สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ

สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ
ภัณฑารักษ์ หรือ curator อาจเป็นอาชีพที่ไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไปเท่าไหร่ แต่ในวงการศิลปะ ภัณฑารักษ์นับเป็นอาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในฐานะเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ คอยดูแล กำกับ และรักษาศิลปะนั้น ๆ ในเชิงอนุรักษ์ จัดแสดง ผ่านการทำงานร่วมกับศิลปิน ลูกตาล - อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ หรือที่คนในวงการเรียกเธอว่า “มาม่า” เป็นภัณฑารักษ์อิสระแห่ง Kinjai Contemporary กล่าวถึงอาชีพตัวเองไว้อย่างน่าสนใจว่า “หน้าที่จริงของภัณฑารักษ์คือการบันทึกประวัติศาสตร์ว่า ศิลปินหรืองานใครสักคนควรได้รับการจดจำในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงการอนุรักษ์ด้วยเช่นกัน” ไม่เท่านั้น ล่าสุดเธอยังมีนิทรรศการ “The Unspoken Word” เล่าเรื่องราวความเสียดายในชีวิตของคน 16 คน ผ่านภาพถ่ายและถ้อยคำสารภาพออกมาในรูปแบบนิทรรศการศิลปะเชิงสังคมศาสตร์ เป็นเหมือนการสำรวจความเป็นมนุษย์ในศตวรรษของเรานี้ The People จึงชวนเธอมาคุย เพราะถ้าไม่ได้คุยวันนี้ เราเสียดายแย่ [caption id="attachment_8837" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์[/caption]   The People: อาชีพภัณฑารักษ์อิสระ มีขอบเขตหน้าที่อะไรบ้าง อาภาพัชร์: เฉพาะที่ Kinjai Contemporary เรามีหน้าที่ดูการจัดแสดงต่าง ๆ คุยกับเจ้าของแกลเลอรีว่าใน 1 ปีเราจะจัดโชว์อะไรบ้าง ทิศทางของแกลเลอรีจะนำเสนองานประมาณไหน ศิลปินที่คัดเข้ามาจะเป็นยังไง แล้วก็ช่วยจัดโชว์ เราจะเรียกศิลปินมาคุยตั้งแต่แรกว่างานคุณเป็นแบบไหน คุณจะพัฒนาเป็นโชว์ได้อย่างไร เราก็จะทำงานร่วมกับศิลปินเป็นหลัก ยกตัวอย่าง งานที่แล้วชื่อนิทรรศการ Beyond Autism ของยายเพิ้งกับนายพราน ยายเพิ้ง (จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ) เป็นเพื่อนที่คณะจิตรกรรม ส่วน นายพราน (ธนัฐ สุวรรณภัฏ) เป็นน้องชายซึ่งเป็นออทิสติก เขาจะทำงานร่วมกันมาตลอด แววดีมาก เราก็เลยเชิญมาแสดงงานเดี่ยว แล้วก็พัฒนางานกับเพิ้งไปเรื่อย ๆ เราเข้าไปคุยกับนายพราน ไปทำความรู้จักเขา ไปดูกระบวนการทำงาน ช่วยเซ็ตงาน สัมภาษณ์ เรียกว่าทำทุกอย่างเลย เรารู้สึกว่าตัวเองเป็น artist supporter ไม่อยากเรียกตัวเองเป็น curator กระดากปาก (หัวเราะ) เพราะรู้ว่าตัวเองยังไม่เก่ง คำว่า curator ยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา ยังไม่อยากเรียกตัวเองแบบนั้น เขิน...   The People: ทำไมคุณถึงสนใจมาทำงานในวงการศิลปะ อาภาพัชร์: ตั้งแต่จำความได้เราก็วาดรูปแล้ว เราเป็นหลานผู้หญิงคนแรกของครอบครัวฝั่งแม่ เราก็จะโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มีแต่คนที่สูงอายุกว่าเรา คุณตา คุณยาย คุณน้า คุณพ่อ คุณแม่ ไม่มีเด็กเลยตอนนั้น แล้วแม่ก็ให้เราดูการ์ตูนดิสนีย์ตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นการ์ตูนดิสนีย์แบบซับไทยนะ ฟังภาษาอังกฤษ เราก็จะร้องเพลงตาม วาดรูปอะไรของเราไปเรื่อย เหมือนเห็นอะไรก็อยากวาดออกมา วาดกระจุกกระจิก วาดการ์ตูนตาหวาน วาดเซเลอร์มูน พอโตขึ้นเข้าเรียนโรงเรียนราชินี เรียนหญิงล้วนมาตลอดชีวิต 14 ปี ไม่ได้เป็นเด็กป็อป ค่อนข้างจะเป็นเด็กเนิร์ดการ์ตูน จะมีชมรมชื่อ Manga Kingdom เราก็อยู่กับเพื่อน วาดการ์ตูนญี่ปุ่น พอ ม.ปลาย เราเลือกสายศิลป์-ญี่ปุ่น พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกสอบศิลปากร เพราะแม่มีอิทธิพลมาตั้งแต่เด็ก พาเดินศิลปากร เดินสวนแก้ว เดินร้านสโมสรที่ขายเครื่องเขียนแน่น ๆ นึกสภาพเด็กตอนนั้นที่เดินเข้าไป มัน โอโห... นี่โลกอะไรเนี่ย เราก็เลยอยากเข้าศิลปากรตั้งแต่เด็ก เราตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่า ต้องสอบศิลปากรให้ได้ คณะอะไรก็ได้ ขอให้ติดศิลปากร ตอนนั้นติดคณะจิตรกรรมกับคณะมัณฑนศิลป์ แล้ววันสัมภาษณ์ดันเป็นวันเดียวกัน เราก็เลยต้องเลือก ซึ่งก็เลือกเดินเข้าจิตรกรรม   The People: ทำไมวันนั้นตัดสินใจเลี้ยวไปทางจิตรกรรม มากกว่าไปทางมัณฑนศิลป์ อาภาพัชร์: ในความคิดของเด็กอายุ 18 คนหนึ่ง เรารู้สึกว่าคณะจิตรกรรมเรียนตั้งแต่รากของศิลปะว่าความงามคืออะไร เราจะเรียนวาดรูปเพื่อหาความงามของมันก่อน แต่มัณฑนศิลป์คือศิลปะที่ประยุกต์แล้ว เป็นศิลปะแบบเอาไปใช้ เช่น การเป็น interior design ขณะเดียวกันจิตรกรรมจะสอน “Art for Art's Sake” (“ศิลปะเพื่อประโยชน์ของศิลปะ” ปรัชญาที่ว่าคุณค่าของศิลปะเพื่อศิลปะที่แท้จริง) สอนให้มีสายตาของศิลปินก่อน พอเข้าไปเราพบว่าตัวเองวาดรูปไม่เก่ง ถ้าเทียบกับคนอื่นที่มาจากช่างศิลป์ ทุกคนมีสกิลเทพมาก มันก็เลยทำให้เรามีไฟ ฉันอ่อนกว่าคนอื่น แต่ฉันต้อง keep it up ต้องทำงานเยอะกว่าคนอื่น พอเริ่มเรียนศิลปะมาสักพักก็รู้สึกว่า ฉันไม่ชอบงานศิลปิน แต่ชอบอยู่ในวงการนี้ ชอบคลุกคลี และชอบช่วยคน รู้สึกอยากช่วยเด็กที่เรียนศิลปะนี่แหละ เอาตรง ๆ การเรียนการสอนไม่ค่อยเตรียมเด็กให้ออกไปสู่โลกความจริงเท่าไหร่ เพราะว่าสังคมแบบประเทศไทยไม่ได้ต้องการศิลปินเยอะขนาดนั้น หลักสูตรหนึ่งผลิตศิลปินกว่าร้อยคน แต่มีคนที่จบออกมากเป็นศิลปินจริง ๆ แค่ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากที่เหลือก็ยังใช้ศิลปะในการดำรงชีวิตอยู่ แต่อาจทำเป็นงานจ็อบหรือฟรีแลนซ์ ฉะนั้นคนที่เป็นศิลปินจริง ๆ ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยน้อยมาก ๆ พอเห็นว่าหอศิลป์หรือแกลเลอรีไม่ค่อยมีรองรับในสังคมไทย เราก็ตัดสินใจเป็นภัณฑารักษ์เพื่อมาอุดช่องว่างตรงนั้น อุดช่องว่างของเพื่อนที่ทำงานเก่งมาก เพนท์รูปสวยมาก แต่พูดพรีเซนต์ตัวเองไม่ได้ ภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือขายไม่เป็น เราก็เป็นคนที่ช่วยเขา ส่งไม้ต่อให้เขาอยู่ในแกลเลอรี ได้แสดงงาน นั่นคือเป้าหมายหลักของเรา   The People: ทราบมาว่าไปเรียนต่อภัณฑารักษ์ที่ประเทศอังกฤษด้วย? อาภาพัชร์: ก่อนไปเรามั่นหน้ามากว่า “ฉันพูดภาษาอังกฤษได้” แต่พอไปถึงจริง ๆ แล้วซึมเศร้าเลย เราไปช่วงเปิดเทอมปลายปี ไปไม่นานในหลวง ร.9 ก็สวรรคต เราไปอยู่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งที่โรงเรียนไม่ค่อยมีคนไทยเท่าไหร่ จำได้เลยว่าเดินเจอรุ่นพี่คนหนึ่งในโรงอาหาร แล้วเราก็ไปยืนกอดกันร้องไห้ ช่วงนั้นเลยหนักมาก เรียนแทบไม่รู้เรื่อง ทั้งเรื่องจิตใจจากการสวรรคตของในหลวง ร.9 และเรายังไม่ชินกับสภาพอากาศอังกฤษที่เทามาก พระอาทิตย์ขึ้น 9 โมง พระอาทิตย์ตกบ่าย 3 เราจิตตกมาก อากาศหนาวด้วย อยู่หอคนเดียวเพราะยังไม่ค่อยมีเพื่อน อาหารก็แปลก ทุกอย่างแปลกหมด ไม่มีครอบครัว ไม่มีใครเลย รู้สึกโคตรโดดเดี่ยว เราเลยเรียนไม่รู้เรื่อง พูดกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าการพูดภาษาอังกฤษได้ในไทย กับการที่ต้องพูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา 24 ชั่วโมงมันเป็นคนละเรื่องกันเลย   The People: เริ่มปรับตัวได้ตอนไหน อาภาพัชร์: 3 เดือนผ่านไป จบเทอมแรกแล้วถึงจะรู้สึกว่าฉันอยู่ได้แล้ว เราเริ่มรู้จักเพื่อน มีเพื่อน มีสังคม เราเริ่มไปไหนมาไหนในเมืองเป็น มันต้องใช้ความคุ้นเคยระดับหนึ่งเลย เทอม 2 ถึงรู้สึกว่า ฉันเอาอยู่แล้ว   The People: การเรียนการสอนในโรงเรียนศิลปะที่ประเทศเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างกับการเรียนการสอนในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน อาภาพัชร์: แตกต่างมาก แตกต่างในทุก ๆ ด้านที่จะคิดได้ หนึ่งคือโรงเรียนศิลปะที่อังกฤษค่อนข้างจะ student-based ไม่ตีกรอบนักเรียนเลย ขณะที่ประเทศไทยเอาแค่การสอบเข้าคณะก็จะจำกัดเทคนิคไปด้วยในตัว แต่ที่อังกฤษเราสอบศิลปะ แต่เราก็ยังมีสิทธิ์เดินเข้าไปในทุกเวิร์กช็อปของมหาวิทยาลัย อยากจะทำวิจัยเรื่องเซรามิคก็ไปนั่งทำเซรามิคได้เลย อยากเพนท์ก็ไปเข้าสตูดิโอทำได้เลย เขาเปิดกว้างมาก อาจารย์ระดับปริญญาโทก็จะต่างจากอาจารย์ปริญญาตรี นักศึกษาปริญญาโทต้องเข้าหาอาจารย์ ต้องเขียนอีเมลนัดอาจารย์เพื่อเข้าไปคุย ต้องเอางานของเราไปปรึกษา ฉะนั้นก่อนเรียน ป.โท เราต้องรู้แล้วว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่เช่นนั้นจะทำไม่ทัน เราเรียนจบหลักสูตร 1 ปีก็ฝึกงานต่อที่ Asia Triennial Manchester ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นภัณฑารักษ์ เราจึงเป็นเหมือนเลขาส่วนตัวของแก ซึ่งเราก็ทำทุกอย่างจริง ๆ เจอคนเยอะมาก มีวันหนึ่งแกเชิญศิลปินทั่วแมนเชสเตอร์และบริเวณรอบ ๆ มาถึงถกกันในธีม “Who do you think you are?” “คุณคิดว่าคุณเป็นใคร?” ปกติเวลาถูกถามว่าคุณเป็นใคร คนทั่วไปจะตอบอาชีพ นิยามว่าอาชีพคือตัวเอง แต่ความจริงแล้ว Who do you think you are? อาจจะหมายถึง ฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดีก็ได้ วันนั้นศิลปินดัง ภัณฑารักษ์ดังทั้งนั้น แต่เขานั่งถกประเด็นกันชิลล์มาก เราก็นั่งทำตัวสบาย ๆ ด้วย ประเด็นก็คือ ถ้าเป็นเมืองไทยเราคงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปนั่งถกด้วยกัน เพราะเขาจะถือว่าฉันเป็นศิลปินดัง แต่ที่อังกฤษ อาจารย์ทุกคนหันมาถามเด็กฝึกงานว่า “What do you think?” เขาให้ค่าความเป็นคนกับเรามาก เขาไม่สนว่าเรามาจากไหน ไม่สนว่าเราเป็นใคร ณ ตรงนั้นทุกคนเท่าเทียม แล้วมัน powerful กับเรามากจริง ๆ เรารู้สึกว่าไม่เคยได้รับอะไรแบบนี้ที่ประเทศไทยเลย   [caption id="attachment_8841" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์[/caption]   The People: คุณมีโอกาสในการเติบโตที่ประเทศอังกฤษแล้ว ทำไมถึงกลับมาประเทศไทย อาภาพัชร์: มีความจริงที่โหดร้าย ทั้งที่จริงเราอยากฝึกงานกับอาจารย์ตลอดไปนะ อยากได้งานด้วยซ้ำ แต่ติดปัญหาอย่างเดียวเลยคือวีซ่า อาจารย์ที่สังกัดมหาวิทยาลัยไม่สามารถให้วีซ่ากับเราได้ อีกทั้งอาชีพทางศิลปะยังถูกมองเป็นธุรกิจฟุ่มเฟือย เด็กต่างชาติไม่สามารถขอวีซ่าได้เพราะเขาไม่ต้องการแรงงานในส่วนนี้ เราพบว่า เด็กไทยทุกคนที่ไปอังกฤษเป็นศิลปินดังทุกคน คนไทยเขียนรูปเก่งมาก แต่สิ่งที่เด็กไทยไม่มีคือ critical thinking การคิดวิเคราะห์ อ่านหนังสือไม่ได้ เขียนไม่เป็น ถกไม่เป็น แต่ต่างชาติมีทักษะนี้แม้อาจไม่เด่นมาก ตรงนั้นสร้างความแตกต่างเยอะเลย อีกอย่างเรื่องชนชั้นของศิลปินในไทยแรงมาก แรงทุกวงการนั่นแหละ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ใจเหี่ยวมาก ใจเราก็เหี่ยว แต่เราก็สู้    The People: เด็กไทยขาด critical thinking เพราะอะไร แล้วสิ่งนี้ฝึกกันได้ไหม? อาภาพัชร์: ฝึกได้ แต่ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก เรายังรู้สึกว่าตัวเองฝึกช้าเลย เพราะเราก็ critical thinking ไม่เป็นนะ เราไปฝึกตอน ป.โท ที่อังกฤษ แล้วมัน hit แรงมาก จนช็อกไปเลย ซึ่งเรื่อง critical thinking ควรปลูกฝังเด็กตั้งแต่ประถมฯ หรือมัธยมฯ ในการทำโปรเจกต์ต่าง ๆ ไม่ใช่มีแค่ตัวเลือก ก. ข. ค. ง. สมมติเราเรียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูก็จะสอนว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร แต่เรื่องนั้นไม่เชื่อมโยงกับเรา   The People: เหมือนเราโดนสอนเฉพาะข้อมูล (information) อย่างเดียว? อาภาพัชร์: ใช่ สอนข้อมูล แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ข้อมูลยังไง แต่ต่างชาติเขาจะสอนให้ออกนอกห้องเรียน ให้เด็กไปค้นหาว่ามันคืออะไร สำคัญยังไง ให้เรียนด้วยประสบการณ์จริงมากกว่า ซึ่งเดี๋ยวนี้โรงเรียนทางเลือกในไทยก็มีบ้างแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กจริง ๆ   The People: กลับประเทศไทยมา คุณทำงานภัณฑารักษ์ต่อเลยหรือเปล่า อาภาพัชร์: กลับมาได้ 2 อาทิตย์ก็สมัครงานเลยทันที ไฟแรงมากว่าฉันจะเปลี่ยนโลก ฉันทำได้ แต่ถ่อมตัวนะ แต่ว่าไฟแรงมาก   The People: พอเจอระบบการทำงานแบบไทย ๆ เข้าไป เป็นยังไงบ้าง อาภาพัชร์: ช็อกทุกอย่าง ก็ต้องปรับตัวเยอะ เจอพนักงานข้าราชการปากร้าย โห... ชนชั้นโคตรแรงเลยว่ะ   The People: การเข้ามาของโลกอินเทอร์เน็ต มัน interrupt โลกของศิลปะด้วยไหม อาภาพัชร์: interrupt ทุกอย่าง แต่ interrupt ในทางที่ดีนะ เป็นอิทธิพลที่เหมือนดาบสองคม ต้องระวังมาก ๆ เช่น ตอนนี้เราขายงานในต่างประเทศได้ ผลงานเดินทางไปได้ไกล แต่ก็มีเรื่องของลิขสิทธิ์ตามมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นศิลปินต้องรีบจดลิขสิทธิ์ อันนี้คือความน่ากลัว แล้วอะไรที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตไม่มีทางหายไป อินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดกาล ยกเว้นโลกแตก (หัวเราะ)   The People: เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สูงส่ง แต่พอมีอินเทอร์เน็ต ศิลปะเริ่มกระจายไปทั่ว เข้าถึงง่ายขึ้น แล้วอาชีพภัณฑารักษ์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม อาภาพัชร์: เปลี่ยนเยอะเลย เราต้องทันอินเทอร์เน็ตจริง ๆ ต้องดูเทรนด์ เอาง่าย ๆ สมมติจะโพสต์ประชาสัมพันธ์งานนิทรรศการให้คนมาก็ต้องรู้ว่าควรโพสต์กี่โมง ต้องรู้เรื่อง marketing เยอะขึ้นด้วย ต้องรู้เทรนด์ว่าลูกค้าของเราคือใคร เช่น ลูกค้าเป็นวัยรุ่นหรือเป็นคนอายุ 40 เราต้องปรับเยอะมาก แล้วปัจจุบันการ curating ศิลปะในอินเทอร์เน็ตมีแล้วนะ มีการจัดแสดงศิลปะในเว็บไซต์แล้ว มีอาจารย์จากเนเธอร์แลนด์ชื่อ จูโรง บูเวอริค แกต่อต้านสถาบัน (against institution) มาก ๆ เขาคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จริงด้วยซ้ำ ไปแสดงในอินเทอร์เน็ตก็ได้ ไม่เห็นต้องเดินทางไปดูเลย ไม่ต้องเสียเงินเป็นร้อยเป็นล้านไปดูที่ไหน   The People: ปัจจุบันสามารถประมูลซื้อ-ขายงานศิลปะทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วยซ้ำ อาภาพัชร์: ถูก พูดแล้วขนลุก เราอิน คือทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก แต่ว่ามีทั้งข้อดี – ข้อเสีย ข้อดีก็คือคนเข้าถึงงานได้มากขึ้น เปิดโลกอีกแนวหนึ่ง ทำให้ศิลปะดิ้นได้ไม่มีวันจบ ศิลปินจะพยายามหลีกหนีการซ้ำ หลีกหนีสิ่งที่คนทำมาแล้วมาตลอด การมีอินเทอร์เน็ตทำให้งานศิลปะมันพุ่งไปอีก ความเป็นไปได้ร้อยแปดพันเก้ามาก ๆ สำหรับการสร้างศิลปะ [caption id="attachment_8838" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์[/caption]   The People: เราเห็นแวดวงศิลปะของต่างประเทศมาแล้ว คาดหวังให้ศิลปะไทยเป็นอย่างไรต่อไป อาภาพัชร์: เอาแบบอุดมคติเลยไหม เราอยากให้ไทยมี Art Council อยากให้กรมศิลปากรเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยน ก็ทำสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เป็น สศร. ที่ดีขึ้นมาจริง ๆ แต่ว่าเราว่าทุกคนค่อนข้างสิ้นหวังกับข้าราชการไทยไปตั้งนานแล้ว เราตั้งกันเองเลยดีกว่า เป็น Art Council ที่เอกชนรวมตัวกันตั้งเลย คาดหวังให้เป็นอย่างนั้นไปเลย ต้องทำกันเอง นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่เรามาอยู่ที่นี่ เราเคยคุยกับเพื่อนเรื่องนี้เหมือนกันนะ จะทำยังไงให้คนทำงานในวงการศิลปะทำมาหากินได้ เป็นศิลปินที่ไม่ต้องดังมาก กลาง ๆ ก็พออยู่ได้ เราอยากให้ emerging artist อย่างเราอยู่ได้ มีรายได้เข้ามา และอยากให้ศิลปินทุกคนที่เรียนจบออกมามีพื้นที่ เราอยากให้คนที่เข้าหอศิลป์มีตั้งแต่คนกวาดถนนไปจนถึงใครก็ตาม คนแก่ เด็ก ทุกคนต้องเข้าได้ ต้องให้คนไทยรู้สึกว่าฉันมีเวลาชื่นชมศิลปะ ถ้าเรายังทำมาหาเช้ากินค่ำ ถ้าพื้นฐานชีวิตเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่มีใครจะมา give a damn กับศิลปะหรอก เพราะศิลปะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ศิลปะจะมีคุณค่าต่อเมื่ออยู่ในโลกที่หนึ่ง   The People: ล่าสุดคุณกำลังงานมีงานนิทรรศการ “The Unspoken Word” ซึ่งเป็นการ curate งานตัวเอง? อาภาพัชร์: ไม่ใช่งานเรา มันคืองานของคนอื่น 106 คน ที่เราคัดมาให้เหลือ 16 คน   The People: นิทรรศการครั้งนี้มีไอเดียจากอะไร อาภาพัชร์: เราเป็นนักเก็บ ชอบอ่านเรื่องคน ทำให้อินเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ แล้วลองมาประกอบกับไอเดียความเสียดายในชีวิตคน เราคิดว่า ชีวิตมีคุณค่าเพราะเราต้องตาย ย้อนกลับไปตอนที่เราต้องเสียคุณตา ซึ่งตอนเด็ก ๆ เราสนิทกับคุณตามาก เราพบว่าคุณตาไปสงครามเกาหลี คุณตาจะมีภาพสงครามเกาหลีเก่า ๆ เยอะมาก แล้วคุณตาเล่าเรื่องราวสนุกมาก ตอนเด็ก ๆ เราฟังแล้วก็จดไว้ด้วยนะ แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่นเราก็ไม่ได้คุยกับคุณตาอีกเลย สุดท้ายก็แยกบ้านกันอยู่แล้วคุณตาก็เสียชีวิตจากความชรา เรารู้สึกเราเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสคุยกับเขา เขาตายไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว คิดถึงคุณตามาก แล้วเราไม่มีทางรู้สึกจนกระทั่งเขาตายไปแล้ว   The People: เราใช้เกณฑ์อะไรคัดเลือกจาก 106 เหลือแค่ 16 คน อาภาพัชร์: มีหลายเกณฑ์มาก เราคัดหลายรอบ ไม่ใช่แค่รอบเดียวนะ จาก 106 เหลือ 70 จาก 70 เหลือ 40 จาก 40 เหลือ 20 และจาก 20 เหลือ 16 เพราะบางคนเขียนเข้ามาแล้วไม่ครบ งงว่าเสียดายอะไร งานนี้เราส่งคำถามไปทุกคน ข้าราชการ พนักงาน มีคนอายุตั้งแต่ 60 ยัน 20 ปีที่ส่งมาให้เรา เราคัดให้เหลือความเสียดายในชีวิตจริง ๆ เรื่องที่มัน impact กว่า   The People: ความเสียดายทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร อาภาพัชร์: ความเสียดายมีเสน่ห์ตรงที่คนมักจะไม่พูดว่า “สวัสดี เฮ้ย! แกเสียดายเรื่องอะไรวะ” ไม่มีใครพูดอย่างนี้ มันเป็นเรื่องที่คนเขาไม่คุยกัน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากคุย เป็นเรื่องที่คนอยากให้ move on ไปเลย เรารู้สึกว่าอะไรที่ไม่ถูกพูดถึง ความจริงมันอาจบ่งบอกถึงตัวของคนคนนั้นได้ดีที่สุด นี่คือเสน่ห์ของมัน  ความเสียดายทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งในชีวิตเขา จริง ๆ เราไม่ควรไปตัดสินใครในชีวิต เพราะเราอาจจะเห็นแค่ด้านเดียวของชีวิตเขา แล้วชีวิตคนมีตั้งกี่ด้าน คุณอาจจะเคยผ่านเรื่องร้าย ๆ มามากเลยทำให้คุณเป็นคนแบบนี้ เราไม่มีทางรู้ มุมความเสียดายทำให้เราเข้าใจมนุษย์และเห็นใจกันมากขึ้น เสน่ห์ของความเสียดายคือเรื่องชีวิตนี่แหละ เพราะว่าชีวิตของเรามีเวลาจำกัด   [caption id="attachment_8840" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์[/caption]   The People: เคยมีคนบอกว่าชีวิตคนสร้างแรงบันดาลใจได้ จริงไหม อาภาพัชร์: ใช่ โคตรเชื่อ สิ่งที่เราเจอเปลี่ยนความคิดเราไปเลย ทำให้เรารู้สึก เออ ฉันจะใช้ชีวิตหนึ่งให้คุ้มแล้ว เพราะฉันมีเวลาแค่นี้ เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ นั่นคือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตคนเปราะบางมาก เดินออกไปแค่นี้ แค่รถชนก็ตายแล้ว   The People: คุณคิดถึงความตายบ่อยไหม อาภาพัชร์: บ่อย แต่ไม่ได้คิดว่าจะฆ่าตัวตายนะ (หัวเราะ) เราเป็นคนสนุก รักชีวิตมาก และเราก็ขี้กลัวด้วย เราชอบไปนู่นมานี่แต่เราไม่ชอบผจญภัย แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ทำให้ความคิดในการใช้ชีวิตเราเปลี่ยนไป เรามองคนเปลี่ยนไปเลย เราเห็นใจคนมากขึ้น แล้วรู้สึกว่าคุณไม่ควรตัดสินชีวิตใคร ทุกคนมีเสน่ห์ในตัว คุณค่าของเขาไม่ได้อยู่ที่อาชีพ คุณค่าของคนอยู่ที่ตัวตนของเขาจริง ๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราหวังให้คนที่มาดูนิทรรศการนี้ก็คือ อยากให้เขาเห็นงานแล้วคุยกับตัวเอง เพราะอยู่ ๆ คนคงไม่ถามตัวเองว่า “ฉันเสียดายอะไรวะ” มันต้องมีสิ่งกระตุ้น (trigger) อย่างนี้แหละ ถึงจะทำให้คนคิดแล้วว่าฉันเสียดายอะไรกับชีวิตบ้าง แล้วพอคนเห็นความเสียดายหรือความผิดพลาดของชีวิตคนอื่น เราจะรู้ว่าฉันไม่ได้เจออยู่คนเดียว มีคนเจอหนักกว่าฉันอีก แล้วสิ่งที่คิดว่าเป็นความเสียดายของฉัน ฉันยังแก้มันทันหรือเปล่า เพราะบางคนแก้ไม่ทันแล้ว มันก็จะกลายเป็นความเสียดายที่ impact กับชีวิตของเขา เราอยากให้คนมาดูงานมากที่สุด ค่อย ๆ มานะ เพราะว่าเราจะจัดพื้นที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว อยากให้ทุกคนค่อย ๆ ใช้เวลาดูแต่ละเรื่อง ค่อย ๆ ซึมเข้าไปแล้วคุยกับตัวเอง อยากให้โอกาสทุกคนได้ถามตัวเองดู ในคำถามที่เขาอาจจะไม่เคยถามตัวเองมาก่อน แล้วระหว่างนิทรรศการเราจะชวนคนมาทำ time capsule เขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคต หรือเขียนจดหมายให้ลูกหลาน เราเตรียมขวดโหลไว้แล้ว ให้ทุกคนเขียนความเสียดายในชีวิตตอนนี้ว่าคืออะไร แล้วเราคาดหวังอะไรในชีวิตอนาคตข้างหน้า เพื่อให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับเขาในอนาคต   The People: ย้อนกลับไปคำถามที่วันนั้นศิลปินต่างชาติคุณกันว่า “Who do you think you are?” แล้วคุณละ คิดว่าตัวเองเป็นใคร อาภาพัชร์: เออว่ะ เราเป็นใครวะ (นิ่งคิด) เอาจริง ๆ คำถามนี้เราก็ไม่อยากนิยามว่าฉันเป็น curator ฉันเป็น supporter เราว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พยายามที่จะมีความสุข พยายามทำให้ตัวเองมีความสุขในทุกวัน โดยไม่ไปคิดถึงอนาคตล่วงหน้ามาก หรือกังวลกับอดีตขนาดนั้น อยากเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสุข แล้วอยากให้คนรอบข้างมีความสุข ง่าย ๆ แค่นั้นเลย   [caption id="attachment_8836" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ ภัณฑารักษ์ผู้เปลี่ยนความเสียดายเป็นงานศิลปะ อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์[/caption]   นิทรรศการ ‘The Unspoken Word’  โดย Apapat Jai-in Glynn  จัดแสดง ณ Kinjai Contemporary บางพลัด ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – วันที่ 7 กรกฎาคม 2019 ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/theunspokenwordexhibition/