สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง

สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง

"คือคนที่บอกว่า... นักแสดงแค่จำบทแล้วพูด มันเหมือนคนที่บอกว่าเป็นนักบัญชีแล้ว บวก ลบ คูณ หาร เป็น มันพูดแบบนี้มั้ง จริง ๆ มันมีอะไรลึกกว่านั้นมาก แต่ละอาชีพ แต่ละทุกอย่าง มันรายละเอียดที่มากกว่านั้น"

หากโลกนี้คือละคร ทุกคนย่อมแสดงบทบาทตามหน้าที่ที่ตัวเองได้รับ ก่อนประสบการณ์จะหล่อหลอมให้เรามี “ตัวตน” หนึ่งๆ ในระยะเวลาต่อมา ทว่ามีหนึ่งอาชีพที่ต้องละทิ้ง “ตัวตน” เพื่อแสดงเป็น “คนอื่น” อยู่บ่อยครั้ง นั่นคืออาชีพนักแสดง ในบรรดานักแสดงหน้าใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ เป็นหนึ่งคนที่มีทักษะการแสดงโดดเด่นที่สุด ถึงแม้รายชื่อผลงานจะยังไม่มีจำนวนมากนัก ทว่าแต่ละบทบาทที่ได้รับ กลับมีความสุดขั้วและมีมิติสวิงสวายมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นเขาก็สามารถพิสูจน์ความสามารถด้านการแสดง ด้วยการทำให้คนดูเชื่อว่าเขา “เป็น” ตัวละครนั้นจริงๆ ไล่ตั้งแต่ “ซัน” หนุ่มมาดทะเล้นจาก “Hormones วัยว้าวุ่น”, “พัฒน์” เด็กชายบ้านรวยจาก “ฉลาดเกมส์โกง”, โดยเฉพาะ “บู” ผู้ดำดิ่งกับโรคซึมเศร้าจาก “SOS skate ซึม ซ่าส์” บทบาทที่เจมส์บอกว่า ไม่มีวันกลับไปเป็นคนๆ นั้นอีกแล้ว “เราติดกับบทบาทบูอยู่ 3 เดือน ต้องใช้เวลาออกจากบทบาทนั้นค่อนข้างนาน ค่อยๆ ปล่อยและใช้ชีวิตของเราต่อไป คอยเตือนสติตัวเองไม่ให้จมอยู่กับตัวละครนั้น เพราะเวลาจมไม่ได้จมแค่ท่าทางหรือบุคลิก แต่มันจมทั้งทัศนคติและความคิด” ไม่นานมานี้เขามีผลงานการแสดง 2 เรื่องใกล้ๆ กัน คือบท “เวกัส” เด็กเนิร์ดจาก “เลือดข้นคนจาง” และล่าสุดกับตำแหน่งนักแสดงนำชายเรื่องแรกในภาพยนตร์ “Homestay” บทบาทวิญญาณเร่รอนที่เข้ามาสิงร่าง “มิน” ซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้ภายใน 100 วันว่า "มินตายเพราะใคร" หากโลกนี้คือละคร แล้วเด็กหนุ่มที่ต้องแสดงเป็นคนอื่นอย่างเขามีวิธีการรักษาตัวตนอย่างไร? แล้วอะไรคือตัวตนที่แท้จริงของ เจมส์ ธีรดนย์?   สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง  

The People: เจมส์เติบโตมาในชีวิตแบบไหน

ธีรดนย์: ครอบครัวปกติครับ มีพี่สาวสองคน มีน้องชายหนึ่งคน เรียนโรงเรียนเดียวกับพี่มาตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมปลาย ถามว่าเป็นเด็กที่เรียนเก่งไหม จะเรียนดีแบบปานกลางมาตลอด แต่ไม่ใช่เด็กขยันนะครับ เหมือนหัวเราจะโดดเด่นด้านคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งคณิตศาสตร์ และเป็นเด็กที่แข่งหมากรุก แข่งเทนนิสด้วย  

The People: อยากเป็นนักแสดงตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลยไหม

ธีรดนย์: ไม่ครับ ไม่ได้อยากเป็นตั้งแต่เด็ก  

The People: อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจมส์อยากเข้ามาเป็นนักแสดง

ธีรดนย์: เริ่มจากตอน ม.4 ที่เราย้ายโรงเรียนแล้วเจอเพื่อนใหม่ และเป็นช่วงที่โรงเรียนให้ไว้ผมยาวมากขึ้นด้วย ก็มีโมเดลลิ่งสนใจและติดต่อมาหาเรา เขาก็ให้เราลองไปแคสต์งานโฆษณาหรืองานอื่นๆ เราก็เริ่มรู้สึกสนุกไปกับมัน เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราคิดว่าเวลามีชื่อเสียงแล้วมันเท่ ก็เลยอยากทำงานในวงการนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในวงการจริงๆ คือตอนเจอทีมสเกาท์ของ “Hormones The Next Gen” พอได้ทำงานในวงการแล้วเรารู้สึกว่าใช่ ผมว่ามันเป็นความชอบส่วนบุคคล บางคนมาลองมาทำตรงนี้เขาอาจไม่ชอบก็ได้ มันเป็นอาชีพที่กดดันและเหนื่อยเหมือนกัน ใช้เวลาชีวิตเยอะมาก แต่พอเราทำเรามีไฟ มีแพชชั่น (Passion) เราอยากทำให้ดี  

The People: พอเข้ามาเป็นนักแสดงเต็มตัว ทำให้ช่วงชีวิตวัยรุ่นหายไปไหม

ธีรดนย์: ไม่ครับ ไม่รู้สึกว่าหายไป ผมเข้าวงการมาตอนปลายๆ ม.5 ซึ่งตอน ม.6 ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากมาย ผลงานชิ้นแรกก็มีคนรู้จักบ้าง แต่เราก็ใช้ชีวิตกับเพื่อนได้ปกติเหมือนเดิม ก่อนเข้าวงการเราก็ใช้ชีวิตวัยรุ่นคุ้มแล้วเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นของผมไม่ได้หายไป   สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง  

The People: เห็นด้วยกับคำว่า “โลกคือละคร” ไหม

ธีรดนย์: มีหลายมุมมองนะครับ ผมเพิ่งอ่านเจอในเฟสบุ๊คว่า ที่จริงการที่เรามาประกอบอาชีพๆ หนึ่งก็เหมือนกับเราแสดงละครอยู่ เช่น เราทำงานบริการ ก็สวมบทเป็นพนักงานบริการ เวลาไม่พอใจก็ไม่สามารถปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้ 100% กับบทบาทนักแสดงก็ไม่สามารถเปิดตัวตนออกมาได้ทุกที่ แม้แต่ศิลปินเองก็ไม่สามารถเป็นตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว เวลาทำงานแต่ละคนมันมีบทบาทในชีวิตครับ คุณมีบทบาทเป็นตากล้อง คุณก็ต้องถ่ายรูป กลับไปบ้านคุณอาจจะยังชอบถ่ายรูปอยู่แต่สามารถเป็นตัวเองได้มากขึ้น การทำงานคือการสวมอีกหนึ่งบทบาทเข้าไป แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเราอยู่ดี เราเป็นคนๆ นั้น 100% แต่ชีวิตคือการเป็นตัวเองและการมีบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับด้วย  

The People: ระหว่างบทบาทการเป็นนักแสดงกับบทบาทในชีวิตจริง เจมส์ชอบอะไรมากกว่า

ธีรดนย์: ผมชอบพาร์ทตัวเองมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าไม่ชอบเจมส์ที่เป็นนักแสดงนะ การเป็นนักแสดงเราต้องเข้าไปสวมบทบาทเป็นคนอื่น เช่น เราสวมบทเป็น “พัฒน์” ใน “ฉลาดเกมโกง” แต่ระหว่างพักกองเราก็เป็น “เจมส์”​ นี่แหละ เลยรู้สึกชอบพาร์ทตัวเองมากกว่า ทุกอย่างยังอยู่บนพื้นฐานความเป็นตัวเราครับ แค่จุดที่เราสวมบทบาทในการแสดงนั้น เราถอดความเป็นตัวเองออก แล้วใส่ความเป็นอีกตัวตนหนึ่งเข้าไป  

The People: การแสดงแบบสวมบทบาท “เป็น” ตัวละครนั้นจริงๆ มันใกล้เคียงกับการแสดงแบบ Method Acting เจมส์รู้จักเทคนิคนี้มาก่อนหรือเปล่า

ธีรดนย์: เคยได้ยินมาแต่ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าวิธีการแสดงทุกเรื่องของผมเป็น Method Acting คือการจูนตัวละครนั้นให้เข้ากับชีวิตประจำวัน ผมก็รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่นักแสดงควรทำอยู่แล้ว การที่เราเล่นบทๆ หนึ่งเราก็ต้องเป็นเขา จะมาเฟคๆ (Fake) แค่จำบทแล้วพูดไม่ได้ ทุกครั้งที่เล่นเป็นตัวละครหนึ่งต้องใช้ Method Acting เราก็ต้องคีพคาแร็คเตอร์เขาให้ได้ เราต้องเข้าใจเขา 100% เวลาเราเล่นละคร ซีรีส์หรือหนัง เราก็อยากแสดงออกมาให้ดี ซึ่งการทำให้ดีได้นั้น เราต้องเรียล (Real) กับความรู้สึกตัวละครให้ได้มากที่สุด แล้วเราเพิ่งมารู้ทีหลังว่านั่นคือ Method Acting เราได้เห็น ฮีธ เลดเจอร์ ใน The Dark Knight (2008) และดาราหลายๆ คนที่ใช้เทคนิคนี้แล้วรู้สึกว่าเขาเล่นดี เราพบว่าเขาทุ่มกันแบบนี้นี่เองถึงแสดงออกมาดีขนาดนี้ การเล่นเป็นตัวละครที่มีบท สีสัน หรือคาแร็คเตอร์ชัดมากๆ ถ้าเล่นได้ไม่เรียลจะดูคลีเช (Cliché) ทันที ผมไม่ต้องการให้ผลงานติดตัวออกมาไม่ดี ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมไม่ทำดีกว่า  

The People: เป็นเหตุให้เจมส์มักไล่เขียนไทม์ไลน์ตัวละครว่าเติบโตมาอย่างไร ในสภาพครอบครัวแบบไหน ชีวิตไปเจออะไรมาบ้าง ก่อนถ่ายทำใช่ไหม

ธีรดนย์: ใช่ และเป็นสิ่งที่ผมทำกับทุกๆ เรื่องนะ ผมว่าเป็นหน้าที่ของนักแสดงอยู่แล้ว เวลาเราได้รับบทมา เราต้องเข้าใจเขา 100% ต้องรู้ว่าคิดอะไร ตัวตนเขาเป็นแบบไหน ทัศนคติเขาเป็นอย่างไร เป็นพื้นฐานของการเป็นนักแสดงเลยนะ ไม่ใช่แค่จำบทแล้วพูด คนที่บอกว่า “นักแสดงแค่จำบทแล้วพูด” ก็เหมือนคนที่บอกว่า “นักบัญชีแค่บวกลบคูณหารเป็นก็ทำได้” แต่ละอาชีพมีรายละเอียดมากกว่านั้น เป็นตากล้องก็ไม่ใช่แค่กดชัตเตอร์ คุณต้องจัดแสงได้ ต้องรู้อะไรมากกว่านั้น  

The People: เวลาอินกับตัวละครที่รับบทมากๆ เจมส์มีวิธีจัดการอารมณ์ตัวเองอย่างไรไม่ให้ตัวตนนั้นออกมาในชีวิตประจำวัน

ธีรดนย์: เราจะอินกับตัวละครอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงถ่ายทำอาจอินกับบทมากถึง 3-4 เดือน แต่ถ้าเราอยากเป็นนักแสดง เราต้องก้าวออกมาจากบทนั้นให้ได้ ห้ามลืมตัวเองว่าเราเป็นใคร แม้จะเล่นบทนั้นแล้วทำให้เราไม่เหมือนเดิมก็ตาม คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่แล้วครับ ไม่งั้นผมตอนอายุ 15 กับตอนนี้คงไม่ต่างกัน ระหว่างชีวิตที่ผ่านมา ผมได้เจอประสบการณ์อื่นๆ ที่หล่อหลอมให้ผมเป็นผมจนถึงทุกวันนี้ เราต้องเตือนสติตัวเองทุกครั้งว่า เมื่อเรา Tune In ได้ เราก็ต้อง Tune Out ได้ เพราะเราเป็นนักแสดง   สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง  

The People: ทราบมาว่าการแสดงแต่ละเรื่อง เจมส์มักแสดงด้นสด (Improvise) เสมอ เล่าให้ฟังหน่อยว่ามีอะไรบ้าง

ธีรดนย์: “บู” ผมจำไม่ได้แล้วครับ เป็นตัวละครที้ทิ้งแล้วทิ้งเลย ไม่เข้าไปอีก ต่อมา “พัฒน์”​ จะมีฉากพูดบนเวทีกับคนจำนวนเยอะๆ เป็นซีนที่ผมใฝ่ฝันอยากเล่นมานานแล้ว ตอนนั้นทำการบ้านด้วยการดูภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street (2013) หรือ Steve Jobs (2015) ดูทุกเรื่องที่ตัวละครพูดหว่านล้อมคน เรามองว่า เป็นคนอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เหมือนควบคุมได้ทุกอย่าง Like a Boss มากๆ ก็เลยพูดประโยค “เราต้องเป็นคนเลือกมหาลัย ไม่ใช่มหาลัยเป็นคนเลือกเรา” ออกไป “เวกัส” เรามีไดอาล็อกที่คิดขึ้นมาเองอยู่ช่วงหลังๆ ของซีรีส์ครับ การทำงานกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) เราพูดคุยกันตลอดเพื่อทำให้ตัวละครกลม เช่น เราถ่ายซีนหนึ่งแล้วผมคิดว่ามันไม่น่าเป็นแบบนั้น ผมสามารถเข้าไปคุยกับเขา และสร้างซีนขึ้นมาเอง ส่วน “มิน” มีฉากอิมโพรไวส์แนวกุ๊กกิ๊กเยอะมากครับ แต่หนังก็ตัดออกไปเยอะเหมือนกัน เรื่องนี้ต้องถามเฌอ (เฌอปราง อารีย์กุล) เฌอยังหลุดขำเลย  

The People: ในซีรีส์ “เลือดข้นคนจาง” มีประเด็น “ใครฆ่าประเสริฐ” ที่เหมือนวาระแห่งชาติ เราอยากรู้ว่าทีมงานมีวิธีปกปิดความลับอย่างไร

ธีรดนย์: นักแสดงทุกคนรู้หมดแล้วว่าใครฆ่าประเสริฐ แต่ถ้าเราบอกไปก่อนจะทำให้อรรถรสของคนดูหายไป ผมรู้สึกว่าเวลาดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วมีคนมาสปอยล์ตอนจบหรือจุดพีคที่สุด เสน่ห์จะหายไปเลยนะ ทำให้คนดูหลุดจากฟีลลิ่งที่กำลังตามหนัง ตอนอ่านบทเราก็ลุ้นเหมือนกันนะว่าใครฆ่า วิธีการฆ่าเป็นอย่างไร ซึ่งนักแสดงทุกคนในเรื่องนี้ค่อนข้างเข้มงวดว่าห้ามบอก แม้แต่คนที่บ้านก็ไม่ให้รู้ว่าใครเป็นคนฆ่าประเสริฐ แต่พอรู้ว่าใครฆ่าประเสริฐ ก็จะมีสิ่งอื่นที่ทำให้ซีรีส์สนุกมากกว่านั้นอยู่ดี  

The People: เหมือนเป็นสัญญาใจที่ห้ามบอกใคร

ธีรดนย์: ใช่ครับ จริงๆ เขาแซวกันว่ามีการเซ็นสัญญาสามล้าน (หัวเราะ) แต่จริงๆ เป็นสัญญาใจ  

The People: ในภาพยนตร์ “Homestay” คุณรับบทเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่เข้าสิงร่าง “มิน”​ เจมส์ทำการบ้านมาเยอะแค่ไหน

ธีรดนย์: ไม่ทำครับ เรื่องนี้ใช้วิธีการทำการบ้านแบบไม่ทำ พี่โอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) ไม่ให้ผมทำอะไรเลย เพราะวิญญาณตัวนี้คือวิญญาณที่ไม่มีความทรงจำใดๆ เข้ามาเจอทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ก็เลยเป็นการทำการบ้านแบบใหม่คือไม่คิดอะไร ไม่ต้องมีแบล็คกราวด์ ท่าทางบุคลิกใหม่ เจอสิ่งไหนอยากแสดงออกอย่างไรก็ทำไปเลย  

The People: ถ้าสามารถสิงร่างใครสักคน เจมส์อยากสิงร่างใครมากที่สุด

ธีรดนย์: เป็นคำถามยากที่สุดเลยตั้งแต่ถ่ายโปรโมทเรื่องนี้แล้ว (นิ่งคิด) ถ้าเป็นไปได้ก็อยากสิงศิลปินที่ผมชอบอย่าง จัสติน บีเบอร์ หรือ แฮร์รี่ สไตล์ เพราะทุกครั้งที่ผมดูคลิปหรือไปดูคอนเสิร์ตของเขาสดๆ มันมีพลังมาก เขาขึ้นไปแสดงต่อหน้าคนหลายหมื่นคน แล้วรู้สึกว่าเราได้พลังจากตรงนั้น เรามีความฝันอยากไปอยู่จุดนั้นให้ได้แบบเขา อยากเก่ง อยากมีคนมาดูเรามากมายขนาดนั้น ก็เลยอยากลองสิงเขาดู การได้รับพลังจากคนหลายหมื่นตรงนั้นน่าจะเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ  

The People: ถ้าการแสดงเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เจมส์ได้เรียนรู้ตัวตนอะไรผ่านการแสดงบ้าง

ธีรดนย์: จริงๆ ผมเคยมีช่วงสับสนเหมือนกันว่าเราเป็นใครกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ปกป้องผมอยู่ตอนนี้คือเพื่อน “9×9” (ไนน์ บาย นาย)ทุกครั้งเวลาสับสน เหนื่อย หรือรู้สึกว่าตัวตนเราหายไป ก็จะคุยกับเพื่อนอีกแปดคนที่เหลือ เขาเป็นคนที่ทำให้เรามีสติ เพราะเราอยู่ด้วยกัน ซ้อมด้วยกันทุกวัน การได้แชร์ได้พูดคุย ทำให้เราได้เจอโมเมนท์ตัวเองตอนมีความสุขโดยไม่ได้คิดอะไร ผมตอบได้เลยว่าสิ่งที่แยกแยะการแสดงกับชีวิตจริงก็คือเพื่อน ที่จริงเคยมีโมเมนท์ปล่อยตัวตนของตัวละครออกมาด้วยนะ เราอาจเอาตัวละครมาใช้ในชีวิตจริงบ้างก็สนุกดี   สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง  

The People: เท่าที่คุยมา เจมส์เป็นคนที่พยายามผลักดันและท้าทายตัวเองอยู่เสมอ มีความกดดันบ้างไหม

ธีรดนย์: กดดันครับ ทุกวันนี้ทำงานอยู่บนความกดดันเหมือนกัน แต่เป็นความกดดันที่มีความสุขมาก ถ้าไม่ท้าทายตัวเองเราจะก้าวอยู่กับที่ ถ้าคุณยังอยู่ที่เดิม วันหนึ่งจะมีคนแซงคุณ การที่เราอยู่ในวงการไม่ใช่ว่าคุณวิ่งอยู่ที่เดิมนะ การวิ่งอยู่ที่เดิมสำหรับผมถือเป็นการเดินถอยหลัง ผมว่าเราต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ถ้าวันหนึ่งคิดว่าเราเก่งแล้ว พอแล้ว คุณก็จะหยุดอยู่แค่นั้น สุดท้ายกราฟคุณก็จะตกไป  

The People: ได้วาดความฝันของตัวเองไว้ไหม

ธีรดนย์: ไม่ได้วาดฝันไว้ครับ แต่รู้สึกว่าเราอยากทำให้ดีไปเรื่อยๆ หาจุดที่ท้าทายตัวเอง หรือพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดง ด้านศิลปิน การร้อง การเต้น อยากท้าทายตัวเองตลอดเวลา  

The People: จาก “เด็กชายธีรดนย์” สู่ ”นายธีรดนย์” คิดว่ามีตัวตนอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ธีรดนย์: เยอะเลยครับ สุดท้ายผมก็เป็นผมนี่แหละ เป็น “เจมส์ ธีรดนย์” ที่โตขึ้นจากตอนที่เราเป็นเด็กชายเยอะอยู่เหมือนกัน เรามีงานทำ ได้จัดการชีวิตตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักคำว่าแพชชั่น ได้ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ได้มีเป้าหมายในชีวิต นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจาก “เด็กชายธีรดนย์” มาเป็น “เจมมี่เจมส์”  

The People: แล้วตอนนี้ล่ะ เจมส์เป็นใคร

ธีรดนย์: ผมก็คือผมนี่แหละครับ “เจมมี่เจมส์”   สัมภาษณ์ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ การประกอบสร้างตัวตนในโลกแห่งการแสดง