ศาลอินเดีย กับการตัดสินคดีไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติในโรงภาพยนตร์

ศาลอินเดีย กับการตัดสินคดีไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติในโรงภาพยนตร์
"ฉันไม่ใช่ชาวอินเดีย และไม่เคยประกาศความภักดีในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่ออินเดีย อย่างที่สองฉันปฏิเสธลัทธิชาตินิยมที่มีกรอบนิยามให้ประชาชนที่เกิดในประเทศหนึ่ง ๆ มีคุณสมบัติร่วมกันเป็นเอกลักษณ์เดี่ยว และที่สำคัญที่สุด ฉันรู้สึกไม่สบายใจกับการเอาแนวคิดดังกล่าวมาบังคับกัน [ขณะเดียวกัน] ฉันไม่คิดว่าเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นสัญลักษณ์แห่งชาติของอินเดีย"  หญิงชาวแอฟริกาใต้รายหนึ่งที่มีแฟนหนุ่มเป็นชาวอินเดียกล่าวถึงเหตุผลที่เธอไม่ยืนเคารพเพลงชาติในโรงหนังแห่งหนึ่งในอินเดียเมื่อปี 2014 ซึ่งแฟนของเธอถูกรุมทำร้ายจากชาวอินเดียผู้รักชาติ (จนล้นเกิน) ที่อยู่ในเหตุการณ์ (Huffington Post) ธรรมเนียมเคารพเพลงชาติก่อนดูหนังเคยเป็นที่แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษซึ่งน่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่ถือธรรมเนียมนี้ เริ่มตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คล้อยหลังมาจนถึงทศวรรษที่ 50s ที่ประเทศยังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่ถึงทศวรรษที่ 60s คนอังกฤษก็เริ่มไม่อินกับเพลงชาติ (God Save the Queen) กันเท่าไหร่แล้ว เมื่อเพลงชาติขึ้นหลังหนังจบ คนดูจำนวนมากก็รีบแห่กันออกจากโรงหนัง จนตอนหลังธรรมเนียมนี้ก็ค่อย ๆ หายไป เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ (Forbes) แต่อินเดียยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่รับสืบทอดธรรมเนียมนี้สืบมาถึงปัจจุบัน และความเคร่งครัดก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสชาตินิยม โดยมีประชาชนผู้รักชาติเป็น "ผู้คุมกฎ" และบังคับใช้กฎนั้นด้วยตัวเองเมื่อเห็นใครก็ตามที่ไม่ยอมยืนเคารพธงชาติมาตรการบังคับขู่เข็ญก็จะตามมา เหยื่อความรุนแรงจากผู้รักชาติก็มีทั้งชาวต่างชาติ และชาวอินเดียที่ไม่ยืนด้วยเหตุผลต่าง ๆ แม้แต่ผู้พิการที่ยืนไม่ได้ก็เคยถูกทำร้ายมาแล้ว "ไม่ควรมีการส่งเสริมให้ร้องเพลงชาติในโรงภาพยนตร์ มันไม่ใช่ที่ที่คนจะมาแสดงออกถึงความรักชาติ" ซาลิล ชาตุร์เวดี (Salil Chaturvedi) นักเขียนชาวอินเดียที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังจนทำให้ต้องใช้รถวีลแชร์อยู่ก่อนแล้วกล่าวหลังถูกทำร้าย (India Today) ก่อนเสริมว่า เพลงชาติไม่ควรถูกนำมาใช้ให้เสียเกียรติเช่นนี้ เพราะโรงภาพยนตร์เป็นที่ที่คนมาหาความสุข หลายคนอาจจะเมามายมาก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ด้วยซ้ำ และหากจำเป็นต้องเปิดเพลงชาติจริง ๆ ทางโรงภาพยนตร์ก็ควรต้องแจ้งให้ผู้ชมคนอื่น ๆ เข้าใจด้วยว่า ผู้ชมบางคนอาจจะร่วมยืนด้วยไม่ได้ การเปิดเพลงชาติในโรงภาพยนตร์ของอินเดียมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60s แต่มันก็ไม่ได้มีการบังคับกะเกณฑ์เป็นเด็ดขาด (แต่มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการดูหมิ่นสัญลักษณ์ของชาติรวมถึงธงชาติ) จนกระทั่งปี 2016 ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า เป็นหน้าที่ที่โรงภาพยนตร์ควรจะต้องเปิดเพลงชาติโดยทั่วกัน "เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าตนอยู่ในชาติเดียวกัน และแสดงออกถึงความเคารพต่อเพลงชาติและธงชาติ" (The Guardian) (ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการดูหมิ่นสัญลักษณ์ของชาติรวมถึงธงชาติไม่ได้กล่าวถึงการบังคับให้คนยืนหรือไม่ยืนเคารพธงชาติหรือเพลงชาติ แต่คน[อินเดียชาตินิยม]มักจะตีความไปไกลว่าไม่ยืนเท่ากับไม่เคารพ) คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) พรรคชาตินิยมฮินดูซึ่งเป็นพรรครัฐบาลออกมาแสดงความยินดีที่เห็นศาลสูงสุดมีส่วนช่วยปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม  แต่ทันทีที่มีคำวินิจฉัยออกไปก็มีการต่อต้านเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ทำอย่างเดี่ยว ๆ หรือเป็นขบวนการ โดยกลุ่มหลังที่โดดเด่นก็คือทางสมาคมภาพยนตร์จากเทศบาล Kodungallur เมืองเล็ก ๆ ในรัฐเกรละ พวกเขาอ้างว่า การบังคับให้ยืนเคารพเพลงชาติในโรงภาพยนตร์ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการแสดงความเคารพแต่ภายนอกซึ่งไม่ได้บอกถึงความรู้สึกภายใน อีกทั้งการบังคับกับภาพยนตร์ทุกเรื่องก็ไม่สมเหตุสมผล เช่นในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่มีการฉายวันหนึ่งเป็นสิบ ๆ เรื่อง ตัวแทนที่เข้าชมก็ต้องลุกขึ้นยืนทุกครั้ง ทำให้พวกเขาออกมายื่นคำร้องขอให้ศาลทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าว (BBC "ประชาชนไปโรงภาพยนตร์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา หนึ่งในเหตุผลหลักก็คือเพื่อความบันเทิง และโครงเรื่องของภาพยนตร์หลายเรื่องก็อาจไปด้วยกันไม่ได้กับความรู้สึกถึงความเคารพต่อชาติ" บางส่วนของคำร้องระบุ การวินิจัยคำร้องดังกล่าวของศาลฎีกามีขึ้นในช่วงปลายปี 2017 คณะผู้พิพากษาชุดนี้เห็นตรงกันว่า การที่คนไม่ยืนเคารพเพลงชาติใช่ว่าจะรักชาติน้อยกว่าคนที่ยืน และ "สิ่งที่คนอยากให้เป็นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การบังคับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พลเมืองไม่ควรถูกบังคับให้ถือความรักชาติ (patriotism) และศาลก็ไม่สามารถใช้คำสั่งของตนปลูกฝังให้คนรักชาติได้" (First Post ผู้พิพากษาคณะนี้มีความเห็นต่างจากคณะเดิมมาก พวกเขาเห็นว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องยืนเคารพเพลงชาติเพื่อพิสูจน์ความรักชาติของตัวเอง การทำเช่นนี้ต่อไปอาจจะมีคนออกมาเรียกร้องให้ห้ามใส่รองเท้าแตะหรือเสื้อยืดมาโรงภาพยนตร์ก็ได้ เพราะนั่นอาจเข้าข่ายเป็นการไม่เคารพเพลงชาติ และถ้าหากรัฐบาลต้องการบังคับให้คนยืนเคารพเพลงชาติก็ควรออกกฎหมายบังคับใช้เอง ศาลไม่ควรตกเป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายดังกล่าว  "อะไรทำให้คุณ (รัฐบาล) ไม่ยอมแก้กฎหมายว่าด้วยธงชาติเหรอ? คุณสามารถแก้ได้ ระบุไปเลยว่าเพลงชาติต้องเล่นที่ไหน ที่ไหนห้ามเล่น ทุกวันนี้เพลงชาติถูกนำไปเปิดระหว่างการแข่งขัน ทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ รวมถึงโอลิมปิก ที่คนกว่าครึ่งไม่ได้รู้หรอกว่ามันมีความหมายอย่างไร (เพราะคนดูโอลิมปิกไม่ได้มีแต่คนอินเดีย)" ดีวาย ฉันทราฉุด (DY Chandrachud) หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษากล่าว สองปีผ่านไปหลังจากมีคำวินิจฉัยที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงในสังคมเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องยิ่งขึ้น ในปี 2018 ศาลฎีกาอินเดียก็ได้ทำการทบทวนและแก้คำวินิจฉัยเดิมหลังได้รับคำแนะนำจากทางรัฐบาล (ซึ่งตอนแรกก็ยินดีกับคำวินิจฉัยเดิมมาก) โดยโยนการตัดสินใจว่าจะเปิดเพลงชาติในโรงภาพยนตร์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทางโรงภาพยนตร์ต้องคิดเอาเอง (BBC) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเปิดต่อไป