In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ

In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนก็คือ การที่หนังซึ่งมีจำนวนผู้ชมสูงสุดของ Netflix* ไม่ใช่หนังมาใหม่หรือหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ แต่เป็นหนังทุนสร้างปานกลางที่เข้าฉายเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งกลับมาได้รับความสนใจในคอหนังบ้านเราอีกครั้ง (หมายเหตุ - *อ้างอิงจากข้อมูลที่แสดงในแอปฯ Netflix) หนังเรื่องนั้นคือ ‘In Time’ (2011) หนังแนวแอคชั่นไซไฟสะท้อนสังคม กำกับ/เขียนบทโดย แอนดรูว์ นิคโคล (ผลงานที่ผ่านมาของเขาคือ Gattaca, Lord of War ซึ่งเขารับหน้าที่กำกับ/เขียนบท และ The Truman Show ซึ่งเขารับหน้าที่เขียนบท) ประเด็นหลักของ In Time ได้แก่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ โดยถือเป็นประเด็นฮิตในช่วงที่หนังเรื่องนี้ออกฉายซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกา (วิกฤตซับไพรม์) โดยคนยากจนได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวมากกว่าคนรวย ความอยุติธรรมดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจจนเกิดเป็นขบวนการประท้วง Occupy Wall Street ในเวลาต่อมา In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ จนถึงตอนนี้ ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่เป็นประเด็นอินเทรนด์ที่พบได้ในหนังสุดฮิตยุคนี้หลายเรื่อง เช่น Parasite, Joker, Us, The Platform เป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้ถึงแม้องค์ประกอบหลายอย่างใน In Time จะเชยไปแล้ว แต่ประเด็นในหนังก็ยังคงมีพลังและสอดคล้องกับสภาวะสังคมในตอนนี้อย่างมาก ฉากหลังของ In Time เกิดขึ้นในโลกอนาคตอันใกล้ เพื่อป้องกันปัญหาประชากรล้นโลก ทำให้มนุษย์ถูกตัดต่อพันธุกรรมจนคงสภาพร่างกายตัวเองไว้ที่ 25 ปี ซึ่งถ้าต้องการมีชีวิตต่อ มนุษย์จำเป็นต้องซื้อเวลาเพื่อต่อชีวิตไปเรื่อย ๆ (โดยมีการแสดงเวลาให้เป็นตัวเลขนับถอยหลังที่แขนของแต่ละคน) โดยเวลาสามารถถ่ายทอด แลกเปลี่ยน หรือช่วงชิงกันได้ อีกทั้งสามารถสะสมไว้ในเครื่องเก็บเวลาได้ ซึ่งถ้าเวลานับถอยหลังจนถึงเลขศูนย์ อายุขัยของคนนั้นก็จะสิ้นสุดลง กล่าวคือหนังเรื่องนี้ได้แปลงสำนวนเปรียบเปรยอย่าง ‘เวลาเป็นสิ่งมีค่า’ หรือ ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเวลาชีวิตของแต่ละคนถูกแสดงค่าเป็นตัวเลขดิจิทัลให้เห็นชัดเจน นอกจากนั้นเวลายังถูกใช้เป็นสกุลเงินตราเพื่อใช้แลกเปลี่ยนในระดับสากล เมื่อเวลาได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นทั้งต่อ ‘การมีชีวิต’ และ ‘การดำรงชีวิต’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกจัดสรรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในทางตรงข้าม เมื่อเวลาได้กลายเป็นสินค้าที่เข้าสู่ ‘ตลาด’ ในระบบทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่แล้ว แปลว่ามันได้แปรสภาพเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ในตลาดของระบบทุนนิยมอื่น ๆ เช่น เงิน, ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น นั่นคือทุนนิยมได้ก่อให้เกิดการสะสมทุนในระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพวกนายทุนสามารถกอบโกยความมั่งคั่งได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนแรงงานก็จะยิ่งถูกกดขี่ขูดรีดมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นที่นับวันก็ยิ่งมีระยะห่างมากขึ้น In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ ตัวละครใน In Time มีทั้งที่ร่ำรวยล้นฟ้า จนสามารถจับจ่ายใช้สอยเวลาได้แบบไม่อั้น และสามารถนำเวลามาต่อชีวิตตัวเองไปได้เรื่อย ๆ จนมีชีวิตยืนยาวเป็นอมตะ (กลายเป็นคนอายุเยอะที่มีร่างกายแบบหนุ่มสาวอายุ 25 ปี - ซึ่งถือเป็นความฝันของผู้มีอำนาจในอดีตหลายคน) แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีผู้ยากไร้ที่ต้องดิ้นรนหาเวลามาต่อชีวิตให้อยู่รอดแบบวันต่อวัน ซึ่งมีหลายคนที่ไม่สามารถทำได้จนต้องจบชีวิตลง ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายช่องว่างมากขึ้นจากการแบ่งพื้นที่เวลา (Time Zone) ของคนแต่ละชนชั้น โดยเหล่าผู้มั่งคั่งนั้นอยู่ในเมืองทันสมัยที่หรูหราสวยงาม มีร้านอาหารและแหล่งชอปปิงมากมาย ผู้คนต่างไม่รีบเร่งเพราะพวกเขามีเวลาให้ใช้เหลือเฟือ นอกจากนั้นเหล่าอภิสิทธิ์ชนในเมืองนี้ยังมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจของเวลาในระบบทั้งหมด ในขณะที่ผู้ยากไร้อาศัยอยู่ในเขตที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้ง ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาในตัวไม่ถึง 24 ชั่วโมง พวกเขาทำงานในโรงงานที่ขูดรีดแรงงานโดยต้องทำงานหนักแต่ได้รับค่าจ้างน้อย เศรษฐกิจในเมืองมีอัตราเงินเฟ้อสูงจนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน มีอาชญากรในท้องถิ่นที่คอยปล้นชิงเวลา   การที่คนในพื้นที่หนึ่งจะข้ามไปพื้นที่ในอีก Time Zone นั้นถือเป็นเรื่องยาก เพราะระหว่างทางมีด่านกั้นหลายด่าน ซึ่งต้องเสียค่าผ่านทางเป็นจำนวนมาก ระบบดูจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยยากที่จะแก้ไขหรือล้มล้าง แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผู้ที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง นั่นคือตัวเอกของหนังเรื่องนี้ ตัวเอกของ In Time ได้แก่ วิล ซาลาส (รับบทโดย จัสติน ทิมเบอร์เลค) เขาเป็นหนุ่มโรงงานที่อาศัยอยู่ในเขตยากจนอย่าง ‘เดย์ตัน’ ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้ช่วยเหลือชายลึกลับต่างถิ่นอย่างเฮนรี่ แฮมิลตัน จากการถูกปล้น เฮนรี่เป็นชายผู้ร่ำรวยซึ่งไม่เหลือความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ เขาได้มอบเวลาทั้งหมดให้วิลในตอนที่วิลหลับไม่รู้ตัว ก่อนที่เฮนรี่จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ เมื่อแม่ของวิลเสียชีวิตเนื่องจากใช้จ่ายเวลาในตัวไปจนหมด ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าอย่างรวดเร็ว ทำให้วิลเกิดความโกรธแค้นในระบบอยุติธรรมนี้ เขาเดินทางไปที่เมือง ‘นิวกรีนิช’ ซึ่งเป็นย่านคนรวยเพื่อต้องการล้างแค้นโดยช่วงชิงสิ่งที่คนในเขตนี้มีไปให้หมด ที่นิวกรีนิช วิลได้พบกับโลกของความมั่งคั่งซึ่งเป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน เขาได้รับการเชิญชวนให้ไปที่บ้านของฟิลิป ไวส์ (วินเซนต์ คาร์ธีเซอร์) มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพล และได้ตกหลุมรักลูกสาวของฟิลิปอย่างซิลเวีย ไวส์ (อะแมนดา ไซเฟร็ด) ที่นั่นเขาถูกจับกุมโดยกลุ่มไทม์คีปเปอร์หรือตำรวจควบคุมดูแลเรื่องเวลา ซึ่งนำทีมโดย เรย์มอนด์ ลีออน (คิลเลียน เมอร์ฟี) วิลถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าเฮนรี่เพื่อแย่งชิงเวลา วิลหนีการจับกุม แต่วิลได้อาศัยจังหวะทีเผลอจับซิลเวียเป็นตัวประกันแล้วขับรถหนีไปในเมืองเดย์ตัน ที่เดย์ตัน ซิลเวียได้เห็นโลกของชนชั้นล่างที่ทุกข์ยาก ซึ่งเป็นโลกที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะถูกปิดหูปิดตาไว้ ทำให้เธอตาสว่างและได้ร่วมมือกับวิลในการตระเวนออกปล้นธนาคารที่เก็บเวลาของพ่อเธอแล้วทำการแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ โดยภารกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีหลายฝ่ายที่ต้องการจะยับยั้ง เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้ระบบสังคมเสียสมดุล ตัวละครวิลกับซิลเวียนั้นมีลักษณะที่ชวนให้คิดถึงโจรหนุ่มสาวหน้าตาดีอย่างบอนนี พาร์คเกอร์ และไคลด์ บาร์โรว์ ในหนัง Bonnie & Clyde (1967) ซึ่งสร้างจากเหตุการณ์จริง โดยบอนนีและไคลด์เป็นโจรในยุคเศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำช่วงยุค 30s ซึ่งผู้คนหมดศรัทธาในสถาบันการเงิน ทำให้โจรอย่างพวกเขาถูกมองว่าเป็นฮีโร่ สำหรับวิลกับซิลเวีย สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้มีเพียงแค่ปล้นธนาคารเพื่อเก็บความมั่งคั่งไว้กับตัว แต่เขายังนำเวลาของคนร่ำรวยไปแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ อีกทั้งยังต้องการล้มล้างกฎระเบียบของสังคมแบบเดิมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม แล้วต้องการสร้างสังคมรูปแบบใหม่ที่มีการจัดสรรทรัพยากรที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น “มันคือการขโมยหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ถูกขโมยมาก่อนหน้านี้แล้ว?” ประโยคนี้ที่วิลและซิลเวียกล่าวสามารถสื่อถึงมุมมองของพวกเขาได้เป็นอย่างดี โดยพวกเขามองว่าความมั่งคั่งที่ฟิลิปรวมถึงอภิสิทธิ์ชนคนอื่น ๆ ในเมืองนิวกรีนิชได้รับนั้นเกิดจากการขูดรีดผู้ยากไร้ซึ่งไม่ต่างจากการขโมยทรัพยากรไปจากพวกเขา ด้วยเหตุนี้การขโมยเวลาจากอภิสิทธิ์ชนจึงถือเป็นความชอบธรรม เพราะเป็นการทวงสิ่งที่ผู้ยากไร้ควรได้รับกลับคืนมา เราสามารถมองได้ว่ามันคือการต่อสู้ของแนวคิดระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ สำหรับระบบเก่านั้นเห็นตัวอย่างได้ชัดจากแนวคิดของฟิลิป เขาชื่นชอบทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน อย่าง ‘ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด’ และได้นำมาปรับใช้กับมุมมองที่มีต่อสังคม โดยเขามองว่าโอกาสในการอยู่รอดมีให้เฉพาะผู้ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่กลุ่มไทม์คีปเปอร์ถึงแม้จะไม่ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งดังกล่าว (อันที่จริงหัวหน้ากลุ่มอย่างเรย์มอนด์มาจากเมืองยากจนอย่างเดย์ตันด้วยซ้ำ) แต่พวกเขาก็เลือกทำตามกฎเพื่อรักษาสภาวะสังคมแบบเดิมให้คงอยู่ต่อไป เพราะกลัวว่าถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว สังคมจะเสียสมดุลและล่มสลาย ตัวอย่างของแนวคิดระบบใหม่ได้แก่วิลกับซิลเวีย พวกเขามีลักษณะของ ‘นักปฏิวัติ’ ซึ่งต้องการล้มล้างระบบเดิมที่เหลื่อมล้ำ (หรือระบบที่ ‘เพื่อให้คนไม่กี่คนเป็นอมตะ หลายคนจำเป็นต้องสละชีวิต’ แบบที่เฮนรี่ แฮมิลตันกล่าวไว้) แล้วสร้างระบบใหม่ที่ผู้คนมีความเท่าเทียมกัน กล่าวคือพวกเขามองว่าทุนนิยมไม่ได้เป็นแค่คำตอบเดียวของสังคม แต่การสร้างระบบสังคมนิยมนั้นมีโอกาสเป็นความจริงได้ In Time: เวลา ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิวัติ หนังดูเหมือนจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง โดยวิลกับซิลเวียสามารถขโมยแคปซูลเก็บเวลาหนึ่งล้านปีของฟิลิปในนิวกรีนิชแล้วมาแจกจ่ายให้กับผู้คนในเดย์ตัน จนคนในเมืองไม่ต้องเสียเวลาทำงานเลี้ยงชีพให้อยู่รอดวันต่อวัน และสามารถเดินทางไปในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ การอพยพครั้งใหญ่ดังกล่าวทำให้ไทม์คีปเปอร์ยุติการทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งนั่นดูเหมือนว่าโลกยูโทเปียที่ตัวเอกของเรื่องคาดหวังได้เกิดขึ้นแล้ว แต่หากมองอีกด้านก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า แผนการปฏิวัติระบบของตัวเอกจะไปได้ไกลและยั่งยืนได้แค่ไหน เห็นได้จากการที่เมื่อตัวเอกแจกจ่ายเวลาให้กับผู้คนมากมาย ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็ขึ้นและเกิดเงิน (เวลา) เฟ้อขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด แสดงให้เห็นว่าการแจกเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่ไม่มีการสร้างระบบมารองรับ ไม่มีการสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่มีการลบล้างแนวคิดที่ยึดถือในเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลแบบผูกขาด เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำก็อาจกลับมาไม่ช้าก็เร็ว  (ซึ่งเป็นไปตามที่ฟิลิปได้กล่าวไว้ว่า การปฏิวัติของตัวเอกอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ 1-2 ชั่วอายุคน ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม) โดยที่ต่อให้วิลกับซิลเวียจะปล้นคนรวยมาช่วยคนจนอีกกี่ครั้งก็ตามก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ นั่นทำให้วิลกับซิลเวียจึงไม่ต่างจากบอนนีกับไคลด์ตรงที่สามารถสร้างความ ‘โรแมนติก’ ของการเป็นนักปฏิวัติให้กับผู้พบเห็น แต่สำหรับเรื่องประสิทธิภาพของการปฏิวัตินั้นไม่อาจแน่ใจได้สักเท่าไร เรื่อง: บดินทร์ เทพรัตน์