สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน

สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน
ใครจะคิดว่าการเล่าเรื่องสามารถหาเงินได้ แต่ บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์ ทำได้ เขาคือพิธีกรและสแตนอัพคอเมเดียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง สามารถเปลี่ยนประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป มาเล่าให้สนุกขึ้น ผ่านความช่างสังเกต ช่างจด ช่างจำ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่อง ล่าสุดเขาเพิ่งปล่อยเทปบันทึกการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน (Stand Up Comedy) “เบนซ์จเพส ชงมากูตบ!” ฉลองวาระครบรอบ 25 ปีเมื่อปี 2018 บีเบนซ์กล่าวอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันยังใช้ปากหาเงิน ใช้คำพูดทำงาน และนั่นก็เป็นอาชีพที่เขาจะทำต่อไปอีกนาน “เอา ณ ตอนนี้ เวลานี้เลยนะ เราใช้ปาก เสียง ร่างกาย ท่าทาง ในการเลี้ยงชีพของเราทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์”   [caption id="attachment_10050" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]   The People: คุณรู้ตัวว่ามีความสามารถด้านพิธีกรตั้งแต่เมื่อไหร่ พงศธร: เด็ก ๆ ไม่เคยรู้เลยครับ เราเป็นเด็กเรียนมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงมัธยมฯ เริ่มเข้าค่าย ค่ายแรกคือค่ายธรรมะยุวพุทธ โครงการยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ เขาก็มีการแสดงละครตอนจบค่าย ผมก็ไปเล่นละครกับเขา มันจะมีนิทานเด็กเลี้ยงแกะใช่ไหม ละครผมเป็นเด็กเลี้ยงควาย ผมเป็นเด็กเลี้ยงควายคนนั้น เวลาหมาป่ามาจับกินแกะ... แกะหาย แต่ของผมเด็กเลี้ยงควาย... ควายหาย ผมเป็นเด็กอีสาน ภาษาอีสานคือ "ควยหาย" แล้วพูดในค่ายยุวพุทธ คนก็เลยจำผมได้ พอกลับไปโรงเรียนเรารู้สึกแฮปปีมาก มีเพื่อนตั้งแต่ห้อง 1 ถึงห้อง 12 รู้จักเรา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เรารู้สึกว่า การเล่าเรื่องมันดีนะ สามารถเล่าออกมาให้คนเยอะ ๆ ฟัง พอเพื่อนสนุก เราก็รู้สึกดี หลังจากนั้นเราก็เข้าค่ายระดับประเทศ เริ่มอาสาเป็นประธานค่ายโรงเรียน กลับมาทำเป็นประธานค่ายยุวพุทธที่โรงเรียนเพชรพิทยาคม จังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงจุดนั้นเราเดินไปหาพ่อ ถามพ่อว่า “ผมเป็นประธานค่ายต้องทำยังไงบ้าง” พ่อก็หยิบหนังสือมาเล่มหนึ่งแล้วยื่นให้ ชื่อว่า “พลังพูด พลังเพิ่ม” (โดย วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์) ตอนนั้นไม่รู้ว่าการพูดมันสอนกันได้ด้วย หนังสือมันสอนการเล่าเรื่อง/พูดอย่างไรให้คนฟัง พูดปาฐกถาอย่างไรให้สนุก พูดกึ่งทางการ-ทางการเป็นอย่างไร เราก็อ่านแล้วทำ ก็รู้สึกว่า เออ มันใช้ได้ว่ะ ผมเข้าค่ายเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงปี 4 เปิด Facebook ไล่ดูว่ามีค่ายอะไรเปิดบ้าง ผมก็เลยเข้าทั้งค่ายนั่งสมาธิ ค่ายศาลปกครอง ค่ายคูโบต้าดำนาอาสา ค่ายชายแดนพม่า ค่ายอาสาสร้างโรงเรียน เรียกว่ามีอะไรเข้าหมด เข้าค่ายมากกว่าเรียนอีก ณ ตอนนั้น   The People: การเข้าค่ายให้อะไรกับคุณบ้าง พงศธร: หนึ่งคือได้คอนเทนต์กิจกรรมจากค่ายนั้น ๆ เวลาทำกิจกรรมอะไรเราก็จะจดไว้ เช่น เพื่อนพูดคุยอะไรกันก็แอบจด เพราะอนาคตเราอาจได้ใช้สิ่งที่จด อันที่สองคือได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้รู้จักเพื่อนมากกว่า 7 มหาวิทยาลัย อันที่สามคือได้รู้จักกับคนทำค่ายหรือคนที่จัดค่ายให้เรา ได้พูดคุยว่าเขาจัดค่ายยังไง มีครั้งหนึ่งที่จบค่ายเขาก็ชวนเราไปทำค่ายต่อ เราก็เริ่มเข้าไปเป็นคนทำค่ายบ้าง   The People: แล้วรู้ตัวว่าเล่นมุกตลกได้ตอนไหน พงศธร: ตั้งแต่ที่แสดงละครแหละครับ แล้วก็ทุก ๆ ค่ายที่เข้าไป เพราะตอนท้ายของทุกค่าย เขาจะมีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ให้ใครก็ได้ที่อยากพูดอะไรกับเพื่อนมากล่าว เราก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบอาสาออกไป เพราะระหว่างค่ายเราจะมีโมเมนต์ว่า อันนี้น่าพูด เอากระดาษมาจด เพื่อนพูดสิ่งนี้ เอากระดาษมาจด หรือทำอะไรระหว่างค่ายก็จะจด เหมือนเรามองเห็นภาพที่จะพูดในวันสุดท้ายแล้ว ซึ่งไอการเตรียมการของเราตรงนี้ เพื่อนก็จะสนุกกับเรื่องเล่าสุดท้ายของเรา เพื่อนปรบมือ เราก็เลยเริ่มมั่นใจมากขึ้น   The People: เท่าที่สังเกต ทุกเรื่องเล่าของคุณล้วนผ่านการจดมาก่อน? พงศธร: เด็ก ๆ เราจะเป็นคนที่เจอปั๊บแล้วอดไม่ไหวที่จะต้องเล่าให้ใครสักคนหนึ่งฟัง เช่น เวลากินข้าวกับแม่ ก็จะเล่าให้แม่ฟังว่าวันนี้เจออันนี้มา แล้วแม่เราก็เป็นคนฟังที่ดี เราก็เลยเล่าให้แม่ฟังตลอด พอโตมาอายุ 19ก็เริ่มจดไดอารีครั้งแรก ตอนนั้นผมไปอ่านไดอารีของพี่โน๊ต-อุดม (แต้พานิช)“ดมได” เรารู้สึกว่า เฮ้ย คนเรามีมุมที่ทุกวันไม่เหมือนกันอย่างนี้เลยเหรอวะ เราก็เลยเริ่มจดไดอารี่ตอนเราอายุ 20เป๊ะ ๆ เลย ตอนนี้ 26ปี เราก็จดมา 6ปี แบบไม่เคยเว้นว่างเกิน 2-3วันเลย ไอ้พฤติกรรมนี้แหละที่เหมือนความอยากเล่า เหมือนไดอารีที่เหมือนเพื่อนสนิท เพราะไดอารีมันไม่ได้ตัดสินว่าอะไรดี-ไม่ดี มันรับฟัง เราก็จด ๆ แล้วก็ปิด ไม่เคยเอากลับมาอ่านเลย อ่านน้อยครั้งมาก   The People: จดเรื่องสนุก ๆ อะไรไว้บ้าง พงศธร: ล่าสุดผมจดเรื่องของขวัญ คือทุกวันนี้วันสำคัญต่าง ๆ มันมาแล้วก็ผ่านไปไวมาก แต่สมัยเด็กมันสนุกนะเว้ย เช่น ปีใหม่ครั้งหนึ่งที่โรงเรียนจะมีการแลกของขวัญ แล้วไอการแลกของขวัญมันจะมีงบก้อนหนึ่งให้เด็ก 100บาทไปซื้อของขวัญมาแลก เด็กก็จะมีภารกิจไปห้างกับเพื่อนเพื่อซื้อของขวัญ 3-4 คน แต่ก็ต้องแยกทางกันเพราะกลัวมองเห็นว่ามันซื้ออะไร แล้วเราก็ต้องมีศิลปะในการซื้อให้ครบ 100 บาทพอดิบพอดี มันก็จะมีคนที่ซื้อมา 80 บาทแล้วแถมแบงค์ 20 มาให้ในของขวัญ หรือไม่ก็ซื้อ 80 บาทแล้วคิดค่าหอ 20 บาท ผมก็จดอะไรแนว ๆ นี้ เหมือนถ้าเราไม่เล่าให้ใครฟังก็จะเล่าให้ไดอารีฟัง   [caption id="attachment_10053" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]   The People: ความมั่นใจลดลงไหม ตอนตกรอบแรกในรายการ “เดี่ยวดวลไมค์ ไทยเเลนด์” พงศธร: การตกรอบ “เดี่ยวดวลไมค์ ไทยเเลนด์” ผมไม่ได้รู้สึกเสียใจมากขนาดนั้น เพราะก่อนหน้านี้กูตกรอบมาหลายรายการอยู่แล้ว ไปนี่ก็ตกรอบ ไปนี่ก็ตกรอบคือตกเป็นปกติ ชินอยู่แล้ว แต่คนตกรอบก็จะมี 2 แบบ คือตกรอบแบบที่ได้ออกรายการกับตกรอบแล้วจบหายไปเลย ผมเป็นแบบแรก คือตกรอบแล้วได้ออกรายการ เพื่อให้คนอื่นมาดูว่าเราตกรอบจากอันนี้ แวบแรกที่ประกาศชื่อเรารู้สึกว่าทำไมไม่ได้วะ ก็แค่มีคำถามว่า “ทำไมไม่ได้วะ” แต่พอไปดูคนที่เข้ารอบก็อ๋อ... โอเค กูไม่น่าได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) พอตกรอบปั๊บ ผมก็กลับมาดูว่าตกรอบเพราะอะไร เช่น เล่าเรื่องไม่ราบลื่น ปิดจบไม่ดี หรือกระทั่งไปดูว่าคนเข้ารอบเขาเล่ายังไง แต่เราก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่ถนัดการประกวด ไม่สามารถเล่าแล้วมีคนตัดสินว่าขำหรือไม่ขำ เวลามีสายตามามองว่า “มึงตลกยังวะ” เราจะเล่าไม่ได้ เราเคยคุยกับพี่ยู-กตัญญู สว่างศรี ว่า เราสามารถไปเล่าเดี่ยวไมโครโฟนอยู่ข้าวสารได้นิ เปิดหมวกแล้วก็เล่าไป แต่พี่แกบอกว่า มึง... มันไม่ใช่ดนตรีนะเว้ย ดนตรีคนเดินผ่านมายืนดูก็เพลินดี แต่การเล่าเรื่องถ้าเล่าไปครึ่งหนึ่ง คนเดินผ่านมาก็จะงงว่ามึงเล่าอะไรว การเล่าเรื่องจะต้องมีโรงปิดมิดชิดให้คนนั่งดูแบบมีสมาธิ เดิน ๆ เฉียด ๆ มันไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ ความตลกเป็นเหมือนศาสตร์ลึกลับที่ต้องใช้สมาธิในการฟัง แล้วคนฟังก็ต้องเชื่อมต่อกับเรื่องเล่าด้วยนะ   The People: คุณมีเดี่ยวไมโครโฟนครั้งแรกได้อย่างไร พงศธร: มันเริ่มต้นมาจากไอ้การตกรอบรายการ “เดี่ยวดวลไมค์ ไทยเเลนด์” นี่แหละ พอจบรายการปั๊บ พี่ยู-กตัญญู สว่างศรี เขาก็มาเห็นคลิปแล้วก็แชร์ลง Facebook ว่า ไอ้คนนี้ก็เล่าสนุกนะ “ทำไมไม่โดนเลือกวะ” แล้วเราเป็นเฟรนด์กับพี่เขาอยู่แล้วก็เลยทักไปขอบคุณ เขาก็บอก “เฮ้ยมึง เดี๋ยวกูจะมีโชว์ว่ะ เล่นหลาย ๆ คน ลองมาซ้อมดูไหม” เราก็ได้เล่นเวทีเล็ก ๆ ตั้งแต่ เล่น 15 นาทีให้คนดู 100-200 กระทั่งแบบเล่น 15 นาทีให้คน 20 คนดูก็เล่นมา จนกระทั่งวันหนึ่งพี่แกก็บอกว่า “เฮ้ย น่าจะมีโชว์เป็นของตัวเองนะ” เราก็ได้บทจากไดอารี จากกระดาษที่จด ๆ ไว้ ลองเอามาเรียบเรียงเป็นเรื่องดู ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการเรียง ซ้อม จนได้เรื่องเล่ามาประมาณไม่เกินชั่วโมงครึ่ง ก็นำไปจัดโชว์ในครั้งนั้น ขายบัตรด้วย วันนั้นคนในฮอลล์น่าจะประมาณ 200 คน   The People: วันนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง พงศธร: เราเล่นโชว์ 1 ชั่วโมงกว่า ๆ พอจบในวันนั้น คนออกจากโรงไปหมดแล้วปั๊บ เราออกมานั่งหน้าโรงคนเดียว แล้วมองเข้าไปในวันที่ไม่มีคนอยู่ เราแบบ...จบแล้วเหรอวะ นี่คือสิ่งที่เราทำมา 3-4 เดือนเหรอวะ เหมือนกับไอ้การทำ 3-4 เดือนที่ผ่านมามันเหมือนการขึ้นเขาบนสุด แล้วนั่งแบบ...จบแล้วเหรอวะ ถามว่ามีความสุขไหม มันก็มีความสุขระดับหนึ่ง แต่วันนั้นทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ยเราสนุกกับกระบวนการการทำบท เราสนุกกับ กระบวนการการโปรโมท สนุกกับการโพสต์Facebookสนุกกับกระบวนการบนเวทีมาก ๆ เลย คือเราไม่อยากให้มันจบเลยเอาจริงๆ แต่พอมันจบปั๊บ ก็... แค่นี้หรอวะ จบแล้วหรอวะ   [caption id="attachment_10054" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]   The People: อะไรคือเสน่ห์ของเดี่ยวไมโครโฟน พงศธรเสน่ห์ของเดี่ยวไมโครโฟนคือเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง มันจะได้ภาพ ได้เสียง ได้กลิ่นออกมา สมมติว่ามีคนเล่าเก่ง ๆ อาจไม่น่าเชื่อแต่เขาสามารถเล่าแล้วเราได้กลิ่นนั้นจริง ๆ เช่น กลิ่นหมูปิ้งไหม้ด้านหนึ่ง กลิ่นข้าวแล้วมีควัน กลิ่นไหม้ของกระทะ กลิ่นปูที่ลอยขึ้นมาผสมกับผักชีอะไรอย่างนี้ เราคิดว่าไอ้การฟังคนพูดเล่าเดียวไมโครโฟนมันคือการดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง   The People: ถ้าเล่าไม่ขำจะเกิดอะไรขึ้น พงศธรถ้าต่างประเทศจะมีคนโห่ แต่คนไทยเขาจะไม่โห่ เขาจะไม่ขำเลย ผมเคยอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เล่น2รอบ เล่าเหมือนกันเป๊ะ ๆ เลยนะ เรื่องเดียวกันด้วย แต่วันแรกนี่ได้ยินเสียงแอร์เลย ในใจนี่เต้นแรงมาก เหงื่อไหลออกมา กลับบ้านมานั่งมองตู้เสื้อผ้าตัวเองแล้วก็แบบ...จบแล้วอาชีพนี้ แต่พอมาวันที่สอง เล่าเรื่องเดิมเลยนะ แต่ดันสนุกและตลกเฉย เราก็รู้สึกว่า “อะไรวะ”   The People: ต้องเล่าอย่างไรให้ตลก พงศธรแม่งเป็นศาสตร์ลึกลับที่บอกไม่ได้เลยนะ สมมติว่าเรื่องเล่านี้ตลกมาก ๆ เลย ให้เล่าทีไรก็ตลกทุกที แต่เล่าตอนคนตื่นนอนแม่งก็ไม่ตลกนะเว้ย หรือกระทั่งเล่าเรื่องตลกตอนคนกำลังหงุดหงิดก็ไม่ตลกนะเว้ย เราว่าเรื่องตลกมันคือเรื่องเจ็บปวดแล้วผ่านวันเวลามาแล้ว แล้วเราหันกลับไปมองแล้วแบบ...ตลกว่ะ เหมือนเวลาลื่นล้ม เจ็บนะเว้ย แต่พอหันกลับไปมอง...แฮะ ตลกว่ะ ถ้าลองเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้คนที่เคยลื่นล้มด้วยกันฟัง เขาก็จะเชื่อมโยงกับความตลกนั้น มันเหมือนกับเอาเรื่องที่เราเคยเจอกันอยู่แล้ว มาเล่าให้คนอีกคนหนึ่งฟัง เชื่อมโยงกันได้ ในเวลาที่เหมาะสม น่าจะประมาณนี้ [caption id="attachment_10050" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]   The People: จากเดี่ยวไมโครโฟรกลายมาเป็นพิธีกรรายการ “พื้นที่ชีวิต” ได้อย่างไร พงศธรตอนที่เรารู้สึกว่าคำพูดมันหาเงินได้คือช่วงก่อนจบมหาวิทยาลัย คือเราไม่เคยคิดเลยว่าไอ้การพูดเล่นกับเพื่อนมันจะมาหาเงินได้ ปากเป็นอวัยวะที่พูดมาตั้งแต่เด็ก เราก็พูดเล่าเรื่องสนุกสนาน จนมาวันหนึ่งมีคนชวนเราไปทำค่าย พูดจบก็มีค่าจ้างให้นะ เรารับมาแล้วคิดว่า เราใช้คำพูด ใช้การเปล่งเสียงเป็นคำพูด เป็นประโยค เป็นตัวอักษรแล้วได้ค่าตอบแทน มันจะเลี้ยงชีพได้ยังไงบ้าง ก็เลยมาคิดว่า ถ้าเราจะเลี้ยงชีพด้วยการพูด มันมีส่วนไหนที่ทำได้บ้าง หนึ่งพิธีกร สองทำค่าย สามวิทยากรสอนคน สันทนาการ ทำรายการโทรทัศน์ เดี่ยวไมโครโฟน พูดให้กำลังใจ ทำคลิปรายการท่องเที่ยว ฯลฯ ลิสต์มาหมดในสิ่งที่ต้องใช้ปากทำงาน แล้วตอนนั้นเราทำค่ายแล้ว เป็นพิธีกรแล้ว ทำเดี่ยวไมโครโฟนแล้ว มีรายการโทรทัศน์ที่ยังไม่ได้ทำ ตอนทำเดี่ยวไมโครโฟนกับพี่ยู “One Night Stand Up” มีพี่โปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่เราเคยร่วมงานกำลังหาพิธีกรรายการสารคดี เขาก็เลยทักชวนผมไปร่วมเป็นพิธีกร เป็นตอนที่ให้คนทำงานหลาย ๆ อาชีพไปปฎิบัติธรรม มีนักเขียนนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) มีนางแบบ ข้าว The Face Thailand (จุฑารัตน์ แก้วมณี)มีนักวิทยาศาสตร์ 1 คน ขาดแต่นักพูดก็เลยเล็งเราไว้ 2เดือนถัดมาเราก็บินไปสกลนคร ไปที่วัดป่าโสมนัส อยู่ที่นั่น 9 วัน 4 คนกับทีมงานอีก 4 คน ไปปฏิบัติธรรม พอเสร็จก็มีการเล่าเรื่องว่าแต่ละวันเจออะไรบ้าง นิ้วกลมพูดเรื่องจริงจัง ข้าว The Face เล่าประสบการณ์ของตัวเอง เราก็เล่าในแบบของเรา เพราะวันนั้นรายการ “พื้นที่ชีวิต” อยากปรับรูปแบบให้เข้าถึงวัยรุ่นได้มากขึ้น หลังจากเทปปฏิบัติธรรมออนแอร์เสร็จแล้ว อีกประมาณสัก 4-5 เดือนถัดมา พี่โปรดิวเซอร์โทรมาหาเราอีกครั้ง ชวนมาทำ “พื้นที่ชีวิต” อีก ซึ่งเทปนี้ไปประเทศโมร็อกโก พอวางปั๊บ เราแบบ เชี่ย!โมร็อกโกอยู่ส่วนไหนของโลกวะ!? การทำรายการ “พื้นที่ชีวิต” ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีกองถ่ายสารคดีไปด้วย มันคือการทำงานตลอดเวลา กล้องจ่อมาตอนไหนคุณต้องพร้อมมีข้อมูลเสมอ   The People: กดดันไหมกับการเป็นเด็กใหม่ในรายการพื้นที่ชีวิต พงศธรนี่คือสิ่งที่ผมกดดัน กดดันตั้งแต่ก่อนไปทำแล้ว ผมรู้สึกว่านิ้วกลมคือนักเขียนที่เราเคารพมาก พี่วรรณสิงห์ (ประเสริฐกุล) คือนักทำสารคดีที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง สองคนนี้ทำมาตรฐานรายการแบบโคตรสูง เราเข้าไปแบบคนที่ทำสารคดีมาน้อยมาก เคยขึ้นแต่เวที ไม่ค่อยได้ทำงานผ่านกล้องมาก่อน โปรดิวเซอร์ก็บอกว่า “เฮ้ย โดนเปรียบเทียบแน่นอน ไม่ต้องห่วง” เราก็โอเค ทำใจไว้แล้ว โดนเปรียบเทียบแน่นอน   The People: การทำรายการ “พื้นที่ชีวิต” เปิดประสบการณ์ชีวิตแก่คุณอะไรบ้าง พงศธรโคตรเปิดชีวิตเรามาก ๆ หนึ่งคือการทำรายการสารคดีนั้นไม่ง่ายเลย เราเป็นคนเสพสารคดีอยู่แล้ว เราดูตอนหนึ่งชั่วโมงหนึ่งจบ แต่การทำสารคดีมันคือการไปอยู่ตรงนั้น 1-2อาทิตย์ ไปคุยกับคน 1 ชั่วโมงเพื่อที่จะเอามาออก 3-5นาที เราได้เห็นกระบวนการว่า สารคดีคือความจริงนั่นแหละ แต่การจะนำเสนอความจริงนั้นต้องมีอะไรเคลือบเข้าไป อย่างน้อยที่สุดการทำสารคดีผ่านกล้องมันต้องมีการเซ็ต ต้องมีการเดิน ต้องมีการพูดคุยตามคำถามที่เราเตรียมมา มันจึงเป็นความจริงที่เคลือบอะไรเข้าไป อันที่สอง คือการไปประเทศโมร็อกโกโคตรเปิดชีวิตเรามาก เราไม่เคยไปประเทศไกลกว่าอินเดียเลย วันนั้นเราไปถ่ายรายการนี้  2 อาทิตย์ เสร็จแล้วเราอยู่เที่ยวต่อเองอีก 9 วัน ทำให้เรารู้ว่าการลงพื้นที่ไปเจอคนใหม่ ๆ ได้คุยกับคนที่เราไม่เคยได้คิดว่าชาตินี้จะได้เจอ ได้ไปสถานที่ใหม่ ๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้ดู มันโคตรดีเลย อันที่สาม คือการได้เล่าในสิ่งที่เจอมันตอบโจทย์มาก เราได้ใช้ทักษะพิธีกร ใช้ทักษะการเล่า storytelling ได้ ทักษะการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ หรือกระทั่งใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดของการอยู่ตรงนั้น [caption id="attachment_10052" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]   The People: ทุกวันนี้ยังมีความสุขกับการใช้ปากหาเงินอยู่ไหม พงศธรเอา ณ ตอนนี้ เวลานี้เลยนะ งานที่เราทำเป็นงานที่ต้องพูดแล้วถึงจะได้รายได้มา 100 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งคือไปทำค่าย ไปเป็นวิทยากรจัดกิจกรรม อันที่สองคือพิธีกรงานอีเวนต์ อันที่สามคือรายการทีวีพื้นที่ชีวิต อันที่สี่คือเดี่ยวไมโครโฟน เราอยากจะจัดให้ต่อเนื่อง ไม่อยากทิ้งสิ่งนี้ไปเพราะมันทำให้เราหัวใจพองโตมาก ๆ ทำ ดังนั้นตอนนี้คือเราใช้ปาก ใช้การเล่าเรื่อง ใช้ตัวอักษรคำพูด ใช้เสียง ใช้ร่างกาย ใช้ท่าทางในการเลี้ยงชีพของเราในตอนนี้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์   The People: ระหว่างเล่าเรื่องตลกขบขับกับเรื่องซีเรียสจริง คุณชอบเล่าแบบไหนมากกว่ากัน พงศธรการทำสิ่งที่สนุกมาก สาระน้อย กับสิ่งที่สนุกน้อย สาระมา มันเป็นทักษะเดียวกัน เราสามารถเล่าได้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา อยู่ที่ว่าในสถานการณ์นั้นเราจะใช้ฝั่งซ้ายเล่าออกไป เราจะเคลือบความหวานเยอะหน่อย หรือเราอยากจะให้ข้อมูลมากหน่อย   The People: แสดงว่าคุณจะยังใช้การพูดหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองต่อไป พงศธรเราเคยนั่งคิดกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำได้มันคืออะไร โอเค เราพูดได้ แต่เราไม่มีความสามารถแบบเชี่ยวชาญ อย่างพี่หนุ่ย-พงศ์สุข (หิรัญพฤกษ์)เขาเชี่ยวชาญเทคโนโลยี แล้วใช้การพูดของเขาสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีออกมา เรามานั่งคิดว่าเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษสักด้านหนึ่งเลย แต่เรารู้สึกว่ามีเรื่องเล่า มีคอนเทนต์ ดังนั้นสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตคือการมีเรื่องเล่า เพราะเรื่องเล่ามันมีพลัง เราอ่านหนังสือ Sapiens และ 21Lessons for the 21st Century (โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี) เขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์รวมตัวกันหรือทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาคือเรื่องเล่า เพราะเราเล่าเรื่องร่วมกัน ศาสนาก็เกิดจากเรื่องเล่า เราจึงคิดว่าถ้าเรื่องเล่ามีพลัง สิ่งที่เรามีก็มีพลัง การดำเนินชีวิตหารายได้ผ่านการพูด เหมือนว่าเราไม่มีสินค้าอะไรตายตัว แต่เราอยู่ในเมืองหลวง เราพอรู้ประมาณหนึ่งว่าที่ไหนที่ควรจะเข้าไป เช่น บริษัทจัดอีเวนต์ บริษัทรายการทีวี ไปแสดงโฆษณาก็ได้ ไปทำทัวร์ก็ได้ ไปทำค่ายก็ได้ แล้วเราก็พยายามหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ว่าการพูดของเราไปจุดไหนได้บ้าง คิดว่าคงทำไปอีกนาน [caption id="attachment_10049" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ชายผู้แกว่งปากหาเงิน บีเบนซ์–พงศธร ธิติศรัณย์[/caption]