สัมภาษณ์ อดัม โรเจอร์ส กับเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส, เฮนดริกซ์ และ สตรีมมิ่ง

สัมภาษณ์ อดัม โรเจอร์ส กับเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส, เฮนดริกซ์ และ สตรีมมิ่ง
        อดัม โรเจอร์ส (Adam Rogers) ชื่อนี้อาจไม่มีความหมายกับคนทั่วไป แต่ในแวดวงคอเพลงแจ๊ส นี่คือชายผู้เปรียบเสมือน “อาจารย์เจได” จากหนังสตาร์วอร์ส เลยทีเดียว มือกีตาร์วัย 52 ปีคนนี้เคยมาเยือนเมืองไทย 3 ครั้ง และฝากความประทับใจให้แฟนเพลงชาวไทยจำนวนมาก ด้วยสำเนียงและสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ทำให้ชื่อเสียงของชายคนนี้เป็นที่ถูกพูดถึงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โรเจอร์สโด่งดังจากการเป็นมือกีตาร์ไซด์แมนให้ ไมเคิล เบคเกอร์, เดวิด บินนีย์ หรือ คริส พอตเตอร์ แต่รู้หรือไม่ก่อนเขาจะมีชื่อเสียงในวงการขนาดนี้ เขาเคยเล่นดนตรีข้างถนนในนิวยอร์กมาแล้วหลายปี “ผมเรียนรู้จากที่นั่น เหตุผลเดียวที่คนเหล่านั้นจะหยุดเดิน ก็คือเขาได้ยินบางอย่างที่โดนใจเขา” โรเจอร์สเล่า การทัวร์ประเทศไทยครั้งล่าสุดของโรเจอร์สคือเมื่อปี 2018 ตอนนั้นเขามาพร้อมกับมือกลองสายซอย (ไฮแฮต) เนต สมิธ และมือเบสเพื่อนซี้ของเขา ฟีม่า แอฟรอน กับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า “DICE” ผลงานที่บอกเล่าถึงตัวตนความชอบในอดีตของเขา The People มีโอกาสพูดคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็น เมื่อถามว่าใครคือต้นแบบของเขา คนแรกที่เขาพูดชื่อออกมาคือ จิมี เฮนดริกซ์ “มีเพื่อนของผมอีกคนหนึ่งเขาได้เล่นเพลงของเฮนดริกซ์ มันทำให้ผมบ้าไปเลย” สตรีมมิ่งกับนักดนตรี อาจเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน และด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามา disrupt วงการเพลง มันเหมือนเป็นการเอามีดคอยแทงข้างหลังศิลปินไปในตัว ซึ่งเมื่อผมถามเขาว่าในฐานะนักดนตรีคนหนึ่ง เขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ โรเจอร์สตอบว่า “นี่คือเรื่องสะเทือนใจ และเป็นภัยพิบัติต่อวงการดนตรี” นี่ถือเป็นการนั่งคุยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของดนตรี ว่าด้วยจุดกำเนิดของเด็กคนหนึ่งที่หลงรักดนตรีร็อก แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นดนตรีแจ๊สที่ทำให้เขามีความสุขที่สุด ไปพบกับแจ๊สแมนคนนี้กันเลย อดัม โรเจอร์ส The People: คุณเริ่มต้นเล่นกีตาร์ได้อย่างไร โรเจอร์ส: ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเด็กมาก ผมได้เห็นมือกีตาร์หลายคนเล่นเฟนเดอร์ สตราโตแคสเตอร์ สำหรับผมตอนนั้นมันเหมือนกับเป็นยานอวกาศเลย และเมื่อตอนอายุ 11 ขวบ เพื่อนของผมคนหนึ่งสอนให้ผมเล่นกีตาร์ด้วยเพลงของวง Led Zeppelin กับวง Yes ซึ่งผมชอบมาก และตอนนั้นก็มีเพื่อนของผมอีกคนหนึ่ง เขาเล่นเพลงของจิมี เฮนดริกซ์ มันทำให้ผมบ้าไปเลย หลังจากนั้นอีก 40 ปี กีตาร์ก็ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตของผมตลอด The People: งั้นก็แสดงว่าโปรเจกต์ “DICE” มีที่มาจากเฮนดริกซ์ โรเจอร์ส: อัลบั้มนี้ไม่ใช่การ tribute เฮนดริกซ์แต่อย่างใด มันคือการสะท้อนแรงบันดาลใจที่ผมได้จากเฮนดริกซ์มากกว่า ผมลึกซึ้งกับการเล่นกีตาร์ได้ก็เพราะเขา แน่นอนเมื่อใครเล่นเฟนเดอร์ สตราโตแคสเตอร์ กับเสียงแตกทำนองนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่นึกถึงเฮนดริกซ์ The People: ดนตรีแจ๊ส คือการหาเอกลักษณ์และสุ้มเสียงของตัวเองให้เจอ คุณค้นพบมันได้อย่างไร โรเจอร์ส: มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมาก สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากหลาย ๆ อย่างรอบตัวผม ทั้งดนตรีที่ผมสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักดนตรีหรือเพลงของพวกเขา แต่ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือประสบการณ์ในฐานะการเป็นนักดนตรี การที่ผมเคยได้ไปเล่นในหลาย ๆ สถานที่ทั้งในคอนเสิร์ต หรือตามข้างถนนในนิวยอร์ก ซิตี้ เมื่อช่วงปี 1980 สิ่งเหล่านั้นมันหล่อหลอมเสียงของผมขึ้นมา มันเหมือนกับงานปั้นแกะสลักใบหน้าตัวเอง หลายครั้งที่ไอเดียต่าง ๆ ของผมเกิดขึ้นในห้องซ้อมที่อะพาร์ตเมนต์ของผม ซึ่งผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ ที่คิดแสดงให้กับผู้คนได้รับฟัง ผมได้เห็นผลกระทบที่มีต่อคนฟัง สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นกระดาษทราย ที่คอยขัดตัวผมที่เป็นไม้ให้เรียบเหมือนกับทุกวันนี้ สัมภาษณ์ อดัม โรเจอร์ส กับเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส, เฮนดริกซ์ และ สตรีมมิ่ง The People: ซ้อมหนักขนาดไหนตอนเด็ก ๆ โรเจอร์ส: ตอนเด็ก ๆ ผมซ้อมหนักมาก เป็นชั่วโมง ๆ ทุกวันเลย ปกติผมจะซ้อมแจ๊สตลอดเวลา แต่เวลาไปโรงเรียนผมจะมีโอกาสเติมเต็มตัวเองด้วยวิชาเรียนกีตาร์คลาสสิก แต่โดยหลักผมซ้อมเพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นนักอิมโพรไวซ์ที่ดี แต่ตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่ได้ชอบซ้อมหนักมากเหมือนสมัยวัยรุ่น อาจเพราะช่วงนั้นผมยังไม่ค่อยมีความรับผิดชอบมากพอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรับรู้จากการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้คือ มันคือสิ่งที่ผมทำทุกครั้งเวลาที่ผมไม่รู้จะทำอะไร ทุก session ในการซ้อมมันขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นผมต้องการจะซ้อมอะไร แต่หัวใจสำคัญของการซ้อมคือการเล่นจนให้มันซึมเข้าไปในตัวคุณ คุณไม่มีทางลัด ไม่มีทางหนี นอกจากการซ้อมเท่านั้น สิ่งที่ผมซ้อมก็เหมือนกับมือกีตาร์ทั่วไป แบบฝึกหัดเรื่องเทคนิคต่าง ๆ เล่นเพลง ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ผมใส่ใจมาก ๆ นั่นก็คือการฝึกมือขวา การใช้ปิคของผมต้องอยู่ในระดับที่ผมพึงพอใจเสมอ นั่นเป็นเป้าหมายในการซ้อมของผม The People: ผลงานไหนบ้างที่ช่วยปลุกไฟในตัวคุณได้เสมอ โรเจอร์ส: จิมี เฮนดริกซ์ อัลบั้ม Band of Gypsys (1970), ไมลส์ เดวิส อัลบั้ม Round About Midnight (1957), Kind of Blue (1959) และ  Nefertiti (1968), จอห์น โคลเทรน อัลบั้ม Giant Step (1959), Ascension (1965), A Love Supreme (1965) และ  "Live" at the Village Vanguard (1962) วง Weather Report อัลบั้ม Heavy Weather (1977) และ Mr. Gone (1978) และแน่นอนสมัยเด็กผมฟัง Led Zeppelin เยอะมาก ทั้งอัลบั้ม 1-2 รวมถึงนักร้องโฟล์ค มัดดี้ วอเตอร์ และ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker) ตอน Savoy Session The People: แล้วตอนนี้คุณชอบฟังใครบ้าง โรเจอร์ส: เยอะมาก ทั้งแจ๊สและหลาย ๆ แนว ทั้งคลาสสิค, บลูส์ ผมโชคดีที่มีชุดเครื่องเสียงดี ๆ ที่บ้าน ผมมักจะชอบหยิบไวนิลเก่า ๆ มาเปิดฟัง ผลงานเก่าเหล่านั้นมีหลายแนวเพลงด้วยกัน ทั้งบลูส์ หรือ อาร์แอนด์บี, คันทรี จอห์นนี แคช ตอนนี้ผมฟังหลายแนวมาก ๆ สัมภาษณ์ อดัม โรเจอร์ส กับเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส, เฮนดริกซ์ และ สตรีมมิ่ง The People: ดนตรีแจ๊ส ในคำนิยามของคุณ โรเจอร์ส: ผมมองว่าแจ๊สมาจากประวัติศาสตร์ เมื่อพูดถึงแจ๊สคนอาจจะนึกถึง เคาน์ เบซี, ดุ๊ก เอลลิงตัน, ไมลส์ เดวิส หรือ จอห์น โคลเทรน แต่แจ๊สสำหรับผมมันคือแบบ Straight-Ahead ที่มีเสียงไลน์เบสจากอคูสติกเบสวิ่งตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ เฮอร์บี แฮนค็อก ทำ ผมจะไม่ได้มองว่าเป็นแจ๊สนะ แต่ส่วนตัวผมมักจะนิยามแนวดนตรีจากสิ่งที่มันเป็น ยึดจากเสน่ห์ในแบบดั้งเดิมของมัน มีหลายครั้งนะที่คนฟังเพลงจากโปรเจกต์นี้ของผม แล้วมาบอกว่านี่แหละคือแจ๊ส ผมก็มักจะอุทานถามกลับไปว่า ฮะ ถามจริง! มันเหมือนกับเจมส์ บราวน์ ผสมกับเฮนดริกซ์ มากกว่าอีก หลายครั้งผมก็มานั่งคิด การที่คุณเป็นนักดนตรีแจ๊ส คุณไม่สามารถหวังได้เสมอว่าคนที่มาฟังจะเป็นคอแจ๊ส บางครั้งคนพวกนั้นก็แทบไม่รู้เรื่องอะไรเลย The People: ผมเคยอ่านมาว่า คุณกับฟีม่าเป็นเพื่อนกันมานาน และเคยเล่นเปิดหมวกที่ไทม์สแควร์ด้วย? โรเจอร์ส: เราเล่นด้วยกันช่วงกลางปี 1980 แถวไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก ซิตี้ นั่นเป็นช่วงที่ดนตรีฟังก์กำลังเติบโต ตอนนี้เมื่อคุณนึกถึงไทมสแควร์ คุณอาจจะนึกถึงดิสนีย์แลนด์ สถานที่นี้มันเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนแถวนั้นจะมีทั้งหญิงขายบริการ, คนขายยา มันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าตื่นเต้น, งดงาม และน่าสนใจมาก สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการเล่นดนตรีข้างถนนก็คือ ผมพบว่าคนที่มาดูคุณไม่ใช่คนที่ซื้อบัตรเพื่อต้องการมาดูคุณ คนเหล่านั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และเหตุผลเดียวที่คนเหล่านั้นจะหยุดเดิน ก็คือเขาได้ยินบางอย่างที่โดนใจเขา มันคือสถานที่ฝึกที่ดีที่สุดที่หนึ่งในโลก คุณจะเรียนรู้ว่าทำยังไงให้ดนตรีที่คุณเล่นกลายเป็นที่สนใจของพวกเขา ถ้าคุณเล่นดังหรือเบาไปจนคนฟังไม่รู้เรื่อง วันนั้นคุณก็จะไม่ได้เงินกลับบ้านไปแม้แต่บาทเดียว บ่อยครั้งคุณอาจจะเรียนรู้ได้จากแบบฝึกหัดหรือหนังสือ แต่นี่คือแบบฝึกหัดที่มาจากคนจริง ๆ มันเป็นประสบการณ์ที่พัฒนาผมได้มาก [caption id="attachment_24985" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ อดัม โรเจอร์ส กับเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส, เฮนดริกซ์ และ สตรีมมิ่ง จากซ้ายโรเจอร์ส, เนต สมิธ และฟีม่า แอฟรอน[/caption] The People: อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกอยู่ในจุดที่แผ่นซีดีกลายเป็นของสะสม มันถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง ในฐานะนักดนตรี คุณมองการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างไร โรเจอร์ส: เอาจริงผมไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้มาก แต่เมื่อมองในระยะยาว ผมกลับคิดว่า นี่คือเรื่องสะเทือนใจ และเป็นภัยพิบัติต่อวงการดนตรี ส่วนตัวผมไม่ชอบเหมือนกันที่เพลงของคุณถูกปล่อยให้ฟังแบบนั้น เพราะส่วนตัวผมค้นหาเพลงฟังในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการที่คุณได้สัมผัสแผ่นเหล่านี้ในมือ ได้อ่านและจับต้องมัน ผมค้นพบว่าเงินที่ผมเสียไป 5 ดอลลาร์สำหรับซีดีแผ่นหนึ่งได้ให้อะไรผมบ้าง ผมไม่เคยมีประสบการณ์ร้ายกับสิ่งเหล่านี้ แน่นอนมันคืออนาคต แต่คุณลองจินตนาการดูเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงในอินเทอร์เน็ตไป 20 ดอลลาร์ แต่กลับทำได้เพียงกด ๆ โทรศัพท์เท่านั้น เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่กระทบผมมากนัก ตอนที่ DICE วางขายครั้งแรก ผมเลือก Apple Music เป็นแพลตฟอร์มในการวางขาย ที่ผมเลือกที่นี่เพราะเป็นสื่อที่กว้าง ผมไม่ได้แคร์มากนักกับสิ่งนี้ แต่สำหรับนักแต่งเพลงหรือคนดนตรีที่มีรายได้หลักจากการเขียนเพลงหรือขายเพลง มันกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายพวกเขาเต็ม ๆ The People: อยากให้คุณทิ้งท้ายถึงแฟน ๆ ชาวไทยของคุณ โรเจอร์ส: ผมเคยมาเล่นที่นี่สองครั้ง ผมชอบที่นี่และประเทศนี้ให้ประสบการณ์อะไรใหม่ ๆ กับผม และสำหรับใครที่เป็นแฟนเพลงของผมในประเทศนี้ ได้โปรดฟังผลงานของผมกันต่อไปนะครับ สุดท้ายขอขอบคุณ Cadenza สำหรับการอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ครับ