อิลฮาน โอมาร์: จากผู้ลี้ภัยสงคราม สู่สตรีมุสลิมคนแรกแห่งสภาคองเกรส

อิลฮาน โอมาร์: จากผู้ลี้ภัยสงคราม สู่สตรีมุสลิมคนแรกแห่งสภาคองเกรส
เธอคือผู้ลี้ภัยคนแรกที่ได้เข้าสภา ผู้หญิงคนแรกที่สวมฮิญาบ และหนึ่งในสองสตรีมุสลิมคนแรกแห่งสภาคองเกรส ‘อิลฮาน โอมาร์’ (Ilhan Omar) ในปี 2018 โอมาร์จากพรรคเดโมแครตคว้าชัยเหนือผู้เข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันในเขต 5 ของรัฐมินนิโซตา ส่งผลให้เธอเป็นสตรีคนแรกที่พ่วงท้ายด้วยตำแหน่งมากมาย ตั้งแต่ผู้ลี้ภัย ไปจนถึงสตรีชาวมุสลิมสองคนแรกที่ได้เดินเข้าสภาคองเกรสร่วมกับ ‘ราชิดา ทะลีบ’ (Rashida Tlaib) สตรีเหล็กโอมาร์เดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด เพราะการเป็นผู้ลี้ภัยสอนเธอให้รู้ถึงคุณค่าของประชาธิปไตยในวันที่ไม่มี โดยนโยบายของเธอมุ่งเน้นการส่งเสริมสิทธิสตรี การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัย รวมไปถึงความเท่าเทียมทางการศึกษา และการจัดการภาวะโลกร้อน แต่กว่าโอมาร์ในวัย 36 ปีจะสามารถคว้าเก้าอี้ในสภาคองเกรสมาครองได้ ชีวิตของเธอกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค และการต้องรับคำดูถูกเหยียดหยาม (Hate Speech) จากคนมากมาย ลามไปถึงขั้นถูกขู่ฆ่า นั่นเพราะเธอเป็นชาวโซมาเลียที่เพิ่งได้รับสัญชาติอเมริกันเมื่อปี 2000 แต่ก่อนหน้านั้น เธอเป็นเด็กสาวชาวมุสลิมที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายผู้ลี้ภัยที่เคนยา จากโซมาเลียสู่ค่ายผู้ลี้ภัย ณ เมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย โอมาร์ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1982 ภายหลังชนวนสงครามกลางเมืองโซมาเลียเริ่มปะทุในปี 1980 หลังจากที่รัฐบาลของ ‘โมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี’ ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในประเทศ ส่งผลให้มีกลุ่มผู้ต่อต้านมากมาย และถึงแม้รัฐบาลของบาร์รีจะหมดอำนาจไปในปี 1991 แต่สงครามช่วงชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ กลับยังดำเนินมานานกว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน ความโชคร้ายของโอมาร์เริ่มต้นจากการสูญเสียมารดาไปเมื่อเธออายุได้เพียง 2 ขวบ แต่ความโชคดีคือเธอยังได้รับการดูแลจากบิดา และพี่อีก 6 คน ซึ่งครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวชนชั้นกลางในโมกาดิชูที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้การดูแลของปู่ แต่ถึงอย่างนั้น ปู่ของโอมาร์ก็ไม่บีบบังคับหลาน ๆ ให้เชื่อฟังเขาตามบทบาททางเพศ (ชายเป็นใหญ่) ในยุคนั้น กระทั่งสงครามกลางเมืองโซมาเลียปะทุอย่างจริงจังตอนที่โอมาร์อายุได้ 8 ขวบ ชะตาชีวิตของเธอและครอบครัวก็กลับตาลปัตร ต้องเดินทางออกนอกประเทศไปยังค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศเคนยา ซึ่งระหว่างการอยู่ที่นั่นทำให้โอมาร์ได้เข้าใจเป็นครั้งแรกว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร และความตายหน้าตาเป็นแบบไหน ภายหลังอาศัยที่ค่ายผู้ลี้ภัยนานถึง 4 ปี ครอบครัวของเธอก็ลี้ภัยต่อไปยังสหรัฐอเมริกาได้ในปี 1995 โดยที่โอมาร์ไม่รู้เลยว่า ก่อนจะไปถึงอนาคตอันสดใส ยังมีการดูถูกเหยียดหยามที่รุนแรงกำลังรอเธออยู่ อเมริกาที่มีทั้งการบูลลี่และเสรีให้จับต้อง แน่นอนว่าการมาอาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกาของเด็กวัย 13 ปีอย่างโอมาร์ ย่อมมีอุปสรรคมากมาย หนึ่งในนั้นคือการที่เธอไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ทำให้การตั้งรกรากเป็นครั้งแรกที่รัฐเวอร์จิเนียเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก เพราะโอมาร์ต้องเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา “ฉันดำ ฉันเป็นชาวมุสลิม ฉันเพิ่งรู้ตัวว่าครอบครัวยากจนมาก และอเมริกาที่ไร้ชนชั้นที่พ่อฉันพูดถึงมันไม่มีอยู่จริง” แต่ด้วยความพยายามของตัวเธอเองและครอบครัว โอมาร์ก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้นจากการรับชมซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง ‘Baywatch’ และหลังจากนั้นโอมาร์ก็ได้กลายเป็นเจ้าหนูจำไมของบ้าน เพราะเธอมักจะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเอง บทบาทของผู้ชายในครอบครัว ตลอดจนนโยบายต่าง ๆ ที่เธอได้ยินได้ฟังมา “เราคุยกันเยอะมากเรื่องผู้ชายในบ้าน เพราะแม่ของฉันเสียตอนฉันยังเด็ก และย่าก็เสียตอนที่อาของฉันยังเล็ก พวกเราไม่มีผู้นำเรื่องงานบ้าน แต่โชคดีที่ครอบครัวของฉันอยู่ด้วยกันอย่างเท่าเทียม ผู้หญิงในบ้านมีความรู้เหมือนผู้ชาย ครอบครัวของฉันไม่ถูกบทบาททางเพศ หรือแม้กระทั่งระบบชนชั้นครอบงำ” ด้วยอดีตที่ขมขื่นในค่ายผู้ลี้ภัย ประกอบกับเสรีภาพจากระบอบการปกครองของประเทศและครอบครัว ทำให้โอมาร์มองเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่ครอบครัวของเธอย้ายไปยังพื้นที่ของผู้อพยพชาวโซมาเลียในรัฐมินนิโซตาเมื่อปี 1997 และโอมาร์ได้กลายเป็นพลเมืองอเมริกันเต็มตัวในปี 2000 เส้นทางสู่เก้าอี้ ส.ส. ของรัฐมินนิโซตาก็เริ่มขึ้น เส้นทางสู่สตรีมุสลิมคนแรกแห่งสภาคองเกรส ระหว่างโอมาร์สนทนาเรื่องการเมืองกับปู่ขอเธอ ปู่ได้บอกกับเธอว่า เธอไม่สามารถนั่งและร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ แต่โอมาร์ตอบกลับปู่ของเธอไปอย่างมั่นใจว่า เธอทำได้ จนกระทั่งในปี 2016 อิลฮาน โอมาร์ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น Minnesota’s House of Representatives ที่เขต 60B รัฐมินนิโซตา ในฐานะตัวแทนจากพรรค Democratic-Farmer-Labor (DFL) และในปี 2018 เธอก็คว้าชัยเหนือ ‘คีท เอลิสัน’ (Keith Ellison) จนได้ครองตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่เขต 5 ของรัฐมินนิโซตา ถือเป็นสตรีมุสลิมและผู้ลี้ภัยคนแรกแห่งสภาคองเกรส  นอกจากนี้ในปีเดียวกัน อิลฮาน โอมาร์ยังได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในฐานะหนึ่งใน ‘Firsts Women Who Are Changing The World’ และได้ขึ้นปกนิตยสาร Vogue Arabia ปี 2019 ซึ่งเป็นภาพของโอมาร์ขณะสวมฮิญาบ พร้อมส่งรอยยิ้มอันสดใส ถือเป็นการแสดงถึงเสรีภาพในการแต่งกาย และฉลองการเป็นสตรีชาวอเมริกัน-โซมาเลียคนแรกในสภา แต่ขณะที่โอมาร์กำลังเดินหน้าต่อไปในสายการเมือง การใช้ชีวิตและการทำงานของเธอกลับไม่ได้ราบรื่นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 (2017-2021) อุปสรรคที่ต่อเติมอนาคตอันสดใส ในรัฐบาลของทรัมป์ โอมาร์ต้องเผชิญกับวาทกรรมและ Hate Speech ตั้งแต่ตอนที่ทรัมป์โกหกว่า เธอเป็นพวกเดียวกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ลามไปถึงขั้นว่าระบบตรวจคนเข้าเมืองและการรับผู้อพยพว่าเป็น ‘ช่องโหว่ที่น่ากลัวและความโง่เขลาของอเมริกา’ นอกจากนี้ ในปี 2019 โอมาร์ยังเคยถูกขู่ฆ่าจากชายวัย 55 ปี ผู้มีนามว่า ‘แพทริก คาร์ลินีโอ’ (Patrick Carlineo) ซึ่งเขาบอกผ่านโทรศัพท์ที่ต่อถึงออฟฟิศของโอมาร์ว่า จะฝังกระสุนลงในหัวของเธอ ทั้งยังถามด้วยว่า “เธอทำงานให้กับกลุ่มมุสลิมใช่หรือไม่ ทำไมคุณ (ผู้รับโทรศัพท์) ถึงทำงานให้กับเธอ เธอเป็นผู้ก่อการร้ายนะ” แต่สุดท้ายชายคนดังกล่าวก็ทำไม่สำเร็จ และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องโทษจำคุก 10 ปี อุปสรรคที่ผ่านมาไม่เว้นแต่ละวันทำให้โอมาร์เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เธอยังคงเดินหน้านโยบายสนับสนุนสิทธิสตรี โดยเฉพาะการให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการคุมกำเนิด รวมไปถึงนโยบายส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา และนโยบายด้านการศึกษาที่จะให้เด็กระดับชั้นอุดมศึกษาเรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งหมดนั้นตั้งมั่นอยู่ในวิถีประชาธิปไตยที่โอมาร์ยึดถือ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมอเมริกันและสังคมโลก
“ฉันมาจากประชาชนที่ใฝ่ฝันถึงระบอบเสรีประชาธิปไตย นั่นทำให้ฉันเชื่อมั่นในกระบวนการ และความเท่าเทียมที่ทุกคนเข้าถึงได้”
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง https://www.biography.com/political-figure/ilhan-omar https://www.youtube.com/watch?v=CjzDF1MziNg https://aboutislam.net/muslim-issues/n-america/ilhan-omar-americas-rising-muslim-star/#.W4hlIO6TvfM.facebook https://time.com/collection/firsts/4898550/ilhan-omar-firsts/ https://www.washingtonpost.com/politics/2019/07/06/ilhan-omar-is-unlike-anyone-who-has-served-congress-this-is-her-complicated-american-story/ https://everydaypower.com/ilhan-omar-quotes/ https://www.reuters.com/article/us-usa-trump-omar-idUSKCN1RR1WD https://www.cbsnews.com/news/patrick-w-carlineo-sentenced-to-1-year-in-prison-for-threatening-to-put-a-bullet-in-ilhan-omars-skull-2020-03-10/ https://en.vogue.me/culture/muslim-womens-day-interviews/ https://en.vogue.me/culture/ilhan-omar-first-somali-american-hijabi-congresswoman/  ที่มาภาพ Photo by Preston Ehrler/SOPA Images/LightRocket via Getty Images