เมื่อศาสนาต่อต้านความงดงามของเกย์ ‘แดน เรย์โนลด์ส’ จึงส่งเสียงเพื่อ LGBTQIA+ ผ่าน ‘Believer’ ภาพยนตร์ชื่อเดียวกับเพลงดังของ ‘Imagine Dragons’

เมื่อศาสนาต่อต้านความงดงามของเกย์ ‘แดน เรย์โนลด์ส’ จึงส่งเสียงเพื่อ LGBTQIA+ ผ่าน ‘Believer’ ภาพยนตร์ชื่อเดียวกับเพลงดังของ ‘Imagine Dragons’
/ Pain! You made me a, you made me a believer, believer /   เมื่อ ‘Imagine Dragons’ ปรากฏตัวบนเวที ผู้คนจากทุกสารทิศจะจับจองพื้นที่เต็มความจุของสนาม ป้ายเชียร์ถูกยก โทรศัพท์มือถือถูกชู เสียงตะโกนถูกป่าวร้องให้ดังลั่นออกมานอกสถานที่จัด และตอนที่บทเพลงของพวกเขาถูกบรรเลงเล่น เสียงเชียร์จะยิ่งกระหึ่มก้อง ผู้คนเรือนหมื่นจะร้องเพลง ‘Believer’ ไปด้วยกัน นั่นคือภาพจำแห่งวงดนตรีวงนี้ที่ผู้เขียนรู้จัก พวกเขาคือ ‘big band’ อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยบทเพลงมากมายนับจากปี 2012 ที่มี ‘It’s Time’ และ ‘Radioactive’ เป็นเพลงแจ้งเกิด แดน เรย์โนลด์ส (Dan Reynolds) คือนักร้องนำที่ใช้เสียงทุ้ม มีพลังของเขาขับเคลื่อนวงไปข้างหน้า พร้อมกับ ‘raised up’ ประเด็นสังคมมากมายขึ้นมาเล่า ผ่านคำพูดของเขา ผ่านเสียงดนตรี ผ่านช่วงเวลาบนเวที และผ่าน ‘Believer’ (2018) ภาพยนตร์เชิงสารคดีที่พูดถึง LGBTQIA+ ในสหรัฐอเมริกา และรอยต่อข้อขัดแย้งกับคริสต์ศาสนานิกายมอร์มอน และนี่คือเรื่องราวของเขา จากเด็กชายที่ถูกสอนว่าการเป็นเกย์คือบาปอันพระเจ้าจะไม่ประทานอภัย กว่าจะกลายเป็นแอคทิวิสต์ผู้เป็นพันธมิตรของ LGBTQIA+   / Pain! You break me down, you build me up, believer, believer/   พระเจ้าสอนผมว่า ลาสเวกัส เนวาดา สหรัฐอเมริกา คือสถานที่ที่แดเนียล โคลเตอร์ เรย์โนลด์ส (Daniel Coulter Reynolds) ลืมตาดูโลก นับจากวันที่ 14 กรกฎาคม 1987 ที่เป็นวันเกิดของเขา เด็กชายแดเนียลเกิดและโตในครอบครัวที่ศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายมอร์มอน (mormon) ในย่านที่ผู้คนล้วนเป็นมอร์มอน และไปโบสถ์มอร์มอนอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลาง ‘หลักความรัก’ และหลักศาสนามากมายที่ถ่ายทอดจากคุณพ่อในโบสถ์สู่ผู้ศรัทธา สิ่งที่แดเนียลรับรู้เสมอมาตั้งแต่เขาจำความได้คือการเป็นเกย์นั้นเป็นบาป - แน่นอนว่าเด็กน้อยเคยเชื่อเช่นนั้นอย่างสุดหัวใจ จนกระทั่งจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ ได้เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “ผมมีเพื่อนที่เป็นมอร์มอนและเป็นเกย์ นั่นเป็นทางแยกครั้งแรกระหว่างผมและศาสนา ผมอายุ 12 และถูกสอนว่าการเป็นเกย์คือบาป แต่เพื่อนที่ผมรู้จักเป็นคนดีมาก ๆ จน ‘บาป’ ที่ถูกสอนมาดูไม่เมกเซนส์เลย ผมเริ่มสงสัยใน ‘พระประสงค์ของพระเจ้า’ (God’s will) และเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมความรักของเพื่อนคนนั้นถึงมีคุณค่าน้อยกว่าความรักของผม” คำถามที่ไร้คำตอบนั้นยังดังก้องระหว่างการเติบโต แดเนียลหรือแดนในวัยหนุ่มเข้าเรียนที่ ‘Brigham Young University’ มหาวิทยาลัยในเครือคริสตจักรที่ยูทาห์ ที่นั่น เพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง ยาเสพติด และแอลกอฮอล์คือสิ่งต้องห้าม ทว่าแดนกลับไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อแรกได้ “ผมถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะมีเซ็กส์กับแฟนที่คบกันมา 4 ปี นั่นเป็นประสบการณ์ที่น่าอายสำหรับผม มันเหมือนกับโดนทุกคนบนโลกตัดสินว่าผิด ทั้งที่ผมก็แค่กำลังรักใครสักคน “ขณะเดียวกันผมก็ได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองรู้สึกนั้นช่างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกย์และ LGBTQIA+ ต้องเผชิญ เพราะพวกเขาถูกบอกว่ารักของเขาไม่มีค่า ไร้ราคา และเป็นบาปมาทั้งชีวิต”   ความรักที่คริสตจักรหลงลบลืมสูญ มอร์มอนไม่ใช่นิกายเดียวในศาสนาที่สอนว่า ‘being gay is a sin’ แม้ว่าฉากหน้าของอเมริกาจะดูเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่จากการวิจัยหลายชิ้นพบว่าการไม่ถูกยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศ คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นในยูทาห์ และในอเมริกาฆ่าตัวตาย วัยรุ่น LGBTQIA+ มากมายป่วยด้วยโรคเครียด ซึมเศร้า และจากโลกใบนี้ไปเพราะไม่ถูกยอมรับจากครอบครัวที่ยึดมั่นในคำสอนของศาสนา จนมองข้ามความหลากหลายของมนุษย์ ยิ่งนานวัน ความตายของวัยเยาว์รอบตัวยิ่งทำให้แดนตระหนักได้ถึง ‘privilege’ ของตัวเอง และอยากใช้มันเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมและผู้อื่น โดยแดนเล่าว่าหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำให้เขาเบนเข็มมาเป็นแอคทิวิสต์ด้านความหลากหลายทางเพศก็คือ อาจา โวลค์แมน (Aja Volkman) ภรรยาของเขานั่นเอง “ผมเป็นผู้ชายผิวขาวที่รักเพศตรงข้าม (a white, heterosexual male) แถมอยู่ในวงร็อก ผมน่ะโคตรมี privilege เลย “อาจาเป็นนักเคลื่อนไหวตัวจริง ตอนที่เราพบกัน เธออาศัยอยู่กับเพื่อนเลสเบี้ยน 2 คน ทีแรกพวกเธอระแวงผมมาก แต่ภายหลังเราก็นั่งจับเข่าคุยกัน พวกเธอสอนผมเรื่องสิทธิของเกย์ พวกเธอให้เวลากับผมที่เติบโตใต้ร่มศาสนา บอกผมว่าอะไรเป็นอะไร และเปลี่ยนโลกใบที่ผมมองเห็น พวกเธอนำทางให้ผมกลายเป็นนักเคลื่อนไหว” ภายใต้เส้นทางของนักเคลื่อนไหว แดนเลือกใช้เสียงของเขาในฐานะวงป็อปร็อกแถวหน้าให้เป็นประโยชน์ และแม้ว่าเพลง ‘Believer’ จะถูกแต่งขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของแดนที่ต้องต่อสู้กับอาการซึมเศร้าและโรควิตกกังวล แต่เบื้องหลังของเพลงนี้มีอะไรมากกว่านั้น   ผู้ศรัทธา / Oh let the bullets fly, oh let them rain My life, my love, my drive, it came from... Pain! /   ปี 2016 คือช่วงเวลาที่แดน เรย์โนลด์ส และ Imagine Dragons กำลังซุ่มทำอัลบั้มของพวกเขาอย่าง ‘Evolve’ (2017) โดยในเพลง ‘Believer’ แดนได้เป็น co-writer ร่วมกับนักแต่งเพลง ‘จัสติน ทรานเตอร์’ (Justin Tranter) ผู้แต่งเพลงดัง ๆ มาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘Sorry’ ของจัสติน บีเบอร์ หรือ ‘Good For You” ของเซเลนา โกเมซ จัสติน ทรานเตอร์เป็นเควียร์ และในการระดมความคิดของพวกเขา 2 คนที่แดนได้เล่าเรื่องราวความป่วยไข้ที่ผ่านมา จัสตินก็ได้บอกเล่าเรื่องราวความกลัวและความกังวลในฐานะเควียร์ของตนเช่นกัน “จัสตินบอกผมถึงความกลัวจากก้นบึ้งในใจของเขา และเราร่วมเขียนเพลงด้วยกัน เพลงนี้คือการพูดความจริงจากใจของเรา “จัสตินพูดความจริงมาตลอดชีวิตของเขา เขายืนอยู่ที่นั่น สวมรองเท้าส้นสูงขึ้นเวที ถูกผู้คนบอกว่า ‘ช่วยร้องเพลงให้ดูเกย์น้อยลงได้ไหม ไม่ใส่รองเท้าส้นเข็มได้หรือเปล่า’ แต่เขาไม่เคยหวั่นไหว และสิ่งที่เขาทำก็สร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกดนตรีทั้งใบ” ในขณะที่จัสติน ทรานเตอร์ได้พูดถึงแดนว่า “ผมขอบคุณเขาจากใจ เขาสนับสนุนเรา (LGBTQIA+) อย่างที่ไม่มีผู้ชายไบนารีผิวขาวคนไหนเคยทำมาก่อน” แน่นอนว่าเมื่อถึงคราวเปิดตัว เพลง ‘Believer’ ก็โด่งดังไปทั่วโลก และแม้กระแสของภาพยนตร์เชิงสารคดีชื่อเดียวกันจะไม่ดังเปรี้ยงเท่าเสียงเพลง แต่สิ่งที่แดนทำก็สร้างความหวังแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วอเมริกา “การเป็นเกย์นั้นสวยงาม ถูกต้อง และสมบูรณ์แบบ” คือคำที่แดนย้ำชัดกับโลกอยู่เรื่อยมา   รักให้ดังก้องโลก ปี 2018 ภายใต้สัญลักษณ์ที่ประดับด้วยสีรุ้งของเฟสติวัล ‘LOVELOUD’ เสียงเพลงแรกจาก ‘Imagine Dragons’ ดังขึ้น กลองถูกกระหน่ำตีเป็นจังหวะเพลง ‘Radioactive’ ซอลต์ เลค ซิตี้ ในยูทาห์ แน่นขนัดด้วยวัยรุ่นที่ล้วนหลากหลายในเพศสภาพและเพศวิถี แดนก้าวออกมาข้างหน้า ร้องเพลงด้วยเสียงที่เราคุ้นหูจากเพลงแรกถึงเพลงสุดท้ายเพื่อระดมทุนกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ และมอบแด่มูลนิธิเพื่อเยาวชนแห่งความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศ (Imagine Dragons ได้ร่วมจัด LOVELOUD Festival 3 ปีต่อเนื่อง คือ 2017, 2018 และ 2019) ระหว่างนั้น แดนได้พูดบางอย่างเพื่อส่งสารจากหัวใจเขาถึงเยาวชนในยูทาห์ ถึงนิกายมอร์มอนที่เขาเติบโตมา และถึงผู้มีความหลากหลายและลื่นไหลในโลกทั้งใบ “ผมปรารถนาว่าคุณจะรู้และเข้าใจ ว่าเราแคร์คุณแค่ไหน ว่าเรารักคุณ สนับสนุนคุณ และยืนเคียงข้างคุณอย่างไร ผมหวังว่าคืนนี้คุณจะได้รู้ ว่าความหลากหลายทางเพศของคุณนั้นบริสุทธิ์ แท้จริง และปราศจากมลทิน ผมอยากให้คุณได้รู้ว่าคุณมีค่า และเราต้องการคุณ ผมไม่อยากได้ยินคำว่า ‘ขอโทษ’ จากพวกคุณอีก “ผมยอมรับคุณ ผมมองเห็นคุณ และผมยืนหยัดเคียงข้างคุณ ผมจะสู้ไปกับคุณจนสุดทาง และสุดท้าย ผมรักคุณ” ค่ำคืนนั้นเองที่เยาวชนในยูทาห์ได้ยกธงสีรุ้งขึ้นเหนือฟ้า โดยไม่ต้องกังวลว่าใครหน้าไหนจะตีตราพวกเขาด้วยถ้อยคำว่า ‘บาป’ หรือ ‘ผิดเพี้ยน’ แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ยังมีชายผู้นับถือคริสต์ ผิวขาว ที่ร้องเพลงออกมาจากหัวใจ และวงดนตรีอีกหนึ่งวงที่ยังคงมองเห็น เข้าใจ และพร้อมจะเดินหน้าไปกับพวกเขาด้วยระยะก้าวที่เท่าเทียมกัน แด่ ‘Believer’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก ขอจงยกธงไพรด์ของคุณขึ้นโบก ผู้เขียนบทความนี้อยู่ข้างคุณ   ที่มา: https://www.heraldextra.com/entertainment/music/loveloud-2018-raises-over-1-million-for-lgbtq-youth/article_87fb9757-192f-553f-a23f-f52886f39406.html https://www.gaytimes.co.uk/culture/imagine-dragons-dan-reynolds-is-an-ally-on-a-mission-to-end-lgbtq-youth-suicide/ https://www.youthkiawaaz.com/2019/06/the-world-could-learn-a-lesson-or-two-from-dan-reynolds-on-being-an-ally/ https://www.songfacts.com/facts/imagine-dragons/believer https://www.advocate.com/music/2018/10/18/imagine-dragons-dan-reynolds-why-believer-queer-anthem (Photo by Scott Legato/Getty Images)