สัมภาษณ์ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักเล่าเรื่องที่เขียน “ชีวิต” ลงในเพลง

สัมภาษณ์ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักเล่าเรื่องที่เขียน “ชีวิต” ลงในเพลง

       ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปไวเหนือแสง และเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ศิลปินรุ่นใหม่ในวงการเพลงปัจจุบันมีความสามารถที่ก้าวกระโดดในการจะสร้างเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่ง เรียกได้ว่าสมัยนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำเพลงด้วยตัวเองได้แล้ว แต่...นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่เป็นนักดนตรีจะสามารถเขียนเนื้อเพลงเองได้ เพราะฉะนั้นอาชีพนักแต่งเพลง จึงกลายเป็นเหมือนฟันเฟืองหรือผู้ปิดทองหลังพระคนสำคัญเข้ามาอุดช่องโห่วตรงจุดนี้

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้า ไมเคิล แจ็กสัน ไม่มี ร็อด เทมเพอร์ตัน ช่วยเขียนเนื้อเพลง และมี ควินซี่ โจนส์ คอยโปรดิวซ์ตบงานให้เข้าที่ หรือถ้า บริทนีย์ สเปียร์ส ไร้ แม็กซ์ มาร์ติน คอยขยันทำเพลงดี ๆ ให้ ทุกวันนี้เราอาจไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงฮิต ๆ อย่าง ‘Thriller’ หรือ ‘Baby One More Time’ นี่คืออาชีพที่ตัวผลงานและความโด่งดังเบื้องหน้าได้บดบังตัวตนของผู้ที่สร้างมัน ทุกวันนี้คงไม่มีใครสนใจแล้วว่าคนแต่งเพลงมีหน้าตาอย่างไร หรือเขาเป็นใคร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในชีวิตของชายที่ชื่อ ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม หรือที่เรารู้จักเขาในชื่อว่าฟองเบียร์

ฟองเบียร์ ถือเป็นนักแต่งเพลงที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพลงไทยมานาน หลายเพลงจากฝีมือปลายปากกาของเขาสร้างความสำเร็จให้หลาย ๆ ศิลปินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นวง Potato หรือ Zeal ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารค่ายเพลง ME Records ซึ่งถือเป็นค่ายที่มี DNA ตัวตนของเขาอยู่เต็มร้อย

ใครคือฟองเบียร์? ถ้าแค่เห็นหน้าอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกชื่อผลงานเพลงที่เขาเคยเขียน เช่นอารมณ์สีเทา’, ‘ผู้ชายห่วย ๆ’, ‘กล้าพอไหม’, ‘หมดชีวิตฉันให้เธอ’, ‘แสนล้านนาทีหรือบันไดสีแดงคุณคงต้องร้องอ๋อแทน ใช่แล้ว...ทั้งหมดนี้คือเพลงที่เขาเนรมิตขึ้นมา

นี่เป็นโอกาสอันดีที่ The People พูดคุยกับเขาในหลากหลายประเด็น ทั้งที่มาของเพลงดังต่าง ๆ และลงลึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับตัวตนของนักแต่งเพลงคนนี้ ผู้มีนามปากกาว่าฟองเบียร์

The People: ช่วงชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร

ฟองเบียร์: ชีวิตในวัยเด็กโตมาจากครอบครัวที่พ่อดุมาก แล้วแม่ก็ตามใจสุด คือ 2 คนสุดขั้วเลย แล้วเป็นเด็กอยากได้อะไรก็ต้องไปยืนร้องไห้หน้าตู้ของเล่นอย่างนั้นเลย แล้วก็เป็นครอบครัวที่พ่อเป็นนายธนาคาร ไม่ได้ตำแหน่งใหญ่โตอะไร แล้วเขาจะเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องให้ลูกเก็บเงิน ทุก ๆ คนต้องมีวินัยในการเก็บเงินค่าขนม ใครทำเงินหายแล้วตอบไม่ได้จะโดนตี ตีเลือดออกเลย หาย 10 บาท เจ็บเหมือนหายหมื่นหนึ่ง

The People: บรรยากาศในครอบครัวตอนนั้นทำให้มาเจอกับดนตรีได้อย่างไร

ฟองเบียร์: ตอนเรียน ป.1 มีเพื่อนชื่อกิตติธัช เพื่อนคนนี้เรียนอิเล็กโทน แล้วชอบเอาหนังสือโน้ตเพลงของ Yamaha มานั่งดู จนมันกลายเป็นสิ่งสนใจของเพื่อนฝูง ตัวเราเห็นก็เลยอยากจะขอพ่อเรียนบ้าง เพราะว่าพูดตรง ๆ เราไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เพื่อน ๆ เป็นกันตอนประถม คือคนอื่นเขามีนู่นมีนี่กันเยอะแยะ แต่เราไม่ได้มี เราจะเล่นของเล่นทีก็ยืมหุ่นยนต์พี่ข้างบ้านชื่อพี่พีท อยากเล่นเกมแฟมิคอมก็บ้านตรงข้าม จำได้เลยว่าชื่อพี่โป้ง พี่ป้อง พี่แป้ง ซึ่งต้องรอเขาไม่เล่นแล้วค่อยไปขอเขาเล่น เวลาอยู่ที่โรงเรียนเราจะคุยกับเพื่อนไม่ค่อยเข้าใจ คือฟังน่ะเข้าใจนะแต่ว่าไม่รู้จะเอาอะไรไป joy เพราะเราไม่มีเหมือนคนอื่น

นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มเรียนดนตรี ตอนแรกกะเรียนเป็นงานอดิเรก ไม่ได้คิดว่ามันจะมาถึงวันนี้ ไม่ได้มีภาพในหัวด้วยซ้ำ แต่ว่าด้วยความที่พ่อเป็นคนดุมาก เอะอะตี เวลาเมาไม่ต้องพูดถึงเลย คว้าอะไรได้ก็ตี ไม่ผิดก็ตี ก็เลยกดดัน จนมาถึงวันที่พ่อพูดว่าถ้าย่ายังมีชีวิตอยู่ ยังไงย่าก็ไม่ยอมให้กูตีมึง เพราะย่าบอกว่าย่ารักหลานมาก

ตอนนั้นผมเลยเริ่มเขียนไดอารี่ พอเขียนไดอารี่เราก็ไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง เขียนไม่เป็น เลยนั่งเล่นเปียโนที่บ้าน และเขียนสิ่งที่อยากพูดกับย่า เขียนมาแล้วกดเปียโนไปเรื่อย ๆ เขียนไป กดไป จนเป็นร้อย ๆ หน้า เขียนเยอะมาก จนวันหนึ่งก็ตามประสาเด็กมัธยม มีวงดนตรีกับเพื่อน เล่นกันตามห้องซ้อม แกะเพลงเล่นตามยุคสมัยนั้น แล้ววันหนึ่งเพื่อนในวงมาบ้านแล้วเห็นหนังสือไดอารี่เล่มนี้วางอยู่ที่โต๊ะในห้องนอนเรา เพื่อนก็มาแอบอ่าน แล้วพูดว่ามึงเขียนอะไรของมึงวะ มึงเขียนอะไรเรื่องย่ามึง ผมก็บอกว่า กูคุยกับย่ากูแบบนี้ แล้วก็เล่นเปียโนให้เพื่อนฟัง เพื่อนเลยบอกว่า อ้าว มึงแต่งเพลงเป็นก็ไม่บอก ไม่ต้องแกะเพลงคนอื่นเล่นแล้ว เล่นเพลงวงตัวเองไปเลย มึงแต่งเลยแล้วเดี๋ยวพวกเราเล่น เลยเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นว่าการแต่งเพลงอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้เอง

The People: จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างเต็มตัว

ฟองเบียร์: พอเราเริ่มแต่งเพลงเล่นกับเพื่อนในวง ม.5 .6 ขึ้นมาปุ๊บ ก็เริ่มอยากจะมีวงดนตรีไปเสนอขายเพลง อยากเสนอค่ายนู่นค่ายนี่ คือวิ่งไปหมดทุกค่ายในยุคนั้น เบเกอรี่, แกรมมี่, อาร์เอส วิ่งไปยื่น demo แต่ก็ไม่ผ่าน สุดท้ายตอนหลังพอเข้ามหาวิทยาลัย ก็มีโครงการประกวดแต่งเพลง เป็นโครงการของ อสมท เลยแต่งเพลงเอาไปประกวดในนามมหาวิทยาลัยศรีปทุม และได้ชนะเลิศที่ 1 ซึ่งมันก็เหมือนเป็นแรงบันดาลใจว่า จริง ๆ กูอาจจะไม่เหมาะกับเป็นวงหรือเปล่าวะ เหมาะไปอย่างนี้ของกูคนเดียว เลยรู้สึกว่าอยากจะไปทางนี้จริงจัง ตั้งแต่วันนั้นในวันที่ได้รางวัลที่ 1 มา วงก็เริ่มกระจัดกระจาย คนนี้ได้เป็นศิลปิน คนนี้เลิกเล่นแล้ว คนนี้เป็นสถาปนิก เราก็เลยไปในทางของเรา

จุดที่อยู่อุตสาหกรรมดนตรีเต็มตัวคือ มันมีอยู่จุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอยากอยู่ในสายนี้ ตอนที่ทำวงกับเพื่อนแล้วเอา demo ไปส่งที่แกรมมี่ แม้วงไม่ถูกเรียกแต่มีสายโทรกลับมาที่บ้านเรา โทรกลับมาบอกว่าวงที่ส่งมาภาพลักษณ์ไม่เข้ากันเลย เหมือนไม่ได้มาด้วยกัน แต่ว่าขอซื้อเพลงแทนได้ไหม จำคำนี้ได้เลยว่าขอซื้อเพลงนี้ ซื้อเมโลดี้อย่างเดียว ขอซื้อทำนอง แต่ว่าไปเขียนเนื้อใหม่ จะให้มาช่าร้อง คนที่โทรมาก็ยังจำได้เลยว่าชื่อแหม่ม แต่จำไม่ได้ว่าเป็นแผนกไหน ตอนนั้นก็หยิ่งเลย รู้สึกภูมิใจ ไม่ขาย ถ้าจะเอาต้องเอาทั้งวง เขาก็ตอบกลับมาว่างั้นเขาไม่เอา โอเค ไม่เอาก็ไม่เอาครับ แล้วเพลงนั้นก็หายสาบสูญไปเลย

ตอนนั้นเรามีความรู้สึกแบบ...พอได้นี่หว่า มีความฮึกเหิมนิดนึงว่าพอได้นี่หว่าอาชีพนี้ แต่ก็กลับมานั่งคิด ตอนนั้นดูโง่มากเลย ถ้าขายไปในยุคตอนนั้นเทปขายดี ๆ อาจจะรวยแล้วก็ได้ อาจจะได้เปอร์เซ็นต์ดันไม่ขาย

สัมภาษณ์ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักเล่าเรื่องที่เขียน “ชีวิต” ลงในเพลง

The People: เริ่มต้นชีวิตนักแต่งเพลงตอนไหน

ฟองเบียร์: ตอนนั้นพอเริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มใช้ได้แล้ว ก็ไปลงเรียนคอร์สเรียนเพลง มีอาจารย์ที่สอนเขียนเพลงจากหลาย ๆ ค่ายมาสอน พอเริ่มไปเรียนเสร็จปุ๊บ ก็ได้เจอนักแต่งเพลงหลาย ๆ คน เช่นพี่เป๋า กมลศักดิ์ สุนทานนท์, พี่เจษฎา หันช่อ แล้วก็อีกหลายคน ตอนนั้นเราก็นั่งฟังประวัติเรื่องราวของเขา เขาจะสอนการแต่งเพลง เล่าทั้งประสบการณ์ในวงการเพลง เล่าทั้งการทำงานของศิลปินแต่ละคนว่าเป็นยังไง พอเรียนจบคอร์สก็เลยขอเอา demo ที่ตัวเองเริ่มแต่งส่งพี่แต่ละคน ทั้งอาร์เอส, แกรมมี่ แต่ส่งไปก็ไม่มีใครรับ

สุดท้ายก็เลยไปนั่งที่อาร์เอส ชั้นล่าง จนเจออาจารย์นั่นแหละ ก็คือพี่เจษฎา หันช่อ ที่กำลังเดินมาทำงาน แล้วเขาก็บอกว่า เขาจำได้ว่าเราเป็นลูกศิษย์เขา ให้ขึ้นมาข้างบนเลย นั่นเลยเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปในห้องประชุมของค่ายเพลง ว่าการแต่งเพลงเป็นยังไง แต่ว่าไม่มีเงินเดือนนะ ไปขลุกอยู่อย่างนั้นน่ะ จนวันหนึ่งทีมที่อาร์เอสส่วนหนึ่งลาออกไปอยู่แกรมมี่ พี่คนนั้นคือพี่เวสป้า อาร์สยาม ก็โทรมาหาที่บ้านตอนตีสอง บอกว่ามึงเหมาะกับแกรมมี่ ลายมือมึงไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่อาจจะไม่ถูกจริตที่นี่ สุดท้ายเลยย้ายไปอยู่ที่แกรมมี่

ตอนนั้นเข้ามาแกรมมี่ ไม่ได้เขียนเพลงอะไรสำเร็จเลย คือเข้ามาเนี่ย เอาเป็นว่า 10 เดือน ได้เขียนบ้างแต่เขาไม่ซื้อเพลงเราเลย ตอนนั้นที่เราเข้ามาปีแรกในห้องนั้นกำลังประชุมทำอัลบั้ม สลัด...สะบัด ของพี่มอส ปฏิภาณ อยู่ แล้วได้ฟัง demo ทั้งชุด คือตอนนั้นมันเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็ก 21-22 มาก และมันคือช่วงที่เราตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เราลาออกโดยที่ไม่บอกพ่อกับแม่ แล้วพอได้เข้าไปตรงนั้นความรู้สึกแรกคือ ถ้ากูยังนั่งเรียนอยู่ แล้วมาทำงานนี้ด้วย เรียนด้วยทํางานด้วย เดี๋ยวผู้ใหญ่เขาจะคิดว่าเราไม่สม่ำเสมอ แล้วรับคนอื่นมาแทน กูกลับมาอีกทีเดี๋ยวกูไม่มีตำแหน่ง ช่างแม่งออกไม่เรียนละ ทั้งที่อีก 3 วิชาก็จบแล้ว

The People: หลังถูกปฏิเสธงานมาหลายครั้ง งานไหนคืองานชิ้นแรกที่ใช่

ฟองเบียร์: เมื่อก่อนจะมีวงบอยแบนด์ชื่อวง Ozone เราก็เขียนเพลงแรกในชีวิตที่แกรมมี่ผ่าน ก็คือเพลงโปรโมทเขา เขียนร่วมกับพี่เวส อันนั้นต้องยอมรับว่าพี่เวสป้าน่าจะช่วยด้วยและให้โอกาส อารมณ์ประมาณว่ามึงเขียนกับกูแล้วกันจะได้มีเพลงผ่านบ้าง อยู่มาเกือบปีแล้วเขียนอะไรไม่ผ่านเลย ก็เลยได้มีเพลงออกมา เรียบร้อย...เจ๊ง คราวนี้ไม่ได้เขียนอะไรเลย เงียบกริบ ชงกาแฟซื้อลาบให้พี่ ๆ อย่างเดียว ไม่มีงานทำ

ผมมาเจอจุดเปลี่ยนเลยจริง ๆ คือตอนนั้นวง Potato มีสมาชิกครบเลย 5 คน ตอนนั้นจะมี ปีย์, ปั๊บ, นุช, บ๋อม และโน๊ต และกำลังจะขึ้นชุด 2 ปรากฏว่าค่ายบอกว่าอัลบั้มแรกขาดทุนอยู่ เรียกได้ว่าวงกำลังโดนแขวนอยู่ว่าทำต่อไม่ต่อดี สถานการณ์เหมือนเราเลยที่จะได้อยู่ไม่อยู่ดี เบียร์และ Potato โดนแขวนอยู่ทั้งคู่ ระหว่างที่เราไม่รู้ทำอะไร เขาคงเห็นเราว่างแล้วเห็น Potato มาตึกเรื่อย ๆ ค่ายก็บอกเอาแบบนี้ละกัน ระหว่างนี้เบียร์ลองเขียนเพลงให้วงนี้ไปก่อน เพราะวงนี้ไม่มีใครทำ มันเจ๊งอยู่ แต่ว่า ณ ตอนนั้นเราพูดตรง ๆ ว่าเขียนเพลงให้พี่เบิร์ดตอนนั้นยังไงก็ได้ตังค์ ขายดี พี่มอสยังไงก็ได้ตังค์ ทุกคนจะไปทำตรงนั้น เบียร์ไปทำ Potato คือคนตกอับด้วยกันไปทำด้วยกัน

ก็ไปทำ เริ่มเขียน ก็ไม่ผ่านเรื่อย ๆ จนวันหนึ่ง วงฟลาย แยกวงพอดี พี่แจ็ค วงฟลาย มือกีตาร์ เมื่อก่อนเป็นพิธีกรแมลงมัน เขารู้จักกับทีมเรา สนิทกับทีมเราที่อยู่กับพี่ณรงค์ เดชะ ที่ชื่อทีม Hyper พี่แจ็คมาบอกผมว่าเขาจะออกอัลบั้มเดี่ยวละ แต่งเพลงให้เขาสักเพลง นั่นแหละคือการแต่งเพลงกล้าพอไหมให้พี่แจ็ค พอพี่เวสป้ามาฟัง เขาบอกเพลงนี้โคตรดี เดี๋ยวเอาไปให้แจ็คเลย สุดท้าย...พี่แจ๊คไม่เอา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าพี่แจ็คตัดสินใจผิดหรือถูกหรืออะไรนะ พี่เวสบอกว่าแจ็คไม่เอา แต่กูว่าเพลงนี้ดีมึงอย่าทิ้งนะ

ในขณะที่เด็กตกอับ 2 คน ผมกับ Potato อยู่ในห้องนั้น ตอนนั้นผมก็ เฮ้ย พวกมึงฟังเพลงกูหน่อยดิ พี่เวสบอกดีกูโคตรชอบเพลงนี้เลย พอเปิดกล้าพอไหมปั๊บบอกผมร้องเอง เพราะว่าผมก็ไม่มีเพลงเหมือนกัน ไม่มีใครแต่งให้ ผมร้องกล้าพอไหมเอง แล้วมันก็เลยเป็นเพลงแรกในชีวิตเลยที่ขึ้นอันดับหนึ่ง และเปลี่ยนชีวิตไปเลย

The People: ตอนนั้นเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าทำไมถึงโดนปฏิเสธงานมาตลอด 

ฟองเบียร์: ถ้าจะพูดก็คง 2 มุม นักแต่งเพลงหน้าใหม่ แล้วศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้วเขาก็คงอยากได้นักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง อันนี้เราไม่รู้ 2 คือศิลปินเขาอาจไม่ได้คิดว่าอยากได้เพลงอะไร แต่ว่า ณ ตอนนั้นเราอาจแต่งไม่ดีจริง ๆ คือไม่รู้ว่าเหตุผลไหน แต่ถ้าคิดเองคือเรายังใหม่ แล้วเราอาจยังไม่ได้เขียนเพลงได้คมถูกใจเขาขนาดนั้น คิดว่าอย่างนั้นเลยโดนปฏิเสธ แต่ตอนนั้นสนุกมาก เขียนอะไรมา Potato ไม่ปฏิเสธเลย

The People: นามปากกาฟองเบียร์เริ่มจากตรงนั้น?

ฟองเบียร์: พอแต่งกล้าพอไหมแล้วผ่านเสร็จปุ๊บ ผู้ใหญ่บอกว่าให้แต่งเพลงมาอีก และบอกว่าถ้าจะทำอัลบั้มต่อไปของวงนี้ อยากให้มีเพลงที่แข็งแรงอย่างน้อย 2 เพลง เพลงเดียวกลัวไม่รอด เราเลยเขียนเพลงไม่ให้เธอไปแต่เขียนจากโครงสร้างที่ปีย์ทำเอาไว้ให้ก่อนตาย แล้วก็ชวนคนนี้มาช่วยกันเขียนด้วย แต่งกันสองสามคนชูวีดูวับ’, ‘ลืมตาในน้ำคือเราเขียนเสร็จปุ๊บ ผู้ใหญ่ฟัง เฮ้ย แข็งแรงนะเว้ย งั้นเปิดตัวมาเบา ๆ ก่อน อย่าเพิ่งโครมคราม ขึ้นด้วยชูวีดูวับต่อมาซัดด้วยไม่ให้เธอไปแล้วกล้าพอไหมเนี่ยเขาชอบสุด เพราะว่าเป็นเพลงที่ทำให้ตัดสินใจว่าทำอัลบั้มนี้ ไว้เป็นเพลงที่ 3 แล้วผู้ใหญ่ก็วางกลยุทธ์ปล่อยเพลงแบบนี้ สุดท้ายชูวีดูวับออกไปอยู่อันดับท้าย ๆ เลยในชาร์ต แต่ตอนนั้นน่ะดีใจและดีใจมาก มีใน top 20 มีชูวีดูวับแต่อยู่อันดับ 13-16 ครึ่งล่าง พอไม่ให้เธอไปนี่โอเคเลย ขึ้นมาแบบ top 10 ละ แต่ยังอยู่ในช่วง 6-10 อยู่

วันหนึ่งเจ้านายเรา พี่เวสป้าพูดกับเราคำหนึ่งบอก เฮ้ย เบียร์ เขียนเพลงห่วย ๆ หรือเขียนเพลงติดชาร์ตนู่นนี่นั่น อันดับเท่าไหร่ก็ตามในชีวิตนะ ไม่สำคัญเท่ามึงเอาเพลงขึ้นไปอยู่อันดับ 1 ทั่วประเทศในเพลงเดียว มันจะทำให้มึงสามารถมีโอกาสเขียนเพลงให้อีกหลายศิลปินได้โดยที่ไม่ต้องมีคำถาม ณ ตอนนั้นในใจก็คิดว่าชูวีดูวับอยู่อันดับล่างเกินไม่ให้เธอไปก็ไม่ถึงอันดับ 1 สักที

จำได้วันนั้นขับรถอยู่บางบอน ขับรถอยู่เปิด hotwave 91.5 ฟัง top 20 ไล่ชาร์ตขึ้นมา 10-3 ไม่มีเพลงกูเลย พอ 2 ไม่ใช่เพลงกู ผมปิดวิทยุขับรถกลับบ้านเลย แต่สักพักหนึ่งเพื่อนโทรมาบอกว่ากล้าพอไหมขึ้นอันดับ 1 ผมรีบเปิดวิทยุใหม่ ได้ฟังท่อนฮุคพอดี ตอนนั้นคือความรู้สึกอันดับ 1 เป็นอย่างนี้เอง ความรู้สึกมันเป็นอย่างนี้นี่เอง อันนั้นคือ impression แรกของความรู้สึกว่าชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไปแล้วอีกครั้ง

The People: ก่อนมาเป็นนักแต่งเพลงชอบด้านภาษาศาสตร์มาก่อนไหม

ฟองเบียร์: โอ้โห ชอบภาษาไทยไหม เรียกว่าเป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือเลยดีกว่า คือภาษาไทยเกรดแย่มากเคยได้ F เคยได้ 0 หรือ 1 ภาษา แล้วตอนเขียนเพลงตอนนั้นน่ะ โดนผู้ใหญ่ตำหนิหลายคนว่า เพลงต้องมีสัมผัส เขียนเพลงเหมือนเขียนกลอน เขียนเพลงเหมือนเขียนโคลงสี่สุภาพ คำนี้ต้องสัมผัสนี้ อันนี้ต้องมาตรงนี้ ต้องมาสัมผัสตรงนี้ ลองอ่านกล้าพอไหมดู “...เธอบอกกับฉัน เธอย้ำบอกกับเขา จบไปตั้งนาน และไม่มีวันจะกลับไปรักใคร ให้ฉันไว้ใจ...” นานกับใจมันต้องสระเดียวกันนะ ในความเป็นจริงแทบทั้งเพลงสัมผัสแค่ทีสองที ที่เหลือไม่มีสัมผัส ตอนนั้นโดนผู้ใหญ่บอกว่าฟังแล้วมันได้อารมณ์ แต่ว่ามึงยังไม่ใช่คนเขียนเพลงที่ดีนะ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราอยากเป็นตัวเรา

สัมภาษณ์ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักเล่าเรื่องที่เขียน “ชีวิต” ลงในเพลง

ตอนหลังคือทำงานมาน่าจะมี 10 ปี ถึงไปกราบกราน อาจารย์สลา คุณวุฒิ เลย ผมขอไปบ้านครูสลาได้ไหมครับ เพราะว่าครูสลาคือคนที่เขียนคล้องจองได้แบบโคตรจะเพอร์เฟกต์เลย คือเพลงลูกทุ่งครูสลาเป๊ะทุกดอกแทบไม่มีหลุด อยากไปเรียนกับครู ครูบอกครูไม่สอน ทำยังไงครูก็ไม่สอน ก็ไปคุยกับพี่ตี่ กริช ทอมมัส ผู้บริหารแกรมมี่ โกลด์ วานให้แกคุยกับครูสลาให้หน่อย เพราะผมอยากก้าวข้ามไปในจุดที่เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจ แต่จนแล้วจนรอดครูสลาเขาก็ไม่รับนัด อยู่ดี ๆ วันหนึ่งครูสลา SMS กลับมาเองบอกว่าลูกสาวครูชอบเพลงเธอมากเลย

ผมเลยดิ่งตรงไปบ้านเขาเลย เรานั่งคุยกันนานมาก ครูสลาแกก็บอกว่าเอาจริง ๆ มันก็คงเป็นทางใครทางมัน ลูกทุ่งอาจต้องเขียนแบบนี้ เพราะว่าลูกทุ่งมันมีรูปแบบของมัน สตริงจริง ๆ รู้ไว้ก็ดี หรือว่าจะเขียนให้ได้อารมณ์แบบเธอมันก็ไม่ได้ผิด คือจริง ๆ แล้วเราอยากเรียน แต่กลายเป็นได้คำแนะนำว่าใครเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้นเถอะ แต่ถ้าอยากจะมีองค์ความรู้ด้านนี้เพิ่มก็จะบอกให้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ ๆ

แล้วชอบคำหนึ่งที่ครูสลาพูด เขาบอกว่าเพลงลูกทุ่ง 5 วิแรกต้องโดนเลย คุยกันขำ ๆ กับแก แล้วแกก็บอกว่าลูกทุ่งเนี่ยงบค่าทำงานมันน้อยกว่าสตริง ค่าแต่งเพลงน้อยกว่าสตริงเกือบเท่าหนึ่ง MV งบก็น้อยกว่าสตริง แกพูดเลยว่าเนื่องจากงบไม่เยอะ เพราะฉะนั้น MV ไม่อลังการเท่า เพราะฉะนั้น 5 วิแรกต้องเปรี้ยง ต้องโดนเลย จะรอดู MV อลังการแบบแฟนจ๋าไม่มีทาง มันต้องเป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง...”, “เหนื่อยไหมคนดีมีพี่เป็นแฟน...”, “พี่แสนดีใจได้รับจดหมายจากไปรษณีย์...” แต่ละอัน เข้าใจละ 5 วิโดนเลยนะคืออะไร

The People: เพลงของฟองเบียร์มีเนื้อหาที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา นั่นเลยทำให้มีแนวเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยไหม

ฟองเบียร์: เราไม่ค่อยคิดซับซ้อน คิดซับซ้อนไม่ค่อยเก่ง คือเป็นคนที่เก็บอารมณ์ก็ไม่ค่อยเก่ง ถ้าเรารู้สึกไม่ดีกับใคร ก็จะเกลียดให้รู้ไปเลยว่ากูเกลียดมึง หรือแบบว่าอยากจะพูดอะไรก็พูดเลย โดนไล่ออกก็ช่างเดี๋ยวไปหาที่ทำงานใหม่อะไรอย่างนั้นน่ะ เวลาเขียนเพลงออกมามันเลยเป็นอย่างนั้น เพลงผู้ชายห่วย ๆที่เขียนให้มาช่า ก็เขียนให้คนคนหนึ่งในทีวีที่เพิ่งเลิกกับแฟนมา แล้วผู้ชายคนนั้นให้สัมภาษณ์ด่าผู้หญิงในทีวี แล้วเรารู้สึกว่าทำไมต้องด่าผู้หญิงวะ มีอารมณ์ร่วมกับข่าวช่อง 3 ตอนนั้น แล้วก็นั่งดีดกีต้าร์แต่งตอนเช้ามืด มาช่าเดินมาได้ยินที่ห้อง เฮ้ย เบียร์เพลงนี้ขอ พี่ช่าก็เอาไปเลย ผมมักจะเขียนจากแบบนี้ จะไม่ค่อยใช้จินตนาการ คนที่เรารู้สึกว่าชอบในจินตนาการคือ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ แบบดอกทานตะวันกับไม้ขีดไฟแบบนี้ เพลงที่มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรยเยอะ ๆ เราจะจินตนาการไปลึกขนาดนั้นไม่ได้ แต่ว่าเป็นคนที่อารมณ์ไหนที่มันรู้สึก attack จะรีบถ่ายทอดออกมาเลยแบบนั้น

The People: ได้ยินจากวง Zeal ว่าคุณเป็นคนแต่งเพลงเร็วมาก

ฟองเบียร์: จริง ๆ Zeal เป็นวงที่ชอบมาบี้เอางานเร็ว ๆ หรือเราดองงานก็ไม่รู้ แต่ไอ้วันที่เขียนให้ Zeal และเร็วแบบเร็วโคตร ๆ เลย คือวันนั้นจะไปโตเกียว อยู่ที่แกรมมี่จำได้ เก็บของในห้องตอน 2 ทุ่ม เพื่อไปสุวรรณภูมิ กำลังจะเปิดประตูออกจากห้อง เคนกับชุ จำได้เลยโผล่พรวดเข้ามา 2 คน เขาจะเรียกเราว่าอาจารย์เบียร์ เขาพูดอาจารย์จะไปไหน ผมก็บอกไปโตเกียว จะไปแล้วเนี่ยเดี๋ยวไปไม่ทัน เดี๋ยวรถติด ทั้งคู่ก็บอกว่าอย่าเพิ่งไป แต่งเพลงให้เราก่อน อาจารย์แต่งแป๊บเดียว แล้วเราก็หาข้ออ้างบอกว่า เฮ้ย มันไม่มีกีตาร์ แต่งให้ไม่ได้นะ เดี๋ยวกลับมาจัดการให้นะ พี่ชุให้เคนยืนบล็อคไว้ เดี๋ยวเราไปหากีตาร์เอง เคนกันไว้ก่อน ไม่ถึงนาทีนี่กีตาร์มาแล้ว พี่ชุยื่นแล้วบอกเนี่ย 15 นาทีก็เสร็จ โอ๊ยไม่ตกเครื่องหรอก แล้วบอกว่าเดี๋ยวเรามาเอานะ ก่อนจะปิดประตู

ตอนนั้นก็คิดว่าอะไรของมึงวะ แล้วก็เอาไงดีวะ ไปไม่ไปดูเวลา ตอนนั้นนะเชื่อไหมนั่นคือเพลงหมดชีวิตฉันให้เธอของ Zeal คือมีความรู้สึกว่า ณ เวลานั้นคือแบบ...มึงจะเอาอะไรกับกู ชีวิตกูมึงไม่สนเลย ก็เลยเขียนแบบกวนตีน หมดชีวิตฉันให้เธอ ชีวิตกูมึงเอาไปเหอะ ตอนนั้น more music อยู่ชั้น 32 ห้องทำงานเราอยู่ชั้น 33 เดินถือกระดาษแผ่นที่เขียนเนื้อเพลงไว้ครึ่งเพลงลงไปให้ แล้วก็ไปขึ้นเครื่องบิน พอถึงสนามบินไอ้สองคนนั้นโทรมาอีก บอกเนี่ย พี่ป้อม อัสนี ฟังแล้ว พี่ป้อมชอบมาก อีกครึ่งเพลงแต่งมาเลย แล้วตอนนั้นที่สุวรรณภูมิมันจะมีตู้หยอดเหรียญ 10 บาทที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ ผมเลยต้องยอดเหรียญ 10 แล้วนั่งแต่งเนื้ออีกครึ่งหนึ่ง 4-5 บรรทัด และกดส่งอีเมลไปให้ Zeal แล้วบอกว่าไม่ต้องติดต่อกูแล้ว ก่อนจะมารู้อีกทีตอนกลับมาว่าเพลงแม่งดังไปแล้ว

The People: เพลงไหนที่แต่งแล้วให้คุณค่ากับเรามากที่สุด

ฟองเบียร์: ตอบได้ง่ายเลย เพลงที่ให้คุณค่าไม่ใช่เพลงที่ดังที่สุด แต่ว่า real มาก คือเพลงอารมณ์สีเทา’ Potato คืนนั้นเป็นคืนแรกที่รดน้ำศพพ่อ แล้วกลับมาบ้าน นั่นเป็นคืนแรกที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีพ่อแล้ว วันนั้นรู้เลยว่าควรจะต้องไปนอนกับแม่ ก็เลยเดินไปนอนห้องแม่ คือแม่หลับไม่ลงหรอก สามีเสียคืนแรก แม่ก็นอนพูดกับเพดาน แต่จริง ๆ ก็พูดกับเราแหละ บอกว่า เนี่ย ไม่รู้ว่าพ่อเสียไปแล้วจะไปเจอคุณตาไหม จะไปเจอคุณยายไหม จะเจอคุณย่าไหม เขาจะไปเจอแม่เขาหรือเปล่า เขาจะไปเจอเพื่อน ๆ ของเขาไหมนะ ตอนนี้พ่ออยู่กับใครก็ไม่รู้เนอะ ตายไปแล้วเขาจะได้เจอใครที่เขารักที่เขาคิดถึงบ้างไหม แม่ก็ร้องไห้ เราฟังตอนนั้นแล้วก็ร้องไห้ นอนน้ำตาไหลเลย แล้วรู้สึกว่าไม่อยากร้องไห้ให้แม่เห็นกับการที่พ่อเสีย เลยลุกออกจากห้องหยิบกีต้าร์มาแล้วซัดคำแรกเลยก็คือเพลงอารมณ์สีเทา’ “ไม่รู้เลยเธออยู่ที่ไหนกับใคร แต่ขอให้เธอได้โปรดจำไว้...” ซัดคำนี้ขึ้นมาคำแรก กลางเพลงเลย แล้วก็รวบรวมสติให้ดี แล้วก็ค่อย ๆ นั่งเขียนทีละอย่างว่าอยากจะเล่าเรื่องอะไร แล้วก็เขียนเพลงอารมณ์สีเทาออกมาให้พ่อ

The People: เคยคิดไหมว่าการเขียนเพลงคือการระบายความคิดของเราออกมา

ฟองเบียร์: เริ่มต้นคือการระบายความคิด เพราะว่าเริ่มต้นมาจากสิ่งที่เรารู้สึกว่า ที่บ้านไม่เข้าใจ ทำไมพ่อไม่เข้าใจเรา ทำไมพ่อต้องตีเรา แล้วเราก็มาระบายกับรูปย่า แต่ว่าตอนหลังเริ่มไม่ใช่ละ เรามีความรู้สึกว่า เราชอบศิลปินที่วันที่เจอกันวันแรกเขาเป็นยังไง วันนี้ประสบความสำเร็จเขาก็ยังเป็นอย่างนั้น แล้ววันที่เขาประสบความสำเร็จแล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นน่ะ มันคือสิ่งที่มันเหนือกว่าวันที่เขายังไม่มีอะไรแล้วเดินมาหาเรา รถก็ไม่มี บ้านยังเป็นหนี้ นู่นนี่นั่น เราเขียนเพลงให้เขาจนเขามีบ้าน เขามีรถ เขามีธุรกิจของตัวเอง แล้วเขาก็ยังเดินมา มันไม่ใช่การระบายอารมณ์แล้ว มันมีคุณค่ามากกว่านั้นที่เห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้น การระบายอารมณ์เป็นแค่ช่วงแรก

สัมภาษณ์ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักเล่าเรื่องที่เขียน “ชีวิต” ลงในเพลง

The People: เคยมีศิลปินที่ปฏิเสธงานของเราบ้างไหม

ฟองเบียร์: เล็ก-ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ อัลบั้มดำสนิทเป็นอัลบั้มที่เราชอบมาก เราสัมภาษณ์ที่ไหนเราจะพูดถึงอัลบั้มนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าเขาอยู่ค่ายเรานะ แต่เราชอบความคิดเล็กมาก วันนั้นฮิวโก้มาอยู่ค่ายเรา เขาบอกว่าพี่ผมจะทำอัลบั้มภาษาไทย ผมกลับมาเมืองไทยแล้วเขียนครบ 9 เพลงเลย ผมเว้นที่เพลงสุดท้ายไว้ให้พี่ ทั้ง 9 เพลง มันคือปรัชญาชีวิต เพลงมันคือการเตือนสติตัวเอง มันคือสังคมด้านมืดจริง ๆ content มันก็จะหนักหน่วงอยู่ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความจริง แต่เรารู้สึกเลยว่าไม่มีเพลงรักเลย ไม่มีเพลงที่สว่างออกมาเป็นรักเอย รักหวาน ๆ ผมเลยแต่งให้เขา หายไปสองอาทิตย์เล็กโทรกลับมา พี่จะว่าอะไรไหมครับถ้าผมไม่เอา ชีวิตวันนี้ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ผมมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ผมมีลูก ผมมีความรักที่สมบูรณ์แล้ว คงไม่สามารถร้องเพลงรักใครได้อีก แต่มันเป็นเพลงที่ดีนะครับ พี่ให้คนอื่นเถอะ ผมขอไม่เอา แต่ก็จะเว้นไว้อย่างนั้นแหละ ให้พี่เขียนมาใหม่

เราก็ยังมีความข้องใจว่า มึงชอบ เพลงนี้ดี มันเพราะแต่มึงก็ไม่เอา ผมถามเล็กเลย เฮ้ย เล็ก มึงไม่มีเพลงรักจริง ๆ เหรอวะ ไม่มีเพลงชายหญิงรักกันเลยเหรอวะ มันหนักไปหรือเปล่าวะทั้งอัลบั้ม เล็กพูดมาคำหนึ่งแบบวันนั้นคือจบ พี่รู้เปล่าว่านี่คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยความรักที่สุดของชีวิตผม เพราะผมทำให้คนที่ผมรักที่สุดคือลูกผม นี่คือใบที่จะบอกเขาว่า ลูกโตมาแล้วอยู่ในประเทศไทย ลูกจะเจอ 10 เรื่องนี้นะ ใช้ชีวิตดี ๆ นี่คืออัลบั้มที่เป็นการบอกรักที่ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเพลงบอกรักใครเลย

โอเคเข้าใจละ นึกว่าเพลงรักไม่ใช่โจทย์ เลยพูดกับเล็กว่ากูเขียนเพลงไว้เพลงหนึ่งไม่มีใครกล้าร้องเลย เกือบ 10 ปีแล้ว ฟัง ‘นางงามตู้กระจก’ ก็พูดถึงผู้หญิงขายบริการ เล็กบอกสิบล้อก็มีเพลงของคนไปเที่ยวละ ผมเลยเอาเพลงที่เขียนถึงคนเชียร์แขกในอาบอบนวด ชื่อว่า ‘บันไดสีแดง’ พอให้เขาฟัง เขาบอกผมเอาเพลงนี้ใส่อัลบั้มมาเลย

The People: เคยคาดหวังว่าเพลงของเราต้องประสบความสำเร็จไหม

ฟองเบียร์: ปัจจุบันไม่คาดหวังอะไรเลย จริง ๆ ต้องบอกว่าอาจารย์คนแรกคือพี่เจษฎา หันช่อ บอกกับเราวันแรก เขาโอบไหล่เราแล้วก็พูดว่า ไปมาหลายที่แล้วสิ ไม่ได้รับโอกาสเลยใช่ไหมล่ะ พี่จะให้โอกาสมึง แต่ถ้าวันหนึ่งมึงเป็นเจ้าของโอกาสแล้ว มึงส่งโอกาสต่อให้คนอื่นไปเยอะ ๆ ไม่ต้องคาดหวังอะไร มึงเอาโอกาสนี้ไปคาดหวังกับงานของเด็ก ๆ ที่จะเกิดมา อย่าเก็บโอกาสนั้นไว้กินคนเดียว ผมมีความรู้สึกว่า ณ วันนี้ผมอยากเห็นคนนี้แต่งเพลงเก่ง ผมอยากเห็นคนนี้มีเพลงขึ้นชาร์ต ผมอยากเห็นคนที่ขึ้นรับรางวัลบ้าง ผมอยากเห็นคนนี้มีบ้านใหญ่ ๆ ผมอยากให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย บนยอดเขาวิวโคตรดีเลย มึงขึ้นมายืนบนนี้สิ ไม่ได้อยากขึ้นไปแล้วสร้างคฤหาสน์บนยอดเขา แล้วเดี๋ยวลงไปหาทุกคน เปล่า มึงมาอยู่ด้วยกัน มึงขึ้นมา กูลงไปก็ได้แต่มึงลองขึ้นไปอยู่ กูอยู่มาแล้วมันดี ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย 

The People: ความฝันในปัจจุบันคืออะไร

ฟองเบียร์: ฝันของผมเหรอ ผมอยากเห็นทุกคนได้มีทุกอย่างที่เขาอยากมี แล้วเขาเดินมาบอกผมว่าขอบคุณมากนะพี่ วันนั้นที่พี่แนะนำให้ผมแต่งเพลง อยากให้มีคนแบบนี้เข้ามาในชีวิตเยอะ ๆ ชีวิตยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ว่าเริ่มมีความรู้สึกว่า เริ่มเห็นพัฒนาการของคนที่จะเริ่มเป็นอย่างนั้นบ้างแล้ว ตอนนี้คงรอให้คนเหล่านั้นวันหนึ่งเดินมาแล้วพูดแค่คำเดียวว่า ขอบคุณนะพี่ที่สอนผมแต่งเพลง