นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล

นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล
มั่นใจแล้วหรือว่าโครโมโซมในร่างกายของคุณแบ่งแยกกรอบหญิงชายเอาไว้อย่างชัดเจน ไม่มีความเป็นอื่น?  หลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า LGBTQIAN+ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของทุกตัวอักษรท่ามกลางข่าวสารมากมายเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ คำว่า Intersex กลับไม่ถูกพูดถึงมากนัก  มีคนมากมายก้าวออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็น Trans, Gay, Bisexual, Lesbian คำว่าเควียร์และนอน-ไบนารีเองก็เริ่มเป็นที่คุ้นหูกันมากขึ้น แต่เมื่อนึกถึงตัว I จากคำว่า อินเตอร์เซ็กซ์แล้ว แทบไม่มีชื่อของใครผุดขึ้นมาเลยทั้งในระดับประเทศไทยหรือแม้แต่ในระดับเอเชีย ชวนมาฟัง นาดา ไชยจิตต์ หนึ่งในคนจำนวนน้อยนิดที่ออกมาแสดงตัวอย่างภาคภูมิใจในความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ของตัวเอง และพยายามส่งเสียงตะโกนแสดงตัวตนเพื่อให้ดังไปถึงเพื่อนอินเตอร์เซ็กซ์ในซอกมุมอื่นของสังคม นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล เพราะเป็นเพศหลากหลายจึงเป็นอื่น นาดามีประสบการณ์ตรงจากการถูกกีดกัน ถูกทำให้เป็นอื่นในมิติสังคมไทย รุนแรงถึงขั้นทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน เธอเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีเมื่อปี 2556 ไม่นานหลังจากการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมมาอย่างยาวนาน นาดาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนักเรียนทุนChevening ของรัฐบาลอังกฤษ และเรียนจนจบปริญญาโททางกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Essax  “ตอนที่เพิ่งเริ่มทำงานจริง ๆ แทบไม่มีที่ไหนต้อนรับด้วยซ้ำ ก็เลยผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ประมาณ 15 ปีก่อน ตอนนี้ก็น่าจะเรียกตัวเองเป็นนักกฎหมายได้เเล้วเพราะจบกฎหมายมา “เราพบว่ากฎหมายนี่สำคัญมากเลยนะ แม้กระทั่งเราแค่เรียนจบมานี่ เราได้ Privilege คนฟังเรา มันคืออำนาจอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าเรามีคุณวุฒิในวิชาชีพ คนจะยิ่งฟังเรา” นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล I จาก Intersex บุคคลเกิดมาสามารถมีเพศกำหนด (Sex Assigned at Birth) ได้ 3 รูปแบบ คือ หญิง (Female) ชาย (Male) และอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) คนทั่วไปอาจเคยได้ยินคำภาษาไทยว่า เพศกำกวม แต่การเเปลคำนี้ยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ นาดาจึงแนะนำ The People ว่า ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยตรงดีที่สุด อินเตอร์เซ็กซ์คือคนที่มีเพศสรีระและเพศทางชีวภาพที่ผสมผสานกัน ระหว่างลักษณะของเพศชายกับเพศหญิงอยู่ในคนคนเดียวกัน ประมาณ 1.7% ของประชากรจะเกิดมาเป็น Intersex หรือหนึ่งในสองพันของเด็กแรกเกิดก็จะมีภาวะของเพศสรีระ ตัวอวัยวะเพศที่มีความแตกต่างหลากหลาย  “เนื่องจากอินเตอร์เซ็กซ์มีตั้งแต่ตรวจเจอเลยกับมารู้ทีหลังตอนช่วงวัยเจริญพันธุ์ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่รัฐก็จะมีจำกัด แต่ละประเภทก็จะมีอัตราส่วน ความชุกไม่เหมือนกัน รูปแบบมันมีเยอะมาก เช่นเกิดมาเป็น XY ดูเหมือนเป็นเพศชาย แต่มีภาวะร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนเลย หรือผลิตแต่ไม่ตอบสนอง ไม่รับเอาฮอร์โมนเพศมาพัฒนาเลย หรือโครโมโซมเป็นเพศชาย แต่ไม่มีพัฒนาการในเรื่องเพศ เกิดมามีช่องคลอด มีคลิตอริส มีมดลูก บางคน บางส่วนอาจมีมดลูกแต่ตัน หรือประเภทที่มีโครโมโซมเพศเป็น XXY มีองคชาตขนาดเล็กมาก โตมาอยู่ ๆ ก็มีเต้านม  “เอาจริง ๆ รวมทุกประเภทก็มีเปอร์เซ็นต์มากกว่าคนเป็นแฝดอีก เยอะกว่าที่เราคิด แต่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือเปล่า เพราะมันจะถูกอธิบายว่ามันเป็นความผิดปกติและต้องได้รับการรักษา เหมาเอาว่าเป็นเพศชายแหละ แต่เป็นเพศชายที่พัฒนาการทางเพศมีปัญหา”  อินเตอร์เซ็กซ์หลายคนที่ไม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจึงมักเติบโตมาในฐานะเพศชายหรือเพศหญิง นาดาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอถูกเลี้ยงดูมาในฐานะเด็กชาย โตมาถือบัตรประชาชนเป็นนาย แต่ส่วนลึกในใจของนาดาตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาว่า ร่างกายของเธอไม่เหมือนผู้ชายทั่วไป “เราเข้าใจว่าเราเป็นทรานส์ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเราถูกเลี้ยงดู ทำให้เติบโตมาในความเป็นชาย เอกสารหลักฐานเป็นแบบผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง อินเตอร์เซ็กซ์ในบ้านเรามีเฉพาะบางประเภทเท่านั้นที่รัฐให้การรับรองและสามารถที่จะเปลี่ยนเพศได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ประเภทเรา  “เราเลยข้ามจากเพศชายที่พ่อแม่กำหนดให้มาเป็นหญิง เหมือน Intersex to Trans-women เราก็คิดว่าเราเป็นแบบนั้น แต่ Identity ความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ของเรามันคงสลัดกันไม่พ้นหรอก มันก็คงติดเนื้อตัวร่างกายเราไปจนวันตายนี่แหละ” นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล ขบวนการเคลื่อนไหวที่โดดเดี่ยวของอินเตอร์เซ็กซ์ แรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้นาดาออกมาเคลื่อนไหวในฐานะ Intersex Trans-women คือ Hiker Chiu อินเตอร์เซ็กซ์คนแรก ๆ ที่เปิดตัวออกมาสู่สาธารณะในภูมิภาคเอเชีย Hiker ได้ขึ้นบรรยายบนเวที ILGA Asia ปี 2013 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย และนาดานั่งฟังอยู่ตรงนั้น “ตอนฟังเราร้องไห้หนักมาก แล้วก็เดินไปบอกเขาว่า ฉันเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ฉันเปิด ๆ ปิด ๆ แต่ฉันไม่กล้าบอกใคร เพราะฉันกลัวคนไม่เชื่อฉัน กลัวว่าคนจะให้ไปเอาหลักฐานทางการแพทย์มาพิสูจน์ ฉันก็รู้สึกแบบว่าเราจะต้องทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร  “หลังจากนั้นเราสองคนก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กัน จุดประกายให้ไฮเกอร์เขาผลักดันต่อ จนได้ตั้งเป็นเครือข่าย Intersex Asia และได้เจอกันอีกเรื่อย ๆ อินเตอร์เซ็กซ์มีกันอยู่ 4 คน จำได้ว่าเจอกันถ่ายรูปแล้ว อู้ว์ มีความสุขมากเลย มันเป็นโมเมนต์ที่ดีมาก”  ในระหว่างทางของการเคลื่อนไหว นาดาไม่ใช่อินเตอร์เซ็กซ์เพียงคนเดียวในขบวน ยังมีนักกฎหมาย นักกิจกรรมอีกหลายคนที่ต่างมองเห็นกันและกัน ยืนอยู่ใต้ร่มเพศหลากหลายร่มอื่น เหมือนอย่างที่นาดาอยู่ใต้ร่มของหญิงข้ามเพศ เพื่อนของเธอบางคนอยู่ใต้ร่มชุมชนหญิงรักหญิง บางคนเป็นนอน-ไบนารี และบางคนเป็นเกย์ “ร่มพวกนี้ไม่ต้องทำงานเยอะ มันมีขบวนการเคลื่อนไหวเอื้ออยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเรารู้สึกท้อแท้ใจ รู้สึกหนักหนา ง่ายที่สุดคือกลับไปอยู่ในร่ม กระโดดกลับไปอยู่ในขบวนที่เราทำ เพราะว่ามันช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ จนกระทั่งเรามีพื้นที่ปลอดภัยแล้ว เราได้คุยกัน เราถึงได้ถึงบางอ้อว่า ใช่ เนี่ย ใช่แน่ ๆ เราก็มีกันอยู่สามสี่คนนี่แหละ” ด้วยจำนวนที่น้อยนิดของอินเตอร์เซ็กซ์ ไม่มีพื้นที่หรือช่องทางใดที่เป็นของพวกเขาโดยเฉพาะ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพวกเขาจึงเป็นเรื่องใหม่แม้แต่ในหมู่ชุมชน LGBTQI+  “เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่โดดเดี่ยว” นาดาบอก “มันมีอยู่ช่วงหนึ่งตอนเราเข้ามาทำงานในวงการใหม่ ๆ เราเลือกจะเปิดเผยตัวเองว่าเป็นอินเตอร์เซ็กซ์นะ แล้วเราถูกคนที่ทำงานในวงการเดียวกันนี่แหละ เอาไปท้าทาย อยากดังเหรอ อยากโดดเด่นเหรอ “เราก็ โว้ว ไม่กล้าพูดเรื่องนี้อีก แม่เจ้า เหนื่อยจากโลกข้างนอกมาแล้ว คิดว่ามาอยู่ในพื้นที่เซฟโซนแล้ว ยังเจออะไรพวกนี้อีก เราเลยไม่ได้เล่าเรื่องนี้เท่าไร เพราะรู้สึกว่าเล่าทีไร เราก็ต้องมานั่งอธิบายเรื่องเดิม ๆ ตอบข้อสงสัยเรื่องเดิม ๆ อยู่ตรงนี้ตลอดเวลา  “ทำไมพอเป็นเรื่องทรานส์ถึงสำคัญ แต่พอเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ก็จะแบบ อ้อเหรอ อะไรอย่างนี้ มันไม่อิน ความอินมันเกิดจากปัญหา และสภาพปัญหาในบ้านเรามันไม่ได้ถูกตีแผ่ มันไม่ได้รอบด้าน เพราะมันมัวแต่โฟกัสว่าเป็นจู๋เป็นจิ๋ม เป็นจิ๋มเป็นจู๋ วนเวียนอยู่แค่นี้” นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล การรับรองเพศโดยแสดงเจตจำนง อินเตอร์เซ็กซ์คือเพศกำหนด ความเป็นทรานส์ตามมาภายหลัง สิทธิที่คนอินเตอร์เซ็กซ์ควรจะได้รับจึงมีจุดที่ต่างจากเพศหลากหลายกลุ่มอื่น นาดาย้ำว่าสิ่งที่รัฐควรจะขยับเป็นสิ่งแรกคือสิทธิในการเลือกเพศของเด็กที่เกิดมามีเพศสรีระแตกต่างหลากหลาย สภาพบุคคลคือสิ่งที่มนุษย์จะได้รับทันทีหลังคลอด หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจดูเครื่องเพศที่ระหว่างขาตามความหมายของวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วออกใบรับรองให้ไปทำเรื่องที่สำนักงานเขต จุดนี้เองที่นาดากำลังวางแผนเคลื่อนไหวระยะยาวเพื่อเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น การรับรองเพศโดยแสดงเจตจำนง “เราเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพในการกำหนดเพศของตัวเราเองได้ ตามหลักแล้วคนที่มีสิทธิในการเลือกเพศก็คือเด็ก แต่ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ทนไม่ได้หรอก ข้างบ้านจะมาถามทุกวันจะตอบว่าไง สิ่งแรกที่คนจะต้องรู้เลย มันเป็นเพศอะไร นี่แหละคือปัญหา “เราพูดถึงเรื่องไม่ใช่แค่การรับรอง แต่หมายถึงการจัดสรรให้มี กว่ามนุษย์จะโตที่จะเรียนรู้เรื่องเจตจำนง มันมีระยะเวลาของมัน ที่จริงมันรอได้ ไปจดทะเบียนแรกเกิดโดยไม่ระบุเพศ มันหมายเหตุได้ แล้วค่อยเลือกตอนโต ให้เขาเรียนรู้ว่าเขาอยากเป็นเพศอะไรก่อน ตามหลักมันควรจะเป็นแบบนี้  “แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่รอด โดนเรียกผ่าตัดบังคับเลือกเพศ Sex Correction Surgery ซึ่งมันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนมากเลยนะ โดยเฉพาะในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่อง Best Interests of The Child” นาดาบอกว่า ใช่ว่ารัฐเองจะมองไม่เห็นปัญหาไปเสียทีเดียว รัฐมีการผลักดันเรื่องนี้อยู่ตั้งแต่แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งในปัจจุบันมีแผนใหม่คือฉบับที่ 4 กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้รับหน้าที่ตั้งคณะทำงาน พยายามผลักดัน แต่สุดท้ายก็เกิดขัดแย้งกันทางความคิด กลัวว่าจะสุดโต่งจนเกินไปจนสังคมรับไม่ได้ และมีการพยายามดึงเอาเงื่อนไขเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศมาเป็นตัวกำกับ  “ตามหลักสากลไม่ใช้อวัยวะเพศมาเกี่ยวเลย ระบบการใช้อวัยวะเพศมาเกี่ยวมันจบไปแล้ว เรากำลังจะพูดเรื่องการรับรองโดยเจตจำนง ถ้าเรายังมาใช้รูปลักษณ์อวัยวะเพศเป็นตัวตัดสินอีกมันก็ไม่แตกต่างจากเดิม เราก็ไม่ได้ก้าวหน้า  “แต่เรื่องนี้ถูกสังคมโต้กลับค่อนข้างหนัก เราต้องทำงานหนักมากที่จะทำให้สังคมเข้าใจได้ว่า ถ้าใครสักคนจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรามีอะไรอยู่ตรงหว่างขา มันเป็นเรื่องของการแสดงเจตจำนง เป็นเรื่องแบบแผน รูปแบบในการดำเนินชีวิต” นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล สิทธิที่จะถูกลืม นอกจากสิทธิในการเลือกเพศตามเจตจำนงแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่คนอินเตอร์เซ็กซ์บางคนกำลังเรียกร้อง นั่นคือสิทธิที่จะถูกลืม Right To Be Forgotten  สิทธิที่จะถูกลืมในความหมายของคนอินเตอร์เซ็กซ์ คือ เมื่อตัดสินใจเลือกตามเจตจำนงแล้ว ก็อยากจะลบความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ออกไป และใช้ชีวิตในฐานะเพศที่ตนเลือก  แต่การเลือกดำรงชีวิตในฐานะเพศใดเพศหนึ่งสำหรับคนอินเตอร์เซ็กซ์ไม่ได้ง่าย หลายกรณีจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือ Medical Intervention “เช่นถ้าเกิดมาแล้วถ้าความกำกวมหรือความทับซ้อนของอวัยวะเพศมีมาก ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิต เช่นการขับถ่าย ก็ต้องใช้ Medical Intervention เพื่อให้สามารถขับถ่ายได้ ไหนจะเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ุ ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ บางคนก็ไม่มีมดลูกเลย จะทำอย่างไรให้เขาใช้ชีวิตตรงนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี  “เพราะว่ามันจะเอาไปผูกติดกับความผิดปกติตลอดเวลา ขนาดคนเกิดมาเป็นเพศชาย แล้วก็ไม่ได้มีร่างกายแบบพิมพ์นิยม ยังถูกมองเลยว่าเป็นชายไม่ชาตรี เราเองก็ต้องโดนเหมือนกัน อาจจะต้องโดนหนักมากขึ้น  “ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน ก็ดูเหมือนมันจะไม่เข้ากรอบความเป็นเพศที่สมบูรณ์เลย” นาดา ไชยจิตต์: นักกิจกรรม Intersex Trans-woman ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกเพศตามเจตจำนงของบุคคล ภาคเอกชนขยับได้ไม่ต้องรอรัฐ เมื่อ The People ถามนาดาว่า จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี กว่าประเด็นการรับรองเพศตามเจตจำนงที่เธอกำลังต่อสู้อยู่จะบรรลุเป้าหมาย นาดาหัวเราะแล้วบอกว่า ปาฏิหาริย์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทำให้ปาฏิหาริย์เป็นจริงได้ ปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลเป็นอย่างมากคือ การเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจเอกชน “ไม่ต้องรอรัฐค่ะ ต่างประเทศเขาไม่รอรัฐกันหรอก ถ้ารอก็ไม่ได้กินกัน ถ้าภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ กำหนดนโยบายหรือมีวัฒธรรมองค์กรที่ยอมรับและเป็น Official ด้วยนะ  “อย่างล่าสุดที่เราเห็นก็คือ SCG มีระบบการรับรองให้หญิงข้ามเพศเป็นเพศหญิงเลยในฐานข้อมูลฝ่ายบุคคลของบริษัท มหัศจรรย์มาก ถ้าภาคธุรกิจเขาเล่นด้วยนะ มันก็จะสร้างต้นแบบที่ดี มันก็จะลดมายาคติที่เชื่อว่าสังคมต่อต้านลง รัฐบาลก็จะอ้างคำพูดพวกนี้ไม่ได้” แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล แต่เสียงของ นาดา ไชยจิตต์ ขณะให้สัมภาษณ์ เต็มไปด้วยพลังและความหวัง เธอกำลังเตรียมเปิดตัวเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอินเตอร์เซ็กซ์ และสร้างชุมชนที่ปลอดภัยขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้อินเตอร์เซ็กซ์ไทยสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้โดยไม่ต้องรอให้ความบังเอิญหรือโชคชะตานำพา “เราไม่ทำให้ใครตายนะ แต่มันกระเทือนความกลัว” นาดากล่าวย้ำปิดท้าย “คนเราถ้าปล่อยความหวาดกลัวนั้นลงมันจะพบว่า ฉันวันนี้เป็นนางสาวนาดา ไชยจิตต์เนี่ย ไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้น จนลง ท้องเสีย เป็นไข้ ติดโควิด-19 ไม่ใช่ มันไม่เกี่ยวอะไรกับคุณเลย “อย่าเอาความกลัวของคุณมากดทับหรือปฏิเสธการมีสิทธิมีเสียงของเรา มีตัวตนของเรา”   เรื่อง: จอมเทียน จันสมรัก ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน