อิกเนเชียส ดอนเนลลี ผู้จุดประกายให้คนตามหา "แอตแลนติส"

อิกเนเชียส ดอนเนลลี ผู้จุดประกายให้คนตามหา "แอตแลนติส"

เมื่อราว 2,400 ปีก่อน เพลโต ปราชญ์ชาวกรีกได้เขียนถึง "แอตแลนติส" อาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่ รุ่มรวยด้วยวัตถุ แต่มัวหมองด้วยศีลธรรม ก่อนล่มสลายและจมลงสู่ใต้ท้องทะเล ก่อนยุคสมัยของเขาเกินกว่า 9,000 ปี นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่างานของเพลโตเป็นการเขียนเชิงอุปมานิทัศน์หรือการใช้สัญลักษณ์แฝงคติแทนการสื่อความหมายโดยตรง เพื่อสอนเรื่องของปรัชญาเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์

แต่ก็มีหลายคนอ่านงานของเพลโตแล้วไม่คิดเช่นนั้น กลับเชื่อว่าแอตแลนติสที่เพลโตอ้างถึงมีตัวตนอยู่จริงๆ และเป็นสิ่งที่จะช่วยอธิบายถึง "ความบังเอิญ" อย่างไม่น่าเชื่อหลายอย่าง อย่างเช่นความคล้ายคลึงของอาณาจักรโบราณที่อยู่ห่างไกลกัน ในฐานะที่แอตแลนติสคือต้นกำเนิดของวิทยาการต่างๆ

หนึ่งในผู้ที่เชื่อเช่นนั้นก็คือ อิกเนเชียส ดอนเนลลี (Ignatius Donnelly) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากมินเนโซตา ทั้งยังเป็นนักเขียนและนักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Atlantis: The Antediluvian World" เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1882 ซึ่งนับเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุด และทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจแอตแลนติสในฐานะอาณาจักรโบราณที่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

บทแรกของหนังสือเล่มนี้บอกถึงวัตถุประสงค์ 13 ประการที่ดอนเนลลีต้องการพิสูจน์ ซึ่งนอกเหนือไปจากการมีอยู่ของแอตแลนติสแล้ว เขายังเสนอว่าแอตแลนติสคืออารยธรรมแรกของมนุษย์ที่พ้นจากความป่าเถื่อน เป็นอาณาจักรในอุดมคติก่อนยุคน้ำท่วมโลกที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของอารยธรรมต่างๆ ในชื่อที่ต่างกันไป เช่น สวนเอเดนในกลุ่มความเชื่ออับราฮัม หรือแอสการ์ดในกลุ่มสแกนดิเนเวีย และอาณานิคมแห่งแรกของแอตแลนติสก็คืออียิปต์ อารยธรรมและความเชื่อของอียิปต์คือการผลิตซ้ำอารยธรรมของแอตแลนติส เป็นต้น

การเผยแพร่ผลงานในครั้งนั้น กลายเป็นกระแสให้คนหันมาวิเคราะห์ข้อเขียนของเพลโตในฐานะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กันมากขึ้น เพื่อหาว่าแอตแลนติสที่แท้จริงนั้นตั้งอยู่ที่ไหนแน่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีนักวิจัยที่ออกตามล่าหาแอตแลนติสกันอยู่ ขณะเดียวกันก็มีนักวิจัยบางสายที่เชื่อว่าแอตแลนติสแบบที่เพลโตบรรยายอาจไม่มีอยู่จริง แต่น่าจะมีอาณาจักรบางแห่งที่เป็น "แรงบันดาลใจ" ให้กับเพลโต มากกว่าที่เขาจะแต่งขึ้นมาจากจินตนาการลอยๆ

หลังประสบความสำเร็จกับหนังสือแอตแลนติส ปีต่อมา (1883) ดอนเนลลีออกหนังสือเล่มใหม่ในชื่อ "Ragnarok: The Age of Fire and Gravel" เป็นหนังสือที่ขยายต่อความเชื่อเรื่องการล่มจมของอารยธรรมยิ่งใหญ่ในอดีต อันเป็นผลจากการชนของอุกกาบาตเมื่อราวหมื่นปีก่อนทำให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์และน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนมนุษย์ที่มีอารยธรรมต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลายไปเป็นมนุษย์ถ้ำอยู่ตามป่าตามเขา

นอกจากนี้ ดอนเนลลียังเขียนหนังสือเรื่อง "The Great Cryptogram" เผยแพร่เมื่อปี 1888 เป็นงานเขียนที่เขาเสนอว่า งานประพันธ์อันโด่งดังทั้งหลายของ วิลเลียม เชกส์เปียร์ แท้จริงแล้วเป็นฝีมือของ ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาและขุนนางระดับสูงของอังกฤษ เบื้องต้นงานของเขาทำให้หลายคนงุนงงไปกับทฤษฎีถอดรหัสตัวเลขต่างๆ ของเขา จนรู้สึกไขว้เขวไปกับงานเขียนที่อัดแน่นด้วยข้อมูลของเขา

เขายังเดินทางไปถึงอังกฤษ เพื่ออภิปรายทฤษฎีของเขาถึงออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ มีการลงคะแนนเสียงจากผู้ฟังว่าทฤษฎีของเขาเชื่อถือได้หรือไม่? ซึ่งตอนนั้นคะแนนเสียงออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ ทำให้ดอนเนลลีพึงพอใจที่ทฤษฎีของเขาได้รับการยอมรับ (แม้จะเพียงบางส่วน) ถึงบ้านเกิดของเชกสเปียร์

แต่ภายหลังเมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด มีการพิสูจน์ว่าตัวเลขต่างๆ ของเขาที่ยกมา ไม่ได้สอดคล้องกับข้ออ้างตามทฤษฎี ข้อเสนอของเขาก็ตกไปในแวดวงวิชาการ (เช่นเดียวกับงานชิ้นก่อนๆ)