สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้"

สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้"
       กว่า 12 ปี บนเส้นทางสายดนตรี เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือที่ทุกคนรู้จักเขาในนาม ‘เล็ก Greasy Café’ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเขาผ่านผลงานเพลงทั้ง 4 อัลบั้ม โดยมีเพลงฮิตอย่าง ‘อุบัติเหตุ’, ‘ฝืน’, ‘ความบังเอิญ’ หรือ ‘สิ่งเหล่านี้’ เป็นสื่อกลางของความสำเร็จที่เขาได้รับจากผู้คน บทเพลงจากปลายปากกาของชายคนนี้มาพร้อมกับท่วงทำนองที่หลากหลาย เปี่ยมไปด้วยภาษาที่งดงามและทรงพลัง บ่อยครั้งที่เราได้ยินเพลงของเขาตามสถานที่ต่าง ๆ  มันเหมือนการได้นั่งคุยกับชายคนหนึ่ง ที่อยากเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเองผ่านมุมมองที่แตกต่าง และแฝงไปด้วยปรัชญาที่ชวนให้เรากลับมานั่งคิดถึงมัน ในเช้าวันที่ไม่มีฝนพรำ The People ได้มีโอกาสนั่งคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องราวชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง ช่างภาพ รวมไปถึงคำนิยามตัวตน ความหมายของรัก และการสูญเสีย The People : ‘วันทรงจำ’ ในวัยเด็กของเล็ก-อภิชัย เป็นอย่างไร อภิชัย : ครอบครัวเราก็เป็นครอบครัวที่สนใจเรื่องดนตรีเหมือนกันนะ พ่อบางทีเขาก็เป่าฮาร์โมนิกาให้แม่เราฟัง หรือไม่ก็เล่นแอคคอร์เดียน แต่เราว่ามันไม่ได้เป็นภาพชัดถึงขนาดที่ว่าจะส่งผลอะไรกับเรา ส่วนตัวที่ส่งผลมาก ๆ น่าจะเป็นพี่สาวที่โตกว่าเรานิดหนึ่ง ตอนช่วงที่เขาวัยรุ่น เขาจะทำวงดนตรีกับเพื่อน แล้วเราเป็นคนติดพี่มาก ไปไหนเราก็ไปด้วย เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องแค่มาเล่นดนตรีกัน แต่มันเป็นเรื่องของบรรยากาศในการมารวมตัวกันแล้วเล่นดนตรี เราชอบตรงบรรยากาศของคนที่อยู่ด้วยกันตรงนั้น เป็นหมู่มวลฮิปปี้ทั้งหลายแหล่ สมัยนั้นใส่กางเกงขาบาน ผมยาว เราว่าเราชอบจากตรงนั้น แล้วมันก็เลยส่งผลให้เราเริ่มสนใจในเรื่องดนตรีประมาณหนึ่ง The People : ‘ทิศทาง’ ที่เลือกต่อเป็นอย่างไร อภิชัย : พอเราจบ ม.3 ก็ลองไปสอบเข้าที่ช่างศิลป์แล้วดันไม่ติด พอไม่ติดก็เลยต้องมาเรียนที่ไทยวิจิตรฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ต้องเสียตังค์ค่าเรียน พ่อเราก็ไม่พอใจ เหมือนเขาบอกว่าจบมาแล้วทำอะไร คือบ้านเราก็ยังเป็นเจเนอเรชันที่โบราณ ๆ หน่อย แม่เราจะค่อนข้างสมัยใหม่ แต่พ่อเราจะเป็นยุคหนึ่ง ก็นั่นแหละ เขาบอกว่าเขาจะไม่ส่งให้เรียน แต่ก็มีพี่สาวคนที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็บอกว่า เดี๋ยวเขาช่วยส่งเอง เลยเริ่มเรียนศิลปะ แต่มันก็เป็นบรรยากาศอีกนั่นแหละ ตัววิชาศิลปะเองเราอาจจะไม่ได้สนใจขนาดนั้นในสมัยนั้น แต่ว่ามันมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่เราจำได้ว่าช่วงปี 1 เทอมแรก เราให้เพื่อนช่วยทำงานให้เพราะตอนนั้นเราวาดไม่ค่อยเป็น แล้วพอไปส่งอาจารย์ อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ลายเส้นมึง เราแบบโอ้โห… มันคืออะไรวะ ทำไมมันรู้ขนาดนั้นเลย ทำไมเขารู้ขนาดนั้นว่าไม่ใช่ของเรา และเป็นของใครด้วย เราว่าตอนนั้นมันกระแทกใจเรามาก เราเลยพูดกับตัวเองว่าเราต้องทำให้ได้ พอปิดเทอมเทอมแรกเราก็ซื้อกระดาษปรู๊ฟกลับบ้านแล้วเราเขียนทุกวัน จนกลับไปอีกทีแล้วส่งอาจารย์ อาจารย์เขาก็เห็นเออ...มึงก็พยายาม มันทำให้เราชอบดรอว์อิง (drawing วิชาวาดภาพ) แล้วเราก็เลยชอบและใส่ใจกับมันมากขึ้น เราว่าตัวเองน่าจะชอบวิชาดรอว์อิงที่สุดมั้ง สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้" The People : ‘ความบังเอิญ’ ที่ทำให้เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทเพลง อภิชัย : น่าจะเป็นช่วงที่เรากลับมาจากเรียนต่อที่อังกฤษ ตอนนั้นเราเริ่มเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็เขียนไปเรื่อยเปื่อย ลองทำดูแค่นั้นเอง มันไม่ได้เป็นการเขียนแบบ เฮ้ย! เราจะสร้างหนึ่งเพลงเพื่ออะไรสักอย่าง ตอนนั้นมันเป็นการทดลองซะมากกว่า จนพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) ชวนว่า เฮ้ย! เขาจะเปิดบริษัทชื่อ Smallroom เป็นค่ายเพลง มาทำด้วยกันดิ เพลงเดียวเอง สนุก ๆ เราก็ไม่แน่ใจ เราไม่แน่ใจในเรื่องของการที่จะเขียนเป็นเพลงหนึ่งเพลงเป็นภาษาไทยจริงจัง คือเราก็ไม่ได้เก่งอังกฤษอยู่แล้ว เพลงภาษาไทยเราก็ไม่เคยเขียน แต่พี่รุ่งก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลองดูก่อน สุดท้ายก็เลยเกิดเป็นเพลง ‘หา’ ขึ้นมา The People: ‘ปะติดปะต่อ’ จากงานด้านภาพให้กลายเป็นเสียงอย่างไร อภิชัย : ส่วนใหญ่เราจะนึกเป็นภาพมากกว่า เวลาที่นึกถึงสถานการณ์อะไรเราจะกลับไปที่ภาพตอนเกิดเหตุมากกว่า ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเอื้อต่อกันหรือเปล่า อันนี้ในช่วงแรกเราไม่แน่ใจจริง ๆ แต่ว่าถ้าจะย้อนกลับไป มันน่าจะเกิดจากตอนที่เราเริ่มฟังเพลงจริงจังช่วงแรก ๆ ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งที่เราชอบเขามาก ๆ เขาเรียนจบช่างศิลป์นี่แหละ เขาอยู่แถว ๆ บ้านเรา แล้วเรารู้สึกว่าตอนนั้นเขาเป็นคนที่เท่มาก ตอนหลังพอได้รู้จักกัน เขาเริ่มให้เพลงเรากลับมาฟัง เป็นเทปนี่แหละ วง The Alan Parsons Project อัลบั้ม Vulture Culture เราก็กลับมาฟัง แล้วพอเอาไปคืนพี่เขา เขาก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็บอกว่าเออเพราะดี เขาก็บอกว่าไม่ใช่ เห็นอะไรบ้าง เราบอกหมายความว่าอะไร เห็นอะไร เขาก็บอกอ้าว! ฟังเพลงต้องนึกภาพให้ได้ เราว่าตรงนั้นแหละมันน่าจะเป็นที่มาบวกกับเป็นช่วงที่เราชอบการถ่ายภาพด้วย หลังจากนั้นเลยทำให้เวลาฟังเพลง เราจะพยายามนึกถึงภาพ สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้" The People: ‘แรงดึงดูด’ ที่มักเอามาเขียนเพลงบ่อย ๆ อภิชัย : คือเราว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์นี่แหละ โดยพื้นฐานแล้ว แต่เราไม่ได้หมายความว่า โห! เราผ่านความรักมามากมาย ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเวลาเราอยู่กับความรักอันไหน เราจะอยู่กับมันนานมาก เราจะเต็มที่มาก ๆ พอเต็มที่มาก ๆ ทุ่มเทมาก ๆ พอมันหายไป เราจะจมนานมาก พอจมนานมาก มันเลยมีเวลาให้เห็นสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นได้ประมาณหนึ่ง เพราะว่าเราฟื้นตัวช้า พอฟื้นตัวช้า เราจะรู้สึกถึงความเจ็บว่าโห… มันยังเจ็บ มันยังชา มันยังอะไรอยู่ ไม่ใช่ เฮ้ย! หายแล้วไม่มีอะไร แบบหนึ่งอาทิตย์ต่อมาเฮ้ย! กูเลิกกับแฟนว่ะ จบ ไปกินเหล้ากัน มันไม่ใช่เรื่องแบบนั้น แต่มันโห… กว่าที่เราจะพาตัวเราขึ้นมาได้ มันเลยมีเวลาให้เราสังเกตมากขึ้น เราว่าเราน่าจะเป็นคนคิดบวกประมาณหนึ่ง แต่มันก็จะมีอารมณ์ลบ ๆ บ้างอยู่แล้วโดยปกติ แต่ว่ามันคือเวลาที่เราเขียนเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง เราไม่ได้เขียนเพื่อจะสอนใครเลย ไม่ได้สอนใครเลย เราเขียนเพื่อเป็นการคุยกับตัวเอง ตัวเองรู้สึกอะไร เหมือนเพลง ‘วันทรงจำ’ อย่างนี้ เราเขียนขึ้นมาเพื่อบอกตัวเราเอง เราไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อจะสอนใครเลยนะ ตั้งแต่อัลบั้มหนึ่งมาแล้ว The People: ‘สิ่งเหล่านี้’ ที่เรียกว่าความรักในมุมของ Greasy Café  อภิชัย : เราว่าจริง ๆ แล้ว หนึ่ง, ความรักมันยังไม่หายไปจากโลกนี้ถูกไหม เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราอาจจะมี เคยมี หรือไม่มีแล้ว หรือเพิ่งมี อะไรก็ได้ มันอยู่กับตัวเรา มันอยู่กับเรามานานมาก เพราะงั้นตราบใดที่มันยังเกิดขึ้น มันก็น่าจะมีมุมบางมุมที่เราจะเล่าได้อยู่ สมมติพูดว่าความรักคือลูกบอลลูกหนึ่ง เราเล่าตรงนี้ไปแล้ว ตรงนั้นยังไม่ได้เล่า มันเหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าเราจะหามุมไหนของมันเพื่อมาเล่าอีกทีหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายมันคือก้อนความรักเหมือนเดิมเลย รักกัน เลิกกัน มันเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราจะเล่ามุมไหนของไอ้บอลลูกนี้ สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้" The People : ‘ความจริง’ ในบทเพลงสำคัญขนาดไหน อภิชัย : มันอยู่ที่ว่าความจริงที่เรารับรู้มันเป็นความจริงแล้วหรือยัง ตรงนี้สำคัญมาก การที่เราเกลียดคนคนหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้อยากเป็นคนในแบบที่เราต้องเกลียดเขาก็ได้ มันอาจจะมีปัจจัยอื่นที่มันทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้น แล้วทำให้เราต้องไปเกลียดเขา คือความจริงสำคัญไหม เรื่องบางเรื่องถ้ามันจะต้องรู้ มันก็ควรจะรู้ แต่เราว่าถ้าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องพูดก็ได้ อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เรารู้ว่ามันคือความจริงมันเป็นความจริง จริง ๆ แล้วหรือยัง ตรงนั้นสำคัญกว่า ทุก ๆ เรื่องเลย The People : ‘คำตอบ’ ของตัวตนในวันนี้คืออะไร อภิชัย : เราว่าการหาตัวเองให้เจอน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่มันก็จะไม่ใช่ทุกคนที่หาตัวเองเจอในวันจันทร์หน้าตอนเช้า มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะงั้นถ้ารู้สึกว่าอยากทำอะไรทำเลย แต่ต้องไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายนะครับ ถ้ารู้สึกว่า เฮ้ย! อยากเป็นช่างภาพ ถ่ายเลย อยากเป็นกราฟิกดีไซน์ ทำเลย อย่าแค่คิดครับ แค่นั้นเอง ลงมือทำเลย เฮ้ย! เราอยากทำเพลง หยิบกีตาร์มาเลย หัดไปดิ เล่นไม่เป็นก็หัดดิ อย่าแบบโอย… ยาก โหย… เราทำไม่เป็น อ้าว! ก็แน่นอน ใครมันจะเป็นอะไรทุกอย่างในโลกใบนี้ตั้งแต่วินาทีแรก มันไม่เป็นอยู่แล้ว เราก็เกือบถอดใจหลายครั้งที่จับกีตาร์แล้วมันเจ็บนิ้วมาก หรือตีกลองแล้วมือแหก คือเราก็เจ็บ แต่ว่ามึงอยากทำหรือเปล่า อยากทำก็ลุยดิอะไรอย่างนี้ อย่าไปแบบงอแง เรารู้สึกว่าเราอยากถ่ายรูป แต่เราก็ถ่ายจนเรากลายมาเป็นเจอคนที่ทำเพลง แล้วไปเจอกับอะไรอีก แต่ว่าสิ่งที่เรารู้สึกเลยก็คือทำเลยครับ อย่ารอ คือไม่ใช่แบบ... เฮ้ย! เจ๋งว่ะ เฮ้ย! ดีว่ะ โอ้โหเฮ้ย! คนนี้เก่ง มันไม่มีวันเกิดขึ้น มันไม่มีวันกระโดดมาหาเราอยู่แล้ว เราต้องไปหามัน ต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แค่นั้นเอง The People : ‘ภาาพชินตา’ ที่ประทับใจที่สุด อภิชัย : ก็อยากจะขอบคุณมาก ๆ นะครับ ใครที่ตามงานเรามาตั้งแต่อัลบั้มแรก หรือค่อย ๆ มาเริ่มฟังแล้วกลับไปฟังอัลบั้มหนึ่ง ใครก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ขอบคุณจริง ๆ มันมีค่ามาก ๆ จริง ๆ โดยการที่เวลาเราทำอะไรขึ้นมาอย่างนี้แล้วคนก็ยังพร้อมที่จะฟังสิ่งที่เราเล่าผ่านเพลง ก็ดีใจมาก ๆ แล้วก็ดีใจที่ได้อยู่ในช่วงอายุของหลาย ๆ คน เราเจอหลาย ๆ คนที่เขาบอกว่าเจอกันตั้งแต่มาคอนเสิร์ต ตอนแรกก็ไม่ได้เป็นแฟน เริ่มเป็นแฟน แต่งงาน มีลูกอะไรอย่างนี้ แล้วทุกวันนี้เขาก็พาลูกมา โอ้โห! เราว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นภาพที่เราไม่กล้าคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราได้ ไม่กล้าคิดอะไรแบบนั้น คือเรารู้สึกว่าอย่างเวลาไปเล่นคอนเสิร์ต แล้วเป็นคอนเสิร์ตที่คนพร้อมจะลุยกัน ลุยไปกับเราอย่างนี้ เคยได้ยินไหม ผิดร้านผิดที่ ไปเล่นในร้านที่เขาไม่ได้รู้จักเรา แต่ถ้าเป็นร้านที่เขาพร้อมจะลุยกับเรา มันเหมือนกับ โห… มันไม่ใช่เพลงเราอีกต่อไปแล้ว ทุกคนร้องเพลงของตัวเองหมดเลย มันกลายเป็นเพลงของเราด้วยกัน มันไม่ใช่เพลงของเราคนเดียวแล้ว ตรงนั้นน่ะดีใจ เขายอมให้มันเข้าไปอยู่ในชีวิตเขาได้ ตรงนั้นสำคัญมาก สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้" The People : ‘สุดท้าย’ คุณนิยามว่าตัวเองเป็นช่างภาพ หรือศิลปิน อภิชัย : เราว่าศิลปินตัดไปเลย เราไม่ใช่ศิลปิน ส่วนช่างภาพ เราว่า… อาจจะเป็นแค่คนถ่ายรูปมั้งทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นอาชีพจริงจังอะไรอย่างนั้น ทุกวันนี้เริ่มกลับมาถ่ายมากขึ้นแล้ว แล้วก็เริ่มสนุกกับมันมากขึ้น แต่ว่าโห...คงนิยามแบบนั้นไม่ได้ เราก็ยังสนุก ทุ่มเท แล้วก็ยังมี passion กับการทำดนตรีมาก ๆ เราว่าเราก็เป็นคนเล่าเรื่องผ่านเพลงแค่นั้นเอง เราว่าเราเป็นแบบนั้น แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราทำมันก็ทำให้เรามีข้าวกินได้ เราโอเคกับมัน แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ว่าในอีกส่วนหนึ่งก็เริ่มกลับมาถ่ายรูปแล้ว มันเหมือนกับ passion มันก็เริ่มกลับมาเหมือนกัน เริ่มที่จะอยากออกไปลุยถ่าย ช่วงเวลานี้ เราอยากออกไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บภาพที่มันเงียบ ๆ ของเมืองเงียบ ๆ ของอะไรต่าง ๆ