Infernal Affairs 2 คน 2 คม: จากหนังที่เกือบไม่ได้สร้าง สู่ตำนานยิ่งใหญ่แห่งเกาะฮ่องกง

Infernal Affairs 2 คน 2 คม: จากหนังที่เกือบไม่ได้สร้าง สู่ตำนานยิ่งใหญ่แห่งเกาะฮ่องกง
หากเอ่ยถึง ‘หนังฮ่องกง’ หรือบางคนจะเรียกรวม ๆ ว่า หนังจีน ก็ตามแต่ ภาพของหนังกำลังภายใน / หนังตลกเจ็บตัว หรือกระทั่งหนังผีกัด / หนังชีวิตอันแสนรันทด ล้วนแล้วแต่เป็นความทรงจำอันงดงามที่มีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970s และเป็นความบันเทิงที่คู่คนไทยมานานแสนนาน อีกหนึ่งแนวหนังที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือหนังแอ็กชันแนวแก๊งมาเฟีย เรื่องราวคุณธรรมน้ำมิตร / การหักหลัง / การปะทะกันของความดีและความชั่ว องค์ประกอบเหล่านี้มักจะถูกนำมากล่าวซ้ำไปวนมาอยู่เสมอในหนังตระกูลนี้ บนการต่อสู้สุดระห่ำที่ดีไซน์ฉากแอ็กชันจนตระกูล Hong Kong Gangster Movies กลายเป็นตระกูลที่ถูกกล่าวขวัญถึงเสมอในแวดวงภาพยนตร์โลกในฐานะผู้กรุยทางและสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับแนวทางของภาพยนตร์ และหากเราจะนึกถึงหนังแอ็กชันฮ่องกงเรื่องยิ่งใหญ่ ที่ทำให้โลกทั้งใบต้องตะลึงในไอเดียที่สดใหม่ในเนื้อหาที่เข้มข้น พร้อมพลังนักแสดงที่ยอดเยี่ยม หลายคนต้องนึกถึงหนังเรื่อง Infernal Affairs อย่างแน่นอน เรามาย้อนไปทำความรู้จักหนังที่จุดเริ่มต้นเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่แสนโหดหิน แต่ผลตอบรับกลับกลายเป็นหนังเรื่องยิ่งใหญ่ที่แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ความสดใหม่นั้นยังคงตราตรึงในความทรงจำของนักดูหนังไม่ว่าจะเป็นคอหนังฮ่องกง หรือแม้กระทั่งคอหนังทั่วโลก   การสลับหน้า นำพาสู่ไอเดียสุดแหวก ฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 1990s หลังจากที่เปลี่ยนการปกครองจากอังกฤษคืนสู่อ้อมอกจีนในปี 1997 นั้น ผู้คนต่างหวาดระแวงและไม่รู้เลยว่าอนาคตของเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้จะเป็นเช่นไร วิกฤตนั้นสะท้อนได้จากวงการบันเทิงของฮ่องกง โดยเฉพาะวงการหนัง ต่างกำลังเข้าสู่สภาวะเข้าตาจนจากหนังที่เน้นปริมาณแต่หายากยิ่งในด้านคุณภาพ สภาวะซบเซาเกิดขึ้นในยุคฟองสบู่แตกจากการสร้างแต่หนังแนวซ้ำซาก หนังกำลังภายในถูกรีไซเคิลเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกจนไม่มีไอเดียใหม่ในการเล่าเรื่องแล้ว สภาวะสมองไหลเริ่มปรากฏให้เห็น จากการโกอินเตอร์ของ จอห์น วู / โจวเหวินฟะ ที่บินไปเฉิดฉายในวงการหนังฮอลลีวูด มิต้องเอื้อนเอ่ยเลยว่าหนังแอ็กชันฮ่องกงนั้นลมหายใจรวยรินมานานแสนนานก่อนหน้านั้นนานแล้ว แม้ผู้สร้างหนังหลายรายจะพยายามหาแนวทางใหม่ ๆ อย่างการสร้างหนังชุด กู๋หว่าไจ๋ (Young and Dangerous, 1996) หรือการค้นพบแนวทางการทำงานชัดเจนของตู้ฉีฟง ผู้กำกับหนังแอ็กชันดราม่าอาชญากรรมรุ่นใหม่ที่ช่วยต่อลมหายใจอันรวยรินของวงการหนังฮ่องกงที่กำลังร่อแร่ให้ฟื้นคืนมา กระทั่ง จอห์น วู ได้ทำหนังฮอลลีวูดเรื่องเยี่ยมอย่าง Face/Off (สลับหน้า ล่าล้างนรก, 1997) ที่แม้จะแสดงนำโดยนักแสดงฮอลลีวูด แต่จิตวิญญาณและสไตล์การทำงานนั้นกลับปรากฏลายเซ็นของหนังแอ็กชันฮ่องกงอย่างชัดเจน เรียกได้ว่า Face/Off คือความภาคภูมิใจที่หนังฮ่องกงได้ปักหมุดสไตล์ของหนังให้โลกได้รับรู้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือไอเดียการผ่าตัดสลับหน้าของคน 2 คนที่ยืนอยู่คนละขั้วของกฎหมายนั้น ได้จุดประกายให้กับนักทำหนังรุ่นใหม่อย่าง อลัน มัค ที่เพิ่งเข้าวงการภาพยนตร์มาสด ๆ ร้อน ๆ ในช่วงนั้นอย่างมาก เขาค้นพบว่าที่ทางของหนังแอ็กชันนั้นยังพอมีลู่ทางใหม่อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับไอเดียของเรานั้นว่าจะสดใหม่หรือเจ๋งขนาดไหนเท่านั้น เขาเก็บกลั้นไอเดียที่จะสร้างแนวทางใหม่ของหนังแอ็กชันไม่ไหว จึงชวนรุ่นพี่ที่เคารพในวงการบันเทิงอย่าง แอนดรูว์ เลา ที่ขณะนั้นมีผลงานเจ๋ง ๆ อย่าง กู๋หว่าไจ๋ ออกฉาย และเป็นนักทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตา แอนดรูว์สนใจในไอเดียการสลับหน้ามาก แต่เขาก็รู้สึกว่าคนดูยุคนี้ไม่น่าจะรับความไซไฟผ่าตัดเปลี่ยนหน้าได้ จนกระทั่งอลันได้โยนไอเดียไปว่า “ถ้าเราเปลี่ยนหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเราสลับสิ่งแวดล้อมของตัวละครไปล่ะ ?” นำมาสู่แนวคิดที่เขาจะทำหนังดราม่าอาชญากรรมสลับขั้วของตำรวจและผู้ร้าย โดยอลันเขียนบทร่วมกับ เฟลิกซ์ ชง มือเขียนบทรุ่นใหม่ไฟแรงมาร่วมเขียนบท แต่จุดเริ่มต้นนั้นมันไม่ง่ายเลย การสลับบทบาทระหว่างตำรวจและผู้ร้ายใช่ว่าจะเป็นไอเดียแปลกใหม่ มีหนังมากมายที่เล่าเรื่องตำรวจแฝงตัวในหมู่โจรให้เห็นตั้งแต่ยุค 1980s อย่าง เถื่อนตามดวง (City on Fire, 1987) ที่แอนดรูว์เคยเป็นตากล้องถ่ายหนังเรื่องนี้กับมือก็คุ้น ๆ ในไอเดียนี้ จนดูเหมือนทั้ง 3 ต่างตีบตันในความคิด จึงแยกย้ายไปทำหนังเรื่องอื่น ๆ ก่อน และค่อยสั่งสมไอเดียในการทำ จนกระทั่งเวลาล่วงไปนานกว่า 5 ปี หนังเรื่องนี้ก็ค่อยกลับมาเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง   โปรเจกต์ที่นายทุนส่ายหัว จนได้รับการอุ้มชูโดยซูเปอร์สตาร์ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม สิ่งที่วงการหนังฮ่องกงต่างหวาดกลัวก็เกิดขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงนั้นอยู่ในสภาวะฝืดเคืองทั้งด้านการเงินและไอเดียเด่นชัดยิ่งขึ้น อลันจึงนึกขึ้นได้ว่าเขามีไอเดียที่เคยทำเมื่อหลายปีก่อน เขาจึงลงมือปัดฝุ่นแล้วเขียนมันอีกครั้ง แต่น่าเศร้าใจที่เมื่อเขานำบทนี้ไปเสนอสตูดิโอที่ไหน ทุกที่ต่างส่ายหน้าและพากันปฏิเสธไปหมด เพราะในสภาวการณ์นี้ควรทำหนังที่น่าจะมีโอกาสทำเงินได้ง่ายมากกว่าจะมาเสี่ยงกับหนังที่ไม่รู้ว่ามันจะลงเอยหัวหรือก้อย แต่อลันก็ไม่ย่อท้อ เขาหวังว่าจะต้องมีนายทุนสักคนที่ใจกล้าบ้าบิ่นในไอเดียของเขาอย่างแน่นอน จนกระทั่งในที่สุดเขาก็ได้เจอนายทุนใจป้ำตัวจริงนั่นคือ สตูดิโอ Media Asia Film ที่ตอบรับในไอเดียและบทที่สมบูรณ์แบบนี้ ก่อนหน้านี้วงการหนังฮ่องกง ‘เรื่องย่อมาก่อนบท’ เพราะการทำงานในเวลาจำกัดนั้นไม่เอื้อให้ต้องมาเสียเวลาเขียนบทหลายร้อยหน้าเพื่อเสนอค่าย แต่ Media Asia กลับตั้งใจอ่านบทนี้อย่างประณีตบรรจง Media Asia กล่าวอย่างติดตลกว่า “สตูดิโออื่นคงเสียดายที่เขาคงฟังแต่ไอเดีย ไม่ได้อ่านบท พวกเขาพลาดหนังยอดเยี่ยมในมือไปแล้ว” จึงกล่าวได้ว่า Infernal Affairs ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ฮ่องกง ที่หลังจากนั้นต้องให้ความสำคัญต่อบทเป็นอย่างแรกเสมอ อลัน มัค วางแผนหนังเรื่องนี้ไว้สองแบบ แบบแรกคือให้นักแสดงซูเปอร์สตาร์มาร่วมแสดงหากได้งบการสร้างที่น่าพึงพอใจ อีกแผนคือใช้นักแสดงที่มีศักดิ์ศรีรองลงมาเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ท้ายที่สุดบทหนังเรื่องนี้ก็ตกถึงมือ หลิวเต๋อหัว เขาประทับใจในบทอย่างมากถึงกับยอมลดค่าตัว พร้อมทั้งลดบทบาทในหนังที่เขาควรได้รับบทนำอย่างเต็ม ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักแสดงอีกคนได้ประกบคู่ นับเป็นสปิริตอันแรงกล้าที่ซูเปอร์สตาร์ที่โด่งดังในยุคนั้นอย่างหลิวเต๋อหัวจะยอมลดเพดานค่าตัว ซึ่งสุดท้ายนักแสดงอีกคนที่มารับบทบาทก็คือ เหลียงเฉาเหว่ย ซึ่งเมื่อเขาได้รู้ข่าวว่าหลิวเต๋อหัวยอมลดค่าตัวแล้ว เหลียงเฉาเหว่ยก็ยอมลดค่าตัวเพื่อการทำงานที่ได้คุณภาพเช่นกัน    อุปสรรคนานัปการระหว่างถ่ายทำ อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคแบบไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นมรสุมทางภัยธรรมชาติที่ฝนตกรุนแรงจนต้องยกกอง ไปจนถึงการบาดเจ็บอย่างไม่ทราบสาเหตุของทีมงาน ร้อนไปถึงฝั่งผู้บริหารที่ต้องพานักแสดงทั้ง 2 คนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทยเพื่อให้ อาจารย์กิมน้ำ ซินแสผู้โด่งดังแห่งตำหนักหลวงปู่มังกรขาว มาช่วยดูฮวงจุ้ยหนังเรื่องนี้ ซึ่งอาจารย์กิมน้ำ ได้ให้ลดทอนชื่อหนัง ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘นรกอเวจีขุมสุดท้าย’ ที่กล่าวถึงสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครทั้ง 2 ที่อยู่ในสภาวะไม่ต่างกับการตกนรกที่ไม่สามารถเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่อไปได้ ให้รุนแรงน้อยลง จนสุดท้ายเหลือเพียงนรกเท่านั้น จนเป็นที่มาของชื่อ ‘Infernal Affairs’ และวางตำแหน่งในโปสเตอร์ให้หลิวเต๋อหัวอยู่เหนือเหลียงเฉาเหว่ย ด้วยความอาวุโสกว่า หลังจากที่ผู้สร้างคิดไม่ตกว่าจะจัดวางนักแสดงทั้งคู่ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันอย่างไร รวมไปถึงนับตั้งแต่ถ่ายทำจวบจนถึงรอบสื่อมวลชนให้ทีมงานทุกคนสวมชุดสีม่วง และต้องทำหนังเรื่องนี้เป็นไตรภาค สายมูดันได้ผล เหลือเชื่อที่เมื่อหนังเปลี่ยนชื่อ การถ่ายทำกลับปลอดโปร่ง ไม่มีฝนตกสักเม็ดเดียวนับจากนั้น   สร้างกระแสความยิ่งใหญ่ จนได้รีเมก จนเมื่อหนังได้สำเร็จและออกฉายในปี 2002 หนังได้ปลุกกระแสหนังฮ่องกงที่เคยซบเซาให้บูมขึ้นมาทันที เรื่องราวการหักเหลี่ยมเฉือนคมของ หมิง (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) ลูกน้องของบิ๊กเตี้ยแซม (รับบทโดย เจิ้งจื่อเหว่ย) ที่แฝงตัวมาเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวในแวดวงตำรวจ หารู้ไม่ว่าขณะเดียวกัน ชาน (รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย) ตำรวจนอกเครื่องแบบก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นนักเลงอยู่ในก๊วนของแซมเช่นกัน ความทรมานของทั้ง 2 ที่ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเป็นสายเพื่อรับใช้องค์กร เต็มไปด้วยความกดดันที่ถาโถมและอันตรายรอบด้านที่ไม่อาจจะข่มตาได้ลง ก่อนที่โชคชะตาจะนำพาให้ทั้ง 2 โคจรมาพบกันบนดาดฟ้า สู่บทสรุปสุดท้ายที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่นับได้ว่าเป็นซีนที่ดีที่สุดอันดับต้น ๆ ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮ่องกงเลยทีเดียว หนังได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ที่คว้าทั้งรางวัลมากมายทั้งในสายการสร้างและการแสดง ในขณะเดียวกันหนังก็ทำรายได้ถล่มทลาย เป็นการผลักดันหนังฮ่องกงยุคใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอีกครั้ง และความโด่งดังของหนัง (และการทำตามคำชี้แนะของซินแส) ก็มีภาคต่อตามมาอีก 2 ภาค คือ 2 คน 2 คม ภาค 2 และ 3 (Infernal Affairs II & III, 2003) ที่เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของทั้ง 2 ตั้งแต่ช่วงเรียนโรงเรียนตำรวจ และบทสรุปอันแท้จริง เป็นการปิดตำนานไตรภาคอย่างงดงาม นอกจากดังในบ้านเกิดแล้ว ฮอลลีวูดยังสนใจนำเรื่องราวไปรีเมกในชื่อ The Departed (ภารกิจแฝงตัวโค่นเจ้าพ่อ, 2006) ที่ได้รุ่นใหญ่อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เปลี่ยนจากตำรวจฮ่องกงเป็นตำรวจไอริช และเวอร์ชันรีเมกก็แรงจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง ท่ามกลางความกังขาว่าตัวหนังนั้นไม่อาจดีเทียบเท่าต้นฉบับที่ไม่มีโอกาสได้เข้ารอบแม้กระทั่งรางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้นด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างไรก็ดี Infernal Affairs ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงอย่างบ่อยครั้งยามที่มีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล กลายเป็นหนึ่งในหนังขวัญใจของใครหลายต่อหลายคน เป็นช่วงเวลาอันแสนรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันวงการภาพยนตร์ฮ่องกงให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากจุดเริ่มของไอเดียแหวกแนวที่เกือบจะไม่สร้าง ไปจนถึงความกล้าที่จะฉีกออกจากกฎเดิม ๆ ของผู้สร้าง และสปิริตของนักแสดงรุ่นใหญ่ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้หนังเรื่องนี้ก้าวสู่ตำนานแห่งภาพยนตร์และเป็นหนังในดวงใจของนักดูหนังทั่วโลก   ข้อมูล https://daydaynews.cc/en/movie/behind-the-scenes-of-infernal-affairs-andy-lau-insisted-on.html https://www.sensesofcinema.com/2003/feature-articles/internal_affairs/ https://www.thairath.co.th/content/366753