In the Mood for Love: แด่ความวูบวาบหวั่นไหว ในวันที่ความชิดใกล้นำพาหัวใจของเราให้เปลี่ยนแปลง

In the Mood for Love: แด่ความวูบวาบหวั่นไหว ในวันที่ความชิดใกล้นำพาหัวใจของเราให้เปลี่ยนแปลง
“เขารำลึกถึงอดีตที่ผ่านพ้นมา วันเวลาที่ล่วงเลยไป เหมือนถูกกีดกั้นด้วยแผ่นกระจกที่ฝุ่นเกรอะกรัง ซึ่งดูได้แค่ตา แต่หาสัมผัสได้ไม่”
เราทำความรู้จักกับความเหงาผ่านหนังหว่องการ์ไวมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหงาในเมืองใหญ่อย่าง Chungking Express / ความเหงาบนความแปลกแยกอย่าง Happy Together หรือความเหงาในโลกวิทยายุทธอย่าง Ashes of Time แต่สำหรับ In the Mood for Love(2000) แล้ว ความเหงามันช่างกัดกินหัวใจ และความรักที่ไม่อาจครอบครองนำพาความเจ็บปวดอย่างแสนทรมาน  

ยิ่งชิดใกล้ ใจก็ยิ่งเจ็บ

เรื่องเกิดขึ้นในห้องแถวแห่งหนึ่งในฮ่องกงปี 1963 ภาพความคับแคบแออัด และความวุ่นวายของผู้คนที่เดินเข้าออกขวักไขว่หากแต่ความวุ่นวายนั้นกลับนำพาให้คน 2 คนได้ทำความรู้จักกันโดยบังเอิญเมื่อคุณนายเฉินย้ายจากเซี่ยงไฮ้มาอยู่ฮ่องกง ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเอง โจวมู่หวันก็ย้ายมาอยู่ห้องข้าง ๆ เช่นกัน ความคับแคบของห้องทำให้ทั้งสองต่างเฉียดกันไป-มา ไม่ว่าจะทางบันได หน้าประตูห้อง หรือแม้แต่ในวงไพ่นกกระจอก แต่ทั้งสองก็รู้จักและทักทายกันเพียงผิวเผิน เพราะทั้งสองต่างมีคนรักกันอยู่แล้วทั้งคู่ แต่แล้วทั้งสองก็ได้ทำความรู้จักกัน เมื่อคุณนายเฉินอยู่อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากสามีไปทำงานต่างประเทศ ส่วนภรรยาของคุณโจว ก็ทำงานกะดึกจนแทบไม่มีเวลาให้ ความเหงานำพาให้ทั้งสองที่อยู่ห่างเพียงผนังกั้นห้องได้ทำความสนิทชิดเชื้อ เรียนรู้เรื่องราวของกันและกัน และเผชิญชะตากรรมอันเจ็บปวดร่วมกัน เมื่อเขาและเธอต่างรับรู้พิรุธของคู่รักทั้งสอง ว่าสามีของคุณนายเฉินลักลอบคบชู้กับภรรยาของคุณโจว เหตุการณ์ได้นำพาให้ต้องช่วยกันเติมเต็มความเศร้าให้กันและกัน   จาก “ฤดูร้อนที่ปักกิ่ง” สู่ “ฤดูฝนที่ฮ่องกง” หลังเสร็จสิ้นโปรเจกต์หนัง Happy Together เรื่องราวของคู่รักชาวเกย์ในเมืองแปลกแยกอย่างอาร์เจนตินา หลังจากนั้น หว่องการ์ไวก็มีความสนใจในภูมิทัศน์ที่ส่งผลกระทบให้กับตัวละคร เขาจึงวางพล็อตหลวม ๆ โดยวางตัวนักแสดที่เขาเคยร่วมงานด้วย อย่างจางม่านอวี้และเหลียงเฉาเหว่ย โดยสร้างสถานการณ์ให้ทั้งคู่พบเจอกันที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ภายใต้ชื่อโปรเจกต์ Summer in Beijing แต่ความเข้มงวดของทางการจีนแผ่นดินใหญ่และความอ่อนไหวของรัฐบาลแดนมังกรในยุคนั้น ทำให้โปรเจกต์เรื่องนี้ล่าช้าและยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้กำกับที่คาดหวังจะให้สถานการณ์ในการถ่ายทำนำพาให้เรื่องราวดำเนินได้จนจบ ฉับพลันทันใด หว่องการ์ไวก็เปลี่ยนจากเมืองปักกิ่งเป็นฮ่องกง ปี 1962 จากพล็อตเริ่มต้นของหญิงสาวที่แบ่งปันบะหมี่ให้ชายแปลกหน้าเพื่อแลกกับความลับในโปรเจกต์ที่ชื่อ A Story of Food ประกอบกับบาดแผลจากความทรงจำอันเลวร้ายของหนังเรื่อง Days of Being Wild หนังเรื่องที่สองของหว่องการ์ไว ที่ล้มเหลวทางรายได้ทั้งที่ระดมดาราดังของยุคนั้นมาแสดง ความค้างคาใจในยุคสมัย 60s ที่เขาเติบโตมาและหลงใหลในวัฒนธรรมพ็อพในยุคนั้น ทำให้เขาเลือกจะแก้ตัวกับยุคสมัย 60s อีกครั้ง และแปรเปลี่ยนเป็นหนังที่คาบเกี่ยวช่วงเวลาปี 1962-1963 โดยเปลี่ยนจากฤดูร้อนอันแผดกล้า สู่ฤดูฝนอันชุ่มฉ่ำเพื่อนำพาทั้งสองหลบซ่อนภายใต้ชายคาแห่งความลับ ที่ฝนแทนได้ทั้งน้ำตาที่ทั้งสองต้องทุกข์ตรมกับคู่ครองที่นำพาความเจ็บช้ำมาให้ และมันก็อาจหมายถึงความแปรปรวนรวนเรของสภาพอากาศทางอารมณ์ของทั้งสองที่ไม่อาจให้คำตอบที่ชี้ชัดให้กับหัวใจของตนได้   มากกว่า การหลงรัก คือ การหลงเรื่อง แม้หนังจะได้รับการยกย่องในฐานะจุดสูงสุดในฐานะฟิล์มเมคเกอร์ของหว่องการ์ไว จนสามารถกวาดรางวัลมากมายทั้งในเวทีบ้านเกิดและเวทีโลก แต่เบื้องหลังนั้นกลับไม่ได้งดงามเอาเสียเลย เมื่อหว่องการ์ไวด้นสดตลอดการถ่ายทำ แม้จะมีพล็อตเพียงหลวม ๆ แต่ก็ไม่อาจนำพาให้เรื่องไปได้ตามที่ใจเขาต้องการ เขาใช้เวลาตลอด 15 เดือนในการถ่ายทำ และการถ่ายทำอันยาวนานนี้เอง ทำให้ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ตากล้องคู่ใจที่แม้เขารับรู้ความเป็นศิลปินเต็มข้อของหว่องมาโดยตลอด แถมดอยล์ได้มอบคำแนะนำอันมีค่าให้กับเขามากมาย จากที่หว่องตั้งใจจะกำหนดเรื่องราวให้เกิดขึ้นภายในสตูดิโอเท่านั้น แต่ดอยล์ยืนกรานว่าควรให้สถานที่ข้างนอกเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของหนังด้วย สุดท้ายเขาจึงเลือกโลเคชั่นตึกเก่าย่านเจริญกรุงที่มีสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกัน มาแทนเมืองฮ่องกงในยุค 60s แต่การลากยาวจนบดบังตารางการทำงานหนังเรื่องอื่นของดอยล์ ก็ทำให้เขาต้องตบเท้าออกจากกองถ่ายนี้ไป จนหว่องต้องหาตากล้องอีกคนมารับช่วงแทน แม้ดอยล์จะจากไป แต่ความอ้อยอิ่งของหว่องยังคงไม่จางหาย เขาถ่าย ๆ หยุด ๆ และพานักแสดงและทีมงานเสียเวลากับการถ่ายซีนที่สุดท้ายก็ไม่ใช้มากมาย จนเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้ขีดเส้นตายให้กับเขาเพื่อให้หนังเรื่องนี้ฉายให้ทันเดือนพฤษภาคมปี 2000 ยิ่งทำให้กองถ่ายแทบจะเป็นบ้า เมื่อหว่องไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวของเรื่องจะลงเอยเช่นไร เขาส่งชื่อหนังเพื่อเป็นการยื้อเวลาภายใต้ชื่อว่า Secret ส่งให้กับคานส์ แต่คานส์กลับมองว่าชื่อนี้ไม่ชวนดึงดูดเอาเสียเลย จนกระทั่งวันหนึ่งหว่องได้ฟังเพลง "I'm in the Mood for Love" ของไบรอัน เฟอร์รี่ และ Roxy Music ลอยผ่านมา หว่องรู้สึกโดนใจกับวลีนี้มาก เขาจึงนำมาตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า In the Mood for Love และทำหนังเรื่องนี้สำเร็จฉายทันคานส์แบบเส้นยาแดงผ่าแปด   ความลับ ความร้าวราน คือของหวานของหว่องการ์ไว จริง ๆ ทั้งสองสามารถจะลงเอยไม่ต่างกับที่คู่รักของพวกเขา จบลงด้วยการคบชู้กันได้ไม่ยากเย็น คุณโจวก็พึงใจในรูปลักษณ์ของคุณนายเฉินในชุดกี่เพ้ารัดรูปอันแสนสวยงามที่ชอบเตร็ดเตร่ข้างนอกเพื่อซื้อบะหมี่หรือดูหนังเพียงคนเดียว ส่วนคุณนายเฉินก็พึงใจในความเป็นคอลัมน์นิสต์สายข่าวที่มีความใฝ่ฝันอยากเป้นนักเขียนนิยายกำลังภายในที่เธอชอบอ่าน แต่สุดท้ายทั้งสองต่างก็ทำได้แค่เพียงการแสร้งเล่นละครเป็นคู่รักที่จำลองสถานการณ์เพื่อคาดคั้นความคุมเครือของคนรัก เตียงนอนที่ทั้งสองนอนกลิ้งเกลือกไป-มา กลับกลายเป็นสนามวิจารณ์งานเขียนนิยายกำลังภายในเพียงเท่านั้น ทั้งสองแม้พึงใจกันและกัน แต่สุดท้ายกรอบจารีตในยุคโบราณและสามัญสำนึกก็ทำให้ทั้งสองต้องเจ็บปวด ซึ่งความทุกข์ทรมานจากความชิดใกล้ ไม่ร้าวรานหัวใจเท่ากับทั้งสองต่างตกหลุมรักกันและกันแต่ต้องหยุดไว้แค่คำว่า “เพื่อนบ้านที่ดี” เพียงเท่านั้น และการจำลองสถานการณ์สุดท้าย คือการจำลองสถานการณ์แห่งการจากลาตลอดกาล ไม่ต่างกับตำรวจที่ทานสัปปะรดหมดอายุ / สาวที่ย่องเข้าบ้านตำรวจที่แอบหลงรัก / คู่รักเกย์ในเมืองที่แปลกแยก / หนุ่มใบ้ชอบไปเปิดร้านคนอื่นยามวิกาล หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์นกไร้ขา หว่องสร้างสิ่งละอันพันละน้อยผ่านหนังของเขาแต่ละเรื่องที่สอดรับความเหงาว้าเหว่เว้าแหว่งผ่านสัญลักษณ์มากมาย ผ่านบทสนทนาอันคมคาย และความเงียบงันที่ก่อมวลแห่งความทนทุกข์ทรมานผ่านเสียงตามสายที่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากปลายสายที่ท่านเรียก ผ่านความใกล้ชิดบนรถแท๊กซี่ที่ไม่กล้าแม้แต่จะสัมผัสมือ และความห่างไกลอันแสนโหยหายามเมื่อคุณโจวเลือกที่จะละทิ้งการสานต่อความผูกพันเพื่อไปทำงานที่สิงคโปร์ ไปจนถึงความลับอันเงียบงันที่มีเพียงคุณโจวและช่องโหว่ในนครวัดเท่านั้นที่รับรู้ความลับในใจ In the Mood for Love ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านเนื้อหาที่กัดกินความเหงาจนจับขั้วหัวใจในโศกนาฏกรรมความรัก บนความสวยงามราวกับงานศิลปะผ่านการถ่ายภาพอันงดงาม คอสตูมที่สวยงามเลอค่า และการแสดงขั้นเทพของเหลียงเฉาเหว่ย และจางม่านอวี้ จนสามารถเรียกได้ว่า หนังเรื่องนี้คือความสมบูรณ์อย่างไร้ที่ติของหว่องการ์ไว ที่สามารถกำกับความร้าวรานให้กลายเป็นงานปราณีตได้อย่างละเอียดละออ การได้สัมผัสหนังเรื่องนี้ผ่านจอใหญ่ในเวอร์ชันบูรณะเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ของหนังเรื่องนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่คอหนังทั้งหลายไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง