ และสร้างกำลังใจให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ ได้จริง ในที่สุดแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าที่คนในครอบครัวยอมรับในตัวตนของเราได้อีกแล้ว เต๋เป็นคนที่ปากหนัก ปากไม่ตรงกับใจ ไม่ง้อใครก่อน เวลาที่ทะเลาะกับโอ้เอ๋ว โอ้เอ๋วจะต้องง้อก่อนเสมอ แต่ไม่ใช่กับครั้งนี้ เต๋มาวิ่งแก้บนกับโอ้เอ๋วด้วยตามที่สัญญาเอาไว้ ทั้งคู่ได้กลับมาคุยกันอีกครั้ง คราวนี้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลับมาจูนติดกันอย่างรวดเร็ว โอ้เอ๋วขอให้เต๋อย่าหายไปจากชีวิตของเขาอีก  เขาสามารถทนได้ไม่ว่าจะต้องอยู่ในฐานะใดก็ตาม เต๋จึงได้ตอบว่า เต๋ – โอ้เอ๋ว: “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ความรักที่ไม่มีอะไรมากีดกันได้ “ถ้ากูจะเป็นอะไรก็ได้ กูขอเป็นแฟนมึงได้ป่าววะ” ในที่สุดทั้งคู่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ บรรทัดฐานทางสังคมไม่มีผลอะไรกับคนทั้งคู่อีกแล้วสุดท้ายเต๋ได้เรียนรู้ว่า ที่ผ่านมา อุปสรรคเดียวที่คอยกีดกันความรักของเขาและโอ้เอ๋วนั้นไม่ใช่แผ่นฟ้า ภูผา เวลา หรือแม้แต่โชคชะตา แต่กลับเป็นตัวของเขานั่นเอง แปลรักฉันด้วยใจเธอจบลงไปอย่างสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว แต่นาดาวบางกอกได้เริ่มดำเนินการสร้างพาร์ต 2 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องของทั้งคู่ที่มาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ต้องมารอดูกันว่าในพาร์ต 2 นี้ จะสามารถสร้างปรากฏการณ์อะไรได้อีก จะนำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ+ ออกมาในรูปแบบใด และทิศทางความสัมพันธ์ของเต๋และโอ้เอ๋วจะเป็นไปอย่างไร จะมีอุปสรรคใดมากีดกันคนทั้งคู่ได้อีก มาลุ้นไปพร้อมกันวันที่ 11 มีนาคม 2564 ทาง LINETV    เรื่อง: กฤตพล สุธีภัทรกุล   อ้างอิง กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2563). การประกอบสร้างตัวละครชายรักชายในซีรีส์วาย (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ปุรินทร์ นาคสิงห์. (2547). เกย์: กระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ภาคภูมิ เตชะอนันต์วงศ์. (2555). การยอมรับตนเองด้านความโน้มเอียงทางเพศของชายรักชาย : การวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. A day. (ผู้ผลิต). (2563). The Hardest Brief EP.08 แปลรักของ LGBTQ+ ให้เป็น ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’. (พอดแคสต์). บรรยายโดย ชณัฐ วุฒิวิกัยการ และ นฤเบศ กูโน. กรุงเทพฯ: บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด.