‘อิเกีย สุขุมวิท’ จาก ‘ชานเมือง’ สู่การบุก ‘ดาวน์ทาวน์’ ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีของ ‘อิเกีย’ ประเทศไทย

‘อิเกีย สุขุมวิท’ จาก ‘ชานเมือง’ สู่การบุก ‘ดาวน์ทาวน์’ ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีของ ‘อิเกีย’ ประเทศไทย
‘อิเกีย’ (IKEA) ถือเป็นบริษัทค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ‘อิงวาร์ คัมพรั’ (Ingvar Kamprad) ชาวสวีเดนได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2486 และปัจจุบันมีจำนวนสโตร์มากกว่า 469 แห่งใน 63 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ได้เข้ามาปักหมุดดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2554 ซึ่งวันนี้กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองกับการประกาศเปิดตัวสโตร์แห่งที่ 4 ‘อิเกีย สุขุมวิท’ ที่จะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2566 เหตุเพราะว่าที่ผ่านมาอิเกียจะยึดพื้นที่เปิดสาขาตามย่านชานเมืองเป็นหลัก แต่ที่นี่จะเป็นสโตร์แห่งแรกที่อยู่ในดาวน์ทาวน์ และเป็นสโตร์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในคอนเซ็ปต์ City-Centre Store กลยุทธ์สำคัญในการขยายสาขาใหม่ของอิเกียทั่วโลก ข่าวสำคัญนี้ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย ‘ลีโอนี่ ฮอสกิ้น’ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม ให้เหตุผลที่เลือกวันนี้เพราะเป็นวันเริ่มต้นเทศกาล Midsummer ของสวีเดน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเพาะปลูกของชาวสวีเดน เปรียบเสมือนการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับโปรเจกต์นี้ที่จะเป็นเหมือน ‘เมล็ดพันธุ์ใหม่’ ของย่านสุขุมวิท
“การนำคอนเซ็ปต์นี้มาเปิดในไทย เราใช้เวลาศึกษาและเตรียมการกันสักระยะหนึ่งตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะระบาด เพราะอิเกียต้องการเข้าถึงผู้คนให้มากและง่ายขึ้นในทุกแง่มุม ดังนั้นการเปิดสโตร์ย่านใจกลางเมืองตอบโจทย์เราในเรื่องนี้” ลีโอนี่กล่าว
ย้อนเส้นทาง10ปีที่ผ่านมาอิเกียประเทศไทย สำหรับจุดเริ่มต้นการเดินทาง ‘อิเกีย’ ในไทยนั้น เริ่มเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 กับการเปิดสาขาแรกบนพื้นที่ 44,000 ตร.ม. ที่ย่าน ‘บางนา’ ก่อนจะเริ่มขยายพื้นที่บริการไปยังต่างจังหวัดในปี 2558 ด้วยการเปิดศูนย์สั่งซื้อและรับที่ ‘ภูเก็ต’ (ตอนนี้ได้พัฒนาให้เป็นสโตร์ขนาดเล็กบนพื้นที่ 2,198 ตร.ม. ให้ลูกค้ามาซื้อและรับสินค้ากลับบ้านได้เลย) จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอิเกีย ประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 2561 เมื่อเปิดสโตร์แห่งที่ 2 ‘บางใหญ่’ โดยสาขานี้มีพื้นที่ถึง 50,278 ตร.ม. ถือเป็นสโตร์ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นอิเกียแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสโตร์ให้มีการเชื่อมต่อทางเข้า-ออกกับศูนย์การค้า เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้มาใช้บริการ และแน่นอนเมื่อโลกดิจิทัลมาแรง อิเกียในไทยจึงจำเป็นต้องเดินเกมให้ทัน ด้วยการเดินหน้าเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ และ Omni Channel ให้ลูกค้าสามารถชอปได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทาง IKEA.co.th ที่เปิดให้บริการในปี 2562 และเปิดบริการ Click&Collect ในปี 2563 ในปี 2564 เราได้เห็นบริการใหม่สำหรับตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยจากอิเกียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิด Planning Studio การมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำออกแบบในการตกแต่ง และสามารถชำระเงินได้ตามงบประมาณที่มี, บริการ IKEA for Business สำหรับขยายบริการแบบเข้าถึงลูกค้ากลุ่ม business ขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง, Circular Shop บริการรับซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์มือสองของอิเกีย และ Recycle Centre การให้นำขยะมารีไซเคิลเพิ่มมูลค่า ฯลฯ ยึดใจกลางเมืองครั้งแรก ขณะที่ปี 2565 จะเป็นอีกก้าวสำคัญของอิเกียในไทย กับการเปิดสโตร์แห่งที่ 4 อิเกีย สุขุมวิท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 12,000 ตร.ม. ของชั้น 3 The Emsphere ศูนย์การค้าแห่งใหม่ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่จะเปิดให้บริการประมาณช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเป็นการบุกพื้นที่ใจกลางเมืองครั้งแรกของอิเกีย หลังจากที่ผ่านมายึดพื้นที่ชานเมืองเป็นหลัก ลีโอนี่อธิบายว่า คอนเซ็ปต์ City-Centre Store การเปิดสาขาตามย่านใจกลางเมืองทางอิเกียได้เริ่มทดลองมาตั้งแต่ปี 2561 และมีการเปิดแล้วในหลายประเทศ อาทิ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เวียนนา ประเทศออสเตรีย และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนามาจาก Pop-up Store เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด แต่อิเกีย สุขุมวิท จะเป็นสโตร์เต็มรูปแบบเหมือนกับสาขาปกติ มีทั้งโชว์รูม มาร์เก็ตฮอลล์ และร้านอาหาร ทว่าอาจมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก     ส่วนทำไมต้องทำเล ‘สุขุมวิท’ นั่นเพราะว่าสุขุมวิทเป็นแลนด์มาร์คของโลก ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเดินทางที่สะดวก เพราะอยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ทั้งสถานี BTS พร้อมพงษ์ และแยกอโศกที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT แถมยังมีศักยภาพมีคนอยู่อาศัยถึง 300,000 ครัวเรือน ในรอบรัศมี 5 กิโลเมตร เมื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทางลีโอนี่เองเชื่อว่าความต้องการในการซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านย่อมตามมาอย่างแน่นอน  ความท้าทายที่มากับก้าวใหม่ แม้สโตร์แห่งที่ 4 ดูจะตอบโจทย์หลายอย่างที่อิเกียต้องการ ขณะเดียวกันก็นำความท้าทายมาให้ไม่น้อย นั่นเพราะว่าปกติอิเกียจะเน้นบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำ ด้วยการขายของแบบวอลุ่มใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ในราคาถูก ซึ่งการมีพื้นที่ขายขนาดใหญ่จะช่วยเรื่องนี้ได้  ขณะที่การเปิดสโตร์ย่านใจกลางเมืองแห่งแรก จะมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของพื้นที่ จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่า อิเกีย ประเทศไทย จะแก้อย่างไรให้สามารถคงจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ได้ การปิดจุดอ่อนนี้ เบื้องต้นลีโอนี่ได้วางแผนจะใช้ศักยภาพของสาขาบางนาและบางใหญ่เข้ามาช่วยในเรื่องการลอจิสติกส์และจัดส่งสินค้า โดยสาขาบางนา จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการส่งสินค้าตรงถึงบ้านลูกค้า ขณะที่สาขาบางใหญ่ จะเข้ามามีส่วนช่วยในการเติมสินค้าภายในสโตร์สุขุมวิท   ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย แต่ลีโอนี่บอกว่า การประกาศบุกใจกลางเมืองครั้งแรกของอิเกีย ประเทศไทย ถือเป็น ‘Perfect Timing’ เพราะได้โลเคชันและพาร์ทเนอร์ที่ ‘ใช่’ รวมถึงมีทีมงานที่พร้อม โดยในอนาคตอิเกีย ประเทศไทยยังมีแผนขยายสโตร์ไปตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น เชียงใหม่, โคราช และขยายสโตร์ที่ภูเก็ตให้ใหญ่ขึ้น เพราะเธอเองเชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตและขยายธุรกิจไปได้อีกมาก