สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์

สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์
23 กรกฎาคม 2562 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของวงการภาพยนตร์ เมื่อ นางนาก (2542) มีอายุ 20 ปีพอดิบพอดี หลังจากออกฉายสู่สายตาผู้ชมครั้งแรกในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2542 นางนาก เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุ 150 ล้านบาททั่วประเทศ และสร้างปรากฏการณ์ปลุกกระแสหนังไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายใต้การกำกับของ อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร และนำแสดงโดย ทราย – อินทิรา เจริญปุระ (นางนาก) และ เมฆ – วินัย ไกรบุตร (พี่มาก) และในปีนี้ ภาพยนตร์ดังกล่าวจะถูกนำกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้งในระบบ 4K ฉลองครอบรอบ 20 ปี The People จึงชวนผู้กำกับและนางนาก มาย้อนคุยถึงตำนานความรักไม่มีวันตายเรื่องนี้ [caption id="attachment_10452" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์ อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร[/caption]   The People: ทราบมาว่าคุณนนทรีย์หยิบหนังเรื่องนี้มาดูซ้ำบ่อย ๆ เพราะอะไร นนทรีย์: หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่วางเกณฑ์ของตัวเองไว้ว่า เราจะไม่ทำอะไรก็ตามที่ต่ำกว่านี้ เพราะฉะนั้นการหยิบมาดูบ่อย ๆ หรือบังเอิญได้ดูบ่อย ๆ ในเทศกาลหนังบ้าง ต่างประเทศบ้าง มันทำให้เตือนใจเราว่า มีหลายฉากมากที่จำได้ว่าถ่ายทำยากมาก นักแสดงต้องทุ่มเทอะไรขนาดไหน การดูบ่อยจะบอกเราว่า คุณจะทำอะไรที่มันชุ่ยกว่านี้ไม่ได้ ตั้งใจน้อยกว่านี้ไม่ได้แล้วนะ   The People: แล้วคุณอินทิราละ? อินทิรา: ไม่ค่อยดูค่ะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้นะ แทบจะทุกเรื่องเลยจะดูน้อยมาก แม้กระทั่งในกองก็ดูมอนิเตอร์น้อยมาก ถ้าพี่อุ๋ยบอกว่าผ่านก็คือโอเค เราเชื่อใจกัน ถือว่าเราได้ทำไปแล้ว การไปดูซ้ำ ๆ ไม่ได้ตอบคำถามอะไรเรา นอกจากบางทีที่พี่อุ๋ยต้องการบล็อกกิงเป๊ะ ๆ ก็จะเรียกมาดูเฟรมบ้าง แต่น้อยมากที่จะดูงานตัวเอง ทรายรู้สึกว่าไม่ได้เล่นเพื่อให้ตัวเองชอบ สิ่งที่เราทำคือถ้าคนดูชอบ โอเคจบ ซึ่งเราจะขยับเส้นการแสดงของเราไปเรื่อย ๆ ว่า เคยทำได้เท่านี้ แต่ไม่ใช่เท่านี้ตลอดไป มันต้องขยับขึ้นไปอีก หรือต้องมากขึ้นอีกตามอายุที่เพิ่มขึ้น   The People: ย้อนกลับไปให้ฟังหน่อย ตอนนั้นแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” มาจากไหน นนทรีย์: มาจากที่เราได้ดูนางนากทั้งหมดที่เขาเคยทำมาแล้วประมาณ 20 เวอร์ชัน ทั้งละคร ทั้งภาพยนตร์ แต่ทุกครั้งที่นั่งดู เราก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรบางอย่างตลอดเวลา เรื่องที่เป็นตำนานยาวนานขนาดนี้มันเป็นแค่เรื่องผีร้ายอย่างนี้จริง ๆ เหรอ ยิ่งดูยิ่งมีความรู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องนี้ใหม่ ทำไมเรารู้สึกว่าสงสารคนที่นางนากจังเลย รู้สึกว่าเขาเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรบางอย่าง แล้วอีกอย่างก็คือความเชื่อในเรื่องวิญญาณเรื่องผีของเราอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ก็เลยมีมุมที่เราอยากเล่าในแบบตัวเองดีกว่า   The People: ที่ว่าเชื่อเรื่องวิญญาณไม่เหมือนคนอื่น คือคุณเชื่อแบบไหน นนทรีย์: คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าผีเป็นความน่ากลัว มันจะต้องมาทำร้ายเรา ซึ่งเราไม่ได้มีความเชื่อกับผีแบบนั้น ทุกครั้งที่เราเจอผี เราก็เห็นเขาเป็นคนปกติ แต่มีบรรยากาศของการพูดคุยที่รู้ว่าคุณไม่ใช่คน สำคัญที่สุดคือ เขาพยายามปรากฏกายให้เราเห็น ต้องใช้พลังทั้งหมดที่มี เพื่อจะบอกเราว่าเขามีความทุกข์บางอย่างที่ขอความช่วยเหลือ ความเชื่อแบบนี้ไปคุยกับใครก็ไม่แพร่หลาย แล้วเราก็เชื่อเรื่องการสะสมความดีที่อยู่ในแบตเตอรี เราเชื่อว่าทุกวันเราทำกรรมดีบางอย่าง กรรมดีนั้นก็จะไปอยู่ในแบตเตอรีของเรา เมื่อเราตายไป สิ่งที่เราเหลืออยู่หรือพลังงานของเราที่เหลืออยู่ก็คือแบตเตอรีก้อนนี้ เราถ่ายทอดออกมาผ่านนางนาก ซึ่งเขาก็มีแบตเตอรีก้อนนี้อยู่ เมื่อเขาสิ้นใจไปแล้ว เขาก็จะมีพลังอยู่ในแบตเตอรีก้อนนี้ แล้วใช้มันเพื่อทำให้สามีกลับมาอยู่กับตัวเอง ถ้าไม่มีใครยุ่งอะไรกับเขาเลย 5 วัน ถ้าแบตหมดเขาหายไป สามีก็คงจะรู้ว่าเมียฉันตายไปแล้ว บังเอิญว่าในจำนวน 5 - 7 วันนั้น มันมีชาวบ้านคนอื่นพยายามบอกด้วยความปรารถนาดี บอกว่า “ไอ้มาก เมียมึงตายแล้ว มึงอยู่กับผีนะ” ซึ่งในหนังก็บอกว่าไอ้มากอยู่กับผี ผีไม่ได้มาฆ่าไอ้มากสักหน่อย อินทิรา: ถ้าเป็นแบบนั้น ไอ้มากต้องตายเป็นคนแรกเลยนะ ถ้านางนากเป็นผีร้ายจริง นนทรีย์: ใช่ จริง ๆ แล้วมันก็สะท้อนสังคมไทยอยู่บางส่วน บางทีคนไทยชอบเข้ามายุ่งกับคนอื่นเขา ทั้งที่เราไม่ได้เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเขามีความสุขกันหรือเปล่า เรารู้สึกกันไปเองแล้วชอบตัดสินคนอื่นด้วยความรู้สึกของตัวเอง [caption id="attachment_10450" align="aligncenter" width="960"] สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์ ทราย – อินทิรา เจริญปุระ[/caption]   The People: เส้นทางการแคสติงบทแม่นากของอินทิราเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย อินทิรา: เราได้ข่าวโปรเจกต์นี้มาว่า ผู้กำกับมือทองจากภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) จะทำตำนานรักนางนาก เราก็แปลกใจ เพราะว่าโตมากับเรื่องนี้ มันจะยังเหลืออะไรให้เล่าอีกเหรอ แต่ว่าวันหนึ่งก็มีคนโทรเข้ามาหาแม่บอกว่าให้ทรายไปแคสต์บทนางนาก แม่ของทรายต้องถามย้ำว่าโทรถูกทรายหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะว่าแม่เองก็รู้จักแม่นาคพระโขนงในแบบที่เห็นมาทั้งชีวิต ซึ่งไม่ใกล้เคียงกับลูกตัวเองเลย ทรายผมสั้นนะ แม่ก็พยายามให้ข้อมูลให้อัพเดตที่สุด เขาก็ยังยืนยันว่าเข้าใจถูกต้อง แล้วเราก็ไปแคสต์แบบไม่ได้รู้อะไรเลย ไปถึงก็ดำเนินงานไปตามกระบวนการปกติ ไม่ได้พิสดารพันลึกอะไร แต่รู้ว่าการทำงานต้องไม่ง่ายเหมือนที่เคยดูมาแน่ ๆ ตอนแรกคิดว่าเขาจะจับใส่วิกผมยาว ห่มสไบสี ๆ แต่อันนี้ใช้ผ้าแถบสีน้ำตาล ผ้านุ่งสีน้ำเงิน ตอนนั้นบทก็ยังเป็นภาษาพงศาวดาร คือใครมันจะให้แคสต์บทด้วยภาษาแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยนะ ไม่มีไดอาล็อก แค่เล่าเรื่องให้ฟัง เราก็ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรนะ เพียงแต่รู้สึก เออ... ถ้าทำได้จริงก็คงแปลก และไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องได้เล่น   The People: ทราบมาว่าการเวิร์กชอปก่อนแสดงหนังเรื่องนี้มีกระบวนการที่โหดมาก อินทิรา: พอกระบวนการจากฝั่งการแสดงเริ่มขึ้นแล้ว จะมีทั้งการเวิร์กชอปที่ต้องไปอยู่ในบ้านอยุธยา 20 ปีผ่านไปทรายยังไม่เคยโดนเวิร์กชอปอะไรอย่างนั้นอีกเลย แต่สิ่งที่สอนเราคือ ถ้าเราจะกล่อมประสาทคนมันทำได้จริง ๆ นะ ทำให้คนถูกขังอยู่ในสถานการณ์หรือว่าชุดความเชื่อบางอย่างได้จริง ๆ เพราะพี่อุ๋ยทำสำเร็จกับพวกเราหมดแล้ว   The People: ทำไมนางนากในภาคนี้จึงไม่มีเหมือนภาคก่อน ๆ นนทรีย์: เราหาข้อมูลอยู่ 2 ปีเต็ม ข้อมูลทั้งหมดนำมาจากการทำรายการสารคดีความยาว 2 ชั่วโมงกว่า ชื่อ “ฉงน” เราทำรายการนี้ออกอากาศไปก่อนเพื่อชิมลางว่า คนดูจะรู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ในมุมมองของเรา มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็มีข้อมูลอยู่ในนั้นว่า ผู้ชายไม่ใส่เสื้อ ชาวบ้านใส่ผ้านุ่งโจงกระเบน ทุกคนตัดผมทรงดอกกระทุ่ม ผมดำ แล้วก็ฟันดำ เพราะเชื่อว่าฟันขาวเป็นพวกสัตว์เดรัจฉาน เรารีเสิร์ชหมดทุกอย่างให้รอบด้าน แล้วเราก็มาเลือกเอาวัตถุดิบเหล่านั้นเลือกเอาสิ่งที่คิดว่าเราชอบ มาใส่ไว้ในหนังบนโครงสร้างของเรื่องความรัก   The People: กระบวนการสืบค้นข้อมูลที่จริงจังกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จด้วยหรือเปล่า นนทรีย์: อันดับแรกคือเรื่องความรัก ซึ่งมีบรรยากาศที่ย้อนกลับไปเมื่อ 300-400 ปีก่อน มันกลายเป็นประสบการณ์ในการดูหนังแบบใหม่ ถ้าเป็นภาษา production designer จะบอกว่า เรากำลังใส่เสื้อตัวใหม่ให้แม่นากพระโขนง ทั้งในการดำเนินเรื่องต่าง ๆ มันก็เลยดูใหม่ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นตา   The People: การทาตัว ทาฟันดำ เป็นอุปสรรคต่อการแสดงของอินทิราไหม อินทิรา: สีทาฟันแต่ก่อนจะมีแค่ 2 สี คือสีดำกับสีนิโคตินที่เป็นสีน้ำตาล แต่พี่อุ๋ยต้องการสีแดงเข้ม ก็เลยต้องใช้วิธีพิมพ์ฟันพลาสติกแล้วครอบฟันเข้าไป ซึ่งจะทำให้เราพูดไม่ชัด กินข้าวไม่ได้ ถือว่าทรมานทรกรรมพอสมควร และเป็นอุปสรรคสำคัญของพี่เมฆ เขากลัวจะพูดไม่ชัดแล้วทำให้เราเสียเวลา ส่วนเรื่องผิว ตอนแรกพี่อุ๋ยส่งทรายไปอาบแดด แต่การถ่ายกลางคืนทุกวันผิวเราก็ขาวขึ้น สุดท้ายก็เลยต้องทาผิวด้วยครีมกระปุกที่มีค่าดั่งทอง ตอนนั้นต้องทาทั้งตัว จับแรงไม่ได้เดี๋ยวเป็นรอยมือ เพราะมันไม่ใช่ผิวจริง ก็ให้ความรู้สึกเป็นผีดีนะ (หัวเราะ) เหมือนเนื้อเราพร้อมจะหลุดออกไปถ้ามีใครจับแรง ๆ สำหรับทรายเรื่องพวกนี้แทบไม่เป็นอุปสรรคเลย เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดแล้วควบคุมได้   The People: แล้วเรื่องไหนที่คิดว่าเป็นอุปสรรคที่สุด อินทิรา: การต้องเป็นนางนากยากที่สุดแล้วนะ ถ้าเราไม่เชื่อ คนดูก็ไม่เชื่อ แต่พี่อุ๋ยเชื่อมาก แล้วความเชื่อนั้นก็ส่งมาถึงเราด้วย เราไม่สามารถไปทำการบ้านในการดูเวอร์ชันก่อน ๆ เพราะมันไม่เหมือนกัน เราไม่มีประสบการณ์เป็นคนโบราณ ไม่มีอะไรให้เกาะเลยนอกจากความเชื่อล้วน ๆ ซึ่งก็จะโดนท้าทายความเชื่ออยู่ตลอดเวลา ก็ต้องมีคนมาถามว่าทำอะไร ตัดผมทำไม ทำไมนางนากไม่เล่าแบบเดิม มันก็เหลือแค่ความเชื่อว่าย่านากสำหรับเรามีอยู่จริง เราพูดเรื่องจริง แล้วอยากเล่าเรื่องของญาติผู้ใหญ่ของเรา [caption id="attachment_10449" align="aligncenter" width="960"] สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์ อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร[/caption]   The People: การเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริงอยู่ตลอด ตอนนั้นรับมือกับเรื่องเหนือธรรมชาติกันอย่างไร อินทิรา: เอาแต่ธูปมาคนละห่อ ไม่ยากเลย (หัวเราะ) นนทรีย์: ต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่หนังผีนะ เป็นหนังรักที่มันน่ากลัวไปหน่อยแค่นั้นเอง เราอยากรักษาความลับเรื่องนี้เอาไว้ก่อนที่หนังจะฉายในโรงภาพยนตร์ สถานที่ที่เลือกไปถ่ายจึงต้องไกลจากถนนใหญ่ เช่น ป่าช้า 100 ปีที่สิงห์บุรี แน่นอนมันก็จะต้องมีสิ่งลี้ลับเกิดขึ้น แต่ว่าเราเฉย ๆ กับการเห็นเขา มีเหตุการณ์แม่ค้าพายเรือมาร้องขายขนมตอนตีสอง เราก็อยากกินขนม เลยลองเรียกมาแต่ไม่มา ทั้งที่รู้อยู่แล้วตีสองครึ่งใครจะมาขายขนม อินทิรา: หรือตีสามไปถ่ายอยู่กลางป่า ได้ยินเสียงคนตำน้ำพริก ใครล่ะ ที่นั่นมีแต่เรา เลยวานคนไปบอกว่าขอถ่ายหนังหน่อย แล้วก็เงียบไป ไม่ใช่ไม่กลัวหรือท้าทายนะ แค่รู้สึกว่าเราก็ทำงานกัน อยู่ใครอยู่มันไปดีกว่า นนทรีย์: เขาคงอยากมาดูงานกองถ่ายเรา (หัวเราะ) บังเอิญว่าคนในกองก็ไม่มีใครวิตกไปกับเรื่องนี้จนตื่นกลัว เพราะว่าเราก็จะบอกว่าอย่าพูดกันนะ เดี๋ยวจะกลัว จนหลัง ๆ ผมว่าเขาจะชิน เช่น เสาตกน้ำมันมีอยู่ตลอด การที่เราจะเห็นอะไรที่มันเกินเลยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เช้าขึ้นมาเราก็จะไปใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้กับทุก ๆ ที่ที่เราไป ให้ทุกคนที่มาเยี่ยมกองถ่ายเรา   The People: รู้สึกอย่างไรเมื่อหนังเรื่องนี้ทำรายได้มากถึง 150 ล้านบาทเรื่องแรก นนทรีย์: สิ่งเดียวที่เราคาดหวังคือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ลงทุนเขาไม่ขาดทุน ถ้าได้เงินเกินทุนมาแปลว่าโบนัส ฉะนั้นแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเลยเหนือความคาดหมายไประดับ 1,000% หนังไทยสมัยนั้นเขาเรียกว่ายุคกระโปรงบานขาสั้น ทุกคนก็จะทำหนังเพื่อเด็กวัยรุ่น คนที่เป็นผู้ใหญ่จะไม่มีหนังดู คนเลยไม่ค่อยออกมาดูหนังกัน พอนางนากเปิดตลาดได้กว้างมาก ดูได้ตั้งแต่เด็กยันคนแก่ 70-80 ปี ถ้าคุณไม่กลัวผีก็มานั่งดู อาชีพทุกอาชีพครบถ้วน หนังได้ไปฉายในวัง แล้วก็ไปต่างประเทศเต็มไปหมด ผมว่าแค่นี้มันก็เกินกว่าที่เราคาดคะเนไว้เยอะแล้ว สำคัญที่สุดคือมันเปลี่ยนชีวิตเรา หนังพาเราไปเดินทางทั่วโลก ทำให้คนรู้จักเรา ต่อจากนั้นทำงานของเราก็สะดวกสบายมากขึ้น คนรอดูงานเรามากขึ้น แล้วก็มีโอกาสไปทำหนังกับต่างชาติอีก 2-3 เรื่อง ผมว่าพูดถึงตัวเลขแล้วไม่ค่อยตื่นเต้นกับมันเท่ากับสิ่งที่เราได้รับจริงในการทำงาน หรือจากความทุ่มเทของเรา อินทิรา: จริง เพราะว่าการเป็นนักแสดงขายของมากไม่ได้ ไม่สามารถจะเดินไปบอกผู้จัดละครว่า “พี่คะ พี่ให้หนูเล่นสิ หนูตั้งใจเล่นมากเลยนะ” จนมาแสดงหนังเรื่องนี้เหมือนกดรีเซ็ตทุกอย่างใหม่หมด จากตอนแรกที่ทรายไม่เหมาะกับอะไรเลย ทรายก็เริ่มเหมาะกับอันโน้นอันนี้ อยู่ ๆ ทุกคนก็เชื่อว่าเราทำได้เลยทันที บางคนเชื่อมั่นในสิ่งที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทำได้จริงหรือเปล่า หลังจากนั้นก็เลยทำให้เราตั้งใจกับงานทุกงานที่เข้ามา รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ต่อยอดมาจากนางนาก แล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของความเต็มที่กับงานทุกงาน นนทรีย์: อาทิตย์ที่หนังฉายเราไปดำน้ำจึงไม่รับรู้อะไร ประมาณอาทิตย์หนึ่งกลับมาเปิดโทรศัพท์ เขาก็โทรมาบอกว่า หนังอาทิตย์เดียวได้ 75 ล้านแล้วนะ อาจจะถึง 100 ล้าน เราคิดว่าบ้า หนังอะไร ไม่มีทาง แต่เฉพาะในกรุงเทพฯ มันก็ 150 ล้านแล้ว ซึ่งชนะ Titanic (1997) แล้วหนังมีการพูดถึงทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ว่านางนากเป็นหนังที่สามารถชนะ Titanic ได้ในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่ Titanic ชนะหนังทุกเรื่องบนโลก
[caption id="attachment_10451" align="aligncenter" width="960"] สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์ ทราย – อินทิรา เจริญปุระ[/caption]   The People: หนังเรื่องนี้ 20 ปีมาแล้ว คนดูจะยังเข้าใจบริบทของเรื่องราวในหนังได้อยู่ไหม นนทรีย์: เวลาไปฉายต่างประเทศเราสัมผัสได้ว่า เขาก็ดูหนังเรื่องนี้เข้าใจ 100% แบบที่ไม่ต้องแจ้งเรื่องย่อ ซึ่งบ่งบอกได้ว่า ความเป็นหนังรักสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่าย เป็นเรื่องราวความรักของวิญญาณตัวหนึ่งซึ่งพยายามสร้างครอบครัวของตัวเอง แต่ว่าบรรยากาศอย่างที่ทรายพูดเสมอว่า เดี๋ยวก็เจียนหมาก เดี๋ยวก็โกนหนวด เดี๋ยวก็ตำข้าว แล้วก็พับผ้า ใครจะมาดูหนังเรา แต่ว่าบริบทเหล่านั้นมันช่วยทำให้บรรยากาศของเมื่อ 300-400 ปีมันกลับมา เขาเชื่อว่าวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนเป็นอย่างนี้ เขามีความเรียบง่าย ความสมถะกันอย่างนี้นี่เอง บังเอิญว่าเราออกแบบหนังเป็นภาษาภาพยนตร์จริง ๆ เพราะฉะนั้นต่อให้คุณฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง คุณก็ดูรู้เรื่องนะ เหมือนเราดูหนังญี่ปุ่นแบบไม่มีคำบรรยาย ทำไมเรายังสนุกสนานไปกับมันได้ เราเชื่อว่าหนังบางเรื่องมันไม่มียุคสมัย หนังบางเรื่องมันไม่ได้บอกว่าฉายแล้วอีก 2 ปีจะเชย เราไม่ได้ยึดโยงกับความเปลี่ยนแปลงหรือไทม์ไลน์ใด ๆ ของโลกใบนี้ เรายึดโยงอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วทำให้คนเชื่อว่ามันเคยเกิดขึ้นจริงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว   The People: ที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้พลิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปเลย? นนทรีย์: หลังจากเรื่องนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็เปลี่ยน ทุกคนไม่ได้ทำหนังแบบเดิม ทุกคนทำหนังส่งต่างประเทศ มีรีเสิร์ช มีตำแหน่ง production design เกิดขึ้นในวงการหนังไทย แล้วทำให้วงการหนังไทยคึกคักมาก ๆ ทำให้วงการมันเติบโต เป็นที่จับตามอง ทุกคนเปลี่ยนสายตาจากหนังเกาหลีมาเป็นหนังไทย เริ่มจากญี่ปุ่นเป็นจีน จากจีนเป็นเกาหลี จากเกาหลีมาเป็นหนังไทย จุดประกายให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำหนังดี ๆ กัน   The People: เราจะได้ยินคำว่า คนไทยไม่ดูหนังไทย” มาตลอด คุณคิดว่าวงการหนังไทยในปัจจุบันกำลังต้องการอะไรเข้ามาเปลี่ยนแปลง นนทรีย์: อันดับแรกผมไม่เชื่อว่าคนไทยไม่ดูหนังไทย ถ้าเรามีมาตรฐานงานที่ดี งานที่รู้สึกว่ามันเข้าถึงคนดูทุกกลุ่ม คนไทยก็จะออกมาดูหนังกัน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วโมงนี้ซึ่งคล้าย ๆ กับชั่วโมงนั้นก็คือ ทุกคนเริ่มพุ่งทำงานไปที่วัยรุ่นอีกแล้ว และบอกว่านักเรียนนี่แหละเป็นคนที่ไม่ได้หาเงินแต่ใช้เงินเก่งที่สุด ปรากฏว่าคนที่อยู่วัยทำงาน คนที่พร้อมจะดูหนังมาก แต่เขาไม่มีหนังดู ผมเองก็ไม่มีหนังดูนานแล้ว ไม่รู้สึกว่าหนังคุยกับเรา เราก็เลยไม่รู้จะดูอะไร อินทิรา: ทรายว่าไม่เกี่ยวหรอกที่คนไทยไม่ดูหนัง เพราะถ้าเรามีเวลาให้หนังมากพอ หนังสื่อสารกับคนในวงกว้าง ทรายว่ายังไงคนก็ต้องมาดู ทุกอย่างมันต้องเอื้อกัน พอหนังมันสื่อสารกับทุกคนแล้ว โรงก็สามารถจะเพิ่มรอบเพื่อทำให้เข้าถึงคนที่หลากหลายได้ มันจะไม่จำกัดเฉพาะเวลาเลิกเรียน 4 โมงเย็น อ้าว... แต่ทรายไปทำงานยังไม่เลิกงานเลยนะ มันดูไม่ทัน พอ 3 วันผลรายรับไม่ดีก็เอาหนังออก มันก็เสียหายกันไปหมด นนทรีย์: อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งคืออายุหนังมันสั้นลง เพราะนางนากเราเคยฉาย 2 เดือนเต็มเลยนะ อินทิรา: นางนากคือ Avengers ของยุคนั้น เรามีรอบตี 3 คือความท้าทายที่สุดแล้วโรงกลับเต็ม ทุกคนควรจะได้โอกาสแบบนี้ แล้วความตั้งใจมันจะมาเอง เราอยากคุยกับคนเยอะ ๆ เราก็ต้องตั้งใจมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่คุยกันเองกับกลุ่มเพื่อน เราว่าทุกอย่างต้องเอื้อกันทั้งหมด   The People: อะไรคือความอมตะของ 20 ปีนางนาก” ที่ทำให้คนดูยังประทับใจเรื่องราวมาถึงทุกวันนี้ อินทิรา: เพราะเราย้อนยุคไปแล้ว ไม่มีใครย้อนไปไกลกว่าเราอีกแล้ว หนังเราไม่ได้ผูกติดกับเวลา คือทุกคนมีประสบการณ์เป็นศูนย์เท่ากัน เพราะไม่มีใครเกิดในยุคนั้นแน่ ๆ ทรายก็ไม่ใช่ พี่อุ๋ยก็ไม่ใช่ เราเหนี่ยวนำตัวเองด้วยความเชื่อล้วน ๆ อีกอย่างคือมันเป็นหนังรัก ตราบใดที่คนบนโลกยังรักกัน คนดูก็จะเข้าใจเรื่องนี้ แล้วทุกคนอย่าลืมนะว่า นางนากเป็นเรื่องที่เราจะสปอยล์อะไรก็ได้ เพราะทุกคนรู้หมดแล้ว นนทรีย์: โจทย์นางนากกับ Titanic มันคือโจทย์เดียวกัน ทุกรู้เรื่องอยู่แล้วว่ามันล่ม เปิดฉากก็จมให้ดูเลย นางนากก็เหมือนกัน ทุกคนรู้ว่านางนากตายแน่ ๆ เปิดฉากมาเราก็ตายเลย ทุกวันนี้ทุกคนก็ยังอยากกางแขนหน้าหัวเรือ มันคือความคลาสสิก แล้ว Titanic เป็นหนังรักไม่ใช่หนังเรือล่ม นางนากก็เหมือนกัน มันจะเป็นหนังขึ้นหิ้ง หนังคลาสสิก เป็นหนังรักที่ได้รับการพูดถึง อินทิรา: ไม่ว่าจะในยุคไหนสมัยไหนหรือแม้กระทั่งตอนนี้ก็ตาม ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าหนังจะเป็นอย่างไร จบอย่างไร แต่ทุกคนก็ยินดีที่จะดูซ้ำและซาบซึ้งกันหนังอีกครั้ง นนทรีย์: อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าชั่วโมงนั้นเราออกแบบภาพแบบสุดพลัง เรามีตัวเหี้ยมากินศพ เราทำทุกอย่างที่เกินขีดความสามารถของมนุษย์ที่จะทำได้ ทุกอย่างยากมาก นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องบวชหลังหนังฉายเสร็จแล้ว เพราะว่าเราฆ่าสัตว์ไปเยอะมาก อินทิรา: (หันไปทางนนทรีย์) พี่เกือบฆ่าดาราทิ้งด้วยค่ะ บาปมาก ล่าสุดมีคนโทรศัพท์มาสัมภาษณ์ว่า “หนูยังไม่เกิดเลย หนูมาดูแล้วพบว่า CG ดีมากเลย โดยเฉพาะฉากห้อยหัว” เราก็บอก “น้องคะ ห้อยจริงค่ะ” (หัวเราะ) ทุกวันนี้มันไม่มีใครทำให้อย่างนั้นหรอก ถามว่า CG ปัจจุบันเหมือนไหม คือโคตรเหมือน แต่ทุกคนรู้มันคือ CG ทรายไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าใครที่ห้อยหัว แต่ตอนนั้นเรามีทุนกันแค่นั้น เราก็ทำแค่นั้น นั่นประสบการณ์ที่แบบห้อยหัวจริง ๆ ทรายว่าไม่มีอะไรแทนได้ แล้วพี่อุ๋ยก็เกือบจะฆ่าดาราทิ้งด้วยจริง ๆ (หัวเราะ) [caption id="attachment_10448" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ "20 ปีนางนาก" ความรักไม่มีวันตายในโลกภาพยนตร์ ทราย – อินทิรา เจริญปุระ และ อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร[/caption]   ผู้ร่วมสัมภาษณ์ : นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior)