ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย
"เรามองว่าการสื่อสารของมนุษย์เป็นที่มาของการทำให้เกิดนิตยสารขึ้นมาบนโลก ฉะนั้นเมื่อโลกมีวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป จะบอกว่านิตยสารตายไปแล้ว มองว่าก็ตายแล้ว แต่การสื่อสารของมนุษย์ยังไม่ตาย" จากนิตยสารทำมือฉบับเล็ก ที่ออกมาเมื่อปี 2543 ผ่านมาร่วม 20 ปี ที่นิตยสาร Bioscope ได้โลดแล่นบนแผงหนังสือในฐานะนิตยสารภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเนื้อหาไม่ได้มีเพียงแต่ภาพยนตร์กระแสหลัก แต่ยังเปิดโลกคนรักหนังด้วยหนังทางเลือก และหนังดีจากหลาย ๆ ชาติ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า ภาพยนตร์ในโลกนี้มีความหลากหลายกว่าที่คิด “Film Lovers Are Sick People” คำกล่าวของ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ คนทำหนังชาวฝรั่งเศส ที่แปะอยู่บนปกนิตยสาร Bioscope คงจะนิยามคนรักหนังและคนทำนิตยสารได้อย่างชัดเจน คำว่า sick มองในความหมายเชิงบวก มันคือความหลงใหลในสิ่งที่ทำอย่างหนักหน่วง เฉกเช่นการทำงานของ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ และ สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Bioscope ที่เริ่มต้นปั้นนิตยสารนี้มาหลายปี จนส่งต่อให้กับคนทำนิตยสารในรุ่นต่อมา แม้ในวันนี้ นิตยสาร Bioscope หยุดผลิตแล้ว แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับภาพยนตร์ในรูปแบบกระดาษและกลิ่นหมึกของเล่มนี้ ยังอยู่ในความทรงจำของใครต่อใครหลายคน รำลึกถึง Bioscope ผ่านบทสัมภาษณ์ของสองผู้ก่อตั้งนิตยสารนี้ ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย The People: จุดเริ่มต้นของการทำนิตยสาร Bioscope สุภาพ: ครั้งแรกที่เริ่มทำ “Bioscope” ตอนนั้นเราทำเว็บไซต์ด้วยกันอยู่ที่ eotoday ของแกรมมี่ ในฐานะที่ทำหนังสือหนังมากันทั้งคู่ อยู่คนละเล่ม ธิดาอยู่ Cinemag เราอยู่หนังวิดีโอและฟิล์มวิว ก็คุยกันว่า เออ ตอนนี้ไม่มีหนังสืออย่างที่เราเคยทำ แล้วเราอยากอ่าน เพราะที่ผ่านมา เราจะทำหนังสือในแบบเนื้อหาที่เราสนใจ แล้วก็ทำมันออกมา ธิดาทำในพื้นที่ของ Cinemag เราทำในพื้นที่ของฟิล์มวิว เราคิดว่าน่าจะมีคนที่สนใจคอนเทนต์แบบที่เราสนใจในเวลานั้นอยู่จำนวนหนึ่งแหละ ที่แน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นคนอ่าน Cinemag หรือส่วนหนึ่งที่เป็นคนอ่านฟิล์มวิวในเวลานั้น เราขอมาแค่จำนวนหนึ่ง ก็น่าจะทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาได้  ธิดา: พอคิดว่าจะเริ่มทำ คำถามแรกคือ เอ๊ะ จะไปเอาตังค์จากไหน (หัวเราะ) เพราะว่าต่างคนต่างไม่ได้มีทุน เป็นพนักงานบริษัทปกติทั้งคู่ มันอาจจะประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีกระแสหนังสือทำมือขึ้นมาพอดี ตอนนั้นจะมีตลาดหนังสือทำมือเด็ก ๆ แต่ว่ามีอยู่เล่มหนึ่งที่เราไปเจอ แล้วก็คุยกันว่าจริง ๆ เป็นโมเดลน่าสนใจคือ “Alternative Writers” (AW) ของ นิวัต กับ หมู-ปรียา พุทธประสาท เนื่องจากเขาทำงานในวงการหนังสือ ทำงานในวงการนักเขียน AW เป็นนิตยสารสำหรับวงการวรรณกรรมไทย คือแนะนำนักเขียนไทย เพียงแต่ที่เราสนใจคือรูปเล่ม ขณะที่เราเห็นหนังสือทำมืออย่างอื่น เช่น ของเด็ก ก็จะเป็นความสนใจของเด็ก เล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่ AW มีลักษณะการเป็นนิตยสารคือมีคอลัมน์ มีบทความ มีอะไรที่จริงจัง มีความเฉพาะของเนื้อหาที่นำเสนอ เพียงแต่รูปแบบของมันคือคนทำไม่มีตังค์ พูดง่าย ๆ AW เป็นซีร็อกซ์ เย็บแม็ก เราเห็นว่าทำแบบนี้กันได้นี่หว่า ในตอนนั้นดูเป็นกระแสที่มีคนทำ มีคนอ่าน ก็คุยกับพี่หมู (สุภาพ) เลยรู้สึกว่าเราเริ่มทำแบบนี้ก็ได้นี่ เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราต้องกระโดดกลับไปสู่การทำนิตยสารเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าเราจะโตมากับการทำนิตยสารแบบนั้น แต่ในแง่หนึ่ง เราก็รู้ว่ามันยากลำบากในตอนนั้น เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจหลังปี 2540 ไม่นานด้วย เศรษฐกิจยังแย่อยู่ ตลาดนิตยสารก็ตายหายกันไปหลายหัว เราเคยผ่านช่วงของการทำนิตยสารที่ต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา เราไม่มีความสามารถที่จะไปดิ้นรนแบบนั้น เราแค่อยากทำคอนเทนต์ อยากหาคนอ่านที่อาจจะสนใจอะไรเหมือนเรา เลยคิดว่ารูปแบบนี้ก็น่าลอง ไม่เป็นภาระในแง่ของการเงินการจัดการมาก  จุดนั้นเลยเป็น Bioscope เล่มแรก เป็นโมเดลหนังสือทำมือเล่มเล็ก ขนาด A5 กระดาษธรรมดาเย็บแม็ก เพียงแต่ว่าพี่หมูรู้สึกว่าการซีร็อกซ์อาจจะดูไม่ถาวรไปหน่อย ทั้งไม่น่าเก็บ และเหมือนสื่อความหมายว่าเราทำเล่น ๆ มั้ง แต่เราไม่ได้คิดจะทำเล่น ๆ ไง ดังนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิมพ์สักหน่อย ให้ดูเป็นรูปเล่มที่เก็บได้นานขึ้นอีกนิดหนึ่ง  ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

นิตยสาร Bioscope ฉบับแรก

  The People: กว่าจะปิดเล่ม Bioscope ฉบับแรก? สุภาพ: ตอนทำเล่มแรก จริง ๆ ก็ลงมือทำกันมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้คิดอะไรหรอกว่ามันพร้อมเมื่อไหร่ เราก็จะทำเมื่อนั้น ให้มันออกวางเมื่อนั้น แล้วพอใกล้ ๆ หมายถึงรวบรวมคอนเทนต์มาได้สักประมาณหนึ่ง ก็เห็นว่ามีเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ตอนปี 2543 ก็เลยว่า เอ๊ะ ถ้าเราไปขายในงานนี้ก็น่าจะดีเหมือนกัน เพราะเหมือนไปเจอคนที่มีรสนิยมต้องตรงกัน ก็พยายามเขียนให้หนังสือออกมาทันงานนี้ ซึ่งก็ทันแบบ 2 วันสุดท้าย (หัวเราะ) ก็เดินออกจากโรงพิมพ์มา แล้วหยิบหนังสือไป ตอนนั้นที่เอ็มโพเรียมเขาจัดงาน ก็เอาไปวาง พอวางปุ๊บ เห็นคนมาหยิบดูแล้วซื้อไป ๆ เข้าท่าเว้ย แต่ 2 วันสุดท้ายของเทศกาล ไอ้ที่พิมพ์มามันไม่หมดหรอก เพราะว่ามีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัดเกินไป เราก็คิดว่าจะลองหาวาระอื่น ๆ ดู เพราะตอนนั้นมีพวกบรรดาเทศกาลหนังสือทำมืออยู่เรื่อย ๆ แต่ที่เราไปจริง ๆ คือสัปดาห์หนังสือ ก็มาคิดดูว่าควรจะไปฝากที่ไหนที่ตรงกับหนังสือเรา จนไปเจอบูธ AW เลยเอาไปฝากเขา เพราะมันทางเดียวกัน ที่นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ขายเกือบหมด จากทั้งหมดที่พิมพ์มา   The People: ที่มาของชื่อ Bioscope? สุภาพ: ตอนที่จะทำก็คิดชื่อไว้ตั้งเยอะแยะมากมาย ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานที่หอภาพยนตร์ อยู่แผนกที่ทำกิจกรรม แล้วเคยทำหนังสือที่มาซัพพอร์ตกิจกรรมครั้งหนึ่ง ใช้ชื่อตัวกิจกรรมคือ ภาพยนตร์สโมสร ก็เลยเอาชื่อนี้ดีหรือเปล่า หรือจะไปข่าวภาพยนตร์ คือก็มีคนเสนอด้วยนะ คนหนึ่งที่ช่วยเราคิดชื่อ คือ ป๊อป มโนธรรม (เทียมเทียบรัตน์) ซึ่งชื่อที่ป๊อปคิดมาก็คือชื่อ Bioscope เราก็ เออ เข้าท่าดีเว้ย  Bioscope เป็นชื่อประเภทของระบบการถ่ายหนังในช่วงเวลานั้น มันมีตั้งหลายแบบที่เกิดขึ้นในแต่ละที่ เอดิสันก็มีระบบของตัวเองใช่ไหม ของตระกูลต่าง ๆ ที่คิดระบบฉายหนังขึ้นมา ก็มีชื่อเรียกของตัวเอง และ Bioscope ก็เป็นชื่อระบบฉายหนัง ถ่ายหนังแบบหนึ่ง ซึ่งใช้อยู่ยุโรปทางเหนือ ซึ่งหากไปค้นเก่า ๆ มันจะอยู่ในพวกกล้องที่ใช้ในการทำงานข่าว กล้องที่พกติดตัวไปง่าย ๆ เราก็ เฮ้ย เข้าท่าดีว่ะ เพราะหนังสือเราเป็นแบบเล็ก ๆ พกติดตัวไปง่าย ๆ เลยเอาอันนี้แหละ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นหนังสือชีววิทยาอะไรประมาณนี้ (หัวเราะ) ธิดา: เล่มแรกก็เป็นโปรดักชันอย่างที่ว่า คือเป็นหนังสือกึ่งทำมือ คือจริง ๆ ก็ไม่ทำมือ เพราะเข้าระบบการพิมพ์ แต่รูปลักษณ์เหมือนหนังสือทำมือในเวลานั้น ทีนี้เนื้อหาที่เราเลือกมา พอย้อนดูเราคิดว่ามี 2 แนวคิดรวมกัน อันหนึ่งเราอยากนำเสนอเรื่องของหนังที่อยู่พ้นไปจากตลาด คือหนังนอกกระแสหลักที่ปรากฏอยู่ในตลาดหนังบ้านเราในช่วงนั้น กับสองคือความสนใจส่วนตัว เรารู้สึกว่า โลกของภาพยนตร์มันกว้างมาก ๆ มีหนังที่น่ารู้จัก มีคนทำหนังที่น่ารู้จัก มีวิธีคิดอีกหลายแบบ แต่ว่าตลาดบ้านเรา shape ให้คนรู้จักแค่ไม่กี่แบบ เป็นแค่กลไกทางการตลาดที่ทำให้คุณรู้จักอยู่แค่นี้ แต่ในความจริงยังมีอีกเยอะ อย่างที่สองคือ เรามักจะมีคำถาม เวลาที่วงการหนังไทยพูดถึงโมเดลความสำเร็จหนังอะไรบางอย่างในต่างประเทศ เช่น ยุคหนึ่งเรามักจะพูดว่าหนังไทยไม่มีคนดู เพราะว่าหนังต่างประเทศทำ CG ดีกว่า เคยมียุคหนึ่งที่เชื่อกันแบบนี้จริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมหนังไทยต้อง CG ถึงจะสู้เมืองนอกได้ เราจะมีคำถามกับความคิดประเภทนี้อยู่เสมอ แล้วเราก็มักจะมีความคิดว่า เวลาเห็นปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งที่เรามักไม่ค่อยสนใจไปสืบค้นคือ เบื้องหลังผิวหน้าที่ดูหวือหวา น่าสนใจทั้งหลาย ที่เรารู้สึกว่าเป็นเหตุผลให้หนังประสบความสำเร็จ จริง ๆ ก่อนที่หนังจะมาสู่ตรงนั้น มีกระบวนการคิดอะไรมาก่อนบ้าง ดังนั้น ตอนทำ Bioscope ก็จะตั้งอยู่บนวิธีคิดประเภทนี้ ซึ่งเป็นตั้งแต่เล่มแรกเลย เช่น เล่มแรกเป็นหน้าปกพี่วิศิษฏ์ (ศาสนเที่ยง) เนื่องจากหนังแกจะฉายพอดี รื่อง “ฟ้าทะลายโจร”  สุภาพ: ไอ้ความฉูดฉาดที่เราเห็นในหน้าหนังของเรื่องฟ้าทะลายโจร เขาคิดอะไรกับมัน เขาได้รับอะไรมาจากตัวเขาเอง สิ่งที่บ่มเพาะเขามา จนกระทั่งออกมาเป็นภาพที่เราเห็นกัน เรื่องแบบที่เราได้ดูคืออะไร เลยไปพูดถึงเรื่องไอ้สิ่งที่อยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคาวบอย เรื่องความฉูดฉาดของสีสันทั้งหลาย  ธิดา: (พลิกดู Bioscope เล่มแรก) พอดูจริง ๆ ตอนนั้นเนื่องจากเล่มมันเล็ก มีแค่ 4 บทความเอง ก็จะเป็นเรื่อง film maker สัก 2 คน มีคนไทยหนึ่งคนคือพี่วิศิษฏ์ และอีกคนที่เราทำคือ จาง อี้โหมว ก็จะพูดแบบเดียวกันคือสิ่งที่บ่มเพาะตัวตนเขามา แล้วก็มีคอลัมน์ที่เราอยากทำ เพราะคิดว่าองค์ความรู้นี้ไม่ค่อยถูกเอามาพูดในวงการหนังไทย คือเรื่องบทหนัง ตอนนั้นเราจะพูดกันเยอะว่าหนังไทยไม่ดีเพราะบทไม่ดี แต่เรานึกออกว่าคนทำหนังไทยก็ไม่รู้จะไปหาความรู้เรื่องบทจากไหน เราเลยไปเอาหนังสือ William Goldman มาถอดความ เวลาเขาพูดถึงบทหนังแต่ละบท ซึ่งคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ยืนยงมาก ๆ ใน Bioscope ทำมา 10 กว่าปี คอลัมน์นี้อยู่มาตลอด คือคอลัมน์ว่าด้วยการเขียนบทหนัง ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

นิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนตุลาคม 2545 ฉบับเล่มใหญ่ฉบับแรก

  The People: เล่มต่อมาที่อยากพูดถึง? สุภาพ: ฉบับแรกที่เป็นเล่มใหญ่ ตุลาคมปี 2545 ครบ 2 ปีหลังจาก Bioscope เล่มแรก จะว่าไปแล้วตอนนั้นทำงานประจำบนออนไลน์ครบ 2 ปี เราก็รู้สึกว่า เราน่าจะเอาจริงเอาจังกับการทำหนังสือ กลับไปสู่รากฐานที่เราคุ้นเคย ก็ชวนกันลาออกจากแกรมมี่ แล้วก็มาทำเล่มนี้  ตอนนั้นก็… ถ้ามีโฆษณาด้วยก็ดีเนอะ เรามีคนรู้จัก ก็ไปขอโฆษณาจากพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ขอจากค่ายหนังฝรั่ง ขอจากคนที่รู้จัก ปรากฏว่าเก็บเงินได้อันเดียว อันอื่นเก็บเงินไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะว่าตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งบริษัท หน้าปกก็เป็น “15 ค่ำเดือน 11” เป็นหนังของ GTH  ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

นิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนธันวาคม 2549

  The People: Bioscope เล่มที่สามที่อยากพูดถึง? ธิดา: เล่มธันวาคมปี 2549 พอเรากลับไปย้อนดูก็ตกใจเหมือนกัน (หัวเราะ) ที่มันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนรูปโฉมโคตรบ่อย คือมีหลายรูปแบบ หลายรูปเล่มมาก เดี๋ยวเล่มเล็ก เดี๋ยวกลับไปใหญ่ ใหญ่แล้วกลับไปเล็ก ย่อไปย่อมา แล้วก็เปลี่ยนโปรดักชัน เปลี่ยนวิธีทำปก เปลี่ยนวิธีนำเสนอ มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า นิตยสารควรมีความสม่ำเสมอของรูปแบบ โดยเฉพาะรูปลักษณ์หรือเปล่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคย หยิบจับทุกเดือน แต่สำหรับเรา เราคิดว่าอาจจะเป็นเพราะว่ามันเกิดขึ้นมาเหมือนเป็นหนังสือส่วนตัวมาก ๆ ดังนั้นเลยค่อนข้างผูกโยงกับความรู้สึกของเราในแต่ละช่วงเวลามากกว่า เลยเป็นเหตุผลทำให้พอทำ ๆ ไปแล้ว เฮ้ย น่าเบื่อว่ะ เปลี่ยนดีกว่า เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่เปลี่ยนเยอะจนคนตกใจ และคนตกใจก็มีปฏิกิริยาทั้งทางบวกและทางลบ อาจจะเป็นเพราะหลังจากทำเล่มเล็กเริ่มต้นมาแล้ว 6 ปี แล้วเราคิดว่าทำไมทำฟอร์แมตย้ำซ้ำรอยเดิมอยู่เรื่อย ๆ แล้ววงการหนังก็เปลี่ยนไป คนดูหนังก็เปลี่ยนไป แล้วเรามีสิ่งอื่น ๆ ที่เริ่มสนใจ อยากพูดถึงมากกว่าที่เคยทำมา เลยเป็นวาระที่เรารื้อทั้งเล่มเลย รื้อทุกอย่าง เหลือแค่หัวที่ยังเป็นอย่างเดิม  เรามีความรู้สึกว่าหนังในโลกข้างนอก หนังมีความเปลี่ยนในแง่… มันอาจจะเป็นผลจากเทคโนโลยี คือเป็นช่วงที่ YouTube เริ่มขึ้นมาเป็นกระแสหลัก แล้วเทคโนโลยีดิจิทัลก็แพร่หลายในหมู่คนทั่วไปแล้ว ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในเล่มนี้ก็จะฉีกไป เช่น มีทั้งเรื่องภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีเรื่องเอ็มวี มีเรื่องงานทดลอง ซึ่งเป็นงานทดลองที่เล่นกับภาพ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเลย  สุภาพ: พร้อม ๆ กับเล่มนี้ก็ได้แจกหนังสือ ซึ่งต่อมามันก็มีที่ทางของตัวเองก็คือ “Fuse” (ฟิ้ว) Fuse เป็นที่ทางสำหรับคนใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อภาพเคลื่อนไหว แล้วเราคิดว่าคนเหล่านี้ควรได้รับพื้นที่ในการพูดถึงมากขึ้น ธิดา: เราอยากเป็น Fuse เพราะว่าอยากจะมีเล่มหนึ่งที่พูดถึงวงการหนังสั้นที่กำลังคึกคัก แต่พอทำ Fuse ไปสักระยะหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันมีคนติดตามเหมือนกัน แล้วเราสื่อสารกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจภาพยนตร์ในแบบเดิม ขณะเดียวกันเรารู้สึกว่าพอทำคอนเทนต์ไปแล้วก็เริ่มแยกตัวออกจาก Bioscope อย่างเห็นได้ชัด  เราว่ามันค่อนข้างมีความเสี่ยงแล้วก็มีความแปลก แต่ก็เป็นจุดขายแหละ คือเอาคนทำหนัง ที่เอาจริง ๆ นะ… ตอนนั้นคือใครวะ (หัวเราะ) คืออาจจะไม่รู้จักในวงกว้าง ขึ้นปกใครก็ไม่รู้ แล้วจะขายได้เหรอวะ แต่เรามองว่าเป็นโมเดลที่น่าลอง  ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

นิตยสาร Fuse ฉบับแรก

  The People: Bioscope มีเล่มที่เราต้องถอดบทเรียนความผิดพลาดไหม สุภาพ: เล่มมกราคมปี  2555 เล่มนี้เป็นเล่มที่สาบสูญสำหรับแฟน ๆ Bioscope จำนวนไม่น้อย (หัวเราะ) เพราะเวลาเขาไปดูที่แผง เขาจะมองหาหัวที่เขาคุ้นเคย เล่มนี้ก็คล้าย ๆ กับเล่มเมื่อสักครู่ที่บอกไปว่าเรารื้อใหม่หมด รื้อทั้งวิธีการมองคอนเทนต์ที่จะนำเสนอออกมา รื้อจนกระทั่งถึงหัวหนังสือ ซึ่งข้อด้อยของเราคือ เราลืมไปว่าการรื้อขนาดนี้ เราควรใช้เวลาสื่อสารกับคนอ่านของเรามากพอที่เขาจะรู้ว่าต้องเจอกับอะไร ฉะนั้นที่บอกว่าสาบสูญ หลายคนคือไม่ได้ซื้อเลยในช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนหัวเป็นแบบนี้ เพราะเขาคิดว่า Bioscope เจ๊งไปแล้ว  จนกระทั่งเรากลับมาเป็นหัวแบบเดิม อ้าว ยังออกอยู่อีกเหรอ เราก็บอกว่าเคยออกเล่มนี้ เขาก็บอกว่าเล่มนี้ช่วงนี้มันหายไปไหน เป็นบทเรียนอันหนึ่งของเราในเรื่องว่า ถ้าหากจะเปลี่ยนอะไรที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องสื่อสารและใช้เวลากับการสื่อสารกับคนของเราให้มาก แต่ว่าเนื้อหาอะไรข้างใน ผมคิดว่าเป็นฉบับที่เราทำออกมาได้ดี ในแง่ของอาร์ตเวิร์กอะไรทั้งหลาย ก็เป็นฉบับที่คนทำค่อนข้างพอใจมาก  ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย

นิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนมกราคม 2550

  The People: บรรยากาศการทำนิตยสารในยุคสื่อสิ่งพิมพ์? ธิดา: เวลาคนพูดถึงกอง บ.ก. โดยเฉพาะนิตยสารหนัง คนมักจะคิดว่า โห เราคงทำงานสนุกสนานมาก นั่งดูหนังทั้งวัน หรือดูหนังฟรีบ่อย ๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่หรอก (หัวเราะ) กองเราไม่ได้ต่างจากกอง บ.ก. นิตยสารอื่น ๆ เวลาส่วนใหญ่คือไม่บันเทิง การทำงานก็ปกติแหละ ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากเนื้อหาแนวอื่น แล้วความที่เราอาจจะตั้งเป้าหมายการทำคอนเทนต์ค่อนข้างจะสูงและเยอะด้วย เราคิดว่ากอง บ.ก. Bioscope หลาย ๆ ครั้งต้องผจญกับความเครียด เพราะว่าทำงานเรื่องภาพยนตร์ แต่ว่าถูกบีบคั้นให้ต้องค้นไปในสิ่งที่นอกเหนือไปจากความคุ้นเคยของเขา ส่วนใหญ่กอง บ.ก. Bioscope ใช้เวลากับการคุยกัน คือคุยกันว่าจะทำเรื่องนี้ สามารถมีวิธีมองแบบอื่นที่ทำให้คอนเทนต์ไปไกลกว่านี้ไหม หรือว่าคุณมีความทะเยอทะยานที่จะพาคนอ่านไปไกลกว่านี้อีกไหม สิ่งนี้พูดไปถึงประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้อีกไหม โดยมากการทำงานในกองเราจะเป็นลักษณะนี้ คือคุยกันแล้วก็พยายามกระตุ้นให้เขาคิดเยอะขึ้น ค้นเยอะขึ้น แล้วช่วยกันพาหนังสือไป เพราะว่าจริง ๆ คอนเซปต์ของ Bioscope ไม่ได้พูดเรื่องหนัง แต่เรากำลังพูดว่าหนังเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตที่ต่อยอดคุณไปสู่สิ่งอื่น ๆ ในโลกอีกเยอะ    The People: อะไรเป็น legacy ที่ Bioscope ส่งต่อให้กับคนอ่าน สุภาพ: คิดว่าสิ่งที่คนอ่าน Bioscope น่าจะได้ไปจากการอ่านหนังสือ ติดตามหนังสือของเราอย่างต่อเนื่อง อย่างแรกเลยคือการเปิดโลกของตัวเองในการเป็นคนดูหนังให้กว้างไปจากปกติ สามารถที่จะเปิดตัวเองกับหนังหลากหลายแนว หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายรสนิยมได้ อย่างที่สอง เราคิดว่าคนอ่าน Bioscope นอกเหนือจากการเสพเนื้อหาของตัวหนังแล้ว สิ่งที่เขาน่าจะได้จากการเปิดโลกของตัวเอง คือไปเจอกับเนื้อหาในหนังแต่ละเรื่อง รู้จักประเด็นทางสังคมต่าง ๆ รู้จักโลกที่เปลี่ยนไป รู้จักผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ   The People: คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “นิตยสารตายแล้ว” สุภาพ: เรามองว่าการสื่อสารของมนุษย์เป็นที่มาของการทำให้เกิดนิตยสารขึ้นมาบนโลก ฉะนั้นเมื่อโลกมีวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป จะบอกว่านิตยสารตายไปแล้ว มองว่าก็ตายแล้ว แต่การสื่อสารของมนุษย์ยังไม่ตาย ตั้งแต่อดีตมนุษย์รู้จักการเล่าเรื่อง มันก็รู้จักการสื่อสาร งั้นคนตายไปการสื่อสารก็ยังอยู่ เกิดนิตยสาร เกิดหนังสือพิมพ์ เกิดทีวี มันจะตายไปแล้วก็เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องปกติ แต่เนื้อแท้ที่ต้องการจะสื่อสาร ถ้าหากมันยังอยู่ คิดว่ามันก็ยังอยู่ จะเป็นรูปแบบไหนไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือในรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไป เนื้อหาสาระของการสื่อสารนั้นยังอยู่ไหม ถ้ายังอยู่ ผมคิดว่าเราไม่ได้แคร์มันนะ  ธิดา+สุภาพ: ความทรงจำต่อ Bioscope นิตยสารหนังที่เชื่อในพลังความหลากหลาย The People: จาก Bioscope สู่ Documentary Club จะทำอะไรลำดับต่อไปกัน ธิดา: ถ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่เราทำ Bioscope สิ่งที่สำคัญและเป็นตัวตนของเราคือเรื่องวิธีคิดที่เรามีต่อหนัง เรามีต่อคน เรามีต่อวัฒนธรรมการดูหนัง หรือความเปลี่ยนแปลงวงการหนัง ซึ่งแนวคิดพวกนี้พอเราเลิกทำ เราถอยจาก Bioscope แล้ว เราพบว่ายังอยู่ในตัวเรา แล้วเราก็มาทำ Documentary Club ซึ่งอาจจะมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน เพราะ Bioscope เราเป็นคนทำคอนเทนต์ แต่ว่า Doc Club เราเป็น distributor (ผู้จัดจำหน่าย) เป็นคนเอาหนังเข้ามา แต่เราก็ทำงานกับมันไม่ต่างกับธรรมชาติของเราตอนทำ Bioscope อยู่ดี คือเราทำงานคอนเทนต์ เราเอาหนังมาฉายเสมือนว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างกับวงการหนังอยู่ดี Doc Club คือ distributor ที่เอาหนังสารคดีมา เอาหนังนอกกระแสมา เอาหนังคลาสสิกมา ตอนนี้ Doc Club ทำมา 5 ปีแล้ว เหมือนเริ่มมาถึงจุดที่รู้สึกว่า น่าจะขยายไปทำอะไรอย่างอื่นที่เราอยากทำ ยังมีอีกตั้งหลายส่วนที่ยังไม่ได้จับ ฉะนั้น ตอนนี้เราก็คุยกันว่า Doc Club เข้ามาสู่การ distribute หนังที่นอกเหนือไปจากหนังสารคดีแล้ว เรามีหนังประเภทอื่น แต่ว่าอาจจะรู้ชื่อของมันเป็น Doc Club มาตั้งแต่ต้น ก็เป็นข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน เพราะบางทีคนก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ หนังที่เราเอามาคือหนังสารคดีหรือเปล่า ดังนั้น เราอาจจะอยากขยายไปทำอย่างอื่นที่ทำเพิ่มเติมขึ้นไป ที่ไม่ใช่ Doc Club อย่างเดียว ตอนนี้โปรเจกต์ที่คิดไว้คือจะทำอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ใช้ชื่อง่าย ๆ ล้อกับ Doc Club คือแพลตฟอร์มชื่อ “Film Club” เราคงทำงาน distribute เพิ่มเติม ที่ไม่ใช่หนังสารคดีอย่างเดียว ขณะเดียวกันเราคงจะทำคอนเทนต์เพิ่มเติมอีก เพราะเรารู้สึกว่าวงการหนังเปลี่ยนไป มีมิติอื่น ๆ ที่น่าพูดอีกเยอะ แต่ว่าไม่มีใครทำ ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พูดถึงภาพยนตร์ล้วน ๆ จริง ๆ แล้วก็พูดในหลาย ๆ แง่มุม นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะขยับต่อไป และน่าจะเริ่มทำในปีนี้