สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63

สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63
สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ หนึ่งในผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 กับบทบาทคนรุ่นใหม่ในนามเยาวชนปลดแอกของยุคปี ’63 “รัฐประหารปี 2557 สร้างพวกเราหลายคน ณ ตรงนี้” หากใครติดตามคลิป facebook live จากแฟนเพจ ‘เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH’ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสื่อสารการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดีย คงคุ้นหน้าคุ้นตากับล่ามเสียงใส ๆ ที่คอยบรรยายเหตุการณ์จากภาคสนามให้ฟังทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มาทำความรู้จักนักเคลื่อนไหวตัวยงกับชีวิตแต่ละช่วงวัยที่มาพร้อมเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปีที่เธอเกิดจนถึงบทบาทในการเมืองปัจจุบัน The People สัมภาษณ์ ‘เกศกนก วงษาภักดี’ หรือ ‘ใบไหม’ บัณฑิตใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ล่ามของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และผู้รายงานสถานการณ์ชุมนุมผ่าน facebook live แฟนเพจ ‘เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH’ เพจที่เพิ่งประกาศทะลุ 1 ล้านไลก์ไปเมื่อ 18 ตุลาคม 2563 รวมมีผู้ติดตามในขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63 ใบไหมเล่าถึงชีวิตตัวเองก่อนที่จะมาเป็นนักเคลื่อนไหวในวันนี้ว่า “ใบไหมเกิดปี 2540 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง' หลังจากนั้นพอใบไหมอายุ 9 ขวบ ประเทศเราก็มีรัฐประหาร 2549 จากนั้นพออายุประมาณ 15 - 16 ปี ก็เกิดรัฐประหารปี 2557 ถือว่าใบไหมอยู่ในยุครัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง “ส่วนเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจก็คือเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2553 ซึ่งเราก็เป็นผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์นั้นเหมือนกัน “พี่น้องเสื้อแดงโดนล้อมปราบในเหตุการณ์นั้น ส่วนร้านค้าของเราที่อยู่ใต้โรงหนังสยามโดนเผาหมดเลย เป็นร้านที่คุณแม่ลงทุนไปเยอะมาก จากเหตุการณ์นั้นทำให้คุณแม่ล้มละลายไปด้วย “ความเสียหายครั้งนั้น ถ้ามองจากมุมคนข้างนอกก็จะมองว่าคนเสื้อแดงเป็นคนทำ แต่ในมุมผู้ได้รับผลกระทบหรือแม่ค้าแม่ขายที่อยู่กับเหตุการณ์ตรงนั้น เขาอาจจะไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าเสื้อแดงเป็นคนทำ ก็มองได้หลายทฤษฎี ฉะนั้น เราก็ฟังจากกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด “มันตรึงตาตรึงใจมาตลอด เพราะใบไหมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาในบรรยากาศการชุมนุมของเสื้อหลาย ๆ สี แล้วพอโตมาเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวด้วย “พูดตรง ๆ คือ ระบบเป็นสิ่งสร้างใบไหมขึ้นมา ตัวระบบทำให้ใบไหมเห็นว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม และมีผู้คนมากมายออกมาต่อสู้นะ เราอย่ายอมเขานะ มันก็คือระบบนี่แหละที่เขากดเรา เราในฐานะผู้ถูกกดขี่ก็ต้องไม่ยอม” ที่มาของการเคลื่อนไหวในฐานะ ‘เยาวชนปลดแอก’ ใบไหมบอกว่า “เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ช่วงที่อยู่ปี 1 ได้ทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ “แล้วขณะนั้น ‘โจชัว หว่อง’ ไม่ได้เข้าประเทศ ถูกทางการไทยกักตัวไว้ (ที่สนามบินสุวรรณภูมิ) เราเชิญเขามาปาฐกถาเรื่อง ‘การเมืองของคนรุ่นใหม่’ ในงาน ‘40 ปี 6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯ มองอนาคต’ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 “ตอนนั้นรู้สึกได้ถึงอำนาจรัฐที่ใกล้ตัวมากในกิจกรรมที่เราทำ แล้วเขามาจับวิทยากรของเราไป นั่นเป็นโมเมนต์แรกที่เราได้เห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ หรือทหาร ตำรวจเข้ามาที่คณะ เรารู้สึกมากว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว ครั้งนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง “แล้วอีกปัจจัยหนึ่งก็คือว่า เราอยู่ในระบบทุนนิยมแล้วก็เห็นการกดขี่ในทุก ๆ วัน จริง ๆ ปัญหาการเมืองมันง่ายมากเลย ใบไหมแค่นั่งรถเมล์มาเรียน และรถเมล์มันเก่า ๆ พัง ๆ มันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวแล้ว ก็มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ “สำหรับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียมให้กับสังคม” สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63 ใบไหมเล่าเบื้องหลังกราฟิกสุดปังในแฟนเพจ ‘เยาวชนปลดแอก’ ว่า “กราฟิกเพจต้องให้เครดิตเจมส์ (ภานุมาศ สิงห์พรม นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก เจมส์ก็จะคอยให้ทีมช่วยกันหาว่ามวลชนคุยอะไรกันอยู่ เพราะจะมีภาษาบางอย่างที่มวลชนเขาใช้อย่างเช่นคำว่า แกง คำว่าแครอท บร็อคโคลี เราก็ลองดูว่า เราจะทำยังไงให้การประชาสัมพันธ์ของเรามันเป็นภาษาเดียวกับมวลชนให้ได้มากที่สุด “อย่างเจมส์เขาก็จะตัดต่อเก่งมาก เขาจะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา มีอะไรแป๊บหนึ่งเขาก็จะเอาคอมพิวเตอร์มาตัดต่อตรงนั้นเลย” ส่วนการเคลื่อนไหวในยุคที่ใช้โซเชียลมีเดียจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่างจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้อย่างไร ใบไหมมองว่า “โซเชียลมีเดียช่วยได้หลายอย่าง ช่วยเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เวลาที่เราจะเคลื่อนไหว โดยเป็นเครื่องมือเดียวที่เรามี เราไม่ได้มีเครื่องมือในสื่อกระแสหลัก เราสามารถโพสต์เชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดียให้คนออกมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้ “แล้วในโซเชียลมีเดียก็ทำให้ทุก ๆ คนเป็นนักข่าวได้ คือเวลาเกิดเหตุการณ์อะไร เราอัดวิดีโอ เรา live ได้ เล่าให้คนอื่นฟังได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แตกต่างจากในสมัยก่อนที่เวลาจะนัดชุมนุมทีหนึ่ง อาจจะต้องรอข่าวจากทีวีเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรก็ง่ายที่กระแสหลักจะใส่ร้ายผู้ชุมนุมว่า เป็นคนเผาหรือทำลายข้าวของ “การใช้โซเชียลมีเดียก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งก็คือเวลาที่เราประชาสัมพันธ์อะไร มันไปไวมาก แล้วเราก็แทบจะประเมินได้เลยว่า คนจะมาร่วมเท่าไร ประมาณไหน “ส่วนจุดอ่อนก็คือพวกข่าวปลอมหรือการปั่นมันง่ายมาก หากมีโพสต์อะไรที่ไม่ได้มีการตรวจสอบก่อนก็จะแพร่ไปไวมาก เราต้องดูต้องตรวจสอบเหมือนกัน” เมื่อถามถึงวิธีเตรียมรับมือกับการถูกจำกัดเสรีภาพ ใบไหมบอกว่า “แทบจะไม่ได้เตรียมรับมือเอาไว้ มองว่าอย่างแย่ที่สุดอาจเกิดการรัฐประหาร ล้อมปราบ จับแกนนำไปทุกคน แต่คิดไปคิดมาสุดท้ายเรารู้สึกว่า เรายังมีความหวังอยู่ เพราะต่อให้เขาจับเราไป เขาก็ไม่สามารถจับไปได้ทุกคน สุดท้ายความคิด อุดมการณ์ ก็จะถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น รุ่นสู่รุ่น สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63 “จริง ๆ แล้วแทบจะพูดได้ด้วยซ้ำว่ารัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นสิ่งที่สร้างพวกเราหลาย ๆ คน ณ ตรงนี้ขึ้นมา เขาเป็นคนสร้างเราเองด้วยซ้ำ เพราะว่าความอยุติธรรมที่เราเห็นอยู่ทุก ๆ วัน การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เรารู้สึกได้อยู่ในทุก ๆ วัน มันทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องสู้นะ เราอย่ายอมเขานะ” สำหรับรูปแบบการชุมนุมที่ทำได้ทั้งมีแกนนำและไม่มีแกนนำ ใบไหมให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เราต้องดูว่ารัฐตอบสนองแต่ละมูฟเมนต์อย่างไร เราเคยทำการชุมนุมที่มีแกนนำ ชุมนุมจุดใหญ่ ๆ จุดเดียว แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่เราเห็นอยู่ เช่น การล้อมปราบ ส่วนหนึ่งคิดว่ารัฐค่อนข้างมีประสบการณ์ในการรับมือกับการชุมนุมแบบนั้น คือ เป็นการชุมนุมที่ปราบง่าย เจรจาง่าย “เราก็เลยลองดูเพื่อน ๆ ในต่างประเทศที่เขาชุมนุมกัน เช่น ฮ่องกง คือไม่จำเป็นต้องมีผู้นำชัดเจนขนาดนั้นก็ได้ แต่คนก็ออกมาร่วมได้แม้ไม่มีผู้นำชัดเจน เราหมายถึงว่าแค่ไม่มีผู้ปราศรัยที่ผูกขาดการปราศรัยไว้คนเดียวหรือกลุ่มเดียว “เราสามารถเปิดทางให้ผู้ชุมนุมหลายคนที่มีวาทศิลป์ที่ดี ให้เขาจับไมค์ปราศรัยได้ เราไม่มีแกนนำในแง่นั้นมากกว่า แต่เราเป็นขบวนการที่มีการจัดการและมีระบบ” ปีนี้ใบไหมเพิ่งเป็นบัณฑิตใหม่ ผ่านประสบการณ์จากรั้วมหาวิทยาลัยในฐานะนิสิตมาแล้ว เธอให้ความเห็นถึงกิจกรรมรับน้องที่ควรจะเป็น และสะท้อนปัญหาของระบบโซตัสว่า “ใบไหมเพิ่งจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเดือนตุลาฯ นี้เอง “ในคณะรัฐศาสตร์ไม่มีกิจกรรมโซตัสโดยตรง ส่วนการรับน้องมีข้อถกเถียงในคณะ เช่น กิจกรรมรับน้องเปียก คือมีการฉีดน้ำแล้วก็เต้น เราก็ตั้งคำถามว่า การรับน้องอย่างนั้นมีประโยชน์กับเด็ก ๆ ที่จะเข้าเรียนรัฐศาสตร์อย่างไร ทำไมเราถึงไม่คิดกิจกรรมอย่างเช่น ไปเดินดูความเหลื่อมล้ำรอบ ๆ จุฬาฯ พาน้องไปเดินดูตั้งแต่สยามพารากอน เดินมาเรื่อย ๆ ยันชุมชนสามย่าน คือมีความเหลื่อมล้ำรอบ ๆ มหาวิทยาลัย ทำไมเราไม่เพิ่มกิจกรรมตรงนั้น “ส่วนระบบโซตัส มองว่าเป็นระบบที่สะท้อนการเมืองใหญ่ในเมืองไทย คือ ชนชั้นผู้น้อยต้องฟังชนชั้นผู้ใหญ่ ชนชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจมากในการสั่งการอะไรก็ได้ กดขี่อย่างไรก็ได้ มันคือระบบเผด็จการแรก ๆ ที่ใกล้ตัวเรามาก” สัมภาษณ์ ‘ใบไหม’ ผู้บอบช้ำจากเหตุการณ์ปี ’53 ถึงบทบาทเยาวชนปลดแอกปี ’63 ใบไหมเล่าเบื้องหลังที่มาทักษะภาษาอังกฤษที่เริ่มฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเด็กก่อนเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยมีคุณแม่เป็นผู้ให้การสนับสนุนคนสำคัญ “ใบไหมเน้นการใช้ภาษาในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพราะเป็นทักษะที่ทำได้ จึงเลือกทำ ส่วนความสามารถทางด้านภาษาเป็นเพราะการมองการณ์ไกลของแม่ที่มองว่ายังไงต้องได้ใช้ภาษาอังกฤษแน่ ๆ แม่จึงให้เรียนกับครูฝรั่งโดยให้มาสอนที่บ้านตอนเรียนระดับประถมฯ และได้เรียนโรงเรียนเอกชนที่เน้นภาษาอังกฤษ ใบไหมชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษและดูการ์ตูนภาษาอังกฤษด้วย “ต่อมาช่วงมัธยมฯ ได้เรียนโรงเรียนรัฐบาล เริ่มหาหนังสืออ่านเองประกอบกับดูยูทูบ “พอเรียนระดับมัธยมฯ ปลายได้เดินทางไปประเทศอุรุกวัยเกือบ 1 ปีในโครงการ AFS ใช้ภาษาสเปน อุรุกวัยเป็นประเทศสังคมนิยม เป็นประเทศที่ฝ่ายซ้ายชนะ “พอมาเรียนจุฬาฯ ระหว่างเรียนคณะรัฐศาสตร์ ได้แปลหนังสือชื่อ ‘คอมมิวนิสม์สำหรับสหายน้อย’ แปลให้สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน เป็นสำนักพิมพ์ของนิสิตจุฬาฯ นำโดย แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล “สำหรับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ก่อตั้งปลายปี 2562 โดย ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ร่วมกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ส่วนใบไหมเพิ่งเข้ามาเป็นล่ามตอนมีชุมนุมใหญ่เดือนกรกฎาคม 2563 เพราะฟอร์ดชวนให้มาช่วยเป็นล่ามภาษาอังกฤษให้กลุ่ม ต่อมาเมื่อมีถ่ายทอดการชุมนุมทาง facebook live ใบไหมจึงได้รายงานผ่านช่องทางนี้ด้วย “ตั้งแต่เป็นล่ามให้กลุ่มก็ได้เห็นคอมเมนต์ภาษาอังกฤษมากขึ้น ดีใจที่สามารถสื่อสารให้ต่างชาติรับรู้ว่าในไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งรวมถึงการสื่อสารไปยังเพื่อนที่ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไต้หวัน “ได้ใช้ภาษาเคลื่อนไหวส่งสารสถานการณ์จากเมืองไทยไปต่างประเทศ ถือว่าเรียนมาคุ้มแล้ว และเป็นเพราะแม่มองการณ์ไกล แม่ไม่ได้รวย ไม่ได้มีเงินมาก แต่รู้ว่าภาษาเป็นเรื่องสำคัญ” ใบไหมเล่าถึงผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญและประสบการณ์ก่อนจะมาถึงวันนี้