อิกนาซ เซมเมลไวส์: บิดาแห่งการล้างมือ กับจุดจบแสนอาภัพ ผู้บุกเบิกการฆ่าเชื้อในวงการแพทย์

อิกนาซ เซมเมลไวส์: บิดาแห่งการล้างมือ กับจุดจบแสนอาภัพ ผู้บุกเบิกการฆ่าเชื้อในวงการแพทย์
โลกอาจได้รู้จักชื่อของ อิกนาซ ฟิลิปป์ เซมเมลไวส์ (Ignaz Philipp Semmelweis) เร็วกว่านี้ หากเขามีอายุยืนยาวขึ้นอีกสัก 20 ปี เพราะแพทย์ชาวฮังการีเชื้อสายเยอรมันคนนี้ คืออีกหนึ่งตำนานผู้บุกเบิกการทำหัตถการปลอดเชื้อด้วย ‘การล้างมือ’ ที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงหลังคลอดบุตรไปได้มากมาย เขาคือผู้เริ่มทำสงครามระหว่างคนกับเชื้อโรค ในยุคสมัยที่โลกยังไม่รู้จักคำว่า ‘เชื้อโรค’ ด้วยซ้ำไป อิกนาซ เซมเมลไวส์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1818-1865 เขาเกิดที่กรุงบูดาเปสต์ หรือที่ในยุคนั้นเรียกว่าเมืองบูดา หลังจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนา ในปี 1844 เขาก็เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ประจำแผนกสูตินรีเวช ที่โรงพยาบาลประจำเมืองเวียนนา (Vienna General Hospital) ซึ่งในยุคนั้นขึ้นชื่อว่ามีวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในยุโรป เซมเมลไวส์ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ จนกลายเป็นแพทย์หนุ่มฝีมือดีของโรงพยาบาลในช่วงเวลานั้น ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของโรงพยาบาล ทำให้มีคนไข้แห่แหนมารับการรักษาที่นี่จำนวนมาก อาคารแผนกสูตินรีเวชที่เขาประจำอยู่ถึงขนาดต้องขยายพื้นที่เป็น 2 ตึก เพื่อรองรับคนไข้ที่อยากมาฝากครรภ์และทำคลอดที่นี่ ทั้งสองตึกนี้จะเปิดให้บริการสลับวันกันไป เพื่อลดจำนวนความหนาแน่น แต่แล้วช่วงปี 1846 ก็เกิดข่าวลือประหลาดว่ามีอาถรรพ์บางอย่างเกิดขึ้นในอาคารสูตินรีเวชตึกที่ 1 เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่มาทำคลอดที่นี่มักจะเสียชีวิตหลังคลอด ไม่แม่ตายแล้วเด็กรอด ก็ตายทั้งแม่และเด็ก ไม่มีใครรู้ว่าปีศาจที่เอาชีวิตแม่และเด็กเหล่านี้ไปคือตัวอะไร แต่มันพรากชีวิตผู้คนไปแล้วเป็นจำนวนมาก ข่าวลือนี้ถูกเล่าปากต่อปาก ต่อ ๆ กันไปในหมู่หญิงตั้งครรภ์ในกรุงเวียนนา จนทำให้พวกเธอหลีกเลี่ยงที่จะเข้ารับการรักษาในอาคารสูตินรีเวชตึกที่ 1 อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยตึกที่ 1 สูงกว่าตึกที่ 2 เกือบ 5 เท่า โดยพวกเธอเกือบทั้งหมดตายด้วยอาการ ‘ไข้หลังคลอด’ เริ่มจากมีไข้สูง หนาวสั่น ท้องบวม และมีน้ำสีขุ่นกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากช่องคลอด หลายครั้งที่อาการเหล่านี้ทุเลาลงจนดูคล้ายว่ากำลังจะหาย แต่แล้วผู้ป่วยก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ในอาคารสูตินรีเวชตึกที่ 2 จะมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการไข้หลังคลอดบ้าง แต่ก็ยังเกิดขึ้นน้อยกว่าตึกที่ 1 นายแพทย์อิกนาซ เซมเมลไวส์ ในวัย 28 ปี จึงเริ่มค้นหาคำตอบของปรากฎการณ์นี้ ทั้ง ๆ ที่ตึกผู้ป่วยทั้งสองตึกแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ขนาดห้องก็เท่ากัน จำนวนคนป่วยต่อหมอก็เท่ากัน ผู้ป่วยที่เข้ามาคลอดก็เหมือน ๆ กัน  แล้วเหตุใดอัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 2 ตึกจึงแตกต่างกันมากนัก? เซมเมลไวส์ค้นพบว่า สิ่งเดียวที่สองตึกนี้แตกต่าง คือ บุคลากรที่มาทำคลอด อาคารสูตินรีเวชตึกที่ 1 ทำคลอดโดยหมอและนักเรียนแพทย์ แต่ตึกที่ 2 นั้นเป็นสถานที่ทำงานของเหล่าพยาบาลผดุงครรภ์ แต่พวกเขามีวิธีทำคลอดแตกต่างกันอย่างนั้นหรือ? คำตอบคือไม่ แล้วอะไรกันเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอและนักเรียนแพทย์ทำให้มีคนตายมากกว่าพยาบาล เซมเมลไวส์พบเบาะแสสำคัญในช่วงต้นปี 1847 เมื่อนายแพทย์จาค็อบ คอลเลตชกา (Jakob Kolletschka) หมอซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานของเขาเสียชีวิต หลังจากที่เซมเมลไวส์ได้อ่านรายงานก็พบว่าสาเหตุการตายของคอลเลตชกามีอาการคล้ายเหล่าผู้หญิงที่ตายหลังคลอด คือ มีไข้ หนาวสั่น เมื่อผ่าศพดูแล้วก็พบของเหลวสีขุ่นอยู่ในร่างกาย แต่เพื่อนของเขาเป็นผู้ชาย ท้องไม่ได้ ทำไมถึงมีอาการเช่นนี้ เขาสืบจนทราบว่าคอลเลตชกาเริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากผ่าชันสูตรศพ โดยก่อนหน้านั้นเขาได้รับบาดแผลขณะกำลังชันสูตรร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวที่ตายจากอาการไข้หลังคลอด แม้จะยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แต่เซมเมลไวส์ก็คาดเดาว่า บางอย่างน่าจะถูกถ่ายทอดจากศพมาสู่เพื่อนของเขา ยิ่งเมื่อภาระงานของแพทย์ในยุคนั้นก็มีมาก หลังจากผ่าชันสูตรศพในช่วงเช้าเสร็จ พอถึงช่วงบ่ายเหล่าหมอและนักศึกษาแพทย์ก็เข้าทำคลอดและตรวจภายในต่อทันที นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ ‘บางอย่าง’ เดินทางจากศพ ผ่านมือหมอ และเข้าสู่ร่างกายของหญิงใกล้คลอด จนทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมากต่อปี แม้ข้อสันนิษฐานของเขาจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ แต่เซมเมลไวส์ก็เริ่มตั้งกฎให้เหล่าแพทย์ปฏิบัติในเวลาทำงาน โดยหลังจากผ่าศพเสร็จแล้ว หมอและนักเรียนแพทย์ทุกคนจะต้องล้างมือด้วยน้ำผสมคลอรีนก่อนออกไปทำการรักษา เขายังทำป้ายประกาศมาติดไว้ที่หน้าประตูห้องคลอดว่า “ใครก็ตามที่จะผ่านประตูนี้ต้องล้างมือ” อีกด้วย ผลลัพธ์จากคำสั่งของเซมเมลไวส์ ทำให้เดือนแรกอัตราการตายเริ่มมีแววลดลง แต่เมื่อเข้าเดือนที่สองก็กลับเพิ่มขึ้นมาอีก เขาคิดว่านี่อาจเป็นความหละหลวม หย่อนยานในการปฏิบัติตามกฎของแพทย์ เซมเมลไวส์จึงเริ่มลงมาคุมเข้มด้วยตัวเอง พอเห็นใครไม่ล้างมือก็จะรีบเดินไปต่อว่า กระทั่ง 1 ปีหลังจากนั้นมา อัตราเสียชีวิตในหอผู้ป่วย 1 จากเดิมที่สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ลดลงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ เท่านั้น ไอเดียของเซมเมลไวส์ได้ผลดีจนเริ่มเป็นที่กล่าวขาน แม้เขาจะดื้อด้านไม่ยอมเขียนรายละเอียดการค้นพบ และตีพิมพ์ออกมาเป็นงานวิจัยทางการแพทย์ แต่วิธีการล้างมือและผลลัพธ์ของเซมเมลไวส์ก็เริ่มเป็นที่สนใจของเหล่าแพทย์ทั่วยุโรป  แต่แน่นอนว่ามีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนค้าน แพทย์จำนวนมากตั้งคำถามกับการล้างมือของเขาว่า ทำไมมันถึงช่วยผู้ป่วยได้? ทำไมต้องล้างด้วยคลอรีน? สิ่งที่ต้องถูกล้างคืออะไร? ยุคนั้นยังไม่มีใครรู้จักแบคทีเรีย หรือเชื้อโรค เซมเมลไวส์เองก็ไม่สามารถหาคำอธิบายมาตอบคำถามเหล่านั้นได้ เมื่อเขาพ่ายแพ้ในการโต้เถียง แทนที่จะกลับไปทำข้อมูล สรุปเป็นงานวิจัยออกมาสู้กันใหม่ เซมเมลไวส์กลับใช้วิธีด่าทอด้วยความก้าวร้าว และมองคนที่ดูถูกวิธีการของเขาว่าเป็นศัตรู เป็นคนโง่ และเป็นฆาตกร เมื่อการโต้เถียงเชิงวิชาการ กลายเป็นความเกลียดชังส่วนตัว การจะโน้มน้าวให้คนเชื่อถือจึงยากไปกันใหญ่ เดือนมีนาคม ปี 1849 เซมเมลไวส์ถูกปฏิเสธการต่อสัญญาว่าจ้างจากโรงพยาบาลเวียนนา นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีที่เขาบุกเบิกการล้างมือ ทำให้จากนายแพทย์มือทองที่ควรจะเป็นที่ยกย่อง เพราะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้จำนวนมาก กลับกลายเป็นหมอตกงานแทนเสียอย่างนั้น เซมเมลไวส์หนีไปทำงานที่โรงพยาบาลเล็ก ๆ ในบ้านเกิด เขายังนำการล้างมือไปใช้ จนสามารถลดอัตราการตายหลังคลอดได้เหลือน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ โชคร้ายที่หลังจากเวลาผ่านไป กราฟชีวิตของเขาก็ดิ่งลงเรื่อย ๆ เซมเมลไวส์เริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หลง ๆ ลืม ๆ และวิตกจริต นับวันพฤติกรรมของเขามีแต่จะยิ่งแปลกประหลาด จนคนรอบข้างหวาดผวา เขาจึงถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่สถานกักกันคนโรคจิต ที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียนนา ถึงจะบอกว่าไปรักษา แต่ยุคสมัยนั้นก็ยังไม่มีการรักษาโรคทางจิตแท้จริงเกิดขึ้น สถานกักกันดังกล่าวจึงมีลักษณะเหมือนที่กักกันคนบ้า เพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหาในสังคม เซมเมลไวส์ที่เกิดอาการคุ้มคลั่ง จนพยายามหนีออกจากโรงพยาบาล ถูกจับและโบยตีอย่างหนัก เขาอยู่ที่สถานกักกันได้ไม่นานก็ล้มป่วย และเสียชีวิตจากบาดแผลที่ติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นโรคที่เขาพยายามต่อสู้มาตลอดหลายปี ปี 1865 อิกนาซ เซมเมลไวส์ เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยวัยเพียง 47 ปีผู้บุกเบิกการฆ่าเชื้อในวงการแพทย์ที่มีจุดจบแสนอาภัพ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าช่วงเวลา 20 ปีต่อจากนั้น จะมีนายแพทย์ที่ชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ ค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดหนองและการอักเสบ ทั้งยังมีแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ โจเซฟ ลิสเตอร์ นำกรดคาร์บอลิค หรือที่รู้จักกันในนาม ฟีนอล (phenol) มาทำเป็นยาฆ่าเชื้อโรค จนสามารถลดอัตราการติดเชื้อจากการผ่าตัดลงได้     ที่มา หนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ โดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา http://broughttolife.sciencemuseum.org.uk/broughttolife/people/ignazsemmelweis https://www.google.com/doodles/recognizing-ignaz-semmelweis-and-handwashing https://www.npr.org/sections/health-shots/2015/01/12/375663920/the-doctor-who-championed-hand-washing-and-saved-women-s-lives https://edition.cnn.com/2020/03/20/health/ignaz-semmelweis-handwashing-discovery-trnd/index.html