สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

       ในปี 2002 ขณะที่ผู้ฟังทั้งหลายกำลังตั้งตารอผลงานใหม่ของ แพท เมธินี (Pat Metheney) หรือตื่นเต้นกับอัลบั้ม This Is What I Do ที่ทำให้ ซอนนี โรลลิง (Sonny Rollins) ยอดนักแซกโซโฟนคว้ารางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส สมัยแรก ระหว่างนั้นมีเด็กหนุ่มนิวยอร์เกอร์ที่หลงใหลในดนตรีแจ๊สและศึกษาท่วงทำนองเหล่านั้นผ่านสุ้มเสียงของ ธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) หรือ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane)

เขามาพร้อมกับอัลบั้มชุดแรกที่ชื่อTrioing” ซาวนด์กีตาร์ที่สะอาดเป็นประกาย แต่งแต้มด้วยเสียงดีเลย์เพราะ ๆ การเล่นเมโลดิกไลน์แบบ straight-eighth ที่ประกอบกันเป็นไลน์โซโล่อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ชื่อของ โจนาธาน ไครสเบิร์ก (Jonathan Kreisberg) เป็นที่โจษจันในวงการฐานะนักกีตาร์รุ่นใหม่ไฟโคตรแรง

ไครสเบิร์ก เป็นนิวยอร์เกอร์ที่ฟังดนตรีแจ๊สตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ ด้วยเหตุผลที่ว่านี่คือดนตรีที่เรียกร้องความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่น เขาจึงตกหลุมรักดนตรีแนวนี้เข้าอย่างจัง ก่อนที่พรสวรรค์ในการเล่นกีตาร์จะทำให้เขาได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยแห่งไมอามี และได้รับโอกาสร่วมเล่นกับนักดนตรีแจ๊สระดับตำนานอย่าง โจ เฮนเดอร์สัน (Joe Henderson), ไมเคิล เบรคเกอร์ (Micheal Brecker), เรด ร็อดนีย์ (Red Rodney) และ ดร.ลอนนี สมิธ (Dr. Lonnie Smith)

“timeless melodicism with forward–thinking lines and textures” คือแนวทางการโซโล่ตามคอร์ดแบบไม่ต้องกังวลเรื่องจังหวะหรือฟอร์ม ขณะที่คิดถึงจุดหมายของคอร์ดถัดไปด้วย นี่คือไอเดียที่ไครสเบิร์กพัฒนามาจากแนวคิดขั้นพื้นฐานในการสร้างโซโล่ของดนตรีบี-บ็อพ ที่กลายมาเป็นสุ้มเสียงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของเขา

เดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ ไครสเบิร์กและเพื่อนร่วมวงของเขาอีกสามคน นำโดย มาร์โก เชินเชทซ์ (เปียโน), แมตต์ โคลสซี (เบส) และ โคลิน สตรานาฮาน (กลอง) กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมกับคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งที่สองในไทย เพื่อโปรโมทอัลบั้ม Capturing Spirits – JKQ Live! ผลงานบันทึกการแสดงสดของเขาที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี

The People มีโอกาสคุยกับนักกีตาร์คนนี้หลากหลายประเด็นทางดนตรี โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าดนตรีแจ๊สในยุคนี้กลายเป็นดนตรีที่ผลักคนดูออกจากความนิยมแล้วจริงหรือไม่? รวมถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชอบแจ๊ส และเขาคิดเห็นอย่างไรในวันที่แจ๊สฟังยากขึ้น จนเริ่มกลายเป็นคณิตศาสตร์มากกว่าจะเป็นดนตรี

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้กลับมาเล่นที่ไทยอีกครั้ง

ไครสเบิร์ก: ผมไปมาทั่วโลกแล้ว รวมถึงหลาย ๆ ประเทศในเอเชียด้วย แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่แตกต่างจากที่อื่น ผมชอบคนที่นี่ ชอบอากาศ ชอบอาหาร และบรรยากาศก็อบอุ่นมาก ๆ ด้วย ผู้คนที่นี่ให้ความสนใจกับสิ่งที่เป็นศิลปะจริง ๆ การได้เล่นดนตรีให้คนเหล่านั้นฟังถือเป็นประสบการณ์พิเศษ เพราะคุณรู้ว่าถึงคุณจะเล่นดนตรีไปในแนวทางไหน จะซ้ายหรือขวา คนก็จะติดตามคุณไปเสมอ พวกเรารู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ สิ่งนี้ทำให้เราเล่นดีขึ้นด้วย

The People: โจนาธาน ไครสเบิร์ก พบกับดนตรีได้อย่างไร

ไครสเบิร์ก: ตอนที่ผมยังเด็กมาก ๆ น่าจะอายุ 5-6 ขวบได้ ผมได้ยินเพลงแจ๊สจากคอลเลคชันของคุณพ่อ เสียงเหล่านั้นเป็นอะไรที่ติดอยู่ในหัวผมตลอดเวลา อย่างเช่นเสียงแซกโซโฟนของ จอห์น โคลเทรน หรือ ไมล์ส เดวิส พอผมอายุ 10 ขวบ ผมได้ยิน เอ็ดดี้ แวน เฮเลน (Eddie Van Halen) เล่นเพลง ‘Eruption’ มันทำให้ผมตกหลุมรักการเล่นกีตาร์และอยากจะได้เป็นเจ้าของสิ่งนี้เลย

พอผมเรียนรู้ที่จะเล่น ผมก็ตกหลุมในความสร้างสรรค์ที่หลากหลายในดนตรี การอิมโพรไวซ์และการประพันธ์เพลง นี่คือจุดที่ทำให้ผมไปเจอแจ๊ส และช่วยให้ผมเจอสไตล์ของตัวเอง

The People: เคยได้ยินมาว่ากีตาร์ตัวแรกของคุณคือกีตาร์ Vantage ที่ผลิตจากเกาหลี กีตาร์ตัวนั้นสำคัญกับคุณอย่างไร หรือคุณมีความทรงจำอย่างไรกับมันบ้าง

ไครสเบิร์ก: ใช่เลย!! คุณรู้ได้ยังไง? ทุกวันนี้ผมยังจำเช้าวันคริสต์มาสปีนั้นได้อยู่เลย เป็นช่วงเวลาที่ได้มันเป็นของขวัญ มันเป็นกีตาร์ที่ดีมากตัวหนึ่ง

The People: เราแทบไม่เคยเห็นคุณใช้กีตาร์ตัวอื่นนอกจาก Gibson 175 สีซันเบิร์สต์ คุณเคยคิดที่จะเปลี่ยนเสียงกีตาร์ในสไตล์ที่แตกต่างบ้างไหม

ไครสเบิร์ก: ความจริงแล้วผมทดลองด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนเสียงมาหลายแบบนะ ทั้งแบบอิเล็กโทรนิกส์ อะคูสติก การวางไมค์ แต่ถ้าพูดถึงตัวกีตาร์ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผมไปแล้ว เหมือนแขนข้างที่สาม ผมเคยลองกีตาร์ตัวอื่นแต่ผมไม่ค่อยชอบกีตาร์ใหม่ ๆ เท่าไหร่ ผมชอบกีตาร์เก่าเพราะมันให้เสียงเหมือนคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้มาแล้ว

อนาคตผมอาจจะลองเปลี่ยนไปใช้กีตาร์ Gibson เก่า ๆ ตัวอื่น แต่ผมยังไม่เจอตัวที่ใช่สักที อาจจะเพราะผมไม่ค่อยได้ลองตัวใหม่ ๆ ด้วย เพราะว่าเสียงมันคลีนเกินไป ผมชอบเสียงที่ออกมาดูมีชีวิตมากกว่า ครั้งหนึ่งตอนผมต้องขึ้นเครื่องบินไปเล่นคอนเสิร์ต เครื่องบินเล็กมากจนผมเอากีตาร์ตัวเองไปด้วยไม่ได้ วันนั้นมีคนให้ยืมกีตาร์ Gibson 175 ที่เก่ากว่าของผมอีก กีตาร์ตัวนั้นเป็นตัวเดียวที่ผมชอบมากกว่าของตัวเอง ผมขอร้องให้เจ้าของขายให้ผม แต่เขาบอกว่าไม่

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: คุณเคยพูดว่าอัลบั้ม My Favorite Things ของ จอห์น โคลเทรน หรือ Concierto de Aranjuez ของ จอห์น วิลเลียม มีอิทธิพลต่องานเพลงของคุณอย่างมาก แต่อัลบั้มชุดไหนที่เปลี่ยนชีวิตนักดนตรีของคุณ

ไครสเบิร์ก: (นิ่งคิด) ตอนผมเด็ก ๆ อายุประมาณ 15 ปี ผมได้ฟังอัลบั้ม Nefertiti ของ ไมล์ส เดวิส แล้วผมประทับใจมาก เพราะว่าเป็นดนตรีแจ๊สที่มีกลิ่นอายของอดีต ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเหมือนมาจากอีกโลกหนึ่งเลย อัลบั้มนั้นมีผลต่อชีวิตผมมาก อีกอัลบั้มหนึ่งคือ Sand ของ อลัน โฮลด์สเวิร์ธ (Allan Holdsworth) สองอัลบั้มนี้คือที่สุดแล้ว

The People: ให้เลือกเล่นกับฮีโร่ของคุณสักคน คนคนนั้นจะเป็นใคร

ไครสเบิร์ก: ผมก็อาจจะเหมือนนักดนตรีแจ๊สทุกคนถ้าเลือกได้คงเป็นไมล์สเดวิส

The People: ตอนคุณเล่นคอนเสิร์ต เราจะสังเกตว่าคุณฮึมฮัมกับตัวเอง เหมือนคุณนับ phrasing ตลอดเวลา คุณคิดเยอะไหมตอนคุณเล่นคอนเสิร์ต

ไครสเบิร์ก: ผมคิดเยอะตอนผมซ้อมมากกว่า ตอนผมเล่นคอนเสิร์ตผมพยายามเล่นสิ่งที่ผมได้ยินในหัว เพราะนั่นจะเป็นธรรมชาติมากกว่า ตอนผมซ้อมจะใช้ความคิดเยอะกว่าเพราะว่าต้องมาดูว่าแบบนี้ดีไหม ถ้าเพิ่มจังหวะจะเป็นยังไง แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเล่นโซโล่หรือเล่นแจ๊สคือตอนที่คุณปล่อยให้ตัวเองล่องลอยไปในอวกาศ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จนเล่นจบแล้วคุณถึงจะรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้นเนี่ยมันเป็นเรื่องของการรู้สึกถึงดนตรีมากกว่าความคิด

The People: ครั้งหนึ่งคุณเคยพูดว่านักดนตรีแจ๊สทุกคนควรจะเป็นนักร้องด้วย เพราะอะไรทุกคนถึงต้องร้องเพลงเป็น

ไครสเบิร์ก: ผมคิดว่านักดนตรีทุกคนควรเรียนรู้การร้องเพลง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องร้องเพราะแบบนักร้อง แต่เพื่อให้ร้องสิ่งที่พวกเขาได้ยินในหัวของตัวเองได้ เพื่อถ่ายทอดเสียงดนตรีในความคิดของเราไปสู่เครื่องดนตรีที่เรามีอยู่ในมือ

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: คุณเคยพูดว่าแจ๊สคล้ายกับวิทยาศาสตร์ ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมว่าหมายความว่าอย่างไร

ไครสเบิร์ก: ผมคิดว่าแจ๊สไม่ได้เป็นแค่วิทยาศาสตร์อย่างเดียวผมมักจะใช้วิธีนี้ในการอธิบายเกี่ยวกับแจ๊สให้คนนักเรียนหรือคนที่ไม่ได้เล่นแจ๊สฟัง

สมมติว่ามีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งในสวน คนแรกที่ได้ไปเห็นต้นไม้นั้นคือนักพฤกษศาสตร์ เขามองต้นไม้ว่ามันมีใบไม้ที่มีคลอโรฟิลล์ เมื่อแสงแดดส่องกระทบมัน ใบไม้จะสามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นไปใช้ได้ และยังมีรากที่คอยนำน้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิต อีกคนหนึ่งผ่านมาเห็นต้นไม้เหมือนกัน แต่เขาเป็นกวี เขามองต้นไม้แล้วคิดว่านี่ช่างเหมือนผมของแม่ฉันเหลือเกิน ฉันอยากนอนอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ต้นนั้นอีกคนหนึ่งที่ผ่านมาเป็นนักคณิตศาสตร์ เขามองต้นไม้ว่ามีใบไม้ 5,000,636 ใบ

ทั้งหมดนี่เป็นวิธีการมองสิ่งเดียวกันจากหลายๆมุมมองและนักดนตรีแจ๊สควรจะทำได้แบบนี้ต้องสามารถมองแบบวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ศิลปะและอาจจะอีกหลายแบบด้วยซ้ำไปคนคงไม่ได้อยากดูดนตรีที่คนเล่นใช้แต่ความคิดหรอกมันน่าเบื่อเกินไปดนตรียังต้องมีความสวยงามเหมือนบทกวีด้วยเพราะฉะนั้นแจ๊สไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว

The People: ดนตรีแจ๊สเป็นสิ่งที่มีแบบแผน และคนดูต้องอาศัยความเข้าใจสูง จนปัจจุบันแจ๊สกลายเป็นเหมือนกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ที่ต้องผ่านการคำนวณ ใช้ความคิด ซึ่งแตกต่างจากแจ๊สในอดีตที่คนเรียนรู้จากการฟัง คุณคิดอย่างไรบ้าง ที่แจ๊สในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องของการคิดมากกว่าดนตรีไปแล้ว

ไครสเบิร์ก: เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ ผมไม่คิดว่าคนต้องเข้าใจแจ๊สถึงจะสนุกกับมันได้ บางครั้งตอนผมเล่นคอนเสิร์ต ผมเห็นเด็ก ๆ ในกลุ่มคนดู พวกเขาไม่ได้เข้าใจแจ๊สหรอก แต่พวกเขาสนใจมัน เหมือนกับเสียงดนตรีกำลังพูดกับพวกเขาอยู่ ผมคิดว่าเด็กเปิดรับอะไรง่ายกว่าผู้ใหญ่ ทุกวันนี้ดนตรีที่อยู่คู่กับสังคมของเราคงเป็นดนตรีป๊อบ แต่ผมก็ยังคิดว่ามนุษย์สามารถฟังและสนุกกับทุกสิ่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจมันก็ได้ คนที่ต้องเข้าใจแจ๊สและสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้คือนักดนตรีต่างหาก

ตอนผมเล่นเพลงที่จังหวะ 21/8 ผมก็ยังอยากให้คนดูรู้สึกถึงดนตรีของผมและชอบมัน ผมไม่ได้สนใจว่าเขาจะเข้าใจจังหวะนั้นไหม แต่นักดนตรีหลายคนในปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้น กลายเป็นมุ่งศึกษาทฤษฎี เทคนิคต่าง ๆ จนแจ๊สกลายเป็นคณิตหรือวิทยาศาสตร์ไป ส่วนตัวผมชอบหาพื้นที่ตรงกลางที่เป็นทั้งสองอย่าง เป็นดนตรีที่คุณสามารถสนุกกับมัน เข้าถึงเมโลดี้ อารมณ์ และจังหวะได้ หรือแม้กระทั่งเข้าใจรูปแบบที่น่าสนใจของมันได้ด้วย ผมว่านักดนตรีอย่างเราต้องทำทั้งสองอย่าง

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: การเรียนการสอนดนตรีแจ๊สเป็นระบบมากขึ้น ทุกคนเรียนเหมือน กัน เพลงเดียวกัน แบบฝึกหัดเดียวกัน เราจะสามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับนักดนตรีแจ๊สแต่ละคนได้อย่างไร

ไครสเบิร์ก: ผมเห็นด้วยว่านี่เป็นปัญหา สิ่งที่ผมได้ยินตอนนี้คือทุกคนเล่นเหมือน ๆ กันหมด ต่างจากตอนที่ผมเป็นเด็กที่สไตล์การเล่นของแต่ละคนต่างกันมาก ตอนนั้นเรามีทั้ง แพท เมธินี, อลัน โฮลด์สเวิร์ธ, จอห์น สโคฟิลด์ (John Scofield) หรือ จอร์จ เบนสัน (George Benson) นั่นเป็นเพราะว่าเราเรียนมาแบบเดียวกันหมดขณะที่สมัยก่อนแต่ละคนเรียนรู้จากการฟังและศึกษาทำความเข้าใจกับมันด้วยตัวเอง

ทุกวันนี้ผมได้ยินไลน์ของตัวเองตามเด็กรุ่นใหม่ ผมภูมิใจนะ แต่รู้สึกไม่ดีที่เป็นแบบนั้น มันคงจะดีกว่าถ้าผมได้ยินสิ่งที่แปลกจากเดิม ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เราอาจจะต้องเริ่มจากการเรียนรู้จากคนที่คุณชอบ แล้วพัฒนาตัวเองไปให้ไกลกว่านั้นอีก ลองมองหาสิ่งที่แตกต่างที่คุณชอบ คนอื่นจะไม่ชอบก็ช่างเขา เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่แค่ว่าเรียนตามที่คนอื่นบอกอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักหาสไตล์อื่น ๆ ลองดนตรีร็อกบ้าง คลาสสิกบ้าง อิเล็กโทรนิกส์บ้าง หาสิ่งที่คุณชอบให้เจอ

The People: คุณเคยฟังเด็กไทยเล่นแจ๊สไหม

ไครสเบิร์ก: เคยที่มหิดล แต่ผมไม่ได้มีโอกาสฟังจนถึงขั้นที่จะรู้ได้ว่าเขาเก่งไหม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญหรอก สิ่งสำคัญคือการที่คนสองสามคนมีความตั้งใจและเป้าหมายร่วมกันที่จะฝึกซ้อม เพื่อเล่นให้ได้เสียงดนตรีในแบบที่พวกเขาต้องการต่างหาก

The People: คุณคิดว่าสิ่งแวดล้อมที่คุณเติบโตมาส่งผลต่อตัวตนของคุณขนาดไหน

ไครสเบิร์ก: เรื่องนี้ตอบยากเหมือนกันเพราะว่าบางคนก็ถือว่าเกิดผิดที่ผมเลยไม่คิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญขนาดนั้นอย่างผมเองเกิดที่นิวยอร์กแต่ไปโตที่ไมอามี่ผมรู้สึกว่าชีวิตผมไม่เข้ากับไมอามี่เลยแต่ผมก็ยังซึมซับความเป็นไมอามี่ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของผม

คนบางคนเกิดอีกฟากหนึ่งของโลก อย่างคนไทยบางคนรักแจ๊สมาก ผมคิดว่าถ้าผมช่วยสอนพวกเขาและได้ให้พวกเขาออกไปเรียนรู้ด้วย เขาก็สามารถเป็นนักดนตรีแจ๊สได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนอเมริกันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจะเกิดที่ไหน ไม่ได้ทำให้คนคนนั้นด้อยไปกว่าใครเลย แจ๊สเป็นดนตรีที่เปิดรับทุกคน

The People: การเล่นบนจังหวะ odd time กับ polyrhythm ดูเหมือนจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในสไตล์ของคุณ?

ไครสเบิร์ก: สไตล์ของผมมาจากการผสมผสานระหว่างดนตรีของหลาย ๆ วัฒนธรรมกับการคำนวณ ที่พยายามทำให้ทุกอย่างลงตัวและทำให้ฟังแล้วรู้สึกดี นอกจากผมจะเรียนแจ๊สแล้ว ผมยังชอบดนตรีบอลข่าน, breeze, และดนตรีแอฟริกันด้วย ผมชอบนำสิ่งเหล่านั้นมารวมกันให้เกิดเสียงดนตรีแบบใหม่ขึ้นมา

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: แจ๊สเหมือนเป็นดนตรีที่ผลักคนดูออกจากความนิยม ส่วนตัวคุณให้น้ำหนักกับสิ่งที่อยากเล่น กับสิ่งที่คนดูอยากจะฟังอย่างไร

ไครสเบิร์ก: นี่เป็นคำถามที่ดีเลย! แต่คำตอบของเรื่องนี้อาจจะซับซ้อน มันเป็นอย่างนี้... เมื่อนักดนตรีป๊อปร้องเพลง การร้องเพลงของพวกเขาจะเหมือนกับการแสดงในภาพยนตร์สักเรื่อง มันมีเนื้อเพลงและอารมณ์ที่รู้อยู่แล้วว่าจะแสดงออกมายังไง แน่นอนว่ามันได้ผลที่ยอดเยี่ยมกับคนจำนวนเยอะ ๆ แต่มันก็ไม่ได้ซื่อตรงขนาดนั้น คุณเข้าใจสิ่งที่ผมหมายถึงไหม

อีกด้านหนึ่ง เมื่อนักดนตรีแจ๊สที่ยอดเยี่ยมแสดงในช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยม มันมักจะไม่มีเรื่องของการแสดงทั้งหมดจะมีแต่เรื่องการเล่นให้ออกมาเป็นตัวเองในช่วงเวลานั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีแค่ดีหรือร้ายเท่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวของผู้เล่นคนนั้น นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่แจ๊สมักจะผลักผู้คนออกจากดนตรีเสมอ ถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ขี้อาย หรือเป็นพวกขี้โมโห ผลก็จะออกมาแตกต่างจากนักดนตรีแจ๊สที่เปิดกว้างและมีความบันเทิงในการอิมโพรไวซ์ และยังสนุกกับการได้สื่อสารทางจิตวิญญาณกับคนดู

สำหรับผมนั่นคือสิ่งที่แจ๊สเป็นและเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำให้สำเร็จอยู่สำหรับผมแจ๊สคือดนตรีที่แสดงถึงความรู้สึกเปิดรับและไม่ใช่ดนตรีที่ผลักไสผู้คนออกไปแน่นอนว่าแจ๊สเป็นดนตรีที่จริงจังและซับซ้อนแต่อีกมุมหนึ่งแจ๊สก็เป็นดนตรีที่น่าตื่นเต้นและบ้าคลั่งมันยังสามารถเป็นความน่าเห็นอกเห็นใจและเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์แจ๊สเป็นเหมือนดนตรีที่มาพร้อมกับการโอบกอดใหญ่ๆเลยล่ะ

The People: แน่นอนดนตรีแจ๊สเปรียบเสมือนวงสนทนาภายใต้หัวข้อต่าง call and response จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าใครได้ชมคอนเสิร์ตของคุณ จะสังเกตว่าคุณมักจะฟังเพื่อนร่วมวงของคุณเสมอเวลาคุณเล่นดนตรี การฟังสำคัญขนาดไหนสำหรับคุณ

ไครสเบิร์ก: การฟังเป็นเหมือนการคุยปรึกษากัน คุณไม่อยากจะละเลยใครคนใดคนหนึ่งไป ถ้าเป็นวงร็อก นักดนตรีอาจเป็นเหมือนนักแสดงที่เล่นบทของตัวเองฉันเศร้านะ” “ฉันมีความสุขนะแต่แจ๊สมีความพิเศษตรงที่ว่ามันขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพวกคุณเองวันนั้น เช่นคนหนึ่งรู้สึกแบบนี้ เล่นมาแบบนี้ อีกคนหนึ่งก็เล่นตอบกลับไปเหมือนบทสนทนา ดังนั้นผู้ชมที่ดูการแสดงสดจะได้เห็นสิ่งพิเศษที่เกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลานั้นเท่านั้น

The People: ตอนนี้แจ๊สที่นิวยอร์กเป็นอย่างไรบ้าง

ไครสเบิร์ก: แจ๊สยังเป็นอะไรที่คนให้ความสนใจและสร้างสรรค์มากในหลายที่ ไม่ใช่แค่ในนิวยอร์ก ปัจจุบันยังมีนักดนตรีแจ๊สดี ๆ อยู่มากที่เล่นโดยรู้สึกถึงดนตรีจริง ๆ เราไม่ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบแม้ว่าเราจะถูกบีบด้วยบริษัทใหญ่ ๆ ในทางกลับกันผมรู้สึกว่าดนตรีป๊อปกับร็อกกำลังสูญเสียเอกลักษณ์ของมันไป เพราะคนเริ่มทำเพลงจากคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มกลายเป็นแค่ธุรกิจไป ผมเลยคิดว่าสถานการณ์ของแจ๊สตอนนี้ดีกว่าดนตรีแบบอื่น ๆ

The People: คุณคิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่นักดนตรีจริง ได้ไหมในอนาคต

ไครสเบิร์ก: ผมว่าตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่มนุษย์แล้วในหลาย ๆ แนวดนตรี และสำหรับมุมมองของผม ดนตรีกลายเป็นอะไรแล้วก็ไม่รู้ คุณภาพของเพลงป๊อป ร็อก และเพลงแดนซ์ มันไม่ดีเหมือนแต่ก่อน มันเริ่มไม่มีวิญญาณและองค์ประกอบของมนุษย์ แต่แจ๊สยังคงอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์นี้ และเรายังมีแฟนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แฟนเพลงที่หิวกระหายในการสัมผัสดนตรีจากผู้เล่นที่รักในเครื่องดนตรี และฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะได้เป็นนายของเครื่องดนตรีเหล่านั้น ด้วยวิธีนี้ ช่วงเวลาที่เราอยู่ในยุคเกิดใหม่ของดนตรีแจ๊สที่สร้างสรรค์แบบนี้ ผมเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีได้

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: สตรีมมิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เรา แทนที่ซีดีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเจเนอเรชันของคุณ การเปลี่ยนผ่านของสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ และมันส่งผลต่ออุตสาหกรรมดนตรีมากน้อยขนาดไหนในมุมมองของคุณ

ไครสเบิร์ก: แน่นอนสตรีมมิงเป็นอะไรที่ซับซ้อนที่จะพูดถึง จริง ๆ ผมเป็นคนรักซีดี แต่ผมก็มองเห็นความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากการใช้สตรีมมิง และผมคิดว่ารูปแบบการเสพแบบนี้สมควรจะมีบนโลก อย่างไรก็ตาม อัตราการจ่ายส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ที่ศิลปินและนักแต่งเพลงควรได้จากสตรีมมิงยังเป็นอะไรที่แย่และไม่ยุติธรรม ในอนาคตมันจะถึงจุดที่เรา (นักดนตรีทั้งหมด) จะต้องร่วมกันสู้เพื่อสิทธิที่เราควรได้ในเรื่องนี้

The People: เพลงสแตนดาร์ดแจ๊สเพลงไหนที่คุณชอบเล่นมากที่สุด

ไครสเบิร์ก: ตอบยากเหมือนกัน เพราะผมมีเพลงที่ชอบหลายเพลง บางเพลงอาจจะดูไม่ได้มีอะไรมาก แต่เป็นเพลงที่ลึกซึ้ง เล่นแล้วเรารู้สึกไปกับมันได้ อย่างฮาร์โมนีของ ‘Fly Me the Moon’ สำหรับผมอาจจะน่าเบื่อไปหน่อย ความจริงแล้วเพลงสแตนดาร์ดดี ๆ มีหลายเพลงอย่าง ‘Body and Soul’, ‘All the Things You Are’ หรือ ‘Stella by Starlight’ แต่ก็ยังมีเพลงที่ดีอื่น ๆ อีกที่คนอาจจะไม่ได้เล่นบ่อย

The People: “Capturing Spirits” อัลบั้มใหม่ของคุณมีสุ้มเสียงที่แตกต่างออกไปจากอัลบั้มชุดก่อนหน้า อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณสร้างสรรค์งานชุดนี้ออกมา

ไครสเบิร์ก: ความพิเศษอย่างแรกเลย Capturing Spirits คือผลงานบันทึกการแสดงสด ผมกล้าพูดได้เลยว่านี่คืออัลบั้มที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้วตั้งแต่ผมเคยทำมา เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือเราลืมไปด้วยซ้ำว่ากำลังอัดโชว์อยู่ มันเลยได้ช่วงเวลาที่สุดยอดของพลังงานและการแสดงออก เพราะที่สุดของแจ๊สคือการแสดงสดเสมอ

The People: (คำถามยอดฮิตที่ใครมาเราก็ถาม) ได้ลองอาหารไทยแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

ไครสเบิร์ก: คุณล้อเล่นหรือเปล่า? อาหารไทยยอดเยี่ยมที่สุดในโลกแล้ว ผมรักทุกเมนูเลย คงจะเป็นไปไม่ได้หรอกถ้าจะให้ผมเลือกเมนูที่ชอบที่สุด แต่ต้มยำกุ้งอร่อย ๆ สักถ้วย หรือผัดซีอิ๊วร้อน ๆ สักจานน่าจะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก บ้าจริง ตอนนี้ผมหิวเลย! ฮ่า ๆ

The People: คุณคิดว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะนักดนตรีแจ๊สคืออะไร

ไครสเบิร์ก: ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะตอบคำถามนี้ได้ไหม อาจจะต้องให้คนอื่นมาตอบแทนผม เพราะว่าสำหรับผมแล้วสิ่งที่นักดนตรีแจ๊สอย่างพวกเราทำคือการไล่ตามความฝัน ตามหาดนตรีในแบบที่เราชอบ ซึ่งวันหนึ่งคุณอาจจะชอบสิ่งหนึ่ง แต่อีกวันหนึ่งคุณอาจต้องการอะไรที่ต่างออกไป ดังนั้นคุณจะไม่มีวันที่คุณรู้สึกว่าคุณประสบความสำเร็จที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น นักสำรวจตอนพวกเขาเจออเมริกา เขาก็ดีใจ แต่เขาไม่ได้หยุดสำรวจพื้นที่อื่น ๆ แจ๊สก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องรู้จักอยู่กับการสำรวจแบบไม่มีที่สิ้นสุดนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่มีความสุขเลย คำว่าความสำเร็จก็เหมือนกับคำว่าความสุขเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เรารู้สึกถึงมันได้ แต่หลังจากนั้นคุณก็เริ่มตามหามันอีกครั้ง

สัมภาษณ์ โจนาธาน ไครสเบิร์ก กีตาร์เกาหลีตัวแรกในวันคริสต์มาสกับวันนี้ที่แจ๊สกลายเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์มากกว่าดนตรี

The People: มีอะไรอยากจะบอกแฟน ชาวไทยไหม

ไครสเบิร์ก: ขอบคุณมากนะครับที่ติดตามกันมา ผมหวังว่าคุณจะไม่ลืมศิลปะและดนตรีที่มีความหมายกับคุณ ถ้าคุณชอบอะไร ออกไปเรียนรู้มัน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไปคอนเสิร์ต เรียนรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เปิดใจให้กับดนตรีในหลาย ๆ แบบ อย่าปล่อยให้ดนตรีจากบริษัทใหญ่ ๆ มาควบคุมว่าคุณควรจะชอบอะไร เราต้องเป็นคนตัดสินด้วยตัวเองว่าเราชอบอะไรและสิ่งไหนน่าสนใจสำหรับเรา

The People: แจ๊สคืออะไรสำหรับคุณ

ไครสเบิร์ก: แจ๊สก็คือคำคำหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วคำหนึ่งคำมีความหมายได้หลากหลาย แต่ถ้าจะพูดง่าย ๆ แจ๊สคือความรู้สึก แน่นอนว่าแจ๊สเกิดที่นิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเวลาผ่านไป แจ๊สมีความหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่สำคัญคือเราจะสามารถใส่อะไรใหม่ ๆ เข้าไป แต่ยังคงส่วนที่ดีของมันอยู่ได้อย่างไร นี่คือการเรียนรู้ที่จะเคารพประเพณีในอดีต ขณะเดียวกันก็เรียนรู้โลกในปัจจุบันของเรา และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง นี่คือแจ๊สสำหรับผม