สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน

สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน
ข่าวต่างจังหวัดที่จะได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ มักจะเป็นข่าวที่เรียก “เรตติ้ง” ให้กับช่อง เช่น ข่าวการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่ผู้สื่อข่าวจากช่องหลักลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ถึงขั้นว่า คู่กรณีแต่ละคนก้าวขาข้างไหน? หรือข่าวการพบของประหลาดที่ตอกย้ำภาพความงมงายของคนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูของสื่อเหล่านั้นสนใจ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในต่างจังหวัด แต่ละพื้นที่ยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชน ผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐ หรือการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งประเด็นเหล่านี้หากเกิดขึ้นในต่างจังหวัดก็มักจะไม่ได้รับการรายงานในสื่อกระแสหลัก “เดอะอีสานเรคคอร์ด” จึงเกิดขึ้น เป็นสื่อท้องถิ่นที่เปิดพื้นที่ข่าวให้ชาวอีสานในประเด็นที่จริงจังสมควรได้รับความสนใจ ด้วยเสียงของคนอีสานที่ต้องการสะท้อนประสบการณ์จากมุมมองของพวกเขาเอง โดยมีเนื้อหาที่ค่อนข้างโดดเด่นในด้านศิลปะและวัฒนธรรม ปัจจุบัน เมื่อ หทัยรัตน์ พหลทัพ นักข่าวการเมืองมากประสบการณ์มารับตำแหน่งบรรณาธิการ เดอะอีสานเรคคอร์ด ฉบับภาษาไทย (เดอะอีสานเรคคอร์ดดั้งเดิมเป็นฉบับภาษาอังกฤษ) เดอะอีสานเรคคอร์ด จึงมีเนื้อหาด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น และมีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อหทัยรัตน์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ The People จึงชวนเธอมานั่งพูดคุยถึงความเป็นมาของเดอะอีสานเรคคอร์ด เจตนารมณ์ และผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาในปีนี้ สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน The People: ก่อนหน้าที่จะมาทำกับเดอะอีสานเรคคอร์ด คุณมีประสบการณ์การทำงานที่ไหนมาก่อน หทัยรัตน์: เป็นนักข่าวการเมือง เริ่มทำข่าวตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 ที่รามคำแหง ด้วยความอยากเป็นนักเขียน เลยไปสมัครเป็นผู้สื่อข่าวแล้วเขาก็รับ จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ก็ไปอยู่ไทยโพสต์ มติชน แล้วก็ทำทีวีที่ไทยพีบีเอส ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ พอมาอยู่ไทยพีบีเอสก็จะลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็แตะเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งเป็นความสนใจทีหลัง แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นความสนใจเรื่องการเมือง เพราะตั้งแต่ทำกิจกรรมนักศึกษาเราก็โตมาแบบนี้ แล้วก็จะสนใจเรื่องการเมืองสังคม มันก็เลยผลักให้เรามาเป็นนักข่าวการเมือง   The People: เดอะอีสานเรคคอร์ด มีจุดเริ่มต้นอย่างไร หทัยรัตน์: อีสานเรคคอร์ด ตั้งมาเป็นภาษาอังกฤษโดยชาวอเมริกันสองคนที่มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สอนภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเขาอยากทำเกี่ยวกับเรื่องราวในอีสาน เพราะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอีสานไม่ออกมาเป็นข่าวภาษาอังกฤษ หรือไม่ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ เขาก็เลยทำเว็บไซต์ขึ้นมา เรียกตัวเองว่า เดอะอีสานเรคคอร์ด เขามาสอนชั่วคราวในโครงการ Princeton in Asia  พอเขากลับไปอเมริกา ก็มีนักวิชาการคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับสองคนนี้เห็นว่าน่าจะมีการสานต่อ เขาก็เลยทำต่อ แล้วทำเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อให้มันตอบโจทย์ อย่างน้อยก็จะหาทุนมาด้วยง่าย เลยทำเป็นสองภาษา เข้าใจว่าประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา ก็จะทำเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหลังรัฐประหาร เรื่องศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของอีสานเรคคอร์ด ถ้าคนอ่านจะรู้สึกว่าเรื่องวัฒนธรรมจะเป็นเรื่องเด่น แต่พอเราเข้าไปทำ การเมืองก็จะเป็นเรื่องเด่นมากกว่า ตอนนี้วัฒนธรรมกับการเมืองของอีสานเรคคอร์ดก็จะไปคู่ ๆ กัน   The People: การมีสื่อประจำท้องถิ่นต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างไร หทัยรัตน์: ถ้าเราเป็นสื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ สื่อท้องถิ่นที่ส่งมาส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวต่างจังหวัดก็จะเป็นสตริงเกอร์ (stringer - นักข่าวอิสระที่ขายงานเป็นรายชิ้นให้สำนักข่าวต่าง ๆ) เป็นคนผลิต เนื้อหาก็น้อยนักที่จะถูกหยิบยกมาเป็นข่าวเด่น หรือข่าวเจาะลึก พอมีสื่อท้องถิ่น ก็จะเป็นเรื่องเล่าของคนจากท้องถิ่น เขาเป็นคนเล่าเองด้วยสายตาของคนในที่ต้องการสื่อสารเรื่องราวของเขา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเขามีตัวตนและจับต้องได้ สัมผัสได้ง่ายกว่าที่คนนอกเข้าไปสัมผัส หรือว่าเป็นคนเล่าแทน เท่ากับว่าให้เขาเล่าเรื่องเอง แล้วเราไปช่วยให้เขาเล่าเรื่องให้คนอื่นเข้าใจได้มากขึ้น   The People: เรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และทำงานในกรุงเทพฯ มาตลอด พอต้องกลับไปทำงานที่ขอนแก่น เคยคิดมั้ยว่าเราเองก็เป็นคนนอก หทัยรัตน์: ด้วยความที่เราใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ เกือบ 20 ปี มันเกือบทำให้เรากลายเป็นคนเมืองไปแล้ว หลายครั้งก็รู้สึกว่าเราไปพูดภาษากลางกับชาวบ้าน คือชาวบ้านที่ขอนแก่น (ที่ตั้งของเดอะอีสานเรคคอร์ด) หรือจังหวัดใกล้เคียงในอีสาน ส่วนใหญ่ก็พูดภาษาลาวท้องถิ่น ซึ่งแต่ละสำเนียงก็จะไม่เหมือนกัน บางทีเราก็เผลอพูดไปด้วยความที่หลงคิดว่า เขาพูดภาษาเหมือนเรา แต่เขาก็มีภาษาของเขาเอง  ดังนั้นตอนแรกที่เข้าไปอยู่ เราอาจมองด้วยสายตาของคนนอก แต่พอเข้าไปสัมผัสมาก ๆ เราพยายามทำความเข้าใจความเป็นเขามากขึ้น แล้วแบ็กกราวนด์ของเราก็เป็นคนอีสาน (จังหวัดหนองบัวลำภู) ก็ทำให้เราใช้เวลาปรับตัวไม่นาน การที่เราพูดภาษาเขาได้มันเข้าถึงเขามากกว่า แล้วก็ไม่ได้มองเขาด้วยสายตาของคนนอกอย่างที่เราเคยอยู่กรุงเทพฯ แล้วไปทำข่าวต่างจังหวัด แล้วมองเขาในอีกสายตาหนึ่ง  เช่น กรณีไปรายงานข่าวที่ปทุมรัตต์ (จังหวัดร้อยเอ็ด) ที่มีการเตรียมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล แล้วก็โรงงานน้ำตาล ที่นั่นชาวบ้านพูดภาษาลาว แต่ก็มีบางภาษาอย่างเช่น ภาษาโซ่ง ภาษาขแมร์ แต่เราก็ใช้ภาษาลาวในการสื่อสารกับเขา เขาก็เข้าใจเรา เราต้องเข้าใจความเป็นอัตลักษณ์ของเขา แต่ด้วยความที่เราพูดภาษาลาวได้ พูดภาษาอีสานได้ มันทำให้เข้าถึงจิตใจเขาได้มากกว่า เพราะชาวบ้านบางคนก็ไม่พูดภาษากลางเลย   The People: ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานกับเดอะอีสานเรคคอร์ด หทัยรัตน์: ตอนที่ลาออกจากไทยพีบีเอสคือเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์ ตอนนั้นเตรียมจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ คือได้ทุนที่สถานทูตอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ติดต่อกันมา 3 ปี แล้ว แต่สอบภาษาอังกฤษอย่างไรก็ไม่ผ่าน เลยตัดสินใจไปเรียนภาษาอังกฤษที่อังกฤษ เพราะมหาวิทยาลัยที่อังกฤษก็ตอบรับมาแล้ว 2-3 มหาวิทยาลัย สถานทูตก็เตรียมจะออกเงินให้เรียบร้อยแล้ว แต่สอบภาษาอย่างไรก็ไม่ผ่านอีก เลยเขียนหนังสือสละทุน เพราะมันไม่ผ่านแล้ว ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย คือเป็นโรคเครียดสะสม เลยทำให้เรารู้สึกว่า แรงกดดันบีบบังคับตัวเองในการสอบมาก ๆ ก็ทำให้เรารู้สึกไม่ไหว ต้องเบรกแล้ว จังหวะที่เบรก มีคนที่ทำงานที่เดอะอีสานเรคคอร์ดมาชวนว่า ลองมาทำที่เดอะอีสานเรคคอร์ดมั้ย ตอนนั้นเราก็เบื่อเมืองด้วย ด้วยช่วงจังหวะของการเบื่อเมือง จังหวะที่อยากจะเบรกตัวเอง อยากทำอะไรที่ซอฟต์ ๆ ลง เลยตัดสินใจกลับบ้าน ตอนนั้นด้วยความที่เรารู้จักชาวต่างชาติคนหนึ่งที่ทำงานในอีสานและขอนแก่นมานานมาก ก็เล่าให้แม่ฟัง แม่ก็พูดประมาณว่า "ทำไมชาวต่างชาติอยากมาพัฒนาบ้านเรา ทำไมลูกสาวแม่ไม่อยากมาพัฒนาบ้าง?" เลยจุดประเด็นให้คิดว่า ถึงเวลากลับบ้านแล้วรึเปล่า เลยตัดสินใจกลับบ้าน สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน The People: ทำข่าวการเมืองในกรุงเทพฯ กับข่าวการเมืองในอีสานต่างกันมากมั้ย หทัยรัตน์: การเมืองระดับชาติเป็นเรื่องที่เราเกาะติดอยู่แล้ว แต่ไม่ได้พุ่งตรงเหมือนสมัยก่อนที่เราเกาะติดวันต่อวัน ก็ดูว่ามีอะไรที่เราสามารถลิงก์มาเป็นคอนเทนต์ของอีสานเรคคอร์ดได้บ้าง คือการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับประเทศต่างกันมากเพราะว่า การเมืองระดับท้องถิ่นเขาไม่ได้พูดเยอะเหมือนการเมืองระดับประเทศที่นายกรัฐมนตรีพูดทุกวัน หรือมีนักการเมืองพูดทุกวัน หรือมีสภาฯ หรือนักข่าวที่เจอที่ทำเนียบทุกวัน คือต่างโดยสิ้นเชิง แล้วตอนหลังที่เรามาสนใจการเมืองระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้สนใจว่าจะไปเกาะเรื่อง สส. หรือจะไปเกาะเรื่องนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนใหญ่เราเกาะเรื่องชาวบ้าน ดูปรากฏการณ์ของชาวบ้าน ดูปรากฏการณ์ของนักศึกษา ดูปรากฏการณ์ของผู้คน โดยไม่ได้ดูตำแหน่งแห่งหนอะไรเลย   The People: การเคลื่อนไหวด้านการเมืองของคนอีสานมีความคึกคักแค่ไหน หทัยรัตน์: เราเพิ่งมาเกาะเรื่องนี้ตอนที่มาทำที่อีสานเรคคอร์ดได้ปีหนึ่ง ส่วนใหญ่เราเห็นการเติบโตของขบวนการชาวบ้าน เขาเรียกร้องสิทธิตัวเอง อย่างเรื่องโรงงานน้ำตาล มันก็เป็นการเมืองของชาวบ้านต่อโครงการพัฒนาของรัฐ เราว่าเขาตื่นตัวมากจนเรารู้สึกว่า เขาพูดเก่งกว่านักพูดบางคนด้วยซ้ำไป มันมาจากความเจ็บปวด มาจากการถูกกระทำ เลยทำให้เขาเติบโตทางความคิดโดยไม่ต้องจัดตั้งอะไรเลย  สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถพูดต่อหน้าสื่อสาธารณะ แล้วสามารถพูดไฮด์ปาร์กได้ ชักจูงผู้คนได้ มาจากประสบการณ์ตรงของพวกเขา พวกนี้สอนกันให้ตายก็ไม่ได้ ถ้าไม่ได้เกิดมาจากประสบการณ์ตรง เรารู้สึกว่าชาวบ้านเขาเติบโตมาก เติบโตเพราะความเจ็บปวด เพราะการถูกกระทำ   The People: หนึ่งในซีรีส์เด่นของเดอะอีสานเรคคอร์ด คือเรื่อง 1 ทศวรรษ พฤษภาคม 2553 อยากให้เล่าเบื้องหลังของการทำเรื่องนี้ หทัยรัตน์: ตอนที่เราเบรก เราคิดอยากเขียนหนังสือเรื่องการเมือง พอมาคุยกับทีมว่า จะมีเรื่อง 10 ปี พฤษภาคม 53 นะ เราควรทำอะไรรึเปล่า? เราควรจะสรุปบทเรียนมั้ย? เพราะว่าสังคมไทยไม่ควรเกิดแบบนี้แล้ว เราอยากรู้ว่าสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมอีสาน ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนั้นบ้าง เพราะถ้าจำกันได้ ปี 53 คนอีสานเข้ามาชุมนุมที่นี่เยอะมาก ชุมนุมที่กรุงเทพฯ หากย้อนดูข้อมูล คนอีสานถูกกระทำมากในเหตุการณ์ครั้งนั้น แล้วก็เสียชีวิตมากที่สุด จาก 94 คน คนอีสานเสียชีวิต 36 คน จากคนที่มีบัตรประชาชนเป็นคนอีสาน แล้วก็คนอื่นที่เป็นประชากรแฝง แล้วย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ อันนี้เราไม่ได้มีข้อมูลชัดเจน แต่ว่าคนที่มีบัตรประชาชนเป็นคนอีสานเนี่ย 36 คน มันก็ทำให้เราอยากรู้ว่า เขามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วชุดความคิดของเขาคืออะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาเข้ามาชุมนุมที่นี่ และตายที่นี่ เป็นการอยากถอดบทเรียน และถอดชุดความคิดของผู้คนมากกว่า   The People: อยากให้เล่าถึงเสียงสะท้อนของคนอีสานจากที่ได้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับฉายาว่า “ควายแดง” หทัยรัตน์: ในซีรีส์เรื่องนี้ทำกันหลายคน มีทั้งการถอดบทเรียนจากหนังสือที่คนอื่นทำในเชิงวิชาการ หรือเรื่องที่เขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวที่เราได้สัมภาษณ์นักวิชาการที่ทำเกี่ยวกับวาทกรรมเสื้อแดง แล้วก็สัมภาษณ์คนที่ถูกจับติดคุกโดยไม่ได้มีความผิดอะไรเลย แต่เพียงแค่ว่าในวันนั้นเขาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ แต่ว่าในเชิงข้อเท็จจริงคือ เขาเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ได้เข้าไปเผาศาลากลาง อย่างที่เราไปจังหวัดอุบลราชธานี เขาสะท้อนมาว่า เขามีชุดความคิดว่า เขาเลือกพรรคการเมืองและปกป้องพรรคการเมือง โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าบุคคลในพรรคจะเป็นใคร แต่เขาชอบไอเดีย แล้วสนับสนุนแนวความคิดของพรรคนี้ การชุมนุมครั้งนั้นเขาเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยของเขา  สิ่งที่เราได้พูดคุยกับเขาก็คือ 10 ปีที่ผ่านมา มันสร้างความเจ็บปวดให้กับจิตใจ ซึ่งเป็นบาดแผลที่ไม่สามารถลบเลือนได้ คนหนึ่งที่เราสัมภาษณ์ชื่อพี่สมศักดิ์ อายุประมาณ 60 ปี เขาอยู่ในเรือนจำ 7 ปี กับ 8 เดือน โดยไม่ได้มีความผิดเลย แล้วพ่อแม่เขาตายระหว่างติดคุก ตัวเองเป็นอัมพาตระหว่างอยู่ในคุก พอออกมา...คือ ทุกอย่าง ครอบครัวล่มสลาย มันแตกไปหมด ตอนนี้เขาออกจากเรือนจำมาโดยที่ตัวเองก็ล้มป่วย ชีวิตมีแต่ความแห้งเหี่ยว มันไร้ความหวัง ไม่รู้จะสรุปบทเรียนว่าอย่างไรดี เพราะองค์กรของรัฐอะไรต่าง ๆ ก็ไม่เคยสรุปบทเรียนอะไรเรื่องนี้เลย ชาวบ้านเขาก็สรุปบทเรียนด้วยความเจ็บปวดว่า เราจะเบรกไว้ แต่ว่าเราไม่ได้ยอมแพ้นะ เราจะไปต่อ แต่เราขอแค่รอเวลา โดยเฉพาะเรื่องควายแดงเหมือนกัน สัมภาษณ์อาจารย์เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ ที่ทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการที่อังกฤษ ก็เห็นชุดความคิดว่า คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนในเมืองมองว่า บุคคลเหล่านี้เขาไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยแบบที่คนอื่นเข้าใจ แต่เขาเป็นคนโง่ที่ถูกหลอกมาชุมนุม ดังนั้น สิ่งที่เขาถูกกระทำกลางเมือง ไม่ว่าจะถูกอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว บางข้อความใช้ว่า "คุณโง่ คุณสมควรตาย" มันทำให้เราสะท้อนว่า เกิดเรื่องราวแบบนี้ในสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะสังคมเมืองที่เห็นว่า คนจนไม่ควรมีพื้นที่ คนจนสมควรถูกฆ่าตาย ซึ่งตอนนั้นอาจมีหลายเหตุผลที่จะอธิบาย แต่นี่คือสิ่งที่เราเจอ แล้วก็เป็นงานวิจัยที่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้ สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน The People: สื่อในกรุงเทพฯ มีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของคนอีสานค่อนข้างมาก เดอะอีสานเรคคอร์ดวางตัวอย่างไรในเรื่องนี้ หทัยรัตน์: ตอนที่เรามาอยู่ในเมือง หลายครั้งที่เราพูดภาษาลาวท้องถิ่น เราจะถูกล้อเลียนว่าพูดเสียงในฟิล์ม ซึ่งมันจะทำให้คนอีสานที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กลบอัตลักษณ์ของตัวเอง ด้วยการพยายามพูดให้เป็นภาษากลาง ไทยกลางที่สุด ดังนั้น บางคนที่ถูกล้อเลียน ถ้าในคนอีสานด้วยกัน ถ้าพูดไทยคำท้องถิ่นคำ เขาจะเรียกว่า "ตกลาว" เหมือนกับพูดภาษากลางไม่คล่อง อันนี้ก็จะทำให้เขารู้สึกว่า เขาถูกกระทำถ้าหากเขาพูดผิดไป ก็จะทำให้เขาพยายามแสดงตัวตนให้เป็นไทยที่สุด ไม่ได้มีความภูมิใจอัตลักษณ์ภาษาลาว แต่ว่าคนท้องถิ่น เขาพูดภาษาลาวอีสาน เวลาพูดกลางเขาค่อนข้างเหนียมอาย เพราะกลัว "ตกลาว" กลัวคนภาคกลางไม่เข้าใจ ดังนั้น เขาก็จะปฏิเสธไม่พูดภาษากลาง แต่ความจริงแล้วคนอีสานส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังคงพูดภาษาลาวอีสานอยู่ ถ้าเขาอยู่ในพื้นที่อีสาน เขาสามารถแสดงอัตลักษณ์ตัวตนได้มากกว่า แต่ถ้าหากเขาไปพื้นที่อื่น เขาก็จะพยายามไม่แสดงตัวตนมากเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ คนในอีสานที่เป็นคนชั้นกลาง หรือว่าเป็นคนที่มีการศึกษามากแล้ว จะสอนให้เด็กพูดภาษาไทยกลางจากบ้าน แม้กระทั่งหลาน (หลานของหทัยรัตน์) เขาก็พูดภาษาไทยกลางกับคนที่บ้าน ไม่ได้พูดภาษาท้องถิ่นแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราเจอตอนนี้ก็คือ เด็กรุ่นหลังอาจจะพูดภาษาท้องถิ่นน้อยลง แล้วไม่แน่ใจว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า คนในอีสานส่วนใหญ่อาจจะพูดภาษากลาง อาจจะถูกกลืนทางภาษาไปแล้วก็ได้ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  ทางอีสานเรคคอร์ด สิ่งที่เราทำก็คือ พยายามสร้างพื้นที่ให้ทั้งคนที่เป็นนักวิชาการ คอลัมนิสต์ ได้กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้ได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง แล้วก็...ไม่ได้ใช้คำว่า ท้องถิ่นนิยมหรืออีสานนิยม แต่พยายามให้คงอัตลักษณ์ของตนเอง  บางบทความที่เราสัมภาษณ์ เรายังคงภาษาดั้งเดิม แต่มันก็เป็นการแก้ไขที่ยาก เพราะเราไม่รู้ว่า ภาษาลาวแบบไหนที่เขียนถูก เพราะเราเขียนตามคำพูดของเขา เช่นคำว่า "บ่"  ภาษาไทยจะเขียนว่า "บ่อ" แต่ภาษาลาวก็เขียนว่า "บ่" คือเราไม่รู้ว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด เท่ากับว่า ตอนนี้ภาษาลาวอีสานไม่มีตัวตนทางภาษาเขียน แต่ภาษาพูดมี   The People: แง่มุมทางวัฒนธรรมของเดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นอย่างไรบ้าง หทัยรัตน์: ส่วนใหญ่เรื่องที่เราทำ จะเป็นงานที่คนเขียนเข้ามา คนที่เด่น ๆ ก็จะเป็นคุณวิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสือที่อุบลราชธานี เขาเป็นนักอ่าน เวลาเขาเขียนหนังสือก็จะรวบรวมข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อีสาน เรื่องวัฒนธรรม มาเล่าให้ฟัง อันนี้ทำให้อีสานเรคคอร์ดมีเรื่องเด่นในเชิงวัฒนธรรม พี่วิทยากรก็มีชุดความคิดอย่างหนึ่งคือว่า เขาอยากกระตุ้นให้คนในอีสานได้คงอัตลักษณ์ ได้คงวัฒนธรรมของตนเอง อย่างลุงมาโนช พรหมสิงห์ ก็เป็นนักเขียนในอีสานที่เด่น ๆ ที่เขียนให้เรา ส่วนใหญ่ก็จะพูดในเชิงความคิด ในเชิงการเมือง วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ควรถูกรักษาและทำนุบำรุงไว้ต่อลูกหลาน ลุงมาโนชตอนนี้จะ 70 ปีแล้ว เขาจะมีชุดความคิดผ่านงานเขียนต่าง ๆ ว่า พวกเราไม่ควรจะหลงลืมอัตลักษณ์ของตนเอง อีกสิ่งที่ลุงมาโนชเขียนคือเรื่องการเมืองท้องถิ่น ในเรื่องการแสดงสิทธิของตนเอง การแสดงพลังโดยการพูดและการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่ทำให้อีสานเรคคอร์ดเด่นขึ้นมา   The People: เดอะอีสานเรคคอร์ดมีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและอังกฤษ เนื้อหาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร หทัยรัตน์: ส่วนใหญ่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะล้อกันไป โดยเฉพาะเวลาทำซีรีส์ ส่วนใหญ่ก็จะออนไลน์พร้อมกัน เนื้อหาก็มีต้นฉบับที่เป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เราจะปรึกษากันว่า เรื่องนี้จะถูกนำเสนอภาษาไทยภาษาอังกฤษแบบไหน เพราะบางเรื่องของภาษาไทยถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ ชาวต่างชาติก็จะเข้าใจยาก จึงไม่ได้แปลไปทุกเรื่อง แต่ว่าจะปรึกษากันว่าสนใจมั้ย? แต่ส่วนใหญ่ก็จะล้อกันไป    The People: เรื่องที่ผู้อ่านต่างชาติสนใจจะเป็นประเด็นประมาณไหน หทัยรัตน์: ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่อง 1 ทศวรรษ พฤษภาคม 2553 พอถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ยอดผู้ติดตาม ยอดคนไลก์ฝั่งภาษาอังกฤษก็จะโตขึ้น เหมือนกับว่าเขาก็สนใจ หรือแม้กระทั่งที่เราสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เรื่องมาตรา 112 พอแปลเป็นภาษาอังกฤษ เสียงตอบรับจากผู้อ่านต่างชาติ จากเพื่อนที่อยู่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาก็บอกว่า มันดีนะที่มีการสัมภาษณ์แบบนี้ แล้วก็มีการถามคำถามแบบนี้ เพราะไม่ค่อยได้เห็นในสื่อไทย ส่วนใหญ่เขาก็สนใจเรื่องแบบนี้   The People: คนอ่านเดอะอีสานเรคคอร์ดเป็นคนกลุ่มไหนบ้าง หทัยรัตน์: เท่าที่ดู ส่วนใหญ่ยังเป็นคนท้องถิ่นอยู่ แต่ก็มีคนนอกพื้นที่อีสานมาสนใจมากขึ้น แล้วปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเองก็ไม่ได้หาคำตอบเลย คือคลิปหนึ่งเกี่ยวกับคนอีสานที่อยู่กรุงเทพฯ ในช่วงโควิด-19 แล้วตกงาน กลายเป็นคนไร้บ้าน คลิปนั้นตอนนี้ (กลางเดือนกรกฎาคม 2563) น่าจะมียอดคนดูกว่า 3 ล้านครั้งไปแล้ว มันทำให้เราคิดว่า ทำไมคลิปนี้ถึงได้เติบโตขนาดนี้ ใครเป็นคนดูเรา? เราจะต่อคอนเทนต์ไปแบบไหน? เพราะว่าปรากฏการณ์นี้มันน่าสนใจ เราก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะไปในทิศทางไหนหลังจากคลิปนั้น เพราะเรายังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลว่า คลิปที่สร้างยอดวิวได้ 3 ล้าน คนดูมาจากไหน อันนี้ยังเป็นคำถามอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ คนดูส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนอีสาน   The People: อะไรคือจุดแข็งของเดอะอีสานเรคคอร์ด หทัยรัตน์: มันมีความเฉพาะ คนอื่นเขาไม่ทำ ถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ ทำสื่อที่กรุงเทพฯ มันก็อาจจะแยกตลาดกับคนอื่น พออยู่ในพื้นที่ แล้วเรามีคอนเซปต์ชัดเจนว่า เราต้องการสื่อเพื่อคนอีสาน มันทำให้กลุ่มเป้าหมายของเราชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น เวลาเราได้รับคอมเมนต์มาจากเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้เราโฟกัสชัดเจนว่า เรามาถูกทาง เราทำสื่อไม่ใช่คนชายขอบทำหรือทำเพื่อคนชายขอบ แต่ทำสื่อเพื่อท้องถิ่นที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกโฟกัสจากสื่อส่วนกลาง แต่เป็นสื่อที่คนท้องถิ่นทำเอง เราไม่ได้แข่งกับสื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ แต่เราต้องการให้คนหันมามองว่า พวกเรามีตัวตนอยู่นะ   The People: อีสานก็เป็นพื้นที่ใหญ่ เราเลือกประเด็นจากพื้นที่ย่อย ๆ ลงไปทำอย่างไร หทัยรัตน์: ส่วนใหญ่ก็เป็นความสนใจของกองบรรณาธิการ อีกส่วนหนึ่งคือสถานการณ์สร้างข่าวให้เราด้วย อย่างเช่น กรณีโรงงานน้ำตาล หรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการโขง ชี มูล หรือว่าอะไรที่เกิดในอีสาน อันนี้คือประเด็นสร้างข่าว และอีกอันคือคนข่าวสร้างประเด็น คือคนในกองบรรณาธิการหยิบประเด็นขึ้นมาว่าเราจะทำเรื่องอะไร หรือว่าแพลนปีนี้เราต้องการทำเรื่องอะไร เพราะเราไม่ได้ทำข่าวรายวัน แต่เราทำข่าวเป็นประเด็น ๆ ไป พยายามทำเป็นข่าวเจาะ และซีรีส์มากกว่า ซึ่งตั้งแต่เราเข้ามาก็ทำไป 3 ซีรีส์แล้ว ตั้งแต่ ความหวานกับอำนาจ เรื่อง 1 ทศวรรษ 53 แล้วก็เรื่องหมอลำ  3 ซีรีส์นี้ ทำให้เรารู้สึกว่า การทำซีรีส์ทำให้เรารู้ที่มาที่ไป แล้วมันก็มีบทสรุป จบ ทำให้มองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็มีซีรีส์ที่จะทำอีกหลายประเด็น อย่างเช่นเรื่อง เมียฝรั่ง ที่เป็นประเด็นถกเถียงในปีที่แล้ว และยังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ และจะเป็นปรากฏการณ์ที่พูดต่อในอนาคต แล้วก็คิดว่า มันน่าจะอยู่กับสังคมไทยไปในชั่วระยะหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราจะทำ  โดยเฉพาะเรื่องการเติบโตของประชาธิปไตยในอีสาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เราเตรียมที่จะทำ แล้วคิดว่า ทำไปแล้วเราจะเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในอีสาน สัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” สื่อบันทึกและสะท้อนเสียงคนอีสาน The People: การทำประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคมหลายเรื่อง มันมีแรงเสียดทานกลับมาที่ตัวเราบ้างมั้ย หทัยรัตน์: มีนะคะ มีมากพอสมควร แต่ก็ไม่ทำให้เราเปลี่ยนทิศทางหรืออุดมการณ์ในการทำงาน เสียงตอบรับไม่ว่าจะบวกหรือลบจากที่เราเสนอข้อมูลไป เราก็เก็บเป็นฐานข้อมูลว่า เสียงสะท้อนแบบนี้มาจากงานแบบนี้ แล้วก็นำไปสู่การพัฒนา  อย่างกรณี 1 ทศวรรษ พฤษภาคม 2553 เสียงส่วนใหญ่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า เราจะมา "รื้อฟื้นหาตะเข็บทำไม?" กับ "เป็นสื่อไม่ควรสร้างความแตกแยก" อะไรแบบนี้ หรือแม้กระทั่งบางคนจะบอกว่า บุคคลเหล่านั้นกระทำความผิด ก็สมควรได้รับการลงโทษ มันก็ทำให้เราเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อที่จะสานงานต่อ ถามว่ามันบั่นทอนต่อการทำงานมั้ย? เราก็ไม่คิดว่าจะเป็นอุปสรรคอะไรขนาดนั้น   The People: ทำงานในเมืองหลวงกับทำงานในอีสาน อะไรให้ความสุขกับใจเราได้มากกว่ากัน หทัยรัตน์: ที่กรุงเทพฯ เราอาจจะใกล้แหล่งข่าว ใกล้ผู้คน ใกล้ข้อมูลใหม่ แต่ด้วยความที่กรุงเทพฯ มีการจราจรที่ติดขัด มันก็บั่นทอนจิตใจ คือก็มีความสุขคนละอย่าง พอไปอยู่ที่ขอนแก่น เรากำหนดได้ว่า เราจะไปที่นี่ใช้เวลา 15 นาที หรือ 10 นาที ไม่ได้ทำลายจิตใจเท่าในกรุงเทพฯ การอยู่ในกรุงเทพฯ ทำงานในสื่อใหญ่ มันตอบโจทย์ชีวิตในช่วงหนึ่งได้ การมีผู้ติดตามผลงานจำนวนมาก ก็ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มได้ในชั่วขณะหนึ่ง แต่พอมาทำสื่อเล็ก ๆ กองเคลื่อนไหวเล็ก ๆ มันก็ตอบโจทย์ เราก็พยายามสร้างความสนใจให้ผู้คนมองมาที่เราเหมือนกัน ก็เป็นความสุขคนละอย่าง