สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”

สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”
ใน Instagram ส่วนตัว @godfather1632 ของ ก็อต-จิรายุ ตันตระกูล มีประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวว่า “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” ซึ่งประโยคเดียวที่ว่านั้นบ่งบอกตัวตนของเขาได้ดีที่สุด จิรายุคือนักแสดงที่พัฒนาทักษะตัวเองอยู่เสมอ เริ่มจากการเป็นผู้ชนะในรายการกึ่งเรียลลิตี้โชว์ The Idol Project 1 ก่อนจะมีผลงานละครต่อเนื่องมานานนับสิบปี เช่น “ดวงใจอัคนี”, “พิมมาลา”, “คุณชายพุฒิภัทร”, “ทรายสีเพลิง”, “บางระจัน”, “ชาติพยัคฆ์”, “บุพเพสันนิวาส, “คมแฝก” ฯลฯ ซึ่งแต่ละบทบาทล้วนแล้วแต่ดึงศักยภาพการแสดงของเขาออกมาอย่างเต็มที่  ขณะเดียวกันในวงการภาพยนตร์ เขาเริ่มเส้นทางนี้ไกลถึงฮอลลีวูดเมื่อปี 2559 กับ Gold เคียงคู่นักแสดงดังอย่าง แมทธิว แม็กคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) หรือการเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ไทยภาคต่อ “จอมขมังเวทย์ 2020” (2562)  มาถึงปี 2563 จิรายุเป็นนักแสดงนำเต็มตัวในภาพยนตร์ “คืนยุติ-ธรรม” อีกหนึ่งบทบาทที่ท้าทายการแสดงของเขามากที่สุด ด้วยการรับบทเป็นคนที่ลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมในแบบฉบับของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เกิดจากเส้นทางชีวิตที่เขาขีดเส้นเดินด้วยตัวเอง ไม่นอนรอความฝัน หรือให้ใครมาบอกกล่าว เพราะจิรายุเชื่อว่า “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” ว่าแต่... จิรายุลิขิตชีวิตตัวเองอย่างไร? สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”   The People: "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน" ประโยคนั้นบ่งบอกอะไร จิรายุ: ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน ลิขิตตนหรือจะสู้ลิขิตไก่ย่างหน้าปากซอย ล้อเล่นนะ (หัวเราะ)  ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของผมครับ โดยดำเนินชีวิตด้วยหลักเหตุและผล ปลูกส้มวันนี้ หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในดินอันอุดมสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลาของมัน ส้มจะออกผลในวันข้างหน้า แต่ถ้าผมปลูกส้มบนพื้นซีเมนต์ ผ่านไปนานแค่ไหนส้มก็คงไม่ออกผล เพราะฉะนั้นชีวิตของคนขึ้นอยู่กับการปลูก การกระทำ และการไม่กระทำของวันนี้ เราทุกคนสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ ในส่วนที่เราสามารถเลือกมันได้ เราคงไม่เชื่อผลของการกระทำก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจากประสบการณ์ที่เราซ้อมวิ่งอาทิตย์นี้ อาทิตย์ต่อไปเราวิ่งได้ดีขึ้น ถ้าเราไม่ซ้อมวิ่งแล้วมาวิ่งทันที เราจะเกิดอาการบาดเจ็บ ฉะนั้นการกระทำทุกอย่างสอนเราเยอะมาก ในขณะเดียวกันผมเป็นมนุษย์ไม่หวังลาภลอยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรทั้งนั้น แล้วเป็นคนที่เชื่อว่า ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับฟ้ากำหนด เชื่อว่าชีวิตเราลิขิตเอง    The People: คุณลิขิตชีวิตตัวเองอย่างไร จิรายุ: อย่างแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตมีวันสิ้นสุด มีจุดสิ้นสุด และเรามีวันตาย พอเข้าใจประเด็นนี้เราจะพบว่า ทุกคนมีเวลาดำเนินชีวิต ซึ่งการดำเนินชีวิตก็เหมือนเรือที่มีหางเสือ คนที่มีเป้าหมายจะเปรียบเหมือนเรือที่มีหางเสือ เขาจะสามารถเบนหางเสือปรับทิศทางเพื่อให้เขาไปสู่ฝั่งที่ฝัน แต่คนที่ไม่มีเป้าหมายหรือเลื่อนลอยเท่ากับเรือที่ไม่มีหางเสือ เรือยังดำเนินต่อไป แต่มันจะหมุนเป็นวงกลมจนกว่าพลังงานของเรือจะหมดแล้วก็จมลงไป นี่คือความต่าง  ผมเป็นคนที่โชคดีที่รู้ว่าตัวเองรักอะไร อยากทำอะไร แล้วจริง ๆ การรู้ว่าตัวเองรักอะไรและอยากทำอะไรนั้น ไม่ใช่รู้ทันทีตั้งแต่เด็ก แต่เพราะเราใช้เวลาหาตัวเองมาหลายปี ไอ้การลงทุนหาตัวเองทำให้เราเจอตัวเอง ซึ่งคุ้มค่า   The People: ตอนนี้ถือว่าคุณเจอตัวเองหรือยัง จิรายุ: เจอแล้วครับ (ยิ้ม)   The People: คือการเป็นนักแสดงหรือเปล่า จิรายุ: การเป็นนักแสดงเป็นแค่พาร์ทเล็ก ๆ ของชีวิต ชีวิตเราไม่ได้มีประสบการณ์ด้านเดียว มันต้องมีประสบการณ์หลายอย่าง  แต่การแสดงเป็นสิ่งที่ผมชอบที่จะทำ รักที่จะทำ เพราะว่าชอบทำงานเกี่ยวกับมนุษย์ ชอบซึมซับชีวิตมนุษย์ ทั้งด้านจิตใจ ด้านการดำเนินชีวิต เพื่อเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาสร้างตัวละคร ขณะเดียวกันผมก็มี passion ในเรื่องอื่น สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ ผมมี passion หลายอย่าง ฉะนั้นจะบอกว่าการแสดงเป็น the best ของชีวิตก็คงไม่ได้ แต่มันเป็นอาชีพที่ผมเลือกจะทำ   The People: คุณได้รับแนวคิดการใช้ชีวิตเหล่านี้มาจากไหน จิรายุ: คุณแม่ครับ แม่สอนเสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันมีเหตุผลและมีปัจจัยที่ทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น คุณแม่มีอิทธิพลกับผมมากครับ จริง ๆ แล้วการใช้ชีวิตของผมจะมาไม่ถึงวันนี้ ถ้าผมไม่ตั้งใจคิดเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง  สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”   The People: ดูเป็นคนที่วางแผนแบบแผนชีวิตชัดเจนเหมือนกัน? จิรายุ: คือเวลาเราน้อย แล้วเราเข้าใจความจริงว่าเราต้องตาย (หัวเราะ) อันนี้ไม่ได้พูดสัจธรรมหรืออะไรนะ แต่แค่รู้สึกว่าผมยังตอบแทนพ่อแม่ไม่ได้ดีเต็มที่ ผมยังทำงานได้แค่อยู่ในขอบข่ายของตัวเอง ทั้งที่มนุษย์มีศักยภาพมากกว่านั้น ผมอยากพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปมากกว่านั้น ดูในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา การทำงานของท่านมีผลต่อชีวิตคนไทยขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อผมมีคนที่ยิ่งใหญ่เป็นไอดอล แล้วผมยังทำเรื่องเล็กอยู่เลย จึงรู้สึกว่าตัวเองยังเล็กน้อยมาก   The People: ถ้าอย่างนั้นทำไมเลือกเดินเส้นทางสายนักแสดงเป็นหลัก มากกว่าเลือกเดินทางตาม passion อื่น ๆ ของตัวเอง จิรายุ: เราต้องประเมินตัวเองว่าทำอะไรได้ดี สิ่งนี้ฉันทำได้ แล้วฉันทำมันได้อย่างเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ทีนี้ก็หาช่องทางเลี้ยงตัวเอง นี่คือการใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัว บวกกับพรแสวงที่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง แล้วเราจะใช้มันเป็นอาชีพ เพราะผมยังต้องการเงินครับ ยังต้องการปัจจัย 4 ที่มาทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น ผมยังตัดสินใจว่ายังอยู่ในโลกอยู่ ไม่ได้ตัดสินใจสละแล้ว ซึ่งถ้าเราตัดสินใจที่จะยังอยู่ในโลก เงินก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราจะต้องตั้งคำถามว่า จะทำอะไรเพื่อจะได้เงินมา เราก็ขอทำในสิ่งที่ตัวเองสนุก ถนัด ซึ่งก็คือการแสดง   The People: มีใครสอนเรื่องการแสดงให้คุณไหม เพราะทุกการแสดงของคุณค่อนข้างเข้มข้น จริงจัง และเข้าถึงตัวละคร หรือที่คนในวงการเรียกกันว่า method acting จิรายุ: ผมมีอาจารย์คือ อาจารย์นิวัฒน์ ศรีสัมมาชีพ เป็นอาจารย์สอนการแสดงที่รักที่สุด อาจารย์ไม่ใช่สอนแค่เทคนิคการทำงาน อาจารย์สอนทั้งกำกับและทัศนคติเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งมันสำคัญมากทำให้รักงานมากขึ้น แล้วผมจะไม่นิยามสิ่งที่ผมทำเป็น method acting เพราะเอาตรง ๆ ผมไม่ยึดติดอยู่กับชื่อเรียก ไม่สนใจวิธีการ แต่วิธีการนั้นต้องไม่เบียดเบียนใครและเป็นกุศล สมมติว่าผมอยากได้ผลลัพธ์เป็น 4 วิธีคิดคือไม่สนว่าจะต้องเป็น 2+2, 1+1+1+1, 2+1+1 หรือจะเป็น 3+1 ผมไม่สนเลย ผมแค่สนใจผลลัพธ์ แค่นั้น แล้วเมื่อไหร่ที่เราได้ผลลัพธ์มา เราจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วไอ้ผลลัพธ์ที่เราได้มา ไม่จำเป็นต้องทำตามทางที่คนอื่นบอก เราจะเจอทางของตัวเราเอง ขณะเดียวกันการที่เราได้ปัญญาจากผู้อื่นก็จำเป็นอย่างมาก เราไม่สามารถเกิดขึ้นมาแล้วนั่งเทียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้เลย ยังไงเราก็ต้องศึกษาให้มาก มันก็เหมือนเรื่องเล่าคนตาบอดคลำช้างครับ มีคนตาบอดมาเล่าความจริงเกี่ยวกับช้างให้ฟัง คนแรกเขาจับขาช้าง เขาบอกความจริงของช้างว่ามันเหมือนเสา คนที่สองจับหาง เฮ้ย! นี่มันเหมือนไม้กวาดนี่เอง ทุกคนพูดความจริงไหม? ทุกคนพูดความจริง แต่เป็นความจริงเพียงแค่ด้านเดียว เพราะฉะนั้นในฐานะคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ผมต้องไม่เชื่อใครเลย แต่ผมต้องรับความจริงจากหลาย ๆ ฝั่ง แล้วมาประเมินภาพกว้างอีกทีหนึ่งถึงความจริง คนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า เฮ้ย! ความจริงในมุมกูดีที่สุดแล้ว เราก็ อ่า… ไม่ใช่แล้ว ๆ คุณแค่เจอความจริงด้านนี้ แต่มีความจริงอีกตั้งหลายด้านนะ   The People: ประเมินตัดสินความจริงอย่างไร จิรายุ: ประเมินตัดสินยังไม่พอครับ ต้องลงมือทำตามด้วย เพราะมนุษย์จะพลาดตรงที่ประเมินแล้วคิดว่าเข้าใจแล้ว เหมือนอ่านเมนูแล้วคิดว่ากะเพราไก่ทุกร้านเหมือนกันหมด แต่เราจะไม่มีวันรู้ตราบใดที่ยังไม่ชิม ซึ่งรสชาติอาจจะแย่ก็ได้ (หัวเราะ)    The People: เพราะคนเราตัดสินจากความคุ้นชิน? จิรายุ: ใช่ คุ้นชินของคนคืออ่านแล้วเชื่อเลย เห็นแล้วฉันก็เชื่อเลย ซึ่งทุกความจริงควรจะมีมุมที่กว้างและลึกกว่านั้น   The People: เหมือนคุณไม่ตัดสินคนอื่น? จิรายุ: ตัดสินไม่ได้ครับ ผมเคยพลาดเพราะการตัดสินอย่างรวดเร็วมาแล้ว มีเหตุการณ์ในชีวิตมากกว่าร้อยครั้งที่ตัดสินผิดเพี้ยนไป ผมจึงรู้ตัวเองว่าไม่ควรตัดสินอย่างด่วนสรุปเลย บางครั้งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่มันเริ่มถ่างออกแล้ว เริ่มมองผู้อื่นด้วยความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ อย่าเสียเวลาสงสารตัวเองกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว เรามีหน้าที่เดียวคือแค่ถางทางเดินแล้วปลูกต้นใหม่ สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” The People: ล่าสุดมีผลงานภาพยนตร์ “คืนยุติ-ธรรม” การแสดงครั้งนี้มีความยาก-ง่าย อย่างไรบ้าง จิรายุ: "คืนยุติธรรม" เป็นเรื่องของ “มานพ” ชายหนุ่มที่ถูกทำลายชีวิตจนต้องลุกขึ้นมาพิพากษาล่าความยุติธรรมด้วยมือของเขาเอง เปลี่ยนแปลงจาก loser กลายเป็น fighter ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์มีบุคลิกซับซ้อนอยู่แล้ว ทุกคนมีหลายบุคลิกอยู่ในตัว เช่น อยู่กับผู้ใหญ่เราจำเป็นต้องพินอบพิเทา จะมีความโค้งโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันเราอยู่กับกลุ่มเพื่อนก็เป็นอีกบุคลิกหนึ่ง อย่างผมมีเป็นร้อยบุคลิกเลยครับ ผมเจอคนคนนี้ ผมเป็นอีกคนหนึ่ง ผมเจอคนคนนั้น ผมก็เป็นอีกคนหนึ่ง อยู่กับแฟน ก็เป็นอีกคนหนึ่ง อยู่กับตัวเองก็เป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งมันก็คือมนุษย์   The People: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้บุคลิกแบบไหน กับใคร จิรายุ: เราควรตั้งคำถามว่าใครคือคนสำคัญที่สุด ซึ่งผมพบคำตอบแล้วว่าคือ คนตรงหน้า (หัวเราะ) ผมอยากแนะนำให้ใครก็ตามเป็นตัวของเขาเอง เพราะคนเราจะมีชีวิตชีวามากที่สุดตอนเป็นตัวของตัวเขาเอง ไม่มีใครอยากอยู่กับคนที่ทำให้รู้สึกอึดอัด บางทีผมอยากคุยกับทุกคนแบบเพื่อนนั่งคุยกัน แต่ความที่ยังมีกำแพงของความสัมพันธ์กันอยู่ ซึ่งกำแพงนี้จะถูกทำลายด้วยระยะเวลา มันจะหายไปทีละชั้น ๆ กระทั่งสามารถจับบ่ากันได้ พูดเล่นกันได้   The People: ถ้าชีวิตจริงต้องเจอกับความอยุติธรรม จะมีวิธีการรับมืออย่างไร จิรายุ: ถ้าจัดการกับความอยุติธรรมได้ก็จะจัดการ แต่ถ้าประมวลเหตุผลแล้วไร้ทางที่จะจัดการ ก็จะฝึกตัวเองให้รู้จักยอมรับ ซึ่งการยอมรับต่างกับการยอมศิโรราบนะ ไม่เหมือนกัน การยอมรับคือเข้าใจมันโดยไม่ปรุงแต่ง ไม่ตอบโต้ แล้วก็ปล่อยมันไป เข้าใจว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ขณะเดียวกันการยอมศิโรราบคือการถอยหนี แต่ในใจยังเต็มไปด้วยความขุ่นมัว คับแค้นใจ แล้วเศร้าหมอง ซึ่งมันคนละสภาวะกันเลย    The People: "คืนยุติ-ธรรม" สะท้อนอะไรเกี่ยวกับสังคม จิรายุ: ผมชอบตัวละครที่แสดง เพราะการตัดสินใจของเขาไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่การตัดสินใจของเขามันสร้างความบันเทิงให้กับคนดู นั่นคือการล้างแค้นเพื่อเรียกความยุติธรรมกลับคืนมา ขณะเดียวกันไอ้ความยุติธรรมตรงนี้ ถ้ามองในมุมผู้ถูกกระทำ เขาก็สร้างความไม่ยุติธรรมให้กับคนอื่นเหมือนกัน  สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” The People: ตอนแสดงรู้สึกขัดกับการกระทำของตัวละครไหม จิรายุ: ไม่ ๆ เราต้องแยกก่อน ตอนแสดงเราต้องคิดแบบตัวละครคิด ตัวละครคิดยังไง เราต้องคิดแบบนั้น เพราะถ้าเอาตัวเราไปเกี่ยวกับตัวละคร นั่นเท่ากับว่าเรากำลังจงใจให้กล้องบันทึก ก๊อต-จิรายุ ไว้ แต่นี่ไม่ใช่ พอ 5 4 3 2 ไอ้ก๊อตมึงไปไกล ๆ ที่เหลือคือตัวละคร คิดแบบตัวละคร เจ็บช้ำแบบตัวละคร คับแค้นแบบตัวละคร ยิงแบบตัวละคร ในชีวิตจริงผมยังไม่กล้าเลย ยุงยังไม่ตบเลย (หัวเราะ)   The People: การล้างแค้นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด? จิรายุ: จนกว่าเราจะศึกษาหนทางอื่น แล้วจะรู้ว่าจริง ๆ ทางเลือกมนุษย์มีเยอะกว่านั้น ถ้าเราจำกัดตัวเองอยู่ในมุมแคบ ๆ เราจะมองเห็นว่าการ fight back เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเรามองโลกในมุมที่กว้างกว่าเดิม เราจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ในแอฟริกาใต้ยังมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ หรืออย่างในเกาหลีเหนือ นึกออกใช่ไหม? ถ้าเรามองกว้างกว่าเดิม มันจะบรรเทาความรู้สึกที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ  คือไม่ใช่แค่หันซ้ายหันขวา แต่ต้องพาตัวเองให้สูงขึ้นไปแล้วมองเห็นภาพกว้างทั้งหมด แล้วจิตใจเราจะถูกยกระดับขึ้นเองครับ    The People: ตลอดเวลาที่คุยกันมา คุณย้ำอยู่เสมอถึงการ “ปลูก” อะไรสักอย่างในชีวิตตัวเอง ส่วนตัวแล้วคุณอยากปลูกอะไร จิรายุ: ผมอยากปลูกความสมดุลในจิตใจ เพราะในทุกวันผมยังดำเนินชีวิตด้วยจิตใจที่ไม่สมดุล เราต้องรู้จักตัวเราเอง ถ้ารู้ตัวเราจะอยากพัฒนาความสามารถ ผมอยากรักผู้คนให้ได้อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกับที่ต้นไม้ให้ร่มเงากับมนุษย์ ไม่มีการแบ่งแยกเธอฉัน ไม่มีการแบ่งแยกชายหญิง ผมอยากจะพัฒนาตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น แล้วคาดหวังว่า การไปถึงจุดนั้นน่าจะเป็นจุดที่มีความสุขที่สุด สัมภาษณ์ จิรายุ ตันตระกูล “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”