"เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย

"เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย
หากย้อนกลับไปไม่กี่สิบปีที่แล้ว เราคงเห็นคำว่า “เพศ” อยู่ในกรอบเล็ก ๆ ที่กำหนดว่าโลกนี้มีเพียงหญิงและชาย ส่วนคนที่อยู่นอกเหนือจากนั้น คงหนีไม่พ้นคำที่เรียกกันว่า “ผิดปกติ” ไปเสียหมด หากแต่ความจริงแล้ว เพศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะนิยามจากลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว องค์ความรู้ในปัจจุบันทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “LGBTQ” หรือเพศหลากหลายที่กำลังกลายเป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่ภูฏานยกเลิกกฎหมายลงโทษบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ไต้หวันออกกฎหมายให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ และหลายประเทศทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ จากเหตุการณ์ “Stonewall Riots” ด้วยการแต่งกายสีรุ้งในเดือนมิถุนายน ถึงแม้ว่าปัจจุบันสังคมจะเปิดกว้างและให้การยอมรับมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มเพศหลากหลายยังต้องอยู่กับความรู้สึกอึดอัดใจกับพฤติกรรมที่เกิดจากความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดของคนรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุให้ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อตั้ง “คลินิกเพศหลากหลาย” แห่งแรกในเอเชีย โดยมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ปรับความเข้าใจของผู้ปกครอง ไปจนถึงการให้บริการผ่าตัดข้ามเพศอย่างปลอดภัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บทสัมภาษณ์ พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร จะพาทุกคนไปสู่ความเข้าใจเรื่องเพศในมุมมองของแพทย์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ไปจนถึงการก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลาย ที่เป็นกำลังสำคัญในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ [caption id="attachment_8700" align="aligncenter" width="1200"] "เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร[/caption]   The People: คำว่า "เพศ" คืออะไร พญ.จิราภรณ์: ต้องเข้าใจก่อนว่า "เพศ" ไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม หรือโครโมโซมเพศชาย โครโมโซมเพศหญิง มันพูดในหลายแง่มุม ถึงมีคำบัญญัติเรื่องเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ บทบาททางเพศ เพศทางชีวภาพ เพราะเขาไม่ใช้คำว่า "เพศ" อย่างเดียวแล้ว เพศสภาพ หรือ Gender Identity ก็คืออัตลักษณ์ทางเพศ ความเป็นชายเป็นหญิงที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนก็มีความเป็นชายเยอะ บางคนก็มีความเป็นหญิงเยอะ การไปชอบผู้หญิงชอบผู้ชายเป็นเรื่องของเพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศ เป็นคนละเรื่องกันกับอัตลักษณ์ทางเพศ ในทางการแพทย์ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค ซึ่งจริง ๆ รสนิยมทางเพศที่มีกับเพศเดียวกันก็เจอในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นอีก เจอในสิงโต เจอในกวาง หรือเจอในลิง   The People: สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู มีผลต่อรสนิยมทางเพศไหม พญ.จิราภรณ์: ปัจจุบันพบว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ก็คิดว่าเป็นปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีววิทยา เรื่องสมอง แล้วก็เรื่องของปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม แต่ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ค่อนข้างเทไปทางด้านปัจจัยทางสมอง กรรมพันธุ์ และยีน   The People: สมัยก่อนที่มองความหลากหลายทางเพศเป็นความ “ผิดปกติ” เกิดจากเหตุผลที่หาสาเหตุไม่ได้? พญ.จิราภรณ์: สมัยก่อนเป็นแนวคิดของการรักษาให้กลับไปเป็นเพศเดิมด้วยซ้ำ มันเป็นระบบฐานคิดแบบ “ปกติ” กับ “ผิดปกติ” นั่นแหละ ก่อนปี 1972 homosexual ถูกบรรจุให้วินิจฉัยว่าผิดปกติ ต้องทำจิตบำบัด ส่วนปี 1972 เพิ่งถอด homosexual ออกไป ต่อมาที่เห็นชัด ๆ คือปี 2013 จากที่เรียกว่า Gender Identity Disorder ก็เอาคำว่า Disorder ที่แปลว่าผิดปกติออก เปลี่ยนเป็น Gender Dysphoria คือภาวะไม่มีความสุขกับเพศสภาพที่ตัวเองเป็น เป็นคำที่พยายามจะไม่ตราหน้า (stigmatize) ว่านี่คือโรค กลายเป็นคำกลาง ๆ ให้ดูเหมือนเป็นภาวะหนึ่งที่อาจจะมีผลกระทบบางอย่าง แต่ว่าไม่ได้เป็นความผิดปกติ ไม่ได้เป็นโรค เป็นเพียงความแตกต่างหลากหลาย [caption id="attachment_8703" align="aligncenter" width="1200"] "เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร[/caption]   The People: การตั้งคลินิกเพศหลากหลายมีจุดเริ่มต้นยังไง พญ.จิราภรณ์: เรามีคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียน และมักจะมีเคสเด็กที่ถูกส่งมาด้วยคำจ่าหัวของครูว่า “วิปริตผิดเพศ” แล้วเขาก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสมองผิดปกติ เรื่องเพศมันเลยกลายเป็นเรื่องผิดปกติ หลายคนรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ตัวเองด้อยกว่าคนอื่น หลายคนต้องพยายามถีบตัวเองให้เหนือคนอื่น รู้สึกว่าฉันต้องดีกว่าผู้ชาย – ผู้หญิงทั่วไป หลัก ๆ เราก็เห็นความไม่เข้าใจของสังคมที่มีกับเด็กกลุ่มนี้ พอไปศึกษาต่อต่างประเทศ เราได้องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องของเพศว่ามันไม่ได้เป็นแค่การตีตราว่าถูก – ผิด วิปริต หรือปกติ มันเป็นเรื่องของความเข้าใจว่ามนุษย์เรามีความหลากหลาย ความเป็นชาย – เป็นหญิง จริง ๆ มีความเชื่อมโยงกัน รสนิยมทางเพศจริง ๆ ก็มีความเชื่อมโยงกัน มันมีคนที่ชอบทั้งชายชอบทั้งหญิง ชอบทั้งสองอย่าง หรือมีคนที่ไม่ชอบเพศไหนเลยก็มี พอเข้าใจได้ว่ามนุษย์เรามีความหลากหลายจึงไปศึกษาต่อด้านนี้ที่ Harvard เขาทำคลินิกที่ดูแลเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรงที่ Children’s Hospital Boston เราได้ไปดูงานกับเขา ไปเห็นการจัดตั้งคลินิก ก็เลยรู้สึกว่า เอ้อ เมืองไทยไม่เคยมีคลินิกแบบนี้เลย เด็กบ้านเราเวลาอยากแปลงเพศก็กินฮอร์โมนแบบซื้อเอง ซึ่งมันเป็นอันตราย ก็เลยกลับมาก่อตั้งคลินิก เราเป็นคลินิกแรกในเอเชียที่ดูแลเด็กวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ พอเราเปิด จุฬาฯ ก็เปิดคลินิกดูแลคนข้ามเพศที่สภากาชาดไทย ตอนนี้ก็มีคลินิกข้ามเพศที่สิงคโปร์มาดูงาน เพราะเขารู้สึกว่าเราอยู่ในวัฒนธรรมใกล้ ๆ กับเขา ตอนนี้เขาก็เปิดคลินิกแล้วที่สิงคโปร์ ตอนนี้เราพยายามพัฒนาตัวเองไปเป็น Excellent Center ที่ทำให้มีระบบเทรนนิงที่ชัดเจนขึ้นสำหรับหมอหรือใครที่จะมาดูงาน และกำลังตั้งสมาคมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูแลคนข้ามเพศ เป็นแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของเอเชีย จะจัดตั้งกันวันที่ 11 มิถุนายน เป็นการประชุมครั้งแรก ก็จะมีทีมของคนที่ดูแลคนกลุ่มนี้เยอะขึ้น   The People: ระหว่างการก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลาย มีอุปสรรคอะไรบ้าง พญ.จิราภรณ์: ก็มีนะ มันจะมีข้อจำกัดเยอะกับแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่เข้าใจ แล้วบางทีด้วยเจเนอเรชันที่แตกต่าง และองค์ความรู้ที่แตกต่าง ก็ต้องยอมรับว่าหมอหลายคนไม่รู้เรื่องนี้เลย เข้าใจไปว่าเป็นความผิดปกติ และเข้าใจว่าการข้ามเพศเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นการจัดตั้งคลินิกแรก ๆ ก็ต้องไปคุยกับระดับผู้บริหาร คุยสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ แล้วก็มีเรื่องการหาบุคลากรที่จะมาทำงานร่วมกับเรา เช่น หมอ ต้องมีหมอต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องเพศด้วยนะ มันต้องปรับแนวคิดมาก แต่ว่าที่รามาธิบดีมีคนที่พร้อมเรียนรู้แล้วก็เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ถ้าเป็น 10 ปีก่อนคงตั้งคลินิกไม่ได้ ตอนนี้ทำได้ เปิดเผยได้ เดี๋ยวนี้พ่อแม่พาลูกมาด้วยตัวเองเยอะมาก แต่ก่อนคงไม่มี เดี๋ยวนี้มีเยอะ   The People: คลินิกเพศหลากหลายมีให้บริการหรือให้คำปรึกษาด้านไหนบ้าง พญ.จิราภรณ์: เราจะดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนมาด้วยความสับสนว่า “ตกลงเป็นอะไร” ทำไมช่วงหนึ่งเป็นอย่างนี้ อีกช่วงเป็นอย่างนั้น หลัก ๆ ก็ให้คำปรึกษาเรื่องการทำความเข้าใจตัวเอง ทำให้เด็กมีความเข้าใจในเรื่องเพศ ให้คำปรึกษาเรื่องการปรับตัวตามเพศ เรื่องครอบครัวก็เป็นปัญหาคลาสสิก หลัก ๆ คือทำให้ครอบครัวเข้าใจเรื่องความเป็นไปของเด็ก เรื่องเพศที่เด็กเป็น แล้วก็บทบาทที่ครอบครัวควรแสดงออกต่อกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งก็คือคิดว่าเป็นความผิดปกติ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกผิดปกติ กลัวว่าเป็นแล้วจะไม่มีชีวิตที่ดี ไม่มีครอบครัว เราก็จะพยายามเคลียร์ให้พ่อแม่เข้าใจว่ามันไม่ใช่ความผิดปกติ เป็นแค่ความแตกต่างหลากหลาย เหมือนคนถนัดขวาถนัดซ้าย คนถนัดซ้ายไม่ใช่ลูกผิดปกติ ก็แค่ลูกที่ไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งไม่เป็นไร คนถนัดซ้ายก็ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนอื่น มีพ่อแม่หลายคนคิดว่าเป็นทางเลือก ทำไมลูกเลือกเป็นแบบนี้ เราก็ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าไม่ใช่ทางเลือก เป็นแค่การรู้จักตัวเอง เหมือนที่เราไม่เคยเลือกว่าจะเป็นผู้หญิงวันไหน เป็นผู้ชายวันไหน มันก็คือการรู้จักตัวเองมาเรื่อย ๆ สิ่งเดียวที่เลือกได้คือเลือกเปิดเผยตัวเอง อย่างอื่นไม่ได้เลือก พ่อแม่หลายคนคาดหวังสูงอีก เช่นเป็นตุ๊ดได้แต่ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเป็นทุกข์กับตัวเด็ก ในกรณีที่มีความจำเป็นและทางครอบครัวเองก็มีความพร้อม เราก็มีการบริการทำให้เกิดการข้ามเพศ โดยให้ฮอร์โมนไปบล็อกหรือยับยั้งฮอร์โมนเพศที่ไม่ต้องการ จนประมาณ 14-16 ปีก็จะให้ฮอร์โมนข้ามเพศที่มีการมอนิเตอร์ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด น้องเน็ตไอดอลข้ามเพศคนหนึ่งก็เป็นคนไข้คลินิกเรา ผลออกมาคือสวยเพราะว่าบล็อกฮอร์โมนเร็ว ส่วนเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศก็อยู่ในระบบนี้ [caption id="attachment_8704" align="aligncenter" width="1200"] "เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร[/caption]   The People: ปกติพ่อแม่ใช้เวลานานไหมในการทำความเข้าใจประเด็นนี้ พญ.จิราภรณ์: แล้วแต่คนนะ บางคนก็เข้าใจวันนั้นเลย คุยเสร็จก็รู้สึกดี “อ๋อ เข้าใจแล้ว”
  The People: ตอนแรกเปิดเป็น “คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น” ให้บริการสำหรับช่วงอายุ 10-24 ปี แต่ปัจจุบันขยายช่วงอายุให้กว้างขึ้นเพราะอะไร พญ.จิราภรณ์: ตอนแรกที่หมอทำ หมอเป็นหมอวัยรุ่นคนเดียว ก็ทำเฉพาะที่เราถนัด แต่พอมีทีมใหญ่ขึ้น มีความเชี่ยวชาญในผู้ใหญ่มากขึ้น มีหมอฮอร์โมน หมอทางต่อมไร้ท่อผู้ใหญ่ หมอสูติ – นรีเวชมาช่วย เราก็ขยายไปถึงประมาณ 40 ปี ปัจจุบันคนอายุ 40 กว่าก็มีมาหา   The People: ปัญหาโดยรวมของผู้ใหญ่กับเด็กที่มาคลินิกต่างกันยังไงบ้าง พญ.จิราภรณ์: ปัญหาของเด็กส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือครอบครัว เช่น พ่อแม่ไม่ยอมรับ ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ถ้ามาก็คือคนที่เปิดเผยตัวเองแล้ว ก็จะมาด้วยการอยากข้ามเพศ อยากเป็นตัวเอง   The People: สำหรับเด็กที่ไม่กล้าออกมายอมรับตัวเอง เราจะสนับสนุนเขาอย่างไร พญ.จิราภรณ์: คนที่พร้อมจะเปิดเผยตัวตน (come out) ต้องพร้อมด้วยตัวเอง การไปสังเกต แอบสอดส่อง แล้วมาถามยิ่งทำให้เกิดความเจ็บปวด คนไม่ได้เป็นก็เจ็บปวด คนเป็นแต่ไม่พร้อมเปิดเผยตัวตนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอยู่ดี อาจจะยิ่งทำให้ปิดไปกว่าเดิม เพราะว่ารู้สึกถูกจับได้ มีคนมองออก เพราะฉะนั้นคนทั่วไปควรใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด ทำให้เขารู้สึกได้ว่า เราไม่ได้เป็นพวกเกลียดเกย์ เกลียดตุ๊ด หรือรับไม่ได้กับพวกนั้น วันหนึ่งที่คนนั้นพร้อม เขาก็พร้อมที่จะแสดงตัวเองออกมาเอง   The People: สำหรับคนที่ต้องการข้ามเพศ เห็นว่าต้องมีนักจิตวิทยามาประเมินด้วย อะไรที่เป็นเกณฑ์ที่บอกว่าคนนี้พร้อมหรือไม่พร้อม พญ.จิราภรณ์: จริง ๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงร่างกายเพื่อให้ตรงกับเพศที่ตัวเองเป็น ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เช่น ความต้องการ บางคนมีความรู้สึกว่าตัวเองก็มีความเป็นผู้หญิงเยอะ แต่ไม่ได้มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเอง อันนี้ก็เป็นสิทธิ์ที่แต่ละคนจะตัดสินใจ สิ่งที่เราดูคือมันต้องมีข้อบ่งชี้ว่าเข้าข่ายของคนที่ไม่มีความสุขกับเพศสภาพที่ตัวเองเป็น หลัก ๆ ก็คือรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศใดเพศหนึ่งอย่างรุนแรง ไม่เปลี่ยนแปลงจะมีความทุกข์ มีปัญหาหรือส่งผลกระทบกับสิ่งที่ตัวเองเป็น เช่น ตุ๊ด กะเทยบางคนจะรู้สึกไม่โอเคที่เห็นอวัยวะเพศตัวเอง ต้องการที่จะข้ามเพศ ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงร่างกายไปเป็นอีกเพศหนึ่งจนรู้สึกเป็นทุกข์ เสียทักษะด้านการทำงาน ความสัมพันธ์ อันนี้ก็เป็นเกณฑ์ที่เราเอามาตัดสินใจ เพื่อช่วยให้เขามีภาวะที่ดีขึ้น และต้องไม่มีข้อห้ามที่จะใช้ฮอร์โมน แล้วก็มีเงินที่จะสนับสนุน แต่จริง ๆ มันก็ไม่ได้แพงอะไร   The People: นอกจากปัญหาที่ครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่กล้ายอมรับตัวเอง หรือว่าอยากข้ามเพศ มีปัญหาอะไรร้ายแรงอีกไหม พญ.จิราภรณ์: เยอะมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า คนเหล่านี้ก็จะอยู่กับความขัดแย้ง โดนแกล้ง โดนล้อ โดนคนทัก “เกย์ปะเนี่ย!” บางทีมันเป็นอะไรที่ผู้ชายก็ทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้ พอผู้ชายทำก็ “เฮ้ย! แต๋วว่ะ” “ตุ๊ดหรือเปล่า” อย่างร้องไห้ ผู้ชายร้องไห้ก็จะถูกมองว่า “อ่อน ตุ๊ดปะวะ ทำไมมัน sensitive จังวะ” บางทีคนก็ชอบเหยียด กดต่ำว่าคนอื่นผิดปกติ ฉันปกติ ชอบจับผิด ชอบแบบ “ใช่ไหม” สอดส่องว่าเกย์หรือเปล่า ตุ๊ดหรือเปล่า ชอบพูดว่ารับได้ แต่เสร็จแล้วก็เอาไปนินทา เอาไปเปิดเผย หลัก ๆ ก็คือ ทำในสิ่งที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ทำให้คนเหล่านี้รู้สึก self-esteem ต่ำ ความนับถือตัวเองไม่มี หรือรู้สึกกดดันว่าจะต้องเป็นให้ดีกว่าคนอื่น   The People: ถือว่าเราควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเพศไหม พญ.จิราภรณ์: พูดได้ ก็เหมือนเราพูดถึงผู้ชาย – ผู้หญิงได้อย่างปกติ เราไม่เคยถามว่า “ตกลงเธอเป็นผู้ชายหรือเปล่า” เราต้องทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ถ้าเขาพร้อมอยากเปิดเผย เขาก็เปิดเผยเอง ถ้าสนิทกันมาก ๆ แล้วอยากถามก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มานั่งดู แอบสังเกต และจับผิด [caption id="attachment_8702" align="aligncenter" width="1200"] "เพศไม่ใช่แค่จู๋ – จิ๋ม” สัมภาษณ์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายแห่งแรกในเอเชีย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร[/caption]   The People: คนเป็นเพศหลากหลายจะสร้างความรู้สึกภูมิใจในตัวเองได้ยังไงบ้าง เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้อยู่บ่อย ๆ พญ.จิราภรณ์: ให้เข้าใจคนอื่น หลาย ๆ ครั้งคำพูดหรือคำวิจารณ์มันมาจากความไม่รู้ หรือแม้กระทั่งเข้าใจความคาดหวังของคนอื่น พ่อแม่บางทีก็คาดหวัง หวังดี รัก มันเป็นแค่ความไม่รู้ที่เขาไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้สึกดีกับตัวเอง เราต้องเป็นคนที่รู้สึกดีด้วยตัวเราเองก่อน ไม่ว่าใครจะมาพูดยังไง เราก็จะไม่ถูกบั่นทอนได้ง่าย จริง ๆ เราทุกคนมี self-esteem ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เราไม่ได้รู้สึก “ฉันภูมิใจมากที่ฉันเป็นผู้หญิง” self-esteem เกิดจากด้านอื่น เกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราเป็นคนที่ใช้ได้นะ เรามีน้ำใจ เราตั้งใจเรียน เราเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เราไม่แย่กับคนอื่น เราสามารถชื่นชมตัวเองได้ในมุมที่หลากหลายมาก ผู้ชาย – ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้มี self-esteem จากการเป็นชาย – หญิงด้วยซ้ำ เพียงแต่เด็กหลากหลายทางเพศดันเสีย self-esteem จากเรื่องเพศ เพราะสิ่งแวดล้อม สื่อ และวัฒนธรรมชี้อยู่ตลอดเวลาว่า คุณไม่เหมือนคนอื่น การสร้าง self-esteem ของเด็กก็แค่ทำให้เขาเข้าใจเพศที่ตัวเองเป็น ไม่มองว่าสิ่งนี้เป็นความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ แต่เข้าใจว่านี่คือธรรมชาติแบบหนึ่ง แล้วก็มองหามุมดีที่ตัวเองมี ทำให้รู้สึกรักตัวเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ได้เป็นในสิ่งที่เราอยากเป็น และก็ทำให้คนรอบข้างเข้าใจกับสิ่งที่เขาเป็น   The People: สรุปได้ว่าเราควรทำให้เรื่องเพศหลากหลายเป็นเรื่องปกติมากที่สุด พญ.จิราภรณ์: ใช่ เพศหลากหลายเป็นเรื่องปกติ   เรื่อง: จิดาภา กนกศิริมา (The People Junior)