สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม

สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม
กว่าภาพยนตร์ต่างประเทศสักเรื่องจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทย มันต้องผ่านกระบวนการมากมายก่อนผู้ชมอย่างเราจะได้เชยชม โดยขั้นตอนแรกก็คือการซื้อลิขลิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนั้นนั่นเอง สหมงคลฟิล์ม เป็นอีกหนึ่งค่ายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เพียงผลิตอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศชื่อดังจำนวนมาก ทั้งภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ระดับยักษ์อย่าง The Hunger Game, John Wick หรือภาพยนตร์นอกกระแสคุณภาพ Greenbook, Parasite, Midsommar ฯลฯ โดยมี ภาณุ อารี เป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ ในฐานะฝ่ายจัดซื้อผู้ทำหน้าที่เดินทางต่างประเทศเพื่อคัดเลือกภาพยนตร์มาฉาย The People จึงชวนคุยถึงประสบการณ์การทำงาน หนังดีในสายตาเขาคืออะไร แนวโน้มวงการภาพยนตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และมุมมองต่อวัฒนธรรมการดูหนังในประเทศไทย   [caption id="attachment_12193" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม ภาณุ อารี[/caption]   The People: จำความรู้สึกแรกที่นั่งดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้ไหม ภาณุ: นานมากแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่เข้าโรงหนังเป็นประจำ มีหลายครั้งที่เขาจะพาไปดูหนังด้วย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรื่อง Star Wars: Episode IV - A New Hope (1977) แต่ตอนนั้นรัฐบาลเราขึ้นภาษีนำเข้า หนังอเมริกายังฉายไม่ได้ทันที เราเลยน่าจะได้ดูประมาณปี 1980 เป็นประสบการณ์การดูในโรงกรุงเทพฯ ที่จำความได้ น่าจะเป็นโรงหนังวอชิงตันแถว ๆ โรงแรมเอเชีย หรือไม่ก็โรงหนังแม็คเคนน่าหรือเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะดูหนังการ์ตูนก็ได้นะ แต่จำไม่ได้แล้ว   The People: ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานสายภาพยนตร์  ภาณุ: ถ้าผมจำไม่ผิดประมาณปี 2534 ตอนเข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นพี่ที่เรียนภาพยนตร์เขาทำ film club ฉายหนังอยู่เรื่อย ๆ เราก็มีโอกาสได้ดู พอถึงเวลาเลือกเอก ที่คณะมีผู้หญิงเยอะซึ่งจะเลือกเรียนพีอาร์หรือโฆษณา เหลือผู้ชายที่จะเลือกเอกหนังสือพิมพ์กับภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ จริง ๆ ผมชอบกีฬามากนะ รู้ขนาดเป็นสารานุกรม (encyclopedia) ได้เลย ผมก็อยากเรียนสายหนังสือพิมพ์ แต่ว่าสุดท้ายเพื่อนสนิทเขาเลือกเรียนภาพยนตร์กัน ผมก็เลยตัดสินใจนาทีสุดท้ายว่าเรียนภาพยนตร์ พอเรียนไปก็พบว่าตัวเองเหมาะกับทฤษฎีมากกว่า ไม่ถนัดเรื่องการถ่ายทำ จากนั้นก็สนใจดูภาพยนตร์มากขึ้น ยุคนั้นยังไม่มีเทศกาลหนังเยอะเท่านี้ครับ จะหาโอกาสดูหนังคือต้องไปตามสถาบันต่าง ๆ เช่น หนังฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ, หนังญี่ปุ่นที่ The Japan Foundation พอได้ดูหนังเยอะ ๆ ก็ยิ่งเปิดโลกของเราเหมือนกัน เพราะเวลาเรียนเราเรียนแค่ทฤษฎีหรือเรียนเฉพาะประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ แต่พอได้ดูหนังมากขึ้นเราก็ค้นพบว่า จริง ๆ แล้วโลกของหนังมันกว้างกว่านั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์หนังเก่าอย่างเดียว   The People: ทราบมาว่าส่วนตัวชอบภาพยนตร์เอเชีย จำพวกภาพยนตร์จีน จริงไหม ภาณุ: ส่วนหนึ่งด้วยครับ เพราะโชคดีที่ยุคผมมีผู้กำกับมาสเตอร์หลายคนเกิดขึ้น เช่น จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) เฉิน ข่ายเกอ (Chen Kaige) สมัยนั้นก็มีร้านเฟม (วีดีโอ) ที่เราสามารถหาหนังเหล่านี้ดู ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกสนใจ   แล้วตอนนั้นส่วนตัวลงเรียนประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังจึงสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียน เช่น เรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม การสร้างชาติจีนสมัยใหม่ พอดูไปเรื่อย ๆ ก็ค้นพบว่าวิธีการเล่าเรื่องหนังจีนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนังพูดถึงเรื่องการเมืองก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ดูเมโลดรามามาก ส่วนภาพจำหนังยุโรปจะเป็นหนังช้า ๆ slow cinema ซึ่งบางทีเราก็ไม่สนุกเท่าหนังพวกนี้ พอค้นหาหนังไปเรื่อย ๆ ยิ่งรู้สึกอยากดู อยากหาหนังของผู้กำกับรุ่นนี้มาเพิ่ม โชคดีว่าร้านเฟมฯ เหมือนเป็นหลักศิลาของการค้นหาหนังต่าง ๆ ก็เลยได้ติดตามอยู่เรื่อย ๆ ในช่วงนั้น   The People: คุณเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ที่สหมงคลฟิล์มได้อย่างไร  ภาณุ: หลังจบการศึกษาออกมา บังเอิญอาจารย์ บรรจง โกศัลวัฒน์ ซึ่งแกเป็นผู้กำกับหนังด้วย เขาให้ไปช่วยงานเป็นช่างบันทึกเสียง หลังจากนั้นคุณ ชลิดา เอื้อบํารุงจิต ที่ตอนนั้นเพิ่งตั้งมูลนิธิหนังไทยกัน มีเจตนารมณ์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยในเชิงวิชาการจริง ๆ ผมก็มีโอกาสเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร บังเอิญว่าช่วงเวลานั้นคุณชลิดารู้จักกับคนของสหมงคลฟิล์มที่เป็นนักวิจารณ์ที่ดังมากคือคุณ สุทธากร สันติธวัช เขาอยากได้ผู้ช่วยพอดี ตอนนั้นคุณสุธากรเองก็เริ่มบุกเบิกกิจกรรมการฉายหนังนอกกระแสที่โรงหนังฮอลลีวูด คุณชลิดาก็เลยฝากให้เราทำงานกับคุณสุธากร ในระยะแรกก็ทำงานแปลข้อมูลต่าง ๆ เพราะหนังต่างประเทศจะมีข้อมูลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ เราก็แปลไป จนกระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลาออก แล้วมันเป็นจังหวะความทรงจำที่ดี (หัวเราะ) วันนั้นผมเข้าห้องน้ำอยู่ กำลังทำธุระ แล้วเสี่ย เจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) เข้าห้องน้ำพอดี ผมยังจำประโยคที่เขาถามได้เลยว่า เฮ้ย เอ็งเป็นผู้ช่วยสุธากรใช่ไหม ผมบอกว่า ใช่ เขาก็บอกว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องทำแล้วนะ พรุ่งนี้ขึ้นไปทำงานกับ มร. กิลเบิร์ต ลิม ซึ่งก็เป็นหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศเลย หลังจากนั้นประมาณ 2543-2544 เป็นช่วงที่หนังต่างประเทศแข่งขันกันสูง เจ้านายก็เริ่มมอบหมายงานให้ติดต่อพูดคุยกับบริษัทต่าง ๆ จนกระทั่งสุดท้ายต้องมีคนเดินตลาด เจ้านายก็เลยให้โอกาสผมไปตลาดต่างประเทศสัก 4-5 ตลาด หลังจากนั้นก็ได้รับมอบหมายอยู่เรื่อย ๆ สุดท้ายก็มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมตัดสินใจในการคัดเลือกหนัง [caption id="attachment_12194" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม ภาณุ อารี[/caption]   The People: คุณมีวิธีการคัดเลือกหนังอย่างไรให้โดนใจคนดูชาวไทย ภาณุ: สิ่งสำคัญที่คนคัดเลือกหนังมีเหมือนกันคือทุกคนมีความชอบของตัวเอง ระยะแรก ๆ ผมก็โดนดุเหมือนกันว่า บางทีเราชอบหนังบางประเภทมากจนลืมไปว่าตลาดหนังหลัก ๆ ต้องการอะไร แต่สุดท้ายพอเราเริ่มเปลี่ยนความคิด โฟกัสในสิ่งที่ต้องโฟกัส พอเจอหนังที่เราอยากได้ก็สามารถ convince เจ้านายได้ว่าหนังเรื่องนั้นมันดีอะไรอย่างนี้  ผมว่าทุกค่ายคงเหมือนกันหมดครับ เราอยากได้หนังที่ทำเงิน สุดท้ายเวลาเรามองหนังสักเรื่องหนึ่ง เราต้องมองในสายตาของคนทั่วไปว่าเขาอยากดูอะไร    The People: ภาพยนตร์ต่างประเทศแบบไหนที่เหมาะกับคนดูของสหมงคลฟิล์ม  ภาณุ: อย่างแรกเราวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองเป็นบริษัท independent ไม่ใช่ผู้จัดจำหน่ายที่มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ซึ่งค่าย independent ทุกค่ายต้องการหมดคือหนังที่มี commercial value แต่ด้วยความที่เราวางตัวเองเป็น independent เราก็ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดของค่ายหนัง independent ส่วนเป้าหมายรองเราต้องการหนังคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับทางผู้บริหารอย่างคุณ อุ๋ย (ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ) ที่ทำโรงภาพยนตร์ HOUSE เราก็เลยแยกหนังชัดเจนว่า หลัก ๆ ต้องเป็นหนัง commercial ที่มีศักยภาพมากที่สุด และอีกประเภทเป็นหนังทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจหนังบล็อกบัสเตอร์มากนัก หรือมีความสนใจหนังทางเลือกอื่น ๆ เช่น หนังญี่ปุ่น หนังรางวัล และหนังที่เราอยากได้บ้าง เราไม่ได้มีสัดส่วนที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เราชัดเจนคือเราต้องการหนังใหญ่ก่อน ส่วนหนังทางเลือกอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่ามีความน่าสนใจไหม เพราะไม่ใช่หนังทางเลือกทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ หนังทางเลือกในมุมผมคือเป็นหนังที่ไม่ควรดูยากจนเกินไป ทุกคนบอกต่อได้ แล้วที่สำคัญต้องเป็นหนังที่ทำให้ทีมงานทุกฝ่ายปั้นอย่างมีความสุข  ยกตัวอย่าง Parasite (2019) เราโอเคกับมันนะ แล้วทุกคนก็มีปฏิกิริยาชอบเหมือนกัน ฝ่ายอื่น ๆ เวลา happy กับหนัง เขาก็อยากโปรโมทกัน มันก็ยิ่งทำให้แรงขับเคลื่อนในการโปรโมทมีมากขึ้น ซึ่งบางทีเราก็ต้องหักห้ามใจเวลาเจอหนังที่ยากเกินไปอย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ด (Jean-Luc Godard) หนังที่ผมเลือกจึงต้องเป็นหนังที่คนจะพูดต่อว่าหนังเรื่องนั้นไม่เหมือนใคร  ไม่ควรจะยากจนเกินไปที่พูดต่อ หนังประเภทนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามจะหามาให้ได้   The People: แสดงว่าการบอกปากต่อปากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังทางเลือกประสบผลสำเร็จมากขึ้น? ภาณุ: ใช่เลยนะ เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงมาก กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กมีพลังมากพอสมควร แล้วมันสอดรับกับการเกิดใหม่ของนักวิจารณ์รุ่นใหม่ ๆ บล็อกเกอร์ต่าง ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าพวกเขามีอิทธิพลมากกว่าสื่ออื่น ๆ ถ้าเขาชอบ เขาก็จะไปพูดต่อไป ซึ่งไอ้ตรงนี้มันเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญของการรีวิวหรือการวิจารณ์ มันช่วยได้จริง ๆ   The People: มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่คุณซื้อมาแล้วสร้างเซอร์ไพรส์ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คิด ภาณุ: กรณี The Lobster (2015) เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยครับ มันเป็นหนังที่ดูไม่ยากมาก แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะเข้าถึงมวลชนได้ง่ายเหมือนกัน ส่วนหนึ่งฝ่ายการตลาดก็ทำหน้าที่ได้ดีด้วย สามารถขยี้มุมต่าง ๆ ของหนังได้ ทำให้หนัง art เรื่องหนึ่งกลายเป็นหนัง commercial ได้ ซึ่ง The Lobster ก็ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึง Parasite ในฐานะเป็นหนังที่พบงานเขียนเยอะมาก แล้วเป็นการเขียนเกือบทุกมุมตั้งแต่มุมความรักแบบปกติไปจนถึงการตีความเชิงปรัชญา จำได้ว่างานหลายชิ้นอ่านยากมาก แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง อย่าง Parasite ก็เห็นได้ชัดเลยว่า มีคนเขียนเกือบทุกมุมแม้กระทั่งอาหารที่ตัวละครกิน   The People: ฟังดูคุณอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์หลายชิ้นเหมือนกันนะ  ภาณุ: อ่านครับ จริง ๆ เกือบทุกงานที่เกี่ยวกับหนังของสหมงคล ผมก็จะกดไลก์และพยายามอ่าน มันให้ความรู้สึกดีตรงที่หนังทำหน้าที่ของมันไปเรื่อย ๆ หมายถึงฝ่ายการตลาด ฝ่ายพีอาร์ส่งหนังถึงฝั่งเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือให้หนังทำหน้าที่ของมันเองต่อไป ถ้าหนังเกาะกระแสปากต่อปากได้ แล้วก่อให้เกิดงานวิจารณ์เยอะ ๆ จะทำให้หนังมีพลังบางอย่าง หรือบางกรณีก็อาจวิจารณ์ในแง่ลบด้วยซ้ำ แต่หนังก็เดินทางไปไกลแล้ว อย่าง Midsommar (2019) เป็นอีกเคสที่น่าสนใจ ที่คนชอบก็ชอบจริง ๆ คนไม่ชอบก็ไม่ชอบเลย แต่มันพิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ทุกคนไปดู   The People: จากการเดินทางไปตลาดต่างประเทศหลาย ๆ ที่ คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ในภาพรวมอย่างไรบ้าง ภาณุ: ชัดเจนมากในช่วง 3-4 ปีหลัง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของธุรกิจ streaming ที่ส่งผลมาก ในช่วงแรก ๆ ก็ดึงคนออกจากโรงหนังไปเยอะเหมือนกัน แล้ววงการหนังเองก็มีการปรับตัว ในอเมริกาเห็นชัดเลยว่ามันสร้างปัญหาเหมือนกัน หนังบางเรื่องเป็นหนังทุนต่ำ เขาไม่สามารถมีงบประชาสัมพันธ์ ดังนั้นเขาเลยเปลี่ยนรูปแบบของการจัดจำหน่ายใหม่เป็นฉายโรงหนึ่ง แค่ 1 อาทิตย์แล้วลงดีวีดีหรือ streaming เลย สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับบ้านเราเหมือนกันนะ โดยเฉพาะทัศนคติทั่วโลกที่ว่า ถ้าหนังมันลงอินเทอร์เน็ตหรือลงทีวีเร็ว แสดงว่า value มันต่ำ อีกอย่างเราก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจของคนดู เราจะเสียเงิน 200 บาทเพื่อดูหนังที่อาทิตย์ต่อมามันจะออก streaming หรือ? หลัง ๆ มานี้ ค่าย streaming ต่าง ๆ ก็เริ่มกลายเป็นผู้เล่นด้วย เป็นผู้สร้างเอง ซื้อเอง กลายเป็นว่าเราต้องเจอคู่แข่งมากขึ้น แต่สุดท้ายผมยังเชื่อว่า ถ้าหนังมี value ของมัน คนก็ยังดูในโรงภาพยนตร์ ขณะเดียวกัน digital disruption ยังเป็นข้อดีสำหรับผมในการสร้างชุมชนของการวิจารณ์ นั่นหมายความว่า ถ้ากระแสของหนังยังดีอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่อให้เป็นหนังเล็กแค่ไหนคนก็ยังตามดู   The People: อย่างไรก็ตาม คุณยังเชื่อว่าคนยังดูหนังในโรงภาพยนตร์? ภาณุ: ใช่ครับ ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เราค้นพบว่าทุก ๆ ช่วงจะมีวงจรของมัน ตอนที่ทีวีเกิดขึ้นในยุค 1950 ทุกคนเชื่อว่าหนังตายแน่ เพราะคนจะดูทีวีอยู่บ้าน แต่ภายในวงจร 10 ปีหนังก็กลับมาในรูปแบบของจอซีเนราม่า 70 มม. หรือยุควิดีโอวีเอชเอส ทุกคนก็คิดว่าหนังตาย แต่ว่าสุดท้ายพอหนังพัฒนาด้วยการลงทุนสูงขึ้น คนก็กลับมาดูหนังอยู่ดี ยุคนี้มันอาจจะเป็นยุคที่ลำบาก เราอาจจะรู้สึกว่าคนดูหนังน้อยลง แต่หนังที่มี value ดีจริง ๆ บ็อกซ์ออฟฟิศกลับดีขึ้นนะ อย่างหนัง Marvel เราไม่สามารถดูทางจอคอมได้ หรือแม้กระทั่งหนังแฟรนไชส์ John Wick อรรถรสที่สมบูรณ์แบบต้องดูในโรงภาพยนตร์ ดังนั้นผลกระทบของ digital disruption ส่งผลในรูปแบบของรายได้ที่ลดลง แต่บทที่รายได้เพิ่มขึ้นมันก็ขึ้นจริง ๆ นะ แล้วมันเกิดขึ้นกับทั่วโลกเหมือนกัน [caption id="attachment_12190" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม ภาณุ อารี[/caption]   The People: ในฐานะนักดูหนังคนอื่น คุณคิดว่า “หนังดี” คือหนังแบบไหน ภาณุ: อย่างแรกควรเป็นหนังที่เราสนุกกับมัน ไม่ว่าจะสนุกแบบเข้าใจ สนุกแบบต้องขบคิด และมันต้องเป็นหนังที่เราไม่สามารถเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเองได้ ดูแล้วอยากบอก  สมัยผมเป็นนักศึกษาหรือเด็กกว่านั้น เวลาคนดูหนังมาก็จะเขียนความรู้สึกในหน้าตอบจดหมาย มันเป็นช่องทางในการ express สิ่งที่เราชอบ เพียงแต่ว่าตอนนี้ในยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวเอง เราอยากเขียนอะไรก็ได้ ผมว่ามันก็เหมือนกันหมด หนังที่ดีควรเป็นหนังที่เราดูเสร็จแล้วรู้สึกเก็บไว้ข้างในไม่ได้ มันอึดอัด เราต้องพูดถึง ต่อให้เป็นหนังไม่ดีก็ด้วยนะ เราอยากพูดถึงมัน  อีกอย่าง หนังที่ดีควรเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรบางอย่าง ดูเสร็จแล้วควรอยู่ในหัวเราสักระยะหนึ่ง เราอาจจะลืมวันพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ว่าออกจากโรงปุ๊บจะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรบางอย่างกับเรา    The People: ส่วนตัวเคยเจอภาพยนตร์ที่ “เปลี่ยนความคิด” ไหม ภาณุ: มีหลายเรื่องเหมือนกันนะ หนังที่ทำให้ผมเรียนภาพยนตร์ก็จะมี Cinema Paradiso (1988) และ Goodfellas (1990) เป็นหนังที่จำได้ว่าไปดูในโรงประมาณ 4-5 รอบ และทำให้เราค้นพบอะไรใหม่ ๆ ดูเสร็จแล้วมันไม่จบแค่ end credit เรารู้สึกว่าทำไมฉากนี้มันดีมากเลย ฉากนี้เป็น long take ทำได้ยังไง กลับไปดูอีก ดูบ่อยจนบางเรื่องจำบทสนทนาได้ก็มี หนังประเภทนี้อาจไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงชีวิตอะไรมากมาย แต่รู้สึกว่าอย่างน้อยมันอยู่ในตัวเราได้นานเหมือนกัน แล้วมันทำให้เราอยากดูอีกที   The People: คุณเคยตั้งสเตตัสใน Facebook ว่า “ถ้าศิลปะต้องมีสถานะทางสังคม ภาพยนตร์ก็คือชนชั้นกลางถึงสูง” ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ภาณุ: ภาพยนตร์แตกต่างจากศิลปะประเภทอื่นนะ เพราะมันเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แล้วมันเป็นงานที่ต้องมีเงินทุนในการสร้างขึ้นมา อย่างงานวรรณกรรมเป็นงานที่อยู่ได้ทุกชนชั้นเลยนะ ต่อให้คุณเป็นชนชั้นล่างหรือไร้อิสรภาพ คุณก็ยังเขียนได้ อย่าง มาร์กี เดอ ซาด (Marquis de Sade) ถูกจำคุกไม่มีอะไรเขียน ก็เอาอุจจาระตัวเองมาเขียนวรรณกรรมได้ หรือคุณเป็นมนุษย์ถ้ำก็เอาดินฝุ่นมาวาดภาพได้ แต่หนังต้องมีต้นทุนในการสร้าง ต้องมีอุปกรณ์ ต้องเรียนรู้ถึงจะทำอะไรได้ แล้วปัจจัยสำคัญที่สุดคือหนังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางทุนนิยม หมายความว่ามีคนลงทุน 1 ล้านบาท ถ้าคุณไม่คาดหวังกำไรเลยก็จะแปลกเหมือนกัน กระทั่งหนัง art ก็ต้องมีการตลาดว่าคุณจะขายให้กับใคร ต้องไปเปิดตัวในเทศกาลไหน แม้กระทั่งหนังสะท้อนสังคมก็ต้องมี อย่าง Parasite จะพูดถึงชนชั้นล่าง แต่สุดท้าย mindset ของผู้กำกับก็ต้องคิดในมุมธุรกิจ เขาต้องคิดเหมือนกันว่าจะทำยังไงให้หนังมันดูสนุก มีเงื่อนไขของการทำหนัง ต้องมีพระเอก ผู้ร้าย แบ่งขั้วชนชั้นตัวละครชัดเจน ถ้าเราจะคาดหวังให้หนังพูดถึงชนชั้นอย่างเดียวมันยาก เขาก็ต้องคิดเรื่องการสำเร็จทางธุรกิจด้วย ช่วงเวลาเดียวที่หนังรับใช้ชนชั้นล่างได้จริง ๆ ก็คือช่วง Italian neo-realism หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกอย่างถูกทำลายหมด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงอุปกรณ์ที่หลงเหลือจากซากสงคราม แต่สุดท้าย neo-realism มีความ pure อยู่แค่ปี สองปี หลังจากนั้นพอระบบเศรษฐกิจกลับมา แล้วก็กลับสู่วงจรเดิมอีกครั้ง ถ้าจะคาดหวังให้ผู้กำกับต้องมาทำงานเพื่อรับใช้มวลชนอย่างเดียว ผมว่ายาก   The People: ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มองวงการภาพยนตร์ไทยตอนนี้อย่างไรบ้าง ภาณุ: หนังไทยตอนนี้มีปัญหา แล้วมันเป็นปัญหามาตลอดที่ไม่เหมือนชาติอื่นด้วย มีคนเคยถามเหมือนกันว่าทำไมเราถึงไม่เหมือนเกาหลี ฮ่องกง หรืออินโดนีเซียสักที ปัญหาหนึ่งคือเราไม่เคยสร้างวัฒนธรรมการดูหนังอย่างจริงจัง มันน่าเสียดายนะ สมัยเด็กยังจำได้ว่าทุกคนมองหนังไทยว่าน้ำเน่า จนถึงทุกวันนี้คนก็ยังมองอยู่ พอมีหนังค่ายที่ทำหนังดีมาก ๆ แต่เราก็มีหนังโอเคกลาง ๆ ไปจนถึงแย่ ทำให้คนรู้สึกว่าเราไม่ได้ take serious กับมัน เราคิดว่าการดูหนังคือเพื่อความสนุก แต่จริง ๆ แล้วหนังต้องทำหน้าที่พัฒนาโครงการ พัฒนาอุตสาหกรรม หลายคนบอกว่าไปดูงานที่เกาหลีแล้วกลับมาใช้กับเมืองไทยสิ แต่อย่าลืมว่าชาติเหล่านั้นเขามีวัฒนธรรมการดูหนังแล้ว วัฒนธรรมที่การไปดูหนังไม่ใช่แค่การปลดปล่อย แต่เป็นการไปดูเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม เบสิกของการดูหนังคือการพาตัวเองหนีจากความเป็นจริงใช่ไหม ซึ่งคนไทยมันแค่พาตัวเองหนีเท่านั้นเอง แต่ว่าเราไม่ได้มองหนังเป็นแหล่งพบปะ แหล่งแลกเปลี่ยน หนังกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยอารมณ์อย่างเดียว  ผมเคยคุยกับคนขายหนังที่ประเทศเกาหลี เขาบอกว่าทุกวันนี้หนังเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ทุกคนจะต้องออกไปดูหนังให้ได้ อย่างน้อยคนเกาหลี 1 คนจะต้องดูหนังปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง ซึ่งถือว่าเยอะนะ ผมเคยฟังผลสำรวจบ้านเรา คนไทยดูหนังประมาณปีหนึ่งโดยเฉลี่ย 2-3 เรื่องเอง น้อยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีเรียกว่า “วัฒนธรรม”  การสร้างวัฒนธรรมอยู่ดี ๆ จะสร้างวันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้หรอกครับ รัฐบาลจะมารณรงค์ให้คนดูหนังไทยไม่ได้ มันต้องมีความรู้สึกว่า หนังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เรามีหนังเกิดขึ้นมาร้อยปีแล้ว เรายังสร้างวัฒนธรรมตรงนี้ไม่สำเร็จเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้าเหมือนกัน   The People: คิดว่าทุกวันนี้คนไทยยังมองภาพยนตร์เป็น “ความบันเทิงราคาถูก” อยู่ไหม ภาณุ: ณ เวลานี้ผมก็ชักไม่แน่ใจเหมือนกัน ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ และทุกคนคิดทุกอย่างเป็นหลักเศรษฐศาสตร์หมด จากที่ค้นหาข้อมูลมาเขาบอกว่า ประเทศไทยถ้าเทียบตามอัตราส่วนของรายได้ต่อหัว เราจ่ายค่าตั๋วแพงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลก หมายความว่าเราจ่ายเงินแพงกว่ายุโรปบางประเทศอีก ถ้าเทียบกับค่าครองชีพ สมมติถ้าคนดูมีเงินอยู่ 250 บาท แล้วเบื้องหน้าเป็นโปสเตอร์หนัง 10 เรื่อง คนจะคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ว่าเขาจะเลือกดูอะไร คำถามที่ว่าหนังเป็นความบันเทิงราคาถูกไหม ผมว่าในภาวะปัจจุบันมันตอบยาก โอเค คนบางกลุ่ม 250 บาทอาจธรรมดา แต่อีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ 250 บาทมันทำอะไรได้มากมาย ถ้าจะตอบแบบง่ายที่สุดก็คือไม่แน่ใจจริง ๆ [caption id="attachment_12195" align="alignnone" width="960"] สัมภาษณ์ ภาณุ อารี ชายผู้ตามหาหนังดีมาฉายในไทย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม ภาณุ อารี[/caption]   ร่วมสัมภาษณ์: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย ภาพโดย: นพพร ยรรยง