สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ

สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ
“ถ้าเป็นศิลปิน ตัวเราเป็นศิลปินทั้งตัว ทั้งวิญญาณก็เป็นศิลปิน คุณทำอะไรออกมาก็หนีศิลปะไม่พ้น” นี่คือคำพูดของ ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปีพุทธศักราช 2557 ศิลปินไทยผู้พำนักอยู่ในอัมสเตอร์ดัม และใช้ชีวิตควบคู่กับการทำงานศิลปะทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ตลอดระยะเวลา 60 ปี  เขาเริ่มชีวิตศิลปินโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างงาน realistic แล้วพัฒนาไปสู่ abstract art ครั้นระยะเวลาผ่านไปถึงวัย 80+ เขาเปลี่ยนไปสู่การทำงานดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์ และพัฒนาผลงานเชิงทดลองการพิมพ์อิงค์เจ็ทดิจิทัลแบบมีเพียงชิ้นเดียว ซึ่งผลงานชุดนี้เพิ่งนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘80+’ ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาครบรอบอายุปีที่ 80 ของตัวเอง The People จึงชวนเขาคุยในฐานะศิลปินที่ทำงานอยู่กับศิลปะมาตลอดชั่วชีวิต และลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ   The People: ย้อนกลับไปเมื่ออาจารย์ยังเด็ก ศิลปินหรือศิลปะสมัยนั้นมีภาพลักษณ์อย่างไรบ้าง ชวลิต: สมัยเด็กคำว่า “ศิลปะ” ยังไม่เกิดเลย คนยังไม่รู้ว่าศิลปะเป็นอย่างไร อย่างในโรงเรียนเขาก็สอนแค่วิชาวาดเขียน เรียกว่าวิชาวาดเขียนเลยเพราะไม่มีใครรู้จักศิลปะ จนผมได้เข้ามาเรียนที่ศิลปากรจึงได้ยินคำว่าศิลปะเป็นเรื่องเป็นราว  เมื่อก่อนคำว่าศิลปะมันเพี้ยนมาก เป็นศิลปะของการเดินบ้างล่ะ ศิลปะของการกินบ้าง ศิลปะของการโหนรถเมล์ก็มี คือมันใช้ผิดหมด เพราะฉะนั้นสมัยเด็กยังไม่มีคำว่าศิลปะจริง ๆ   The People: เมื่อยังไม่มีคำว่าศิลปะ อาจารย์รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองอยากเป็นศิลปิน ชวลิต: รู้เพราะเราทำอย่างอื่นไม่ได้ ชอบเขียนรูปมาเรื่อย ๆ ไม่มีทางจะไปอย่างอื่นได้เลย เรียนหนังสือก็ไม่ชอบ ภาษาก็ไม่เอา คิดเลขก็ไม่เป็น เขียนแต่รูปอย่างเดียว มันเป็นการชี้ชัดแล้วว่าทำอย่างอื่นไม่ได้ ตอนนั้นมันยังไม่มีศิลปินมากนัก มีแต่ เหม เวชกร คนเดียวที่รู้จัก สมัยนั้นพอจะจบ ม.6 ก็คิดแล้วว่าจะเรียน ม.7 ม.8 ต่ออาจจะไปไม่รอด ก็เลยตัดสินใจว่าจะเรียนปั้นดินหรือเรียนดนตรีต่อดี ชอบทั้งสองอย่าง แต่ก็เลือกไปเรียนปั้นดินกับครู แกชื่ออาจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์ ประติมากรรม ประจำปี 2529) อาจารย์ไพฑูรย์คงเห็นแววว่าเราชอบทำงานศิลปะ เขาก็แนะนำให้ไปเรียนต่อศิลปากร ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ ฝรั่ง (ศิลป์ พีระศรี) สร้างโรงเรียนศิลปศึกษาหรือวิทยาลัยช่างศิลปสมัยนี้ ท่านสร้างไว้สำหรับเด็กที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เราอยู่รุ่น 5 เราก็เลยได้เจออาจารย์ไพฑูรย์ ไปฝึก drawing ด้วย และได้พบกับอาจารย์ศิลป์ครั้งแรก  สมัยก่อนอาจารย์ฝรั่งคุมทุกอย่างทั้งโรงเรียนและมหา’ลัย เป็นเผด็จการ ทุกอย่างท่านสั่งได้หมด คนนี้เข้าผ่านได้เลย คนนี้ตกท่านให้ผ่านได้ คนนี้ผ่านแต่ท่านไม่ให้เรียนก็ได้ เพราะสิทธิจะอยู่ที่ท่านคนเดียว    The People: อาจารย์ศิลป์ดุไหม ชวลิต: ดุสำหรับคนไม่ทำงาน แต่ท่านจะใจดีมากและอารมณ์ดีมากสำหรับเด็กที่ขยัน เพราะชีวิตของอาจารย์ศิลป์ก็คือศิลปะเท่านั้น ท่านไม่ได้รักใครชอบใครเป็นพิเศษ แต่ท่านจะรักคนที่ขยันทำงานเท่านั้นเอง    The People: มีคนบอกว่า อาจารย์ศิลป์ทำงานจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต จริงไหม ชวลิต: อาจารย์ศิลป์ทำงานเกือบทุกวัน ท่านบอกว่าวันนี้ต้องไปทำงานนิดหน่อย ท่านก็ไปทำงาน ท่านยังแบกงานไปทำที่โรงพยาบาลด้วย งานเอกสารต่าง ๆ เพราะฉะนั้นท่านทำงานจนวินาทีสุดท้ายอยู่แล้ว    The People: อะไรคือความรู้ที่มีคุณค่าที่สุดจากการเรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี  ชวลิต: จริง ๆ แล้วความรู้ที่ได้จากอาจารย์ศิลป์ เราจะหาจากที่ไหนก็ได้ อ่านหนังสือก็ได้ แต่สิ่งที่ได้จากอาจารย์ศิลป์ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว เราจะได้ความศรัทธาในศิลปะ เราจะได้ความเชื่อมั่นในการเกิดมาทำงานศิลปะ อันนั้นสำคัญมาก เพราะเราทำงานศิลปะแล้วไม่เชื่อมั่น คุณก็จะทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ คุณไม่ทุ่มเทเต็มที่หรอก และคุณจะไม่ยอมเอาชีวิตคุณเข้าไปเสี่ยง อาจารย์ศิลป์ท่านอยู่กับศิลปะ ชีวิตท่านเป็นศิลปะ เวลาที่อยู่กับท่าน เราจะเหมือนได้รับพลังจากท่าน อันนี้เราไปเรียนกับคนอื่นไม่ได้ คนอื่นไม่มี อาจารย์ศิลป์ท่านรักศิลปะทั้งชีวิต ตัวท่านก็เป็นศิลปะทั้งชีวิต ท่านศรัทธาศิลปะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นท่านเชื่อศิลปะ ท่านก็สอนให้เราเชื่อศิลปะ คือ ‘ก่อนอื่นนายต้องรักศิลปะ นายต้องศรัทธาศิลปะ ไม่อย่างนั้นก็ออกมาทำงานอย่างอื่น’  สมัยก่อนเขาไม่ได้เรียนเพื่อเอาปริญญาเหมือนสมัยนี้ อาจารย์ศิลป์ก็ไม่ได้สอนให้คนได้ปริญญา ท่านสอนเพื่อให้คนเป็นศิลปิน พอปี 4 ขึ้นไปท่านจะคัดแต่คนที่ทำศิลปะเพื่อเตรียมตัวเป็นศิลปิน ปริญญาไม่ต้องพูดถึง ไม่เกี่ยว และทุกคนก็คิดแบบเดียวกัน ทุกคนจะเข้าปี 4 เพื่อเตรียมตัวเป็นศิลปิน ไม่มีใครคิดถึงเรื่องปริญญาเลย คือเรียนเพื่อทำศิลปะ อันนั้นแหละคือพวกลูกศิษย์ได้จากอาจารย์ศิลป์ แบบอาจารย์ อินสนธิ์ วงค์สาม, อาจารย์ ทวี รัชนีกร พวกนี้ได้รับส่วนนี้มา ถึงได้มีชีวิตอยู่ได้กับศิลปะจนแก่ตาย เพราะว่ามันฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตวิญญาณ สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ   The People: เราจะสร้างความรู้สึกศรัทธาต่อศิลปะได้อย่างไร ชวลิต: ต้องดูงานเยอะ ๆ ดูงานดี ๆ แล้วต้องทำงานไปด้วย  เมืองไทยขาดตัวอย่างที่ดี ขาดตัวอย่างที่จะมองศิลปะแล้วขนลุก แบบว่า โหย... ชาตินี้ไม่มีอะไรในโลกอีกแล้วที่จะล้ำเลิศกว่าศิลปะ แต่ถ้าคุณไปเมืองนอก คุณจะเห็นของจริงที่ทำให้เกิดความศรัทธา ถ้าคุณยังอยู่เมืองไทย คุณไม่ศรัทธาหรอก อาจารย์ศิลป์ถึงได้พยายามสนับสนุนให้คนไปเมืองนอกไง คืออยู่เมืองไทยเราไม่กล้าเสี่ยงหรอก เรียนจบแล้วก็รับงาน รับจ็อบ รับอะไรไป เป็นศิลปินแล้วไม่ร่ำรวย ไม่มีชื่อเสียง แล้วก็อาจอดตาย ถ้าคุณไม่มีศรัทธา คุณก็จะไม่รอดตรงนี้แล้ว คุณก็จะเริ่มไปทำข้าราชการ ข้าราชการก็มีกฎบ้าบอเยอะแยะไปหมด คุณสร้างงานศิลปะไม่ได้หรอก คุณจึงต้องไปเห็นสิ่งที่ทำให้คุณเชื่อศิลปะ  สมมติไปเมืองนอกแหงนดูที่ แซ็งต์-ชาแปล (La Sainte-Chapelle) โอ้โห มันไม่ใช่ธรรมดาแล้ว อันนี้คือศิลปะ คุณเข้าไปในริกส์มิวเซียม (Rijksmuseum) อัมสเตอร์ดัม และคุณไปเจอ แร็มบรันต์ (Rembrandt) ไปยืนอยู่หน้า The Night Watch คุณจะรู้ว่าพระเจ้ามีจริง จะรู้ทันทีเลยว่าไม่มีอะไรในโลกนี้อีกแล้วที่สำคัญสำหรับการที่เราเกิดมาชีวิตเดียวมากไปกว่าศิลปะ หรือว่าคุณไปดูโบสถ์ใหญ่ ๆ อย่าง เดอ โรจน อาสนวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral) คุณมองขึ้นไปพระเจ้าอยู่บนนั้น เพราะฉะนั้นคืองานศิลปะก็เหมือนพระเจ้า  คนที่เชื่อถือศาสนา เขาก็ต้องศรัทธาเต็มที่ ต้องเชื่อพระเจ้า คนที่เป็นศิลปินก็ต้องเชื่อศิลปะ ถ้าไม่ศรัทธา คุณไปไม่รอด ใจคุณครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพราะศิลปะเราทำเพื่อตัวเราคนเดียว เราไม่ทำอวดใคร เราปิดห้องแล้วทำงาน ไม่ใช่ไปเดินถนน แล้วก็อวด ทำท่าทาง ศิลปินไม่ใช่ acting แต่คือคนสร้างงานศิลปะ  อย่างสมัยผมไปทำงานที่ฮอลแลนด์ ผมทำงานกินเงินรัฐบาล คือรัฐบาลจ้างเราทำงาน เขาให้เงินอย่างเดียว ผมไม่เคยเห็นกรรมการเลยแม้แต่คนเดียว คือเขาไม่จำเป็นต้องดูคุณทำงาน คุณจะเมาเหล้า จะเกเรยังไงก็ได้ เขาดูที่งานอย่างเดียว เขาไม่เอาเรื่องส่วนตัวเข้าไปปน   The People: ต่างประเทศมีทุนทางศิลปะมากมาย ทำไมตอนนั้นอาจารย์ถึงเลือกรับทุนเล่าเรียนจากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ชวลิต: มันเป็นเหตุบังเอิญ พอสิ้นอาจารย์ศิลป์แล้วความรู้ในเมืองไทยมันไม่มี เพราะฉะนั้นมีอยู่ทางเดียวคือเราต้องเผ่น ทุกคนต้องออกเมืองนอกหมด ตอนนั้นเราก็อยากไปอิตาลี นิวยอร์ก ปารีส ลอนดอน อยากไปหมดนั่นแหละ แต่ทีนี้ทุนจากอิตาลีมันยังไม่ได้ ทุนที่อื่นก็ยังไม่มา เราไปเจอทุนฮอลแลนด์เข้าโดยบังเอิญก็เลยสมัคร แต่เราสมัครไปผิดทุน เป็นทุนเกษตร ท่านอุปทูตเขาก็อยากรู้ว่าทำไมเราอยากไปฮอลแลนด์มากขนาดนั้น เราก็บอกว่าฮอลแลนด์ดีมาก มีแร็มบรันต์, มอนเดรียน (Piet Mondrian), ฟาน ก็อกฮ์ (Van gogh) อยากดูมากเลย ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์เราก็ได้ทุนฟรีเลย ติดเอง ไม่ต้องไปสอบ ไม่ต้องแข่งกับใคร อาจจะเป็นดวงเราก็ได้ที่ต้องไปฮอลแลนด์  แต่ทุนเรียนมันสนับสนุนแค่ไม่กี่ปี ฉะนั้นเราจึงหาทางอยู่รอดแบบอื่นต่อ ก็ไปเจอโครงการอุปถัมภ์ศิลปิน ซึ่งศิลปินต่างชาติอย่างเรามีสิทธิ์ได้ในกรณีพิเศษ เพราะทุนนี้เขาก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ศิลปินดัตช์ไม่อดตาย เขาคงได้บทเรียนสมัย ฟาน ก็อกฮ์ ที่ปล่อยให้ตายแล้วตอนหลังมาใช้ประโยชน์จากเขา หาเงินจากงานได้เป็นล้าน ๆ เขาก็เลยเริ่มสร้างศิลปินยุคใหม่ สนับสนุนตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่รอให้อายุ 80-90 แล้วเพิ่งให้รางวัลศิลปินแห่งชาติเพราะคุณอยู่รอดมาได้เอง แต่ฝรั่งเขาไม่รอ สนับสนุนตอนที่ศิลปินยังมีไฟมีแรง  พอหมดทุนแรก เราก็ทำงานสารพัด เป็นกรรมกรขนทิวลิป ทำฉากละคร ทำหมดทุกอย่างเพื่อเอาเวลาเสาร์-อาทิตย์ไปทำงานศิลปะเพื่อเสนอขอทุน ช่วงนั้นลำบากมาก เรามีเงินน้อย แต่เรารู้เป้าหมายว่าไม่ยอมตาย ถ้าฝรั่งทำได้ เราก็ต้องทำได้ ถ้าตอนนั้นใจไม่แข็งจริง ไม่เชื่อในศิลปะ หรือไม่ศรัทธาในศิลปะ คงกลับบ้านแล้ว  เสนอครั้งแรกไม่ผ่าน ผมก็เอาใหม่ ทำงานอีก 6 เดือนแล้วเสนออีกครั้ง สุดท้ายเขาก็รับ เราก็สบาย เงินเดือนเข้ามา ทำงานอย่างเดียว มีบ้านให้อยู่ มีห้องทำงานให้ทำ แล้วก็อยู่ในระบบของรัฐบาลดัตช์หลายสิบปี เป็นโอกาสให้เราสร้างเนื้อสร้างตัวได้    The People: ช่วงเวลานั้นอาจารย์มีแนวคิดในการทำงานศิลปะอย่างไร ถึงยังทำงานต่อเนื่องทุกวัน ชวลิต: สมมติว่าคุณประสบความสำเร็จ คนชอบและซื้องานคุณแล้ว พอจะเปลี่ยนสไตล์คนมักตามไม่ทัน ถ้าศิลปินไม่มีความแข็งพอก็จะแพ้แล้วกลับไปทำงานแบบเก่าที่ขายได้ เขาจะไม่กล้าแหวกแนวทำอะไรเลย  ศิลปินบางคนที่อยู่ได้เพราะงานขาย พอสร้างงานใหม่ ๆ พักเดียวก็เบื่อแล้ว ทำไปสัก 3 – 4 เดือนงานยังไม่ลงตัวแต่เงินหมด ก็ต้องกลับไปทำงานเก่าที่คนเขาซื้อ อันนี้เป็นการทำลายความก้าวหน้าของงานศิลปะ ในเมืองไทยเราเห็นเยอะเลยที่ศิลปินทำงานมา 30 ปีไม่เปลี่ยน เขียนอะไรก็เขียนอยู่อย่างนั้นเพราะขายได้ ไม่กล้าจะทำอะไรที่หลุดออกไป เราเห็นเยอะแต่ไม่อยากเอ่ยชื่อหรอก เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา (หัวเราะ)    The People: นั่นจึงเป็นเหตุผลให้อาจารย์ทำงานหลากหลายรูปแบบ รวมถึงปัจจุบันที่ทำงานศิลปะจากคอมพิวเตอร์ด้วยหรือเปล่า ชวลิต: ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องห่วงเรื่องการขายรูป ไม่ต้องห่วงว่าคนชอบหรือไม่ชอบ เพราะว่าเป้าหมายของรัฐบาลมีการเก็บงานต่างกัน เขาซื้อหรือเก็บเพราะกรรมการมีความรู้ เขาไม่ได้เอารสนิยมส่วนตัวเข้าไปในงานศิลปะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร เขาดูอย่างเดียวว่างานดีหรือไม่ดี ถ้าห่วยก็ไม่เอา หรือถ้าเปลี่ยนสไตล์แล้วงานพัฒนา เขาก็เอา ผมเลยไม่มีการควบคุมสไตล์ตัวเอง ผมไม่เคยแคร์ว่าต้องเขียนงานแบบนี้แล้วคนจะได้จำได้ ไม่ใช่! ไม่เกี่ยว เราทำงานเพื่อตัวเราเอง ถ้าเราทำงานออกมาจากใจ มันก็ต้องเป็นเราอยู่วันยังค่ำ หนีไปไหนไม่พ้นหรอก  ทีนี้ความคิดความรู้สึกของคนเรามันเปลี่ยนไปเยอะ แต่ละช่วงวัยมันแตกต่างกัน ตอนคุณอายุ 20 คุณจะคิดเหมือนคน 40 ไม่ได้ คน 50 เองก็จะไปคิดเหมือนคน 20 ได้ยังไง เพราะฉะนั้นแล้วเราทำงานอะไรออกมา ถ้าเป็นตัวเราเองจริง ๆ เราไม่ต้องไปห่วงหรอกว่าจะออกมายังไง ถ้ามันมาจากเรา ออกมาได้ดีแน่นอน  ผมผ่านมาหมดแล้วทั้ง 20, 30 หรือ 40 สิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวพันอยู่ลึก ๆ ในจิตใต้สำนึกของเรา อยู่ในมันสมองของเรา อยู่ในความจำของเรา  สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ   The People: อาจารย์เรียนรู้การสร้างงานศิลปะบนคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร ชวลิต: ผมเป็นศิลปินประเภท abstract และเรขาคณิต เราจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันมีเหตุผล มีฟังก์ชัน และผมชอบ space ชอบจังหวะ ผมเลยทำงานสถาปัตย์ได้ ผมก็เลยเอาพวกนี้มารวมกัน ทีนี้พอรวมกันมันก็เข้ากับเทคนิคคอมพิวเตอร์ง่าย แล้วผมเคยทำงานในห้องมืดมาก่อน ผมเลยมีพื้นฐานเป็นช่างพิมพ์ เป็น graphic artist ทำงานพิมพ์ด้วย พอมาถึงยุคคอมพิวเตอร์มันก็หลักเดียวกัน คอมพิวเตอร์ทำอะไรก็ได้ ยิ่งเป็นเหลี่ยมเป็นอะไรยิ่งง่าย ผมก็เลยเอาคอมพิวเตอร์มาพัฒนางาน พิมพ์แล้วเอาไปเพนท์ต่อ เพราะงานที่พิมพ์จากคอมพิวเตอร์บนแคนวาสมันไม่พอใจ มันไม่แน่น ดูเป็นงานฉาบฉวย  พอเริ่มอายุมากขึ้น ผมก็มอบงานทั้งหมดให้รัฐบาลไทย แล้วตอนนั้นผมก็หยุดทำงานแล้ว หยุดสร้างของจริง เพราะเตรียมตัวตายแล้ว ผมไม่คิดจะสร้างสมบัติอีกแล้ว มันรกบ้าน ปัญหาของศิลปินคือทำแล้วไม่รู้จะเอาไว้ที่ไหนถ้าไม่มีใครซื้อ แต่ไป ๆ มา ๆ อายุ 80 เรายังไม่ตาย ก็เลยคิดว่าเราจะมานั่งรอทำไม เราอยากจะทำงานให้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว ผมก็เลยเริ่ม เอาใหม่ ตายก็ตาย แล้วก็ไปซื้อเครื่องพิมพ์ขนาด A2 มา ทำงานพิมพ์ 4-5 ครั้ง พิมพ์ให้เหมือนเพนท์ จริง ๆ แล้วการเพนท์ทับก็คือการพิมพ์นั่นแหละ เทคนิคทุกอย่างมันก็เหมือนเพนท์ติงตลอด คอมพิวเตอร์ทำได้ จะทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ เรามาเจองานนี้ซึ่งเหมาะสมกับวัย มันไม่หนักและไม่ต้องปีนบันไดอีกแล้ว ไม่ต้องเหม็นสีอีกแล้ว เพราะศิลปะไม่ใช่เทคนิค ไม่ใช่เพนท์ติง ไม่ใช่การพิมพ์ ไม่ใช่หิน ไม่ใช่ปูน ไม่ใช่ไม้ มันอยู่ที่ตัวศิลปิน วัสดุเป็นแค่ส่วนซัพพอร์ต แต่ถ้าคุณทำศิลปะไม่เป็น  คุณใช้วัสดุอะไรมันก็ไม่เป็นศิลปะ ถูกไหม   The People: แต่มันจะมีคำพูดว่า “อะไร ๆ ก็เป็นศิลปะ” ชวลิต: ไม่จริง คืออะไร ๆ ก็เป็นศิลปะได้ แต่อยู่ที่คนทำ ไม่ใช่อะไรก็เป็นศิลปะ คือขยะก็เป็นศิลปะได้ ถ้าศิลปินทำเป็น เมื่อ 10 ปีมานี้ขยะก็เป็นศิลปะเยอะมาก แล้วคนเราก็ยอมรับด้วย คือจะเป็นศิลปะอะไรก็ตาม ผมไม่เคยปฏิเสธ แต่ผมมีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบ เท่านั้นเอง  แต่ถ้าเราเป็นศิลปิน ตัวเราจะเป็นศิลปินทั้งตัว ทั้งวิญญาณ คุณทำอะไรออกมาก็หนีศิลปะไม่พ้นหรอก เรามีทุกอย่าง มีทั้งพลัง มีทั้งจิตใจ มีทั้งจินตนาการ มีทั้งความรู้ มีทั้งพื้นฐาน สร้างอะไรก็เป็นศิลปะ สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ   The People: การอยู่ต่างประเทศมาหลายสิบปี อาจารย์มองเห็นการสนับสนุนของรัฐบาลต่างประเทศแตกต่างกับไทยอย่างไรบ้าง ชวลิต: มากกว่าเยอะ! ต่างประเทศเขามีเงินและมีทุนเยอะแยะไปหมด มีศิลปินทุกวัยตั้งแต่เป็นรุ่นเยาว์ รัฐบาลก็ซื้อผลงานเข้ามิวเซียมเยอะมากในแต่ละปี ถ้าเทียบกับศิลปินแห่งชาติมีทุนแค่แสนสองแสนแล้วก็ไม่ซื้อรูปเลย  ต่างประเทศมีเงินหลักสิบล้าน ทุก ๆ ปีจะซื้องาน และทุกมิวเซียมซื้อหมดทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นศิลปินจะอยู่ได้จากสิ่งเหล่านี้  รัฐด้วย เอกชนด้วย แล้วยังมีกฎหมายที่ทุก ๆ ราชการต้องเป็นงานศิลปะ 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นศิลปินจะมีรายได้จากข้างนอกเยอะมาก มันถึงอยู่ได้    The People: แล้วในบริบทคนที่เสพศิลปะล่ะ มีความเข้มข้นมากน้อยขนาดไหน ชวลิต: มันอยู่ที่การศึกษา เด็กทุกคนถูกพาเข้าไปหาศิลปะทุกคน คุณไปถาม 3-4 ขวบ รู้จักแร็มบรันต์ทุกคน มันไปมิวเซียมหมดแล้ว  เราต้องเข้าใจว่ามนุษย์ในโลกมีหลายอาชีพ ไม่ใช่ทุกคนเกิดเป็นศิลปิน บางคนเป็นหมอ เป็นนักเขียน เป็นคนทำงานสำนักงานอะไรก็ตาม ศิลปินเป็นเพียงแค่อาชีพเดียว แต่เวลาสอนศิลปะ เขาทำให้คนเข้าใจว่างานศิลปะมีไว้สำหรับมนุษยชาติ ไม่ได้มีไว้สำหรับศิลปินอย่างที่คนไทยเข้าใจ เพราะฉะนั้นเขาจะพาเด็กไปชินกับศิลปะว่ามันมีค่า และจะได้รู้ว่าคนไม่ได้เกิดมาเป็นศิลปิน อย่าไปเอาอย่างเขา ต่อไปคุณอยากเป็นหมอ เป็นบัญชี เป็นนักกฎหมายก็ได้ แต่ทุกคนต้องเคารพศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครกล้าเหยียดหยามศิลปะ ไม่กล้าดูถูกศิลปะ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นเวลาศิลปะเติบโต มันโตจากคนทั้งประเทศที่มีความรู้ทางศิลปะ  มันประกอบด้วยหลาย ๆ อย่างนะ สิ่งแวดล้อมเมืองก็เช่นกัน ต่างประเทศเมืองมันสะอาด เป็นระเบียบ เป็นดีไซน์ไปหมดทุกอย่าง คนที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้มีพื้นฐานทางศิลปะที่ดีตาม แต่คนไทยมันถูกขยะทางธรรมชาติ ทางสิ่งแวดล้อม ทำลายประสาท ทำลายสุนทรียะ เป็นขยะทางจิตใจ ขยะทางตา ดูอย่างตึกสูง คุณอาจจะไม่สนใจ คุณชิน ความเคยชินมันอันตรายมาก มันทำให้เราหมดอาลัยตายอยากโดยไม่รู้ตัว  แต่เราจะไปเทียบกับเมืองนอกทุกอย่างสะอาดสะอ้าน และเด็กพวกนี้มันโตขึ้นมากับการอยู่กับศิลปะ วันเสาร์อาทิตย์พ่อแม่ก็พาไปพิพิธภัณฑ์ ลูกเพื่อนของผมทุกคนทำอาชีพอื่นหมดเลย แต่ทุกคนรู้ศิลปะหมด แปลกมาก และที่สำคัญที่สุดเขาไม่เคยดูถูกศิลปะ มีแต่คนเลวคนบ้าเท่านั้นที่ดูถูกศิลปะ   The People: เท่าที่ฟังมา อาจารย์มองว่าศิลปะสำคัญต่อชีวิตคน? ชวลิต: แน่นอน ศิลปะช่วยทุกอย่าง คือศิลปะมันเหมือนศาสนา ถ้าคุณเข้าไปอยู่ศาสนาศิลปะ คุณจะไม่มีความแข็งกระด้าง คุณจะไม่อยากฆ่าใคร คุณจะไม่อยากรบกับใคร สงครามก็จะหมดไป เหยียดผิวก็จะไม่มี ชนชั้นวรรณะก็จะไม่มี มนุษย์ก็จะเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน  คนที่เข้าใจศิลปะจะรักส่วนรวม เห็นแก่ส่วนรวม ทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม ความเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลง รัฐบาลที่มันโกง ๆ กันอยู่ ก็เพราะมันเอาแต่ส่วนตัวเท่านั้น มันไม่ทำอะไรเพื่อส่วนรวมเลย มันคิดแต่ตัวเองก่อน ตัวเองรวยก่อน ครอบครัวตัวเองรวยก่อน ไม่เคยแคร์เรื่องชาวบ้าน พอเราไปพูดก็กลายเป็นสังคมนิยม ความจริงมันไม่ใช่ มันเป็นทุกชาติ แต่เมื่อคุณเข้าไปถึงศิลปะแล้ว คุณจะเข้าใจตรงนี้มากขึ้น เป็นประชาธิปไตย มีมนุษยธรรม เพราะว่าศิลปะมันทำให้คนเข้าใจแก่นสารของชีวิต เข้าใจไปถึงความไม่ยั่งยืน เข้าใจถึงว่าอะไรยั่งยืน อะไรไม่ยั่งยืน อะไรที่ไม่ควรหลง  เมื่อเข้าใจศิลปะแล้ว คุณจะมองตัวคุณไม่สำคัญเท่าไรหรอก คุณแค่สะเก็ดหนึ่งเท่านั้นเอง ความเย่อหยิ่ง ความมีเกียรติยศ มันจอมปลอมทั้งนั้น เดี๋ยวคุณก็ตายหมด แต่ศิลปะมันยังอยู่ คุณจะขับรถคันละล้านหรือ เป็นผู้จัดการ หรือเป็นทูตหรือ เดี๋ยวคุณก็ตกกระป๋อง คุณเป็นนายกหรือ... เดี๋ยวก็ผ่าน แต่ศิลปะมันยังอยู่ นายกรัฐมนตรีผ่านมา 10 คน ไม่มีใครจำชื่อได้แล้ว ลงหลุมไปหมด แต่แร็มบรันต์และฟาน ก็อกฮ์ ยังอยู่ทุกวัน... ยังมีคนจำได้    The People: อาจารย์มองศิลปะเป็นศาสนา? ชวลิต: เป็นศาสนาหนึ่ง อาจารย์ฝรั่งก็สอนตลอดเวลาว่า ศิลปะเป็นศาสนาหนึ่ง ถ้าเผื่อเรามีศาสนาอยู่แล้วจะเอาศิลปะไปเป็นศาสนาที่สองก็ไม่เสียหายอะไร แต่เวลานี้ผมเกือบจะมีศาสนาเดียวอยู่แล้วคือศาสนาศิลปะ แต่ศาสนาพุทธยังมีอยู่ เพราะยังเชื่อธรรมะอยู่ ยังเชื่อพระพุทธเจ้าอยู่  สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ The People: ศาสนาศิลปะมีนิพพานไหม  ชวลิต: ผมไม่แคร์เรื่องนิพพาน ไม่มีทางไปนิพพานหรอกถึงไม่แคร์ (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะมีนะ ไม่รู้เหมือนกัน คือไม่ได้ศึกษาขนาดนั้น เพราะไม่รู้ว่าจะนิพพานไปทำไม เพราะว่าผมเอาชีวิตตอนนี้ เอาลมหายใจตอนนี้ให้คุ้มค่ากับงานศิลปะ ตายไปแล้วก็ช่างมัน ไม่ได้สนใจ จะเป็นผีเป็นอะไรก็ช่างเถอะ แต่สำคัญอยู่ที่วันนี้ทำงานศิลปะแล้วมีความสุข ทำประโยชน์ให้คนอื่น พอแล้ว สั้น ๆ แค่นี้จบ    The People: อาจารย์ได้วางแผนความสุขก่อนตายหรือเปล่า ชวลิต: ความสุขคือได้ศิลปะ แต่ถ้าพูดถึงการประสบความสำเร็จ คือการประสบความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เหมือนกับว่าความพอใจของแต่คนก็ไม่เหมือนกัน บางคนบอกล้านหนึ่งพอแล้ว อีกคนบอกสิบล้านไม่พอ ร้อยล้านไม่พอ หมื่นล้านไม่พอ ความสุขของผมไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลย ความสุขของผมคือการได้ทำงานทุกวัน เป็นงานที่ผมรักโดยที่ไม่เป็นขี้ข้าคนอื่นเขา คราวนี้ความสุขกับความสำเร็จมันคืออันเดียวกัน    The People: ในวัย 80+ อาจารย์มีความหวังอะไรกับศิลปินรุ่นใหม่บ้าง ชวลิต: ต่างชาติไม่มีปัญหาหรอก จบไปเลย แต่ศิลปินไทยเดี๋ยวนี้มีเยอะขึ้น ปีหนึ่งจบเป็นพันเป็นหมื่น มันก็ไปไม่รอด ที่ไปรอดก็ล้มลุกคลุกคลาน ผมก็คิดว่าศิลปินไทยจะล้มลุกคลุกคลานไปตลอดชาติ ฟันธง สมัย 30 ปีที่แล้วผมหวัง ตอนผมออกไปจากเมืองไทยมันเละเทะมาก ผมกลับมาก็คิดว่ามันกำลังดีขึ้น มีนักการเมืองรุ่นใหม่น่าจะดีขึ้น อ้าว...ฝูงเก่ากลับมาอีกแล้ว จบ  บ้านเมืองแทนที่จะเก็บไว้ มันก็ทำลายหมด สมัยก่อนต่างจังหวัดสวยนะ พอกลับไปอีกทีห้องแถวขึ้นเต็มเลย ไม่เคยทาสี ปล่อยเน่า เสาไฟฟ้าก็รก เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ผมถึงบอกว่าทางสุนทรียะมันถูกทำลาย แถมความจำเป็นทางสังคมมากขึ้น เกียรติยศมันมากขึ้น คนมันก็อยากรวยมากขึ้น เห็นแก่ตัวมากขึ้น คราวนี้ศิลปินมันอยู่ในสังคมเดียวกัน มันแยกไม่ได้    The People: สมมติมีเด็กวัยรุ่นสักคนมาบอกอาจารย์ว่า “อยากเป็นศิลปิน” อาจารย์จะแนะนำอย่างไร ชวลิต: ก็ทำศิลปะ ถ้าคุณรักศิลปะจริงก็ทำไป มีเด็กคนหนึ่งในฮอลแลนด์ อายุ 20 กว่า ๆ มาปรึกษาผม ถามว่ามีวิธีไหนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ผมบอก ไอ้บ้า! (หัวเราะ) อายุ 20 เองจะให้ประสบความสำเร็จแล้ว ยังไม่ไปไหนเลย ศิลปะยังไม่รู้เลยว่าคืออะไร จะอยากสำเร็จอะไรหนักหนา คุณทำศิลปะไปสิ อีกหน่อยก็มาเอง ศิลปะมันยิ่งทำ ยิ่งเห็น สัมภาษณ์ ชวลิต เสริมปรุงสุข เมื่อศิลปะคือศาสนา ความศรัทธาคือการทำงานด้วยตัวและวิญญาณ