สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์

สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์
ในบรรดานักทำหนังชาวไทยที่ไปสร้างชื่อในระดับนานาชาติ ชื่อที่หลาย ๆ คนนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรกคือ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553) เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 63 และ สอง – สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพคู่บุญของอภิชาติพงศ์ ที่ระยะหลังไปกำกับภาพให้หนังเรื่องเด่น ๆ นำโดย Call Me By Your Name (2017) และ Suspiria (2018) แต่อีกคนที่กำลังมาแรงและน่าจับตามองคือ จ๊ะเอ๋ - ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เธอเป็นผู้กำกับภาพหญิงที่มีเครดิตน่าสนใจ ผลงานแรกที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักคือการร่วมกำกับภาพให้หนังสารคดีผสมฟิคชัน Karaoke Girl สาวคาราโอเกะ (2556) ได้รางวัลสาขากำกับภาพยอดเยี่ยมจากเวที Starpics Thai Films Awards และรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง นอกจากนั้นงานกำกับภาพของเธอในหนังเรื่อง Motel Mist โรงแรมต่างดาว (2559) ของผู้กำกับ ปราบดา หยุ่น ที่ได้รับคำชมอย่างกว้างขวาง ผลงานของชนานันต์ไม่ได้จำกัดแค่หนังไทย เธอยังถ่ายหนังต่างประเทศหลายเรื่อง อาทิ Don’t Come Back From the Moon (2017) นำแสดงโดย เจมส์ แฟรงโก (James Franco), The Third Wife (2018) หนังสัญชาติเวียดนามที่กำลังจะได้เข้าฉายในบ้านเราจากการจัดจำหน่ายโดย Documentary Club และ Pop Aye ป็อปอาย มายเฟรนด์ (2017) หนังสัญชาติสิงคโปร์ แต่เนื้อในใช้บริการนักแสดงและทีมงานชาวไทย จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นหนังไทยอีกเรื่อง The People จึงพูดคุยสอบถามยอดผู้กำกับภาพหญิงคนนี้ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของเธอในแง่มุมต่าง ๆ ว่าอะไรหล่อหลอมให้เธอกลายเป็นนักทำหนังสุดแกร่งได้ในทุกวันนี้ [caption id="attachment_10364" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ จ๊ะเอ๋ - ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์[/caption]   The People: หลังถ่ายทำ Karaoke Girl แล้วได้รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมจาก Starpics และ ชมรมวิจารณ์ ชีวิตหลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ชนานันต์: หลังจากนั้นก็กลับไปเรียน ตอนที่กลับมาไทยเพื่อถ่าย Karaoke Girl ตอนนั้นเพิ่งขึ้นชั้นปี 2 ที่ Tisch School of the Arts ที่ NYU (New York University) รุ่นพี่ เตื้อย (วิศรา วิจิตรวาทการ) ที่ Tisch ชวนไปถ่ายหนังเรื่องนี้ในส่วนที่เป็นสารคดี และได้ช่วยจัดการกล้องในส่วนของฟิคชันด้วย พอเสร็จกลับมาเรียนก็ถ่ายหนังสั้นให้เพื่อนเป็นส่วนใหญ่ ได้ฝึกตลอด หลักสูตรที่เรียนเป็น Directing Program เลยจะมีผู้กำกับเต็มไปหมด เราเลยได้โอกาสฝึกฝน ได้ถ่ายภาพและทำงานกับผู้กำกับหลากหลายมาก   The People: แสดงว่าตอนเรียนต้องเป็นผู้กำกับเองด้วย ชนานันต์: ใช่ ทุกคนจะต้องทำหนังของตัวเอง ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 4-5 เรื่องที่ต้องทำ แต่จะเป็นหนังสั้น   The People: แต่หลังจบมาไม่เห็นคุณกำกับหนังเองเลย ชนานันต์: เราเข้าไปเรียนเพราะรู้ตัวว่าอยากเป็นผู้กำกับภาพ (DP - Director of Photography) แต่ที่เลือกที่นี่เพราะมีเพื่อนที่เรียนอยู่แล้วอย่าง เตื้อย ผู้กำกับ Karaoke Girl และ เคียร์สเทน ทัน (Kirsten Tan ผู้กำกับ Pop Aye) ซึ่งเป็นรุ่นพี่เราประมาณ 2-3 ปี ตอนที่คิดว่าจะเรียน เราไม่มีพื้นฐานเลย อาจมีพื้นจากการฝึกงานทีมไฟทีมกล้องมาก่อน แต่ไม่เคยเรียนฟิล์ม แค่อยู่ในกองถ่ายทำหน้าที่ถ่ายภาพเบื้องหลังเป็นภาพนิ่งมาบ้าง ตอนแรกเลยหาข้อมูลว่าถ้าเราอยากเรียนเพื่อเป็นผู้กำกับภาพ เราควรจะเรียนที่ไหนดี เรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า NYU ไม่ได้โฟกัสเรื่องการถ่ายภาพ (Cinematography) โดยเฉพาะ ถ้าไปเรียน เราจะต้องเรียนการกำกับก่อน แล้วค่อยฉีกเมเจอร์ทีหลังว่าเราจะโฟกัสเรื่องการถ่าย พอคุยกับหลาย ๆ คนก็พบว่าที่นี่เหมาะที่สุดแล้ว เพราะถ้าคนที่มาเรียนเน้นเป็นผู้กำกับกันหมด เราจะได้ทำงานกับผู้กำกับเก่งๆ มากขึ้น ได้ทำโปรเจ็กต์น่าสนใจ และได้เรียนรู้หลายด้านเกี่ยวกับภาพยนตร์ด้วย น่าจะเป็นโอกาสสำหรับเรามากกว่า ดีกว่าไปเรียนในที่ที่มีแต่เพื่อนร่วมชั้นเป็นตากล้อง หรือสอนเน้นเฉพาะเทคนิคการถ่ายอย่างเดียว   The People: ทำไมถึงหลงเสน่ห์การเป็นผู้กำกับภาพ ชนานันต์: แรกเริ่มเลยเราสนใจเรื่องภาพ เคยเป็นช่างภาพนิ่งมาก่อน มันเป็นสื่อที่เรารู้สึกว่าทำได้ดี และสบายใจในการสร้างสรรค์อะไรก็ตามผ่านสื่อนี้ แต่จริง ๆ อยากทำหนังมาก่อนนะ พูดแบบตรงไปตรงมาเลย ตอนไปเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปัจจุบันภาควิชาแยกตัวออกมาเป็นคณะการสื่อสารมวลชน) เห็นในแนวทางการสอน (Course Syllabus) เขียนว่ามีเรียนสาขาภาพยนตร์ด้วย คิดจะมาเรียนหนังที่นี่ ได้ไปไกลพ่อแม่ด้วย แต่พอไปถึงแล้วไม่มี (หัวเราะ) เพิ่งมามีในปัจจุบัน เลยไปแอบเรียนวิชาโทของคณะวิจิตรศิลป์ การเรียนที่ มช. ในสมัยนั้น ดีตรงที่เราสามารถไปเรียนวิชาของคณะอื่นได้ ตอนนั้นที่บ้านไม่ให้เรียนศิลปะตรง ๆ เพราะพ่อแม่อยากให้เป็นทนาย อยากให้เรียนกฎหมาย ก็ไปสอบให้นะ สอบติดด้วย แต่สุดท้ายมาเลือก มช. บอกว่าจะไปเรียนเป็นนักข่าว เป็นประชาสัมพันธ์ มันเป็นอาชีพที่หากินได้นะ แล้วไปแอบเรียนศิลปะเอา   The People: คุณเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไม่อยากเรียนในกรุงเทพฯ? ชนานันต์: ไม่เลย พ่อแม่อยากให้เรียนใกล้บ้านที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเขาไม่ค่อยมีเวลา ต้องทำงาน จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการเดินทางหรือเรื่องไปรับส่ง เขาอยากให้เราเป็นทนาย เพราะเป็นอาชีพที่ชัดเจน มั่นคง จะมีเรื่องอะไรกัน เศรษฐกิจแย่ก็อยู่รอด เขาอธิบายว่าเขาคิดแบบนี้ ซึ่งมันก็น่าสนใจ แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรมาก เรารู้สึกว่าทนายที่เรารู้จักและเคยเห็นเป็นทนายที่ว่าความให้คนมีอำนาจ คนมีเงิน ก็เกิดความสงสัยว่าถ้าเขาทำผิดแล้วมาจ้างเราล่ะ มันคงจะค้านกับความรู้สึกแน่ ๆ เลยไม่อยากทำ แต่ตอนนั้นรู้น้อยไง ไม่มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างที่กว้างหรือหลากหลาย เห็นแต่คนทำงานฟ้องร้อง ฟ้องยึดบ้าน เราไม่อยากทำอะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นตอนนี้รู้แล้วว่ากฎหมายสามารถทำอะไรได้หลายอย่างและช่วยเหลือคนได้ในหลาย ๆ แง่มุม เราอาจเรียนกฎหมายไปแล้ว เราเห็นการเป็นทนายจากคนรู้จักบ้าง ญาติบ้าง เนื่องจากพอเราต้องสมัครเรียนกฎหมาย เราเลยไปถามหลาย ๆ คนว่าอาชีพที่พ่อแม่อยากให้ทำมีอะไรดีบ้าง ไม่ได้ต่อต้านนะ เราอยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน แต่คนที่เจอมีแต่นักกฎหมายหรือทนายที่ส่งเสริมช่วยเหลือผู้มีอำนาจและมีอันจะกิน เราเหมือนจะรู้สึกว่า ถ้าต้องว่าความไปตามกฎหมายแต่ไม่เป็นไปตามความถูกต้องของความรู้สึก เราคงทำไม่ได้ รู้สึกว่าถ้าทำงานด้านสื่อสารมวลชนมันคงเป็นการพบกันครึ่งทาง ได้ใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องด้วย แต่เรารู้น้อยเหมือนกันเพราะสื่อมวลชนที่โดนซื้อก็มี เรามีอุดมการณ์แบบเด็ก ๆ ว่าการเป็นสื่อมวลชนต้องเอาแต่เรื่องจริงมานำเสนอ พอมาเรียนถึงอ๋อ... ถ้าซื่อตรงก็อยู่ยากเหมือนกันทุกอาชีพ แล้วต้องขอบคุณ มช. สมัยนั้นที่ลิเบอรัลมาก ๆ ทำให้ได้เรียนวิชาประหลาด ๆ อย่าง Metaphysics (อภิปรัชญา) ลองไปเรียนดูเพราะได้ข่าวว่าเเหวกมาก ไปนั่งคุยกันเรื่องผี เรื่องสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าว่ามีอยู่จริงไหม เราสามารถพูดถึงเรื่องผีและจิตวิญญาณ แล้วอธิบายมันแบบฟิสิกส์ พลังงานได้ไหม วิชานี้อาจารย์นุ่งขาวห่มขาวมาสอนเลย ท่านเคยบวชเรียนมาก่อน มาคุยเรื่องประสบการณ์ผี วัฒนธรรมผีของแต่ละกลุ่มคน แต่ละภาค มีนัดกันไปดูผี จับผีที่บ้านผีด้วย ประหลาดดี นี่แค่วิชาเดียว แต่ที่เล่ามานี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำหนังเลย ที่คณะวิจิตรศิลป์มีวิชา Cinema Appreciation เราได้เรียนแล้วพบว่านี่แหละตอบโจทย์ ใกล้เคียงสุดแล้วกับสิ่งที่อยากเรียน เราจะโฟกัสที่การเรียนถ่ายภาพมากกว่า ส่วนเวลาเรียนที่คณะ สาขาวิชาหนังสือพิมพ์ ก็จะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการภาพให้กับหนังสือพิมพ์ “อ่างแก้ว” หนังสือพิมพ์ประจำสาขา ได้เขียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนข่าว จะทำสารคดีลงหน้ากลางของหนังสือพิมพ์มากกว่า [caption id="attachment_10360" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ จ๊ะเอ๋ - ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์[/caption]   The People: ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีให้เรียนสายโทรทัศน์ แต่ทำไมคุณเลือกเรียนสายหนังสือพิมพ์ ชนานันต์: ไม่ได้เลือกเรียนทีวี แปลกไหม (หัวเราะ) คือใจเราอยากเรียนหนัง แต่พอไปถึงจุดนั้น หนังสือพิมพ์มันเล่าเรื่องมากกว่า เราไปถามรุ่นพี่ว่าเรียนทีวีแล้วเป็นยังไง เรียนหนังสือพิมพ์เป็นยังไง ตอนนั้น มช. จะแบ่งสาขาที่เรียนเป็นเมเจอร์ หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ และโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อสารมวลชนท้องถิ่นมาก ๆ สมกับเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เราตัดประชาสัมพันธ์ออกไปเลยเพราะไม่ถนัด เหลือตัวเลือกระหว่างทีวีหรือหนังสือพิมพ์ สุดท้ายเรารู้สึกว่าหนังสือพิมพ์มีการเล่าเรื่องมากกว่า เราเห็นผลงานของรุ่นพี่ด้านหนังสือพิมพ์มันดูสตรอง เลยคิดว่าเรียนรู้ทางนี้น่าจะดี และถ้าเราเขียนได้ เล่าเรื่องได้ เราก็สามารถไปทำงานอะไรอย่างอื่นได้   The People: ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนยังอยู่กรุงเทพฯ คุณมีพื้นฐานเรื่องศิลปะบ้างไหม ชนานันต์: มี แต่น้อย ไม่ได้มีภูมิ ไม่ได้รู้จักใคร ไม่รู้ว่ามันเป็นอาชีพได้ด้วยซ้ำ เราชอบนะแต่ที่บ้านไม่มีเงินมาก พ่อแม่เคยพูดตามความคิดของเขาว่า “งานศิลปะมันเป็นงานอดิเรก ทำเป็นอาชีพจริง ๆ ไม่ได้หรอก” เขาหวังดีแหละ แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก เราไม่รู้ว่าเขาหวังดี เรารู้สึกว่าเขาบังคับ ส่วนงานทำหนังเป็นงานคนรวย “ต้องรวยถึงจะทำหนังได้” เขามองอย่างนี้เพราะเขาไม่รู้จักใครจริง ๆ เขารับรู้จากข่าวจากทีวี เขายังไม่รู้เลยว่าผู้กำกับหรือผู้สร้างคนไหน ใครทำอะไรบ้าง ไม่สามารถชี้แนะเราได้ แล้วครูแนะแนวในสมัยนั้นก็...  ไม่แน่ใจสมัยนี้เป็นยังไงนะ แต่สมัยนั้นถือเป็นความล้มเหลวของการศึกษาไทยมาก อาจพูดไม่ได้ว่าทุกคน แต่เพื่อน ๆ ที่ผ่านมือครูแนะแนวล้วนเจอกันมาไม่มากก็น้อย จำได้ว่าตอน ม.3 เราชอบวาดรูปมาก โรงเรียนก็สนับสนุน ส่งไปประกวดวาดรูปเรื่อย ๆ เคยไปวาดกำแพงที่โรงเรียนหอวังแล้วได้รางวัล ไปประกวดวาดรูปที่สมาคมฝรั่งเศสก็ได้รางวัล ชีวิตตอนนั้นเลยมีแต่เรียนหนังสือกับวาดรูป รู้สึกมีความสุขและหมกมุ่นมาก ไม่อยากทำอะไรนอกเหนือจากนี้แล้ว เราเลยถามครูว่า เราจะไปเรียนวิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) ดีไหม เพราะเรารู้ตัวว่าเราอยากเรียนศิลปะ ไม่อยากเรียนอะไรแล้ว เราถามพ่อแม่แล้วแต่เขายื่นคำขาดว่าไม่ให้เรียน ต้องเรียน ม.6 ให้จบแล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนคุณครูบอกว่า “เกรดเธอดี ได้ตั้ง 3.8 ทำไมจะไปเรียนช่างศิลป มีแต่เด็กเรียนไม่เก่ง คนที่เขาไม่รู้จะทำอะไรไปเรียนกัน” แต่มันไม่ใช่ไง ในความเข้าใจของเรา เราศึกษามาแล้วว่าถ้าจะเรียนศิลปะ เรียนช่างศิลปก็สามารถเรียนต่อปริญาตรีได้ แถมได้เรียนพื้นฐานทางศิลปะเพิ่มอีกด้วย เรารู้ตัวว่าอยากเรียนอะไร พอไปคุยกับคนที่จะชี้ทางเรา ก็ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีใครชี้ในทางที่เราคิดว่ามันดี เอาจริง ๆ ไม่รู้ด้วยนะว่ามันดีหรือไม่ดี เพราะสุดท้ายเราไม่ได้เลือกทางนั้น   The People: แล้วความสนใจเกี่ยวกับหนังมันมาตอนไหน ชนานันต์: อย่างที่เล่าว่ามีความคิดอยากเรียนศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตัดสินใจตั้งแต่อายุ 13-14 ปี แต่ความที่เดินไปแบบสะเปะสะปะ เลยเล่ายากว่าความสนใจมันเกิดขึ้นตอนไหน เราคิดเอาเองว่าหนังใกล้เคียงความเป็นศิลปะที่สุด แต่เราจะดูหนังจากทีวีเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ดูจากในโรง ถ้าจะดูในโรง พ่อแม่จะพาไปดูหนังฮอลลีวู้ดเสียส่วนใหญ่ ส่วนหนังไทยแทบจะไม่ได้ดูในโรงเลย แล้วพอตั้งใจว่าจะไปเรียนที่เชียงใหม่ แต่ไปถึงแล้วมันไม่มี ก็เจอว่าเรียนถ่ายภาพมันใกล้สุดแล้ว เราเลยไปทางนี้ มันเหมือนแตะ ๆ และคลำหาทางไปเรื่อย ๆ มันเริ่มมาชัดตอนอายุมากขึ้น มีงานทำ มีเงินเลี้ยงตัวเอง เราไม่ต้องไปขอเงินพ่อแม่ ถือว่าเราไม่ต้องทำตามสิ่งที่เขาต้องการแล้ว คือเราดื้อแต่เราก็แฟร์นะ คนจ่ายเงินเขาก็ได้ความสบายใจไป แต่เราก็ค่อย ๆ ขยับไปในทางที่เราอยากไปอยู่ดี พอเริ่มทำงานเป็นช่างภาพนิ่งได้สักพัก ความอยากทำหนังมันก็ยังอยู่ บวกกับมีโอกาสไปถ่ายภาพนิ่งในกองถ่าย ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าชอบอยู่ในกองถ่าย ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น งานถ่ายภาพนิ่งก็ชอบ แต่รู้สึกว่าไม่อยากทำงานคนเดียวหรือแค่ 2 คน เราชอบทำงานเป็นทีม ชอบแชร์กับคนอื่น เราก็พยายามหาความรู้ไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็นไปได้นะ จนได้ไปถ่ายภาพนิ่งให้กองหนัง เด็กหอ (พ.ศ.2549) พี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) เป็นผู้กำกับ แล้วมีพี่หญิง (นิรมล รอสส์) เป็นผู้กำกับภาพ พอเห็นพี่หญิงทำงานแล้วรู้สึกว่าถ้าเขาทำได้ ความฝันของเราก็น่าจะเป็นไปได้ การเห็นพี่หญิงทำงานเป็นตัวอย่าง มันเปิดโลกให้กับเรา ตอนแรกเรามีข้อแม้ตรงนี้แหละ เราปิดกั้นตัวเอง เราไม่เคยเห็นผู้หญิงเป็นผู้กำกับภาพ ไม่รู้จักใครเลย   The People: ถ้าอยากเข้าไปทำงานถ่ายภาพนิ่งในกองถ่าย คุณมีคำแนะนำไหมว่าต้องเริ่มยังไง ชนานันต์: ต่างคนต่างสถานการณ์กันนะ ของเราเองจับพลัดจับผลูมาก เคยทำงานประจำที่นิตยสาร Open แล้วก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ถ่ายรูปให้กับนิตยสาร Image, Open, ผู้จัดการ และอีกหลาย ๆ ที่ ตอนนั้นพี่โย (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) เป็นบรรณาธิการที่ Open มีพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) พี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) เป็น บก. ด้วย แล้วก็มีนักเขียนที่เราทำงานด้วยบ่อย ๆ คือ นราวุธ ไชยชมภู เป็นเพื่อนสนิทที่หนีบถุงผ้ากับแผนที่เดินลุยกรุงเทพฯ ไปขอฝึกงานที่นิตยสาร Open ด้วยกัน เราถ่ายรูปอยู่ในนั้น 3 ปี แล้วก็ออกมาก่อน Open ปิดประมาณหนึ่งปี แต่เรายังเป็นฟรีแลนซ์ประจำด้วย   The People: Open กลายเป็นตำนาน สร้างคุณูปการให้หนังสือหลายหัวเหมือนกันนะ ชนานันต์: ถ้ามองย้อนกลับไป การได้ทำงานหนังสือ ได้ไปนั่งฟังพี่หนึ่ง พี่โย สัมภาษณ์ เรารู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้นชีวิตและชีวิตการทำงานที่ดีมาก สำหรับเด็กที่เพิ่งเรียนจบใหม่ อยู่ ๆ ได้ไปนั่งฟังคนที่เป็นหัวกะทิของประเทศในหลากหลายวงการพูดหรือให้สัมภาษณ์ ช่วง 2-3 ปีนั้นไปนั่งฟังทุกวันเหมือนเราเรียนหนังสือ เหมือนไปฟังเลคเชอร์ เพราะ Open เป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาหลากหลาย มีทั้งศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ สังคม การเมือง มีเรื่องหนังบ้างประปราย บางทีพี่หนึ่งไปคุยสัมภาษณ์เรื่องชีวิตแล้วดื่มเบียร์กับคนนั้นคนนี้ คุยกับศิลปิน นักข่าว นักเขียน เราก็นั่งฟังไปด้วย รู้สึกว่ามันเป็นรากฐานที่ดีมากในการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าวิธีไหนก็ตาม วันนึงเราเคยถามพี่หนึ่งว่า "ทำไมพี่สัมภาษณ์ดีจังวะ พี่ทำให้คนนั้นคนนี้พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ออกมาได้ยังไง" พี่หนึ่งบอกว่า "เราก็อย่าพูดเยอะไง ถ้าพูดออกไปหมด เราจะไม่มีอะไรเขียน ก็นั่งฟังเขา ให้เขาพูดไปเรื่อย ๆ เป็นผู้ฟังที่ดี” เทคนิคพวกนี้ได้มาจากการติดตามและการทำงานของนักเล่าเรื่อง-นักเขียนทั้ง 4 คน ได้ซึมซับแง่คิดและวิธีการ คิดว่ามันมีส่วนสำคัญมากในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเรา  [caption id="attachment_10494" align="alignnone" width="610"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ Great Depression By Dorothea Lange[/caption]   The People: จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดว่าการสื่อสารของภาพนิ่งกับภาพเคลื่อนไหวแตกต่างกันไหม ชนานันต์: (คิดนาน) มีคนถามบ่อยมาก และแต่ละครั้งเราจะตอบไม่เหมือนกันเลย (หัวเราะ) เพราะแต่ละช่วงเวลาเราจะคิดเห็นต่างกันไป แต่ถ้าเอาวันนี้ตอนนี้นะ รู้สึกว่าไม่ต่างกัน ตอนทำภาพนิ่ง ถ่ายคอลัมน์สัมภาษณ์ ได้นั่งฟังคนเล่าเรื่องราวว่าชีวิตเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เราจะนั่งฟังเขาสัมภาษณ์จนเสร็จก่อนแล้วขอถ่าย เพราะเราอยากรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง เพื่อจะได้ดึงแง่มุมนั้นออกมา เราจะนั่งฟังไปเรื่อย ๆ แล้ววิเคราะห์ประเด็นของบทสัมภาษณ์นั้น ๆ ความรู้สึก บุคลิกภาพของเขาว่าจะถ่ายเป็นภาพประมาณไหน ถ้าเป็นงานภาพถ่ายศิลปะของเราเอง เราจะวางคอนเซ็ปต์ ทำภาพเล่าเรื่องออกมาเป็นซีรีส์ เป็นภาพรวมกันหลาย ๆ ภาพ ให้แต่ละภาพเล่าเรื่องในตัวมันเองในคอนเซ็ปต์นั้น เคยเอามานึกดู เวลาคิดงานภาพเป็นซีรีส์ มันเหมือนถ่ายหนังเหมือนกัน ใน 1 เฟรมภาพมี Mise-en-scène (การจัดองค์ประกอบภาพ) มีฉากหลัง เสื้อผ้า การแสดง มีคน ไว้ผมทรงนั้น มีสภาพอากาศแบบนี้ แสงแบบนี้ องค์ประกอบภาพมันอยู่ในช็อตนั้น เหมือนการถ่ายภาพนิ่ง เราเอาวิธีคิดมาใช้ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างภาพ The Great Depression (1936) เป็นภาพแม่กับลูกนั่งอยู่ เราดูแล้วทำไมเราถึงรู้สึก ทำไมภาพมันมีพลัง ถามว่าทำไมมันมีพลัง ทำไมมันเล่าเรื่อง ก็เพราะ Mise-en-scène เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่เล่าว่าเขาแร้นแค้น รูปร่าง ผิว อารมณ์บนใบหน้าและแววตาบอกว่า พวกเขาหมดหนทางไป อิริยาบถของคนในภาพ องศาของหน้าหรือการวางมือ ทุกอย่างล้วนเล่าเรื่อง เราเลยคิดว่ามันเหมือนเวลาถ่ายหนัง การกำกับภาพจะไม่ต่างกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือ เราต้องทำความเข้าใจว่าผู้กำกับอยากเล่าเรื่องอย่างไร บุคลิกของตัวละครในบทภาพยนตร์ อารมณ์ในแต่ละซีนจะเป็นไปในทิศทางไหน เราจะทำอย่างไรให้ภาพ แสงและสีช่วยเล่าความรู้สึกได้มากที่สุด ถ้าเราไม่ซีเรียสหรือจดจ่อกับเรื่องนี้เลย งั้นคนดูอยู่บ้านอ่านนิยายไม่ดีกว่าเหรอ ให้เขานั่งรถออกมาซื้อตั๋ว แล้วมานั่งอยู่ในห้องมืด ๆ ทำไม ภาพจำเป็นต้องมีส่วนในการเล่าเรื่อง แล้วถ้าไม่มีบทพูด หรือบางความรู้สึกมันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ การแสดงและภาพจะมีส่วนสำคัญมาก จุดนี้มันเหมือนภาพนิ่งเลย ไม่มีเสียง ไม่เคลื่อนที่ด้วยซ้ำ แต่ทำไมมัน move เราล่ะ เลยคิดว่าถ้าถามวันนี้ตอบวันนี้จะรู้สึกว่า ไม่ว่าภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว การเล่าเรื่อง เทคนิค วิธีการทำงาน องค์ประกอบต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน   The People: คุณเคยพูดว่าในการทำหนัง การกำกับภาพ งานออกแบบงานสร้าง (Production Design) สำคัญมาก ชนานันต์: ใช่ เรารู้สึกว่าเวลาทำงาน เราต้องทำงานร่วมกันเยอะมาก ต้องการความ sync และ involve ยิ่งถ้ามีเงินไม่มาก ไม่มีเวลา ยิ่งต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น ถ้าเราเชื่อในทฤษฎี Mise-en-scène อย่างเรานั่งอยู่ตรงนี้ มองเป็นภาพหนึ่งภาพ ข้างหลังมีลิฟท์กับไม่มีลิฟท์ก็ไม่เหมือนกันแล้ว แล้วลิฟท์สีอะไร เสื้อผ้าสีอะไร ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่องและความรู้สึกหมด อุปกรณ์ประกอบฉาก แม้แต่ปากกาที่ใช้ก็บอกบุคลิกกันคนละเรื่องแล้ว ภาพนิ่งไม่มีคำพูด ไม่มีเพลงช่วย ไม่มีอะไรเลย การเล่าเรื่องด้วยภาพต้องมีการออกแบบงานสร้าง และการเลือกสถานที่ด้วย เราต้องคุยกัน มันคือการทำงานเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ เราต้องคิดร่วมกันและสื่อสารกัน เพราะถ้าคิดแยกกันปุ๊บจะลำบากแล้ว มันจะไม่เป็นการกำกับภาพ กลายเป็นว่ามีอะไรก็ต้องถ่ายกันไป ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อย ๆ ซึ่งแก้บ่อยไม่ได้หมายความว่าจะเก่งขึ้นด้วย ถ้าทำได้เราจะทำงานกับผู้กำกับและโปรดักชันดีไซเนอร์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้องเข้าใจสถานที่หรือห้องถ่ายทำว่าเป็นแบบไหน ต้องรู้ว่าทำไมผู้กำกับถึงอยากได้ห้องสีนี้ นักแสดงรูปร่างเป็นยังไง สูงเท่าไหร่ แล้วเราก็จะรู้ว่าจะต้องคิดเฟรมหรือจัดไฟแบบใหน   The People: คุณยังเคยพูดอีกว่า ก่อนทำหนังทุกครั้ง ถ้าเป็นไปได้จะให้ผู้กำกับมาอ่านบทแบบอ่านออกเสียงให้ฟังก่อนเสมอ เพราะอะไร ชนานันต์: ใช่ ฟังติงต๊องไหม (หัวเราะ) บางทีก็ไม่กล้านะ เพราะเราไม่ได้สนิทกับผู้กำกับทุกคนมาก เขาจะมานั่งเสียเวลาอ่านทำไม เขาเอานักแสดงมานั่งอ่านบทแบบ read through กันไปแล้ว แต่ถ้าสนิทกันพอ ถ้ากล้าถามก็จะขอว่า “เธอพอมีเวลาสัก 2-3 ชั่วโมงอ่านบทให้เราฟังได้ไหม อ่านจนจบเลยนะ” อาจฟังดูตลก ไม่ค่อยมีคนทำกัน แต่เราเคยทำตอนกำกับภาพให้หนังของเพื่อน เราให้เพื่อนมาอ่านเพราะอยากรู้จังหวะของเขา ว่าตรงไหนในบทต้องรู้สึกยังไง หยุดตรงไหน เร่งตรงไหน เนิบ ๆ หรือลึกลับช่วงไหน ความรู้สึกในแต่ละฉากสื่อออกมาเป็นเสียงยังไง ไม่ต้องอ่านแล้วทำเสียงหล่อ “อ้าว เธอ” แบบนักแสดงก็ได้ (หัวเราะ) แต่อ่านไปเรื่อย ๆ ตามความรู้สึกของผู้กำกับจริง ๆ เพราะบางทีเราคุยกัน เขาบอกว่าอยากให้ฉากนี้เศร้า หม่นหมอง แต่หม่นหมองของเขากับเราไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร เราเชื่อว่าน้ำเสียง ความรู้สึก การถ่ายทอดออกมา มนุษย์มีจุดร่วมคล้ายกัน เราขอให้เขาอ่านไปเรื่อย ๆ ตามความรู้สึก แล้วเราก็จับตรงนั้นเอามาคุย มาแชร์กันว่าอยากมันออกมายังไง ประมาณนี้ใช่ไหม เราจะเข้าใจความรู้สึกของเขาจริง ๆ จะไม่งง ไม่ทะเลาะกัน เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างชัดเจนและเวิร์ค ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้กำกับจะทำตามคำขอนะ (หัวเราะ) แต่บางคนเราไม่กล้าขอ ถ้ารู้สึกว่าเขายุ่งเหลือเกิน จริง ๆ ยุ่งทุกคนแหละ แต่เราจะขอว่า “มาลองวิธีนี้ดูไหม ถ้าวันไหนว่างเรานัดกันมานั่งอ่านบทด้วยกันสักวัน แล้วคุยกันต่อ” คือเราอ่านบทรอบแรกมาแล้วแหละ รอบแรกอ่านเพื่อความบันเทิงเลย รอบที่สองอ่านกับผู้กำกับ รอบที่สามอ่านเพื่อทำงาน แตกบทและวิเคราะห์เป็นฉาก ๆ   The People: หลายคนมักพูดว่า คุณชอบถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติ ไม่จัดแสง จริงไหม ชนานันต์: ไม่ได้ชอบ (หัวเราะ) แต่คนมักคิดว่าพี่ชอบถ่ายแสงธรรมชาติ ทั้งที่จริงมันไม่ใช่แสงธรรมชาตินะ แค่ทำให้เหมือนแสงธรรมชาติ ใครจะไปถ่ายแสงธรรมชาติทั้งเรื่องได้ (หัวเราะ) คิวถ่ายมีอยู่เท่านี้  อย่างถ้ามีฉากถ่ายข้างนอกที่พอมีแสงธรรมชาติ เราอาจไม่ได้ใช้ไฟตลอด แต่ก็ต้องวางแผนเวลาถ่าย ดูองศาหรือทิศทางขึ้นลงของพระอาทิตย์ ต้องกรองแสง บังแสง สร้างเงา หรือกระทบแสงอาทิตย์ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แสงมันเข้ากับเรื่องและอารมณ์ภาพแต่ยังดูเป็นธรรมชาติ หลายครั้งต้องถ่ายในสถานที่ที่แสงในบ้านจริงมืดเลยก็มี ต้องถ่ายกลางคืนให้เป็นกลางวัน กลางวันให้เป็นกลางคืนก็บ่อย เพราะบางทีมีหลายปัจจัยให้คิวถ่ายไม่ตรงกับเวลาที่ควรจะเป็นเสมอไป ก็ต้องคุยกับผู้ช่วยผู้กำกับอย่างละเอียดเท่าที่สถานการณ์และเวลาจะอำนวย อย่างตอนที่ถ่ายฉากภายในของ The Third Wife คือมืดเลย ห้องที่ถ่ายขนาดเล็ก เราจะไม่เอาไฟอยู่ในห้องเลย ไฟจะอยู่ข้างนอกทั้งหมด เพราะถ้าจะให้เห็นแสงจันทร์เข้ามา แสงจันทร์มันไม่ได้อยู่ในห้องอยู่แล้ว มันส่องมาจากข้างนอก จะมาจากที่สูงกว่าหรือเรืองเข้ามา เราก็จัดแสงให้ดูเป็นธรรมชาติถ้าสไตล์หนังจะต้องเป็นหรือรู้สึกแบบนี้ เราทำได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง หลายครั้งที่มีนักวิจารณ์พูดถึงว่าเรา “painting ด้วยแสงธรรมชาติ” จะบ้าเหรอ เหนื่อยจะตาย (หัวเราะ) ใครจะไปถ่ายแสงธรรมชาติได้ทั้งเรื่อง จับไม่ได้ใช่ไหมล่ะ (หัวเราะ) คือแค่จะบอกว่าถ้าอยู่ในกองถ่ายจะรู้เลยว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะถ่ายหลายๆ ซีนด้วยด้วยแสงธรรมชาติ การถ่ายหรือการกำกับภาพคือการ manipulate สิ่งที่เรามีให้ได้อารมณ์และเล่าเรื่องแบบที่เราต้องการ เราไม่ได้ปล่อยคนเดินกลางแดดเฉย ๆ เราจัดแสง บังให้หน้าด้านหนึ่งให้เกิดเงา ไม่งั้นมันจะแบน จริงอยู่ว่าต้นกำเนิดของแสงมาจากธรรมชาติ แต่เราไม่ได้ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติ [caption id="attachment_10366" align="aligncenter" width="2037"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ The Third Wife (2018)[/caption]   The People: ทุกวันนี้เวลาดูหนัง เห็นการกำกับภาพในหนังของคนอื่น ตอนดูจะคิดไหมว่าถ้าเป็นฉันจะไม่ถ่ายแบบนี้ ชนานันต์: เวลาดูหนัง เราดูเพื่อความสนุกอย่างเดียวเลย เราจะตัดทุกอย่างออกไปหมด เราชอบแบบนี้มากกว่า ไม่งั้นเราจะไม่มีความสุขอีกต่อไป เรารักหนังเพราะสิ่งนี้ เรามีความสุขที่หนังดีพาเราไปกับมันแล้วเราลืมทุกอย่างไป หนังที่ดีมีมนต์ขลังตรงนี้ เราดูหนังได้ทุกแบบทุก genre นะ จะ Guardians of The Galaxy (2014), Knife in the Water (1962), Burning (2018) หรือ Mad Max: Fury Road (2015) ก็ชอบ An Elephant Sitting Still (2018) ก็สนุก ถ้าคนทำเล่าเรื่องเป็น เราจะไม่ค่อยดูหรอกว่าใครทำงานยังไงวิธีไหน ถ้ามีคนถามความคิดเห็นถึงค่อยมาระลึกแล้ววิเคราะห์ทีหลัง แต่เวลาดูเราจะไม่ค่อยคิด ถ้าดูแล้วมัวแต่คิด เราจะไม่ได้ตามตัวละคร ไม่ได้ตามหนังเลย เหมือนเสียเงินไปฟรี ๆ แล้วไม่ได้ความสนุกกลับมา อีกอย่าง อันนี้คิดเองคนเดียวนะ เรารู้สึกว่าคนทำหนังเขาตั้งใจทำมาให้ดูแทบตาย เรารู้ว่าการทำหนังมันเหนื่อยแค่ไหนตั้งแต่เริ่มเขียนบท เสนอบท หาเงิน จนมาถึงฉายโรง บางเรื่องชีวิตของทีมงานหลายคนวนเวียนอยู่ในนั้นเป็น 5 ปีหรือ 10 ปีก็มี  แต่เรากลับไม่ให้เกียรติพวกเขาเลย อย่างน้อยคิดว่าเราควรเริ่มดูด้วยใจที่เปิดและยอมจะให้เขาพาเราไป คือถ้าเริ่มดูอคติ เพื่อวิเคราะห์มาก่อนเลย เราไม่ค่อยสะดวกใจจะทำอย่างนั้น จริง ๆ ก็คิดนะว่าวิธีนี้ไม่ช่วยให้เราพัฒนาเท่าไหร่ แต่การปล่อยใจแล้วดูอย่างไม่คิดอะไรมากตั้งแต่ต้น มันบอกเราได้มากกว่าว่าหนังมันดีหรือไม่ ถ้ามันพาเราไปได้จนจบทั้งเรื่องโดยเราไม่หลุดไปคิดอย่างอื่นเลยแปลว่าหนังดี เราชอบ ดูเสร็จแล้วค่อยมาคิดวิเคราะห์ว่าทำไมมันเวิร์คก็ยังได้   The People: ถ้าไปดูเพื่อหา reference ถึงจะคิดเยอะกว่าปกติใช่ไหม ชนานันต์: คำว่า reference ก็น่าสนใจ ปกติเราไม่ได้เอา reference จากหนังมาใช้ ความคิดของเราคือ บางทีผู้กำกับพูดหรือคิดอะไรออกมาว่าช็อตนี้ควรจะถ่ายยังไง จะให้ความรู้สึกแบบไหน มันก็ไม่ได้เข้าใจกันตลอดเวลา หรือบางทีเข้าใจตรงกันแล้วแต่สื่อสารกันไม่ตรง เห็นไม่ตรงกันว่าควรจะเป็นประมาณไหน ส่วนใหญ่ที่ทำงานกันมา เขาไม่ได้บอกว่าจะเอาตาม reference นั้น ๆ นะ แต่เอามาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคุยกันมากกว่าว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร มันไม่ตรงหรอก มันเหมือนกับให้มีอะไรเป็นรูปธรรมมาคุยกันกับทีม เพื่อให้ไปคิดต่อ บางทีก็เอามาใช้เพื่ออธิบายว่า แบบนี้ไม่เอา แล้วผู้กำกับบางคนโคตรจะปกป้องมุมมองและงานของตัวเองเลย มีผู้กำกับที่หยุดดูหนังไปเลยพอใกล้จะต้องกำกับหนัง หยุดดูทุกอย่าง กลัวมีอะไรติดร่างติดหัวมา สมมติว่าเดือนหน้าจะเปิดกล้อง เขาจะหยุดดูหนังไปก่อน 2-3 เดือน เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะแอบชอบแล้วดึงส่วนนั้นส่วนนี้มาใช้โดยบังเอิญ   The People: แต่คุณไม่ได้กลัวขนาดนั้น? ชนานันต์: ไม่กลัว เราว่าเราพอจะแยกสมองได้ เลยบอกว่าเวลาดูหนัง เราไม่คิดเรื่องงานเลย เช่น ถ้าเจอฉากลองเทค (Long Take) เราไม่คิดด้วยซ้ำว่ามันเป็นฉากลองเทค นอกเสียจากว่าหนังแย่ เราจะเริ่มหาอะไรทำหรือคิดระหว่างทนดู “อ๋อ ถ่ายอย่างนี้” “อ๋อ จะพูดอย่างนี้” แต่ถ้าหนังดีหรือหนังที่เราชอบ เราจะร้องก็ร้องเลย มันจะเข้าไปอยู่ในเรื่องเลย เคยดูหนังจบแล้วเราหลุดเข้าไปอยู่ในนั้นไหม ในความรู้สึกเรา นั่นคือหนังดี ไม่ต้องคิดมากเลยว่ามันทำยังไง ถ้ามันพาเราเดินทางไปด้วยได้จนจบเรื่อง ขณะนั่งอยู่ในที่เงียบ มืด ชื้น ในโรงหนัง 2-3 ชั่วโมง หนังดีคือแค่นี้เลย แต่ถ้าเราดูแล้วมีเวลาคิด แสดงว่ามันพาเราไปไม่ได้ และถ้าเราเอาไปทำตาม มันก็คงจะออกมาไม่ค่อยดี จริง ๆ บนโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่หรอก แต่เราคิดว่าต้องพยายามทำงานให้ดีที่สุดท่ามกลางข้อแม้ของเวลา การแสดง อุปกรณ์ ให้ได้ อย่างน้อยก็ซื่อสัตย์ว่าเราไม่ได้ทำตามใคร แต่มันห้ามไม่ได้หรอก หนังมีไม่รู้กี่ล้านเรื่อง เทคนิคการถ่ายทำก็คล้ายเดิม หนีไปไหนไม่ค่อยพ้น ถ้าจะมองว่าต่อยอดก็ต่อยอด จะมองว่าลอกก็ลอก อยู่ที่เจตนาว่าตั้งใจลอกเลยรึเปล่า คนชอบคิดง่าย ๆ ว่าทำอย่างนี้แหละดี ชอบ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว แต่ทำแบบนี้ไม่ถูกต้องกับทั้งหนังและตัวเราเอง มันจะได้ทำแค่ตาม ๆ เขา ถ้าเราเคยดูมาแล้วคนอื่นเขาก็คงเคยดู แล้วหนังของเราจะน่าสนใจยังไง ถ้าคิดเองแล้วเกิดไปซ้ำก็ช่างมัน ถ้าจะเหมือนคนอื่นเพราะเราคิดเหมือนกันก็ไม่เป็นไร แต่เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอาเหมือนกันประมาณนี้แหละ เราไม่ได้ทำงานแบบนั้น   The People: ในมุมมองของคุณ เวลาถ่ายหนังชอบถ่ายด้วยกล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิทัลมากกว่ากัน ชนานันต์: สำหรับเราแล้วยังไงก็ได้ มันขึ้นอยู่กับหนังแล้วก็รสนิยมของผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ด้วย เราได้แต่เสนอขึ้นมาว่า เราคิดว่าอย่างนี้เหมาะกับหนัง ถ้ามันสมเหตุสมผลทั้งเรื่องเวลาและเงิน เหมาะกับความรู้สึกและสไตล์ของหนัง เราถ่ายได้ทั้งนั้น แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นภาพยนตร์ เราอาจสามารถสร้างสรรค์ไอเดียได้เต็มที่ มันก็มีข้อแม้ทางการเงินด้วย ถ้าถามว่าหนังใช้เงินน้อยเหรอ มันใช้เยอะทุกเรื่องแหละ ถึงจะเป็นหนังอินดี้ก็ใช้เยอะนะ ทุกวันนี้มีไม่กี่คนที่อยู่ได้จริงกับการทำหนังอินดี้อย่างเดียวหรอก ถ้าทำหนังแล้วไม่ใช้เงินเยอะแสดงว่ามีคนทำงานฟรีเยอะ จะมีอยู่บ้างที่เราช่วยเพื่อนทำฟรี บางทีเราก็จะคิดเรทแค่นี้ เงินน้อยแต่ช่วยเต็มที่ หนังอิสระทุนต่ำหลายเรื่องเกิดขึ้นได้เพราะมีหลายคนร่วมมือกัน อยากให้มันเกิดขึ้น เราเชื่อว่ามันต้องมีความหลากหลายทางศิลปะและภาพยนตร์   The People: คุณได้ทำหนังในหลากหลายประเทศทั่วโลก การทำงานในแต่ละที่มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ชนานันต์: มีทั้งต่างและไม่ต่าง วัฒนธรรมของคนแตกต่าง ภาษาด้วย ส่วนใหญ่เวลาไปทำงานต่างถิ่น คนมักจะถามว่าเรารู้หรือเข้าใจภาษาเหรอ จริง ๆ ไม่หรอก แต่พอไปมาหลายประเทศ ได้ทำงานกับคนหลากหลายชาติเยอะพอสมควร จนบางทีก็พอจะเข้าใจหรือรู้ว่าเขาพูดอะไรโดยไม่ต้องรู้ภาษาเขา ถ้าตั้งใจฟังและสังเกต จะพอเห็นว่าการแสดงออกหรือภาษากายน้ำเสียงคนเราจะใกล้กัน พวกคำศัพท์หนัง ศัพท์กองถ่ายก็ไม่ต่างกันนัก และเราอ่านบท เตรียมงานกับผู้กำกับมาก่อน เคยเข้าไปดูเวิร์คช็อปนักแสดงมาแล้ว ก็พอจะเข้าใจแต่ละซีนอย่างละเอียด หรือบางกอง เวลาเราไปในประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เราจะถามโปรดิวเซอร์ว่าเป็นไปได้ไหมถ้าจะขอผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant - PA) เพื่อจะได้แปลเวลาเราคุยกับทีมกล้อง ไฟ และทีมอื่นที่เขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ที่เวิร์คสุดคือหาผู้ช่วยที่มีความรู้เรื่องกล้อง เรื่องไฟ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่เรียนด้านการกำกับภาพ บางครั้งก็จะเป็นนักเรียนหนัง เขามาก็จะได้ค่าจ้าง ได้ศึกษางานระหว่างถ่ายทำ ได้ทำงานด้วยกัน เขาจะเป็นคนแปลติดต่อสื่อสารให้เราทั้งหมด รวมทั้งตอนซ้อม หรือตอนวางบล็อกกิ้ง   The People: แสดงว่าวัฒนธรรมไม่มีผลมาก แต่ภาษามีผลมากกว่า ชนานันต์: วัฒนธรรมไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ เพราะเราไปใช้เวลาและซึมซับเอาได้ บางที่จะเตรียมตัวนานหน่อย อย่างที่ประเทศเวียดนาม บังกลาเทศ และคีร์กีซสถาน เราไปแล้วจะใช้การเงียบและการสังเกต ไม่พูดอะไรมาก เราจะฟังและสังเกตจนพอจะเข้าใจได้ว่าอันนี้แปลว่า ใช่ ไม่ใช่ ดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ ซ้าย ขวา บน ล่าง คำง่าย ๆ ที่ใช้ประจำในการทำงานเหล่านี้ก็จะเรียนเร็วเลยใน 2 วันแรก พวกศัพท์หนังเวลาคุยกับช่างไฟ ทีมกล้องเป็นภาษาอังกฤษ ภาษากลางอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ผู้กำกับพูดอังกฤษได้เลยไม่มีปัญหา ยังไม่เคยทำงานกับผู้กำกับที่ไม่พูดภาษาอังกฤษนะ เพราะมันต้องสื่อสารกับผู้กำกับจริง ๆ ดีว่าเราไม่ต้องคุยกับนักแสดง เราแค่ต้องรู้ว่าจังหวะนั้นเขาพูดอะไร ฉากนี้เขาพูดถึงไหนแล้ว บล็อกกิงเป็นอย่างไรและต้องรู้ว่าผู้กำกับต้องการอะไรในฉากนั้น เอาจริงพอไม่ค่อยรู้ภาษา ก็ให้ผลดีเหมือนกัน พอเราไม่เข้าใจ เราเลยไปโฟกัสเรื่องความรู้สึก การเคลื่อนไหวของนักแสดงและเน้นจับภาพดวงตาของนักแสดงแทน เราว่าทำงานวิธีนี้น่าสนใจมาก ไม่ต้องเข้าใจว่าเขาพูดอะไรเป๊ะ ๆ แต่ถ้าการแสดงมันได้ Acting on Point แปลว่าเราเข้าใจว่าเขาพูดอะไร รู้สึกอะไรอยู่ ทีนี้การเคลื่อนกล้องมันก็จะไปด้วยกันเลย   The People: การมีโอกาสทำงานในหลากหลายประเทศ ให้ประโยชน์อะไรกับคุณบ้าง ชนานันต์: เปิดโลกทัศน์มากขึ้นแน่นอน ได้เปิดใจมากขึ้นด้วย ทำให้รู้สึกว่าทำงานที่ไหนก็ได้ ความมั่นใจเพิ่มขึ้น ไม่ค่อยกลัวแล้ว เดี๋ยวนี้ใครให้ไปถ่ายที่ไหนก็ไป ถ้าบทดีผู้กำกับน่าสนใจก็จะไม่คิดเยอะ ตอนแรกจะรู้สึกไม่มั่นใจ อย่างเรื่อง Seide (2015) ไปถ่ายที่คีร์กีซสถาน เราไม่ค่อยได้ยินเกี่ยวกับประเทศนี้มาก่อน ไม่เคยไป ไม่รู้จักภาษาของเขา ไม่รู้ว่าผู้คนเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าหน้าตาน่าจะประมาณคนมองโกล อาหรับบวกจีน รู้แค่นี้ พอผู้กำกับ เอลนูรา ออสโมนาลีฟว่า (Elnura Osmonalieva) ชวนไปถ่ายหนังสั้น เราก็อยากไปเพราะคิดว่าชีวิตนี้คงไม่น่าได้ไปที่นั่นหรอก แล้วก็ชอบเนื้อเรื่อง ชอบผู้กำกับด้วย ตอนเขาชวนไปถ่ายหนัง เอลนูร่า เพิ่งคลอดลูกคนที่ 3 ได้ 3 เดือน แล้วก็พากันบินไปถ่ายหนังที่คีร์กีซสถานเลย ถ่ายกันท่ามกลางหิมะ ขาวโพลนทั้งเรื่อง เวลาถ่ายก็ต้องพักกองให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง ตอนที่เขาชวน เราคิดว่าเราอยากไปช่วย อยากสนับสนุนเขา เขามีลูกอ่อนแต่มีความมั่นใจ ตัดสินใจทำอะไรอย่างนี้ เรานับถือเขานะ เราเชื่อว่าคนมีลูกสามารถทำหนังและดูแลลูกได้ดีไปด้วย เราเองอยากสนับสนุนความเชื่อในประเด็นนี้ เลยตัดสินใจไปถ่ายให้ พอไปถึงก็เตรียมงานกัน ไปดูสถานที่ถ่ายทำ ไปเจอนักแสดงที่ทีมงานทางนั้นเตรียมไว้ให้ แต่พอดูหมดแล้วผู้กำกับรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเป็นไปตามบทเลยหรือในหัวเขาเลย แล้วก่อนที่เราจะไปถึงไม่นาน หิมะก็ตกหนักจนขาวโพลนไปหมด เราสองคนนั่งรถกลับที่พักกันแบบงง มานั่งคิดปรึกษากันว่าจะเอาไงดี เขากลับไปคิดบทใหม่ แคสต์นักแสดงใหม่ ทำใหม่หมดเลยในเวลา 2 วัน แล้วเลี้ยงลูกไปด้วย ความยืดหยุ่นของเขาน่าทึ่งมาก เรายังคิดว่า โอ้โห นี้คงเป็นพลังของคนที่เลี้ยงลูก 3 คนสินะ เราเลยฮึด ปรับมุมมอง อะไรที่เป็นปัญหาก็มองมันใหม่ แล้วหนังมันออกดีมากด้วย เราชอบหนังเรื่องนี้มาก ได้ฉายและประกวดหลายเทศกาลใหญ่ ๆ อย่าง เทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance) เทศกาลหนังเวนิซ (Venice) และ แกลร์มง-แฟร็อง (Clermont Ferrand) ตอนที่ไปเตรียมงาน สิ่งที่กลัวและงงมากคืออะไรรู้ไหม พวกไฟ อุปกรณ์ถ่ายทำทุกอย่างเป็นภาษารัสเซีย เป็นของที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยใช้ไม่เคยผ่านตาเลย ทีมงานก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ พูดแต่ภาษารัสเซียและภาษาท้องถิ่น เราเลยใช้วิธีไปก่อนล่วงหน้า ใช้เวลา 3-4 วันไปขลุกอยู่กับทีมกล้องทีมไฟและอุปกรณ์ของเขา แล้วมีญาติของผู้กำกับพูดภาษาอังกฤษได้ก็มาช่วยแปล ของในตอนนั้นมีกล้อง RED Scarlet เก่า ๆ ตัวเดียวที่เป็นกล้องดิจิทัล ที่เหลือเป็นกล้องฟิล์มหมด เป็นกล้องรัสเซียตัวใหญ่ อุปกรณ์เสริมก็ต้องเอามาปรับเอามาประดิษฐ์ ประกอบขึ้นมากันใหม่บ้าง ส่วนไฟอย่างอื่นเราไม่รู้จักเลย ไปเรียนรู้อุปกรณ์ใหม่หมดตรงนั้น เสียบปลั๊กดูเลยว่าแสงออกมายังไง มีสั่นมีกระพริบมั้ย ใบคู่มือก็อ่านไม่ออกอีก แล้วพอผ่านงานนี้มาได้ก็ไม่กลัวอีกเลย เหมือนพอเคยเจองานหนัก แต่มันสำเร็จลุล่วงมาได้ จะไปทำงานที่กับใครเรารู้สึกว่าดีกว่าตอนนั้นตั้งเยอะ (หัวเราะ) ประสบการณ์นี้มันสร้างความมั่นใจให้เราว่าเราจะผ่านมันไปได้ ผ่านแบบมีคุณภาพด้วยนะ ไม่ใช่ผ่านแบบเละเทะ แต่หลัก ๆ เลยต้องเปิดใจ ต้องใจเย็นมาก เพราะพอมันไม่ได้มาตรฐานที่เราเคยชิน เราจะเอาวิธีการทำงานเดิม มาวัดไม่ได้ว่ามันควรจะเป็นยังไง [caption id="attachment_10365" align="aligncenter" width="1777"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ Seide (2015)[/caption]   The People: เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณใน The Momentum พูดถึงเรื่องการโดนเหยียด ทั้งการเหยียดเชื้อชาติ (racist) กับการเหยียดเพศ (sexist) ปัจจุบันนี้ยังเจออยู่ไหม ชนานันต์: ในบทสัมภาษณ์นั้นเราพูดถึงตอนที่ไปอยู่อเมริกา แต่ที่เมืองไทย คนไทยโคตร racist เลย อย่างการเรียกคนจีนกดคนจีนว่าไอ้เจ๊ก หรือเรื่องคนผิวดำ ถามว่าคนไทยโอเครึเปล่า ก็ไม่โอเค คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเองยังกลัวมาก เวลาคนแอฟริกันอเมริกันมาอยู่เมืองไทย จะระแวงหรือดูถูกอยู่ เรามีเพื่อนที่สนิทมากคนนึงเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเคยมาสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย ตอนนั้นเขาเรียนมหาวิทยาลัยอยู่แล้วปิดเทอมช่วงซัมเมอร์ เลยอยากมาเที่ยวมาทำงาน เขาเล่าให้ฟังเรื่องประสบการณ์ในประเทศไทยช่วงสั้น ๆ ว่า “ประเทศเธอโคตร racist เลย เจอมากับตัวตอนไปสมัครสอนภาษาอังกฤษตามโรงเรียน จะไม่ค่อยมีใครอยากรับเมื่อเทียบกับคนขาว” เพราะโรงเรียนจะอยากได้ครูฝรั่งผิวขาวมาสอนมากกว่า โรงเรียนคิดว่าภาพลักษณ์โรงเรียนจะดูดีกว่า ผู้ปกครองจะสบายใจมากกว่า เขาเล่าว่าบางที่รับครูสอนภาษาอังกฤษจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักมาสอน แค่เพราะเขาผิวขาว จริงอยู่ว่าคนนั้นอาจจะพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้ แต่เขาไม่ได้ใช้เป็นภาษาหลัก ขณะที่เพื่อนเป็นคนอเมริกันใช้ภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิต กลับไม่โดนเลือกเพราะสีผิวเขา มันก็น่าคิดนะ   The People: แล้วในวงการหนังโดยทั่วไปมีการ racist ไหม ชนานันต์: ถ้าในกองถ่ายเมืองไทยไม่ค่อยมีอะไรนะ เพราะไม่มีคนชาติอื่นเท่าไหร่ แต่ถ้าในอเมริกามีแน่นอน แต่สถานการณ์ดีขึ้นมากแล้วในช่วง 10 กว่าปีก่อนหน้านี้เราแทบไม่เห็นหนังที่กำกับโดยคนแอฟริกันอเมริกัน หรือคนต่างชาติเลย อาจเห็นอยู่นิดหน่อยอย่าง สไปค์ ลี (Spike Lee) หรือ อั้งลี่ (Ang Lee) แต่ก็มีไม่กี่คน น้อยมาก ทำไมถึงน้อย เพราะเขาไม่ฉลาด ไม่เก่งเหรอ ไม่ใช่ไง แค่ไม่มีการหยิบยื่นโอกาสให้ต่างหาก เราได้เห็นแล้วว่าทุกวันนี้มันกำลังเกิดขึ้น มันน่าตื่นเต้นมาก มันกำลังจะดีและหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้กำกับที่เป็น minority (คนกลุ่มน้อย) เป็นคนผิวสี ไม่ว่าจะผิวเหลืองหรือดำ เอเชียนอเมริกันเยอะขึ้น แล้วไม่ใช่แค่ผู้กำกับ แต่นักแสดงก็ด้วย อย่างตอนนี้มีดราม่าเรื่อง แอเรียลผิวสี ใน Little Mermaid เวอร์ชั่นใหม่ใช่ไหม คือก็ไม่เข้าใจว่ามันเป็นปัญหายังไง (หัวเราะ) นางเงือกก็จะผิวสีไหนก็ได้หรือเปล่า เดือดร้อนกันทำไม   The People: minority ที่ว่ารวมผู้หญิงด้วยไหม ชนานันต์: ใช่ ในความคิดเรารวมทุกอย่างที่ไม่ได้เป็นคนที่มีอำนาจในมือ ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เราคิดว่าอาจจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากแต่เข้าไม่ถึงอำนาจและทรัพยากรนะ แต่ที่เราพูดอย่างนี้ไม่ได้โจมตีคนผิวขาวหรือผู้ชายนะ เรารู้สึกว่าเวลาพูดเรื่องนี้ เราต้องพูดให้ทุกคนมีทางออก ไม่ใช่แค่โจมตี ตราหน้าว่าไอ้นี่ racist ไอ้นี่ sexist อย่างเดียว บางคนเขาแค่เกิดมาขาวแต่เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เรื่องพวกนี้เป็นปัจเจกเหมือนกัน พอเราไม่ได้เป็นคนอเมริกัน เราก็จะพูดแบบกลาง ๆ แต่เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะเรื่องอะไร ถ้ามีความขัดแย้ง มีคนไม่ได้รับความเป็นธรรม เวลาพูดคุยหรือถกกัน ควรต้องเปิดใจกว้างด้วย พอพูดกันเรื่องแบบนี้ เราควรพูดกันด้วยความคิดเห็นอย่างเดียว ไม่ต้องใส่อารมณ์ หรือกดดัน เกลียดชัง ไม่ได้เหรอ เข้าใจว่าต่อสู้กันมานาน ย่อมมีอารมณ์รวมอยู่ด้วยเยอะ แต่มาถึงขณะนี้มันพิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย จะไม่พูดคุยกันเลยปัญหาก็ไม่ไปไหน คือบางทีต้องฟังเยอะ ๆ และพูดคุยกันโดยให้ทางออกกับอีกฝ่ายด้วย บางครั้งถกกันแล้วเห็นว่าความคิดเขาก็ดีนะ จะเถียงแพ้บ้างก็ได้ แต่ให้มันได้ข้อสรุปที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยน่าจะดีเสียกว่า ที่ฮอลลีวูดตอนนี้เริ่มปรับตัวแล้ว มันคือการให้ทางออกต่อกัน ไม่ใช่แค่โจมตีสตูดิโออย่างเดียวว่าทำไมไม่มีผู้กำกับผิวสีมากขึ้น ทำไมไม่มีนักแสดงผิวสีมากขึ้น คือโจมตีได้ แต่ไม่ใช่โจมตีแบบไม่สร้างสรรค์ ไม่ใช่โจมตีเพื่อบอกว่าเราโดนกดขี่มาตลอด เพราะฉะนั้นจงไปซะ แล้วการที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้นก็มีส่วนทำให้สตูดิโอรับคำวิจารณ์โดยตรง รวมถึงบางเรื่องก็มีผลกระทบกับรายได้อย่างเห็นได้ชัด คนดูมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น พวกเขาต้องการความหลากหลาย อย่างพ่อแม่ผิวสีก็ไม่ได้อยากให้ลูก ๆ ของตัวเองรู้สึกด้อยค่า เพราะเห็นแต่หนังยกย่องที่วีรบุรุษผิวขาว ยกย่องความงามว่าต้องผิวขาวหุ่นเพรียว ส่วนคนผิวสีได้รับแต่บทผู้ก่อการร้าย ไม่ก็ขโมยขโจร อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกาเริ่มเข้าใจแล้วว่า ความหลากหลายมันขายได้ และเป็นหนทางของความอยู่รอดในกระแสคลื่นของ media disruption ในเมื่อพวกสตูดิโอใหญ่ไม่สามารถผูกขาดตลาดอีกต่อไป เขาก็ต้องปรับตัว ต้องฟังคนดูมากขึ้น และพยายามเข้าใจมากขึ้นว่าการเล่าเรื่องโดยผู้กำกับหรือผู้กำกับภาพที่มีความหลากหลายมีความสำคัญอย่างไรต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ หรือแม้แต่การตลาด [caption id="attachment_10362" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ จ๊ะเอ๋ - ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์[/caption]   The People: ตอนมีกระแส #MeToo เวลาคุณทำงานในกองถ่าย เคยโดนคุกคามทางเพศด้วยไหม ชนานันต์: ไม่มี ไม่เคยมีประสบการณ์นั้นตรง ๆ เพราะถ้ามีเราคงฉะตรงนั้นเลย คงไม่รอให้มาเป็นเรื่องทีหลัง แต่เคยได้ยินหลายคนเล่าให้ฟังบ่อย ส่วนตัวแล้วพอเรียนจบแล้วก็ไม่ค่อยมีใครกล้าทำอะไรนะ เราเรียนรู้ว่าเราจะต้องตาแข็ง ไปที่ไหนก็จะชัดเจนไปเลยว่าเราไม่ยอมเรื่องอย่างนี้ ถ้าเกิดอะไรขึ้น คนที่ทำเราจบไม่สวยแน่ เราว่าคนพวกนี้รู้สึกได้ว่าอย่าไปยุ่งกับมันเลย แต่ตอนเด็กอยู่เมืองไทยก็เจอบ่อยนะ ตอนกลับจากโรงเรียน มีเหตุตามรถเมล์ ตามตลาด เรากลับบ้านกับเพื่อนก็เจอบ้าง วันนั้นนั่งรถเมล์แล้วเราหลับอยู่ริมหน้าต่าง มาตื่นเพราะเพื่อนที่นั่งข้างเราร้องไห้ เราเด็กกันมากก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องทำยังไง เพื่อนก็ตกใจไม่กล้าปลุกเรา ไม่กล้าทำอะไร ไอ้คนร้ายก็ยิ่งได้ใจ เราตื่นมาเห็นก็ตะโกนให้คนช่วย มันเลยวิ่งหนีไป โตมามีเพื่อนผู้หญิงหลายคนเปิดใจเล่าเรื่องทำนองนี้ให้ฟังเยอะมาก ทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน ที่บ้าน มันน่าตกใจนะ เหมือนไม่มีที่ไหนปลอดภัยเลย   The People: #MeToo เป็นข้อดีทำให้ผู้หญิงในวงการหนังปลุกความเท่าเทียมกันขึ้นมา ว่าผู้หญิงไม่ใช่แค่พลเมืองชั้น 2 ต่อไป ชนานันต์: #MeToo พูดเรื่องการโดนกดขี่ พูดถึงการคุกคามทางเพศ ในฮอลลีวูดมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คนที่มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีเงิน คนที่เราเคยได้ยินตามข่าวกดขี่คนอื่น บางคนโดนรังแก โดนผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพูดได้ ถ้าเธอพูดออกมา อาชีพก็จบ เพราะทุกคนนับถือเขาคนนี้หมด หรือคนนี้มีผลประโยชน์กับหลายคนในวงการ เรารู้สึกว่ามันรุนแรง มันต้องแก้ปัญหา แล้วทุกคนเห็นตรงกันว่ามันต้องถูกแก้ไข แต่ก็มีพวกโหนกระแส ไม่ได้โดนจริงเยอะเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ดูจากหลักฐาน คนในวงการรู้จักกันหมดแหละ เรารู้สึกว่าดีที่มีกระแสหรือมีการรณรงค์แบบนี้ พวกที่เห่ออำนาจจะสงบเสงี่ยมมากขึ้น ให้เกียรติกันมากขึ้น ที่ผ่านมาทำงานแบบไม่ให้เกียรติกันเลย ใครมีอำนาจก็ใช้อำนาจในทางมิชอบ คนที่เข้ามาใหม่ ๆ จะนักแสดง, ผู้ช่วยกองถ่าย หรือเด็กฝึกงาน เท่าที่เคยได้ยินมาก็โดนกันเยอะ แต่สาย DP หรือผู้ช่วยกล้องที่เป็นผู้หญิง ยังไม่ค่อยได้ยินนะ อาจเพราะก็มีกันน้อยด้วย   The People: ส่วนใหญ่คุณจะทำหนังต่างประเทศเป็นหลัก แล้วไม่อยากถ่าย อยากทำหนังไทยบ้างเหรอ ชนานันต์: อยากถ่ายมากเลย (หัวเราะ) แต่ยังไม่มีใครชวน อยากทำ ทุกวันนี้มีงานอยู่เรื่อย ๆ ที่ลอส แองเจลิส อยากถ่ายหนังไทยมากนะ แต่รู้สึกว่ายังเข้าไม่ถึง อาจจะเพราะหนังไทยมีไม่เยอะ แล้วผู้กำกับเขาก็มีตากล้องคู่ใจที่เขาสนิท ทำงานด้วยกันแล้วออกมาดีอยู่แล้ว เราว่าการทำงานมันอยู่ที่ความสัมพันธ์ด้วย ผู้กำกับและช่างภาพต้องรู้จักรู้ใจกันระดับหนึ่งเลย ก็เลยคิดว่าหรือเพราะเราไม่ค่อยรู้จักใครด้วยมั้ง แต่ก็ยังมองหาโอกาสด้วยใจจดจ่อนะ (หัวเราะ)   The People: ทุกวันนี้คุณมีลูกด้วยแล้ว วางแนวทางการเลี้ยงลูกควบคู่ไปกับการทำงานอย่างไรบ้าง ชนานันต์: ไม่รู้เลย ทุกวันนี้ก็มีคนถามว่าทำงานด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยแล้วจะบริหารจัดการยังไง เราก็ไม่รู้สิ บางทีอาจจะคิดผิดก็ได้ แต่ถ้าตอบวันนี้ มันก็เป็นความคิดที่ดีที่สุดที่เราพอจะทำได้ในสถานการณ์แบบนี้ ตอนลูกเล็ก ๆ เพิ่งหย่านม เราไปถ่ายหนังที่บังกลาเทศ 2 เดือน แล้วให้สามีกลับมาเลี้ยงลูก อยู่เมืองไทยมีแม่เราช่วย พอเราถ่ายเสร็จก็กลับมาเลี้ยงลูกต่อ เรารู้ว่าตอนนี้เราไม่สามารถอยู่โดยไม่ทำงานได้ เราคุยกับสามีแล้วว่าเราอยู่บ้านเลี้ยงลูกเฉย ๆ ไม่ได้นะ ถ้าได้มันจะดีมากเลยเพราะเราคิดว่าเด็กทุกคนคงต้องการแบบนั้น ตอนเป็นเด็กเราก็ชอบที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยทุกวัน แต่สำหรับเรา ย้ำนะว่าแค่เรา ถ้ามีลูกแล้วเราไม่ได้กลับไปทำงาน ลูกคงจะได้แม่ที่เครียด แม่แบบขมขื่น เศร้า ๆ ร้าย ๆ ไม่มีความสุข ไม่มีประโยชน์กับลูกเราแน่ ๆ สู้ออกไปทำงานทำสิ่งที่เรารักแล้วแบ่งเวลาให้ดีที่สุดจะดีกว่า ความสุขของลูกสำคัญนะ สำคัญที่สุด เราคิดว่าสิ่งที่เราให้ได้คือต้องบาลานซ์ให้ดี ถ้าเรามีความสุขลูกก็จะมีความสุข ทำยังไงก็ได้ให้บาลานซ์โดยไม่เห็นแก่ตัว ทำงานจนลืมนึกถึงลูก เลยคุยกับสามีว่าต้องผลัดกันรับงาน ต้องมีพ่อหรือแม่อยู่กับลูกเวลาที่คนใดคนหนึ่งไปทำงาน ไม่ใช่ทิ้งลูกไว้กับยายหรือพี่เลี้ยง แล้วไปทำงานกันหมดเลย ต้องอยู่ให้ได้โดยไม่มีพี่เลี้ยงกันเอง จะเหนื่อยก็เหนื่อยไป   The People: อยากให้เขาโตมาในระบบไหน ชนานันต์: ตอนท้อง เราอยู่เมืองไทยก็คลอดที่เมืองไทย เพราะว่าสามีทำงาน ไปถ่ายหนังที่เมืองอื่นบ่อย ๆ เราอยู่บ้านคนเดียว เกิดอะไรขึ้นจะไม่มีใครรู้หรือช่วยได้ กลับมาอยู่กับพ่อแม่ดีกว่าอย่างน้อยเกิดอะไรขึ้นยังมีคนอยู่ที่บ้านด้วย พอคลอดแล้วสักพักก็ย้ายไปอยู่แอลเอกัน อยู่ที่นั่นเราสองคนมีงานทำ แล้วพ่อแม่ ญาติสามีอยู่ที่นั่น ยังพอกันช่วยกันเลี้ยงลูกได้ อย่างเช่น ถ้าวันไหนมีประชุมพร้อมกันปุ๊บก็จะขอให้แม่สามีช่วยดูสัก 3-4 ชั่วโมงได้ไหม แล้วจะรีบกลับมารับ มันก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ใจจริงอยากกลับไปอยู่นิวยอร์คเหมือนเดิม ชอบนิวยอร์คมากกว่านะ เพราะไม่ชอบขับรถ แอลเอมันกว้าง จะไปไหนต้องขับรถไกลมาก แต่ข้อดีคือมีแหล่งธรรมชาติเยอะ ใกล้ทะเล ใกล้ชายหาด ถ้าอยู่นิวยอร์คจะไปเที่ยวแบบธรรมชาติแต่ละทีต้องวางแผน แต่ที่นี่เราไปได้เลย [caption id="attachment_10363" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ เส้นทางที่หล่อหลอมเด็กหญิงผู้รักศิลปะ ให้กลายเป็นผู้กำกับภาพระดับอินเตอร์ จ๊ะเอ๋ - ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์[/caption]   เรื่องโดย: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย ผู้ร่วมสัมภาษณ์: สหธร เพชรวิโรจน์ชัย ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior) ขอบคุณสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) สำหรับสถานที่ถ่ายภาพและสัมภาษณ์ และ Purin Pictures ที่จัดงาน เสวนา Roundtable ในหัวข้อ The Female Cinematographer's Eye ว่าด้วยการเป็นผู้กำกับภาพหญิงเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา